บรรลุธรรมวิเศษนี้ย่อมเกิดแก่ใครย่อมไม่เกิดแก่ใคร [วิภังค์]

 
JANYAPINPARD
วันที่  4 พ.ค. 2553
หมายเลข  16053
อ่าน  4,639

[เล่มที่ 78] พระอภิธรรมปิฎก วิภังค์ เล่ม ๒ ภาค ๒ - หน้าที่ 905

อธิมานนิทเทส

อธิบาย ความสำคัญว่าได้บรรลุธรรมวิเศษ

ถามว่า ก็ความสำคัญตนว่าได้บรรลุธรรมวิเศษนี้ ย่อมเกิดแก่ใคร ย่อมไม่เกิดแก่ใคร.

ตอบว่า ย่อมไม่เกิดขึ้นแก่พระอริยสาวก ก่อน จริงอยู่ พระอริยสาวกนั้น มีโสมนัส (ความพอใจ) อันเกิดขึ้นดีแล้วในขณะแห่งการพิจารณามรรค ผล นิพพาน กิเลสที่ท่านละแล้วและยังมิได้ละทีเดียว ไม่มีการสงสัยในการแทงตลอด (ในปฏิเวธ) ซึ่งเป็นอริยคุณ เพราะฉะนั้น ความสำคัญตนว่าได้บรรลุธรรมวิเศษ ย่อมไม่เกิดแก่พระโสดาบัน เป็นต้น ด้วยอำนาจแห่งความสำคัญว่า เราเป็นพระสกทาคามี เป็นต้น

ความสำคัญตนว่าได้บรรลุธรรมวิเศษ ย่อมไม่เกิดขึ้นแม้แก่บุคคลผู้ทุศีล จริงอยู่ บุคคลผู้ทุศีลนั้นไม่มีความปรารถนาในการบรรลุอริยคุณเลย

ความสำคัญตนว่าได้บรรลุธรรมวิเศษ ย่อมไม่เกิดขึ้นแม้แก่บุคคลผู้มีศีล ผู้มีกรรมฐานอันสละแล้ว ผู้ประกอบเนืองๆ ในความเป็นผู้ยินดี ในการนอน เป็นต้น.

ก็แต่ว่า ความสำคัญตนว่าได้บรรลุธรรมวิเศษนั้น ย่อมเกิดแก่ผู้มีศีลบริสุทธิ์ ผู้ไม่ประมาทในกรรมฐาน ผู้กำหนดนามรูป ข้ามความสงสัยได้ด้วยการกำหนดปัจจัย ผู้ยกนามรูปขึ้นสู่ไตรลักษณ์แล้วพิจารณาสังขารทั้งหลายผู้มีความเห็นแจ้ง มีความเพียร อนึ่ง เมื่อมีความสำคัญว่าได้บรรลุธรรมวิเศษเกิดขึ้นแล้ว

บุคคลผู้ได้สมถะอย่างเดียว (สุทธสมถลาภี) หรือผู้ได้วิปัสสนาอย่างเดียว (วิปัสสนาลาภี) ย่อมพักกรรมฐานไว้ในระหว่าง เพราะว่า เมื่อบุคคลนั้นไม่เห็นความปรากฏเกิดขึ้นแห่งกิเลส ในสิ้นเวลา ๑๐ ปีบ้าง ๒๐ ปีบ้าง ๓๐ ปีบ้าง จึงเกิดความสำคัญตนว่า เราเป็นพระโสดาบัน หรือเป็นพระสกทาคามี หรือพระอนาคามี ดังนี้

ส่วนพระโยคีผู้ได้ทั้งสมถะและวิปัสสนาเมื่อมีความสำคัญว่าได้บรรลุพระอรหัตเท่านั้น จึงพักกรรมฐานเสีย เพราะว่ากิเลสทั้งหลายอันบุคคลนั้นข่มไว้แล้วด้วยกำลังแห่งสมาธิ สังขารทั้งหลายอันเธอกำหนดดีแล้วด้วยกำลังแห่งวิปัสสนา ฉะนั้น กิเลสทั้งหลาย ย่อมไม่เกิดขึ้นสิ้น ๖๐ ปีบ้าง ๘๐ ปีบ้าง ๑๐๐ ปีบ้าง ความไม่สงสัย (คือไม่มีความสำคัญตน) ย่อมมีแก่พระขีณาสพเท่านั้น

พระโยคีผู้ได้ทั้งสมถะและวิปัสสนานั้น เมื่อไม่เห็นความเกิดขึ้นแห่งกิเลสสิ้นกาลนานอย่างนี้ จึงพักกรรมฐานไว้ในระหว่างเทียว ย่อมสำคัญว่า เราบรรลุพระอรหันต์ ดังนี้ เหมือนพระมหานาคเถระ ผู้อยู่ในอุจจตลังกะ เหมือนพระมหาทัตตเถระ ผู้อยู่ในหังกนกะ และเหมือนพระจูฬสุมเถระ ผู้อยู่ในเรือนเป็นที่กระทำความเพียร ชื่อว่า นิงกโปณณะ ใกล้ภูเขาชื่อจิตตลบรรพต


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
nopwong
วันที่ 18 ก.ย. 2556

ขออนุโมทนา

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
อุเทน
วันที่ 13 ก.ค. 2557

สาธุ สาะ สาธุ

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
ใหญ่ราชบุรี
วันที่ 15 เม.ย. 2559

ขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
orawan.c
วันที่ 29 เม.ย. 2563

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 5  
 
chatchai.k
วันที่ 17 พ.ค. 2563

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาครับ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ