แนวทางเจริญวิปัสสนา ตอนที่ 1108

เพราะฉะนั้น เวลาที่มีเสียงเกิดขึ้น จะปราศจากวิญญัติรูปไม่ได้ คือ วจีวิญญัติรูป ซึ่งเป็นรูปที่ทำให้เกิดเสียงขึ้น อย่าลืม วิญญัติรูปไม่ใช่เสียง แต่เป็นรูปที่ทำให้เสียงเกิดขึ้นโดยมีจิตเป็นสมุฏฐาน เป็นจิตตชรูป

และที่ใช้คำว่าจิตตชรูปนั้น ในรูป ๒๘ ได้แก่ มหาภูตรูป ๔ อุปาทายรูป ๔ เป็นอวินิพโภครูป ๘ วิการรูป ๓ กายวิญญัติรูปและวจีวิญญัติรูป เป็นวิญญัติรูป ๒ สัททรูป คือ เสียง อีกหนึ่ง และอีกรูปหนึ่ง คือ อากาสรูป รวมเป็นจิตตชรูป ๑๕ รูป

. กายวิญญัติ ถ้าเรานั่งเฉยๆ อย่างนี้ ไม่ได้พูดจาอะไร ไม่ได้ขยับเขยื้อนอะไร วิญญัติรูปทั้ง ๒ มีหรือปล่า

สุ. มีจิตที่ปรารถนาจะให้รูปนั้นเป็นอาการอย่างนั้นหรือเปล่า

. ไม่มี บางทีทุกคนนั่งฟังธรรมอยู่ ไม่ได้แสดงกิริยาอาการอะไร ขณะนั้นวิญญัติรูปทั้ง ๒ มีบ้างไหม

สุ. ไม่เกิด ท่านผู้ฟังอาจจะยังไม่ชินกับคำว่าวิญญัติรูป ซึ่งได้แก่ กายวิญญัติรูป ๑ วจีวิญญัติรูป ๑

กายวิญญัติรูป ได้แก่ รูปซึ่งเกิดเพราะจิตต้องการให้รูปนั้นมีความหมายตามความต้องการของจิต ทุกท่านใช้กายแสดงความหมาย เพราะว่าจิตเป็นนามธรรม ไม่มีรูปร่าง ไม่มีลักษณะปรากฏที่จะให้ใครรู้ความหมายได้เลย แต่กายสามารถมีอาการหรือมีลักษณะที่ทำให้คนอื่นเข้าใจความหมายได้ ซึ่งความหมายที่จะเกิดนั้น เกิดเพราะจิตต้องการให้รูปนั้นมีความหมายอย่างนั้น บางท่านอยากจะแสดงให้คนอื่นเห็นว่าโกรธ หน้าตาก็ต้องบึ้งตึงใช่ไหม ที่หน้าจะปรากฏอาการบึ้งตึงขึ้นมาได้ ก็เพราะจิตเป็นสมุฏฐานให้กายวิญญัติรูปเกิดขึ้นเป็นไปตามความหมายที่จิตต้องการ ในขณะนั้น ถ้าอยากจะให้คนอื่นสนใจ หรืออยากจะเรียกคนอื่น ใช้สายตาแทนเสียง ก็เป็นกายวิญญัติรูป หรือว่าอาการของกายซึ่งจะทำให้คนอื่นสามารถเข้าใจได้ หรือเข้าใจกันได้ เป็นสัญญาณต่างๆ เช่น การกวักมือ ก็เป็นกายวิญญัติรูป

สำหรับวจีวิญญัติรูป เป็นรูปซึ่งทำให้เกิดเสียง เพราะฉะนั้น ขณะใดก็ตามที่เสียงที่เป็นคำเกิดขึ้น จะมีแต่เสียงโดยไม่มีวจีวิญญัติรูปไม่ได้ เพราะว่าวจีวิญญัติรูป เป็นรูปซึ่งทำให้เกิดเสียงเป็นคำๆ หรือว่าเป็นเสียงซึ่งเกิดเพราะจิตเป็นสมุฏฐาน เพราะฉะนั้น ในขณะที่คุยกันให้ทราบได้ทันทีว่า มีวจีวิญญัติรูปและเสียงซึ่งเกิดเพราะจิตเป็นสมุฏฐาน ทั้งหมดก็เป็นจิตตชรูป ๑๕ รูป

สำหรับกัมมชรูปก็ได้ทราบแล้ว ในอุปาทขณะของปฏิสนธิจิตมีกัมมชรูปเกิดพร้อมกัน เพราะว่าปฏิสนธิจิตเป็นสหชาตปัจจัยให้เกิดกัมมชรูป แล้วแต่ว่าจะเป็น กี่กลาปในภูมิไหน เช่น การเกิดในครรภ์ จะมีกัมมชรูปเกิด ๓ กลุ่ม หรือ ๓ กลาป

สำหรับกัมมชรูปทั้งหมด คือ รูปซึ่งเกิดเพราะกรรม รูปที่เป็นกัมมชรูปมี ๑๘ รูป คือ อวินิพโภครูป ๘ ได้แก่ ธาตุดิน ธาตุน้ำ ธาตุไฟ ธาตุลม สี กลิ่น รส โอชา และชีวิตินทรียรูป หรือที่เรียกว่าชีวิตรูป สำหรับในกลุ่มที่เป็นกัมมชกลาป คือ กลุ่มของรูปซึ่งเกิดเพราะกรรมเป็นสมุฏฐานจะต้องมีรูปเกิดร่วมด้วยอย่างน้อยที่สุด ๙ รูป ที่เป็นอย่างนี้ก็เพราะว่ารูปกลุ่มใดก็ตามซึ่งกรรมเป็นสมุฏฐานให้เกิด จะมีชีวิตินทรียรูป หรือชีวิตรูปอีก ๑ รูปเกิดร่วมด้วยในกลุ่มนั้น ทำให้รูปนั้นเป็นรูปที่ทรงชีวิต มีชีวิต ต่างกับรูปอื่นซึ่งไม่ได้เกิดเพราะกรรมเป็นสมุฏฐาน เพราะฉะนั้น ก็ ๙ รูปแล้ว นอกจากนั้นก็มีจักขุปสาทรูป โสตปสาทรูป ฆานปสาทรูป ชิวหาปสาทรูป กายปสาทรูป หทยวัตถุรูป ปุริสภาวรูป อิตถีภาวรูป และอากาสรูป รวมเป็น ๑๘ รูป

ถ้าไม่ใช่กลุ่มที่มีจักขุปสาท หรือโสตปสาท ฆานปสาท ชิวหาปสาท กายปสาท หทย หรือภาวะ ก็มีเพียง ๙ รูปเท่านั้น แต่ถ้ามีจักขุปสาทก็เพิ่มอีก ๑ ในกลาปนั้นหรือกลุ่มนั้น ก็เป็น ๑๐ รูป ทุกคนมีรูปพวกนี้ทั้งหมดใช่ไหม ๒๗ รูป ไม่ใช่ ๒๘ แล้วแต่ว่าจะเป็นเพศใด

ขอทบทวนทั่วๆ ไปอีกเล็กน้อยเพื่อความเข้าใจชัดเจนขึ้น

ต่อจากเหตุปัจจัย ก็เป็นอธิปติปัจจัย

โลภเจตสิกเป็นสหชาตปัจจัยของจิตและเจตสิกที่เกิดร่วมด้วย แต่โลภเจตสิกเป็นสหชาตาธิปติปัจจัยได้ไหม ไม่ได้ เป็นอารัมมณาธิปติปัจจัยได้ไหม เพราะว่า อธิปติปัจจัยมี ๒ เมื่อเป็นสหชาตาธิปติปัจจัยไม่ได้ เป็นอารัมมณาธิปติปัจจัยได้ไหม ได้ แน่นอน อย่าลืมว่า ทุกคนชอบโลภะ ปรารถนาโลภะ หวังโลภะ เพราะฉะนั้น สภาพของโลภะเป็นสภาพซึ่งพอใจอย่างยิ่ง จึงเป็นอารัมมณาธิปติปัจจัยได้

โลภมูลจิตเป็นอารัมมณาธิปติปัจจัยได้ไหม เมื่อครู่นี้กล่าวถึงโลภเจตสิก ตอนนี้กล่าวถึงโลภมูลจิต โลภมูลจิตเป็นอารัมมณาธิปติปัจจัยได้ไหม ได้

โมหมูลจิตเป็นอารัมมณาธิปติปัจจัยได้ไหม

ไม่ได้ อย่าลืม อารัมมณาธิปติ เว้นโทสมูลจิต ๒ ดวง โมหมูลจิต ๒ ดวง ทุกขกายวิญญาณ ๑ ดวง เพราะว่าไม่มีใครปรารถนาโทสมูลจิต โมหมูลจิต และ ทุกขกายวิญญาณ ถ้ากล่าวโดยนัยของอารัมมณาธิปติปัจจัย

โมหเหตุ คือ โมหเจตสิกเป็นสหชาตาธิปติปัจจัยได้ไหม

ไม่ได้

สหชาตาธิปติไม่ยาก เพราะว่าได้แก่ ฉันทเจตสิก วิริยเจตสิก ปัญญาเจตสิก และชวนจิต ๕๒ ดวง เว้นโมหมูลจิต ๒ และหสิตุปปาท ๑ คือเว้นชวนจิตซึ่งไม่ประกอบด้วยเหตุ หรือที่ประกอบด้วยเหตุเดียว ที่จะมีกำลังเป็นสหชาตาธิปติปัจจัยได้ต้องประกอบด้วยอย่างน้อย ๒ เหตุ

นี่คือการพยายามเข้าใจ และทบทวนเพื่อการจำไปในตัว โดยที่จะไม่ลืม เพราะว่าคงจะต้องลืมกันบ้าง แต่ถ้าทบทวนบ่อยๆ ก็คงไม่ลืม

เพราะฉะนั้น ถ้าถามโดยนัยของอารัมมณาธิปติ ไม่ใช่สหชาตาธิปติ โมหมูลจิตเป็นอารัมมณาธิปติปัจจัยได้ไหม

โมหมูลจิตใครอยากได้ อย่าลืม โมหมูลจิตเป็นอารัมมณาธิปติปัจจัยไม่ได้

โมหเจตสิกเป็นสหชาตาธิปติปัจจัยไม่ได้ เป็นอารัมมณาธิปติปัจจัยได้ไหม

ต้องคิดกันอีกแล้วใช่ไหม เรื่องของปัจจัยเป็นเรื่องที่ละเอียดอย่างนี้ ทุกคนมีโลภมูลจิต มีโทสมูลจิต มีโมหมูลจิต และทุกคนก็กล่าวว่า แล้วแต่เหตุปัจจัย แล้วแต่เหตุปัจจัย แต่ว่าเหตุปัจจัยอะไร เช่น โมหเจตสิกเป็นอารัมมณาธิปติปัจจัยได้ไหม

โมหเจตสิกในโมหมูลจิตเป็นอารัมมณาธิปติปัจจัยไม่ได้

แต่โมหเจตสิกในโลภมูลจิตเป็นอารัมมณาธิปติปัจจัยได้ ถูกไหม อย่าลืม สหชาตปัจจัย จิตและเจตสิกเกิดร่วมกัน เป็นอัญญมัญญปัจจัย เป็นสัมปยุตตปัจจัย โมหเจตสิกเกิดกับอกุศลจิตทุกดวง เพราะฉะนั้น ในขณะที่โมหเจตสิกเกิดกับ โมหมูลจิต เป็นอารัมมณาธิปติปัจจัยไม่ได้ โมหมูลจิตก็เป็นอารัมมณธิปติปัจจัยไม่ได้ โมหเจตสิกก็เป็นอารัมมณาธิปติปัจจัยไม่ได้

แต่โลภมูลจิต ทุกคนชอบ โลภมูลจิตเป็นอารัมมณาธิปติปัจจัยได้ เพราะฉะนั้น เจตสิกทุกดวงที่เกิดกับโลภมูลจิต แม้โมหเจตสิกก็เป็นอารัมมณาธิปติปัจจัยได้ ขอให้เกิดกับโลภะเถอะ ไม่อยากจะรู้หรอกอริยสัจธรรม ใช่ไหม ทิ้งไว้ก่อน รอได้ เพราะว่ากำลังเป็นโลภะ โมหะก็ไม่เป็นไร ถูกไหม กำลังชอบ กำลังเพลิน เพราะฉะนั้น โมหเจตสิกในโลภมูลจิตจึงเป็นอารัมมณาธิปติปัจจัย กำลังสนุกๆ จะรู้แจ้ง อริยสัจธรรม เอาไหม ชวนกันไปรู้แจ้งอริยสัจธรรมในขณะที่กำลังสนุกๆ รอไว้ก่อน กำลังสนุก เพราะฉะนั้น โมหเจตสิกซึ่งเกิดกับโลภมูลจิตจึงเป็นอารัมมณาธิปติปัจจัยได้ แต่โมหเจตสิกซึ่งเกิดกับโมหมูลจิตเป็นอารัมมณาธิปติปัจจัยไม่ได้

ไม่ต้องรีบร้อนที่จะให้จบปัจจัยโดยเร็ว ซึ่งที่จริงก็ไม่ช้า ๗ ปัจจัยแล้ว ปัจจัยทั้งหมดมีเพียง ๒๔ ปัจจัย และแต่ละปัจจัยก็เป็นสภาพธรรมซึ้งคุ้นเคย ชินหู เพียงแต่ความละเอียดนั้นจะต้องเข้าใจลักษณะของสภาพธรรมแต่ละอย่างจริงๆ ว่า สภาพธรรม เช่น โมหเจตสิก ถ้าเกิดตามลำพังตนเองในโมหมูลจิตแล้วไม่มีกำลังอะไร ไม่ติดในอารมณ์ เพราะว่าขณะนั้นโลภเจตสิกไม่ได้เกิดด้วย จึงไม่เป็นอารัมมณาธิปติปัจจัย

เป็นเรื่องนามธรรมและรูปธรรมเท่านั้นเอง ซึ่งเกิดดับเป็นปกติในชีวิตประจำวัน ต่อไปเป็นปัจจัยที่ ๘ และอาจจะย้อนกลับไปทบทวนเรื่อยๆ ถึงปัจจัยต้นๆ

ปัจจัยที่ ๘ นิสสยปัจจัย

นิสสยะ หมายความถึงธรรมซึ่งเป็นปัจจัยโดยเป็นที่อาศัยของปัจจยุปบันธรรม ไม่คำนึงถึงว่าจะเกิดก่อนหรือเกิดทีหลัง เพราะฉะนั้น จึงต่างกับสหชาตปัจจัย ถ้าเป็นสหชาตปัจจัย ปัจจัยและปัจจยุปบันต้องเกิดพร้อมกัน ถ้าเป็นอัญญมัญญปัจจัย ปัจจัยต้องอาศัยปัจจยุปบันธรรมด้วย และปัจจยุปบันธรรมต้องอาศัยปัจจัย

สำหรับนิสสยปัจจัย ไม่ได้เพ่งเล็งถึงว่าจะเกิดพร้อมกัน หรือว่าจะเกิดก่อน หรือว่าจะเกิดหลัง แต่หมายถึงสภาพธรรมซึ่งเป็นที่อาศัยของปัจจยุปบันธรรม เหมือนกับต้นไม้ต้องอาศัยแผ่นดินจึงจะตั้งอยู่ได้ หรือว่าจิตรกรรม คือ ภาพเขียนต่างๆ สีต่างๆ ต้องอาศัยแผ่นผ้า ฉันใด นิสสยปัจจัย ก็เป็นธรรมซึ่งเป็นที่อาศัยของธรรมอื่น มีทั้งหมด ๑๑ หมวด คือ

หมวดที่ ๑ จิต ๘๙ เจตสิก ๕๒ เป็นนิสสยปัจจัยของจิต ๘๙ และเจตสิก ๕๒

หมายความว่า จิตเป็นปัจจัยที่อาศัยของเจตสิก เพราะถ้าไม่มีจิตเป็น นิสสยปัจจัย เป็นที่อาศัย เจตสิกก็เกิดไม่ได้ และโดยนัยเดียวกัน เจตสิกก็เป็นที่อาศัยของจิต ถ้าปราศจากเจตสิก จิตก็เกิดไม่ได้ เพราะฉะนั้น เจตสิกก็เป็นนิสสยปัจจัยของจิต

โดยความหมายของการเกิดพร้อมกัน คือ เป็นปัจจัยโดยต้องเกิดพร้อมกัน เป็นสหชาตปัจจัย โดยความหมายว่าต่างอาศัยพึ่งพิงซึ่งกันและกัน เป็นอัญญมัญญปัจจัย โดยความหมายของนิสสยปัจจัย คือ เป็นที่อาศัย เพราะฉะนั้น ไม่จำกัดว่าจะต้องเป็นเฉพาะนามธรรม รูปธรรมก็เป็นที่อาศัยของจิตได้ เพราะฉะนั้น ก็กว้างกว่าอัญญมัญญปัจจัย เพราะว่าในอัญญมัญญปัจจัยนั้น เฉพาะจิตและเจตสิกหมวดที่ ๑มหาภูตรูปหมวดที่ ๒ ปฏิสนธิจิตและปฏิสนธิหทยวัตถุเป็นหมวดที่ ๓ แต่สำหรับ นิสสยปัจจัย สภาพธรรมใดก็ตามซึ่งเป็นที่อาศัยของสภาพธรรมอื่น ในขณะนั้น ไม่จำเป็นต้องเกิดพร้อมกันก็ได้ เป็นนิสสยปัจจัย แต่อัญญมัญญปัจจัยต้องเกิดพร้อมกันด้วย

หมวดต่อไปของนิสสยปัจจัย คือ หมวดที่ ๒ มหาภูตรูป ๔ เป็นนิสสยปัจจัยของมหาภูตรูป ๔ ซึ่งก็แยกออกเป็น ธาตุดินเป็นนิสสยปัจจัยของธาตุน้ำ ธาตุไฟ ธาตุลม ธาตุน้ำเป็นนิสสยปัจจัยของธาตุดิน ธาตุไฟ ธาตุลม ธาตุไฟเป็นนิสสยปัจจัยของธาตุดิน ธาตุน้ำ ธาตุลม และธาตุลมเป็นนิสสยปัจจัยของธาตุดิน ธาตุน้ำ ธาตุไฟกล่าวโดยย่อ คือ มหาภูตรูป ๔ เป็นนิสสยปัจจัยแก่มหาภูตรูป ๔

ถ้าไม่มีธาตุดิน ทั้งธาตุน้ำ ธาตุไฟ ธาตุลมจะมีไม่ได้ เกิดขึ้นไม่ได้ ถ้าไม่มี ธาตุไฟ ทั้งธาตุดิน ธาตุน้ำ ธาตุลมก็มีไม่ได้ เกิดขึ้นไม่ได้ เพราะฉะนั้น ธาตุดินเป็น ที่อาศัยของธาตุน้ำ ธาตุไฟ ธาตุลม และธาตุลมก็เป็นที่อาศัยของธาตุดิน ธาตุน้ำ ธาตุไฟ

หมวดที่ ๓ ปัญจโวการปฏิสนธิจิต คือ ปฏิสนธิจิตในภูมิที่มีขันธ์ ๕ เป็น นิสสยปัจจัยของปฏิสนธิหทยรูป และโดยนัยเดียวกัน ปฏิสนธิหทยรูปก็เป็น นิสสยปัจจัยของปฏิสนธิจิตในภูมิที่มีขันธ์ ๕ เมื่อกล่าวโดยสภาพซึ่งเป็นที่อาศัยจิต ก็ต้องเกิดที่รูป ในภูมิที่มีขันธ์ ๕ จิตจะไม่เกิดนอกรูปเลย ต้องมีรูปหนึ่งรูปใดเป็นที่เกิดเสมอ

หมวดที่ ๔ จิต ๗๕ ดวง และเจตสิกที่เกิดร่วมด้วยเป็นนิสสยปัจจัยของจิตตชรูป แต่อย่าลืม จิตตชรูปไม่ใช่นิสสยปัจจัยของจิต ๗๕ ดวงนั้น แต่จิต ๗๕ ดวงนั้นเป็นที่อาศัยเกิด เป็นสมุฏฐานให้เกิดของจิตตชรูป

หมวดที่ ๕ มหาภูตรูป ๔ เป็นนิสสยปัจจัยให้เกิดอุปาทายรูป ๒๔ เช่นเดียวกัน อุปาทายรูป ๒๔ ไม่ใช่นิสสยปัจจัยของมหาภูตรูป ๔

หมวดที่ ๖ จักขุปสาทรูปเป็นนิสสยปัจจัยของจักขุวิญญาณ ๒ ดวง และเจตสิกที่เกิดร่วมด้วย เพราะการที่จักขุวิญญาณจะเกิด ต้องอาศัยจักขุปสาทรูปเป็นจักขุวัตถุ เพราะฉะนั้น จักขุวัตถุในขณะนี้เป็นที่อาศัยเกิดของจักขุวิญญาณที่กำลังเห็นในขณะนี้

เปิด  169
ปรับปรุง  19 ต.ค. 2566