เรื่องปฐมโพธิกาล

 
บ้านธัมมะ
วันที่  23 พ.ค. 2553
หมายเลข  16296
อ่าน  6,396

ขอนอบน้อมแด่พระรัตนตรัย

สนทนาธรรมที่ มูลนิธิศึกษาและเผยแพร่พระพุทธศาสนา เนื่องในวันสำคัญทางพระพุทธศาสนา วันวิสาขบูชา วันศุกร์ที่ ๒๘ พฤษภาคม ๒๕๕๓ คือ

เรื่อง ปฐมโพธิกาล

จาก พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท เล่ม ๔๒ - หน้าที่ 178-180

นำสนทนาโดย ท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ และคณะวิทยากร

[เล่มที่ 42] พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท เล่ม ๔๒ - หน้าที่ 178-180

เรื่อง ปฐมโพธิกาล

พระศาสดาประทับนั่ง ณ ควงไม้โพธิพฤกษ์ ทรงเปล่งอุทานด้วยสามารถเบิกบานพระหฤทัย ในสมัยอื่น พระอานนท์เถระทูลถาม จึงตรัสพระธรรมเทศนานี้ว่า "อเนกชาติสสาร" เป็นต้น พระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้นแล ประทับนั่ง ณ ควงไม้โพธิพฤกษ์ เมื่อพระอาทิตย์ยังไม่อัสดงคต ทรงกำจัดมารและพลแห่งมารแล้ว ในปฐมยาม ทรงทำลายความมืดที่ปกปิดปุพเพนิวาสญาณ, ในมัชฌิมยาม ทรงชำระทิพยจักษุให้หมดจดแล้ว, ในปัจฉิมยาม ทรงอาศัยความกรุณาในหมู่สัตว์ ทรงหยั่งพระญาณลงในปัจจยาการแล้วทรงพิจารณาปัจจยาการนั้น ด้วยสามารถแห่งอนุโลมและปฏิโลม ในเวลาอรุณขึ้นทรงบรรลุพระสัมมาสัมโพธิญาณ พร้อมด้วยอัศจรรย์หลายอย่าง เมื่อจะทรงเปล่งอุทานที่พระพุทธเจ้าหลายแสนพระองค์ไม่ทรงละแล้ว จึงได้ตรัสพระคาถาเหล่านี้ว่า "เราแสวงหานายช่างผู้ทำเรือน เมื่อไม่ประสบ จึงได้ท่องเที่ยวไปสู่สังสาระ มีชาติเป็นเอนก ความเกิดบ่อยๆ เป็นทุกข์, แน่ะนายช่างผู้ทำเรือน เราพบท่านแล้ว, ท่านจะทำเรือนอีกไม่ได้, ซี่โครงทุกซี่ ของท่าน เราหักเสียแล้ว ยอดเรือน เราก็รื้อเสียแล้ว, จิตของเรา ถึงธรรมปราศจากเครื่องปรุงแต่งแล้ว, เพราะเรา บรรลุธรรมที่สิ้นตัณหาแล้ว"

แก้อรรถ

บรรดาบทเหล่านั้น สองบทว่า คหการ คเวสนฺโต ความว่า เราเมื่อแสวงหานายช่าง คือ ตัณหาผู้ทำเรือน กล่าวคือ อัตภาพนี้ มีอภินิหารอันทำไว้แล้ว แทบบาทมูลแห่งพระพุทธเจ้าทรงพระนามว่า ทีปังกร เพื่อประโยชน์แก่พระญาณ อันเป็นเครื่องอาจเห็นนายช่างนั้นได้ คือ พระโพธิญาณ เมื่อไม่ประสบ ไม่พบ คือ ไม่ได้พระญาณนั้นแล จึงท่องเที่ยว คือ เร่ร่อน ได้แก่ วนเวียนไปๆ มาๆ สู่สังสาระ มีชาติเป็นเอนก คือ สู่สังสารวัฏฏ์นี้ อันนับได้หลายแสนชาติ สิ้นกาลมีประมาณเท่านี้

คำว่า ทุกฺขา ชาติ ปุนปฺปุน นี้ เป็นคำแสดงเหตุแห่งการแสวงหาช่างผู้ทำเรือน เพราะ ชื่อว่า ชาตินี้ คือ การเข้าถึงบ่อยๆ ชื่อว่าเป็นทุกข์ เพราะภาวะที่เจือด้วยชรา พยาธิ และมรณะ ก็ชาตินั้น เมื่อนายช่างผู้ทำเรือนนั้น อันใครๆ ไม่พบแล้ว ย่อมไม่กลับ ฉะนั้น เราเมื่อแสวงหานายช่างผู้ทำเรือน จึงได้ท่องเที่ยวไป บทว่า ทิฏฺโฐสิ ความว่า บัดนี้เราตรัสรู้พระสัพพัญญุตญาณ พบท่านแล้วแน่นอน บทว่า ปุน เคหํ ความว่า ท่านจักทำเรือนของเรา กล่าวคือ อัตภาพ ในสังสารวัฏฏ์นี้อีกไม่ได้ บาทพระคาถาว่า สพฺพา เต ผาสุกา ภคฺคา ความว่า ซี่โครง กล่าวคือ กิเลสที่เหลือทั้งหมดของท่าน เราหักเสียแล้ว บาทพระคาถาว่า คหกูฏ วิสงฺขต ความว่า ถึงมณฑลช่อฟ้า กล่าวคือ อวิชชาแห่งเรือน คือ อัตภาพที่ท่านสร้างแล้วนี้ เราก็รื้อเสียแล้ว บาทพระคาถาว่า วิสงฺขารคต จิตฺต ความว่า บัดนี้ จิตของเราถึง คือ เข้าไปถึงธรรมปราศจากเครื่องปรุงแต่งแล้ว คือ พระนิพพาน ด้วยสามารถแห่งอันกระทำให้เป็นอารมณ์ บาทพระคาถาว่า ตณฺหาน ขยมชฺฌคา ความว่า เราบรรลุพระอรหัตต์ กล่าวคือ ธรรมเป็นที่สิ้นไปแห่งตัณหาแล้ว

เรื่องปฐมโพธิกาล จบ


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
khampan.a
วันที่ 23 พ.ค. 2553

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

ข้อความโดยสรุป เรื่อง ปฐมโพธิกาล

คำว่า ปฐมโพธิกาล หมายถึง ช่วงเวลาที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงตรัสรู้ใหม่ๆ หรือเมื่อแรกที่ได้ทรงตรัสรู้ เป็นความจริงที่ว่า พระพุทธเจ้าทุกๆ พระองค์ เมื่อได้ทรงตรัสรู้แล้ว ก็จะทรงเปล่งพระอุทาน (คำที่ทรงเปล่งออกด้วยพระโสมนัสสญาณ) ว่า เราแสวงหานายช่างผู้ทำเรือน เมื่อไม่ประสบ จึงได้ท่องเที่ยวไปสู่สังสาระ มีชาติเป็นเอนก เป็นต้น

พระพุทธเจ้าพระองค์นี้ (พระสมณโคดม) ก็เช่นเดียวกัน ในวันที่ทรงตรัสรู้ (วันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๖) พระองค์เสด็จเข้าไปยังโคนต้นพระศรีมหาโพธิ์ ทรงกำจัดกองกำลังแห่งมาร และ ทรงบรรลุสัมโพธิญาณ ณ ที่นั้น ในเวลาใกล้รุ่งของวันวิสาขบูชา เมื่อพระองค์ได้ทรงตรัสรู้แล้ว ก็ได้ทรงเปล่งพระอุทาน ดังกล่าว ในสมัยต่อมา พระอานนท์ทูลถาม พระองค์จึงได้ทรงแสดงพระธรรมเทศนานี้ ดังปรากฏในพระสูตรนั่นแล

ใจความของพระคาถาที่เป็นพระอุทานของพระพุทธเจ้า สรุปได้ว่า

พระโพธิสัตว์ ทรงบำเพ็ญบารมีตลอดระยะเวลา ๔ อสงไขยแสนกัปป์ เพื่อจะได้ตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้าเป็นผู้ทรงห่างไกลจากกิเลส ตรัสรู้ชอบได้โดยพระองค์เอง แต่เมื่อยังไม่ได้ปัญญาที่จะสามารถดับตัณหาซึ่งเป็นกิเลสที่สร้างภพชาติได้ ก็ยังต้องเวียนว่ายตายเกิด นับชาติไม่ถ้วน ยังเต็มไปด้วยกองแห่งทุกข์นานัปประการ แต่เมื่อพระองค์ได้ตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้า ดับตัณหาซึ่งเป็นตัวสร้างภพชาติ พร้อมทั้งอวิชชา และกิเลสทั้งหลายในฐานะเดียวกันได้ทั้งหมดแล้ว กิเลสเหล่านี้ไม่สามารถเกิดขึ้นอีก ไม่สามารถสร้างภพชาติให้กับพระองค์ได้อีกต่อไป ชาตินี้เป็นชาติสุดท้ายสำหรับพระองค์ ภพใหม่ไม่มีอีกต่อไป

ขอเชิญคลิกอ่านข้อความเพิ่มเติม เพื่อความเข้าใจยิ่งขึ้นได้ที่นี่ครับ

วันพิเศษคือวันวิสาขบูชา

นี่ก็ใกล้วันวิสาขบูขาอีกแล้ว

ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
JANYAPINPARD
วันที่ 24 พ.ค. 2553

ขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
จักรกฤษณ์
วันที่ 24 พ.ค. 2553

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
ผิน
วันที่ 24 พ.ค. 2553

ขอบคุณ และขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 5  
 
orawan.c
วันที่ 24 พ.ค. 2553

ขอบคุณ และขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 6  
 
hadezz
วันที่ 24 พ.ค. 2553

ขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 7  
 
was
วันที่ 24 พ.ค. 2553

ขอทราบรายละเอียดในเรื่องเวลา

ขอบคุณค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 9  
 
อภิรมย์
วันที่ 25 พ.ค. 2553

กราบอนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 10  
 
raynu.p
วันที่ 25 พ.ค. 2553

ขอบคุณ และขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 11  
 
ผิน
วันที่ 25 พ.ค. 2553

ขอบคุณ และขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 12  
 
Jans
วันที่ 25 พ.ค. 2553

ขอบคุณ และขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 13  
 
wirat.k
วันที่ 27 พ.ค. 2553

ขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 14  
 
Komsan
วันที่ 27 พ.ค. 2553

ขอขอบคุณ และขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 15  
 
Khaeota
วันที่ 28 พ.ค. 2553

ขอนอบน้อมแด่องค์สมเด็จพระผุ้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

ขออนุโมทนาค่ะ

ขออนุโมทนาในกุศลจิตทุกๆ ท่านค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 16  
 
captpok
วันที่ 28 พ.ค. 2553

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 17  
 
คุณ
วันที่ 29 พ.ค. 2553

ขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 18  
 
dhammanath
วันที่ 4 ก.ค. 2553

ขอน้อมเศียรก้มกราบขอขมาโทษ หากความคิดเห็นต่อไปนี้จะผิดไปจากคำแปลทั้งใน

พระคาถา "ปฐมพุทธวจนะ" และอรรถกถาที่อธิบายพระคาถานี้

คือตรงที่ท่านแปล คำว่า "ทุกฺขา ชาติ ปุนปฺปุนํ ความเกิดบ่อยๆ เป็นทุกข์"

ส่วนในอรรถกถาท่านให้คำอธิบายตรงนี้ว่า คำว่า ทุกฺขา ชาติ ปุนปฺปุนํ นี้เป็นคำแสดง

เหตุแห่งการแสวงหาช่างผู้ทำเรือน, เพราะชื่อว่า "ชาตินี้ คือการเข้าถึงบ่อยๆ ชื่อว่า เป็นทุกข์" เพราะภาวะที่เจือด้วยชรา พยาธิ และมรณะ

จะเห็นว่าทั้งคำแปลพระพุทธพจน์และอรรถกถานั้น มีความหมายสอดคล้องกันทีเดียว

ที่ผมขอแสดงความคิดเห็นก็คือว่า ถ้าเราจะแปลคำว่า "บ่อยๆ " ให้เป็นคำขยายของคำว่า "ทุกข์" ก็จะได้ความหมายว่า "ความเกิดเป็นทุกข์บ่อยๆ " ความหมายของผมก็คือว่า เมื่อเกิดมาแล้ว เอาแค่ชาติเดียวนี่แหละ ก็ทุกข์บ่อยๆ จนไม่อาจจะนับได้ ไม่จำต้องกล่าวถึงว่าเกิดหลายๆ ครั้งหรือเกิดบ่อยๆ หรอกครับ ทั้งนี้ที่ท่านแปลของท่านอย่างนั้น ก็ไม่ได้ว่าของท่านแปลผิดนะครับ จึงใคร่ขอฝากเป็นข้อคิดไว้นะครับ

"ทุกฺขา ชาติ ปุนปฺปุนํ ความเกิดบ่อยๆ เป็นทุกข์" หรือว่า

"ทุกฺขา ชาติ ปุนปฺปุนํ ความเกิดเป็นทุกข์บ่อยๆ " ครับผม?

 
  ความคิดเห็นที่ 19  
 
prachern.s
วันที่ 5 ก.ค. 2553

เรียนความเห็นที่ 18

"ทุกฺขา ชาติ ปุนปฺปุนํ ความเกิดบ่อยๆ เป็นทุกข์" ทั้งอรรถะและพยัญชนะชัดเจนอยู่แล้วครับความเกิด เป็นทุกข์ ถ้าเกิดบ่อยๆ ก็เป็นทุกข์บ่อยๆ ครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 20  
 
dhammanath
วันที่ 6 ก.ค. 2553

ผมเห็นด้วยนะครับ ที่ว่า เกิดบ่อยๆ เป็นทุกข์ ไม่ได้บอกว่าที่ท่านแปลไว้ไม่ถูก แต่ที่อยากให้พิจารณา ก็คือว่า บาลีตรงนี้แปลได้อีกอย่างว่า ความเกิดเป็นทุกข์บ่อยๆ ก็ได้ คำว่า "บ่อยๆ " นี้ ใช้เป็นคำขยายของคำว่า "ทุกข์" ก็ได้ ใช้เป็นคำขยายของคำว่า "ความเกิด" ก็ได้ จะมีตำราเล่มไหนไหมครับที่บอกสัมพันธ์พร้อมทั้งเหตุผลไว้ว่า คำว่า

"ปุนปฺปุนํ" ต้องสัมพันธ์เข้ากับคำว่า "ชาติ"

ถ้าแปลโดยใช้คำว่า "ปุนปฺปุนํ บ่อยๆ " เป็นคำขยายของคำว่า "ชาติ ความเกิด" ก็จะได้ความว่า ความเกิดบ่อยๆ เป็นทุกข์

ถ้าแปลโดยใช้คำว่า "ปุนปฺปุนํ บ่อยๆ " เป็นคำขยายของคำว่า "ทุกขํ เป็นทุกข์" ก็จะได้ความว่า ความเกิดเป็นทุกข์บ่อยๆ

ผมไม่มีอรรถกถาที่เป็นบาลี ไม่ทราบว่าท่านเรียงไว้อย่างไร เพราะถ้าท่านเรียงไว้ว่า

ชาติ อุปปชฺชนํ ปุนปฺปุนํ ทุกฺขา โหติ (เดาเอานะครับ) แล้วล่ะก็ ต้องแปลว่า ความเกิดเป็นทุกข์บ่อยๆ

อาจารย์ประเชิญอาจจะถามว่า แล้วพุทธพจน์ ไม่มีอะไรบ่งบอกให้แปลตัวไหนก่อนหรือ

ขอตอบว่าไม่มี พระพุทธพจน์นี้เป็นฉันท์ลักษณะ ฉันท์ไม่ได้เรียงคำพูดเหมือนภาษาพูดธรรมดาทั่วๆ ไป พระพุทธพจน์นี้ คำว่า ปุนปฺปุนํ เป็นคณะฉันท์ที่มีข้อบังคับไว้ว่า ตรงนี้ต้องเป็น ชะคณะ อยู่แล้ว จึงไม่มีทางที่จะอยู่ตรงอื่นได้

เหตุผลอีกประการหนึ่งคือ อรรถกถานั้นเป็นคัมภีร์ที่เราให้ความเชื่อถือรองลงมา และก็มีข้อผิดพลาดอยู่เหมือนกัน ขอยกตัวอย่างเท่าที่จำได้ (ขอโทษที่ต้องใช้คำนี้อยู่เรื่อย เพราะไม่มีคัมภีร์อยู่กับตัว) มาให้ดูสักที่หนึ่งดังนี้

เยนมฺหากํ กฐินํ คหิตํ ตสฺเสว กฐินานิสํสานิ เทม.

 
  ความคิดเห็นที่ 21  
 
khampan.a
วันที่ 6 ก.ค. 2553

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

เรียน คุณ dhammanath ที่นับถือ ครับ

ประโยชน์ของการศึกษาพระธรรม คือ เพื่อความเข้าใจถูก เห็นถูก เพื่อเข้าใจความจริง พยัญชนะที่พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงใช้ในการแสดงพระธรรม ก็เพื่อส่องให้ผู้ฟังเข้าใจตัวจริงของสภาพธรรม ที่สำคัญที่สุด คือ ความเข้าใจ ครับ

สำหรับ ประเด็น พระพุทธพจน์ที่ว่า "ทุกฺขา ชาติ ปุนปฺปุนํ ความเกิดบ่อยๆ เป็นทุกข์" มีความสมบูรณ์ทั้งพยัญชนะและอรรถ ตามที่อาจารย์ประเชิญได้กล่าวแล้ว ทำให้ผู้ฟัง ผู้ศึกษาได้เข้าใจถึงความจริงที่ว่า ตราบใดที่ยังมีกิเลส ยังไม่ได้ดับกิเลสทั้งหลายทั้งปวงได้อย่างเด็ดขาด ก็ยังต้องเกิดอยู่ร่ำไป ไม่พ้นไปจากกองทุกข์ทั้งปวง แต่สำหรับพระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า และ พระอรหันต์ทั้งหลาย ท่านดับโลภะซึ่งเป็นนายช่างผู้สร้างเรือนได้แล้ว และกิเลสในฐานะเดียวกันก็ดับได้หมดสิ้นไม่มีการเกิดในภพใหม่อีกต่อไป เป็นผู้สิ้นทุกข์โดยประการทั้งปวง การแปลอย่างนี้ ถูกต้องแล้ว โดยเทียบเคียงกับอรรถกถา และ เมื่อตรวจสอบกับคำแปลในส่วนอื่นๆ เช่น ในเถรคาถา เป็นต้น ก็แปลอย่างเดียวกัน ในอรรถกถาภาษาบาลีนั้น แสดงไว้ชัดเจนว่า คำว่า ปุนปฺปุนํ (บ่อยๆ ) ขยาย คำว่า การเกิด ดังต่อไปนี้ ยสฺมา ชราพฺยาธิมรณมิสฺสตาย ชาติ นาเมสา ปุนปฺปุนํ อุปคนฺตุํ (อุปคันตุง) ทุกฺขา น จ สา ตสฺมึ อทิฏฺเฐ นิวตฺตติ ตสฺมา ตํ คเวสนฺโต สนฺธาวิสฺสนฺติ อตฺโถ. คำแปล คือ เพราะชื่อว่าชาตินี้ คือ การเข้าถึงบ่อยๆ ชื่อว่าเป็นทุกข์ เพราะเป็นภาวะที่เจือด้วยชรา พยาธิ และมรณะ. ก็ ชาติ นั้น ครั้นเมื่อนายช่างผู้ทำเรือนนั้น อันใครๆ ไม่พบแล้ว ย่อมไม่กลับ

ฉะนั้น เราเมื่อแสวงหานายช่างผู้ทำเรือน จึงได้ท่องเที่ยวไป. สำคัญที่สุด คือ ความเข้าใจ ครับ เมื่อเข้าใจว่า ความเกิดบ่อยๆ เป็นทุกข์ เกิดบ่อยๆ เป็นทุกข์บ่อยๆ ก็ไม่ผิดแต่ประการใด เพราะเหตุว่า สังสารวัฏฏ์ ยาวนานเกิดมาแล้วนับชาติไม่ถ้วน เป็นทุกข์มาแล้วนับชาติไม่ถ้วนและยังจะต้องเกิดอีกและเป็นทุกข์อีกต่อไป จนกว่าจะมีปัญญาคมกล้าสามารถดับกิเลสทั้งปวงได้อย่างเด็ดขาด ถึงความเป็นพระอรหันต์ ครับ

ขออนุโมทนาในกุศลจิตของคุณ dhammanath มา ณ ที่นี้ด้วยนะครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 22  
 
dhammanath
วันที่ 7 ก.ค. 2553

ขออนุโมทนาและขอบคุณครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 23  
 
dhammanath
วันที่ 27 ส.ค. 2553

จากอรรถกถาพระวินัย ปฐมสมันตปาสาทิกา ฉบับมหามกุฏราชวิทยาลัย พิมพ์ครั้งที่ ๒/๒๕๑๔ หน้าที่ ๒๕ แปลไว้ดังต่อไปนี้

"เราแสวงหาอยู่ซึ่งนายช่างผู้ทำเรือน เมื่อไม่พบ ได้ท่องเที่ยวไปสู่สงสาร มีความเกิดเป็นอเนก ความเกิดเป็นทุกข์ร่ำไป แน่ะนายช่างผู้ทำเรือน เราพบเจ้าแล้ว เจ้าจักสร้างเรือน (คืออัตภาพของเรา) ไม่ได้อีกต่อไป ซึ่โครงทั้งหมดของเจ้าเราหักเสียแล้ว ยอดเรือน (คืออวิชชา) เรารื้อเสียแล้ว จิตของเราได้ถึงพระนิพพานมีสังขารไปปราศแล้ว เราได้บรรลุความสิ้นไปแห่งตัณหาทั้งหลายแล้ว"

ขออนุโมทนาและขอบคุณอีกครั้งครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 24  
 
missaran
วันที่ 30 พ.ย. 2562

กราบอนุโมทนา สาธุค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 25  
 
มกร
วันที่ 17 มี.ค. 2563

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 26  
 
chatchai.k
วันที่ 7 ก.ค. 2563

ขออนุโมทนาครับ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ