ไม่โทษคนอื่น ระวังจิตของตน

 
สารธรรม
วันที่  1 ธ.ค. 2551
หมายเลข  10567
อ่าน  2,331

ขอนอบน้อมแด่พระรัตนตรัย

ข้อความบางตอนจาก แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ ๘๒๖

บรรยายโดย ท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์

ไม่โทษคนอื่น ระวังจิตของตน

ผู้ฟัง อาจารย์ว่า นอบน้อมต่อพระรัตนตรัย ผมบางทีอ่านธรรม ศึกษาแล้วก็ฟัง แล้วเกิดจิตที่เลื่อมใส เพราะเข้าใจการศึกษาความกรุณาของพระพุทธเจ้า ความบริสุทธิ์ของพระองค์ หรือของพระสงฆ์ผู้ปฏิบัติตรงจนกระทั่งบรรลุนี้ เมื่อเกิดความเข้าใจในคำพูดที่ท่านพูดแล้ว เวลาไหว้พระก็นอบน้อมจริงๆ อ่อนน้อมจริงๆ (แต่) บางทีปัจจุบันนี้ เวลาไปที่วัด เห็นพระสงฆ์นอนดูโทรทัศน์บางทีก็เล่นหมากรุกกันบ้าง เสกน้ำมนต์บ้าง คิดแล้วจากที่เรียนมา หมดศรัทธาที่จะไหว้ ใส่บาตรบางองค์เดินเข้ามาแย่ง

สุ เดี๋ยวนะคะ ขอประทานโทษค่ะ เห็นอกุศลจิตของคนอื่นชัดและจิตของตัวเองในขณะนั้นน่ะเป็นอะไร เห็นหรือยัง ทำไมถึงลืมจิตของตัวเองล่ะคะ อะไรสำคัญกว่า จิตของคนอื่นกับจิตของตนเอง อะไรสำคัญกว่า ถ้าจิตของตนเองสำคัญกว่า ทำไมจึงให้บุคคลอื่นมาเป็นปัจจัยให้อกุศลจิตของตนเองเกิด

ผู้ฟัง คือพูดง่ายๆ อ่อนน้อมไม่ลง

สุ ถ้าอ่อนน้อมไม่ลง จิตของใครเป็นอกุศล ไม่สำคัญเลยค่ะ จิตของคนอื่น ทำอะไรไม่ได้ ไม่สำคัญ สำคัญที่จิตของตัวเอง

ผู้ฟัง ดูแล้วหมดศรัทธาที่จะไหว้ เขายิ่งกว่าเราอีก เรายังมีโอกาสศึกษา ได้เข้าใจมากกว่าเขา

สุ อกุศลเท่าไรแล้วคะนี่ อกุศลของตัวเองค่ะ ... อย่าลืม

ผู้ฟัง แต่เขาเป็นพระสงฆ์องค์เจ้า

สุ ไม่ต้องโทษคนอื่นค่ะ ระวังจิตของตัวเอง แล้วมีทางใดที่กุศลจิตจะเกิด (ก็) เกิดได้ในขณะนั้น เมตตาได้ไหมคะ กรุณาได้ไหม มุทิตาได้ไหม อุเบกขาได้ไหม ทำกรรมอย่างไร ก็ได้รับ (ผลของ) กรรมอย่างนั้น เพราะฉะนั้น พระธรรมที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงโดยละเอียดไม่มีสักคำเดียวที่จะให้อกุศลจิตเจริญ (พระธรรมที่) ทรง (แสดงก็เพื่อ) ปิดกั้นทุกทางที่จะไม่ให้อกุศลแม้เพียงเล็กน้อยเกิดขึ้น เพราะฉะนั้น ผู้ที่บูชาพระคุณของพระองค์ ด้วยการประพฤติปฏิบัติตาม ต้องอย่าลืมนะคะ อย่าให้อกุศลจิตของตนเองเกิดขึ้นโดยอ้างบุคคลอื่นว่าทำให้อกุศลเกิด อบรมเจริญกุศลได้ (เจริญ) เมตตา กรุณา มุทิตา อุเบกขาได้


[๑๐๖] สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคเจ้าประทับ อยู่ ณ พระวิหารเชตวันอารามของท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐี กรุงสาวัตถี ครั้งนั้น เมื่อปฐมยามล่วงไปแล้ว พวกเทวดาผู้มีความมุ่งหมายเพ่งโทษมากด้วยกันมีวรรณะงาม ยังพระวิหารเชตวัน ทั้งสิ้นให้สว่างเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้า แล้วจึงได้ลอยอยู่ในอากาศ

[๑๐๗] เทวดาองค์หนึ่ง ครั้นลอยอยู่ในอากาศแล้วได้กล่าวคาถานี้ ในสำนักพระผู้มีพระภาคเจ้าว่า ... บุคคลใดประกาศตนอันมีอยู่โดยอาการอย่างอื่น ให้เขารู้โดยอาการอย่างอื่น บุคคลนั้นลวงปัจจัยเขากินด้วยความเป็นขโมย เหมือนความลวงกินแห่งพรานนก ก็บุคคลทำกรรมใด ควรพูดถึงกรรมนั้น ไม่ทำกรรมใด ก็ไม่ควรพูดถึงกรรมนั้น บัณฑิตทั้งหลายย่อมรู้จักบุคคลนั้น ผู้ไม่ทำ มัวแต่พูดอยู่.

[๑๐๘] พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสคาถาทั้งหลายนี้ว่า ... ใครๆ ไม่อาจดำเนินปฏิปทานี้ ด้วยเหตุสักว่าพูด หรือฟังส่วนเดียว บุคคลผู้มีปัญญาทั้งหลาย ผู้มีฌานย่อมพ้นจากเครื่องผูกของมาร ด้วยปฏิปทาอันมั่นคงนี้ บุคคลผู้มีปัญญาทั้งหลาย ทราบความเป็นไปของโลกแล้ว รู้แล้ว เป็นผู้ดับกิเลส ข้ามตัณหาเป็นเครื่องเกี่ยวข้องในโลกแล้ว ย่อมไม่พูดโดยแท้.

[๑๐๙] ในลำดับนั้นแล เทวดาเหล่านั้นลงมายืนบนแผ่นดินหมอบลงใกล้พระบาททั้งสองของพระผู้มีพระภาคเจ้าแล้ว ได้ทูลคำนี้กะพระผู้มีพระภาคเจ้าว่า ... ข้าแต่พระผู้มีพระภาคเจ้าผู้เจริญ โทษของพวกข้าพเจ้าล่วงไปแล้ว พวกข้าพเจ้าเหล่าใด เป็นพาลอย่างไร เป็นผู้หลงแล้วอย่างไร เป็นผู้ไม่ฉลาดอย่างไร ได้สำคัญแล้วว่า พระผู้มีพระภาคเจ้าอันพวกเราพึงรุกราน ข้าแต่พระผู้มีพระภาคเจ้าผู้เจริญ ขอพระผู้มีพระภาคเจ้าโปรดอดโทษของพวกข้าพเจ้านั้น เพื่อจะสำรวมในกาลต่อไป. ในลำดับนั้นแล พระผู้มีพระภาคเจ้าได้ทรงยิ้มแย้ม

[๑๑๐] ในลำดับนั้นแล เทวดาเหล่านั้นผู้เพ่งโทษโดยประมาณยิ่ง กลับขึ้นไปบนอากาศ เทวดาองค์หนึ่งได้กล่าวคาถานี้ (ด้วยคิดว่าพระผู้มีพระภาคทรงกริ้ว) ในสำนักพระผู้มีพระภาคเจ้าว่า เมื่อเราแสดงโทษอยู่ ถ้าบุคคลใดมีความโกรธอยู่ในภายใน มีความเคืองหนัก ย่อมไม่อดโทษให้ บุคคลนั้นย่อมสอดสวมเวร หากว่าในโลกนี้โทษก็ไม่มี ความผิดก็ไม่มี เวรทั้งหลายก็ไม่สงบ ในโลกนี้ใครพึงเป็นคนฉลาด เพราะเหตุไร โทษทั้งหลายของใครไม่มี ความผิดของใครก็ไม่มี ใครไม่ถึงแล้วซึ่งความหลงใหล ในโลกนี้ ใครย่อมเป็นผู้มีปัญญา เป็นผู้มีสติในกาลทั้งปวง

[๑๑๑] พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า โทษทั้งหลายไม่มี ความผิดก็ไม่มี แก่พระตถาคตนั้น ผู้ตรัสรู้แล้ว ผู้เอ็นดูแก่สัตว์ทั้งปวง พระตถาคตนั้นไม่ถึงแล้วซึ่งความหลงใหล พระตถาคตนั้นย่อมเป็นผู้มีปัญญา เป็นผู้มีสติในกาลทั้งปวง เมื่อพวกท่านแสดงโทษอยู่ หากบุคคลใดมีความโกรธอยู่ในภายใน มีความเคืองหนัก ย่อมไม่อดโทษให้ บุคคลนั้นย่อมสอดสวมเวร เราไม่ชอบเวรนั้น เราย่อมอดโทษแก่ท่านทั้งหลาย.

๕. อุชฌานสัญญีสูตร

ว่าด้วยเทวดามุ่งโทษ

[เล่มที่ 24] สังยุตตนิกาย สคาถวรรค เล่ม ๑ ภาค ๑ - หน้าที่ ๑๘๗

ขออุทิศส่วนกุศลแด่สรรพสัตว์


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
พุทธรักษา
วันที่ 1 ธ.ค. 2551

ขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
suwit02
วันที่ 1 ธ.ค. 2551

สาธุ

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
khampan.a
วันที่ 1 ธ.ค. 2551

พระธรรมที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงโดยละเอียด

ไม่มีสักคำเดียว ... ที่จะให้อกุศลจิตเจริญ

ขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
ไตรสรณคมน์
วันที่ 2 ธ.ค. 2551

โอ้ว....เด็ดมาก....สาระยอดเยี่ยมจริงๆ ค่ะ

ขออนุโมทนา

 
  ความคิดเห็นที่ 5  
 
opanayigo
วันที่ 3 ธ.ค. 2551

อนุโมทนาค่ะ อ่านแล้วเบิกบาน

 
  ความคิดเห็นที่ 6  
 
wannee.s
วันที่ 3 ธ.ค. 2551

พระธรรมที่พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแสดงไว้ ผู้ประพฤติปปฏิบัติตามนำออกจากทุกข์ได้จริงค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 7  
 
pornpaon
วันที่ 7 ธ.ค. 2551

ขอถวายความนอบน้อมแด่พระรัตนตรัย ที่พึ่งอันเกษมสูงสุดของข้าพเจ้า

ขอกราบอนุโมทนาท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์

จิตของใครเป็นอกุศล ไม่สำคัญเลยค่ะ จิตของคนอื่น ... ทำอะไรไม่ได้ ... ไม่สำคัญ สำคัญที่จิตของตัวเอง

ฟังก็เข้าใจอย่างนี้ ... อ่านก็เข้าใจอย่างนี้ แต่เมื่อเหตุการณ์ทำนองนี้เกิดขึ้นเฉพาะหน้าทีไร ที่ฟังแล้ว อ่านแล้ว และคิดว่าเข้าใจแล้ว ... ก็ลืมหมดทุกที

ขอบพระคุณมากค่ะ

ขออนุโมทนาคุณสารธรรม

ขออนุโมทนาในกุศลจิตและกุศลวิริยะของทุกท่านค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 8  
 
พุทธรักษา
วันที่ 15 ก.พ. 2553

ขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 9  
 
rojanasak
วันที่ 17 ก.พ. 2553

ขอขอบพระคุณ และขออนุโมทนาสาธุครับ

มีสติตั้งมั้นเพียรให้สติอยู่ในกายภายในปิดกั้นอารมณ์ภายนอกอยู่ทุกวินาทีเป็นอุบายชนะมารได้ดีขอรับ

ขออนุโมทนาครับ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ