แนวทางเจริญวิปัสสนา ตอนที่ 1103

สำหรับปัจจัยที่ ๔ คือ อนันตรปัจจัย และปัจจัยที่ ๕ คือ สมนันตรปัจจัย ซึ่งคงจะไม่มีใครสังเกตปัจจัยนี้ได้ เพราะว่าจิตทุกขณะเกิดและดับอย่างรวดเร็ว จิตที่เกิดและดับเป็นอนันตรปัจจัยให้จิตดวงต่อไปเกิดขึ้น เพราะฉะนั้น ก็ยาก ไม่เหมือนกับเหตุปัจจัยซึ่งพอสังเกตได้ หรือว่าอธิปติปัจจัยซึ่งพอที่จะรู้ได้ อารัมมณปัจจัยก็กำลังปรากฏในขณะนี้ ทางตา หรือทางหู หรือทางจมูก หรือทางลิ้น หรือทางกาย หรือทางใจ แต่อนันตรปัจจัยและสมนันตรปัจจัยไม่มีใครที่จะสังเกตรู้ได้ ต้องอบรมเจริญปัญญาจนกว่าจะประจักษ์การเกิดขึ้นดับไปของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ

สำหรับอนันตรปัจจัย ยากแก่การที่จะประจักษ์ความเกิดขึ้นและดับไปว่า เมื่อจิตดวงหนึ่งเกิดขึ้นและดับไป จิตดวงที่เกิดและดับไปเป็นอนันตรปัจจัยให้จิตดวงต่อไปเกิดขึ้น

ยากก็จริง แต่ว่าชีวิตนี้ไม่ปรากฏเลยว่าขาดสาย ตั้งแต่เกิด คือ ตั้งแต่ปฏิสนธิจนกระทั่งถึงในขณะนี้ และต่อไปจนกระทั่งถึงจุติ ก็ไม่ปรากฏว่าขาดสาย เรื่องเก่าๆ ตั้งแต่เด็กน่าคิดไหมว่า ทำไมเกิดคิดขึ้นได้ ในวันหนึ่งๆ ใครกำลังคิดถึงเรื่องอะไร ทั้งๆ ที่ผ่านไปนานหลายปี หลายสิบปี แต่ก็ยังมีจิตที่เกิดขึ้นทางมโนทวารทำให้คิดถึงเรื่องเก่าๆ ทั้งๆ ที่ดับไปหมดแล้ว ซึ่งนั่นเป็นเพราะการเกิดดับสืบต่อของจิตไม่ขาดสายตั้งแต่ปฏิสนธิจนกระทั้งถึงในขณะนี้ ทำให้จิตดวงต่อไปมีปัจจัยที่จะนึกถึงเรื่อง ต่างๆ ที่ผ่านไปแล้วได้ ซึ่งในขณะที่กำลังนึกถึงบางท่านอาจจะไม่ระลึกเลยว่า เพราะปัจจัยอะไร หรือว่าทำไมจึงนึกถึงเรื่องที่ผ่านไปนานแล้วได้ นี่ก็เป็นชีวิตประจำวันที่ให้ทราบว่า แม้แต่การที่จิตจะคิดนึกเรื่องต่างๆ ก็เป็นเพราะว่าจิตเกิดดับสืบต่อสะสมมาเรื่อยๆ โดยที่ไม่ขาดสายนั่นเอง

และข้อที่ควรทราบสำหรับอนันตรปัจจัยและสมนันตรปัจจัย คือ ไม่เป็นปัจจัยแก่รูป

อนันตรปัจจัยและสมนันตรปัจจัย ได้แก่ จิตและเจตสิกซึ่งเกิดขึ้นและเมื่อดับไปเป็นปัจจัยให้จิตและเจตสิกดวงต่อไปเกิด จิตเกิดซ้อนกันไม่ได้ จิตจะเกิดขึ้นเพียงขณะเดียวพร้อมกับเจตสิกที่เกิดร่วมกัน ถ้าจิตและเจตสิกซึ่งเกิดร่วมกันนี้ยังไม่ดับไป จิตดวงต่อไปจะเกิดไม่ได้เลย เพราะฉะนั้น จิตที่กำลังเกิดในขณะนี้ต้องดับไปก่อน จึงเป็นอนันตรปัจจัยและสมนันตรปัจจัยให้จิตและเจตสิกต่อไปเกิดขึ้น แต่รูปไม่เป็นอนันตรปัจจัย เพราะว่ารูปทุกรูปซึ่งกำลังเกิดดับอยู่ในขณะนี้มีสมุฏฐาน คือ ธรรมที่ก่อตั้งให้เกิดขึ้น ๔ สมุฏฐาน แล้วแต่ว่าจะเกิดขึ้นเพราะสมุฏฐานใด คือ

รูปบางกลุ่มเกิดขึ้นเพราะจิตเป็นสมุฏฐาน เรียกว่าจิตตชรูป

รูปบางกลุ่มเกิดขึ้นเพราะกรรมเป็นสมุฏฐาน เรียกว่ากัมมชรูป

รูปบางกลุ่มเกิดขึ้นเพราะอุตุเป็นสมุฏฐาน เรียกว่าอุตุชรูป

รูปบางกลุ่มเกิดขึ้นเพราะอาหารเป็นสมุฏฐาน เรียกว่าอาหารชรูป

เพราะฉะนั้น รูปมีสมุฏฐาน คือ ธรรมที่ก่อตั้งให้รูปเกิดขึ้น เพียง ๔ สมุฏฐาน แล้วแต่ว่ารูปนั้นจะเกิดขึ้นเพราะกรรม หรือเพราะจิต หรือเพราะอุตุ หรือเพราะอาหาร

แต่ว่ารูปไม่มีอนันตรปัจจัย หรือรูปไม่เป็นอนันตรปัจจัย ไม่ใช่ว่าเมื่อรูปนี้เกิดแล้วดับไปเป็นปัจจัยให้รูปอีกรูปหนึ่งเกิด ไม่ใช่อย่างนั้น แต่รูปอีกรูปหนึ่งเกิด เพราะกรรมเป็นปัจจัยให้รูปนั้นเกิด หรือเพราะจิตเป็นปัจจัยให้รูปนั้นเกิด หรือเพราะอุตุเป็นปัจจัยให้รูปนั้นเกิด หรือเพราะอาหารเป็นปัจจัยให้รูปนั้นเกิด แต่รูปไม่เป็น อนันตรปัจจัย หรือสมนันตรปัจจัยให้รูปอื่นเกิด

แสดงให้เห็นว่า สำหรับนามธรรม คือ จิตและเจตสิก เท่านั้น ที่เป็น อนันตรปัจจัยและสมนันตรปัจจัยได้

ท่านผู้ฟังคงได้ยินคำว่า นิโรธสมาบัติ คือ ขณะที่พระอนาคามีบุคคลหรือ พระอรหันต์ผู้ได้บรรลุถึงอรูปฌานขั้นสูงสุด คือ เนวสัญญานาสัญญายตนฌาน ในขณะนั้นจิตเป็นสภาพที่ละเอียดมาก และมีอารมณ์ที่ละเอียดมาก เพราะว่าอารมณ์ของจิตในขณะนั้นเป็นสัญญาอย่างละเอียดของอากิญจัญญายตนจิตซึ่งเป็นอรูปฌาน ที่ ๓ เพราะฉะนั้น จึงเป็นสภาพที่ประณีตและละเอียดมาก

ถ้าพระอนาคามีหรือพระอรหันต์ผู้ได้เนวสัญญานาสัญญายตนฌาน เข้านิโรธสมาบัติจะดับจิตและเจตสิกได้ คือ ไม่มีจิตและเจตสิกเกิดชั่วระยะหนึ่งแต่ ไม่เกิน ๗ วัน ซึ่งในขณะนั้นมีรูปที่เกิดเพราะกรรมแม้ว่าจะไม่มีจิตเลย และมีรูปที่เกิดเพราะอุตุ เพราะฉะนั้น มีรูปที่เกิดเพราะสมุฏฐานอื่น แต่ไม่มีรูปที่เกิดเพราะจิต เป็นสมุฏฐาน

แสดงให้เห็นว่า รูปไม่เป็นอนันตรปัจจัย เพราะว่ารูปที่ดับไปแล้วไม่ได้เป็นปัจจัยให้รูปอื่นเกิดต่อ แต่ที่รูปอื่นเกิดนั้นเพราะมีสมุฏฐานหนึ่งสมุฏฐานใด คือ มีจิตเป็นสมุฏฐาน หรือมีกรรมสมุฏฐาน หรือมีอุตุสมุฏฐาน หรือมีอาหารเป็นสมุฏฐาน

สำหรับปัจจัยต่อไป ปัจจัยที่ ๖ สหชาตปัจจัย

ท่านผู้ฟังศึกษาเรื่องของปัจจัยโดยไม่ต้องรีบ แต่ว่าพิจารณาจนกระทั่งเข้าใจ และไม่ต้องท่อง เพราะเมื่อเข้าใจแล้ว เวลาที่ได้ยินชื่อของปัจจัยต่างๆ ก็สามารถรู้ได้ว่า ได้แก่สภาพธรรมอะไร

สำหรับสหชาตปัจจัย ธรรมใดย่อมเกิดขึ้น ธรรมนั้นชื่อว่าชาตะ ธรรมที่เกิดพร้อมกัน ชื่อว่าสหชาตะ

เพราะฉะนั้น สำหรับสหชาตปัจจัย ไม่ยากเลย หมายความถึงสภาพธรรมที่เป็นปัจจัยโดยเกิดพร้อมกันกับสภาพธรรมที่ตนเป็นปัจจัยให้เกิดขึ้น คือ ปัจจัยธรรม และปัจจยุปบันธรรมเกิดพร้อมกันในอุปาทขณะ ถ้าท่านผู้ฟังจะสังเกตปัจจัยนี้ โดยชื่อ สหชาต หมายความถึงเกิดพร้อมกัน แต่ไม่ได้พูดถึงเรื่องดับพร้อมกัน ดังนั้น ไม่ต้องคำนึงถึงเรื่องดับ แต่ให้รู้ว่าเป็นปัจจัยทันทีที่เกิด ซึ่งในขณะที่เกิดต้องเกิดพร้อมกันกับปัจจยุปบันธรรมคือธรรมซึ่งตนเองเป็นปัจจัยให้เกิดขึ้นด้วย ถ้าทราบความหมายของปัจจัยนี้ก็ทราบได้เลยว่า สำหรับปรมัตถธรรม ๔ สภาพธรรมใดเป็นสหชาตปัจจัย

เป็นเรื่องคิดและพิจารณา และต้องตรงตามความเป็นจริง เพราะว่า สภาพธรรมที่เป็นสหชาตปัจจัย ได้แก่ จิตและเจตสิกที่เกิดพร้อมกัน ท่านผู้ฟังได้ยิน คำว่า ผัสสะ เวทนา สัญญา เจตนา เหล่านี้ เป็นชื่อของเจตสิกแต่ละชนิดแต่ละประเภท

ผัสสะเป็นเจตสิกซึ่งกระทบอารมณ์ ถ้าผัสสะไม่กระทบ จิตจะรู้อารมณ์นั้นไม่ได้

เวทนาเป็นสภาพที่รู้สึกเป็นสุข เป็นทุกข์ ดีใจ เสียใจ หรือเฉยๆ

ถ้าผัสสะไม่กระทบ เวทนาจะเกิดรู้สึกในอารมณ์นั้นไม่ได้ แต่ทั้งผัสสะ ทั้งเวทนา หรือสัญญาเจตสิก หรือเจตนาเจตสิก หรือเจตสิกอื่นๆ ซึ่งเกิดกับจิตนั้น ต้องเกิดขึ้นพร้อมกับอุปาทขณะของจิต ที่กล่าวว่าเกิดขึ้นพร้อมกัน ต้องหมายถึงในทันทีที่จิตเกิด คือ ในอุปาทขณะของจิตนั่นเอง เพราะฉะนั้น จิตและเจตสิกเกิดพร้อมกันในอุปาทขณะ นี่โดยสหชาตปัจจัย

เพราะฉะนั้น จิตเป็นสหชาตปัจจัยของเจตสิกซึ่งเกิดร่วมด้วย และเจตสิกเป็นสหชาตปัจจัยแก่จิตซึ่งตนเกิดร่วมด้วย เพราะถ้าเจตสิกไม่เกิดจิตก็เกิดไม่ได้ หรือถ้าจิตไม่เกิดเจตสิกก็เกิดไม่ได้ ทั้งจิตและเจตสิกต้องเกิดด้วยกันโดยสภาพของสหชาตปัจจัย เป็นปัจจัยโดยการเกิดขึ้นพร้อมกัน

ไม่ยากใช่ไหม เป็นเรื่องของจิตและเจตสิกตามที่เคยได้ทราบแล้ว ซึ่งไม่ใช่แต่เฉพาะจิตเท่านั้นที่เป็นสหชาตปัจจัย เจตสิกที่เกิดพร้อมจิตก็เป็นสหชาตปัจจัยของจิตด้วย และนอกจากจิตและเจตสิกเป็นสหชาตปัจจัยแล้ว ท่านผู้ฟังลองนึกดูว่า มีอะไรอีกที่เป็นสหชาตปัจจัย ปรมัตถธรรมมี ๔ จิต เจตสิก รูป นิพพาน เพราะฉะนั้น เมื่อจิตและเจตสิกเป็นสหชาตปัจจัยแล้ว ยังมีสภาพธรรมอื่นอีกไหมที่เป็นสหชาตปัจจัย

สำหรับรูปปรมัตถ์ มีรูป ๔ รูป คือ ธาตุดิน ธาตุน้ำ ธาตุไฟ ธาตุลม มหาภูตรูป ๔ ต้องเกิดพร้อมกัน แยกกันไม่ได้ เพราะฉะนั้น ธาตุดินเป็นสหชาตปัจจัยให้ธาตุน้ำ ธาตุไฟ ธาตุลมเกิดขึ้นพร้อมกันทันทีกับการเกิดของธาตุดิน

ธาตุน้ำเป็นสหชาตปัจจัย คือ เป็นปัจจัยให้ธาตุดิน ธาตุไฟ ธาตุลมเกิดขึ้นพร้อมกันทันทีกับที่ธาตุน้ำเกิดขึ้น

ธาตุไฟเป็นสหชาตปัจจัย คือ ทำให้ธาตุดิน ธาตุน้ำ ธาตุลมเกิดขึ้นพร้อมกันทันทีในขณะที่ธาตุไฟเกิดขึ้น

และธาตุลมก็เป็นสหชาตปัจจัย ทำให้ธาตุดิน ธาตุน้ำ ธาตุไฟเกิดขึ้นพร้อมกันทันทีในขณะที่ธาตุลมเกิดขึ้น

สำหรับสหชาตปัจจัย ปัจจัยและปัจจยุปบันต้องเกิดพร้อมกันทันทีในอุปาทขณะนั่นเอง สำหรับมหาภูตรูป ๔ แยกกันไม่ได้เลย ต่างก็เป็นปัจจัยซึ่งกันและกัน ขณะใดที่ธาตุดินเกิด จะไม่มีธาตุน้ำ ธาตุไฟ ธาตุลมเกิดพร้อมกันในขณะนั้นไม่ได้ ขณะใดที่ธาตุไฟเกิด ขณะนั้นจะไม่มีธาตุดิน ธาตุน้ำ ธาตุลมเกิดในขณะนั้นด้วยไม่ได้

ถ้าจะทบทวนเรื่องปัจจัยและปัจจยุปบันเป็นภาษาบาลี ในมหาภูตรูป ๔ นั่นเอง ถ้าปฐวีธาตุเป็นปัจจัย เตโชธาตุ อาโปธาตุ วาโยธาตุ เป็นปัจจยุปบัน ถ้าเตโชธาตุ คือ ธาตุไฟ เป็นปัจจัย ปฐวีธาตุ อาโปธาตุ วาโยธาตุ เป็นปัจจยุปบัน เพราะฉะนั้น ใช้ได้ทั้งภาษาไทยและภาษาบาลี เมื่อเข้าใจคำว่า ปัจจัย คือ สภาพธรรมซึ่งทำให้สภาพธรรมอื่นเกิดขึ้น และสภาพธรรมใดก็ตามซึ่งเกิดขึ้นเพราะสภาพธรรมนั้น เป็นปัจจยุปบัน เพราะฉะนั้น ปัจจัยต้องคู่กับปัจจยุปบัน

นี่เป็นสหชาตปัจจัยประการหนึ่ง คือ มหาภูตรูป ๔ เป็นปัจจัยแก่มหาภูตรูป ๔ โดยยกมหาภูตรูป ๑ เป็นปัจจัยแก่มหาภูตรูป ๓ หรือยกมหาภูตรูป ๒ เป็นปัจจัยแก่มหาภูตรูป ๒ หรือยกมหาภูตรูป ๓ เป็นปัจจัยแก่มหาภูตรูป ๑ ก็ได้ ไม่ว่าจะกล่าวโดยนัยใดๆ ให้ทราบว่า มหาภูตรูปทั้ง ๔ เกิดพร้อมกัน จึงเป็นสหชาตปัจจัย

ที่ตัวนี่เอง ในขณะนี้ ไม่ใช่ที่อื่น และรวมทั้งมหาภูตรูปภายนอกด้วย ไม่ใช่แต่เฉพาะที่ตัวเท่านั้น ไม่ว่าที่ใดก็ตามซึ่งปรากฏลักษณะแข็ง เป็นลักษณะของปฐวีธาตุ เกิดขึ้นปรากฏ ให้ทราบว่า ในขณะนั้นต้องมีธาตุไฟ ธาตุน้ำ ธาตุลมเกิดพร้อมกัน ไม่ว่าจะเป็นรูปภายในหรือรูปภายนอก

เพราะฉะนั้น ประการที่ ๑ คือ จิตและเจตสิกเป็นสหชาตปัจจัยซึ่งกันและกัน ประการที่ ๒ คือ มหาภูตรูป ๔ เป็นสหชาตปัจจัยซึ่งกันและกัน

ต่อไปคือ ประการที่ ๓ ปฏิสนธิจิตในภูมิที่มีขันธ์ ๕ เป็นสหชาตปัจจัยแก่ปฏิสนธิหทยวัตถุ

คำว่า วัตถุ หมายความถึงรูปซึ่งเป็นที่เกิดของจิต ในภูมิที่มีขันธ์ ๕ รูปจะเกิดโดยที่ไม่มีจิตเป็นที่เกิดไม่ได้ เพราะฉะนั้น ขณะใดที่จิตเกิดจะต้องทราบว่า จิตประเภทนั้นเกิดที่รูปอะไร ซึ่งรูปอันเป็นที่เกิดของจิตนั้นมี ๖ รูป ได้แก่ วัตถุ ๖ คือ

จักขุวัตถุเป็นที่เกิดของจักขุวิญญาณ ที่กำลังเห็นในขณะนี้ จิตเห็นเป็นสภาพรู้สิ่งที่ปรากฏทางตา เกิดที่จักขุปสาท เพราะฉะนั้น จักขุปสาทเป็นจักขุวัตถุของ จักขุวิญญาณ

ขณะที่ได้ยิน โสตปสาทเป็นโสตวัตถุ คือ เป็นที่เกิดของโสตวิญญาณ จิตที่กำลังได้ยินเสียงในขณะนี้เกิดที่โสตปสาทและดับที่โสตปสาท เพราะฉะนั้น โสตปสาทเป็นโสตวัตถุของโสตวิญญาณ

ขณะที่ได้กลิ่น ฆานวิญญาณเกิดที่ฆานปสาท เพราะฉะนั้น ฆานปสาทใดซึ่งเป็นที่เกิดของฆานวิญญาณในขณะนั้น ฆานปสาทรูปนั้นเป็นฆานวัตถุของ ฆานวิญญาณในขณะที่ได้กลิ่น และก็ดับ ไม่เที่ยงเลย ชั่วขณะเล็กน้อยนิดเดียวซึ่งจิตเกิดขึ้นกระทำกิจต่างๆ และเกิดที่ต่างๆ

ในขณะที่ลิ้มรส ที่รสปรากฏเพราะชิวหาวิญญาณเกิดขึ้นลิ้มรสที่ชิวหาปสาทรูป ซึ่งเป็นชิวหาวัตถุ เพราะว่าเป็นที่เกิดของชิวหาวิญญาณ และก็ดับ

ขณะใดที่กำลังกระทบเย็น ร้อน อ่อน แข็ง ตึง ไหว ขณะนั้นกายวิญญาณเกิดที่กายปสาทรูป เพราะฉะนั้น กายปสาทรูปเป็นกายวัตถุ คือ เป็นที่เกิดของ กายวิญญาณในขณะนั้น และก็ดับ

แต่ในวันหนึ่งๆ ไม่ได้มีแต่จิตเห็น จิตได้ยิน จิตได้กลิ่น จิตลิ้มรส จิตรู้สิ่งที่กระทบสัมผัส จิตอื่นทั้งหมดนอกจากนั้น เกิดที่หทยรูปซึ่งเป็นหทยวัตถุ คือ เป็นที่เกิดของจิตอื่นทั้งหมดในภูมิที่มีขันธ์ ๕ นอกจากทวิปัญจวิญญาณ ๑๐ ดวงที่กล่าวข้างต้น

เพราะฉะนั้น ในภูมิที่มีขันธ์ ๕ ในปฏิสนธิกาล คือ ในขณะที่เกิด จิตจะเกิดโดยที่ไม่มีรูปเป็นที่เกิดไม่ได้ และในอุปาทขณะของปฏิสนธิจิต คือ ขณะที่ปฏิสนธิจิตเกิดขึ้น กรรมเป็นปัจจัยทำให้หทยวัตถุเกิด โดยเป็นที่เกิดของปฏิสนธิจิตในขณะนั้น

เปิด  200
ปรับปรุง  2 มิ.ย. 2565