ตาลปุตตสูตร ...วันเสาร์ที่ ๓๐ เมษายน ๒๕๕๔

 
บ้านธัมมะ
วันที่  23 เม.ย. 2554
หมายเลข  18248
อ่าน  3,842

นโม ตสฺส ภควโต อรหโต สมฺมาสมฺพุทธสฺส

พุทฺธํ สรณํ คจฺฉามิ
ธมฺมํ สรณํ คจฺฉามิ
สงฺฆํ สรณํ คจฺฉามิ

••• ขอนอบน้อมแด่พระรัตนตรัย •••

มูลนิธิศึกษาและเผยแพร่พระพุทธศาสนา

พระสูตร ที่จะนำมาสนทนาที่มูลนิธิฯ

ในวันเสาร์ ๓๐ เม.ย. ๒๕๕๔

เวลา ๐๙.๐๐ - ๑๒.๐๐ น. คือ

ตาลปุตตสูตร

(ว่าด้วยปัญหาของนักเต้นรำชื่อว่าตาลบุตร)

...จาก...

[เล่มที่ 29] พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สฬายตนวรรค เล่มที่ ๒๙ - หน้า ๑๗๙-๑๘๓

(ภาพแสดงบรรยากาศการสนทนาธรรมที่มูลนิธิฯ ในวันอาทิตย์ที่ ๖ มี.ค. ๒๕๕๔)

...นำสนทนาโดย...

ท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์

[เล่มที่ 29] พระสุตตันตปิำฎก สังยุตตนิกาย สฬายตนวรรค เล่มที่ ๒๙ หน้า ๑๗๙-๑๘๓

๒. ตาลปุตตสูตร

(ว่าด้วยปัญหาของนักเต้นรำชื่อว่าตาลบุตร)

[๕๘๙] สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคเจ้าประทับอยู่ ณ พระวิหารเวฬุวันกลันทกนิวาปสถาน ใกล้กรุงราชคฤห์. ครั้งนั้น นายบ้านนักเต้นรำนามว่า ตาลบุตร เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้าถึงที่ประทับ ถวายบังคมพระผู้มีพระภาคเจ้าแล้วนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ครั้นแล้วได้ทูลถามพระผู้มีพระภาคเจ้าว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์เคยได้ยินคำของนักเต้นรำ ผู้เป็นอาจารย์ และปาจารย์ก่อนๆ กล่าวว่า นักเต้นรำคนใดทำให้คนหัวเราะ รื่นเริง ด้วยคำจริงบ้าง คำเท็จบ้าง กลางสถานเต้นรำกลางสถานมหรสพ ผู้นั้นเมื่อแตกกายตายไป ย่อมเข้าถึงความเป็นสหายแห่งเทวดาผู้ร่าเริง ในข้อนี้พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสอย่างไร. พระผู้มีพระ- ภาคเจ้าตรัสว่า อย่าเลยนายคามณี ขอพักข้อนี้เสียเถิด ท่านอย่าถามข้อนี้กะเราเลย

[๕๙๐] แม้ครั้งที่ ๒ . . . . แม้ครั้งที่ ๓ นายบ้านนักเต้นรำนามว่าตาลบุตร ก็ได้ทูลถามพระผู้มีพระภาคเจ้าว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระ-องค์เคยได้ยินคำของนักเต้นรำ ผู้เป็นอาจารย์และปาจารย์ก่อนๆ กล่าวว่านักเต้นรำคนใดทำให้คนหัวเราะ รื่นเริง ด้วยคำจริงบ้าง คำเท็จบ้าง ในท่ามกลางสถานเต้นรำ ในท่ามกลางสถานมหรสพ ผู้นั้นเมื่อแตกกาย ตายไป ย่อมเข้าถึงความเป็นสหายของเทวดาผู้ร่าเริง ในข้อนี้พระผู้มีพระ-ภาคเจ้าตรัสอย่างไร

[๕๙๑] พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า ดูก่อนนายคามณี เราห้ามท่านไม่ได้แล้วว่า อย่าเลยนายคามณี ขอพักข้อนี้เสียเถิด ท่านอย่าถามข้อนี้กะเราเลย แต่เราจักพยากรณ์ให้ท่าน ดูก่อนนายคามณี เมื่อก่อนสัตว์ทั้งหลายยังไม่ปราศจากราคะ อันกิเลสเครื่องผูกคือราคะผูกไว้ นักเต้นรำรวบรวมเข้าไว้ซึ่งธรรมอันเป็นที่ตั้งแห่งความกำหนัด ในท่ามกลางสถานเต้นรำ ในท่ามกลางสถานมหรสพ แก่สัตว์เหล่านั้นมากยิ่งขึ้น. เมื่อก่อนสัตว์ทั้งหลายยังไม่ปราศจากโทสะ อันกิเลสเครื่องผูกคือโทสะผูกไว้ นักเต้นรำรวบรวมเข้าไว้ซึ่งธรรมเป็นที่ตั้งแห่งโทสะ ในท่ามกลางสถานเต้นรำในท่ามกลางสถานมหรสพ แก่สัตว์เหล่านั้นมากยิ่งขึ้น. เมื่อก่อนสัตว์ทั้งหลายยังไม่ปราศจากโมหะ อันกิเลสเครื่องผูกคือโมหะผูกไว้ นักเต้นรำย่อมรวบรวมไว้ซึ่งธรรมอันเป็นที่ตั้งแห่งโมหะ ในท่ามกลางสถานเต้นรำ ในท่ามกลางสถานมหรสพ แก่สัตว์เหล่านั้นมากยิ่งขึ้น นักเต้นรำนั้น ตนเองก็มัวเมาประมาท ตั้งอยู่ในความประมาท เมื่อแตกกายตายไป ย่อมบังเกิดในนรกชื่อปหาสะ. อนึ่ง ถ้าเขามีความเห็นอย่างนี้ว่า นักเต้นรำคนใดทำให้คนหัวเราะ รื่นเริง ด้วยคำจริงบ้าง คำเท็จบ้าง ในท่ามกลางสถานเต้นรำ ในท่ามกลางสถานมหรสพ ผู้นั้นเมื่อแตกกายตายไป ย่อมเข้าถึงความเป็นสหายแห่งเทวดาชื่อปหาสะ. ความเห็นของเขานั้นเป็นความเห็นผิด. ดูก่อนนายคามณี ก็เราย่อมกล่าวคติสองอย่าง คือ นรกหรือกำเนิดสัตว์เดียรัจฉานอย่างใดอย่างหนึ่ง ของบุคคลผู้มีความเห็นผิด.

[๕๙๒] เมื่อพระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสอย่างนี้แล้ว นายบ้านนัก-เต้นรำนามว่าตาลบุตร ร้องไห้สะอื้น น้ำตาไหล พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่าดูก่อนนายคามณี เราได้ห้ามท่านแล้วมิใช่หรือว่า อย่าเลย นายคามณีขอพักข้อนี้เสียเถิด อย่าถามข้อนี้กะเราเลย นายคามณี

ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์ไม่ได้ร้องไห้ถึงข้อที่ พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสอย่างนี้กะข้าพระองค์หรอก แต่ว่าข้าพระองค์ถูกนักเต้นรำผู้เป็นอาจารย์และปาจารย์ก่อนๆ ล่อลวงให้หลงสิ้นกาลนานว่านักเต้นรำคนใดทำให้คนหัวเราะ รื่นเริง ด้วยคำจริงบ้าง คำเท็จบ้าง ในท่ามกลางสถานมหรสพ ผู้นั้นเมื่อแตกกายตายไป ย่อมเข้าถึงความเป็นสหายของเทวดาชื่อปหาสะ ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ พระธรรมเทศนาของพระองค์แจ่มแจ้งยิ่งนัก ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ พระธรรมเทศนาของพระ-องค์แจ่มแจ้งยิ่งนัก พระผู้มีพระภาคเจ้า ทรงประกาศธรรมโดยอเนกปริยายดุจหงายของที่คว่ำ เปิดของที่ปิด บอกทางแก่คนหลงทางหรือตามประทีปในที่มืดด้วยหวังว่า คนมีจักษุจักเห็นรูป ฉะนั้น ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์นี้ขอถึงพระผู้มีพระภาคเจ้า กับทั้งพระธรรมและภิกษสงฆ์ว่าเป็นสรณะ ข้าพระองค์พึงได้บรรพชาอุปสมบท ในสำนักของพระผู้มีพระภาคเจ้า นายบ้านนักเต้นรำนามว่าตาลบุตรได้บรรพชาอุปสมบท ในสำนักพระผู้มีพระภาคเจ้าแล้ว ท่านพระตาลบุตรอุปสมบทไม่นาน หลีกออกจาก หมู่อยู่ผู้เดียว ไม่ประมาท มีความเพียร มีใจแน่วแน่ ฯลฯ ก็แลท่านพระตาลบุตรเป็นพระอรหันต์องค์หนึ่ง ในจำนวนพระอรหันต์ทั้งหลาย

จบ ตาลปุตตสูตรที่ ๒


อรรถกถาตาลปุตตสูตรที่ ๒

ในตาลปุตตสูตรที่ ๒ พึงทราบวินิฉัยดังต่อไปนี้.

บทว่า ตาลปุตฺโต คือเขามีชื่ออย่างนั้น เล่ากันมาว่า นายบ้าน นักฟ้อนรำคนนั้น มีผิวพรรณผ่องใสเหมือนลูกตาลสุกที่หลุดจากขั้ว ด้วย เหตุนั้น คนทั้งหลายจึงตั้งชื่อเขาว่า ตาลบุตร นายตาลบุตรผู้นี้นั้น เขาถึงพร้อมด้วยอภินิหาร (บุญเก่า) เป็นบุคคลเกิดในภพสุดท้าย (ไม่ต้อง เกิดอีก) แต่เพราะธรรมดาปฏิสนธิ เอาแน่นอนไม่ได้ เหมือนท่อนไม้ ที่ขว้างไปในอากาศ ฉะนั้น นายตาลบุตรนี้จึงบังเกิดในตระกูลนักฟ้อนรำ พอเจริญวัยก็เป็นยอดทางนาฏศิลปศิลปฟ้อนรำ มีชื่อกระฉ่อนไปทั่วชมพูทวีป เขามีเกวียน ๕๐๐ เล่ม มีหญิงแม่บ้าน ๕๐๐ คนเป็นบริวาร แม้เขาก็มีภรรยาจำนวนเท่านั้น ดังนั้น เขาจึงพร้อมด้วยหญิง ๑,๐๐๐ คน และเกวียน ๑,๐๐๐ เล่ม อยู่อาศัยนครหรือนิคมใดๆ ประชาชนในนคร หรือนิคมนั้นๆ พากันให้ทรัพย์แสนหนึ่งแก่เขาก่อนทีเดียว เมื่อเขาแต่งตัว แสดงมหรสพกำลังเล่นกีฬาพร้อมด้วยหญิง ๑,๐๐๐ คนอยู่ ประชาชน ต่างโยนเครื่องประดับมือเท้า เป็นต้น ตบรางวัลให้ไม่มีสิ้นสุด วันนั้นเขา แวดล้อมด้วยหญิง ๑,๐๐๐ คน เล่นกีฬาในกรุงราชคฤห์ เพราะมีญาณ แก่กล้า พร้อมด้วยบริวารทั้งหมดเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้าถึงที่ประทับ

บทว่า สจฺจาลิเกน ได้แก่ด้วยคำจริงบ้าง ด้วยคำเท็จบ้าง

บทว่า ติฏฺฐเตตํ ความว่า ข้อนั้นจงพักไว้

บทว่า รชนิยา ได้แก่มายากล แสดงลมเจือฝนพัดด้ายห้าสีออกจากปาก ซึ่งเป็นปัจจัยแห่งราคะ และนัย ที่ยิ่งๆ ขึ้นไปอย่างอื่น ซึ่งแสดงอาการที่ประกอบด้วยความยินดีในกาม

บทว่า ภิยฺโยโส มตฺตาย ได้แก่ โดยประมาณยิ่ง

บทว่า โทสนิยา ได้แก่ อาการที่แสดงมายากลมีการตัดมือและเท้าเป็นต้น ซึ่งเป็นปัจจัยแห่ง โทสะ

บทว่า โมหนิยา ได้แก่ มายากลชนิดชนิดเอาน้ำทำน้ำมัน เอาน้ำมันทำน้ำ อย่างนี้เป็นต้น ซึ่งเป็นเป็นปัจจัยแห่งโมหะ

บทว่า ปหาโส นาม นิรโย ความว่า ธรรมดานรกที่ชื่อว่า ปหาสะ มิได้มีเป็นนรกหนึ่งต่างหาก แต่เป็นส่วนหนึ่งของอเวจีนั่นเองที่พวกสัตว์แต่งตัวเป็นนักฟ้อนรำ ทำเป็น ฟ้อนรำและขับร้องพากันหมกไหม้อยู่ ท่านกล่าวหมายเอานรกนั้น ในบทว่า นาหํ ภนฺเต เอตํ โรทามิ นี้ พึงทราบเนื้อความด้วยอำนาจสกรรมกิริยา อย่างนี้ว่า ข้าพระองค์มิได้ร้องไห้ถึงการพยากรณ์ของพระผู้มีพระภาคเจ้า ข้อนั้น พระเจ้าข้า อนึ่ง ในข้อว่า ชนทั้งหลายปรารภถึงคนตายมีน้ำตา ไหลร้องไห้เป็นต้นนี้ พึงทราบว่าเป็นอีกโวหารหนึ่ง

จบ อรรถกถาตาลปุตตสูตรที่ ๒


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
khampan.a
วันที่ 23 เม.ย. 2554

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

ข้อความโดยสรุป

ตาลปุตตสูตร

(ว่าด้วยปัญหาของนักเต้นรำชื่อว่าตาลบุตร)

นายบ้านนักเต้นรำชื่อตาลบุตร เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้า กราบทูลถามว่า ที่อาจารย์และปาจารย์ทางด้านเต้นรำ กล่าวว่า นักเต้นรำที่ทำให้คนหัวเราะ ด้วยคำจริงบ้าง ไม่จริงบ้าง ท่ามกลางสถานที่เต้นรำ เมื่อตายไปจะได้ไปเกิดเป็นสหายของเทวดาผู้ร่าเริง นั้น พระองค์ทรงมีความเห็นว่าอย่างไร พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสห้ามถึง ๓ ครั้ง แต่เขาก็มีความพยายามที่จะกราบทูลถาม จนในที่สุด พระองค์จึงตรัสว่า สัตว์ทั้งหลาย ยังมีราคะ โทสะ โมหะ นักเต้นรำที่ตนเองเป็นผู้ประมาทมัวเมา เพราะยังมีราคะ โทสะ โมหะ ทำให้คนอื่นประมาทมัวเมาเหมือนกันตน ทำให้มีราคะ โทสะ โมหะ เพิ่มขึ้น เมื่อตายไป จะไปเกิดในนรกชื่อว่า ปหาสะ, อนึ่ง เมื่อมีความเห็นผิด ย่อมไม่พ้นไปจากการเกิดในนรก และ เกิดเป็นสัตว์ดิรัจฉาน ทำให้นายบ้านนักเต้นรำชื่อตาลบุตร เกิดความเสียใจร้องไห้ที่ถูกอาจารย์หลอกมานาน พร้อมกับได้สรรเสริญพระภาษิตของพระผู้มีพระภาคเจ้า ขอถึงพระรัตนตรัยเป็นที่พึ่ง ขออุปสมบทในพระพุทธศาสนาและในที่สุดก็ได้บรรลุเป็นพระอรหันต์. หมายเหตุ ในชั่วโมงประชุมวิชาการ (วันเสาร์ที่ ๒๓ เมษายน ๒๕๕๔) ท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ ได้กล่าวให้ได้คิด เมื่ออ่านพระสูตรนี้จบลงแล้ว ว่า -คนที่มีโลภะ โทสะ โมหะมากๆ แล้วจะไม่ทำกุศลกรรมหรือ? -เห็นโทษของกุศลหรือไม่?

ขอเชิญคลิกอ่านข้อความเพิ่มเติมเพื่อความเข้าใจยิ่งขึ้นได้ที่นี่ ครับ

ในเรื่องตาลบุตรสูตรกับการบันเทิงบนสวรรค์แตกต่างกันอย่างไร?

ดารานักแสดงตายแล้วจะไปเกิดในสุคติหรือทุคติ

อาชีพ ดารา นักร้อง นักแสดง นักประพันธ์

ทำไมนักแสดงละครจึงตกนรก

เจตนากระทำอกุศลกรรมบถ ๑๐

...ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ...

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
พุทธรักษา
วันที่ 23 เม.ย. 2554

คำใดที่พระพุทธเจ้าทรงตรัส... คำนั้นต้องเป็นไปเพื่อประโยชน์ เท่านั้น

เพราะฉะนั้นขอเรียนถามท่านวิทยากร หรือท่านที่ชำนาญในพระไตรปิฎก ว่ามีแสดงไว้ที่ไหนบ้างหรื่อไม่ ว่า เหตุใด พระองค์จึงทรงตรัสห้าม ถึง ๓ ครั้ง (คิดอยู่นาน ว่าถามดีมั๊ย เพราะสาระสำคัญไม่อยู่ที่คำถามนี้อยู่ที่ "โทษของอกุศลธรรม" ตามที่ท่านอาจารย์สุจินต์กล่าวไว้ (ใน คห. ๑) แต่ในเมื่อผ่านข้อความที่ได้อ่าน ก็เกิดความสงสัย และระลึกถึงข้อความที่ขีดเส้นใต้ถาม

เพื่อความเข้าใจที่ละเอียดยิ่งขึ้น หวังว่า คงจะถามได้ หากไม่สมควร ก็ขออภัย และ ขอความกรุณาตัดข้อความออกด้วย จักขอบพระคุณอย่างสูงค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
khampan.a
วันที่ 24 เม.ย. 2554

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

เรียน ความคิดเห็นที่ ๒ ครับ

ขออนุญาตแสดงความคิดเห็นดังนี้ ครับ ประโยชน์ของการศึกษาพระธรรม คือ เพื่อเข้าใจธรรม เข้าใจสิ่งที่กำลังมี กำลังปรากฏตามความเป็นจริง ไม่ว่าจะศึกษาจากพระสูตรใด ก็เพื่อเข้าใจสิ่งทีีมีอยู่ในตนเพราะเหตุว่า สิ่งที่มีอยู่ในตน (ซึ่งเป็นธรรม) เท่านั้น ที่ปัญญาจะสามารถรู้ตามความเป็นจริงได้ จากประเด็นคำถาม นั้น ควรที่จะได้พิจารณา ว่า พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมพุทธเจ้าทรงรู้ทุกอย่างตามความเป็นจริง เท่าที่ค้นที่เกี่ยวกับท่านตาลบุตร ก็มีแสดงไว้ในพระสูตรนี้สูตรเดียว แต่เมื่อเทียบเคียงกับพระสูตรอื่นที่มีการทรงห้ามถึง ๓ ครั้งในลักษณะแบบนี้ พอจะเข้าใจได้ว่า เพราะถ้าพระองค์ตรัสไปแล้ว สิ่งที่ไม่น่ารักจักมีแก่เขา คือ ไม่เป็นไปตามอย่างที่อาจารย์และปาจารย์ได้กล่าวไว้ ตนเองถูกอาจารย์หลอกมานาน นึกถึงการกระทำของตนที่กระทำตามดังที่อาจารย์สอน เกิดความเศร้าโศกเสียใจร้องไห้ออกมา (ในอรรถกถา กุกกุโรวาทสูตร ที่ปรากฏข้อความที่แสดงถึงการตรัสห้าม ๓ ครั้ง ของพระผู้มีพระภาคเจ้า คล้ายๆ กับทรงห้ามท่านตาลบุตร ว่า

"บทว่า อลํ (อย่าเลย) ความว่า พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงห้ามถึง ๓ ครั้ง ด้วยทรงดำริว่าสิ่งที่ไม่น่ารัก จักมีแก่เขา" ขอเชิญอ่านเพิ่มเติมได้ที่ กุกกุโรวาทสูตร พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกายมัชฌิมปัณณาสก์ เลมที่ ๒๐ หน้า ๑๘๖ เป็นต้นไป)

แต่ในที่สุดแล้ว เพราะบารมีที่สะสมมา ทำให้นักฟ้อนรำชื่อว่าตาลบุตร ได้ฟังพระ-ธรรมที่พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแสดง เห็นประโยชน์ของการอบรมเจริญปัญญา ขออุปสมบทในพระพุทธศาสนา และเป็นผู้รู้แจ้งอริยสัจจธรรมถึงความเป็นพระอริยบุคคลขั้นสูงสุด คือ พระอรหันต์ ดับกิเลสทั้งปวงได้อย่างเด็ดขาด สิ้นทุกข์โดยประการทั้งปวง ไม่ต้องมีการเกิดอีกในสังสารวัฏฏ์ ครับ

...ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ...

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
Sensory
วันที่ 24 เม.ย. 2554
ขอบคุณ และขออนุโมทนาค่ะ ละเอียดมากค่ะ พระธรรมที่พระพุทธองค์ทรงตรัสรู้ เป็นธรรมที่ทวนกระแสโลก ยากจริงๆ เพราะทุกคนชอบโลภะกันหมด ยิ่งโลภะเข้มข้นมาก ก็ยังต้องล่วงอกุศลกรรมได้แน่ ไม่ทางกาย วาจา ก็ทางใจ เป็นโทสะ พยาบาท ขุ่นมัว ได้ง่าย
 
  ความคิดเห็นที่ 5  
 
wirat.k
วันที่ 24 เม.ย. 2554
ขออนุโมทนาครับ
 
  ความคิดเห็นที่ 6  
 
พุทธรักษา
วันที่ 24 เม.ย. 2554

พระผู้มีพระภาคฯ ทรงพระมหากรุณาจริงๆ แม้จะตอบ ยังทรงพิจารณาถึงสิ่งอันประโยชน์ และ ไม่เป็นประโยชน์เมื่อได้ทราบเหตุผล แล้ว ก็เป็นสิ่งที่เตือนใจตัวเราเองได้ดีเป็นอย่างยิ่ง เวลาที่จะตอบอะไรใคร ขออนุโมทนาในความกรุณาของท่านวิทยากร (โดยส่วนตัว สะสมความเป็นคนขี้สงสัยจนเป็นสันดานถ้าเคยทำอะไรที่ "ไม่น่ารัก" ไปแล้วก็ขออภัยด้วยนะคะและ ยินดีน้อมรับคำตักเตือนเสมอค่ะ)

 
  ความคิดเห็นที่ 7  
 
paew_int
วันที่ 25 เม.ย. 2554
ขออนุโมทนาค่ะ
 
  ความคิดเห็นที่ 8  
 
ผิน
วันที่ 25 เม.ย. 2554
ขออนุโมทนาค่ะ
 
  ความคิดเห็นที่ 9  
 
aurasa
วันที่ 26 เม.ย. 2554
กราบอนุโมทนาค่ะ
 
  ความคิดเห็นที่ 10  
 
ธนฤทธิ์
วันที่ 26 เม.ย. 2554
ขออนุโมทนาครับ
 
  ความคิดเห็นที่ 11  
 
จักรกฤษณ์
วันที่ 27 เม.ย. 2554

ขอบพระคุณอาจารย์คำปันและขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 12  
 
orawan.c
วันที่ 28 เม.ย. 2554

ขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 13  
 
เมตตา
วันที่ 30 เม.ย. 2554

ขอบพระคุณและขออนุโมทนา อ. คำปั่น ด้วยค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 14  
 
kinder
วันที่ 30 เม.ย. 2554
ขออนุโมทนาครับ
 
  ความคิดเห็นที่ 15  
 
Nataya
วันที่ 18 มี.ค. 2561

กราบอนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 16  
 
chatchai.k
วันที่ 23 มี.ค. 2564

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

 
  ความคิดเห็นที่ 17  
 
chatchai.k
วันที่ 23 มี.ค. 2564

ขอเชิญรับฟังเพิ่มเติม ....

ชุด แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 0331

นาทีที่ 19.17 - 23.23

ข้อความบางตอน...

สังยุตตนิกาย สฬายตนวรรค ตาลปุตตสูตร มีข้อความว่า

สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระวิหารเวฬุวัน กลันทกนิวาปสถานใกล้พระนครราชคฤห์ ครั้งนั้นแล พ่อบ้านนักเต้นรำนามว่า ตาลบุตร เข้าไปเฝ้า พระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ถวายบังคมพระผู้มีพระภาคแล้ว นั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ครั้นแล้วได้ทูลถามพระผู้มีพระภาคว่า

ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์เคยได้ยินคำของนักเต้นรำ ผู้เป็นอาจารย์และปาจารย์ก่อนๆ กล่าวว่า นักเต้นรำคนใด ทำให้คนหัวเราะ รื่นเริง ด้วยคำจริงบ้าง คำเท็จบ้าง ในท่ามกลางสถานเต้นรำ ในท่ามกลางสถานมหรสพ ผู้นั้นเมื่อแตกกายตายไป ย่อมเข้าถึงความเป็นสหายแห่งเทวดาผู้ร่าเริง ในข้อนี้พระผู้มีพระภาคตรัสอย่างไร

ชุด แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 0332

นาทีที่ 00.00 - 07.10

ข้อความบางตอน...

พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ดูกร นายคามณี เราห้ามท่านไม่ได้แล้วว่า อย่าเลยนายคามณี ขอพักข้อนี้เสียเถิด ท่านอย่าถามข้อนี้แก่เราเลย แต่เราจักพยากรณ์ให้ท่าน

ดูกร นายคามณี เมื่อก่อนสัตว์ทั้งหลายยังไม่ปราศจากราคะ อันกิเลสเครื่องผูกคือราคะผูกไว้ นักเต้นรำรวบรวมเข้าไว้ซึ่งธรรมอันเป็นที่ตั้งแห่งความกำหนัด ในท่ามกลางสถานเต้นรำ ในท่ามกลางสถานมหรสพ แก่สัตว์เหล่านั้นมากยิ่งขึ้น

เมื่อก่อนสัตว์ทั้งหลายยังไม่ปราศจากโทสะ อันกิเลสเครื่องผูกคือโทสะผูกไว้ นักเต้นรำรวบรวมเข้าไว้ซึ่งธรรมอันเป็นที่ตั้งแห่งโทสะ ในท่ามกลางสถานเต้นรำ ในท่ามกลางสถานมหรสพ แก่สัตว์เหล่านั้นมากยิ่งขึ้น

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ