ชุด วิถีจิต แผ่นที่ ๑ ตอนที่ ๓


    ในภูมิที่มี ขันธ์ ๕ จิตเจตสิกก็ต้องเกิดที่รูป ขณะนั้นก็ยังไม่ถึงขณะนี้ เพราะว่าขอย้อนกลับไปถึงตอนที่ปฏิสนธิจิตเกิด และก็มีรูปเล็กๆ ๓ กลุ่ม และหลังจากนั้นก็มีรูปที่เกิดจากกรรม รูปที่เกิดจากจิต รูปที่เกิดจากอุตุ รูปที่เกิดจากอาหาร ก็ทยอยกันเกิดดับอยู่เรื่อยๆ และจิตก็เป็นภวังค์ ในขณะนั้นจิตเกิดดับที่หทยวัตถุแต่ว่ายังไม่รู้แม้สิ่งที่กระทบสัมผัสกาย แม้ว่าจะมีกายปสาทรูปแล้ว

    นาที 00:41

    สำหรับการรู้อารมณ์ทางใจ คือ มโนทวารวิถีจิต เกิดเป็นวาระแรก หลังจากที่ ปฏิสนธิจิตดับไปแล้วภวังคจิตเกิดต่อ จิตขณะแรกที่เปลี่ยนจากอารมณ์ของภวังค์เป็นอารมณ์อื่นนั้น คือ จิตที่นึกถึงอารมณ์ ชื่อว่ามโนทวาราวัชชนจิต

    เมื่อปฏิสนธิจิตเกิด และดับไป ภวังคจิตเกิด และดับสืบต่ออยู่เรื่อยๆ ยังไม่เปลี่ยนอารมณ์เลย เพราะฉะนั้น การที่จะเปลี่ยนอารมณ์ของภวังค์ซึ่งเกิดดับเหมือนกระแสน้ำ ก็ต้องโดยการนึกถึงอารมณ์ ซึ่งภาษาบาลีใช้คำว่า มโนทวาราวัชชนจิต ถ้าแปลโดยศัพท์จะแปลว่า จิตที่รำพึงถึงอารมณ์ แต่สำหรับภาษาไทยถ้าใช้คำว่า รำพึงถึงอารมณ์ คนก็ต้องคิดว่า ต้องรำพึงนานทีเดียว แต่ถ้าจะเข้าใจอรรถ ไม่ติดที่พยัญชนะ ก็เข้าใจว่าอรรถของอาวัชชนจิต คือ นึกถึงอารมณ์ จะเร็วไหม เพียงแค่ขณะที่เป็นภวังค์อยู่ เกิดดับเป็นกระแสภวังค์ ไม่รู้อารมณ์ทางทวารไหนเลย และก็เกิดนึกถึงอารมณ์ขึ้น ขณะนั้นถ้าเป็นทางใจ ก็เป็นมโนทวาราวัชชนจิต เป็นวิถีจิตขณะแรกที่เปลี่ยนจากอารมณ์ของภวังค์เป็นอารมณ์อื่น นี่เป็นกิจที่ ๓

    ถ้าจะเข้าใจชีวิตในวันหนึ่งๆ ก็ต้องเข้าใจจิตแต่ละขณะที่เกิดขึ้นกระทำกิจ ต่างๆ ซึ่งได้กล่าวถึงแล้ว คือ กิจที่ ๑ ปฏิสนธิกิจ กิจที่ ๒ ภวังคกิจ และกิจที่ ๓ ที่เปลี่ยนจากอารมณ์ของภวังค์เป็นอารมณ์อื่น คือ อาวัชชนกิจ นึกถึงอารมณ์

    กำลังนึกถึงอารมณ์ทางใจในขณะนี้หรือเปล่า นั่งๆ อยู่เกิดนึกอะไรขึ้นมา ให้ทราบว่า ขณะนั้นมโนทวาราวัชชนจิตเกิดขึ้นทำอาวัชชนกิจ เปลี่ยนจากอารมณ์ของภวังค์เป็นอารมณ์อื่นซึ่งไม่ใช่อารมณ์ของภวังค์ เป็นประจำทุกวันแต่ไม่เคยทราบเลยว่า มีจิตที่ทำกิจนี้ทุกครั้งที่นึกถึงอารมณ์อะไร ที่กำลังคิดเรื่องอะไรทางใจ วิถีจิตแรกที่ ไม่ใช่ภวังค์ต้องเป็นอาวัชชนกิจ เมื่อเป็นทางใจก็เป็นมโนทวาราวัชชนจิตเกิดขึ้น นึกถึงอารมณ์

    มีใครสามารถระลึกรู้ลักษณะของมโนทวาราวัชชนจิตไหม

    จิตนี้เกิดขึ้นเพียงขณะเดียว ทำกิจนึก เร็วมาก หลังจากที่มโนทวาราวัชชนจิตเกิด และดับไป คือ เพียงนึกถึงอารมณ์ ขณะนั้นจะเกิดกุศลจิตบ้าง อกุศลจิตบ้าง โลภมูลจิต ชอบในเรื่องที่กำลังคิดบ้าง หรือเป็นโทสมูลจิต ไม่ชอบเรื่องที่กำลังคิดบ้าง ในขณะนั้นจะเห็นได้ว่า ขณะที่กำลังชอบหรือไม่ชอบ สามารถรู้ได้ แต่ขณะที่เป็น มโนทวาราวัชชนะ คือ เพียงนึกถึงอารมณ์ขณะเดียว ก่อนที่โลภมูลจิตจะเกิด หรือ โทสมูลจิตจะเกิดนั้น ไม่มีใครสามารถรู้ได้

    ด้วยเหตุนี้แม้จิตจะเกิดขึ้นกระทำกิจ ส่วนใหญ่แล้วเป็นกิจที่ไม่สามารถรู้ได้ ตั้งแต่ปฏิสนธิกิจก็ไม่สามารถรู้ได้ ภวังคกิจก็ไม่สามารถรู้ได้ อาวัชชนกิจ คือ การนึกถึงอารมณ์ต่างๆ ถ้าเป็นทางใจ ได้แก่ มโนทวาราวัชชนจิต ถ้าเป็นทางตา หรือทางหู หรือทางจมูก หรือทางลิ้น หรือทางกาย จะได้แก่จิตอีกดวงหนึ่งซึ่งชื่อว่า ปัญจทวาราวัชชนจิต ไม่ใช่มโนทวาราวัชชนจิต แต่จิตที่ทำปฏิสนธิกิจก็ดี ทำกิจ ภวังค์ก็ดี ทำกิจอาวัชชนะก็ดี ไม่สามารถรู้ได้ ต่อเมื่อทางใจ มโนทวาราวัชชนจิต ดับแล้ว โลภมูลจิตเกิด หรือโทสมูลจิตเกิด หรือเมตตาเกิดเป็นกุศล ขณะนั้น จึงสามารถรู้ได้

    จริง หรือไม่จริง

    จิตเกิดขึ้นกระทำกิจการงานของแต่ละกิจๆ ไปโดยไม่รู้ นอกจากในขณะที่ เป็นโลภมูลจิต โทสมูลจิต ซึ่งไม่ใช่อาวัชชนกิจ เพราะว่าเกิดหลังจากที่จิตนึกแล้ว เพราะฉะนั้น โลภมูลจิตก็ดี โทสมูลจิตก็ดี หรือกุศลจิตก็ดีที่รู้ เพราะว่าทำชวนกิจ

    โดยศัพท์ ชวนะ หมายความว่า ไปอย่างเร็ว คือ แล่นไปในอารมณ์ที่จิตนึก ไม่ว่าจิตจะนึกเรื่องอะไรขณะหนึ่ง และดับไป โลภมูลจิตจะแล่นไปหรือไปอย่างเร็ว ในอารมณ์นั้น ไม่รั้งรอเลยที่จะเป็นโลภะ โลภมูลจิตซึ่งเกิดต่อจากมโนทวาราวัชชนจิตจะเกิดดับสืบต่อกัน ๗ ขณะ เป็นการที่จะสามารถรู้ลักษณะของจิตที่กำลังชอบหรือ ไม่ชอบ เป็นกุศลหรือเป็นอกุศล เพราะว่าเกิดดับซ้ำกัน ๗ ขณะ และเป็นจิตที่ไปอย่างเร็ว คือ แล่นไปตามอารมณ์ที่มโนทวาราวัชชนจิตนึก

    ทุกคนที่คิดเรื่องต่างๆ ทุกคืน ทุกวัน ถ้าระลึกจะรู้ได้ว่า ขณะนั้นเป็นสุขหรือเป็นทุกข์ ถ้าคิดถึงเรื่องที่สนุกสนานน่าเพลิดเพลิน ขณะนั้นก็เป็นความรู้สึกที่สบาย เป็นสุข ถ้าคิดถึงเรื่องที่ไม่น่าสบายใจเลย เป็นทุกข์กังวลเดือดร้อน ขณะนั้นก็เป็น โทสมูลจิต และใครยับยั้งได้ที่จะไม่ให้จิตคิด ที่จะบอกว่า อย่าคิด ถ้าเรื่องไม่ดี เป็นทุกข์ก็อย่าคิด ห้ามไม่ได้เลย เพราะแล้วแต่อาวัชชนจิต คือ มโนทวาราวัชชนจิต ที่จะเกิดขึ้นนึกถึงอารมณ์อะไร และจิตที่เกิดต่อก็แล่นไปตามอารมณ์ที่จิตคิดนั้น อย่างรวดเร็วด้วยโลภมูลจิต หรือโทสมูลจิต หรือกุศลจิต

    ถ้าใครอยากจะคิดเรื่องที่เป็นกุศล มีทางเดียว คือ สะสมการกระทำกุศลที่ กุศลจิตเกิดมากๆ จนกระทั่งเป็นปัจจัยให้มโนทวาราวัชชนจิตนึกถึงเรื่องนั้น และ กุศลจิตก็เกิดต่อได้

    ท่านผู้ฟังท่านหนึ่งเล่าให้ฟังว่า ท่านซื้อกล้วยแขกไปถวายพระภิกษุด้วยความยินดี เห็นว่าเป็นอาหารที่ท่านไม่ค่อยได้ฉัน ต่อมาท่านก็ฝันว่า ท่านเคยซื้อกล้วยแขกไปถวายพระ ทำไมไม่ซื้ออีกล่ะ ในฝันท่านคิดอย่างนั้น เพราะฉะนั้น วันรุ่งขึ้นท่านก็ ซื้อกล้วยแขกไปถวายพระอีก

    แสดงให้เห็นว่า กุศลที่ทำบ่อยๆ หรือที่ทำด้วยความปลาบปลื้ม หรืออาจจะเป็นกุศลพิเศษ อย่างกล้วยแขกก็คงไม่มีใครคิดที่จะถวายพระภิกษุ แต่เมื่อผู้ใดได้ถวาย ผู้นั้นก็เกิดจิตที่ทำให้ปลาบปลื้มว่า เราได้ถวายสิ่งซึ่งคนส่วนใหญ่คงจะไม่ค่อยถวาย ท่านคงจะไม่ค่อยได้ฉัน จึงเป็นปัจจัยให้ฝันเป็นกุศล และผลก็คือทำให้เกิดกุศลต่อไป คือ วันต่อไปท่านก็ซื้อกล้วยแขกถวายพระภิกษุอีก

    ธรรมทั้งหลายเป็นอนัตตาจริงๆ แม้แต่ความคิด มโนทวาราวัชชนจิตจะเกิดขึ้นคิดอะไร ก็เป็นไปตามการสะสม

    คืนนี้ทุกคนก็จะฝัน ขณะที่ฝันก็คงไม่รู้ว่า มโนทวาราวัชชนจิตคิดแต่ละเรื่อง แล้วแต่ว่าในฝันนั้นบางขณะก็เป็นโลภะ บางขณะก็เป็นโทสะ บางขณะก็เป็นกุศล เพราะฉะนั้น ความฝันของแต่ละคนก็จะพิจารณาได้ว่า เป็นโลภะมาก หรือโทสะมาก หรือเป็นกุศลมาก แต่ยับยั้งไม่ได้ และแม้ไม่ใช่ความฝันก็ยังยับยั้งไม่ได้ ไม่ใช่ยับยั้งไม่ได้เฉพาะในขณะที่ฝัน แต่แม้ไม่ฝันก็ไม่มีใครสามารถให้มโนทวาราวัชชนจิตเกิด นึกคิดแต่ในเรื่องที่จะทำให้สบายใจ หรือเป็นกุศล เพราะว่าสภาพธรรมทั้งหลายเป็นอนัตตา

    ขุททกนิกาย ปฏิสัมภิทามรรค อรรถกถาจริยานานัตตญาณนิทเทส ข้อ ๑๖๕ มีข้อความว่า

    ชื่อว่าอาวัชชนะ เพราะอรรถว่า นำออกไปจากสันตาน (การสืบต่อ) อันเป็นภวังค์ แล้วนึก คือ น้อมไปสู่อารมณ์

    จะต้องนึกกันอีกมากมายเหลือเกินในสังสารวัฏฏ์ แต่ถ้าทราบว่า ขณะใด เป็นจิตประเภทใดก็ยังดี คือ ให้รู้ว่าขณะที่นึกเป็นจิตประเภทหนึ่ง ไม่ใช่โลภมูลจิต โทสมูลจิต แต่เป็นจิตที่ทำอาวัชชนกิจ ซึ่งมี ๒ ดวง คือ ถ้าเป็นเพียงการนึกถึงอารมณ์ทางใจ ขณะนั้นไม่ใช่อารมณ์ที่มากระทบตา หู จมูก ลิ้น กาย แต่ใจนึกถึงอารมณ์ขณะนั้นเป็นมโนทวาราวัชชนจิต และถ้าขณะใดที่อารมณ์กระทบตา ทำให้เกิดนึกถึงอารมณ์ที่กระทบตา ขณะนั้นเป็นปัญจทวาราวัชชนจิตที่นึกถึงรูปารมณ์ที่กระทบตา ถ้าเป็นทางหู เสียงกระทบหูขณะใด การที่เสียงกระทบหูเป็นปัจจัยให้ปัญจทวาราวัชชนจิตเกิดขึ้นนึกถึงเสียง

    เพราะฉะนั้น จิตที่ทำอาวัชชนกิจ มี ๒ ดวง คือ มโนทวาราวัชชนจิต นึกถึงอารมณ์ทางใจ ๑ ดวง และปัญจทวาราวัชชนจิต นึกถึงอารมณ์ที่กระทบตา กระทบหู กระทบจมูก กระทบลิ้น กระทบกาย ๑ ดวง ก่อนที่วิถีจิตอื่นๆ จะเกิด เช่น ทางใจ ก่อนที่โลภะจะเกิด โทสะจะเกิดเป็นไปในอารมณ์ต่างๆ ก่อนที่จะฝันเป็นเรื่องราว ต่างๆ มโนทวาราวัชชนจิตจะเกิดเพียงขณะเดียว และดับไป หลังจากนั้นจิตที่เกิดต่อ ก็แล่นตามอารมณ์นั้น ซึ่งจิตที่เกิดต่อ คือ กุศลจิต หรืออกุศลจิต ทำชวนกิจ คือ แล่นตามอารมณ์ที่มโนทวาราวัชชนจิตนึก

    เป็น ๔ กิจแล้ว คือ ปฏิสนธิกิจ ๑ ภวังคกิจ ๑ อาวัชชนกิจ ๑ และชวนกิจ ๑

    ที่มา ...

    แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1797

    นาที 13:45

    ก่อนที่จะเติบโตออกจากครรภ์มารดา มโนทวารวิถีจิตก็เกิดมากมายนับไม่ถ้วน เพราะฉะนั้น บางท่านอาจจะเห็นหลังจากที่เด็กคลอดจากครรภ์มารดาแล้ว บางครั้ง ก็ยิ้ม แสดงให้เห็นว่า ในขณะนั้นต้องนึกถึงเรื่องที่ทำให้เกิดโสมนัส ความรู้สึกที่เป็นสุข แม้ว่าจะหลับตาบางคนก็ยังยิ้ม แสดงว่าขณะนั้นมโนทวาราวัชชนจิตเกิด นึก ต่อจากนั้นโสมนัสเวทนาที่เกิดกับโลภมูลจิต หรืออาจจะเป็นมหากุศลจิตที่เกิดกับโสมนัสเวทนาเกิดก็ได้ โดยที่ไม่มีใครรู้ เพราะว่าขณะใดก็ตามที่ไม่มีการรู้อารมณ์ ทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ขณะนั้นเป็นมโนทวารวิถีจิต สลับกับภวังคจิต

    ขณะใดที่ไม่รู้อารมณ์ใดเลยทั้งสิ้น ขณะนั้นเป็นภวังค์ แต่ขณะใดที่ไม่เห็น ไม่ได้ยิน ไม่ได้กลิ่น ไม่ลิ้มรส ไม่รู้สิ่งที่กระทบสัมผัส แต่คิดนึก ขณะนั้นเป็นวิถีจิต ทางใจ เป็นมโนทวารวิถีจิต

    สำหรับกิจ ๔ กิจ คงไม่ต้องท่อง ใช่ไหม ปฏิสนธิกิจ ภวังคกิจ อาวัชชนกิจ ชวนกิจ นี่เป็นเรื่องทางใจ ต่อไปเป็นเรื่องทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย

    โลภมูลจิตในภูมิที่มีขันธ์ ๕ ต้องเกิดที่รูป และขณะใดที่ไม่ใช่จักขุวิญญาณ โสตวิญญาณ ฆานวิญญาณ ชิวหาวิญญาณ กายวิญญาณ จิตอื่นทั้งหมดต้องเกิด ที่หทยวัตถุ

    เมื่อหทยวัตถุเกิดแล้วก็มีอายุ ๑๗ ขณะของจิต และก็ดับ แล้วแต่ว่าหทยวัตถุนั้นจะเป็นที่เกิดของจิตประเภทใด ขณะที่มโนทวาราวัชชนจิตเกิดนึกถึงอารมณ์ ขณะนั้นต้องเกิดที่หทยวัตถุ และหลังจากที่มโนทวาราวัชชนจิตดับลง ขณะที่เป็นโลภมูลจิตขณะนั้นก็ต้องเกิดที่หทยวัตถุ แต่หทยวัตถุไม่ใช่ทวาร ไม่ใช่ทางที่จิตจะเกิดขึ้นรู้อารมณ์ เป็นแต่เพียงที่เกิดของจิต

    ความสัมพันธ์ของรูป คือ รูปซึ่งที่เป็นที่เกิดของจิตมี ๖ รูป ได้แก่ หทยวัตถุรูป เป็นที่เกิดของจิตส่วนใหญ่ นอกจากนั้นก็มีจักขุปสาทรูปเป็นที่เกิดของจักขุวิญญาณ ๒ ดวง โสตปสาทรูปเป็นที่เกิดของโสตวิญญาณ ๒ ดวง ฆานปสาทรูปเป็นที่เกิดของฆานวิญญาณ ๒ ดวง ชิวหาปสาทรูปเป็นที่เกิดของชิวหาวิญญาณ ๒ ดวง กายปสาทรูปเป็นที่เกิดของกายวิญญาณ ๒ ดวง นี่คือรูปซึ่งเป็นที่เกิดของจิต

    ที่มา ...

    แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1798

    นาที 17:26

    รูปอื่นๆ มีไหม มีมาก ภาวะรูปก็มี ธาตุดิน น้ำ ไฟ ลม ก็มี เป็นใหญ่เป็นประธาน แต่ว่าในขณะนั้นมีความสัมพันธ์อะไรกับนามธรรมหรือเปล่า แต่ว่าถ้ากล่าวถึงที่เกิดแล้วก็จะมีเพียง ๖ รูป คือจักขุปสาทรูปเป็นจักขุวัตถุ เป็นต้น และหทยรูป

    มีข้อสงสัยในเรื่องนี้ไหมคะ สภาพธรรมขณะนี้ซึ่งไม่รู้ แต่ก็จะรู้เพียงการฟังซึ่งเป็นปริยัติ แต่ที่จะประจักษ์แจ้งจริงๆ เฉพาะในขณะที่เป็นวิถีจิตเท่านั้น ถ้าขณะที่ไม่ใช่วิถีจิต ก็จะได้มีการรู้อารมณ์ใดๆ ทั้งสิ้น มีชีวิตอยู่ก็เหมือนกับไม่มีชีวิต เพราะเหตุว่าไม่เห็น ไม่ได้ยิน ไม่ได้กลิ่น ไม่ลิ้มรส ไม่รู้สิ่งที่กระทบสัมผัส เพียงแต่ว่ายังไม่จุติคือยังไม่สิ้นชีวิตลงเท่านั้น

    ท่านผู้ฟังอาจได้ยินเรื่องจิตละเอียดขึ้นละเอียดขึ้น แล้วก็มีถึง ๘๙ หรือ ๑๒๑ ประเภท แล้วก็ยังจะต้องมีกิจ เช่นแม้ว่าจะได้ยินคำว่า โลภมูลจิต โทสมูลจิต ก็ยังมีชวนจิตอีก ก็แสดงให้เห็นว่าการที่จะเข้าใจจิตแต่ละขณะที่เกิดดับสืบต่อกันจริงๆ โดยละเอียด จำเป็นที่จะต้องบัญญัติคำที่จะเรียกชื่อของจิตเพื่อให้รู้ว่าเป็นจิตแต่ละประเภทต่างๆ กัน ตามกิจการงาน ตามภูมิ ตามอารมณ์ที่จิตรู้

    เพราะฉะนั้น ถ้าเข้าใจจริงๆ แล้วการศึกษาพระธรรมจะไม่ยาก แต่ว่าจะต้องเข้าใจ ไม่ใช่เพียงแต่จำชื่อเฉยๆ ถ้าจำชื่อเฉยๆ ก็ไม่สามารถที่จะเข้าใจได้ว่าทำไมบางครั้งเป็นบางครั้งเป็นโลภมูลจิต และก็บางครั้งก็เป็นชวนจิต


    นาที 19:47

    ผู้ฟัง ปฏิสนธิจิตเกิดแล้วเป็นภวังคจิต จากภวังคจิตเป็นอตีตภวังค์ จาก อตีตภวังค์เป็นภวังคจลนะ จากภวังคจลนะเป็นภวังคุปัจเฉทะ จากนั้นก็เป็น ทวาราวัชชนจิต ต่อไปเป็นทวิปัญจวิญญาณ หลังจากนั้นเป็นสัมปฏิจฉันนะ สันตีรณะ โวฏฐัพพนะ และก็เป็นชวนจิตที่เกิดเป็นโลภะ โทสะ ๗ ขณะ จากนั้นเป็นตทาลัมพนะ และจากตทาลัมพนะก็เป็นภวังคจิตอีก และก็เป็นมโนทวาราวัชชนจิตอีก จากมโนทวาราวัชชนจิตจะกลับไปเป็นสัมปฏิจฉันนะอะไรพวกนี้อีกหรือเปล่า

    ท่านอาจารย์ ไม่ใช่ วิถีจิตที่กล่าวถึงตั้งแต่อตีตภวังค์ ภวังคจลนะ ภวังคุปัจเฉทะ และปัญจทวาราวัชชนะ ปัญจวิญญาณ สัมปฏิจฉันนะ สันตีรณะ โวฏฐัพพนะ ชวนะ ตทาลัมพนะ นั่นคือขณะที่รูปกระทบกับตา และจิตเกิดขึ้นเห็นสิ่งที่กำลังปรากฏ หรือเสียงกระทบกับหู และจิตเกิดขึ้นได้ยินเสียงที่กำลังปรากฏ หรือขณะที่กลิ่นกระทบกับจมูก และจิตเกิดขึ้นรู้กลิ่น หรือขณะที่รสกระทบลิ้น และจิตเกิดขึ้นลิ้มรส หรือขณะที่โผฏฐัพพะเย็นหรือร้อน อ่อนหรือแข็ง ตึงหรือไหวกระทบกาย และจิตเกิดขึ้นรู้เย็นร้อน อ่อนแข็ง ตึงไหวที่กระทบกาย นี่คือเรื่องของปัญจทวารวิถี

    แต่สำหรับมโนทวารวิถี ไม่ใช่ขณะที่สิ่งที่ปรากฏทางตายังไม่ดับ ไม่ใช่การรู้เสียงที่ยังไม่ดับ มโนทวารวิถีจิตกับปัญจทวารวิถีจิต ต่างกันที่ปัญจทวารวิถีจิต ทางตา วิถีจิตทั้งหมดมีรูปที่ยังไม่ดับเป็นอารมณ์ ถ้าเป็นทางหู วิถีจิตทั้งหมดก็รู้เสียง ที่ยังไม่ดับ นี่คือโสตทวารวิถี ถ้าเป็นทางจมูก ขณะที่กำลังได้กลิ่น จิตทั้งหมดที่เป็นฆานทวารวิถีจิต อาศัยฆานปสาทรูปเกิด ต้องรู้กลิ่นที่ยังไม่ดับ แต่ทางมโนทวารวิถีไม่ใช่จิตที่กำลังรู้รูปที่กระทบตาที่ยังไม่ดับ ถ้าเป็นอย่างนั้นวิถีจิตต้องเป็น จักขุทวารวิถีจิต มโนทวารวิถีจิตไม่ใช่โสตทวารวิถีจิต เพราะว่าโสตทวารวิถีจิต ต้องเป็นวิถีจิตทั้งหมดที่กำลังรู้เสียงที่ยังไม่ดับ แต่มโนทวารวิถีจิตไม่ใช่อย่างนั้น

    ผู้ฟัง เมื่อมโนทวารวิถีจิตดับไปแล้ว ก็เป็นชวนจิตที่เกี่ยวกับโลภะ โทสะ ใช่หรือเปล่า

    ท่านอาจารย์ เวลาที่มโนทวารวิถีจิตจะเกิด ก่อนนั้นต้องเป็นภวังค์ และการที่จิต จะเกิดขึ้นนึกถึงอารมณ์ ภวังค์ต้องไหว เป็นภวังคจลนะ ไม่มีอตีตภวังค์ เพราะการที่กล่าวถึงอตีตภวังค์เพื่อเป็นเครื่องหมายให้รู้ว่า ปสาทรูปเกิดพร้อมกับรูปที่กระทบ ปสาทรูป เกิดพร้อมกัน และรูปนั้นจะมีอายุ ๑๗ ขณะ ในระหว่าง ๑๗ ขณะที่รูป ยังไม่ดับจะมีจิตประเภทใดเกิดขึ้นบ้างจนกระทั่งรูปดับ และเป็นภวังคจิต หลังจากนั้น มโนทวารวิถีจิตจึงจะเกิด เพราะฉะนั้น มโนทวารวิถีต้องแยกออกจากปัญจทวารวิถี อย่าปนกัน ถ้ายังไม่เข้าใจเรื่องของปัญจทวารวิถี และมโนทวารวิถี ก็คิดว่ามโนทวารวิถีเป็นปัญจทวารวิถีนั่นเอง หรือคิดว่าปัญจทวารวิถีเป็นมโนทวารวิถี เมื่อโลภมูลจิตเกิด โทสมูลจิตเกิด

    ก่อนที่จะถึงทางปัญจทวารวิถี ก็ขอกล่าวถึงตั้งแต่ปฏิสนธิ ภวังค์ และวิถีจิตวาระแรกที่ต้องเป็นมโนทวารวิถีก่อน เพราะว่าการเกิดในสังสารวัฏฏ์มีความยินดีพอใจในภพชาติ หลังจากที่ปฏิสนธิจิตดับไป ภวังคจิตดับไป จะมีการนึกถึงอารมณ์ซึ่งไม่ใช่อารมณ์ของภวังค์ เป็นมโนทวารวิถีจิตเกิด มีความยินดีพอใจในภพชาติที่กำลังเป็นอยู่ จึงไม่มีปัญจทวาราวัชชนจิต ไม่มีจักขุวิญญาณ ไม่มีสัมปฏิจฉันนะ ไม่มีสันตีรณะ ไม่มีโวฏฐัพพนะ

    ทางมโนทวารวิถี ทันทีที่มโนทวาราวัชชนจิตซึ่งทำอาวัชชนกิจดับลง โลภมูลจิตหรือโทสมูลจิต หรือกุศลจิตเกิดขึ้นแล่นไปซ้ำกัน ๗ ขณะ ซึ่งมโนทวาราวัชชนจิต ที่เป็นมโนทวารวิถีจิตขณะแรกเกิดขึ้นเพียงขณะเดียว แต่เมื่อดับไปแล้ว โลภมูลจิตเกิด ๗ ขณะ หรือโทสมูลจิตเกิด ๗ ขณะ หรือกุศลจิตเกิด ๗ ขณะ ทำชวนกิจ ที่ใช้คำว่า แล่นไป ตามไปเร็ว คือ ชวนกิจ กิจที่แล่นไปตามที่จิตนึกอย่างรวดเร็ว ไม่รีรอเลยที่จะพอใจหรือไม่พอใจในอารมณ์ที่จิตคิด นี่คือมโนทวารวิถี

    การที่กล่าวถึงมโนทวารวิถีก่อน อาจจะทำให้เข้าใจปัญจทวารวิถีซึ่งจะเกิดภายหลัง หรือในชีวิตประจำวันแม้ไม่เห็น ไม่ได้ยิน ก็ยังนึกทางใจ หรือในขณะที่ กำลังเห็น บางคนก็ไม่สนใจในสิ่งที่เห็น กลับคิดนึกเรื่องอื่น เพราะว่ามโนทวารวิถีจิตเกิด โดยมโนทวาราวัชชนจิตนึกถึงเรื่องนั้น และโลภมูลจิต หรือโทสมูลจิต หรือ มหากุศลจิตก็เกิดต่อ ไม่ได้คิดถึงสิ่งที่ปรากฏทางตา หรือในขณะที่ได้ยินเสียงมีคนถาม แต่ไม่ได้สนใจในเสียงที่ได้ยิน เพราะว่ามโนทวารวิถีจิตเกิด โดยมโนทวาราวัชชนจิต นึกถึงเรื่องหนึ่งเรื่องใด และกุศลจิตหรืออกุศลจิตก็แล่นตามอารมณ์ที่ มโนทวาราวัชชนจิตนึก ทำให้ไม่รู้ว่าพูดอะไร เพราะฉะนั้น จะเห็นได้ว่า บางคนถาม และอีกคนหนึ่งไม่สามารถตอบได้ เพราะว่าขณะนั้นมโนทวาราวัชชนจิตนึกถึงอารมณ์อื่น และโลภมูลจิตบ้าง โทสมูลจิตบ้าง มหากุศลจิตบ้าง ก็แล่นตามอารมณ์ที่ มโนทวาราวัชชนจิตนึก

    ผู้ฟัง รู้ธรรมารมณ์ คือ รู้นาม รู้รูป หรือรู้บัญญัติ คนที่เพิ่งเกิดมาไม่เคยเห็น ไม่เคยได้ยิน ไม่เคยมีเรื่องอะไรมาก่อน มโนทวารจะมีเรื่องอะไรให้คิดนึก จะมีอารมณ์ได้อย่างไร

    ท่านอาจารย์ ที่ว่า ไม่เคยเห็น ไม่เคยได้ยินเลยในสังสารวัฏฏ์ เป็นไปได้ไหม เรื่องค้างทั้งนั้นเลยที่คิด ไม่ยอมปล่อย ทั้งๆ ที่รูปที่ปรากฏทางตาดับจริงๆ เสียงที่ปรากฏทางหูก็ดับจริงๆ แต่ยังค้างอยู่ในใจ เพราะสัญญาจำ แม้ว่ารูปนั้นจะดับแล้ว ไม่เห็น แต่ยังนึกถึงรูปที่เคยเห็น เสียงนั้นก็ดับแล้ว แต่ก็ยังนึกถึงเสียงที่เคยได้ยินได้ กลิ่นก็ดับแล้ว แต่ก็ยังนึกถึงกลิ่นได้ นอกจากนั้นยังคิดถึงเรื่องของสีที่ปรากฏทางตา นึกถึงเรื่องเสียงที่ได้ยินทางหู นึกถึงเรื่องกลิ่น มีใครอยากได้กลิ่นหอมๆ บ้างไหม วันนี้ต้องการกลิ่นชนิดไหน นั่นคือการนึกถึงเรื่องกลิ่นแล้ว นึกถึงเรื่องรสเป็นประจำ จะรับประทานอะไร ขณะที่กำลังลิ้มรส รสก็ดับอย่างรวดเร็ว แต่ยังจำได้ว่าลิ้มรสอะไร และยังอยากจะลิ้มอย่างนั้นอีกเมื่อไร จะปรุงแต่งรสนั้นอย่างไร

    รูปดับไปจริง ไม่ว่าจะเป็นทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย แต่ใจ ซึ่งติดตามไม่ลืมเรื่องนั้น ยังนึกถึงเรื่อง และรูปนั้นๆ อยู่ เพราะฉะนั้น จะกล่าวว่า ไม่เคยเห็น ไม่เคยได้ยินอะไรในสังสารวัฏฏ์ เป็นไปไม่ได้เลย และโดยมากในทุกๆ วันเป็นความพอใจ ขอให้มีอะไรเกิดขึ้นเถิด มีความต้องการที่จะเห็น หรือต้องการที่จะ ได้ยิน ต้องการที่จะได้กลิ่น ต้องการที่จะลิ้มรส ต้องการที่จะกระทบสัมผัส บางที เห็นสิ่งหนึ่งสิ่งใด ไม่ทราบว่าอ่อนหรือแข็ง อยากจะรู้ไหม ต้องจับ เพื่อที่จะได้รู้ว่า อ่อนหรือแข็ง หรือว่าเย็นไหม ร้อนไหม

    นี่เป็นเรื่องของการที่จะต้องมีความยินดีพอใจในสิ่งที่ปรากฏเสมอ

    เมื่อการสะสมความยินดีพอใจในแต่ละวัน ในแต่ละภพ ในแต่ละชาติ หลังจากที่ปฏิสนธิจิตเกิด และดับไป ภวังคจิตเกิด และดับไปเป็นกระแสของภวังค์ จนกว่าวิถีจิตจะเกิดขึ้นนึกถึงอารมณ์หนึ่งอารมณ์ใด แต่จะต้องแยกประเภทของจิตว่า จิตที่เป็นวิบากทำกิจอะไรบ้าง และจิตที่ไม่ใช่วิบากทำกิจอะไร มิฉะนั้นก็สับสนปนกัน คือ เอาจิตที่ไม่ใช่วิบากมาเป็นวิบาก อย่างบางคนเข้าใจว่า กุศลจิต อกุศลจิตเกิดขึ้นเพราะกรรม ทำกรรมมาจึงต้องคิดอย่างนี้ แต่ที่จริงไม่ใช่ เข้าใจว่า อกุศลจิตเป็นวิบาก ทำกรรมมาไม่ดีจึงต้องคิดไม่ดี เป็นโลภะบ้าง เป็นโทสะบ้าง แต่ไม่ใช่ เพราะว่า กรรมไม่ดีคืออกุศลกรรม ทำให้วิบากจิตเกิดขึ้นเห็น ขณะที่เห็นเป็นวิบาก แต่ขณะที่ชอบหรือไม่ชอบในสิ่งที่เห็น จิตที่ชอบหรือไม่ชอบนั้นไม่ใช่วิบาก แต่เป็นตัวเหตุที่จะ ให้เกิดกรรม ซึ่งจะทำให้เกิดผล คือ วิบาก

    การศึกษาเรื่องจิต ต้องศึกษาโดยประเภทว่า เป็นชาติอะไร เป็นกุศล หรือ เป็นอกุศล หรือเป็นวิบาก หรือเป็นกิริยา และจิตนั้นทำกิจอะไร เพื่อที่จะรู้ว่า ขณะใดรู้สึกตัว และขณะใดไม่รู้สึกตัว

    การที่จะถ่ายถอนความสำคัญที่ยึดถือสิ่งที่ปรากฏว่า เป็นสัตว์ เป็นบุคคล ไม่ใช่เรื่องที่ง่ายเลย โดยขั้นของปริยัติ คือ การฟัง ซึ่งการฟังมากๆ เป็นพหูสูต จะทำให้เข้าใจชัดถึงความต่างกันของจิตแต่ละประเภทที่เกิดในขณะที่เห็น หรือ ในขณะที่นึกถึงสิ่งที่เห็น

    ถ้าใช้คำว่า ทวาร หมายความถึงทางที่จิตเกิดขึ้นรู้อารมณ์อื่นที่ไม่ใช่อารมณ์ของภวังค์ ทุกครั้งที่จิตประเภทหนึ่งประเภทใดเกิด สอบความเข้าใจของตนเองได้เลยว่า ในขณะนั้นจิตเกิดโดยอาศัยทางไหน

    อภิธัมมัตถสังคหะ วิภาวินีฎีกา ปริจเฉทที่ ๓ มีข้อความว่า

    ชื่อว่าทวาร เพราะอรรถว่า เป็นเหมือนประตู เพราะความเป็นทางแห่งความเป็นไปของอรูปธรรมทั้งหลาย

    ที่มา ...

    แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1798


    หมายเลข 68
    2 ม.ค. 2567

    ซีดีแนะนำ