ความจริงแห่งชีวิต [86] ทุกขันธ์ เกิดขึ้น แล้วต้องดับไป สูญไปหมดเลย

 
พุทธรักษา
วันที่  14 ส.ค. 2552
หมายเลข  13180
อ่าน  1,048

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

จิตเกิดดับอย่างรวดเร็ว ฉะนั้น ขณะทั้ง ๓ ก็หมดไปอย่างรวดเร็วด้วย แต่ธรรมใดซึ่งเป็นอดีต คือ “ล่วงไปแล้ว” นั้น ล่วงไปแล้วทั้ง ๓ ขณะ ไม่เหลือทั้งอุปาทขณะ ฐีติขณะ และภังคขณะ

คำอธิบายต่อไปมีว่า

คำว่า “ดับ​แล้ว” คือ ถึง​ความ​ดับ​แล้ว เหมือนไฟดับ ดับแล้ว ไม่มีอีก

คำว่า “ปราศ​ไป​แล้ว” คือ ถึง​ความ​ปราศ​ไป​แล้ว หรือ​ไป​ปราศ​แล้ว เหมือนคนตายที่ปราศไปแล้ว ไปปราศแล้ว ไม่เหลือเลยนั้น คือ ลักษณะของความดับ

คำว่า “แปร​ไป​แล้ว” คือ ถึง​ความ​แปร​ไป​ด้วย​การ​ละ​ปกติ ปกติ คือ มี แต่แปรไปด้วยการละปกติ คือ ไม่มี

คำว่า “อัสดงคต​แล้ว” ด้วย​อรรถ​ว่า ถึง​ความ​ตั้ง​อยู่​ไม่​ได้ กล่าว​คือ ความ​ดับ

“อพฺภตฺถงฺค​ตา” แปล​ว่า ถึง​ความ​ดับ​สูญ​แล้ว ทรงเพิ่มบทด้วยอุปสรรค คือ ไม่เพียงแต่ใช้คำว่า​ดับ ยังเพิ่มบทด้วยอุปสรรค คือ ให้รู้ถึงความดับสูญแล้ว ไม่เหลือจริงๆ คำว่า “เกิดขึ้นแล้วปราศไป” คือ บังเกิดแล้วปราศไป ไม่ใช่ว่า​ไม่มี มีเพราะเกิดขึ้น แต่ว่า​เมื่อเกิดขึ้นแล้วก็ปราศไปแล้ว สูญจริงๆ ไม่เหลือเลย ธรรม​ส่วน​ที่​ล่วง​ไป​แล้ว​เหล่า​นั้น อะไร​บ้าง คือ รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ซึ่งเป็นสังขตธรรม และเป็นขันธ์ ๕ ดังนี้ คือ

รูป​ขันธ์​ รูปทุกรูปเกิดขึ้นแล้วก็ดับไป

เวทนา​ขันธ์​ ความรู้สึกทุกอย่าง คือ เวทนา​เจตสิก เกิดขึ้นแล้วก็ดับไป

สัญญา​ขันธ์​ สภาพจำ คือ สัญญา​เจตสิก เกิดขึ้นแล้วก็ดับไป

สังขาร​ขันธ์​ ได้แก่ เจตสิก ๕๐ ประเภท ซึ่งปรุงแต่งเช่น โลภะ โทสะ อิสสา มัจฉริยะ ศรัทธา วิริยะและปัญญา เป็นต้น เกิดขึ้นแล้วก็ดับไป

วิญญาณ​ขันธ์​ คือ จิตทุกดวง เกิดขึ้นแล้วก็ดับไป

เมื่อทุกสิ่งที่เกิดขึ้นเป็นสังขตธรรม เป็นขันธ์หนึ่งขันธ์ใดใน ๕ ขันธ์ ดับไปทุกขณะๆ อย่างนี้ ยังอาลัย ยังยึดถือ ยังผูกพันขันธ์ไหนบ้างไหม ในเมื่อทุกขันธ์เกิดแล้วก็ดับไปๆ สูญไปด้วย ไม่ใช่ดับแล้วยังมีเหลือ แต่ว่า​ดับสูญไป ปราศไปโดยไม่เหลือเลย

เพียงขั้นการอ่าน การฟัง ดับกิเลสไม่ได้เลย ยังอยู่เต็มทีเดียว ฉะนั้น จึงต้องพิจารณา​ให้เข้าใจเพื่อเป็นสังขารขันธ์ปรุงแต่งให้สติระลึก สังเกต พิจารณา​รู้สิ่งที่ได้ยินได้ฟังเข้าใจแล้วนั้น จนกว่า​จะประจักษ์แจ้งลักษณะของสภาพธรรมที่เกิดขึ้นปรากฏและดับไป จึงจะละการยึดถือสภาพธรรมว่า​เป็นสัตว์ บุคคล ตัวตนได้


โดย อาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ จัดพิมพ์เผยแพร่ โดย คณะกรรมการ ศิลปะและวัฒนธรรม สภาผู้แทนราษฎร เนื่องในวโรกาสมหามงคลเฉลิมพระชนม์พรรษา ครบ ๗๕ พรรษาพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช วันที่ ๕ ธันวาคม ๒๕๔๕

ขอเชิญอ่านหรือดาวน์โหลดหนังสือ ...

ปรมัตถธรรมสังเขป

ขอเชิญอ่านตอนต่อไป ...

ความจริงแห่งชีวิต

ขออนุโมทนา

ขออุทิศกุศล แด่ คุณพ่อ และ คุณแม่


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
พุทธรักษา
วันที่ 14 ส.ค. 2552

ขอเรียนถามว่า ตราบใดที่ยังไม่ "ปรินิพพาน" รูปขันธ์ เกิดและดับไม่เหลือเลย ไม่มีการสะสมอยู่ในจิต แต่ นามขันธ์ ทั้ง ๔ เกิดและดับไม่เหลือ แต่สะสมอยู่ในจิตขณะต่อๆ ไปไม่สิ้นสุด ไม่มีวันเต็ม

เข้าใจถูกต้องหรือเปล่าคะ.?

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
prachern.s
วันที่ 15 ส.ค. 2552

ขออนุโมทนาครับ

กล่าวโดยรวมกว้างๆ คือ นามขันธ์ ทั้ง ๔ เกิดและดับไม่เหลือ แต่สะสมอยู่ในจิตขณะต่อๆ ไป

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
wannee.s
วันที่ 16 ส.ค. 2552

จิตที่ดับไป เป็นปัจจัยให้จิตขณะต่อไปเกิด สะสมทั้งฝ่ายดีและไม่ดีค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
pornpaon
วันที่ 16 ส.ค. 2552

ขอบคุณ และขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 5  
 
chatchai.k
วันที่ 18 ก.ค. 2563

ขออนุโมทนาครับ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ