ปกิณณกธรรม ตอนที่ 133


ตอนที่ ๑๓๓

สนทนาธรรม ที่ วัดบวรนิเวศวิหาร

พ.ศ. ๒๕๓๖


ท่านอาจารย์ ก่อนที่จิตจะคิดก็ต้องภวังค์ไหว ภวังคุปัจเฉทะ คือ ภวังค์ขณะสุดท้ายดับ แล้วต่อจากนั้น ภวังค์จะเกิดไม่ได้ เพราะจิตคิดโดยมโนทวาราวัชชนจิต ซึ่งเป็นวิถีจิตขณะแรกทางมโนทวาร ขณะนั้นยังไม่เป็นกุศลหรืออกุศลเลย เพียงแต่ว่าเป็นการคิดถึงเรื่อง เมื่อมโนทวาราวัชชนจิตดับแล้ว ต่อจากนั้นเป็นกุศลจิตหรืออกุศลจิต สำหรับคนที่ไม่ใช่พระอรหันต์ นี่คือการแสดงชีวิตประจำวัน ทุกคนคิดมาก ขณะนี้กำลังคิดทางมโนทวารนี่ตลอดเลย ให้คิดว่า ทางปัญจทวารคือทางตาสลับนิดเดียว หรือทางหูคือเสียงสลับนิดเดียวจริงๆ ให้ทราบว่าทั้งลืมตา ทุกคนก็กำลังคิดในขณะนี้ ทางมโนทวาร ทั้งๆ ที่กำลังได้ยินเสียงทุกคนก็กำลังคิด เพราะฉะนั้น เสียงนิดเดียว แต่ความคิดของคนจะไม่หยุดเลย ความคิดจะมีตลอด ทั้งทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ หรือแม้ไม่เห็นไม่ได้ยินเลย จิตก็จะต้องคิด วันหนึ่งๆ ทางใจเวลาที่มโนทวาราวัชชนจิตดับแล้ว กุศลจิตหรืออกุศลจิตเกิดทันที แต่ว่าเราไม่รู้ความจริง

เราก็ไม่รู้ว่า แท้ที่จริงแล้วสิ่งทางปรากฎทางตา ถึงจะปรากฏแล้วเราก็หลับตา หรือลืมตา ก็ตามแต่ ความคิดไม่หยุด เห็นก็คิด หลับตาก็คิด ได้ยินเสียงก็คิด เสียงดับไปแล้วก็คิด วันหนึ่งๆ โลกคิด แล้วก็มีสิ่งต่างๆ กระทบปสาท กระทบไปอย่างนั้น เวลาที่เห็นยังไม่เป็นคน เป็นสัตว์ สิ่งต่างๆ เพียงแต่ปรากฏเป็นแสง โลกของความคิดแสดงให้เห็นว่าสืบต่อสิ่งที่กำลังปรากฏมากมาย เพราะฉะนั้น โดยลักษณะวิถีจิตจะเห็นได้ว่า วิถีจิตทางตาเพียงเห็น วิถีจิตทางหูเพียงได้ยิน แต่ที่เรากำลังเห็นคน เข้าใจความหมายของเสียงที่ได้ยิน ถ้าเป็นเรื่องราวต่างๆ จะนึกถึงสถานที่ และเหตุการณ์ ถ้าจะพูดถึงพนมเปญ ใจของเราก็คิดแล้ว อยู่ที่ไหน รู้เรื่อง รู้ราวไปหมด นี่แสดงให้เห็นว่าเพียงเสียงเราสามารถรู้ความหมาย รวมทั้งเรื่องราวมากมายของสถานที่ที่เรากำลังพูดถึง เราคือโลกของความคิด ไม่มีอะไรเลยก็ต้องคิด หรือแม้มีสิ่งที่กระทบตากระทบเปล่าๆ สีปรากฏ แต่ความคิดมากมาย เพื่อจะให้เห็นความจริงว่า ต้องเป็นไปตามจิตตนิยาม คือยับยั้งความคิดไม่ได้

ผู้ฟัง ทางปัญจทวารก็มีภวังคจลนะ ทางมโนทวารก็มีภวังคจลนะ แต่ภวังคจลนะทางปัญจทวารนี้มีเกิดขึ้นไหว เพราะรูปารมณ์กระทบปสาท แต่ภวังคจลนะในมโนทวาราวัชชนไหวเพราะจิตคิดมันจะคิด อย่างนั้นใช่ไหม

ท่านอาจารย์ เวลาที่จิตคิดจะเกิด จะคิดทันที โดยเป็นภวังค์ และเป็นมโนทวาราวัชชนจิตไม่ได้ วิถีจิตที่จะเกิดคิดขึ้น ทำให้ขณะนั้นภวังคจลนะไหว เมื่อไหวแล้วก็เป็นภวังคุปัจเฉทะ คือภวังค์ดวงสุดท้าย แล้วต่อจากนั้นเป็นมโนทวาราวัชชนจิต เป็นจิตตนิยาม เป็นธรรมเนียมของการเกิดดับสืบต่อกัน

ผู้ฟัง ภวังคจิต จะมีอารมณ์เดียวกับปฏิสนธิจิตในชาติเดียวกันใช่ไหม

ท่านอาจารย์ ถูกต้อง

ผู้ฟัง ปฏิสนธิจิต จะมีอารมณ์เดียวกับ จิตเกิดก่อนจุติจิตในชาติที่แล้ว ใช่ไหม

ท่านอาจารย์ ถูกต้อง

ผู้ฟัง ชวนจิต จะเป็นจิตดวงสุดท้าย ที่ดับแล้วก็จะเกิดจุติจิต ใช่ไหม

ท่านอาจารย์ ได้ เรื่องของความตาย จะหลังจากชวนจิตดับ จุติจิตเกิดก็ได้ หรือหลังจากชวนจิตดับ ตทาลัมพนะดับ ภวังคจิตจะเกิด จุติจิตก็เกิดได้ คือจุติจิตจะเกิดหลังชวนะก็ได้ หลังตทาลัมพนะก็ได้ หลังภวังค์ก็ได้

ผู้ฟัง ชวนจิต และตทาลัมพนะจิต จะมีอารมณ์เดียวกันใช่ไหม

ท่านอาจารย์ ในชาติไหน

ผู้ฟัง ในชาติเดียวกัน

ท่านอาจารย์ อันนี้ต้องทราบเรื่องกิจ จิตที่มีอารมณ์เดียวกันในชาติหนึ่ง ปฏิสนธิจิต ภวังคจิต จุติจิต ๓ จิตนี้หรือ ๓ กิจนี้ มีอารมณ์เดียวกัน ต้องทราบว่าอารมณ์ของปฏิสนธิจิตสืบเนื่องมาจากชวนะสุดท้ายก่อนจุติของชาติก่อน ใกล้จะตายมีอารมณ์อะไร เวลาที่จุติจิตดับแล้ว ปฏิสนธิจิตก็มีอารมณ์สืบเนื่องมาจากจิตใกล้จุติของชาติก่อน เหมือนขณะนี้ ทุกอารมณ์สืบเนื่อง ใช่ไหม จากทางตาก็ไปทางใจ

แต่ว่าเวลาที่จุติจิตจะเกิดไม่จำเป็นต้องมีมโนทวารวิถีจิต เพราะเหตุว่าจุติจิตดับหลังจากจักขุทวารวิถีจิตดับแล้วก็ได้ ใช่ไหม แทนที่จะเป็นมโนทวารวิถีจิตรับอารมณ์ทางตาต่อ ก็เป็นจุติจิต เพราะฉะนั้น ปฏิสนธิจิตนั่นเองที่รับอารมณ์ต่อจากทางตา หรือทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย หรือทางใจก็ได้ ขอให้สืบเนื่องมาจากชวนะสุดท้ายก่อนจุติ ให้ทราบว่ากรรมหนึ่งทำให้ปฏิสนธิจิตเกิดมีอารมณ์อันใด กรรมนั้นทำให้ภวังคจิตซึ่งเป็นจิตประเภทเดียวกันทุกอย่าง มีอารมณ์เดียวกันด้วยเกิดสืบต่อ เพราะเหตุว่าเป็นผลของกรรมหนึ่งที่ทำให้ปฏิสนธิเกิด เมื่อเกิดมาเป็นบุคคลนั้นแล้ว ยังตายไม่ได้ นี่คือเหตุที่ว่าต้องได้รับผลของกรรมของการเกิดเป็นบุคคลนั้น จะเกิดในนรก จะเกิดเป็นเปรต เป็นอสูรกาย จะเกิดเป็นมนุษย์ หรือจะเกิดบนสวรรค์ก็ตามต้องได้รับผลของกรรม ซึ่งปฏิสนธิจิตประมวลกรรมทั้งหมดที่จะเกิดในชาตินั้นไว้ เหมือนกับที่นา เราก็มีที่นาจำกัดมากน้อย บางคนมีกี่ไร่ก็ตามแต่ แล้วแต่การให้ผลของกรรมนั้นจะมากน้อยอย่างไรทางไหน แต่ให้ทราบว่าปฏิสนธิจิต ประมวลกรรมที่จะทำให้แต่ละบุคคลได้รับผลในแต่ละชาติ เมื่อปฏิสนธิจิตดับไปแล้ว กรรมนั้นก็ทำให้ภวังค์เกิดสืบต่อ ดำรงความเป็นบุคคลนั้น ตายไม่ได้ ต้องรับผลของกรรมของชาติที่เกิดมานั้นก่อน เพราะฉะนั้น การรับผลของกรรมที่เกิดในชาตินั้น กรรมทำให้มีตา จักขุปสาทรูปเกิด มีโสตปสาทรูป มีฆานปสาทรูป มีชิวหาปสาทรูป มีกายปสาทรูป แต่บางคนก็แล้วแต่ กรรมอาจจะไม่ทำให้เกิดจักขุปสาทรูปก็ตาบอด บางคนก็หูหนวกไม่มีโสตปสาทรูป นี่ก็เป็นเรื่องของกรรมอีก ให้ทราบว่าที่เรามีตา หู จมูก ลิ้น กาย ไม่ใช่ใครทำให้เลย เราก็ทำเองไม่ได้ แต่ว่ากรรมทำทั้งหมด คือเป็นกัมมชรูป เป็นรูปที่มีกรรมเป็นสมุฏฐานก่อตั้งให้เกิดขึ้น ในขณะนี้ที่ทุกคนมีตา เราทำไม่ได้เลย แล้วจักขุปสาทกำลังดับไป แต่กรรมก็ทำให้จักขุปสาทรูปเกิดอีก และขณะที่ได้ยินครั้งหนึ่ง โสตปสาทรูปก็ดับ มีอายุสั้นมาก คือ ๑๗ ขณะจิตดับแล้ว แต่กรรมก็ทำให้โสตปสาทรูปเกิดอีก นี่แสดงให้เห็นถึงผลของกรรม ซึ่งมีทั้งรูป คือ จักขุปสาท โสตปสาท ฆานปสาท ชิวหาปสาท กายปสาท แล้วก็มีนาม คือ จิต เจตสิก ที่เป็นวิบาก ไม่ใช่มีเฉพาะ ตา หู จมูก ลิ้น กาย มีจิตที่รู้อารมณ์ทางตา คืออาศัยตาเห็น เพราะฉะนั้น จิตที่กำลังเห็นทางตา เป็นวิบากจิต เราเลือกเห็นไม่ได้ เราอยากจะเห็นสิ่งที่ดีๆ แต่ขึ้นอยู่กับกรรมจะให้เห็นอะไร เราอยากจะได้ยินเสียงเพราะๆ แต่เราก็เลือกไม่ได้ เพราะว่าเป็นวิบากจิต กรรมทำให้วิบากจิต และเจตสิกเกิดขึ้น ได้ยินเสียง การรับผลของกรรมที่หลีกเลี่ยงไม่ได้เลย ตลอดชีวิต คือต้องมีการรับผลของกรรม ทางตา หู จมูก ลิ้น กาย แต่ความคิดนึกต่อจากเห็น ได้ยิน อย่างที่เรากำลังพูดถึงเรื่องมโนทวารวิถี แต่ความจริงยังไม่ใช่มโนทวารวิถีเลย ก็เป็นกุศลชวนะ อกุศลชวนะ เพราะเหตุว่าทางจักขุทวารวิถีก็มี แต่ยังไม่ขอพูดถึง แต่ให้ทราบว่ารวดเร็วมากเหลือเกิน แต่ให้ทราบเพียงว่าเมื่อเห็นแล้ว ไม่มีความหมายอะไรเลยเป็นเพียงสิ่งที่ปรากฏ แต่คิดนึก ความคิดนึกนี่สำคัญ เพราะว่าเป็นกุศลจิตหรืออกุศลจิต เมื่อรับผลของกรรม คือเห็น ชั่วขณะนั้นหลังจากนั้นไม่ใช่วิบากแล้ว เริ่มเป็นกุศลหรืออกุศลต่อไป

ผู้ฟัง เห็นโทษของสังสารวัฏฏ์

ท่านอาจารย์ จริงๆ ต้องเห็นโทษของอวิชชา กิเลส และอกุศลทั้งหมด ซึ่งเป็นเหตุทำให้มีการเกิดขึ้น มีทวารดี หรือไม่ดี ต้องพิจารณาละเอียด ไม่ใช่ว่าไม่ชอบทวาร ไม่อยากมีทวาร นั่นคือความไม่ชอบ ซึ่งยังเป็นอกุศล หรือความชอบ อยากจะให้มีทวาร คือเห็นก็เป็นโลภะอีก ใช่ไหม ซึ่งทั้งหมดมาจากอวิชชา การไม่รู้ความจริงของสภาพธรรม เพราะฉะนั้น อยากเห็น แน่นอน ไม่มีใครอยากตาบอด ก็แสดงให้เห็นว่ายังมีโลภะ แต่ก็อยากเห็นสิ่งที่ดีๆ เมื่อเห็นสิ่งที่ดีๆ ก็เกิดอกุศลอีก ใช่ไหม เลยไม่ทราบจะทำอย่างไร เต็มไปด้วยความไม่รู้ อยากบ้าง ไม่อยากบ้าง เพราะฉะนั้น ถามอีกว่า ทวารดีหรือไม่ดี อีกความหมายหนึ่ง

ผู้ฟัง ผมว่าก็ดีเหมือนกัน ต้องมีทวารตราบใดที่ยังไม่พ้นทุกข์ เราสามารถได้ฟังพระสัทธรรมของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า

ท่านอาจารย์ หมายความว่าถ้าเห็นแล้วเป็นกุศลดี ถ้าเห็นแล้วเป็นอกุศลไม่ดีแน่ๆ แต่ห้ามไม่ได้แน่นอน เพราะฉะนั้น ดิฉันจะไม่พูดเรื่องนี้อีก เพราะเรารู้แล้วว่าจะต้องเกิดเป็นไปอย่างนั้น แต่จะพูดถึงตัวทวารมี ๖ ได้แก่ จักขุปสาทรูป โสตปสาทรูป ฆานปสาทรูป ชิวหาปสาทรูป กายปสาทรูป เป็นปัญจทวาร และมโนทวาร แต่จะขอแยกพูดถึงทวารที่เป็นรูปก่อน จักขุปสาทรูป โสตปสาทรูป ฆานปสาทรูป ชิวหาปสาทรูป กายปสาทรูป รูปทั้ง ๕ ดีหรือไม่ดี ทีนี้เปลี่ยนแล้วมาเป็นเรื่องตัวรูป ตัวที่เป็นทวาร คือ ปสาทรูป ดีหรือไม่ดี

ผู้ฟัง ดี ทำให้ได้เห็น เห็นแล้วเกิดกุศล อกุศล อีกเรื่องหนึ่ง

ท่านอาจารย์ อันนี้ต้องกล่าวถึงพระธรรมที่ทรงแสดงไว้ว่า กุสลา ธัมมา หมายความถึงธรรมใดๆ ที่เป็นกุศล

อกุสลา ธัมมา หมายความถึงธรรมใดๆ ที่เป็นอกุศล ซึ่งจะต้องเป็นนามธรรม เกิดขึ้นได้แก่ จิต เจตสิก เท่านั้นที่จะเป็นกุศลหรืออกุศล

อีกส่วนหนึ่ง คือ อัพยากตา ธัมมา ได้แก่ ที่ไม่เป็นกุศล และอกุศล ดังนั้น ถ้าจะจำแนก จิต เจตสิก รูป นิพพาน ออกเป็นธรรม ๓ หมู่ คือ กุสลา ธัมมา อกุสลา ธัมมา อัพยากตา ธัมมา

ธรรมตายตัว เปลี่ยนไม่ได้ ธรรมใดๆ ที่เป็นกุศล จะให้ไปเป็นอกุศลก็ไม่ได้ ธรรมใดๆ ที่เป็นอกุศล ก็จะเปลี่ยนเขาไปเป็นอย่างอื่นก็ไม่ได้ ที่เหลือนอกจากธรรมที่เป็นกุศล และอกุศลแล้ว ธรรมเหล่านั้นทั้งหมดเป็นอัพยากตธรรม หมายความว่าธรรมที่ไม่ใช่กุศล และอกุศล เพราะฉะนั้น จิต เจตสิก ที่เป็นอกุศลก็มี จิต เจตสิก ที่เป็นกุศลก็มี แต่รูปไม่เป็นกุศล อกุศล เพราะฉะนั้น รูปเป็นอัพยากตธรรม นิพพานไม่เป็นกุศล อกุศล นิพพานไม่ใช่จิต เจตสิก ก็ต้องเป็นอัพยากตธรรม วิบากจิตเป็นผล ไม่ใช่กุศล อกุศล เพราะฉะนั้น ต้องเป็นอัพยากตธรรม คือธรรมใดๆ ก็ตามไม่ใช่กุศล และไม่ใช่อกุศลแล้วเป็นอัพยากต

ที่ถามว่าจักขุปสาทรูป ดีหรือไม่ดี ตอนนี้คำตอบทุกคนตอบได้แล้วใช่ไหม เพราะไม่ใช่จิตเจตสิก รูปไม่รู้อะไรเลย รูปจะดีจะชั่วไม่ได้ อกุศลใดๆ จะไปเกิดกับรูปก็ไม่ได้ กุศลใดๆ จะไปเกิดกับรูปก็ไม่ได้ ตัวรูปตั้งแต่ศรีษะตลอดเท้า เราอาจจะเห็นเป็นความผ่องใสสวยงาม สีสันวัณณะที่น่าพอใจ แต่รูปไม่รู้อะไรเลย รูปไม่ใช่สภาพรู้ รูปคิดไม่ได้ รูปดีรูปชั่วไม่ได้เลย ต้องทราบโดยไม่จำเป็นต้องไปท่องเลย ถ้ารู้ว่า จักขุปสาทรูป โสตปสาทรูป ฆานปสาทรูป ชิวหาปสาทรูป กายปสาทรูป รวมรูปอื่นทั้งหมดนอกจากนี้ด้วย คือรูปทั้งหมดแล้วไม่ใช่กุศลไม่ใช่อกุศล ถ้าโดยความหมายนี้ต้องเป็นอัพยากต ที่ถามว่าจักขุปสาทรูปดีไหม ก็คงจะชัดเจน ถ้าใช้ภาษาบาลี

ทีนี้อีกทวารหนึ่ง คือมโนทวาร ถ้าจิตก่อนๆ ไม่เกิด จิตคิดนึกจะเกิดไม่ได้ ดังนั้นถ้าจิตคิดนึกจะเกิดได้เมื่อภวังคุปเฉทะดับแล้ว มโนทวาราวัชชนจิตซึ่งเป็นวิถีจิตแรกทางใจเกิด ตัวภวังคุปเฉทะดีหรือไม่ดี มโนทวารได้แก่ภวังคุปเฉทะ ไม่ใช่กุศลจิตอกุศลจิต เพราะฉะนั้น ก็คืออัพยากตธรรม ถ้าชื่อแปลกๆ มาจะชื่อวิบากจิตรึกิริยาจิตก็ตามแต่ ไม่ใช่กุศลจิตอกุศลจิตต้องเป็นอัพยากตธรรม แสดงให้เห็นว่าวันหนึ่งๆ มีสภาพธรรมกุศลก็มี อกุศลก็มี วิบากก็มี กิริยาก็มี หรือว่าเป็นอัพยากตก็มี ถ้าเราเรียนแล้วเราก็จะเข้าใจ จะรู้ถึงสภาพจิตที่เกิดดับสืบต่อกันโดยความเป็นอนัตตา ไม่มีใครบังคับบัญชาเลย เพราะฉะนั้น จะไปบอกว่าทำไมคนนี้คิดอย่างนี้ ทำไมไม่คิดดีๆ เหมือนกันหมดนั้น เป็นไปไม่ได้ เพราะเหตุว่าต้องเป็นไปตามการสะสม แล้วอีกอย่างหนึ่งคือ ธรรมไม่มีชื่อ คนอาจจะมีชื่อสมมติบัญญัติขันธ์เรียกได้เพื่อให้เข้าใจ แต่ตัวธรรมแท้ๆ ไม่ต้องมีชื่อเลย อย่างโลภะใช้คำนี้เพื่อให้เข้าใจลักษณะที่ติดข้อง แต่ว่าจะเปลี่ยนชื่อก็ได้ ใช้นันทะ ราคะ ใช้ได้หลายคำ เพื่อที่จะเข้าใจลักษณะของสภาพธรรมนั้น ดังนั้นการที่จะศึกษาอะไร ความเข้าใจของเราจะเพิ่มขึ้นทีละเล็กทีละน้อย แต่เป็นความเข้าใจถูกต้องตั้งแต่ต้น ให้เป็นความเข้าใจที่กว้าง ลึก ละเอียด แล้วก็ถูก ถ้าเราคิดเรื่องธรรม ไตร่ตรองจะทำให้เกิดสติปัญญา แต่ถ้าตามตัวหนังสือไปเฉยๆ โดยไม่คิดเลย ความกว้างขวางก็มีไม่ได้ เพราะเหตุว่าแต่ละคนต้องอบรมปัญญาของตัวเองด้วยความคิดนึกไตร่ตรอง ทำให้เข้าใจสภาพธรรมกว้างขวางขึ้น มโนทวาร ได้แก่ ภวังคุปเฉทะ เป็นอัพยากตธรรมเหมือนกัน เพราะเป็นวิบากจิต

ผู้ฟัง การที่จิตที่ไม่ใช่วิถีจิตพวกนี้รู้อารมณ์ ต้องอาศัยทวารหรือไม่เพราะเหตุใด ตัวภวังคจิตเอง ภวังคุปเฉทะยังเป็นทวารให้จิตเกิดขึ้นรู้อารมณ์ทางใจได้ แต่ตัวภวังคจิตเองอะไรเป็นทางให้เกิดขึ้นรู้อารมณ์

อ. สมพร ปฏิสนธิ ภวังค์ จุติ เป็นทวารวิมุตติ พ้นจากทวาร ทวารทางตา ทางหู ทางจมูก ปรากฏชัด มโนทวารตามอรรถกถา บอกว่า ภวังคุปเฉทะพร้อมทั้งอาวัชชนะ ถ้าภวังคุปเฉทะอันเดียว ก็จะไปซ้ำกับที่จักขุทวาร ก็เพิ่มเติมขึ้นมาอีกนิดหนึ่ง ให้ชัดเจนแยกมโนทวารออกมาจริงๆ คือ ภวังคุปเฉทะพร้อมทั้งอาวัชชนะ จิตที่รู้อารมณ์ตามทวาร มีตั้งแต่ทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ นอกนั้นเป็นทวารวิมุตติ พ้นจากทวาร จิตก็รู้อารมณ์ได้ ที่บอกว่า ภวังค์เปลี่ยนอารมณ์ไม่ได้ เพราะเหตุใด

ผู้ฟัง เพราะไม่ได้ทำหน้าที่รับรู้อารมณ์

ท่านอาจารย์ หมายความว่าอย่างไร

ผู้ฟัง ภวังคจิตไม่รู้อารมณ์อะไรเลย

ท่านอาจารย์ ไม่ถูกต้อง ผิดแล้ว จิตต้องเป็นสภาพรู้ เพราะต้องมีสิ่งที่จิตรู้ คำนี้ตายตัว จะเปลี่ยนเป็นจิตไม่รู้อารมณ์อะไรเลยไม่ได้ ไม่มีเลยที่จิตจะไม่รู้อารมณ์ จิตเป็นสภาพรู้ลักษณะของจิต คือ รู้อารมณ์

ผู้ฟัง ภวังคจิตดำรงภพชาติ

ท่านอาจารย์ ไม่ว่าจิตใดทั้งสิ้น โลกไหนทั้งสิ้น จิตเป็นสภาพที่เกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัย เป็นสภาพรู้ ต้องมีสิ่งที่จิตรู้ ไม่ว่าจิตไหนทั้งหมด

ผู้ฟัง ภวังคจิต เปลี่ยนอารมณ์ไม่ได้เพราะเหตุใด ขอเหตุผล

ท่านอาจารย์ คุณหมอเข้าใจหรือยังว่าไม่มีจิตอะไรทั้งสิ้นที่ไม่มีอารมณ์ ต้องมีอารมณ์แน่นอน จิตที่ไม่มีอารมณ์ ไม่มี

ผู้ฟัง ภวังคจิต ไม่ได้ทำหน้าที่รู้อารมณ์ในชาตินี้

ท่านอาจารย์ ที่จริงไม่ได้ถามว่าอารมณ์ชาติไหน จะบอกว่าจิตไม่รู้อารมณ์ไม่ได้เลย

อ.สมพร ผมถามว่า ภวังค์เปลี่ยนอารมณ์ไม่ได้ ถูกแล้ว แต่ว่าเพราะเหตุใด

ผู้ฟัง เพราะเหตุว่าดำรงภพชาติของบุคคลคนนี้ที่เกิดมา จนกว่าจะจุติจากชาตินี้

อ. สมพร ภวังคจิตดำรงภพชาติ เช่นปฏิสนธิมาด้วยโสมมนัสจนกระทั่งจุติ ถ้าปฏิสนธิมาด้วยอุเบกขา ติเหตุกะ หรือทวิเหตุกะ หรืออเหตุกะ อย่างใดอย่างหนึ่ง จิตดวงนี้ก็ดำรงภพชาติ ปฏิสนธิมาด้วยติเหตุกะ ภวังคจิตก็ดำรงภพชาติไม่เปลี่ยนจนกระทั่งจุติจึงเปลี่ยน ถ้าเราใช้คำว่าดำรงภพชาติ ถูกต้อง ที่เปลี่ยนไม่ได้เพราะว่า ปฏิสนธิด้วยติเหตุกะก็ต้องประกอบด้วยติเหตุกะเสมอไปจึงไม่เปลี่ยน ด้วยอำนาจวิบากที่ให้ปฏิสนธิ

ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้น จึงมีจิตประเภทต้องอาศัยทวารจึงรู้อารมณ์ได้ และมีจิตที่ไม่ต้องอาศัยทวารก็รู้อารมณ์ เช่น ปฏิสนธิจิตไม่ต้องอาศัยทวารหนึ่งทวารใดเลย เพราะไม่ใช่จิตเห็น ไม่ใช่จิตได้ยิน ไม่ใช่จิตได้กลิ่น ไม่ใช่จิตลิ้มรส ไม่ใช่จิตรู้สิ่งที่กระทบสัมผัส ไม่ใช่จิตคิดนึก ภวังคจิตไม่ใช่จิตที่คิดนึก จิตที่คิดนึกรู้อารมณ์ คือ เรื่องที่คิด เพราะฉะนั้น ไม่ใช่ภวังคจิต การรู้อารมณ์ของภวังคจิตนั้น ไม่ต้องอาศัยทวารหนึ่งทวารใดทั้ง ๖ ทวาร


หมายเลข  6628
ปรับปรุง  9 เม.ย. 2567


วีดีโอแนะนำ