ความจริงแห่งชีวิต [69] อารมณ์ของชวนวาระ เป็น มหันตารมณ์

 
พุทธรักษา
วันที่  4 ส.ค. 2552
หมายเลข  13080
อ่าน  913

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

ส่วนวาระใดที่เมื่อโวฏฐัพพนจิตดับไปแล้ว ชวนจิตเกิดดับสืบต่อกัน ๗ ขณะแล้วอารมณ์ก็ดับ ตทาลัมพนวิถีจิตเกิดไม่ได้ การรู้อารมณ์ของวิถีจิตวาระนั้นเป็น “ชวน​วาระ” เพราะมีวิถีจิตเพียง ๖ วิถี คือ ถึงชวนวิถีเท่านั้นแล้วรูปก็ดับไป เมื่อวิถีจิตสิ้นสุดลงที่ชวนวิถี การรู้อารมณ์วาระนั้นจึงเป็นชวนวาระ อารมณ์ของชวนวาระเป็นมหันตารมณ์ คือ เป็นอารมณ์ที่ชัดเจน ทำให้กุศลจิต หรืออกุศลจิต หรือมหากิริยาจิต (ของพระอรหันต์) เกิดได้


โดย อาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ จัดพิมพ์เผยแพร่ โดย คณะกรรมการ ศิลปะและวัฒนธรรม สภาผู้แทนราษฎร เนื่องในวโรกาสมหามงคลเฉลิมพระชนม์พรรษา ครบ ๗๕ พรรษาพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช วันที่ ๕ ธันวาคม ๒๕๔๕

ขอเชิญอ่านหรือดาวน์โหลดหนังสือ ...

ปรมัตถธรรมสังเขป

ขอเชิญอ่านตอนต่อไป ...

ความจริงแห่งชีวิต

ขออนุโมทนาขออุทิศกุศล แด่ คุณพ่อ และ คุณแม่


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
สุภาพร
วันที่ 5 ส.ค. 2552

"อารมณ์ที่ชัดเจน" นี้เอง เป็น "ปัจจัย" ที่ทำให้ "กุศลจิต" หรือ "อกุศลจิต" (ของผู้ที่ไม่ใช่พระอรหันต์) และ "กิริยาจิตของพระอรหันต์" เกิดขึ้นได้

ช่วยอธิบายเพิ่มเติมหลังจากกุศลจิต หรือ อกุศลจิต ของผู้ไม่ใช่พระอรหันต์ เกิดขึ้นแล้วเป็นอย่างไร และ หลังจากชวนวิถี ๗ ขณะ ถ้าลงสู่ตทาลัมพนะ เป็นอย่างไร ยังไม่เข้าใจค่ะ

ขอขอบพระคุณและอนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
พุทธรักษา
วันที่ 5 ส.ค. 2552

เท่าที่เข้าใจ ก็คือว่า หลังจาก กุศลจิต หรือ อกุศลจิต ของผู้ที่ไม่ใช่พระอรหันต์ เกิดขึ้น "ผู้ที่ไม่ใช่พระอรหันต์" หมายถึง ปุถุชน หรือ พระโสดาบัน หรือ พระสกทาคามี หรือ พระอนาคามี ซึ่ง ต่างก็ ต้องมี "ปัญญาที่ต่างระดับ" กันแน่นอน ดังนั้น กุศล และ อกุศล ก็ต้อง "ต่างระดับ" ตาม "ปัญญาที่ต่างระดับ" ด้วย ตัวอย่างเช่น ปุถุชน กับ พระโสดาบัน เป็นต้น ขณะที่มี "เหตุ-ปัจจัย" ที่ทำให้ ปุถุชน เกิดกุศลจิต และ อกุศลจิต กุศลจิต และ อกุศลจิตของปุถุชน นั้น "ไม่ประกอบด้วยปัญญา" เหมือน กุศลจิต และ อกุศลจิต ของพระโสดาบัน ที่ไม่เหมือนกัน เพราะ พระโสดาบัน "ดับความเห็นผิดในสภาพธรรมตามความเป็นจริง" ได้เป็นสมุจเฉท แม้ยังมี กุศลจิต และ อกุศลจิต เพราะยังไม่ได้ดับกิเลสทั้งหมด เช่นพระอรหันต์

พระโสดาบัน ก็ไม่ยึดถือ "กุศลจิต" และ "อกุศลจิต" นั้น ว่า เป็น "เรา" แต่ ปุถุชน ยังไม่ดับความเห็นผิดได้เป็นสมุจเฉทจึง ยึดถือ แม้กุศลจิต และ อกุศลจิต ว่า "เป็นเรา" หรือ "เป็นของเรา" เช่น "เรา" เกิด อกุศลจิต ก็เดือดร้อน เพราะความเป็น "เราที่เกิดอกุศล" หรือ ถ้าเป็น "เรา" เกิด กุศลจิต ก็เกิดโลภะความติดข้องพอใจ เพราะความเป็น "กุศลของเรา" เป็นต้น

เมื่อ "ชวนวิถีจิต" ๗ ขณะ" ดับไป แล้ว "รูป" ยังไม่ดับ การที่ "รูป" ยังไม่ดับนั้นเองที่เป็น "ปัจจัย" ให้ "ตทาลัมพนจิต" เกิดต่อ และเป็น การรู้อารมณ์ (รูปนั้น) อย่างชัดเจน ตัวอย่างเช่น ขณะนี้ กำลังอ่าน เห็นสี คิด มีสภาพธรรมใดอื่นปรากฏอีกหรือไม่ เป็นเรื่องที่ ตนเองเท่านั้น ที่จะ ทราบได้ "อารมณ์ชัดเจน" หรือไม่ ใครทราบ ลองพิจารณาว่า ขณะที่กำลังง่วง หรือ เพิ่งตื่นนอน กับตอนที่ไม่ง่วง เป็นต้น แล้วอ่าน หรือ เห็นสิ่งต่างๆ หรือ ได้ยินเสียง หรือ คิดนึก ฯลฯ "ความชัดเจนของการรู้อารมณ์" ดังกล่าว ต่างกันไหม ลองพิจารณาดูนะคะ

ขออนุโมทนาค่ะ เป็นหัวข้อที่ควรศึกษาอย่างละเอียด ขอเชิญทุกท่านร่วมสนทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
Sam
วันที่ 5 ส.ค. 2552

ทางปัญจทวารนั้น อารมณ์ที่ชัดเจนที่ทำให้เกิดกุศลจิต หรืออกุศลจิต (สำหรับผู้ที่ ไม่ใช่พระอรหันต์) มี ๒ อย่างคือ มหันตารมณ์ (อารมณ์ที่ชัดเจน) และ อติมหันตารมณ์ (อารมณ์ที่ชัดเจนมาก)

มหันตารมณ์ เป็นปัจจัยให้วิถีจิตทางปัญจทวารเกิดขึ้นรู้อารมณ์ตามลำดับ จนถึง ชวนวิถึซึ่งเป็นกุศลจิตหรืออกุศลจิต (สำหรับผู้ที่ไม่ใช่พระอรหันต์) เมื่อชวนวิถีจิตดับ หมดแล้ว ภวังคจิตเกิดดับสืบต่อหลายขณะ แล้วมโนทวารวิถีจิตเกิดขึ้นรู้อารมณ์นั้นต่อ ครับ

ส่วนอติมหันตารมณ์ จะเป็นปัจจัยให้ให้วิถีจิตทางปัญจทวารเกิดขึ้นรู้อารมณ์ตามลำดับ จนถึงชวนวิถึซึ่งเป็นกุศลจิตหรืออกุศลจิต (สำหรับผู้ที่ไม่ใช่พระอรหันต์) เมื่อ ชวนวิถีจิตดับหมดแล้ว ตทาลัมพนวิถีจิตจะเกิดขึ้นรู้อารมณ์นั้นต่อและดับไป แล้วภวังคจิตเกิดดับสืบต่อหลายขณะ แล้วมโนทวารวิถีจิตเกิดขึ้นรู้อารมณ์นั้นต่อครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
pornpaon
วันที่ 5 ส.ค. 2552

ขอบคุณ และขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 5  
 
สุภาพร
วันที่ 6 ส.ค. 2552

ขอขอบพระคุณและอนุโมทนา คุณพุทธรักษา และ คุณ K ที่กรุณาขยายความให้เข้าใจ ไม่ใช่ปัญญาของปุถุชนที่จะรู้ได้ นอกจากพระปัญญาของพระพุทธองค์เท่านั้นใช่ไหมคะ

 
  ความคิดเห็นที่ 6  
 
พุทธรักษา
วันที่ 6 ส.ค. 2552

เรียน คุณสุภาพร

ความจริงแห่งชีวิต ที่ปุถุชนอย่างเรา เข้าใจผิดมาตลอดนั้นถูกค้นพบ โดยการ ตรัสรู้ ของพระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้นแต่ไม่ได้หมายความว่า รู้ตามไม่ได้ (ยกเว้นสิ่งที่รู้ได้ด้วยพระสัพพัญญุตญาณ เช่น อจินไตย ๔)

เพราะมิฉะนั้น พระผู้มีพระภาคฯ จะไม่ทรงเทศนาสั่งสอน หลังจากพระองค์ทรงตรัสรู้แล้วและพระอรหันตสาวกทั้งหลาย จะไม่กระทำการสังคายนาพระไตรปิฎกและตราบใด ที่ยังมีผู้ศึกษาพระไตรปิฎก ด้วยความรับผิดชอบอย่างสูงอย่างเช่น ท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์และท่านสามารถนำความรู้นั้นมาเผยแพร่แก่พวกเราได้ เราก็สามารถที่จะ "เข้าใจขึ้นๆ " ได้ ถ้าเพียงแต่เรา ยังเห็นคุณค่า ของ "พระธรรมวินัย"และไม่หยุดที่จะศึกษาต่อไป ค่ะ

และต้องไม่ลืม ว่า อริยทรัพย์ที่ประเสริฐสุด ๗ ประการ "ที่ควรสะสม"คือ ศรัทธา ศีล สุตตะ จาคะ ปัญญา หิริ และ โอตตัปปะและไม่ลืมจุดประสงค์ของการศึกษาพระธรรมว่า เป็นไปเพื่อการละ คือ ละ ความไม่รู้ ทีละเล็กทีละน้อย เป็นอย่างแรกและเจริญกุศลทุกประการ เพื่อสั่งสมบารมีเป็นกำลังในการเดินทางหนทางนี้ มีทางเดียวเท่านั้น คือ "มรรคมีองค์ ๘"

ความเข้าใจพระธรรม ต้องค่อยๆ เข้าใจ ไปทีละเล็กทีละน้อย ตอนนี้ยังไม่เข้าใจ ก็ไม่แปลกเพราะเราสะสมความเห็นผิดมานาน (ทั้งชาตินี้ และ อดีตอนันตชาติในสังสารวัฏฏ์) การละความเห็นผิด ในสิ่งที่ยึดถือว่าเป็นเราก็ต้องนาน จนไม่สามารถประมาณได้เลยค่ะ

"จิรกาลภาวนา"

ขออนุโมทนาค่ะ

[เล่มที่ 13] พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย มหาวรรค เล่ม ๒ ภาค ๑ - หน้าที่ 332

พระปัจฉิมวาจา

[๑๔๓] ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้า รับสั่งกะภิกษุทั้งหลาย ว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย บัดนี้ เราขอเตือนพวกเธอว่า สังขารทั้งหลาย มีความเสื่อมไปเป็นธรรมดา พวกเธอจงยังความไม่ประมาทให้ถึงพร้อมเถิด นี้เป็น พระปัจฉิมวาจาของพระตถาคต

ข้อความจากอรรถกถา

บทว่า อปฺปมาเทน สมฺปาเทถ ความว่า จงยังกิจทั้งปวง ให้สำเร็จ ด้วยความไม่ไปปราศจากสติ

ดังนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงบรรทม ที่เตียงปรินิพพาน ประทานพระโอวาทที่ประทานมา ๔๕ พรรษา รวมลงใน บท คือ ความไม่ประมาท อย่างเดียวเท่านั้น

 
  ความคิดเห็นที่ 7  
 
สุภาพร
วันที่ 7 ส.ค. 2552

เรียน คุณพุทธรักษา ขอขอบพระคุณและอนุโมทนาค่ะ

เป็นบุญมากค่ะ ที่ได้มาฟังพระสัทธรรมคำสอนของพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า จากท่านอาจารย์ ทำให้รู้ว่าสี่งที่พระพุทธองค์ทรงสั่งสอนก็คือความเป็นจริงของชีวิต (ซึ่งเมื่อก่อนมาฟังคำบรรยาย ก็คิดว่าชีวิตที่เป็นอยู่ก็พอแล้ว แต่ความเป็นจริงยังไม่ได้เริ่มต้นชีวิตที่ถูกเลย)

ท่านอาจารย์มีเมตตากับทุกคน เสมอเหมือนกัน ท่านรู้อย่างไรก็บรรยายสั่งสอนให้รู้ถูกเห็นถูกอย่างนั้น อย่างไม่เหนื่อย และเบื่อหน่าย จะขอฟังคำบรรยายของท่านอาจารย์ตลอดไป เพื่อสะสมความเห็นถูกมาก ขึ้นค่ะ

ขอขอบพระคุณและอนุโมทนา คุณพุทธรักษา อีกครั้งค่ะ และ

ขอกราบเท้าท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ ด้วยความเคารพค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 8  
 
พุทธรักษา
วันที่ 7 ส.ค. 2552

ขออนุโมทนา ในกุศลจิตของคุณสุภาพรตราบใดที่ยัง "เห็นคุณค่าของพระธรรม" ที่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงตรัสรู้เป็นการพบสิ่งที่พบได้ยากแสนยาก พระพุทธเจ้า พระธรรม และ บุคคลผู้กระทำคุณ คือ ให้ความรู้แก่เรา โดยไม่หวังผลตอบแทนอื่นนอกจาก "ความเข้าใจพระธรรม" เพื่อความสวัสดีของเรา

สำหรับเรา ที่ได้พบสิ่งที่ยากแสนยากแล้ว หน้าที่ คือ ตอบแทนพระคุณของท่านด้วย "การศึกษา" ตามอัธยาศัย ตามกำลังปัญญที่สะสมมา ท่านอาจารย์เคยกล่าว ว่า "ดิฉันขออนุโมทนา (ยินดีด้วย) ผู้ที่ เข้าใจพระธรรม ที่พระผู้มีพระภาคฯตรัสรู้ ถ้าเพื่อ ความเข้าใจพระธรรม ก็ไม่ต้องเกรงใจที่จะถามข้อธรรมที่ยังสงสัย" มั่นคงในหนทางนี้ ยังมีเพื่อนร่วมทางเดินทางไปด้วยกันเพื่อประโยชน์ใหญ่ ไม่ใช่ของใคร คือ ความเข้าใจพระธรรม ที่ค่อยๆ เพิ่มขึ้นๆ ทีละเล็ก ทีละน้อย ซึ่งเป็น "เหตุ-ปัจจัย" ที่จะทำให้พ้นทุกข์จริงๆ ในที่สุดของการเดินทาง

 
  ความคิดเห็นที่ 9  
 
สุภาพร
วันที่ 10 ส.ค. 2552

มั่นคงในหนทางนี้ยังมีเพื่อนร่วมทางเดินทางไปด้วยกันเพื่อประโยชน์ใหญ่ ที่ไม่ใช่ของใครคือ "ความเข้าใจพระธรรม ที่ค่อยๆ เพิ่มขึ้นๆ ทีละเล็ก ทีละน้อย" ซึ่งเป็น "เหตุ-ปัจจัย" ที่จะทำให้พ้นทุกข์จริงๆ ในที่สุดของการเดินทาง

ขอขอบพระคุณและอนุโมทนาสำหรับคำชี้แนะที่ทรงคุณค่าค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 10  
 
chatchai.k
วันที่ 18 ก.ค. 2563

ขออนุโมทนาครับ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ