วิภวตัณหา กับ โทสะ

 
แสงจันทร์
วันที่  4 ส.ค. 2554
หมายเลข  18864
อ่าน  5,568

วิภวตัณหา เป็นโทสะ หรือไม่


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
paderm
วันที่ 4 ส.ค. 2554

ขอนอบน้อมแด่พระรัตนตรัย

ตัณหา หรือโลภะ คือความติดข้อง พอใจ ยินดี ซึ่งตัณหาหรือโลภะ เป็นเหตุแห่งทุกข์ พระธรรมที่พระพุทธเจ้าทรงแสดง หลากหลายนัย เพื่อให้สัตว์โลกได้เข้าใจตามความเป็นจริง แม้แต่เรื่องตัณหาหรือโลภะที่เป็นความติดข้องต้องการยินดี ก็มีหลากหลายนัย ตามลักษณะความติดข้อง คือต้องมีสิ่งที่ให้ติดข้อง สิ่งที่ให้ติดข้องมีหลายอย่างหลายประการ เพราะฉะนั้น ตัณหาจึงหลายอย่าง บางครั้งพระองค์แสดงถึงตัณหา ๓ อย่าง บางครั้งแสดงตัณหา ๖ หรือตัณหา ๑๘ หรือตัณหา ๑๐๘ ก็เพื่อเข้าใจถึงความละเอียดของสภาพธรรมที่เป็นตัณหา คือความยินดีพอใจติดข้องในสิ่งต่างๆ ที่มีมากมายนั่นเองครับ

สำหรับประเด็นคำถามเรื่อง วิภวตัณหานั้นก็มาจากการแบ่งตัณหา เป็น ๓ ประการคือ

๑. กามตัณหา

๒. ภวตัณหา

๓. วิภวตัณหา

กามตัณหา หมายถึง ความยินดีพอใจติดข้องในรูป เสียง กลิ่น รส สิ่งที่กระทบสัมผัสที่มีในชีวิตประจำวัน เช่น เห็นสิ่งใดแล้วก็ชอบ เพียงแค่นี้ก็เป็นกามตัณหาแล้วครับ ได้ ยินเสียง ก็ติดข้อง แม้เพียงเล็กน้อยก็เป็นกามตัณหาอีกเช่นกัน ดังนั้น จึงมีกามตัณหาเป็นปกติในชีวิตประจำวันโดยส่วนมากครับ

ภวตัณหา คือ ความยินดีพอใจ โลภเจตสิกที่ติดข้องยินดีในการเกิดขึ้นของนาม รูป ยินดีในความมีชีวิตอยู่หรือหมายถึงโลภเจตสิกที่เจือด้วยสัสสตทิฏฐิ คือมีความเห็นผิดยึดถือว่าเที่ยง คือยินดีพอใจในความเห็นผิด ว่า ตายแล้วต้องเกิด มีสัตว์ บุคคลที่เกิดต่อไปในภพหน้า (สัสสตทิฏฐิ) เห็นว่าโลกเที่ยง เคยเกิดเป็นสัตว์หรือบุคคลเช่นไร เมื่อตายไปแล้วก็จะเกิดเป็นบุคคลเช่นนั้นอีก ขณะที่มีความเห็นผิดเช่นนี้ ขณะนั้น ต้องมีความยินดีพอใจเกิดร่วมด้วยที่เป็นตัณหาหรือโลภะ จึงเรียกว่าภวตัณหา

วิภาตัณหา คือ โลภะ หรือความยินดีพอใจในความเห็นที่ผิด ว่า ตายแล้วก็ไม่เกิดอีก จบกัน ขาดสูญ (อุจเฉททิฏฐิ) การที่ยินดีพอใจในความเห็นนั้น ขณะนั้น เป็นวิภวตัณหา เป็นความยินดีพอใจในความเห็นผิดนั้นที่สัตว์ตายแล้วไม่เกิดอีกนั่นเองครับ ดังนั้น ตัณหา ๓ ประการ คือ กามตัณหา ภวตัณหา วิภวตัณหา เป็นสภาพธรรมที่ติดข้อง เป็นโลภะ ดังนั้น วิภวตัณหาจึงไม่ใช่โทสะ แต่เป็นโลภะครับ ดังนั้น การได้ยินคำ แปลว่า วิภวตัณหาว่าความไม่อยากมีไม่อยากเป็น ก็ทำให้เข้าใจผิดได้ครับ ว่า ไม่อยากมีไม่อยากเป็น เป็นโทสะ แต่เมื่อศึกษาพระธรรมละเอียดขึ้น จึงรู้ว่า วิภวตัณหา หมายถึง ความยินดีพอใจที่เป็นโลภะ ในความเห็นผิดว่าตายแล้วไม่เกิด ขาดสูญ เป็นต้น เพราะ เมื่อมีคำว่า ตัณหา ต่อจากวิภว ก็แสดงว่าเป็นโลภะที่ติดข้อง ขณะที่ติดข้องในสิ่งใดสิ่งหนึ่ง ขณะนั้น จะไม่มีความรู้สึกไม่ชอบที่เป็นโทสะเลย เพราะขณะนั้นกำลังติดข้องที่เป็นตัณหาหรือโลภะ ดังนั้น วิภวตัณหากำลังติดข้องพอใจในความเห็นผิดว่าตายแล้วสูญนั่นเองครั

ขออนุโมทนา

เชิญคลิกอ่านที่นี่ครับ ...

วิภวตัณหา

กามตัณหา ภวตัณหา วิภวตัณหา

[เล่มที่ 77] พระอภิธรรมปิฎก วิภังค์ เล่ม ๒ ภาค ๑ - หน้าที่ 353

บทว่า กามตณฺหา มีวิเคราะห์ว่า ตัณหาในกาม ชื่อว่า กามตัณหา. คำว่า กามตัณหานี้เป็นชื่อของราคะอันประกอบด้วยกามคุณ ๕. ตัณหาในภพชื่อว่า ภวตัณหา. คำว่า ภวตัณหานี้เป็นชื่อของราคะ (ความยินดี) ในรูปภพ อรูปภพและความพอใจในฌาน ที่สหรคตด้วยสัสสตทิฏฐิซึ่งเกิดขึ้นแล้วด้วยอำนาจปรารถนาภพ. ตัณหาในวิภพ ชื่อว่า วิภวตัณหา. คำว่า วิภวตัณหานี้เป็นชื่อของราคะ (โลภะ) สหรคต (ประกอบด้วย) ด้วยอุจเฉททิฏฐิ. (ความเห็นผิดว่าขาดสูญ ตายแล้วไม่เกิดอีก)

อุทิศกุศลให้สรรพสัตว์

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
khampan.a
วันที่ 4 ส.ค. 2554

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

ธรรม มีความละเอียดลึกซึ้งมาก เพราะแสดงถึงสิ่งที่มีจริงแต่ละอย่างๆ ตามความเป็นจริง แม้แต่ตัณหาหรือโลภะก็เป็นธรรมที่มีจริง เมื่อว่าโดยสภาพธรรมแล้ว เป็นความติดข้องยินดีพอใจ ไม่ปล่อยในอารมณ์นั้นๆ ซึ่งจะมีลักษณะที่ต่างกันจากโทสะอันเป็นสภาพธรรมที่ขุ่นเคืองใจ ไม่พอใจ อย่างสิ้นเชิง ตัณหากับโทสะ จะไม่เกิดร่วมกันอย่างเด็ดขาด ทั้งสองอย่าง เป็นอกุศลธรรมที่มีจริง ที่จะต้องถูกดับด้วยปัญญาขั้นที่เป็นโลกุตตระเท่านั้น แต่เมื่อยังไม่ถูกดับ ถ้าได้เหตุได้ปัจจัยก็เกิดขึ้นทำกิจหน้าที่ ซึ่งมีมากเป็นอย่างยิ่งในชีวิตประจำวัน ทั้งความติดข้องยินดีพอใจ และความโกรธ ความขุ่นเคืองใจ ความไม่พอใจ

วิภวตัณหา หมายถึง ความติดข้องยินดีพอใจที่เจือด้วยดความเห็นผิดว่าขาดสูญ [เป็นหนึ่งในตัณหา ๓ อย่าง คือ กามตัณหา (ความติดข้องยินดีพอใจในรูป เสียง กลิ่นรส และโผฏฐัพพะ) ภวตัณหา (ความติดข้องยินดีพอใจในภพหรือตัณหาที่เจือด้วยความเห็นผิดว่าเที่ยง ยั่งยืน) และวิภวตัณหา (ความติดข้องยินดีพอใจที่เจือด้วยความเห็นผิดว่าขาดสูญ เช่น ตายแล้วสูญ เป็นต้น) ] ดังนั้น เมื่อได้ยินว่า "ไม่อยากมีไม่อยากเป็น" ควรที่จะได้พิจารณาว่าตรงตามธรรมที่พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแสดงหรือไม่? ครับ

...ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ...

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
แสงจันทร์
วันที่ 5 ส.ค. 2554

ขอขอบคุณ ชัดเจนมากสำหรับคำอธิบาย

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
wannee.s
วันที่ 5 ส.ค. 2554

ตราบใดที่ยังไม่ได้เป็นพระอรหันต์ ก็ยังมีตัณหาเป็นธรรมดา และพระพุทธเจ้าทรงแสดงธรรม อันดับแรกให้ละความเห็นผิดก่อน ไม่ใช่ให้ละตัณหาก่อนหรือโลภะก่อน เพราะฉะนั้น ถ้าไม่ฟังธรรม ก็ไม่เข้าใจ ก็ไม่มีปัญญาที่จะละความเห็นผิดได้ ค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 5  
 
Witt
วันที่ 12 พ.ย. 2563

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 6  
 
chatchai.k
วันที่ 1 ต.ค. 2565

ขออนุโมทนาครับ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ