แนวทางเจริญวิปัสสนา ตอนที่ 1109

หมวดที่ ๗ โสตปสาทรูปเป็นนิสสยปัจจัยให้เกิดโสตวิญญาณ ๒ ดวง และเจตสิกที่เกิดร่วมด้วย

หมวดที่ ๘ ฆานปสาทรูปเป็นนิสสยปัจจัยให้เกิดฆานวิญญาณ ๒ ดวง และเจตสิกที่เกิดร่วมด้วย

หมวดที่ ๙ ชิวหาปสาทรูปเป็นนิสสยปัจจัยให้เกิดชิวหาวิญญาณ ๒ ดวง และเจตสิกที่เกิดร่วมด้วย

หมวดที่ ๑๐ กายปสาทรูปเป็นนิสสยปัจจัยให้เกิดกายวิญญาณ ๒ ดวง และเจตสิกที่เกิดร่วมด้วย

หมวดที่ ๑๑ หทยวัตถุเป็นนิสสยปัจจัยให้เกิดจิตอื่นนอกจากทวิปัญจวิญญาณ ๑๐ ดวง ในภูมิที่มีขันธ์ ๕

นามธรรมและรูปธรรมเท่านั้นเอง ในขณะนี้เอง ในชีวิตประจำวัน

สำหรับนิสสยปัจจัยจัดได้เป็น ๓ ประเภท คือ

ประเภทที่ ๑ สหชาตนิสสยปัจจัย มี ๕ หมวด ได้แก่

๑. จิต ๘๙ เจตสิก ๕๒

๒. มหาภูตรูป ๔

๓. ปัญจโวการปฏิสนธิจิต เป็นนิสสยปัจจัยแก่ปฏิสนธิหทยวัตถุ

๔. จิต ๗๕ ดวง เป็นนิสสยปัจจัยให้จิตตชรูปเกิด

๕. มหาภูตรูป ๔ เป็นนิสสยปัจจัยให้อุปาทายรูปเกิด

ทั้ง ๕ หมวดนี้เป็นสหชาตนิสสยปัจจัย เพราะว่าต้องเกิดพร้อมกัน

แต่สำหรับปสาทรูป คือ จักขุปสาท โสตปสาท ฆานปสาท ชิวหาปสาท กายปสาท และหทยวัตถุจะเป็นปัจจัยก็ต่อเมื่อเป็นฐีติขณะของรูป หลังจากปฏิสนธิขณะแล้ว รูปทุกรูปที่จะเป็นปัจจัยได้ต้องเป็นในฐีติขณะของรูป ในอุปาทขณะของรูปเป็นปัจจัยไม่ได้ ไม่ว่าจะโดยเป็นทวาร หรือเป็นอารมณ์ หรือเป็นวัตถุ

เพราะฉะนั้น สำหรับหทยวัตถุซึ่งเป็นที่เกิดของจิตอื่น รวมทั้งจักขุปสาท โสตปสาท ฆานปสาท ชิวหาปสาท กายปสาท จะเป็นปัจจัยได้ในฐีติขณะ คือ รูปนั้นต้องเกิดก่อน จึงเป็น วัตถุปุเรชาตนิสสยปัจจัย เป็นประเภทที่ ๒ ของนิสสยปัจจัย ฉะนั้น สำหรับนิสสยปัจจัยซึ่งเป็นที่อาศัยให้ธรรมอื่นเกิดขึ้น จะเป็นปัจจัยโดยเกิดพร้อมกันกับปัจจยุปบันในอุปาทขณะก็ได้ หรือเป็นปัจจัยโดยเกิดก่อนปัจจยุปบัน ก็ได้

ขณะนี้จักขุวิญญาณกำลังเห็น อาศัยจักขุปสาทเป็นจักขุวัตถุ แต่จักขุปสาทรูปต้องเกิดก่อนจักขุวิญญาณ จะเกิดพร้อมกับจักขุวิญญาณไม่ได้ รูปทุกรูปจะเป็นปัจจัยได้เฉพาะในฐีติขณะ เว้นขณะปฏิสนธิเท่านั้นที่อุปาทขณะของรูปสามารถจะเป็นสหชาตปัจจัยให้กับปฏิสนธิจิตได้

ในนิสสยปัจจัยมี ๓ ประเภท แต่ประเภทที่ ๓ เป็นขณะจะจุติ ถ้าบุคคลนั้นมี หทยวัตถุเป็นอารมณ์ ก็จะเป็น วัตถารัมมณปุเรชาตนิสสยปัจจัย หมายความว่า มีหทยวัตถุรูปซึ่งเกิดก่อนเป็นอารมณ์ โดยเป็นที่อาศัยให้จิตที่ใกล้จะจุติเกิด ขณะที่ใกล้จะจุติไม่มีใครสามารถรู้ได้ว่าจะมีอะไรเป็นอารมณ์ ถ้าเป็นผู้ที่อบรมเจริญสติปัฏฐานเนืองๆ บ่อยๆ อาจจะมีนามธรรมหรือรูปธรรมเป็นอารมณ์ได้ แต่สำหรับบางท่านอาจจะมีหทยรูปซึ่งยังไม่ดับเป็นอารมณ์ เพราะว่าเป็นรูปที่มีจริงในขณะนั้น สำหรับบุคคลนั้นก็เป็นวัตถารัมมณปุเรชาตนิสสยปัจจัย

จะมีรูปอะไรเป็นอารมณ์เมื่อขณะใกล้จะจุติก็ไม่เป็นไร ใช่ไหม เลือกไม่ได้ ไม่มีใครสามารถที่จะรู้ได้ อาจจะมีสีทางตาที่กำลังเห็นในขณะนี้เป็นอารมณ์ก็ได้ และหลังจากนั้นจุติจิตก็เกิดได้เมื่อชวนจิตดับไปแล้ว หรือตทาลัมพนจิตซึ่งเกิดต่อดับไปแล้วจุติจิตก็เกิด หรือเมื่อภวังคจิตเกิดต่อจากตทาลัมพนะดับไปแล้วจุติจิตก็เกิด จุติจิตสามารถจะเกิดหลังวิถีจิตที่เห็น วิถีจิตที่ได้ยิน วิถีจิตที่ได้กลิ่น วิถีจิตที่ลิ้มรส วิถีจิตที่กำลังกระทบสัมผัส หรือว่าทางมโนทวารที่กำลังคิดนึกถึงกรรม หรือว่า กรรมนิมิตที่ได้เคยกระทำแล้ว หรือคตินิมิตทางมโนทวาร ภพภูมิที่จะเกิดก็ได้ หรือว่าอาจจะมีหทยวัตถุเป็นอารมณ์ในขณะนั้น เป็นวัตถารัมมณปุเรชาตนิสสยปัจจัยก็ได้

. บุคคลไหนที่รู้หทยวัตถุรูปได้

สุ. ขณะนี้มีใครรู้หทยวัตถุรูปไหม

. ไม่มี

สุ. สำหรับคนนั้นก็ไม่มีหทยวัตถุรูปเป็นอารมณ์ ถ้าใครสามารถจะมี หทยวัตถุรูปเป็นอารมณ์ได้ ผู้นั้นก็อาจจะมีหทยวัตถุรูปเป็นอารมณ์ในขณะที่ใกล้จะจุติ

. คนไหนที่สามารถจะรู้ได้

สุ. ชื่อ หรือว่าบุคคล หรือว่าอย่างไร หรือว่ารู้จักคนนั้น ไม่มีใครที่จะบอกได้เลยว่า อารมณ์ที่ใกล้จะจุติของใครเป็นอะไร

. หมายถึงปัญญาขั้นไหนถึงจะรู้หทยวัตถุรูปได้ พระโสดาบันทั่วๆ ไปรู้ได้หรือยัง หรือกัลยาณปุถุชนผู้ได้วิปัสสนาญาณต่างๆ รู้ได้หรือเปล่า

สุ. ธรรมเป็นเรื่องที่กว้างขวาง เป็นเรื่องที่ละเอียด เป็นเรื่องที่ลึกซึ้ง และยังเป็นไปตามอุปนิสสยปัจจัยซึ่งเป็นปัจจัยต่อไปที่จะกล่าวถึง เพราะฉะนั้น แต่ละบุคคลไม่เหมือนกันเลย ที่จะกล่าวธรรมหรือแสดงธรรมได้ ก็ต้องตามพระธรรมวินัยที่ พระผู้มีพระภาคได้ทรงแสดงไว้แล้วโดยละเอียด เพราะว่าบุคคลอื่นไม่สามารถล่วงรู้ถึงบุคคลอื่นได้ สามารถที่จะรู้ได้ตามสติกำลังปัญญาของแต่ละบุคคล

พระโสดาบันก็ไม่ได้มีแต่จำพวกเดียว พระสกทาคามีก็มีหลายจำพวก หลายประเภท พระอนาคามีก็มีหลายจำพวก หลายประเภท พระอรหันต์ก็มีหลายจำพวก หลายประเภท เพราะฉะนั้น การที่จะรู้รูปที่กำลังปรากฏ ก็ต้องแล้วแต่กำลังสติปัญญาของแต่ละบุคคล หรือว่าใครที่สามารถจะรู้หทยวัตถุรูป มีหทยวัตถุรูปเป็นอารมณ์ แต่เมื่อจะจุติจริงๆ หทยวัตถุรูปไม่ได้เป็นอารมณ์ก็ได้ ไม่จำเป็นจะต้องมีหทยวัตถุรูปเป็นอารมณ์ แต่ที่แสดงไว้ในเรื่องของนิสสยปัจจัยก็เพราะว่า ก่อนจุติจิต ๑๗ ขณะ กัมมชรูปไม่เกิด เพราะฉะนั้น ในขณะนั้นบางท่านอาจจะมีหทยรูปเป็นอารมณ์

ทั้งหมดที่กล่าวมา ๘ ปัจจัยแล้ว เหลืออีก ๑๖ ปัจจัยเท่านั้น ซึ่งก็เป็นการศึกษาเพียงให้เข้าใจลักษณะสภาพของปัจจัยเป็นเพียงบางส่วน ยังไม่ได้กล่าวถึงปัจจัยโดยละเอียดจริงๆ ปัจจัยที่ได้ศึกษาไปแล้ว คือ

ปัจจัยที่ ๑ เหตุปัจจัย

ปัจจัยที่ ๒ อารัมมณปัจจัย

ปัจจัยที่ ๓ อธิปติปัจจัย

ปัจจัยที่ ๔ อนันตรปัจจัย

ปัจจัยที่ ๕ สมนันตรปัจจัย

ปัจจัยที่ ๖ สหชาตปัจจัย

ปัจจัยที่ ๗ อัญญมัญญปัจจัย

ปัจจัยที่ ๘ นิสสยปัจจัย

ข้อสำคัญ คือ เมื่อได้ศึกษาปัจจัยแต่ละปัจจัยแล้ว ต้องสัมพันธ์กันทุกปัจจัย เพื่อความเข้าใจที่แจ่มแจ้งในสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ เพราะว่าโดยปรมัตถธรรม ไม่มีสัตว์ ไม่มีบุคคล ไม่มีตัวตน มีแต่นามธรรมและรูปธรรมเท่านั้น และนามธรรมและรูปธรรมย่อมเกิดขึ้นไม่ได้เลยถ้าปราศจากปัจจัย ซึ่งปรมัตถธรรมที่เกิดขึ้น มี ๓ ปรมัตถ์ ได้แก่ จิตปรมัตถ์ เจตสิกปรมัตถ์ รูปปรมัตถ์

และปัจจัยทั้งหมดก็ไม่พ้นจากจิต เจตสิก และรูปนั่นเอง แต่การที่นามธรรม แต่ละขณะ หรือว่ารูปธรรมแต่ละประเภทจะเกิดขึ้น ต่างก็เป็นปัจจัยซึ่งกันและกันโดยปัจจัยต่างๆ เพราะฉะนั้น เมื่อได้ศึกษาแต่ละปัจจัยแล้ว ก็ต้องเข้าใจถึงความสัมพันธ์ของปัจจัยทั้งหมดที่ได้ศึกษาแล้วเพื่อที่จะให้ทราบชัดเจนว่า ที่กล่าวว่าสภาพธรรมทั้งหลายย่อมเกิดขึ้นได้เพราะเหตุปัจจัยนั้น ได้แก่ปัจจัยอะไรบ้าง

เช่น ในขณะนี้ ไม่ได้ปราศจากเหตุปัจจัย ไม่ได้ปราศจากอารัมมณปัจจัย ไม่ได้ปราศจากอธิปติปัจจัย ไม่ได้ปราศจากอนันตรปัจจัย ไม่ได้ปราศจากสมนันตรปัจจัย ไม่ได้ปราศจากสหชาตปัจจัย ไม่ได้ปราศจากอัญญมัญญปัจจัย ไม่ได้ปราศจากนิสสยปัจจัย ทั้ง ๘ ปัจจัยที่ได้ศึกษาแล้ว เพียงแต่ไม่ทราบชัดเท่านั้นเองว่า ในขณะจิตหนึ่งที่เกิดขึ้น จิต เจตสิก และรูปที่เกิดในขณะนั้น เป็นปัจจัยแก่กันและกันอย่างไร

เพราะฉะนั้น ขอทบทวนไปเรื่อยๆ พร้อมทั้งกล่าวถึงปัจจัยใหม่ตามลำดับด้วย สำหรับทั้ง ๘ ปัจจัยที่ได้กล่าวถึงแล้ว ปัจจัยที่ ๘ คือ นิสสยปัจจัย ได้แก่ สภาพธรรมซึ่งเป็นที่อาศัยของปัจจยุปบันธรรม เช่น จิตเป็นที่อาศัยของเจตสิก และเจตสิกก็เป็นที่อาศัยของจิต หมวดที่ ๑ สามารถที่จะทวนไปได้ถึงปัจจัยต้นๆ โดยตลอด ด้วยการพิจารณาใคร่ครวญและสอบทานว่า เหตุปัจจัย คือ ปัจจัยที่ ๑ ได้แก่ โลภเจตสิก โทสเจตสิก โมหเจตสิก เป็นอกุศลเหตุ ๓ และอโลภเจตสิก อโทสเจตสิก อโมหเจตสิก เป็นโสภณเหตุ ๓ เหตุปัจจัยเป็นอารัมมณปัจจัยได้ไหม

ไม่ใช่เป็นแต่เฉพาะเหตุปัจจัยเดียว เพราะว่าอารัมมณปัจจัยหมายความถึงสภาพธรรมซึ่งเป็นอารมณ์ที่จิตกำลังรู้ เพราะฉะนั้น แม้ลักษณะของโลภะ การติด ความเพลิดเพลินยินดี ซึ่งเป็นอกุศล มีอยู่เป็นประจำ สติสามารถจะเกิดระลึกรู้ได้ ขณะใด ขณะนั้นก็เป็นอารัมมณปัจจัย นอกจากจะเป็นเหตุปัจจัย ก็ยังเป็น อารัมมณปัจจัยด้วย

และถ้าถามถึงปัจจัยที่ ๓ อย่างกว้างๆ ว่า โลภเจตสิกเป็นอธิปติปัจจัยได้ไหม

ไม่ได้ ถ้าถามแยกว่า เป็นสหชาตาธิปติปัจจัยได้ไหม

แต่ถามรวมว่า โลภเจตสิกเป็นอธิปติปัจจัยได้ไหม คำตอบต้องเปลี่ยนแล้ว ใช่ไหม นี่คือความละเอียดที่จะต้องศึกษาเรื่องของปัจจัยโดยละเอียดจริงๆ เพื่อเกื้อกูลให้เห็นว่า สภาพธรรมทั้งหลายเป็นอนัตตาแน่นอน เพราะว่าการที่มหากุศลจิตจะเกิดขึ้นรู้ลักษณะของสภาพธรรมตามความเป็นจริงว่า ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน สภาพธรรมที่เป็นนามธรรมก็เป็นจิตและเจตสิก สภาพธรรมที่เป็นรูปธรรมก็ไม่ใช่นามธรรม การที่จะรู้ได้จริงๆ ว่า สภาพธรรมแต่ละอย่างเป็นปัจจัยอย่างไร ก็ต้องศึกษาจนกว่าจะเข้าใจจริงๆ ในลักษณะของสภาพที่เป็นปัจจัยของสภาพธรรมนั้นๆ

เพราะฉะนั้น สำหรับเหตุปัจจัย ซึ่งขอยกตัวอย่าง โลภเจตสิก ถ้าถามกว้างๆ ว่า เป็นอธิปติปัจจัยได้ไหม

ถ้าตอบว่า ไม่ได้ ถูกหรือผิด

ถ้าตอบว่า ได้ ถูกหรือผิด

ทั้ง ๒ อย่าง ถ้าตอบว่า ไม่ได้ ก็ต้องตอบว่า เป็นสหชาตาธิปติปัจจัยไม่ได้ ถ้าตอบว่า ได้ ก็ต้องตอบว่า เป็นอารัมมณาธิปติปัจจัยได้

เพราะฉะนั้น ขึ้นอยู่กับคำถามและคำตอบ ถ้าถามถึงอธิปติปัจจัยก็ต้องแยกตอบ เป็นชีวิตประจำวันใช่ไหม โลภเจตสิกเป็นเหตุปัจจัย เป็นอารัมมณาธิปติปัจจัย

คนที่ยังมีโลภะจะเข้าใจดีในลักษณะความเป็นอธิปติปัจจัย หรืออารัมมณาธิปติปัจจัยของโลภะ แต่โลภะไม่เป็นสหชาตาธิปติปัจจัย เพราะว่าลักษณะของโลภะเป็นสภาพที่ติด แต่ว่าเวลาที่ต้องการอย่างหนึ่งอย่างใดไม่ใช่ว่าเพราะโลภะ แต่เพราะฉันทะ ความพอใจที่จะได้

ในชีวิตประจำวัน ถ้าท่านต้องการสิ่งหนึ่งสิ่งใด เช่น ต้องการวัตถุของใช้ หรือเสื้อผ้า เกิดความต้องการแล้ว ใช่ไหม จิตขณะนั้นเป็นโลภมูลจิต มีโลภะเป็นเหตุ แต่เวลาจะซื้อจริงๆ ฉันทะหรือเปล่า ว่าจะชอบสิ่งไหน แบบไหน สีไหน โลภะเป็นสภาพที่ต้องการ ในขณะนั้นมีความต้องการ แต่ยังไม่เลือก เป็นสภาพที่ติด ต้องการที่จะได้ อะไรก็ได้ที่เกิดความต้องการขึ้น แต่เวลาที่จะเอาจริงๆ เป็นลักษณะของ ฉันทเจตสิก ซึ่งจะเลือกสิ่งที่พอใจ เช่น รูปแบบที่พอใจ สีสันที่ต้องการ หรือคุณภาพที่พอใจ ด้วยเหตุนี้โลภะจึงไม่เป็นสหชาตาธิปติปัจจัย แต่ฉันทะเป็นสหชาตาธิปติปัจจัย

ทางฝ่ายอกุศล จะเห็นได้ว่า โลภะเกิดขึ้นมีความติด แต่เวลาที่จะเอา ที่จะเลือก ขณะนั้นเป็นเพราะฉันทะเป็นอธิบดี

ทางฝ่ายกุศลก็เช่นเดียวกัน ท่านที่สะสมอุปนิสัยในการให้ทาน แต่เวลาที่จะสละวัตถุเป็นทานจริงๆ ฉันทะเป็นอธิบดี โดยเลือกที่จะกระทำทานกุศลแบบไหน แบบการศึกษา หรือการรักษาพยาบาล หรือในการส่งเสริมความรู้ การปฏิบัติธรรม การเข้าใจธรรม นั่นเป็นลักษณะของฉันทะ ซึ่งจะเห็นได้ว่าเป็นอธิปติ แม้แต่ในกุศลเล็กๆ น้อยๆ เช่น การสงเคราะห์ช่วยเหลือคนชรา หรือเด็กก็ตามแต่ จะเห็นได้ว่า ในขณะนั้นเกือบจะไม่ปรากฏลักษณะของอโลภะ อโทสะ เพราะว่าอโลภะและอโทสะ ไม่เป็นสหชาตาธิปติปัจจัย แต่ว่ามีจิต คือ จิตตาธิปติเกิดขึ้น ประกอบด้วยอโลภะ อโทสะในการที่จะสงเคราะห์ช่วยเหลือในขณะนั้น

เพราะฉะนั้น สภาพธรรมที่เป็นอธิปติ ได้แก่ ฉันทะ วิริยะ จิตตะ วิมังสา ที่เป็นสหชาตาธิปติ แต่สำหรับอารัมมณาธิปติมากกว่านั้น คือ เว้นจิตเพียง ๕ ดวง คือ โทสมูลจิต ๒ ดวง โมหมูลจิต ๒ ดวง ทุกขกายวิญญาณ ๑ ดวง ไม่เป็น อารัมมณาธิปติปัจจัย เพราะว่าไม่เป็นอารมณ์ซึ่งเป็นที่พอใจต้องการของใคร

สำหรับอธิปติปัจจัย ถ้าศึกษาปัจจัยอื่นและทบทวนกลับไปเรื่อยๆ จะทำให้ไม่ลืมองค์ธรรม คือ สภาพธรรมที่เป็นปัจจัย และสภาพธรรมที่เป็นปัจจยุปบันซึ่งเกิดเพราะอธิปติปัจจัยนั้น

เหตุปัจจัยเป็นอนันตรปัจจัยได้ไหม โลภเจตสิกเป็นอนันตรปัจจัยได้ไหม

ถ้าเรียนเรื่องปัจจัย จะต้องทวนไปตลอด โลภเจตสิกเป็นอนันตรปัจจัยได้ไหม

ได้ เพราะว่าอนันตรปัจจัยไม่ได้หมายความแต่เฉพาะจิตเท่านั้น เจตสิกก็เป็นอนันตรปัจจัยด้วย คือ ทั้งจิตและเจตสิกซึ่งเกิดและดับไปเป็นอนันตรปัจจัยให้ทั้งจิตและเจตสิกดวงต่อไปเกิดขึ้น นอกจากจุติจิตของพระอรหันต์เท่านั้น

สำหรับสมนันตรปัจจัย ก็โดยนัยเดียวกัน

สหชาตปัจจัย หมายความถึงสภาพธรรมที่เป็นนามธรรม หรือเป็นรูปธรรม ซึ่งเกิดพร้อมกันเป็นปัจจัย โดยการที่ต้องเกิดพร้อมกัน

อัญญมัญญปัจจัย ได้แก่ ปัจจัยซึ่งนอกจากจะต้องเกิดพร้อมกันแล้ว ยังต้องพึ่งพาอาศัย หรืออิงอาศัยซึ่งกันและกันด้วย เพราะฉะนั้น ก็มีความหมายกระชับถึงการที่ต้องอิงอาศัยกันและกันด้วย ไม่ได้หมายถึงเฉพาะต้องเกิดพร้อมกันเท่านั้น

สำหรับนิสสยปัจจัย หมายความถึงสภาพธรรมซึ่งเป็นที่อาศัยของสภาพธรรมอื่น โดยไม่คำนึงว่า จะต้องเกิดพร้อมกัน หรือว่าเกิดก่อน ดังที่ได้กล่าวถึงแล้วใน คราวก่อน ได้แก่

หมวดที่ ๑ จิตและเจตสิกต่างก็เป็นนิสสยปัจจัย โดยการเกิดพร้อมกัน

หมวดที่ ๒ มหาภูตรูป ๔ มหาภูตรูป ๑ เป็นนิสสยปัจจัยแก่มหาภูตรูปอื่น โดยการเกิดพร้อมกัน

หมวดที่ ๓ ปฏิสนธิจิตในภูมิที่มีขันธ์ ๕ เป็นนิสสยปัจจัยของปฏิสนธิหทยวัตถุ เกิดพร้อมกับปฏิสนธิหทยวัตถุ

หมวดที่ ๔ จิตเป็นปัจจัยให้เกิดจิตตชรูป

หมวดที่ ๕ มหาภูตรูป ๔ เป็นปัจจัยให้เกิดอุปาทายรูป แต่อุปาทายรูปไม่ได้เป็นนิสสยปัจจัยแก่มหาภูตรูป

หมวดที่ ๖ จักขุปสาท เป็นปัจจัยให้เกิดจักขุวิญญาณและเจตสิก

หมวดที่ ๗ - ๑๐ โสตปสาท ฆานปสาท ชิวหาปสาท กายปสาท โดยนัยเดียวกัน

หมวดที่ ๑๑ หลังจากปฏิสนธิขณะแล้ว หทยวัตถุเป็นปัจจัยให้เกิดจิตใน ฐีติขณะ

เปิด  187
ปรับปรุง  19 ต.ค. 2566