ปกิณณกธรรม ตอนที่ 132


ตอนที่ ๑๓๒

สนทนาธรรม ที่ วัดบวรนิเวศวิหาร

พ.ศ. ๒๕๓๖


ท่านอาจารย์ จิตประเภทใดทำปฏิสนธิกิจ จิตนั้นประเภทเดียวกันนั้นทำภวังคกิจ สืบต่อดำรงความเป็นบุคคลนั้นไว้ แล้วก็จนถึงขณะสุดท้ายก็คือสิ้นสุดสภาพความเป็นบุคคลนั้น จะยังเปลี่ยนสภาพไม่ได้ เพราะฉะนั้น ในชาติหนึ่งๆ ปฏิสนธิจิต ภวังคจิต จุติจิตต้องมีอารมณ์เดียวกัน เปลี่ยนไม่ได้เลย

ผู้ฟัง อดีตภวังค์จะมีอารมณ์หนึ่งใช่ไหม

ท่านอาจารย์ อันนั้นสำหรับตา หู จมูก ลิ้น กาย ซึ่งมีรูป เสียง กลิ่น รส กาย กระทบปสาท แสดงอายุของอารมณ์

ผู้ฟัง พูดกันคนละตอน

ท่านอาจารย์ พูดถึงอดีตภวังค์ก็จะนับไปถึงตทาลัมพนะว่า จิตเกิดขณะไหนแล้วก็ดับ มีอายุ ๑๗ ขณะ แสดงอายุของอารมณ์ เพราะฉะนั้น เราไม่ต้องไปสนใจ

อีกทวารหนึ่งซึ่งสำคัญมาก สุขทุกข์ก็อยู่ที่ทวารนี้ คือ มโนทวารวิถีจิต จิตที่คิด เพราะว่าถึงแม้ว่า เราจะไม่เห็น ไม่ได้ยิน ไม่ได้กลิ่น ไม่ลิ้มรส จิตเป็นสภาพที่คิด ใครจะไปยับยั้งจิตบอกว่าอย่าคิด ไม่ได้

จิตที่คิด คือ อาศัยการสะสม จากการเห็น การได้ยิน เวลาที่จิตคิดจะเกิดขึ้น ก่อนที่จะเป็นวิถีจิต ภวังคจิตไหวเพื่อที่จะทิ้งอารมณ์เก่า ถ้าเป็นภวังค์เฉยๆ จะเปลี่ยนสภาพ เปลี่ยนอารมณ์ไม่ได้เลย เพราะว่ากำลังทำกิจภวังค์อยู่ แต่ตอนที่เริ่มจะคิด มโนทวาราวัชชนจิตจะเกิดต่อจากภวังค์ทันทีไม่ได้ เพราะเหตุว่ายังเป็นภวังค์ ภวังค์ ภวังค์ เป็นกระแสอยู่

ก่อนที่จะทิ้งอารมณ์ของภวังค์ เพื่อที่จะคิดนึก ภวังค์นั้นจะไหว แล้วก็ภวังค์ขณะต่อไปก็เป็นกระแสภวังค์ดวงสุดท้าย นี่คือ จิตนิยาม หมายความว่า ไม่มีใครเลยที่จะรู้ นอกจากพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าที่จะตรัสรู้ว่า ต่อจากภวังค์แล้วก็จะเป็นมโนทวาราวัชชนจิต หรือวิถีจิตทันทีไม่ได้ จะต้องมีภวังค์เกิดก่อนวิถีจิต ๒ ขณะทางมโนทวาร แต่ถ้าเป็นทางปัญจทวาร เราจะมีอดีตภวังค์ เพื่อแสดงให้รู้ว่า อารมณ์เกิดแล้วกระทบกับทวารทันที อารมณ์นั้นจะไปสิ้นสุดที่ตทาลัมพนะ เพราะเหตุว่ารูปมีอายุ ๑๗ ขณะของจิต ถ้าเป็นทางตา หู จมูก ลิ้น กาย แต่สำหรับทางใจ ไม่มีอารมณ์ใดๆ มากระทบตา หู จมูก ลิ้น กาย แต่ว่ามีการคิดนึกเกิดขึ้น แต่ขณะที่กำลังเป็นภวังค์ๆ อยู่ จะให้คิดทันทีไม่ได้ จะให้จิตเปลี่ยนอารมณ์ทันทีไม่ได้ ไม่สามารถที่จะเป็นไปอย่างนั้น จิตนิยาม คือ ตามความเป็นจริงแล้ว ภวังค์ไหว แล้วก็ภวังคุปัจเฉทะเกิด หลังจากนั้นวิถีจิตแรกจึงจะเกิดต่อ

ขณะที่เราจะพูดถึงเรื่องภวังค์จิต ต้องรู้ว่า ขณะนั้นต่างกับที่สติเกิดแน่นอน ภวังค์คือหลับ ไม่รู้อารมณ์อะไร แต่ว่าเวลาที่สติเกิด ไม่ใช่ปกติที่เรียกว่า กายวิญญาณรู้สิ่งที่ปรากฏ อย่างแข็งหรืออ่อน ซึ่งเป็นปกติธรรมดา ทุกคนตอบได้ หรือเห็นก็คือรู้สิ่งที่ปรากฏทางตา ได้ยินก็คือรู้เสียง

นี่เป็นชีวิตประจำวัน ไม่ได้หมายความว่า สติเกิดแล้ว เพราะฉะนั้น จะเห็นได้ว่า การลำดับการเกิดดับของจิต มีมากมาย ตั้งแต่เป็นภวังค์ ไม่รู้อะไรเลย แล้วก็เป็นวิถีจิต คือ มโนทวาราวัชชนจิต เกิดขึ้นนึกคิดก็เป็นวาระหนึ่ง หรือเวลาที่มีสีกระทบตา ปัญจทวาราวัชชนจิตเป็นวิถีจิตแรกเกิดขึ้นรู้อารมณ์ที่กระทบ ซึ่งไม่ใช่อารมณ์ของภวังค์

นี่แสดงให้เห็นว่า เรากำลังขยายขณะนี้ให้เห็นชัดๆ ว่า ต้องมีภวังค์อยู่แน่นอนในขณะนี้ คือ ขณะที่ไม่เห็น ไม่ได้ยิน แต่เร็วมาก เพราะเหตุว่าเห็นแล้วได้ยิน เหมือนต่อกันทันที นี่คือขณะที่หลงลืมสติ จึงเหมือนกับว่าทุกสิ่งทุกอย่างเป็นไปสืบต่ออย่างรวดเร็ว ไม่มีอะไรแทรกคั่นเลย แต่การที่เราจะรู้ว่า มีภวังค์คั่นก็ดี หรือว่าวิถีจิตวาระที่เป็นการเห็น ต่างกับวาระที่เป็นการได้ยินก็ดี ต้องอาศัยสติเกิดขึ้นจากการฟังระลึกรู้ลักษณะสภาพของนามธรรม และรูปธรรมไป ทีละเล็กทีละน้อย จนกว่าจะถึงธรรมาภิสมัย ซึ่งนานมาก เพราะเป็นปัญญาจริงๆ

ในขณะนี้ทุกคนเป็นผู้ตรงที่จะรู้ว่า อยู่ในขั้นของการฟัง แล้วจะต้องรู้ลักษณะของสติซึ่งต่างกับขณะที่หลงลืมสติ แต่ลักษณะของสติที่จะเกิดขึ้น จะเกิดขึ้นไม่ได้เลย ถ้ายังไม่มีความเข้าใจเรื่องลักษณะของนามธรรม และรูปธรรม แล้วเมื่อเราพูดถึงนามธรรม และรูปธรรมกันบ่อยโดยชื่อ จิต เจตสิกเป็นนาม แล้วก็รูปไม่ใช่นามธรรม เราก็พูดอย่างนี้ แต่จะต้องให้เป็นความเข้าใจจริงๆ ทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ เมื่อสติยังไม่เกิดก็จะต้องมาพูดเรื่องความละเอียดว่า ก่อนที่เห็นจะเกิด จิตต้องเป็นภวังค์ เพื่อให้เราเห็นระลึกได้ว่า ไม่ใช่เรา ภวังค์ก็มี แต่ไม่รู้

นี่คือการที่จะเริ่มรู้ว่า เราไม่รู้มากน้อยแค่ไหน แม้ภวังค์มี ก็ไม่รู้ แล้วเวลาที่ไม่ใช่ภวังค์ มีการเห็นเกิดขึ้น การเห็นที่จะเป็นวิถีจิตวาระแรก จะต้องเป็นอาวัชชนจิต ถ้าเป็นทางปัญจทวารก็ต้องเป็นจิตชนิดหนึ่งซึ่งต่างกับมโนทวาราวัชชนจิต แค่นี้ก็เห็นความไม่ใช่ตัวตนว่าทำไมมีปัญจทวารวัชชนจิต รู้อารมณ์ที่กระทบตาคือสี หรือเสียงหรือกลิ่น หรือรส หรือโผฏฐัพพะ แต่ยังไม่เห็น ยังไม่ได้ยิน เพียงแต่รู้ว่า มีอารมณ์กระทบ เพราะฉะนั้นขณะนั้นจึงไม่ใช่ภวังคจิต

ขณะนี้มีปัญจทวารวัชชนจิตก็กำลังเกิดก่อนเห็น ก่อนได้ยิน แต่ว่าเมื่อไม่รู้ ก็จะต้องฟังให้เข้าใจว่า จิตเร็วอย่างนี้ ดับอย่างนี้ ไม่ใช่ตัวตนอย่างนี้ ถึงแม้ว่าจะรู้ไม่ได้ ไม่มีใครสามารถที่จะรู้ปัญจทวาราวัชชนจิตหรือมโนทวาราวัชชนจิต แต่โดยเหตุผลให้ทราบว่า กำลังเป็นภวังคจิตอยู่เรื่อยๆ แล้วจะรู้อารมณ์อื่นทันที กระแสของจิตจะต้องเกิดขึ้นเป็นไปอย่างไร จะต้องมีการไหว ซึ่งเป็นภวังค์นั่นเองไหว แต่ว่ายังไม่รู้อารมณ์ใหม่ ยังมีอารมณ์เดียวกับภวังค์ก่อนๆ แล้วก็เมื่อภวังคจลนะดับ ภวังคุปัจเฉทะก็เกิดแล้วก็ดับ สิ้นสุดกระแสของภวังค์ หลังจากนั้นที่เป็นทางตาที่กำลังเห็นเดี๋ยวนี้ คือ ปัญจทวาราวัชชนจิตต้องเกิดก่อน

นี่ก็คือให้ท่านซึ่งอาจจะหลงๆ ลืมๆ ชื่อภาษาบาลีได้ทบทวน แล้วให้ทราบว่า ปัญจ คือ ๕ ทวาร คือทาง อาวัชชนะ คือการรำพึงหรือรู้อารมณ์ ซึ่งขณะนั้นยังไม่เห็น ยังไม่ได้ยิน ส่วนทางใจก็มีมโนทวาราวัชชนจิต ชื่อต่างกันแล้ว เพราะเหตุว่าไม่ได้อาศัยตาเป็นทวาร ไม่ได้อาศัยหูเป็นทวาร แต่เพราะจิตที่เกิดก่อนมโนทวาราวัชชนจิต คือ ภวังคุปัจเฉทะ ซึ่งเป็นกระแสภวังค์ดวงสุดท้าย เพราะฉะนั้น จิตดวงนี้มีภวังคุปเฉทะเป็นมโนทวาร มโนทวาร คือ ภวังคุปัจเฉทะ ไม่ใช่วิถีจิต และเมื่อมีภวังคุปเฉทะดับไปแล้ว มโนทวาราวัชชนจิตเกิดขึ้นเป็นวิถีจิตขณะแรก

ถ้าย้อนถามกลับว่า มโนทวาราวัชชนจิตคืออะไร มโนทวาราวัชชนจิต คือ จิตซึ่งเกิดต่อจากภวังคุปัจเฉทะทางมโนทวาร ปัญทวาราวัชชนจิตคืออะไร คือวิถีจิตแรกซึ่งเกิดต่อจากภวังคุปัจเฉทะทางหนึ่งทางใด คือ อาศัยตา หรือหู หรือจมูก หรือลิ้น หรือกาย

พระผู้มีพระภาคทรงแสดงว่ามีจิต ๒ ประเภท คือ ปัญจทวาราวัชชนจิตไม่ใช่มโนทวาราวัชชนจิต ต่างกันที่เจตสิกที่เกิดร่วมด้วย เพราะเหตุว่ามโนทวาราวัชชนจิต มีเจตสิกเกิดร่วมด้วยมากกว่าปัญจทวาราวัชชนจิต เพราะเหตุว่าปัญจทวาราวัชชนจิต ไม่มีวิริยเจตสิกเกิดร่วมด้วย แต่มโนทวาราวัชชนจิตมีวิริยเจตสิกเกิดร่วมด้วย จิตที่เกิดขึ้นอย่างน้อยที่สุดต้องมีเจตสิกเกิดร่วมด้วย ๗ ดวง หรือ ๗ ประเภท แต่สำหรับปัญจทวาราวัชชนจิต มีมากกว่านั้น แต่มโนทวาราวัชชนจิตมีมากว่าปัญจทวาราวัชชนจิต เพราะเหตุว่า มโนทวาราวัชชนจิตนั้น ต้องมีวิริยเจตสิกเกิดร่วมด้วย เพียงนึกคิดเรื่องหนึ่งเรื่องใด ให้ทราบว่า ขณะนั้นมีวิริยเจตสิกเกิดร่วมด้วย แต่เพียงรูปกระทบตา ปัญจทวาราวัชชนจิตเกิด ขณะนั้นไม่ต้องอาศัยวิริยเจตสิก

นี่แสดงให้เห็นว่า เราไม่รู้จักสภาพของจิตซึ่งเกิดขึ้นเป็นไป เพราะความไม่รู้ และการยึดถือสภาพธรรมว่า เป็นเรา เป็นตัวตน แต่เมื่อทรงแสดงโดยละเอียดอย่างนี้ ก็แล้วแต่ปัญญาของเราจะซึมซับความเข้าใจเรื่องจิตประเภทต่างๆ ที่จะมีการรู้ว่า จิตมีหลายประเภท แล้วจิตแต่ละประเภทนั้นก็เป็นสภาพธรรมแต่ละอย่าง ซึ่งเกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัย เป็นสภาพธรรมซึ่งเกิดแล้วก็ดับอย่างรวดเร็ว

ผู้ฟัง จากการศึกษาเรารู้ว่าขณะเห็น ก่อนที่จะได้ยินก็ต้องมีภวังคจิตคั่น พูดง่ายๆ ว่า ภวังคจิตต้องเกิดคั่นสลับตลอดเวลา ในทางปฏิบัติ สติปัฏฐานสามารถจะระลึกรู้ได้ รู้ภวังคจิตได้ไหม

ท่านอาจารย์ ขณะนี้โดยการศึกษาทราบว่าภวังคจิตคั่นจริง ถูกไหม เพราะเหตุว่าถ้าจักขุทวารวิถีจิตไม่ดับ จิตได้ยินไม่มีทางจะเกิดได้เลย เพราะฉะนั้น ต้องดับ แล้วเมื่อดับแล้วต้องมีภวังค์เกิดสืบต่อ เพราะว่าก่อนที่จะได้ยินก็จะต้องมีภวังคจลนะ ภวังคุปัจเฉทะ ปัญจทวาราวัชชนจิต แล้วก็โสตวิญญาณจิตจึงเกิดได้

นี่ขั้นฟัง แต่ว่าไม่ใช่ขั้นประจักษ์แจ้ง การที่จะระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรม ไม่มีการกระโดดข้ามขั้นว่าไปรู้ลักษณะของสภาพธรรมโดยการประจักษ์แจ้ง ซึ่งในขณะที่ประจักษ์แจ้ง จะไม่มีความสงสัยในเรื่องลักษณะที่ต่างกันของสภาพธรรมที่ปรากฏ ซึ่งเมื่อปรากฏลักษณะที่ต่างกัน ช่องว่างต้องมี ซึ่งเป็นภวังคจิตในขณะนั้น แต่ว่าเมื่อสภาพธรรมยังไม่ได้ปรากฏ ก็มีการค่อยๆ ที่จะระลึกรู้ว่า ที่กำลังเห็นขณะนี้ก็เป็นสภาพรู้ชนิดหนึ่ง ที่กำลังได้ยินก็เป็นสภาพรู้อีกชนิดหนึ่ง ค่อยๆ รู้ไปจนกว่าจะถึงกาลซึ่งสภาพธรรมปรากฏตามความเป็นจริง เพราะว่าขณะนี้สภาพธรรมเกิดดับปรากฏสืบต่อเร็วเหมือนเดิม ยังไม่มีการแทงตลอดที่จะให้ปรากฏเป็นสภาพธรรมแต่ละอย่าง ซึ่งสืบต่อโดยการที่มีภวังคจิตคั่น

ผู้ฟัง แต่ถ้าการรู้สภาพธรรมจริงๆ ที่ปรากฏนี้ ก็จะต้องรู้ รู้ธรรมที่ปรากฏจริงๆ อย่างที่ท่านแสดงไว้นี้หรือเปล่า

ท่านอาจารย์ ไม่ต่างกับเดี๋ยวนี้ แต่ว่าปัญญาสามารถที่จะรู้ความจริง แทงตลอดในสภาพธรรมซึ่งเร็วอย่างนี้ โดยที่เรารู้ว่าขณะนี้มีภวังค์คั่นแน่นอน ระหว่างคำพูดแต่ละคำ เสียงที่ปรากฏแต่ละเสียง มีช่องว่างระหว่างเห็นกับได้ยิน

ผู้ฟัง ผมก็ยังอยากจะเรียนถามชัดๆ ลงไปว่า ภวังคจิต ในแง่ปฏิบัติจริงๆ ถ้าสมมติว่าสติปัญญาเกิดเพียงพอแล้ว ก็สามารถที่จะประจักษ์ได้ ใช่ไหม

ท่านอาจารย์ วิปัสสนาญาณไม่ใช่ขณะที่กำลังอบรม นี่เป็นความต่างกัน เมื่อสภาพธรรมปรากฏ ก็ปรากฏ ไม่มีอะไรปิดกั้นเลย เพราะขณะนั้นเป็นปัญญาที่กำลังประจักษ์แจ้งลักษณะของสภาพธรรม

ผู้ฟัง แต่ไม่ปรากฏ ก็ไม่จำเป็นต้องไป

ท่านอาจารย์ ก็เหมือนอย่างนี้ ขณะที่ไม่ใช่วิปัสสนาญาณ ก็เหมือนอย่างนี้

ผู้ฟัง อย่างนั้นจะเป็นการไม่ละเอียดไปหรือเปล่า เพราะว่าพูดถึงตามความจริง เราจะต้องรู้ด้วยว่า ในขณะที่ภวังคจิตเกิด แล้วก็ในขณะที่ทางปัญจวิญญาณเกิด ก็ต้องรู้ตามลำดับอย่างนั้น แต่ทีนี้ว่า ถ้าหากว่าจะเว้นว่า ภวังคจิตขณะในลักษณะนี้ไม่รู้จะกลายเป็นว่า เราไม่ละเอียดไหม

ท่านอาจารย์ ไม่มีการเจาะจง หรือว่าไม่มีการต้องการ เช่นในขณะนี้ทางตา มีสภาพธรรมกำลังปรากฏ แล้วสติก็ระลึกเพื่อที่จะได้รู้ลักษณะของสิ่งที่กำลังปรากฏทางตา และนามธรรมที่กำลังเห็น เรายังไม่ต้องพะวงถึงภวังคจิต ใช่ไหม การที่ได้ฟังมา ก็คือเพื่อที่จะให้เห็นว่า สภาพธรรมทั้งหมดไม่ใช่ตัวตน เป็นอนัตตา แต่ปัญญาจะเกิด โดยรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏทีละลักษณะ ไม่ต้องไปคำนึงถึง เหมือนอย่างอากาศธาตุที่แทรกคั่นอยู่ระหว่างกลาปของรูป แม้แต่ธาตุดิน มีใช่ไหม ในเวลาที่สติระลึกรู้ลักษณะของแข็ง ต้องไปพะวงถึงอากาศธาตุซึ่งแทรกคั่นอยู่ไหม ในเมื่อเรากำลังเริ่มที่จะรู้ลักษณะของสภาพรู้ กับลักษณะที่แข็ง ซึ่งสภาพรู้นั้นไม่ใช่แข็ง แต่ว่าเป็นสภาพธรรมที่กำลังรู้แข็งชั่วขณะที่แข็งปรากฏ

ผู้ฟัง รู้เฉพาะสิ่งที่ปรากฏเท่านั้นหรือ

ท่านอาจารย์ เท่านั้น แต่ข้อสำคัญที่สุดก็คือ วันหนึ่งๆ ที่เราคิดว่า กำลังเห็นก็แสนที่จะสำคัญ แต่ให้ทราบว่า เดี๋ยวก็หมดแล้ว พอหลับแล้วก็หมด เพราะฉะนั้น วันนี้ทั้งวันมีอะไรสำคัญจริงๆ บ้าง ขณะที่หลับ แล้วชีวิตก็เป็นอย่างนี้ คือ ตื่นแล้วก็หลับ ตื่นแล้วก็หลับ ให้ทราบว่าถ้าเราชอบสิ่งหนึ่งสิ่งใด ให้รู้ว่าเพียงชั่วขณะที่ยังไม่หลับ จะช่วยทำให้เห็นความไม่สำคัญของแต่ละขณะที่สนุกสนาน เอร็ดอร่อย หรืออะไรอย่างนี้ ให้ทราบว่า เพียงเดี๋ยวเดียว คือ เพียงชั่วขณะที่ยังไม่หลับเท่านั้นเอง

เพื่อที่จะให้ท่านผู้ฟังได้พิจารณาธรรม ไม่ใช่ตามตัวหนังสือ หรือตามกิจการงาน แต่ว่าในชีวิตประจำวันซึ่งถ้ามีคนถามว่าภวังคจิตมีไหม ได้ยินคำว่าภวังคจิต ท่านผู้ฟังก็คงจะศึกษามาบอกว่ามี แต่ว่าพูดตาม แต่ว่าขณะนี้ให้ทราบว่า มี ถ้าตอบว่า มีก็คือมี เหมือนกับเห็นมี ได้ยินมี เพราะฉะนั้นภวังคจิตก็มี ตอนไหนที่เป็นภวังคจิต คือ ระหว่างเห็นกับได้ยิน ซึ่งเป็นสภาพธรรมที่ต่างกัน ถ้าไม่มีภวังคจิตคั่น เห็นก็ต้องเห็นตลอดไป ได้ยินจะเกิดไม่ได้ เพราะว่าจะต้องเป็นจิตประเภทเดียวกัน จิตที่เกิดขึ้นแล้วก็ดับ รู้อารมณ์ทางตา แต่ทีนี้เมื่อมีได้ยินซึ่งเป็นการรู้อารมณ์ทางหู ระหว่างเห็นสิ่งที่ปรากฏทางตา ได้ยินเสียงที่ปรากฏทางหู ช่วงนั้นมีภวังคจิต

ถ้าตอบว่าภวังคจิตมีไหม มี หลังจากปฏิสนธิก็มีภวังคจิต แล้วก็เวลาที่มีการเห็น เมื่อเห็นดับวิถีจิตที่เห็นสิ่งที่ปรากฏทางตาดับหมดแล้ว ก่อนที่จะได้ยินก็ต้องเป็นภวังคจิต แล้วเวลาที่วิถีจิตได้ยินเกิดขึ้น หลายขณะ รู้เสียงที่ปรากฏ ดับไปแล้ว ก็ต้องมีภวังคจิต

เพราะฉะนั้น ให้ทราบว่า แม้ในขณะนี้เองก็มีภวังคจิต ถ้าจะทราบว่ามี ก็ต้องรู้ว่ามีเมื่อไหร่ คือมี หลังปฏิสนธิแล้วก็ ทุกขณะที่ไม่มีการเห็น การได้ยิน การได้กลิ่น การลิ้มรส การรู้สิ่งที่กระทบสัมผัส การคิดนึก เพื่อที่จะได้ไม่สงสัยเรื่องของภวังคจิต เท่านี้ก่อนไม่ทราบว่ามีใครสงสัยหรือเปล่า ภวังคจิตมีแน่นอน

ผู้ฟัง ภวังคจิตที่เกิดคั่นระหว่างปัญจทวาร และมโนทวาร ซึ่งก็มีภวังคจลนะ และภวังคุปัจเฉทะนั้น ขณะนั้นมีอารมณ์ใหม่เกิดขึ้นแล้ว ใช่ไหม แต่ว่าภวังคจิตช่วงนั้น ยังคงมีอารมณ์เหมือนกับอารมณ์ใกล้จุติจิตของชาติที่แล้วหรือเปล่า หรือว่าเป็นอารมณ์ใหม่ซึ่งกำลังเห็น กำลังได้ยิน กำลังได้กลิ่น กำลังลิ้มรส

ท่านอาจารย์ อันนี้ต้องทราบว่า จิตเกิดขึ้นโดยไม่มีอารมณ์ไม่ได้เลย จิตเกิดขึ้นเป็นสภาพรู้ ต้องมีอารมณ์ซึ่งจิตรู้ จิตขณะหนึ่งๆ ตายตัวว่า จิตขณะนั้นมีอารมณ์อะไร เปลี่ยนไม่ได้

เพราะฉะนั้น ที่จะบอกว่ามีอารมณ์แล้วไม่ได้ เพราะเหตุว่าขณะนั้นเป็นภวังคจิต ภวังคจิตจะเปลี่ยนไปรู้อารมณ์อื่นไม่ได้เลย ไม่ว่าจะเป็นอดีตภวังค์ ก็ต้องมีอารมณ์ของภวังค์ เป็นภวังคจลนะก็ต้องมีอารมณ์ของภวังค์ เป็นภวังคุปัจเฉทะก็ต้องมีอารมณ์ของภวังค์ จะกล่าวว่ามีอารมณ์ก่อนเกิดแล้วไม่ได้ เพราะเหตุว่าอารมณ์หมายความถึงสิ่งที่จิตรู้ จิตขณะหนึ่งจะมีอารมณ์อะไร ภวังคจิตเปลี่ยนไปรู้อารมณ์อื่น หรือมีอารมณ์อื่นไม่ได้ หรืออารมณ์อื่นจะมีในขณะนั้นก็ไม่ได้ เพราะเหตุว่าจิตกำลังเป็นภวังค์

ผู้ฟัง ภวังคจิตจะมีอารมณ์เดียวตลอดภพชาตินั้นเปลี่ยนไม่ได้เลย

ท่านอาจารย์ เปลี่ยนไม่ได้ จะพูดว่ามีอารมณ์ก่อน มีอารมณ์แล้ว ไม่ได้ ถึงแม้ว่าเสียงจะกระทบกับโสตปสาท ขณะนั้นเป็นภวังคจิต ภวังค์ไม่ได้ยินเสียง ไม่รู้เสียง จะมีเสียงเป็นอารมณ์ไม่ได้ ขณะนั้นเสียงเพียงกระทบกับโสตปสาท แต่ตราบใดที่เสียงนั้นยังไม่เป็นอารมณ์ของจิต เสียงนั้นยังไม่ใช่สัททารมณ์ เป็นแต่เพียงเสียงที่กระทบ แต่ตัวจิตที่เป็นภวังค์ ก็ยังมีอารมณ์ของภวังค์อยู่ จะกล่าวว่ามีอารมณ์ก่อน หรืออารมณ์เกิดแล้วไม่ได้ เพราะว่าถ้าใช้คำว่าอารมณ์ ต้องหมายความว่าเป็นอารมณ์ของจิต ถ้ายังไม่เป็นอารมณ์ของจิตจะบอกว่า มีอารมณ์ไม่ได้ เพียงแต่เสียงเกิดขึ้นกระทบโสตปสาท แต่ยังไม่เป็นอารมณ์ของจิตที่เป็นภวังค์ เพราะเหตุว่าจิตที่เป็นภวังค์จะมีเสียงเป็นอารมณ์ไม่ได้

ผู้ฟัง ถ้าอย่างนั้นก็หมายความว่า คือถ้าเสียงเกิดขึ้นกระทบกับโสตปสาทรูป ขณะนั้นถ้ายังไม่มีจิตที่เกิดขึ้นรับเสียงอันนั้น แสดงว่าเสียงอันนั้นจะเป็นอารมณ์ไม่ได้

ท่านอาจารย์ ไม่ได้ เพราะคำว่าอารมณ์ ต้องหมายความว่า เป็นอารมณ์ของจิตขณะใด อย่างสีสันวัณณะที่เกิด ถ้าขณะนั้นจิตไม่ได้รู้สี สีนั้นเป็นแต่เพียงวัณณะ แต่ไม่ใช่รูปารมณ์ หรือเสียงที่กระทบโสตปสาท กระทบภวังค์ เสียงนั้นก็ยังไม่ใช่สัททารมณ์ เป็นแต่เพียงสัททะ ต่อเมื่อใดจิตเกิดขึ้นมีเสียงเป็นอารมณ์ เสียงนั้นจึงจะเป็นสัททารมณ์

ผู้ฟัง ถ้าเสียงกระทบกับปสาทรูป แต่ว่ายังไม่มีจิตเกิดขึ้นมารับเสียงนั้น ก็แสดงว่าเสียงนั้นยังไม่เป็นอารมณ์ของจิต

ท่านอาจารย์ จะมีวาระที่เรียกว่า โมฆะวาระ คือ เสียงกระทบภวังค์ แล้วก็ภวังค์ไหวอยู่เรื่อยๆ แล้วเสียงก็ดับ เสียงนั้นจะเป็นสัททารมณ์ไม่ได้ เป็นแต่เพียงเสียงที่กระทบภวังคจิตแล้ว ภวังคจิตก็มีอารมณ์ของภวังค์ จิตที่ไหว ไหวเพราะวิถีจิตจะเกิด เพราะเหตุว่าธรรมดาแล้ว ภวังค์ คือ จิตที่ดำรงภพชาติ แต่ว่าธรรมดาของจิตนั้นจะเป็นภวังค์อยู่ตลอดเวลาไม่ได้ ไม่ว่าจะเกิดบนสวรรค์ ในมนุษย์ พรหมโลก หรือที่ไหนก็ตาม เพราะเหตุว่าจิตเป็นสภาพที่คิดนึก ไม่มีทางเลยที่จะเป็นภวังค์ไปโดยตลอด เพราะเหตุว่าในขณะที่กำลังเป็นภวังค์นั้น ไม่ได้คิดอะไรเลย แต่ว่าลักษณะของจิตเป็นสภาพที่รู้อารมณ์

เพราะฉะนั้น ก็จะต้องรู้อารมณ์ทางใจ ที่เรากำลังจะเน้นในวันนี้ ก็คือ มโนทวารวิถีจิต เพื่อที่จะให้เข้าใจถึงลักษณะแท้ๆ ของจิต ถึงแม้ว่าจะไม่มีสี เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะเลย กระทบ แต่ว่าเวลาที่วิถีจิตจะเกิด ซึ่งเป็นธรรมชาติของจิตที่จะต้องคิด ที่จะห้ามจิตไม่ให้คิด แล้วให้จิตเป็นแต่ภวังค์ เป็นไปไม่ได้

ก่อนที่จิตจะคิด ซึ่งการคิดหมายความว่า มโนทวารวิถีจิต คือ ภวังค์ไหวแล้วก็ดับไป แล้วภวังคุปัจเฉทะ เป็นภวังค์ดวงสุดท้ายของกระแสภวังค์ เพราะฉะนั้น ก็เป็นทวารของจิตคิด เพราะเหตุว่าถ้าภวังคุปัจเฉทะไม่เกิดแล้วดับไป จิตก็คิดไม่ได้ ใช่ไหม แสดงให้เห็นว่าการที่เราคิดวันหนึ่งๆ อยู่ดีๆ เป็นภวังค์ แล้วก็จะเกิดคิดขึ้นมาเฉยๆ ไม่ได้ ก่อนที่การคิดนึกจะเกิดขึ้น ภวังค์ไหวเพราะจิตจะคิด ซึ่งเป็นธรรมชาติของจิต เพราะฉะนั้นก่อนที่จิตจะคิดก็ต้องภวังค์ไหว แล้วภวังคุปัจเฉทะคือภวังขณะสุดท้ายดับ และต่อจากนั้นภวังค์จะเกิดไม่ได้เพราะจิตคิดโดยมโนทวาราวัชชนจิตซึ่งเป็นวิถีจิตขณะแรกทางมโนทวาร


หมายเลข  6627
ปรับปรุง  9 เม.ย. 2567


วีดีโอแนะนำ