ปกิณณกธรรม ตอนที่ 136
ตอนที่ ๑๓๖
สนทนาธรรม ที่ วัดบวรนิเวศวิหาร
พ.ศ. ๒๕๓๖
ท่านอาจารย์ เวลาที่ปฏิสนธิจิตเกิด เป็นขณะแรกในภพชาตินี้ สภาพของจิตที่เป็นปฏิสนธิจิตนั่นเองเป็นอนันตรปัจจัย เพราะเหตุว่าเมื่อปฏิสนธิจิตดับต้องมีจิตเกิดสืบต่อทันที
ผู้ฟัง การเกิดสืบต่อนั่นคืออนันตรปัจจัย ทำให้เขาเป็นอย่างนั้น
ท่านอาจารย์ ไม่ใช่ ปฏิสนธิจิตเป็นปัจจัย ภวังคจิตที่เกิดต่อเป็นปัจจยุปปันนธรรม หมายความถึงธรรมซึ่งเป็นผลของปัจจัย เกิดขึ้นเพราะปัจจัยนั้น เพราะว่าคำว่า “ปัจจยุปปันนธรรม” ก็คงมาจากคำว่า ปัจจัย กับ อุปปันนะ เพราะฉะนั้น สภาพธรรมที่เป็นปัจจัย เป็นเหตุที่จะทำให้สภาพธรรมที่เป็นผล คือ ปัจจยุปปันนธรรมเกิดสืบต่อ เมื่อปฏิสนธิจิต ดับลง จิตที่เกิดสืบต่อจะเป็นจักขุวิญญาณ โสตวิญญาณ หรือจิตอื่นไม่ได้เลย ต้องเป็น ภวังคจิต โดยนัยของอีกปัจจัยหนึ่ง คือ สมนันตรปัจจัย หมายความว่าไม่มีการก้าวก่ายสับสน การเกิดขึ้นทำงานสืบต่อกันของจิตจะต้องเป็นไปตามลำดับตามปัจจัย เมื่อปฏิสนธิจิตเป็นอนันตรปัจจัยดับแล้ว ต้องมีจิตเกิดสืบต่อ และจิตที่จะเห็นจิตสืบต่อจะเป็นจิตอื่นไม่ได้ นอกจากภวังคจิตโดยสมนันตรปัจจัย
สำหรับอนันตรปัจจัย และสมนันตรปัจจัย ได้แก่ ทั้งจิต และเจตสิก ไม่ใช่เฉพาะจิตเท่านั้นที่เป็นอนันตรปัจจัย และสมนันตรปัจจัย แม้เจตสิกที่เกิดร่วมกันก็เป็นอนันตรปัจจัย และสมนันตรปัจจัยด้วย นี่ข้อหนึ่ง แล้วอีกประการหนึ่งก็คือว่า รูปไม่เป็นอนันตรปัจจัย เพราะฉะนั้น ก็ไม่เป็นสมนันตรปัจจัยด้วย เฉพาะนามธรรมที่รู้อารมณ์เท่านั้นที่เป็นอนันตรปัจจัย และสมนันตรปัจจัย
บางทีเราอาจจะคิดว่า รูปเกิดขึ้นแล้วก็ดับ แล้วก็มีรูปเกิดแล้วก็ดับสืบต่อกัน แต่การเกิดดับสืบต่อกันของรูป ไม่ใช่เพราะรูปก่อนเป็นอนันตรปัจจัยดับไป แล้วก็ทำให้รูปต่อไปเกิดขึ้น เพราะเหตุว่าสมุฏฐานที่เกิดของรูปนั้นมี ๔ คือ บางรูปเกิดขึ้นเพราะกรรมเป็นสมุฏฐาน บางรูปเกิดขึ้นเพราะจิตเป็นสมุฏฐาน บางรูปเกิดขึ้นเพราะอุตุ ความเย็นความร้อนเป็นสมุฏฐาน และบางรูปเกิดขึ้นเพราะอาหารเป็นสมุฏฐาน
เมื่อรูปเกิดเพราะกรรมดับ กรรมนั่นแหละก็ทำให้รูปต่อไปเกิด หรือว่ารูปที่เกิดเพราะอุตุ อุตุดับ อุตุก็ทำให้รูปเกิดขึ้น ไม่เกี่ยวข้องกับรูปที่ดับไป เพราะฉะนั้น สำหรับอนันตรปัจจัย และสมนันตรปัจจัยนั้น ได้แก่เฉพาะจิต และเจตสิกเท่านั้น
ผู้ฟัง มีเหตุผลอะไร ที่ท่านทรงแสดงว่า อันนี้มาคั่นระหว่างวิบาก ๒ วิบาก แต่วิบากหนึ่งนั้นเป็นในวิถีจิต อีกวิบากหนึ่งไม่ใช่ในวิถีจิต
ท่านอาจารย์ ถ้าทราบว่าเวลาที่เป็นภวังคจิต เป็นผลของกรรมจริง แต่ว่ายังไม่ได้รับผลทางตา หู จมูก ลิ้น กาย เพราะเหตุว่าเพียงแต่ดำรงภพชาติ ให้ดำรงความเป็นบุคคลนั้นไว้ แต่ว่ากรรมในชาติหนึ่งๆ มีมาก แล้วก็ในแสนโกฏิกัปป์มาแล้ว ก็ยังมีโอกาสที่จะให้ผลอยู่ เพราะฉะนั้น ไม่ใช่ว่าปฏิสนธิจิตกับภวังคจิตเป็นผลของกรรม พอ จบ ไม่ใช่อย่างนั้น คือกรรมทำให้เกิดขณะแรก ปฏิสนธิแล้วก็ดับ แล้วก็ทำให้เป็นภวังคจิตดำรงภพชาติ แต่กรรมอื่นจะต้องให้ผลด้วย การที่จะได้รับผลของกรรมอื่น ไม่ได้หมายความว่าให้เป็นภวังค์อยู่อย่างนั้น เพราะฉะนั้น ก็จะมีการได้รับผลของกรรมทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย
ผู้ฟัง อะไรเป็นปัจจัยให้ปัญจทวาราวัชชนจิตเกิด
ท่านอาจารย์ ต้องมีทวาร คือ ต้องมีตา มีหู มีจมูก มีลิ้น มีกาย ถ้าไม่มีตา หู จมูก ลิ้น กาย ปัญจทวาราวัชชนจิตเกิดไม่ได้ เช่น ในอรูปพรหมภูมิ ไม่มีรูปเลย เพราะฉะนั้น ปัญจทวาราวัชชนจิตไม่เกิด แต่การที่ปัญจทวาราวัชชนจิตจะเกิดได้ ต้องหมายความว่ามีทวารคือ จักขุปสาทรูป โสตปสาทรูป ฆานปสาทรูป ชิวหาปสาทรูป กายปสาทรูป ปัญจทวาราวัชชนจิตจึงจะเกิดได้ ถ้าในภพภูมิที่ไม่มีรูป ปัญจทวาราวัชชนจิตเกิดไม่ได้เลย
เพราะฉะนั้น ก็ไปถึงครั้งก่อนซึ่งเราก็ผ่านไปโดยที่ว่า ไม่ได้พูดถึงความละเอียดของสหชาตปัจจัย ซึ่งมีผู้ถามเรื่องนามธรรมกับรูปธรรมว่า เกิดพร้อมกันหรือเปล่า แล้วก็ที่ไหน ขณะไหนซึ่งไม่เกิดพร้อมกัน ที่ไหนที่เกิดพร้อมกัน และที่ไหนบ้าง ซึ่งความจริงก็จะต้องแปลศัพท์ก่อนว่า สหชาตะ- คำหนึ่ง แล้วก็สหชาตปัจจัย
อ. สมพร สห แปลว่า พร้อม ชาตะ แปลว่าเกิด เกิดพร้อมกัน สหชาตะ เกิดพร้อมกัน
ท่านอาจารย์ แต่ที่คราวก่อนนั้นไม่ได้มุ่งหมายถึงว่า ขณะนี้ รูปข้างนอก ต้นไม้ใบหญ้าที่กำลังเกิดก็มี และจิตในขณะนี้ก็กำลังเกิดก็มี การเกิดพร้อมกันอย่างนั้นไม่เกี่ยวข้องกันเลย แต่ว่าเวลาที่พูดถึงความสัมพันธ์ ความเกี่ยวข้องกัน ซึ่งเป็นปัจจัย หมายความว่า การเกิดพร้อมนั้นต้องเป็นปัจจัยด้วย เป็นปัจจัยในขณะที่เกิด จึงต้องเกิดพร้อมกัน
แม้แต่สหชาตปัจจัยก็ต้องเข้าใจให้ละเอียดด้วยว่า นามเกิดพร้อมกับรูปเมื่อไหร่ ในขณะไหน สำหรับในภพภูมิที่มีขันธ์ ๕ กรรมจำแนกทำให้มีการเกิดเป็นภูมิที่มี ๑ ขันธ์ก็ได้ ภูมิที่มี ๔ ขันธ์ก็ได้ ภูมิที่มี ๕ ขันธ์ก็ได้ โดยกรรม ถ้ากรรมจำแนกให้เกิดในภูมิที่มีเพียงขันธ์เดียว คือ อสัญญสัตตาพรหม อันนั้นเป็นผลของปัญจมฌานกุศล ซึ่งผู้ที่หน่ายในนาม เพราะเหตุว่าเบื่อเหลือเกิน หน่ายเหลือเกิน จิตฟุ้งซ่านคิดโน่นคิดนี่เป็นสุข เป็นทุกข์ น้อยใจ เสียใจ โศกเศร้าสารพัด ถ้าไม่มีนามเลย ก็จะดี เพราะฉะนั้น ท่านเหล่านั้นต้องบำเพ็ญเพียรจนกระทั่งถึงปัญจมฌาน แล้วหน่ายในนามธรรม ถ้าก่อนจุติ ปัญจมฌานจิตเกิดพร้อมกับการหน่ายในนาม ก็จะทำให้เฉพาะรูปปฏิสนธิเป็นอสัญญสัตตาพรหมบุคคลในอสัญญสัตตาพรหมภูมิ ซึ่งไม่มีจักขุปสาท ไม่มีโสตปสาท ไม่มีรูปซึ่งจะเป็นทวาร หรือเป็นทางที่จะให้จิตเกิดขึ้นเห็น ได้ยินเหล่านี้เป็นต้น เพราะฉะนั้น แม้แต่รูปของอสัญญสัตตาพรหม ก็ไม่มีรูปซึ่งเป็นทวาร หรือเป็นทางที่จะให้จิตเกิด นั่นก็เป็นในภูมิที่มีขันธ์ ๑
แล้วสำหรับในภูมิที่มีขันธ์ ๔ ก็ต้องเป็นอรูปพรหมบุคคลซึ่งนอกจากจะได้รูปปัญจมฌานแล้ว ก็ยังเห็นว่าถ้าไม่มีรูปเลย มีแต่อรูปก็ดี ไม่ต้องเดือดร้อน ไม่ต้องเห็นสิ่งต่างๆ ทางตาให้ใจวุ่นวาย ไม่สงบ ไม่ต้องได้ยินเสียง ไม่ต้องได้กลิ่น ไม่ต้องลิ้มรส พวกนี้ มีแต่นามธรรมเท่านั้น ก็จะไม่เดือดร้อน ไม่มีการกระทำทุจริตต่างๆ
ท่านเหล่านั้นต้องเพิกรูปนิมิต แล้วก็เจริญอรูปฌานกุศล จนกระทั่งบรรลุถึงอรูปฌานจิตตามลำดับขั้น แล้วแต่จะเป็นขั้นอากาสานัญจายตนฌาน ต่อจากนั้นก็เป็น วิญญาณัญจายตนฌาน ต่อจากนั้นก็เป็น อากิญจัญญายตนฌาน ต่อจากนั้นก็เป็นเนวสัญญานาสัญญายตนฌาน ซึ่งแสดงว่าอรูปฌานมี ๔ แล้วก็ละเอียดขึ้นตามลำดับ ถ้าก่อนจุติ อรูปฌานหนึ่งอรูปฌานใดเกิด ก็ทำให้ปฏิสนธิเป็นอรูปพรหมบุคคล ซึ่งไม่มีรูปใดๆ ทั้งสิ้น เพราะฉะนั้น ก็ไม่มีทวารหรือทางที่จะให้มีการเห็น หรือการได้ยิน เหล่านี้เลย แต่สำหรับในภูมิที่มีขันธ์ ๕ ให้ทราบว่าเป็นเพราะเหตุว่ามีความติดข้องในรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ซึ่งไม่ได้ดับ เพราะฉะนั้น ถึงแม้ว่าใครก็ตาม ซึ่งไม่ใช่พระอนาคามีบุคคล เมื่อมีการที่จะต้องเกิดอีก ก็จะต้องเกิดในภพภูมิซึ่งมีขันธ์ ๕ เพราะเหตุว่ายังไม่ได้หน่าย สำหรับพระอนาคามีบุคคลก็ยังเป็นรูปพรหมภูมิได้ ถ้าไม่ได้เจริญอรูปฌาน
จะเห็นได้ว่าถ้ายังไม่ได้ดับความยินดีพอใจ ถึงแม้เป็นรูปพรหมหรือ อรูปพรหมก็ตาม ก็ยังต้องกลับมาสู่ความเป็นอย่างนี้อีก
แต่ละคนที่นี่ก็ไม่ทราบว่าเคยเจริญอรูปฌานมาก่อนหรือเปล่า เคยเกิดเป็นอรูปพรหมหรือเปล่า แต่ไม่ได้ดับความยินดีพอใจในรูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส เพราะฉะนั้น ก็ต้องกลับมาสู่ความเป็นอย่างนี้อีก โดยกรรมหนึ่ง ซึ่งเป็นกรรมที่เป็นไปในรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ทำให้ปฏิสนธิจิตเกิดพร้อมกับรูป
นี่คือกรรมที่จำแนกว่า ในบางภูมิ กรรมทำให้มีแต่รูปปฏิสนธิ และบางภูมิมีแต่นามปฏิสนธิ แต่ในภูมิที่มีขันธ์ ๕ กรรมนั้นทำให้ปฏิสนธิจิตเกิดพร้อมกับรูป โดยเป็นสหชาตปัจจัย นี่ถึงจะเป็นความหมายหรือความสำคัญของการที่ว่า รูปเกิดพร้อมกับนามได้ไหม หรือว่าเกิดเมื่อไหร่ คือ เพราะกรรมทำให้ปฏิสนธิจิตเกิดพร้อมกับกัมมัชชรูป ซึ่งกรรมเป็นปัจจัยให้ปฏิสนธิจิตเกิด พร้อมกับเจตสิก พร้อมกับกัมมชรูป ในภูมินี้ จึงได้มีรูปซึ่งเกิดเพราะกรรม คือ จักขุปสาทรูปเป็นทวาร โสตปสาทรูปเป็นทวาร ฆานปสาทรูปเป็นทวาร ชิวหาปสาทรูปเป็นทวาร กายปสาทรูปเป็นทวาร เป็นรูป ๕ ทวาร สำหรับการที่จะได้รับผลของกรรมซึ่งทำให้ต้องเห็น ต้องได้ยินพวกนี้
เมื่อมีทวาร และมีรูปกระทบ แล้วกรรมทำให้วิบากจิตเกิด เพื่อที่จะรับผลของกรรมทางหนึ่งทางใด แต่ก่อนที่วิบากจิตจะเกิดได้ ปัญจทวาราวัชชนจิตเกิดก่อน เพราะเหตุว่าจะต้องรำพึง โดยศัพท์ แต่ความจริงแล้วสั้นมาก เพียงนึกถึงอารมณ์ที่กระทบทวาร แต่ว่าขณะนั้นยังไม่เห็น ยังไม่ได้ยิน ยังไม่ได้กลิ่น ยังไม่ลิ้มรส เพราะเหตุว่าทำอาวัชชนกิจ
ผู้ฟัง ท่านอาจารย์สมพรบอกว่า ถ้าเผื่อเราเห็นดี เราก็พอใจ เห็นไม่ดีเราก็ไม่พอใจ อยากจะเรียนถามท่านอาจารย์สุจินต์ว่า ขณะเห็นกับขณะที่พอใจ เป็นคนละขณะ
ท่านอาจารย์ อาจารย์สมพรไม่ได้ว่าอย่างนั้น อาจารย์ว่า เห็นสิ่งที่ดีน่าพอใจเป็นผลของกุศลกรรม
ผู้ฟัง ถ้าดิฉันจะนึกว่าเราพอใจ
ท่านอาจารย์ หลังจากนั้นถึงจะพอใจ แต่ว่าหลังจากขณะที่เห็น
ผู้ฟัง หลังจากนั้นพอใจ
ท่านอาจารย์ อารมณ์ก็ต้องมี ๒ อย่าง เพราะเหตุว่าเราปฏิเสธไม่ได้เลยว่า มีอารมณ์เพียงอย่างเดียว เพราะเหตุว่าบางอารมณ์ทำให้เราพอใจ บางอารมณ์ทำให้เราไม่พอใจ กลิ่น ก็มีทั้งกลิ่นที่ดี และกลิ่นที่ไม่ดี เสียง ก็มีทั้งเสียงที่ดี และเสียงที่ไม่ดี โดยสภาพของอารมณ์มี ๒ อย่าง
ผู้ฟัง ขณะเห็นกับขณะที่พอใจ เป็นจิตคนละดวง และคนละขณะ ใช่ไหม
ท่านอาจารย์ แน่นอน
ผู้ฟัง ทำไมถึงได้เป็นคนละขณะ
ท่านอาจารย์ เพราะเหตุว่าจิตที่เป็นวิบาก ได้แก่ จักขุวิญญาณจิต เห็นสิ่งที่น่าพอใจเป็นผลของกุศลกรรม แต่จิตที่กำลังเห็นนั้นเป็นวิบาก เป็นจักขุวิญญาณ จักขุวิญญาณจิตที่กำลังเห็นเป็นวิบาก เป็นผลของกรรม หลีกเลี่ยงไม่ได้เลย ถ้าเห็นสิ่งที่ไม่น่าพอใจเป็นผลของอกุศลกรรม และจิตที่เห็นสิ่งที่ไม่น่าพอใจนั้นเป็นวิบาก คือ เป็นจักขุวิญญาณอกุศลวิบาก เพราะฉะนั้น ต้องแยกวิบากจิตกับโลภมูลจิต หรือโทสมูลจิตซึ่งเป็นเหตุ หรือเป็นกุศล และอกุศล
ผู้ฟัง ที่ว่าเป็นจิตคนละดวง เพราะว่าถ้าหากว่าเราเห็น เราเห็นสิ่งที่ไม่ดีเป็นวิบาก นั่นก็คือจักขุวิญญาณ ถูกไหม เป็นจักขุวิญญาณวิบากจิต ถ้าจะพูดเต็มๆ
ท่านอาจารย์ ต้องบอกกุศลวิบากหรืออกุศลวิบากด้วย
ผู้ฟัง เวลานี้ไม่พอใจก่อน
ท่านอาจารย์ เห็นสิ่งที่ไม่น่าพอใจ ยังไม่ถึงความพอใจหรือไม่พอใจ กำลังอยู่เพียงแค่เห็น เพียงแค่เห็นจริงๆ หลังจากปัญจทวาราวัชชนจิตดับ เรากำลังมาถึงจักขุวิญญาณ ซึ่งมี ๒ ดวง เป็นกุศลวิบากจิตเห็นสิ่งที่น่าพอใจ และเป็นอกุศลวิบากจิตเห็นสิ่งที่ไม่น่าพอใจ หลังจากที่ปัญจทวาราวัชชนจิตดับ ปัญจทวาราวัชชนจิตเป็นอนันตรปัจจัยหมายความว่าทันทีที่ดับต้องมีจิตอื่นเกิดต่อ แล้วปัญจทวาราวัชชนจิตก็เป็นสมนันตรปัจจัยหมายว่า เมื่อปัญจทวาราวัชชนจิตดับแล้ว จิตอื่นจะเกิดไม่ได้ นอกจากทวิปัญจวิญญาณดวงหนึ่งดวงใดใน ๑๐ ดวง แล้วก็ถ้าไม่มีกรรมในอดีตที่จะทำให้จักขุวิญญาณเกิด จักขุวิญญาณก็เกิดไม่ได้ และถ้าไม่ใช่เป็นกรรมประเภทที่เกี่ยวเนื่องกับรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ จักขุวิญญาณก็เกิดไม่ได้ เช่นในอรูปพรหม ไม่มีทางเลยที่จักขุวิญญาณจะเกิด
ผู้ฟัง กรรมมาจากการกระทำ
ท่านอาจารย์ ต้องทราบว่า กรรม ได้แก่ เจตนาเจตสิกซึ่งเกิดกับจิต ซึ่งจงใจกระทำทุจริตหรือสุจริต
ผู้ฟัง เกิดมาจากการกระทำ ใช่ไหม
ท่านอาจารย์ จิตขณะหนึ่งเกิดแล้วดับ จะไม่กลับมาอีกเลย แต่ว่าสะสมสืบต่อโดยกรรมปัจจัย ซึ่งได้กระทำแล้ว เพราะฉะนั้น เมื่อถึงคราวที่สุกงอมที่จะให้ผลของกรรมใดก็เป็นปัจจัยให้เมื่อปัญจทวาราวัชชนจิตดับ วิบากจิตนั้นก็เกิดซึ่งเป็นผลของกรรมที่ได้กระทำแล้ว
ผู้ฟัง ดิฉันพยายามจะคิดว่า กิเลส กรรม วิบาก อันนี้อยากจะแยกออกมาให้เห็นชัดว่า ขณะใดเป็นอะไร ขณะใดเป็นอะไร
ท่านอาจารย์ เวลาที่เห็น คนที่ยังไม่ใช่พระอรหันต์ ก็ต้องมีกุศลบ้าง อกุศลบ้าง นี่ก็คือ ถ้าเป็นกิเลสก็เป็นอกุศล แล้วบางคราวก็เป็นกุศล แต่ก็ยังคงเป็นกรรมที่จะให้ผลอยู่นั่นเอง
เพราะฉะนั้น กว่าจะเห็นแล้วเป็นกิริยาจิต คือ ไม่ใช่กุศลจิต และอกุศลจิต ต้องสะสมปัญญาอย่างนานมาก จากเห็นแล้วก็เป็นอกุศลโดยไม่รู้ตัว เพราะว่ามีหลายคนที่บอกว่า วันหนึ่งไม่เคยมีอกุศลเลย เห็นแล้วไม่ได้อยากได้อะไรของใครเลย เขาเองคิดว่า เขาไม่มีอกุศลเลย แต่ความจริงไม่ทราบเลย หลังจากเห็นแล้วในขณะนี้เป็นอกุศลหรือกุศล ถ้าสติสัมปชัญญะไม่มีหรือไม่เกิด วันหนึ่งๆ ขณะที่สติสัมปชัญญะไม่เกิด ให้ทราบว่าหลังจากเห็นแล้วเป็นอกุศลส่วนใหญ่ ถ้าไม่เป็นไปในทาน ไม่เป็นไปในศีล ไม่เป็นไปในความสงบของจิต แล้วก็ไม่ใช่สติที่ระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรม ให้ทราบว่า เป็นผู้ที่มีอกุศลมากมายหนาแน่น ขณะใดที่สติสัมปชัญญะเกิดระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรม รู้ความจริง ขณะนั้นเป็นกุศล ถ้าขณะนั้นไม่ใช่ทาน ศีล หรือความสงบ
จะเห็นได้ว่า ถ้าปัญญาสามารถจะเกิดแทนอกุศลทั้งหมด ในวันหนึ่งปัญญาก็จะคมขึ้น จนกระทั่งสามารถที่จะเมื่อเห็นแล้ว ไม่มีความพอใจในสิ่งที่เห็น หรือว่าไม่มีโทสะ ปฏิฆะ ในสิ่งที่เห็นได้ แต่ตราบใดปัญญายังไม่ถึงระดับขั้นนั้น จะรู้ตัวหรือไม่รู้ตัวก็ตาม เพียงเห็นดับไป ยังไม่ทันถึงมโนทวารวิถีจิต ชวนจิตเกิดขึ้นเป็นกุศลหรือเป็นอกุศล
ถ้าสติปัฏฐานไม่เกิด ให้ทราบได้เลยว่า เป็นอกุศลแน่นอน แต่ว่าถ้าสำหรับอุปนิสสยปัจจัยแล้วเป็นนามธรรม คือ อาศัยการเสพบ่อยๆ จนคุ้น จนกระทั่งมีกำลังขึ้น อย่างคนที่โกรธง่าย โกรธบ่อยๆ ถึงแม้ว่าอารมณ์ที่ปรากฏจะเป็นอารมณ์ที่ดี น่าดู แต่คนนั้นก็โกรธได้ ไม่พอใจได้ เพราะเหตุว่าสะสมความโกรธจนกระทั่งสามารถจะเกิดได้อย่างรวดเร็ว ไม่ว่าอารมณ์จะประณีต เป็นอารมณ์ที่ดี หรือว่าเป็นอารมณ์ที่ไม่น่าพอใจก็ตาม แต่คนที่สะสมความเมตตา ความกรุณา ความให้อภัย ความไม่โกรธ ถึงแม้ว่าจะได้ยินได้ฟัง หรือเห็นสิ่งซึ่งไม่น่าพอใจ แต่ไม่โกรธ เพราะเหตุว่าสะสมมา ทำให้เป็นที่อาศัยที่มีกำลังให้กุศลจิตเกิดแทนอกุศล
ผู้ฟัง เรียนก็เรียนมานานแล้ว จะว่าอยากรู้ก็เหมือนอยากรู้ คือว่ายิ่งรู้ว่าอยากก็รู้สึกว่ายิ่งจะเป็นตัวตนไปหนักเข้าไปอีก แต่ถ้าว่าไม่อยาก มันยังสงสัยอยู่ไม่หายว่า จิตเห็น หรือเรียกว่าจักขุวิญญาณมีลักษณะเป็นอย่างไร จะต้องรู้ ถ้าไม่รู้สติปัฏฐานมันเกิดไม่ได้ ถ้าไม่รู้ตรงนี้ พระนิพพานไปไม่ได้ เพราะว่าทางตรงนี้เรายังไม่รู้ ทั้งๆ ที่เห็นอยู่ทุกวัน ได้ยินอยู่ทุกวัน ได้กลิ่นอยู่ทุกวัน รู้รสอยู่ทุกวัน ถูกต้องสัมผัสเย็นร้อนอ่อนแข็งอยู่ทุกวัน เราก็ยังไม่รู้ แล้วเมื่อไหร่เราจะพอเห็นทางไปพระนิพพานได้บ้าง
ท่านอาจารย์ คุณนิภัทรอยากรู้จักชื่อ
ผู้ฟัง ไม่อยากรู้จักชื่อ อาจารย์ ชื่อผมพอจำได้แล้ว
ท่านอาจารย์ ถ้าไม่อยากรู้จักชื่อแล้วสะดวก เพราะเหตุว่าขณะนี้มีสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ ไม่ต้องนึกถึง อดีตภวังค์ ภวังคจลนะ ภวังคุปัจเฉทะ ปัญจทวาราวัชชนะ จักขุวิญญาณ หรือจิตอื่นๆ ซึ่งเกิดต่อ ไม่ต้องรู้จักชื่อ ไม่ต้องนึกถึงชื่อเลย เพราะเหตุว่ามีสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ
การเรียนเพื่อที่จะให้เราเห็นความเป็นอนัตตา เพราะเหตุว่าทั้งๆ ที่รู้ว่าสภาพธรรมกำลังปรากฏ แต่ปัญญาไม่พอที่จะเข้าใจความเป็นจริงของสภาพธรรมซึ่งเป็นอนัตตา เพราะฉะนั้น ก็ต้องอาศัยพระธรรมเทศนาโดยละเอียดให้เข้าใจจริงๆ ว่า กว่าจักขุวิญญาณจะเกิดต้องมีปัญจทวาราวัชชนจิตก่อน และเมื่อจักขุวิญญาณดับไปแล้วก็ต้องมีจิตอื่นเกิดซึ่งในขณะนี้ ก็มีสภาพธรรมที่กำลังปรากฏทางตาแก่จิตซึ่งรู้สิ่งที่ปรากฏทางตา โดยเราไม่จำเป็นต้องบ่งชี้เฉพาะ หรือว่าเรียกชื่อ รู้ชื่อเลย เพียงแต่ว่าให้เข้าใจลักษณะจริงๆ ของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏว่า เป็นสภาพรู้ ขณะนี้ที่กำลังเห็น เป็นอาการรู้ เป็นลักษณะรู้ แล้วไม่ต้องคิดถึงชื่อเลย ที่ถามว่าอยากจะรู้จักขุวิญญาณไหม ก็ไม่จำเป็นต้องเรียกชื่อ ให้รู้ลักษณะของสิ่งที่กำลังปรากฏ
ผู้ฟัง ตราบใดที่กำลังเห็นเป็นสิ่งนั้นสิ่งนี้ เห็นเป็นคนนั้นคนนี้ เห็นเป็นอะไรๆ อยู่ต่างๆ นานา อยู่อย่างนี้ มันก็ยังไม่วายที่จะมองเห็นว่า พระธรรมทำไมถึงยากเย็นจริงๆ ทำไมถึงลึกซึ้งจริงๆ แล้วสติปัญญาอย่างเราๆ ฟังก็ฟังมานานแล้ว ทำไมยังไม่พอที่จะเข้าใจ
ท่านอาจารย์ คือจุดมุ่ง อย่ามุ่งไปที่เห็น แล้วก็ไม่รู้ว่าเป็นคน เป็นสัตว์ อย่าให้เป็นอย่างนั้น หมายความว่าในขณะนี้มีสภาพธรรมกำลังปรากฏ ไม่ต้องไปคิดว่า ถ้าเป็นทางจักขุทวารวิถีแล้ว จะต้องไม่เห็นเป็นสัตว์ เป็นบุคคลเลย เพราะเหตุว่านั่นเป็นการพยายามเล็กๆ แอบแฝงอยู่ซึ่งจะให้เป็นอย่างนั้น แต่ว่าตามความเป็นจริงแล้ว สิ่งซึ่งปรากฏทางตาเป็นอย่างไร ก็เป็นอย่างนั้น แต่ค่อยๆ เข้าใจขึ้น ค่อยๆ รู้ขึ้นในลักษณะของสภาพที่เป็นสภาพรู้
เพราะฉะนั้น ก็ไม่ใช่เป็นผู้ที่จะต้องรีบร้อนไปหาความผิด สิ่งผิดจากปกติ แต่ว่าให้รู้ว่าปัญญาจริงๆ เริ่มจากความเข้าใจสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ แล้วรู้ว่าเมื่อเป็นปัญญา ปัญญาไม่ได้รู้อย่างอื่นเลย นอกจากรู้สภาพธรรมที่กำลังปรากฏ