ธรรมในชีวิตประจำวัน แผ่นที่ ๒ ตอนที่ ๑


    ข้อความนี้อยู่ระหว่างตรวจสอบแก้ไข

    ชุดธรรมะในชีวิตประจำวัน

    โดย อาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์


    ผู้ฟัง ท่านอาจารย์ได้เน้นถึงเรื่องว่า ควรมีการฟังพระธรรม ทีนี้คงจะมีผู้สงสัยว่า แล้วจะต้องฟังไปนานซักเท่าไร เพราะว่า คงจะมีอีกหลายท่านสงสัยในเรื่องของการปฏิบัติว่า ถ้าไม่เข้าใจแล้วไม่ควรจะปฏิบัติ ก็ควรจะได้มีการเริ่มต้นฟังพระธรรมให้เกิดความรู้ความเข้าใจมากๆ อยากจะขอให้ท่านอาจารย์ได้ช่วยอธิบายว่า การฟังพระธรรม จะฟังไปนานสักเท่าไร หรือว่าพอที่ผู้ฟังจะพิจารณาว่า เป็นเหตุเป็นปัจจัยทำให้มีการระลึกได้ เพื่อที่จะได้เป็นการปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม อันนี้ขอกราบเรียนอาจารย์ด้วย

    ท่านอาจารย์ สิ่งไหนที่มีประโยชน์ มีวันพอไหม ถ้าเห็นประโยชน์จริงๆ จะมีวันพอไหม

    ผู้ฟัง ขออนุญาตตอบเดี๋ยวนี้เลย เพราะปกติในชีวิตประจำวัน ประโยชน์คือสิ่งที่จะต้องให้ความสะดวกสบายต่อชีวิต ต่อร่างกาย

    ท่านอาจารย์ คำถามว่า สิ่งไหนที่มีประโยชน์ ถ้าผู้นั้นเห็นประโยชน์ แล้วจะมีวันพอไหม อย่างการฟังธรรม ถ้าเห็นว่ามีประโยชน์แล้วจะมีคำถามว่า เมื่อไหร่จะพอ ได้ไหม ในเมื่อเห็นแล้วว่าเป็นประโยชน์

    ผู้ฟัง คงจะตอบว่าพอไม่ได้แน่นอน

    ท่านอาจารย์ ถ้าเห็นว่าเป็นประโยชน์จริงๆ แล้วจะไม่มีคำถามนี้เลย ถ้ามีคำถามอันนี้ หมายความว่า อยากได้ เพราะฉะนั้นก็มากะเกณฑ์ว่า แค่นี้พอหรือยัง แค่นั้นพอหรือยัง เพราะว่าอยากจะได้สิ่งซึ่งเกิดจากการฟังธรรม แต่ถ้าเห็นจริงว่าพระธรรมมีประโยชน์ ขัดเกลากิเลส ขัดเกลาความไม่รู้ เท่าไรก็ไม่มีวันพอ เพราะว่าสิ่งที่มีประโยชน์จริงๆ เท่าไหร่ก็ไม่พอ จนกว่าจะเป็นพระอรหันต์

    ผู้ฟัง ปกติแล้ว การปฏิบัติ ก็ควรที่จะได้มีการเริ่มต้น ถ้าขืนไม่เริ่มต้นปฏิบัติแล้วอาจจะตายไปซะก่อนโดยที่ไม่ปฏิบัติธรรม อันนี้เป็นความคิดที่เคยได้ยินได้ฟังมาอย่างนี้ ไม่ทราบว่าจะมีคำแนะนำ

    ท่านอาจารย์ ขณะนั้นเข้าใจว่า เป็นตัวเราปฏิบัติ จึงจะเริ่มต้น แต่ถ้ารู้ว่าทุกสิ่งทุกอย่างเกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัย ถ้าไม่มีหูกับไม่มีเสียง การได้ยินก็เกิดไม่ได้ ถ้าไม่มีการฟังธรรมเข้าใจ จะอะไรปฏิบัติ นอกจะคิดเองว่าตัวเรากำลังปฏิบัติ แต่ไม่ใช่การอบรมเจริญปัญญา ปัญญาไม่เกิดปฏิบัติกิจของปัญญา ปัญญาไม่อบรมเจริญขึ้นเลย เพราะเหตุว่าปัญญาขั้นต้นไม่มี แล้วจะเจริญได้อย่างไร

    ผู้ฟัง ท่านอาจารย์กล่าวว่า โลภะก็เป็นกิเลส โทสะก็เป็นกิเลส โมหะเป็นกิเลส แต่ทีนี้ว่า พอเป็นโลภะแล้ว รู้สึกว่า ไม่เป็นความเดือดร้อนของผู้หนึ่งผู้ใดทั้งสิ้น เช่นมีความต้องการอยากได้แล้วก็ไปจัดหาซื้อมาได้ด้วยความสามารถ ก็ทำให้ไม่เห็นว่า แม้จะเป็นโลภะ แม้จะกล่าวว่าเป็นกิเลส ก็ไม่ได้ทำให้เกิดความเดือดร้อนต่อตัวเอง และผู้อื่น แต่สิ่งที่ทุกคนกำลังมีความทุกข์ ความเดือดร้อนมาก รู้สึกจะเป็นเรื่องของโทสะ เวลาที่เกิดความโกรธ ความไม่พอใจ จนกระทั่งบางครั้งมีความรุนแรงมาก แล้วก็แสดงออกมา แล้วก็มารู้สึกตัวทีหลังว่า เป็นสิ่งที่ไม่สมควร ก็เลยเกิดความเดือดร้อน ถ้าในทางปฏิบัติที่จะเป็นประโยชน์ในชีวิตประจำวัน เมื่อสิ่งเหล่านี้เกิดขึ้น เราควรจะมีการแก้ไขอย่างไร เช่นลักษณะของโทสะ คือความเดือดร้อน

    ท่านอาจารย์ อย่าคิดที่จะแก้ไข อบรมเจริญปัญญาให้รู้สภาพธรรมตามความเป็นจริง ไม่มีตัวเราจะไปบังคับ จะไปแก้ อาจจะคิดว่าหมดไปได้ประเดี๋ยวเดียว เพราะคิดอย่างนั้น เพราะทำอย่างนี้เพราะนับ ๑ ถึง ๑๐ บางทีต้องถึง ๑๐๐ ถึง ๑,๐๐๐ ก็แล้วแต่ แต่ว่าโทสะก็ยังจะต้องเกิดอีก ทำไมถึงได้พอใจเพียงเท่านั้นที่จะไม่มีสภาพธรรมนั้นเพียงชั่วคราว แต่ก็ต้องเกิดอีกเรื่อยไป ทำไมไม่หาหนทางที่จะให้เข้าใจจริงๆ แล้วก็ไม่ให้สภาพธรรมนั้นเกิดขึ้นอีก ทำไมต้องการสิ่งซึ่งนิดเดียวหน่อยเดียวไม่เป็นสิ่งซึ่งให้ผลจริงจังด้วย เพราะเหตุว่าดับไม่ได้ ยังต้องเกิดอีก เพราะฉะนั้นก็ควรเป็นผู้ที่คิดจะดับกิเลส ไม่ใช่เพียงแต่ไม่ให้โลภะเกิด ไม่ให้โทสะเกิด เพราะว่าเป็นเพียงชั่วคราวเท่านั้น

    ผู้ฟัง เคยได้มีโอกาสคุยกับท่านที่มีความเดือดร้อนก็บอกว่า เวลานี้ก็พอจะแก้ปัญหานี้ได้ เวลาที่เกิดความโกรธ ความไม่พอใจ ก็เข้าห้องพระ แล้วก็ไปนั่งกำหนด พุทโธ พุทโธ เพื่อให้นึกถึงพระพุทธเจ้า ก็ทำให้จิตใจสบาย ก็เลยคิดว่าการปฏิบัติอย่างนี้ ช่วยให้ความโกรธลดน้อยลงไป อันนี้ก็เป็นวิธีการอย่างหนึ่ง

    ท่านอาจารย์ แล้วก็โกรธอีก พอโกรธอีกก็มาเข้าห้องปฏิบัติ แล้วโกรธอีก ไม่มีทางหมด ก็ต้องโกรธอีก

    ผู้ฟัง คำแนะนำที่จะให้เป็นประโยชน์ และถูกต้องจริงนั่นคืออย่างไร

    ท่านอาจารย์ เจริญปัญญา เพราะผู้ที่จะไม่โกรธต้องเป็นพระอนาคามีบุคคล อยากจะมีตัวตน อยากจะมียาวิเศษ อยากจะมีอะไรก็ได้ที่ทำให้ไม่โกรธโดยไม่มีปัญญาเลย แล้วจะเป็นไปได้อย่างไร อะไรก็ได้ ต้องการทุกอย่าง นอกจากปัญญา ถ้าพูดอย่างนี้ ไม่ว่าอะไรก็ได้ที่ไม่ใช่ปัญญา กลัวปัญญา หรือว่าไม่ชอบปัญญา หรือเบื่อปัญญา

    ผู้ฟัง อยากเรียนถามต่อไป ทำอย่างไรถึงจะให้เกิดปัญญา

    ที่มา ...

    ปกิณณกธรรม ตอนที่ 10


    นาที 5.30

    ท่านอาจารย์ มีทางเดียว ฟังพระธรรม เพราะว่าพระผู้มีพระภาคทรงแสดงธรรมเพื่อใคร เพื่อสาวกคือผู้ฟัง แม้ท่านพระสารีบุตรก็ต้องฟังพระธรรม ผู้ที่บรรลุถึงความเป็นพระอรหันต์แล้วยังฟังพระธรรม เพราะฉะนั้น ก็เห็นประโยชน์ ผู้ที่เห็นประโยชน์ของพระธรรมแล้วยอมรับว่า ไม่มีสมบัติอื่นใดที่จะเท่าพระธรรม เพราะเหตุว่า เงินทองลาภยศทั้งหมด ก็ยังมีเวลาเสื่อมสูญได้ แต่ความเข้าใจที่ถูกต้องในธรรม ไม่สูญหาย และไม่ว่าคนนั้นจะประสบกับโลกธรรม เสื่อมลาภ เสื่อมยศ เจ็บไข้ได้ป่วย มีความทุกข์ด้วยประการใด ก็ยังเบาบางได้ เพราะรู้ว่าเป็นความจริงของธรรม ซึ่งไม่ใช่เกิดขึ้นโดยไม่มีเหตุปัจจัย ทำไมจึงต้องเกิด

    ซึ่งส่วนใหญ่ก่อนที่จะศึกษาธรรม ก็มักจะถามกันสมัยหนึ่งว่า ทำไมถึงต้องเป็นเรา แต่ถ้าศึกษาธรรมแล้ว คำตอบก็คือว่าเพราะต้องเป็นเรา เป็นคนอื่นไม่ได้ เพราะทำกรรมอย่างไรมา ก็ต้องเป็นผลของกรรมที่คนนั้นจะต้องได้รับ ไม่มีคำถามอีกเลยว่า ทำไมถึงต้องเป็นเรา นอกจากอะไรจะเกิดขึ้นก็คือว่าเพราะต้องเป็นเราที่ได้กระทำสิ่งนั้นแล้ว เพราะฉะนั้น ผลก็คือต้องรับกรรมทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย

    ผู้ฟัง อยากเรียนต่อไปอีก เรื่องการฟังธรรม ก็ยอมรับการฟังธรรมเพื่อให้รู้ให้เข้าใจ เพื่อจะได้เกิดปัญญาใช่ไหม ทีนี้ความหมายของอาจารย์ที่ว่า ฟัง คงไม่มีความหมายตรงตัว คงจะหมายถึงการศึกษาธรรม เช่น การอ่านจากตำรับตำราต่างๆ หรือการได้ฟังจากผู้รู้แจ้งเห็นจริงนั้น ก็ยิ่งจะมีประโยชน์ แต่ถ้าโอกาสไม่มีแล้วอาจจะศึกษาค้นคว้าเพิ่มเติมโดยการอ่าน ก็อยากจะขยายความคำว่า ฟังธรรมจากท่านอาจารย์

    ท่านอาจารย์ ทุกอย่าง จะเป็นการสนทนา หรือว่าการอ่าน หรือการไตร่ตรองก็ได้ แต่ให้ทราบว่า คำมาจากเสียง ถ้าไม่มีเสียง คำจะไม่มีเลย ใช่ไหม นั่งเงียบๆ อย่างนี้ เพียงแต่มองเห็นสีต่างๆ แต่ไม่มีคำ เพราะไม่มีเสียง แต่เวลาที่นึกถึงคำหนึ่งคำใดก็ตาม เป็นการจำเสียงที่มีความหมาย อย่างคำว่าพรุ่งนี้วันศุกร์ มีเสียงไหม ที่เราจำได้ว่าพรุ่งนี้วันศุกร์ ต้องมีเสียง เพราะฉะนั้นการฟัง หรือการอ่าน ก็ไม่พ้นจากการที่จะจำเสียงซึ่งแสดงความหมายของสิ่งนั้นให้เข้าใจถูกต้อง ถ้าพระผู้มีพระภาคไม่ทรงแสดงพระธรรม นั่งเฉยๆ ไม่มีเสียงเลยจากพระโอษฐ์ ไม่มีคำใดๆ เลยทั้งสิ้น ไม่มีใครสามารถที่จะเข้าใจธรรมได้เลย แต่เมื่อได้ฟังแล้ว จำ แล้วก็เขียนจารึกไว้ ก็ยังคงเป็นคำ จากเสียงที่ได้จำไว้ และก็เข้าใจความหมายนั่นเอง

    เพราะฉะนั้น จะใช้คำว่า ฟัง หรือว่า อ่าน หรือว่าสนทนาอะไรก็ได้ ที่ทำให้เกิดความเข้าใจถูก ความเข้าใจถูกซึ่งเป็นปัญญานั้นคือเข้าใจสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ ที่เคยยึดถือว่าเป็นเรา เป็นตัวตน ให้ประจักษ์แจ้งจริงว่าแท้ที่จริงแล้วเหมือนกำมือที่ว่างเปล่า คือพิจารณาแล้วไม่มีอะไร ที่เป็นเรา เป็นของเราจริงๆ ตั้งแต่ศีรษะตลอดเท้า มีอากาศธาตุ ช่องว่างแทรกคั่นอยู่โดยละเอียดยิบ พร้อมที่จะแตกทลายกระจัดกระจายเป็นผงธุลี เมื่อไรก็ได้ ขณะไหนก็ได้ นี่คือส่วนซึ่งเราเคยยึดถือว่าเป็นคิ้ว เป็นตา เป็นแขน เป็นขา ของเรา

    แต่ความจริงแล้วก็เหมือนกับกองดิน ซึ่งมีอากาศธาตุแทรกคั่นอยู่ รูป ไม่ว่าจะเป็นภายในหรือภายนอกไม่ต่างกันเลย แข็งที่นี่กับแข็งที่ตัวหรือแข็งที่ไหนๆ ก็คือลักษณะที่แข็ง เป็นธาตุแข็ง เย็นหรือร้อน ที่ไหนก็ตามก็คือลักษณะที่เย็นหรือร้อน แต่พอมาอยู่ตรงส่วนซึ่งมีตา มีหู มีจมูก มีลิ้น เราก็เลยยึดถือว่า นี่เป็นกาย หรือ ว่าเป็นของเรา แต่ความจริงตั้งแต่ศีรษะตลอดเท้าก็มีสมุฎฐานให้เกิด ว่ารูปกลุ่มใด ประเภทใด เกิดเพราะกรรม รูปกลุ่มใดประเภทใดเกิดเพราะจิต รูปกลุ่มใด ประเภทใด เกิดเพราะอาหาร รูปกลุ่มใด ประเภทใด เกิดเพราะอุตุ คือความเย็นความร้อน เพราะฉะนั้นก็มีสมุฎฐานทุกอย่าง สำหรับทุกสิ่งที่เกิด ไม่มีใครไปบันดาล และก็ไม่เป็นของใครด้วย เสียงที่ดับไปแล้วเป็นของใคร ได้ยินที่ดับไปแล้วเป็นของใครก็เป็นเพียงชั่วขณะจิตที่เกิดแล้วดับ เกิดแล้วก็ดับ ตามเหตุตามปัจจัยที่สะสมมา ทำให้มีบุคลิกหรือว่าเป็นแต่ละบุคคลตามการสะสม แต่ก็คือจิตแต่ละขณะ ซึ่งเกิดดับสืบต่อมานั่นเอง

    ผู้ฟัง อยากจะเรียนถามอาจารย์ต่อไปอีก เรื่องการทำความดี มีบางท่านที่กล่าวว่า การทำความดี ถ้าทำความดีเพื่อตนเอง ไม่ไช่ความดีแท้ แต่ถ้าการกระทำความดีนั้น เพื่อผู้อื่น นั้นคือความดีที่แท้ อาจารย์มีความเข้าใจว่าอย่างไร

    ท่านอาจารย์ ถ้าเป็นความดีทั้งตนเอง และผู้อื่นมิยิ่งดีเลย ไม่ใช่แต่เฉพาะตนเอง และก็ไม่ใช่แต่เฉพาะผู้อื่น ทั้งตนเอง และผู้อื่นด้วย มีใครคิดว่า จะฟังธรรมเท่าไรจะพออีกรึเปล่า ถ้าอย่างนั้นก็แสดงว่าเห็นประโยชน์ของธรรมน้อยมาก ยังไม่เห็นว่าจะต้องฟังไปตลอดชีวิต และก็ไม่ใช่ชาติเดียวด้วย ชาติไหนที่มีโอกาสได้ยินได้ฟัง ชาตินั้นประเสริฐสุด เพราะว่าไม่ใช่ว่าทุกชาติจะได้ฟัง

    ถ้าเกิดเป็นสัตว์ แมว นก หนู พวกนี้ก็ไม่มีโอกาสเลย ถ้าเกิดในประเทศที่ไม่มีคำสอนของพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ก็ไม่มีโอกาสอีก ถ้าไม่มีบุญที่สะสมไว้ในอดีต ก็ไม่มีโอกาสได้ฟังแน่นอน เพราะเสียงก็มีตั้งหลายเสียง แต่เสียงที่จะให้เข้าใจพระธรรม ต้องเป็นเสียงซึ่งบุญที่ได้กระทำมาแล้ว เป็นปัจจัยทำให้ได้ยิน

    ผู้ฟัง ขอกราบเรียนถามท่านอาจารย์ คำว่าทำความดีในหลักของพุทธศาสนา คือทำอย่างไร

    ท่านอาจารย์ กุศลกรรมบถ ๑๐ ทาน ศีล ภาวนา

    ผู้ฟัง หมายความว่า เริ่มตั้งแต่มีการบริจาค คือการให้ทาน แล้วก็อุทิศส่วนกุศลที่ได้กระทำแล้วให้กับบุคคลที่เป็นที่เคารพรัก

    ท่านอาจารย์ เท่านั้นหรือ มากกว่านั้น ก็ได้

    ที่มา ...

    ปกิณณกธรรม ตอนที่ 11


    นาที 11.40

    ผู้ฟัง ปกติแล้วเมื่อพูดถึงกุศล ก็มักจะมุ่งไปในเรื่องของวัตถุทานเป็นสำคัญ อย่างกรณีที่ไม่เกี่ยวข้องกับวัตถุทาน กุศลอย่างอื่นที่พอจะเป็นการประพฤติปฏิบัติในชีวิตประจำวันได้อย่างเป็นปกติ คิดว่าน่าจะมีธรรมส่วนอื่นด้วย สังคหวัตถุ ๔ ซึ่งเป็นกุศลทั้ง ๔ ประการ ขอความกรุณาท่านอาจารย์อธิบายครับ

    ท่านอาจารย์ ต้องสนทนาธรรม ถ้าจะเป็นเรื่องสังคหวัตถุ ก็ต้องสนทนาเรื่องสังคหวัตถุ ต้องแปลคำนี้ แล้วต้องอธิบายว่าคืออะไร ไม่อย่างนั้นก็คงจะไม่มีใครเข้าใจ

    “สังคหะ” ก็คงจะเหมือนกับคำว่า “สงเคราะห์” ที่เราใช้ในภาษาไทย “วัตถุ” ในภาษาบาลีใช้คำนี้บ่อยๆ เป็นเรื่อง หรือเป็นสิ่ง หรือเป็นหัวข้อ หรือเป็นธรรมใดๆ ก็ตาม จะใช้คำว่า วัตถุ

    เพราะฉะนั้น สังคหวัตถุก็เป็นธรรมที่สงเคราะห์หรือช่วยที่จะให้ทุกคนมีความสุขในชีวิตประจำวัน ซึ่งก็มี ๔ อย่าง ได้แก่ ทาน การให้ ๑ ปิยวาจา คำพูดที่น่าฟัง ๑ อัตถจริยา การประพฤติสิ่งที่เป็นประโยชน์ ๑ สมานัตตตา การมีตนเสมอ ๑

    ๔ อย่างนี้ก็คงจะทำให้เรามีความสุขได้จริงๆ ถ้าเราเป็นผู้ที่มีสังคหวัตถุ และคนอื่นที่ได้รับสังคหวัตถุจากเรา เช่น ทาน การให้ การให้ไม่จำเป็นต้องเป็นเรื่องใหญ่ การให้สิ่งที่เป็นประโยชน์กับคนอื่น ให้ได้ทั้งหมดเลย เป็นสิ่งของเล็กๆ น้อยๆ ก็ได้ เป็นวิชาความรู้ก็ได้ เป็นคำแนะนำก็ได้ ขณะใดที่มีจิตใจเป็นกุศล แล้วก็ให้สิ่งที่ตนสามารถจะให้กับคนอื่นได้ ถ้าเป็นคนที่มีความสามารถ ก็สามารถสอนหรือถ่ายทอดความรู้นั้นให้คนอื่น ขณะนั้นก็เท่ากับให้สิ่งที่เป็นประโยชน์เหมือนกัน แม้จะไม่ใช่วัตถุทาน แต่การให้ความรู้ความสามารถกับคนอื่น ก็เท่ากับว่าเราสละสิ่งที่เป็นประโยชน์ให้คนอื่น แล้วคนที่ได้รับก็จะต้องมีความดีใจมาก เพราะฉะนั้นไม่ใช่การหวงแหนความรู้ อย่างในสมัยก่อน พอใครทำอะไรเก่งก็ไม่ยอมบอกใครเลย ก็คิดว่าคนอื่นจะทำ อาจจะเป็นอาชีพหรืออะไรก็ได้ แต่จริงๆ แล้วให้ไปเถอะค่ะ เพราะเหตุว่าใครจะได้รับอะไรในชีวิตนั้นก็ขึ้นอยู่กับบุญกรรมที่ได้ทำแล้วทั้งนั้น ไม่ใช่ขึ้นอยู่กับเราไปบันดาลให้ แต่ต้องอาศัยกรรมของเขาที่ได้ทำนั่นเอง

    เพราะฉะนั้น สำหรับในเรื่องของทาน การให้สิ่งที่เป็นประโยชน์ มีข้อสงสัยไหมคะ ให้ได้ทุกอย่างที่จะเป็นประโยชน์ วัตถุ เสื้อผ้า อาหาร ความรู้ ความสามารถที่จะช่วยให้คนอื่นได้รับสิ่งที่เป็นประโยชน์นั้น เป็นสิ่งที่ดีทั้งผู้ให้ และผู้รับ

    สังคหวัตถุที่ ๒ คือ ปิยวาจา คำพูดที่น่าฟัง เป็นสิ่งที่สำคัญมาก คำพูดนี่ อย่างที่โบราณว่า ปากเป็นเอก เลขยังเป็นรอง คือ เป็นโท

    นี่ก็แสดงให้เห็นว่า ความสุขของเราในวันหนึ่งๆ จะขึ้นอยู่กับคำที่เราได้ยินได้ฟังมาก ถ้าเราได้ยินคำที่น่าฟัง ทำให้เรามีกำลังใจ ทำให้เรารู้สึกสบาย แล้วอยากจะมีชีวิตอยู่ต่อไป ก็เป็นสิ่งที่ดี เพราะว่าบางคนอาจจะมีความท้อแท้ด้วยโรคภัย หรืออาจจะมีความท้อแท้ในเรื่องปัญหาชีวิต เรื่องความน่าเบื่อหน่ายต่างๆ เศรษฐกิจ รถติด อะไรก็ตามแต่ ก็เป็นความท้อแท้ได้ทั้งหมด แต่ถ้าเราสามารถมีปิยวาจา คือ คำที่ทำให้คนอื่นมีกำลังใจ สบายใจขึ้น อันนั้นก็เป็นสิ่งที่มีประโยชน์

    เพราะฉะนั้นถ้าเราเคยเป็นคนที่พูดไม่น่าฟัง และบางคนอาจจะรู้สึกตัว แต่ว่าช้าไปแล้ว เพราะว่าติดนิสัย เคยใช้คำพูดอย่างนั้นบ่อยๆ แต่ถ้าฟังถึงประโยชน์ของปิยวาจา เราก็เห็นจริงว่า แทนที่เราจะพูดอย่างนั้น เราจะพูดอีกอย่างหนึ่งก็ได้ และประโยชน์ก็มีมากกว่าด้วย คือ ขณะนั้นจิตใจของเราก็เป็นกุศล แล้วคนฟังก็สบาย มีคำพูดที่ฟังกันสบายทั้งวัน ก็คงจะดีกว่าได้ยินคำที่ฟังแล้วไม่สบายใจ

    เพราะฉะนั้นอันนี้ก็เป็นสิ่งที่สงเคราะห์ให้เราอยู่ด้วยความสุขในวันหนึ่งๆ

    สังคหวัตถุที่ ๓ ก็คือ อัตถจริยา การประพฤติสิ่งที่เป็นประโยชน์ ช่วยเหลือคนอื่นนั่นเอง เล็กๆ น้อยๆ นิดๆ หน่อยๆ ก็มีน้ำใจ ที่โต๊ะอาหาร ยื่นอาหารให้ รินน้ำให้ ยกข้าวให้ หรืออะไรก็ตามแต่ เห็นใครทำอะไร ของตก เก็บให้เลย นั่นก็คือการกระทำสิ่งที่มีประโยชน์

    นี่แสดงให้เห็นว่า สิ่งที่เราประพฤติในชีวิตประจำวันที่เป็นประโยชน์นั้นมี ถ้าเรารู้ว่า ขณะนั้นเป็นกุศลจิตแล้วถ้าใครประพฤติอย่างนั้นกับเรา เราก็ชอบ และในขณะเดียวกัน ถ้าเราสามารถจะประพฤติตนเป็นประโยชน์ เพราะว่าชีวิตวันหนึ่งๆ ก็ล่วงไปทีละขณะๆ จริงๆ เรียกกลับคืนมาไม่ได้เลย แต่เราได้รับประโยชน์อะไรจากชีวิตขณะหนึ่งที่ล่วงไปแล้ว

    นี่แสดงให้เห็นว่า เราเสียเวลากับชีวิตที่เป็นอยู่ โดยไม่ได้อะไรเลยมาก ขณะหนึ่งก็ผ่านไป ขณะหนึ่งก็ผ่านไป ขณะหนึ่งก็ผ่านไป ได้อะไรจากแต่ละขณะที่ผ่านไป ถ้าเป็นสิ่งที่ดีเป็นกุศล เป็นประโยชน์มาก เพราะเหตุว่าขัดเกลาจิตใจของเราให้เบาบางจากการเป็นคนเห็นแก่ตัว เป็นคนโลภมาก เป็นคนโกรธมาก มาเป็นผู้ที่สามารถเสียสละประโยชน์ของเราเองด้วยการช่วยเหลือคนอื่น

    นี่ก็เป็นอัตถจริยา

    ประการสุดท้าย ก็คือ สมานัตตตา การมีตนเสมอ การมีตนเสมอที่นี่มักจะมีปัญหาเสมอ ว่าจะเสมอกันได้อย่างไร มีลูกจ้างกับนายจ้าง มีพี่กับน้อง มีพ่อกับแม่บ้าง มีฐานะตำแหน่งในราชการต่างๆ กันบ้าง หรือคนในบ้านของเราเองก็มีผู้รับใช้ช่วยเหลือบ้าง และจะเสมอกันได้อย่างไร แต่ตามความจริง การเสมอที่นี่ ควรจะเป็นเสมอในคุณธรรม ไม่ใช่ในสิ่งที่เรามองจากวัตถุภายนอก แต่จริงๆ แล้ว ถ้าเราเป็นผู้ที่เข้าใจทุกคน เหมือนกับที่เราเข้าใจเราเองว่า เราต้องการมีความสุข และไม่ชอบมีความทุกข์ คนอื่นต้องเหมือนกันหมดเลยในบ้าน ไม่มีใครต้องการความทุกข์

    เพราะฉะนั้นเราเกิดมาอาจจะต่างกันในชาตินี้ โดยสภาพฐานะ ความเป็นอยู่ หรือโดยความรู้ โดยชาติตระกูล แต่จริงๆ แล้วทุกคนมีใจที่เหมือนกัน คือ มีโลภะ ก็โลภะชนิดเดียวกัน ชอบในในรูป ในเสียง ในกลิ่น ในรส ในสิ่งที่กระทบสัมผัส มีโทสะ มีความขุ่นเคืองใจก็เหมือนกัน

    เพราะฉะนั้นจะว่าไปแล้วไม่ต่างกัน นอกจากความคิดของเราที่ถือว่า สิ่งหนึ่งเป็นอีกสิ่งหนึ่ง เช่นถือว่านายจ้าง ลูกจ้างอย่างนี้เป็นต้น แต่ตามความจริงถ้าเราเข้าใจชีวิตแล้ว ทุกคนเหมือนกัน เท่ากัน โลภะก็เหมือนกัน โทสะก็เหมือนกัน สุขก็เหมือนกัน ทุกข์ก็เหมือนกัน ถ้าเรามีความเข้าใจอย่างนี้จริงๆ เรามีใจเสมอ ไม่มีการยกตนหรือข่มคนอื่น หรือดูหมิ่นดูถูกใครเลย และถ้าเราจะสามารถเข้าใจใครได้ด้วยความจริงใจ มีความเป็นมิตร มีตนเสมอจริงๆ ไม่มีการสูงต่ำในใจ อย่างนั้นก็จะทำให้คนที่อยู่ใกล้เรามีความสุข แน่นอนที่สุด คือ เขาทำงานให้เราได้ด้วยความรักเรา แล้วเราก็ไม่ใช่ถือว่าเราทำงานเพราะเขาได้เงินจากเรา แต่ในขณะเดียวกันก็เป็นเพื่อนมนุษย์ เป็นคนที่เกิดมาร่วมกัน และมีสุขทุกข์ร่วมกัน อันนี้ก็คือสังคหวัตถุ


    นาที 19.00

    ผู้ฟัง ปกติคนส่วนมากก็ไม่เห็นประโยชน์ของการปฏิบัติธรรมเกี่ยวกับสังคหวัตถุ แต่มีความต้องการปฏิบัติธรรมเพื่อดับกิเลสเลย ไม่ว่าจะไปนั่งทำสมาธิ หรือเจริญวิปัสสนาเลย แต่โดยความเป็นจริงแล้ว ถ้ากุศลที่เป็นพื้นฐานในชีวิตประจำวันยังไม่สามารถเกิดขึ้นได้อย่างปกติ การปฏิบัติธรรมที่มีความละเอียด และต้องอาศัยสติสัมปชัญญะ คงเป็นสิ่งที่ยากใช่ไหมครับ

    ท่านอาจารย์ จะมีสักกี่คนที่คิดจะถึงดับกิเลสเวลานี้ ที่จะดับกิเลสคงจะน้อยมาก แต่ตามความเป็นจริงอย่างไรก็ต้องเป็นจริงอย่างนั้น เมื่อยังมีกิเลสมากๆ แล้วยังคิดอยากดับกิเลส ก็เป็นสิ่งที่ไม่เข้าใจธรรมตามความเป็นจริง ใช่ไหมคะ ถ้าเพียงแต่ว่าขอให้เข้าใจธรรม แค่นี้ ยังไม่ต้องไปถึงดับกิเลส เพียงแต่ให้มีโอกาสได้ฟังพระธรรม และให้เข้าใจธรรมยิ่งขึ้น เรื่องดับกิเลสไม่ต้องพูดถึง เพราะเหตุว่าเป็นหน้าที่ของปัญญา ถ้าปัญญาเกิด ปัญญาเจริญขึ้น จะบอกปัญญาว่าอย่าดับกิเลสก็ไม่ได้ เพราะนั่นเป็นหน้าที่ของปัญญา แต่ถ้าปัญญาไม่มี แล้วไปอยากดับกิเลสกัน ไปทำโน่นไปทำนี่ ไปทำนั่น ก็ไม่มีทาง เพราะเหตุว่าปัญญาไม่มี

    เพราะฉะนั้นที่เรามาฟังพระธรรมหรือมาสนทนาธรรม เห็นหน้ากันบ่อยๆ ที่นี่เดือนละครั้ง ก็เพื่อให้เรามีโอกาสพูดถึงธรรมที่พระผู้มีพระภาคทรงตรัสรู้ ทรงแสดง และเราก็จะได้มีความเข้าใจธรรมขึ้น เพราะดิฉันรับรองได้แน่ว่า ไม่มีใครอยากดับกิเลส แต่เพียงเข้าใจขึ้นก็เป็นประโยชน์แล้ว


    หมายเลข 50
    13 ก.พ. 2567

    ซีดีแนะนำ