ปัญหาคาใจ

 
Kindergarten
วันที่  22 ก.พ. 2552
หมายเลข  11332
อ่าน  957


ถ้าต้องอยู่ในสังคมเดียวกับคนที่ไม่มีความเกรงใจ เบียดเบียนให้เราต้องเดือดร้อน

ทางกาย ทางวาจา แทบทุกวัน เตือนก็ไม่ได้ กลายเป็นว่าโดนหนักเข้าไปอีก อีกทั้งผู้ที่

ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องก็รุมว่าเข้าไปอีก ว่าเรื่องมาก ทำไมเรื่องแค่นี้ถึงทนไม่ได้ ดิฉันทราบ

ดีค่ะว่าเป็นอกุศลวิบากของเราเอง เราไม่เคยตอบโต้ แต่รู้ดีว่าใจเป็นอกุศลอยู่ตลอด

และตอนนี้ยังทำตนเป็นผ้าเช็ดธุลีไม่ได้ค่ะ เพราะกำลังศึกษาธรรมะอยู่ในขั้นอนุบาลค่ะ

อยากจะขอคำแนะนำจากรุ่นพี่ชั้นอุดมศึกษาด้วยค่ะ


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
paderm
วันที่ 23 ก.พ. 2552

ขอนอบน้อมแด่พระรัตนตรัย ทุกอย่างเป็นธรรมและเป็นอนัตตา ล้วนแล้วแต่เกิดจากเหตุปัจจัย เมื่อสะสมอกุศล

มามากก็ย่อมมีเหตุปัจจัยให้เกิดอกุศลได้บ่อย ซึ่งบางครั้งก็ถึงกับล่วงออกมาทางกาย

วาจา ประโยชน์ของการศึกษาธรรมคือการรู้ความจริงในสิ่งที่เกิดขึ้น ไม่ใช่ห้ามในสิ่งที่

เกิดขึ้นเพราะห้ามไม่ได้ มีเหตุปัจจัยจึงเกิดขึ้น การรู้ความจริงคือการเข้าใจว่าสิ่งที่เกิด

ขึ้นเป็นอนัตตา รู้ว่าไม่ใช่เราที่เป็นอกุศลแต่เป็นสภาพธรรม ซึ่งการรู้ความจริงเช่นนี้เป็นหนทางในการดับกิเลสซึ่งการดับกิเลสต้องดับความเห็นผิดว่าเป็นเรา ว่าเป็นสัตว์

บุคคลก่อนครับ แต่การจะรู้ความจริงเช่นนี้ได้ว่าเป็นธรรมไช่เรานั้นต้องเริ่มจากการฟัง

พระธรรมให้เข้าใจ เริ่มจากเข้าใจก่อนว่าธรรมคืออะไรครับ

อย่างไรก็ตามการพิจารณา การฟังพระธรรมก็เป็นปัจจัยหนึ่งให้เป็นผู้อดทนมากขึ้น

ดังนั้นสิ่งที่สำคัญคืออาศัยการฟังพระธรรม ธรรมก็จะทำหน้าที่ขัดเกลากิเลสแต่ว่าทีละ-

เล็กละน้อยแต่ก็ควรเข้าใจว่ากิเลสเมื่อมีเหตุปัจจัยก็เกิดขึ้นได้เสมอครับ ไม่มีหนทางอื่น

นอกจากฟังพระธรรม ศึกษาพระธรรมครับ

เชิญคลิกอ่านเพิ่มเติมที่นี่ครับ มีวิธีใดที่จะระงับความโกรธให้ได้เร็วที่สุด...? ปฐมอาฆาตวินยสูตร - ทุติยอาฆาตสูตร (08-07-49) อุทิศกุศลให้สรรพสัตว์

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
ajarnkruo
วันที่ 23 ก.พ. 2552

หนทางเดียวคือฟังพระธรรมต่อไป ฟังแล้วใคร่ครวญ พิจารณาจนเป็นความเข้าใจที่เกิดขึ้นทีละนิดๆ สั่งสมเป็นปัญญาของเราเองครับ เพราะเราจะอาศัยปัญญาของผู้อื่นมาช่วยให้เราอดทนต่ออกุศลที่เกิด จนถึงกับละกิเลส หรือ ถอนความไม่ดีออกไปจากใจของเราไม่ได้ ...ต้องเป็นปัญญาของเราเท่านั้นจริงๆ หน้าที่ของการรู้จักอกุศลตามความเป็นจริงว่า อกุศลเป็นอกุศล ไม่ใช่เรานั้น เป็นหน้าที่ของสติสัมปชัญญะ ที่จะระลึกรู้ในลักษณะของอกุศลที่ปรากฏ ตามความเป็นจริงแต่กว่าที่จะรู้จักตัวจริงของอกุศล และธรรมะอื่นที่ปรากฏนั้น ต้องอาศัยความเพียรและความอดทนที่จะค่อยๆ เข้าใจธรรมะในขั้นฟัง และขั้นคิด ไม่น้อยทีเดียว ซึ่งก็ไม่ใช่เรื่องที่จะย่อท้อ เพราะแม้จะทำอะไรกับสภาพอกุศลธรรมที่เกิดอีกๆ ๆ ไม่ได้ แต่เป็นเรื่องที่ปัญญาที่เจริญขึ้น โดยอาศัยการศึกษาพระธรรม จะสามารถรู้ได้ว่า สิ่งนี้มีจริง อาศัยเหตุปัจจัยเกิด ก็เกิด เป็นอนัตตาจริง เพราะไม่อยู่ในอำนาจบังคับบัญชาของเราเลยแม้แต่ขณะเดียว ทั้งหมดเป็นเรื่องของการอบรมเจริญความรู้ถูกในความเป็นธรรมะตามลำดับขั้นจริงๆ กว่าที่ท่านพระสารีบุตรจะเป็นดังผ้าเช็ดธุลีได้ ท่านต้องอบรมเจริญบารมี นานถึง1 อสงไขยแสนกัปป์ทีเดียว เพราะฉะนั้น ทุกชาติที่เราได้ศึกษาพระธรรม จนเกิดความเห็นถูกต้อง ไม่ผิดไปจากพระธรรม ขณะนั้นก็คือ การที่เริ่มน้อมไปที่จะเป็นดังผ้าเช็ดธุลีทีละน้อยแล้วครับ แม้ว่าตอนนี้ยังไม่ปรากฏว่าจะเป็นดังผ้าเช็ดธุลีได้ชัดเจน คือไม่อาจที่จะประพฤติปฏิบัติตนเป็นดังผ้าเช็ดธุลีโดยตลอดได้ เพราะยังมีเหตุปัจจัยที่จะเป็นอกุศล แต่ว่าเมื่อผ้าผืนนั้นถูกเช็ดไปๆ บ่อยๆ เข้า.. วันหนึ่ง.. เดือนหนึ่ง.. ปีหนึ่ง.. ชาติหนึ่ง ...เมื่อนั้นก็จะเริ่มมีความอดทนด้วยกุศลจิตมากขึ้น เพราะเหตุว่า ได้เพิ่มพูนความเข้าใจธรรมะโดยความเป็นธรรมะมากขึ้น และเมื่อเหตุสมควรแก่ผล ก็ย่อมจะสามารถมีตนเป็นดังผ้าเช็ดธุลี คือ ไม่เดือดร้อน ไม่หวั่นไหว ไม่ว่าอะไรจะมากระทบจิตใจได้แน่นอนในสักวันหนึ่งครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
พุทธรักษา
วันที่ 24 ก.พ. 2552


ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น.
.
.

ดูกร ภิกษุทั้งหลาย
รอยนิ้วมือ ย่อมปรากฏ หรือ รอยหัวแม่มือ ย่อมปรากฏ ที่ด้ามมีด ของนายช่างไม้ หรือ ลูกมือ ของนายช่างไม้ แต่นายช่างไม้ หรือลูกมือของนายช่างไม้นั้น หารู้ไม่ว่าวันนี้ ด้ามมีดของเราสึกไป ประมาณเท่านี้ วานนี้ สึกไป ประมาณเท่านี้วันก่อนๆ สึกไป ประมาณเท่านี้ นายช่างไม้ และ ลูกมือของนายช่างไม้นั้นมีความรู้แต่ว่า สึกไปแล้วๆ โดยแท้แล แม้ฉันใด.
ดูกร ภิกษุทั้งหลาย
เมื่อภิกษุ ประกอบภาวนานุโยคอยู่ หารู้ไม่ว่าวันนี้ อาสวะทั้งหลายของเรา สิ้นไปแล้ว ประมาณเท่านี้วานนี้ สิ้นไปแล้ว ประมาณเท่านี้ หรือ วันก่อนๆ สิ้นไปแล้ว ประมาณเท่านี้ ก็จริงถึงอย่างนั้น เมื่ออาสวะ สิ้นไปแล้ว เธอก็มีความรู้แต่ว่า สิ้นไปแล้วๆ ฉันนั้น เหมือนกันแล.
ดูกร ภิกษุทั้งหลาย
เมื่อเรือที่เขาผูก ด้วยตรวน แล่นไปในสมุทรแล้วจมลงในน้ำสิ้น ๖ เดือนโดยเหมันตสมัย เมื่อเขาเข็นขึ้นบก ตรวนเหล่านั้น ถูกลม และ แดด กระทบแล้ว ถูกฝนตก รดแล้ว ย่อมผุ และ เปื่อย โดยไม่ยากเลย ฉันนั้น เหมือนกันแล.
.
.
.
แด่...ผู้ท้อใจ.

ขออนุโมทนา

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
choonj
วันที่ 24 ก.พ. 2552

เมื่อยังเป็นอนุบาลอยู่ ก็จะไม่ค่อยได้รับความเกรงใจเพราะเป็นผู้น้อย จึงต้องเป็นคนพูดน้อยทำมากและไม่สร้างเหตุให้คนอื่นๆ มารุมว่าเราได้ ถ้าไม่พูดเลยทำอย่างเดียวผมว่าไม่มีใครจะมาว่าเราได้นะครับ จนกว่าจะดีขึ้น ครับ
 
  ความคิดเห็นที่ 5  
 
วันชัย๒๕๐๔
วันที่ 24 ก.พ. 2552
แค่เพียงที่ "หยุด" เพื่อฟังพระธรรม ไม่ไหลไปตามอำนาจของกิเลส ก็เป็นการเริ่มสะสมปัญญาเพื่อละคลายอำนาจของอกุศลธรรมทั้งหลาย ที่นำความเดือดร้อนใจมาให้แล้วครับ ทีละเล็กทีละน้อย มากครั้งขึ้น มั่นคงขึ้น ผ้าผืนนี้ก็จะสะอาดขึ้นสามารถรองรับธุลีได้มากขึ้นครับ
 
  ความคิดเห็นที่ 6  
 
Sam
วันที่ 24 ก.พ. 2552

ผมเห็นด้วยอย่างยิ่งกับคำแนะนำของหลายๆ ท่าน ที่กล่าวว่าควรฟังธรรม และก็ขอ

อนุญาตเสริมว่า ควรฟังธรรมทุกเวลาที่มีโอกาสครับ

การที่เราประสบกับสิ่งที่ไม่น่าพอใจในชีวิตประจำวันนั้น เป็นผลของอกุศลที่ทำไว้ใน

อดีต และการสะสมที่ไม่ดีของเราก็ทำให้สิ่งที่ไม่น่าพอใจที่ประสบนั้นเป็นปัจจัยให้

อกุศลจิตเกิดขึ้นตามมา เช่น เราอาจถูกต่อว่าเพียงครั้งเดียว แต่กลับคิดถึงคำต่อว่านั้น

ซ้ำไป ซ้ำมา ด้วยโทสะที่ได้สะสมมาแล้ว และถ้าหากต้องถูกเบียดเบียนด้วยกายและ

วาจาอยู่บ่อยๆ ก็เป็นธรรมดาที่จะคิดถึงเรื่องเหล่านั้นมากขึ้นเป็นทวีคูณ

ดังนั้น การฟังพระธรรมจะช่วยให้เราได้ฟังคำสอนที่ประเสริฐ ซึ่งเมื่อได้ฟังแล้วก็จะ

ทำให้คิดถึงคำสอนอันมีประโยชน์นั้นได้บ้าง แทนที่จะคิดถึงแต่เรืองการเบียดเบียน

ที่ได้รับเพียงอย่างเดียว (หรือคิดถึงเรื่องอื่นๆ ซี่งส่วนมากก็ล้วนเป็นไปในอกุศล)

นอกจากนี้ เมื่อความเข้าใจจากการฟังพระธรรมมีมากพอหรือมีกำลังพอแล้ว จะทำให้

เราทราบความแตกต่างระหว่างขณะที่กำลังรับผลของอกุศล (อันเป็นขณะที่สั้นแสนสั้น)

กับขณะที่อกุศลจิตเกิดขึ้นทำกิจ (จนเสมือนว่าเป็นเรื่องราวความทุกข์ที่ยาวนานและ

ต่อเนื่อง) หรืออย่างน้อยก็จะทำให้เข้าใจว่าขณะที่ถูกเบียดเบียนจริงๆ นั้น ไม่ใช่ขณะที่

คิดถึงเรื่องราวของการถูกเบียดเบียนด้วยความทุกข์ใจอันเป็นอกุศลจิตครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 7  
 
oom
วันที่ 24 ก.พ. 2552
แนะนำให้ลองพิจารณาดูตามเหตุปัจจัย โดยธรรมชาติของคน ทุกคน ยังเต็มไปด้วยโลภะ โทสะ โมหะ ที่ต้องการแต่ความสุข ความสะดวกความสบาย โดยที่บางครั้งก็เห็นแก่ตัว ไม่คำนึงถึงใจคนอื่น ขนาดดิฉันก็เป็นที่ต้องการความสุข ซึ่งบางครั้งก็หงุดหงิดกับคนอื่น ที่ไม่เกรงใจเรา แต่พอพิจารณาเป็นธรรมะ ใจก็จะละคลายลงได้ อย่าไปคาดหวังกับผู้ที่ไม่ได้ศึกษาธรรมะ เป็นเรื่องที่ยาก เพราะขนาดเราสนใจใฝ่ศึกษาธรรมะ เราก็ยังเต็มไปด้วยกิเลสมากมาย คงต้องมองโลกตามความเป็นจริง
 
  ความคิดเห็นที่ 8  
 
sopidrumpai
วันที่ 24 ก.พ. 2552

จิตเป็นอกุศล และรู้ว่าจิตเป็นอกุศล ก็นับว่ากุศลเกิดแล้วค่ะ

ขณะนั้นมีความทรงจำถึงการเบียดเบียนของคนอื่นทั้งทางกายและวาจาเป็นอารมณ์ของจิต

เปลี่ยนอารมณ์สิคะ นึกถึง อารมณ์ที่จะทำให้จิตของคุณเปลี่ยนเป็นกุศลได้

ทาน ศีล ภาวนา การศึกษาธรรม ที่ได้ทำไว้ดีแล้ว ตนเท่านั้นเป็นที่พึ่งแห่งตน คิดซะว่าถ้าจุติจิตเกิดขณะที่จิตเป็นอกุศลนั้น ไม่ดีเลย มีทุคติเป็นที่หวัง เพราะเราจะตายเมื่อใดก็ได้ มีมรณานุสติเป็นอารมณ์ จะช่วยให้ปล่อยวางได้บ้างค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 9  
 
booms
วันที่ 25 ก.พ. 2552

ปัญหาต่างๆ สําหรับผู้ที่ได้ศึกษาใหม่ หรือผู้ที่ได้ศึกษามานาน....คำตอบที่ง่ายและสั้นที่สุดคือ ...ศึกษาพระธรรมให้เข้าใจให้มากยิ่งๆ ขึ้นไป.....

วันหนึ่งจะพบว่า...คำถามนี้คุณสามารถ ให้คำตอบกับตัวเองได้ดี....

 
  ความคิดเห็นที่ 10  
 
คุณ
วันที่ 25 ก.พ. 2552
ขออนุโมทนาค่ะ
 
  ความคิดเห็นที่ 11  
 
Kindergarten
วันที่ 25 ก.พ. 2552
ขอน้อมรับคำแนะนำจากทุกความเห็นด้วยความขอบพระคุณอย่างสูง ขออนุโมทนาค่ะ
 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ