ศีลมาก ปัญญามาก ?

 
สารธรรม
วันที่  29 พ.ย. 2551
หมายเลข  10553
อ่าน  1,861

ขอนอบน้อมแด่พระรัตนตรัย

ข้อความบางตอนจาก แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ ๑๐๓๓

บรรยายโดย ท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์


ศีลมาก ปัญญามาก?

คำถามมีว่า " ผู้ที่รักษาศีลมาก จะมีปัญญามากกว่าผู้ที่รักษาศีลน้อย? หรือผู้ที่รักษาบ้าง ไม่รักษาบ้าง คนที่สามารถจะรักษาศีลได้มาก จะมีปัญญา คือ ความเข้าใจมากกว่าผู้ที่รักษาบ้าง ไม่รักษาบ้างหรือเปล่า ใช่ไหมคะ

ตอบ กลับกันได้ไหม? โดยที่ว่า ผู้ที่มีปัญญามาก ย่อมจะรักษาศีลได้เพิ่มขึ้น มากกว่า (ที่จะเป็น) ผู้ที่รักษาศีลมากจึงจะมีปัญญามาก ถูกไหมคะ? เพราะถ้าเพียงแต่มีศรัทธาที่จะรักษาศีล เฉพาะศรัทธาอย่างเดียว ก็ไม่สามารถที่จะรักษาได้ตลอด ไม่มั่นคงเท่ากับผู้ที่รู้แจ้งอริยสัจธรรมเป็นพระอริยบุคคล เช่น พระโสดาบันบุคคล ไม่ล่วงศีล ๕เลย โดยเด็ดขาด เป็นอัธยาศัยของท่านจริงๆ คือ ไม่สามารถที่จะกระทำทุจริตล่วงละเมิดศีล ๕ ได้เลย

แต่สำหรับผู้ที่แม้เพียงจะรักษา แต่ว่าถ้าปัญญายังไม่ถึงความเป็นพระอริยบุคคล ก็ยังมีเหตุที่จะให้ล่วงศีล ๕ได้ เพราะฉะนั้น ก็ควรเป็นนัยกลับกัน เหมือนท่านที่เจริญเมตตา ที่ท่านแผ่ๆ ไป ท่านบอกว่า ถ้าท่องได้มากจะเกิดเมตตามาก ก็ควรจะเป็นนัยที่กลับกันว่า เมื่อท่านมีเมตตาเพิ่มขึ้น การแผ่ของท่านจะเพิ่มขึ้น แต่เมื่อมีเมตตาเพิ่มขึ้นเสียก่อน เมื่อมีเมตตาเพิ่มขึ้น การแผ่ออกไปก็กว้างขึ้น แต่ถ้าเมตตายังน้อยอยู่ การแผ่จะกว้างไม่ได้

เพราะฉะนั้น เรื่องของธรรมเป็นเรื่องละเอียด เป็นเรื่องที่ควรจะพิจารณาหลายแง่หลายมุม กลับไปกลับมาจนกว่าจะได้เหตุผลที่สมบูรณ์จริงๆ มิฉะนั้นแล้ว ก็อาจจะพิจารณาบางแง่ จะทำให้เข้าใจเพียงบางประการ ก็ยังไม่พอ ต้องพิจารณาต่อไปอีก จนกว่าจะได้เหตุผลชัดเจนจริงๆ มิฉะนั้นแล้ว ก็คงจะมีผู้ที่เพียงรักษาศีล แล้วก็ไม่อบรมเจริญปัญญา โดยนัยนั้น แต่ถ้าอบรมเจริญปัญญาแล้ว ศีลจะเพิ่มขึ้น แล้วจะบริสุทธิ์ขึ้น ตั้งแต่ศีลของพระโสดาบัน ตลอดไปจนกระทั่งศีลของพระสกทาคามี ของพระอนาคามี และของพระอรหันต์


... พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า ...

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ก็ธรรมอันบุคคลพึงละด้วยกายไม่ได้ ละด้วยวาจาไม่ได้ พึงเห็นชัดด้วยปัญญาแล้วจึงละได้ เป็นไฉน

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย โลภะ อันบุคคลพึงละด้วยกายไม่ได้ ด้วยวาจาไม่ได้ พึงเห็นชัดด้วยปัญญาแล้วจึงละได้

โทสะ ... โมหะ ... โกธะ ... อุปนาหะ... มักขะ ... ปฬาสะ ... มัจฉริยะ ...

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ความริษยา ความปรารถนาอันชั่วช้า อันบุคคลพึงละด้วยกายไม่ได้ ด้วยวาจาไม่ได้ พึงเห็นชัดด้วยปัญญาแล้วจึงละได้.

(ข้อความบางตอนจาก)

๓. กายสูตร ว่าด้วยธรรมที่ละด้วยกายวาจาไม่ได้ แต่ละได้ด้วยปัญญา

[เล่มที่ 38] อังคุตตรนิกาย ทสก-เอกาทสกนิบาต เล่ม ๕ - หน้าที่ ๗๖

ขออุทิศส่วนกุศลแด่สรรพสัตว์


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
suwit02
วันที่ 29 พ.ย. 2551

สาธุ

พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย สีลขันธวรรค เล่ม ๑ ภาค ๒ - หน้าที่ ๑๕

โสณทัณฑสูตร

[๑๙๔] พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า ดูก่อนพราหมณ์ ข้อนี้เป็นอย่างนั้น ข้อนี้เป็นอย่างนั้น ปัญญาอันศีลชำระให้บริสุทธิ์ ศีลอันปัญญาชำระให้บริสุทธิ์ ศีลมีในบุคคลใด ปัญญาก็มีในบุคคลนั้น ปัญญามีในบุคคลใด ศีลก็มีในบุคคลนั้น ปัญญาเป็นของบุคคลผู้มีศีล ศีลเป็นของผู้มีปัญญา และนักปราชญ์ย่อมกล่าวศีลกับปัญญาว่าเป็นยอดในโลก เหมือนบุคคลล้างมือด้วยมือ หรือล้างเท้าด้วยเท้าฉะนั้น ดูก่อนพราหมณ์ ศีลนั้นเป็นไฉน ปัญญานั้นเป็นไฉน. พราหมณ์โสณทัณฑะกราบทูลว่า ข้าแต่พระโคดมผู้เจริญ พวกข้าพระองค์ มีความรู้เท่านี้เอง เมื่อเนื้อความมีเช่นไร ขอเนื้อความแห่งภาษิตนี้ จงแจ่มแจ้งแก่พระโคดมผู้เจริญเองเถิด

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
nida
วันที่ 29 พ.ย. 2551

ขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
wannee.s
วันที่ 30 พ.ย. 2551

ศีลยังประโยชน์ให้สำเร็จจนกระทั่งชรา

ศรัทธาตั้งมั่นแล้วยังประโยชน์ให้สำเร็จ

ปัญญาเป็นรัตนะของคนทั้งหลาย

บุญอันโจรลักไปไม่ได้

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
pornpaon
วันที่ 30 พ.ย. 2551

ขออนุโมทนาค่ะ . . .

 
  ความคิดเห็นที่ 5  
 
khondeebkk
วันที่ 30 พ.ย. 2551

ขออนุโมทนาครับ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ