วิปัสสนาภาวนา - ตอนที่ ๘

 
พุทธรักษา
วันที่  6 เม.ย. 2553
หมายเลข  15844
อ่าน  1,007

ขอนอบน้อมแด่พระรัตนตรัย

ข้อความบางตอน จากหนังสือ
ปรมัตถธรรมสังเขป ฯโดย
อาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์

การที่ "อิทธิบาท ๔" จะดำเนินไปได้ ก็ต้องอาศัยการสะสมเจริญขึ้นของ "อินทรีย์ ๔" ซึ่งเป็น "สภาพธรรมที่เป็นใหญ่-ในการนำไปสู่มรรค-หนทางปฏิบัติที่ถูกต้อง"

"อินทรีย์ ๕" ได้แก่

๑. สัทธินทรีย์ คือ "สัทธาเจตสิก" หมายถึง สภาพธรรมที่เป็นใหญ่ ในการมี ศรัทธาที่จะระลึก-รู้-ลักษณะของสภาพธรรม-ที่กำลังปรากฏ

๒. วิริยินทรีย์ คือ "วิริยเจตสิก" หมายถึง สภาพธรรมที่เป็นใหญ่ โดย ไม่เกียจคร้าน-ไม่ท้อถอย ที่จะระลึก-รู้-ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ

๓. สตินทรีย์ ได้แก่ "สติเจตสิก" หมายถึง สภาพธรรมที่เป็นใหญ่ในการ ไม่หลงลืม-ระลึก-รู้-ลักษณะของสภาพธรรม-ที่กำลังปรากฏ

๔. สมาธินทรีย์ ได้แก่ "เอกัคคตาเจตสิก"หมายถึง สภาพธรรมที่เป็นใหญ่ ในการตั้งมั่น-ในอารมณ์-ที่กำลังปรากฏ

๕. ปัญญินทรีย์ ได้แก่ "ปัญญาเจตสิก"หมายถึง สภาพธรรมที่เป็นใหญ่ ในการไตร่ตรอง-พิจารณา สังเกต-ศึกษา-ลักษณะของสภาพธรรม-ที่กำลังปรากฏ


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
พุทธรักษา
วันที่ 6 เม.ย. 2553

เมื่อ "อินทรีย์ ๕" เจริญเพิ่มขึ้น จนกระทั่งเป็น "สภาพธรรมที่มีกำลัง"คือ ความไม่หวั่นไหว-ในการพิจารณาอารมณ์ใดๆ ที่กำลังปรากฏหมายถึง สภาพธรรม-ที่เป็น "พละ ๕"
"พละ ๕"......ได้แก่

๑. สัทธาพละ คือ ความไม่หวั่นไหวไปด้วยความไม่ศรัทธา

๒. วิริยพละ คือ ความไม่หวั่นไหวไปด้วยความท้อถอย

๓. สติพละคือ ความไม่หวั่นไหวในการระลึก-รู้-ลักษณะของสภาพธรรมใดๆ ที่กำลังปรากฏ

๔. สมาธิพละ คือ ความไม่หวั่นไหวไปด้วยความฟุ้งซ่าน-ไม่มั่นคง

๕. ปัญญาพละ คือ ความไม่หวั่นไหวไปด้วยความไม่รู้

การที่ สัทธา วิริยะ สติ สมาธิ จะเป็น "สภาพธรรมที่มีกำลัง" ได้ก็เมื่อมี "ปัญญา-เป็นพละ"

เพราะ "เหตุ" คือ "ปัญญา" รู้-ลักษณะของสภาพธรรม-ที่เป็น นามธรรมและรูปธรรม-ทั่วขึ้นจึงไม่หวั่นไหว-ที่จะระลึก-รู้-ได้ว่า ขณะที่กำลังเห็น ได้ยิน ได้กลิ่น ลิ้มรส กระทบสัมผัส และ คิดนึกเป็น นามธรรม และ รูปธรรม อย่างไร

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
พุทธรักษา
วันที่ 6 เม.ย. 2553

เมื่อปัญญา-ที่เกิดพร้อมกับสติ ซึ่ง ระลึก-รู้-ลักษณะของสภาพธรรมคือ นามธรรม และ รูปธรรม สมบูรณ์-บริบูรณ์เป็น "วิปัสสนาญาณ" แต่ละขั้นแล้วก็ประกอบด้วย "โพชฌงค์ ๗" ซึ่งหมายถึง "องค์ธรรมแห่งการตรัสรู้อริยสัจจธรรม"

"โพชฌงค์ ๗" ได้แก่

๑. สติสัมโพชฌงค์ หมายถึง องค์ของการตรัสรู้ คือ "สติเจตสิก"

๒. ธัมมวิจยสัมโพชฌงค์ หมายถึง องของการตรัสรู้ คือ "ปัญญาเจตสิก"

๓. วิริยสัมโพชฌงค์ หมายถึง องค์ของการตรัสรู้ คือ "วิริยเจตสิก"

๔. ปีติสัมโพชฌงค์ หมายถึง องค์ของการตรัสรู้ คือ "ปีติเจตสิก"

๕. ปัสสัทธิสัมโพชฌงค์ หมายถึง องค์ของการตรัสรู้ คือ "กายปัสสัทธิเจตสิก" และ "จิตตปัสสัทธิเจตสิก"

๖. สมาธิสัมโพชฌงค์หมายถึง องค์ของการตรัสรู้ คือ "เอกัคคตาเจตสิก"

๗. อุเบกขาสัมโพชฌงค์หมายถึง องค์ของการตรัสรู้ คือ "ตัตรมัชฌัชตตตาเจตสิก"

ขออนุโมทนา

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
inthanin
วันที่ 7 เม.ย. 2553

มีข้อความที่เข้าใจง่ายกว่านี้มั้ยครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
พุทธรักษา
วันที่ 7 เม.ย. 2553

เรียนความเห็นที่ ๓

ขออนุโมทนาที่อุตส่าห์อ่าน แม้จะเข้าใจยากแต่สิ่งที่ดีที่สุด คือ การตรัสรู้ คือการเข้าสู่กระแสนิพพานเพื่อการออกจากการเวียนว่ายตายเกิด ซึ่งเป็น "จุดประสงค์สูงสุดในพระธรรมวินัยนี้" จะง่ายได้อย่างไร

โดยส่วนของผู้คัดลอกเอง สนใจที่จะศึกษาถึง "ปัญญาสูงขั้นสูงสุดที่ทรงแสดง" ก็ต้องคัดลอกไป ถามไปด้วย เพื่อ "ศึกษา" ตามอัธยาศัยที่สะสมมาและ ระลึกอยู่เสมอว่า "เข้าใจเท่าที่เข้าใจได้" ไม่เช่นนั้น ก็จะต้องปวดศรีษะแย่เลย แต่ในฐานะ "ผู้เดินทางไกล" เมื่อมีโอกาสที่จะเรียนรู้ จากท่านผู้รู้ ก็นับเป็นลาภอันประเสริฐ ที่จะได้รู้แม้เพียง "เรื่องราวของนิพพาน" ซึ่งเป็นจุดหมายสูงสุดของ "การพ้นทุกข์"

ปล. ยังไม่เจอข้อความที่ง่ายกว่านี้เลยค่ะ มีแต่ยากกว่านี้ คือ ในพระไตรปิฎกแต่ถ้าหากเจอข้อความที่เข้าใจง่ายกว่านี้แล้ว จะนำมาคัดลอกให้อ่านในโอกาสต่อไปแต่ "ข้อความที่อ่านเข้าใจง่ายๆ " ควรพิจารณาด้วย เพราะอาจจะถูกหรือไม่ถูก ก็ได้

สำหรับข้อความที่คัดลอกมานี้ ท่านไม่เข้าใจตรงไหนหรือคะ ขอเชิญสนทนาได้ค่ะ เพราะถ้าไม่ถาม ก็คงไม่รู้ว่าไม่เข้าใจตรงไหน อย่างไรบางที คำถามของท่าน อาจจะเกื้อกูลทั้งท่านและผู้อื่นด้วยก็ได้นะคะ

ขออนุโมทนา

 
  ความคิดเห็นที่ 5  
 
chatchai.k
วันที่ 16 ก.ค. 2563

ขออนุโมทนาครับ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ