แนวทางเจริญวิปัสสนา ตอนที่ 1104

สุ. การเกิดขึ้นในภูมิมนุษย์ ซึ่งปฏิสนธิจิตได้ดับไปนานแล้ว เพราะว่าเป็น จิตดวงแรก ขณะแรกที่เกิดขึ้น ปฏิสนธิจิตเป็นวิบากจิต เป็นผลของกรรมหนึ่ง ถ้าเกิดในสุคติภูมิก็เป็นผลของกุศลกรรม ถ้าเกิดในทุคติภูมิก็เป็นผลของอกุศลกรรม และในภูมิที่มีขันธ์ ๕ กรรมไม่ได้ทำให้เพียงปฏิสนธิจิตและเจตสิกเกิดเท่านั้น ยังมีกัมมชรูป ซึ่งถ้าเป็นในภูมิมนุษย์ที่เกิดในครรภ์ ในทันทีที่ปฏิสนธิจิตเกิดขึ้นจะมีกัมมชกลาป รวม ๓ กลาปเกิดขึ้นด้วย

กลาป หรือกลาปะในภาษาบาลี หมายความถึงกลุ่มของรูป เพราะรูปจะเกิดขึ้นเพียงลำพังรูปเดียวไม่มี อย่างน้อยที่สุดต้องมีรูปเกิดพร้อมกัน ๘ รูป คือ ธาตุดิน ธาตุน้ำ ธาตุไฟ ธาตุลม เป็นมหาภูตรูป ๔ และรูปซึ่งอาศัยเกิดกับมหาภูตรูปอีก ๔ คือ สี กลิ่น รส โอชา อีก ๔ รูป ซึ่งไม่ใช่มหาภูตรูป แต่เป็นรูปที่เกิดโดยอาศัยมหาภูตรูป ชื่อว่าอุปาทายรูป

เพราะฉะนั้น รูป ๘ รูป ไม่แยกจากกันเลย คือ ธาตุดิน ธาตุน้ำ ธาตุไฟ ธาตุลม ๔ รูป และสี กลิ่น รส โอชา อีก ๔ เป็น ๘ รูป

และสำหรับรูปซึ่งเกิดเพราะกรรมเป็นปัจจัย จะต้องมีชีวิตรูปรวมอยู่ด้วย ซึ่งทำให้รูปนั้นมีลักษณะเป็นรูปที่ทรงชีวิต เป็นลักษณะของรูปซึ่งมีชีวิตต่างกับรูปอื่นๆ ที่ไม่ได้เกิดขึ้นเพราะกรรมอีกรูปหนึ่ง รวมเป็น ๙ รูป

เพราะฉะนั้น สำหรับ ๓ กลาป จะประกอบด้วยรูปกลุ่มละ ๑๐ คือ นอกจากจะมีธาตุดิน ธาตุน้ำ ธาตุไฟ ธาตุลมที่เป็นมหาภูตรูป มีสี กลิ่น รส โอชาที่เป็น อุปาทายรูป และมีชีวิตรูปอีกหนึ่งรูป รวมเป็น ๙ รูป ยังมีกายปสาทอีก ๑ รูป เป็น ๑๐ รูป ซึ่งในขณะที่ปฏิสนธิจิตเกิดขึ้นรูปนั้น ทั้ง ๓ กลาปหรือทั้ง ๓ กลุ่มของรูปเป็นรูปที่เล็กมาก แต่ให้ทราบว่า แม้จะเล็กเพียงไรก็ตามในกลุ่มหนึ่งๆ หรือกลาปหนึ่งๆ จะมีรูปรวมกัน ๑๐ รูป

กลุ่มหนึ่งเป็นกายทสกะ ได้แก่ กลุ่มของกายกลุ่มหนึ่ง อีกกลุ่มหนึ่ง คือ ภาวทสกะ ได้แก่ มหาภูตรูป ๔ อุปาทายรูป ๔ ชีวิตรูป ๑ และอิตถีภาวะ ๑ ถ้าเป็นเพศหญิง หรือปุริสภาวะอีก ๑ ถ้าเป็นเพศชาย รวมเป็น ๑๐ รูป เรียกว่าภาวทสกะและอีกกลุ่มหนึ่งซึ่งเป็นที่เกิดของจิต คือ หทยทสกะ ซึ่งต้องประกอบด้วยรูป ๑๐ รูป คือ มหาภูตรูป ๔ อุปาทายรูป ๔ ชีวิตรูป ๑ และหทยวัตถุ คือ รูปซึ่งเป็นที่เกิดของจิตอีกหนึ่งรูปในกลุ่มนั้น รวมเป็นหทยทสกะ คือ กลุ่มของหทัยซึ่งเป็นที่เกิดของจิต

เพราะฉะนั้น กรรมทำให้กัมมชรูป ๓ กลุ่มเกิดพร้อมกับปฏิสนธิจิตในอุปาทขณะ แต่ถ้าปฏิสนธิจิตไม่เกิด กัมมชรูป ๓ กลุ่มนี้ก็เกิดไม่ได้

สำหรับปฏิสนธิจิตในภูมิที่มีขันธ์ ๕ เป็นสหชาตปัจจัยให้กัมมชรูป ๓ กลุ่มเกิดขึ้น ซึ่งได้เป็นไปแล้วพร้อมกันทันทีในขณะที่ปฏิสนธิจิตเกิดขึ้น โดยนัยเดียวกัน หทยวัตถุในขณะปฏิสนธิซึ่งเกิดพร้อมกับอุปาทขณะของจิต ก็เป็นสหชาตปัจจัยของปฏิสนธิจิต แต่ว่ากัมมชกลาปอีก ๒ กลาป ไม่เป็นปัจจัยให้ปฏิสนธิจิตเกิด เพราะว่าจิตไม่ได้เกิดที่กายทสกะ หรือภาวทสกะ แต่เกิดที่กลุ่มของรูปที่เป็นหทยทสกะเท่านั้น

สหชาตปัจจัยหมวดนี้ คือ ปฏิสนธิจิตในภูมิที่มีขันธ์ ๕ เป็นสหชาตปัจจัยให้แก่ปฏิสนธิหทยวัตถุในอุปาทขณะ และปฏิสนธิหทยวัตถุเป็นสหชาตปัจจัยให้ปฏิสนธิจิตเกิดขึ้นในอุปาทขณะ

ถ้าท่านผู้ฟังสังเกต จะเห็นได้ว่า กล่าวถึงเฉพาะหทยวัตถุในปฏิสนธิขณะ คือ หมายถึงปฏิสนธิหทยวัตถุรูป รูปเดียวที่เป็นสหชาตปัจจัยของปฏิสนธิจิตในภูมิที่มีขันธ์ ๕ เพราะเหตุใด เพราะว่ารูปอื่น หรือขณะอื่นที่นอกจากปฏิสนธิขณะ ที่รูปจะเป็นปัจจัยให้เกิดจิตก็ดี หรือจะเป็นทวารให้จิตรู้อารมณ์ก็ดี หรือว่าจะเป็นอารมณ์ให้ จิตรู้ก็ดี รูปทั้งหมดที่จะเป็นปัจจัยได้ในขณะอื่นนอกจากปฏิสนธิกาล ต้องเป็นรูปในขณะฐีติขณะของรูป

รูปมีอายุเท่ากับจิตเกิดดับ ๑๗ ขณะ เพราะฉะนั้น ในอุปาทขณะของจิต ถ้ารูปนั้นเกิดในขณะนั้น รูปนั้นไม่สามารถเป็นปัจจัยให้แก่จิตได้เลย เป็นทวารไม่ได้ เป็นวัตถุไม่ได้ เป็นอารมณ์ไม่ได้ นอกจากเฉพาะในปฏิสนธิกาล คือ ในขณะเกิดขึ้นขณะเดียวเท่านั้น ซึ่งปฏิสนธิหทยวัตถุเป็นปัจจัยให้ปฏิสนธิจิตได้ในอุปาทขณะของรูป นอกจากนั้นแล้ว รูปไม่มีโอกาสเป็นปัจจัยในอุปาทขณะของรูปได้เลย รูปทุกรูปที่จะเป็นปัจจัยโดยเป็นทวารก็ดี โดยเป็นวัตถุคือเป็นที่เกิดก็ดี หรือโดยเป็นอารมณ์ก็ดี จะต้องเป็นปัจจัยในฐีติขณะเท่านั้น ซึ่งจะเห็นได้ในวีถีจิตว่า ขณะที่รูปเกิดกระทบภวังค์ ขณะนั้นจิตไม่สามารถจะรู้หรือมีรูปนั้นเป็นอารมณ์ได้ทันที ต้องเป็นในฐีติขณะของรูปเสมอ เว้นขณะเดียว คือ ในปฏิสนธิขณะเท่านั้น ซึ่งรูปสามารถเป็นปัจจัยได้ใน อุปาทขณะ

. ในขณะที่ปฏิสนธิจิตเกิด อาจารย์กล่าวว่า มีรูปกลาป คือ มี กายทสกกลาป ภาวทสกกลาป และหทยทสกกลาปเกิดพร้อมกับปฏิสนธิจิต ใช่ไหม

สุ. ในภูมิที่มีขันธ์ ๕ สำหรับผู้ที่เกิดในครรภ์ ถ้าเกิดเป็นโอปปาติกะ หรือ ในกำเนิดอื่น ก็จะมีกลาปมากกว่านั้น

. อย่างในมนุษย์ ขณะที่ปฏิสนธิจิตเกิด รูป ๓๐ รูปนี้ต้องเกิดพร้อมกับปฏิสนธิจิต และรูป ๓๐ รูปนี้ถือว่าเป็นสหชาตปัจจัยของปฏิสนธิจิต

สุ. มีกลุ่มของรูป ๓ กลุ่มเกิดพร้อมกับปฏิสนธิจิตในอุปาทขณะ ปฏิสนธิจิตเป็นสหชาตปัจจัยของกัมมชรูป ๓ กลุ่ม นี่ตอนหนึ่ง คือ ปฏิสนธิจิตเป็นสหชาตปัจจัยให้เกิดกัมมชรูป ๓ กลุ่ม แต่ว่าในกัมมชรูป ๓ กลุ่ม เฉพาะกลุ่มเดียว คือ ปฏิสนธิหทยวัตถุที่ในหทยทสกกลาปเป็นปัจจัยให้เกิดปฏิสนธิจิตได้ แต่อีก ๒ กลุ่มไม่เป็นปัจจัย

เพราะฉะนั้น ปฏิสนธิจิตเป็นปัจจัยแก่กัมมชรูป ๓ กลาป และปฏิสนธิหทยวัตถุเป็นปัจจัยแก่ปฏิสนธิจิต เฉพาะกลาปเดียว จะต้องทราบอย่างละเอียดว่า มี ๓ กลาป ซึ่งเป็นกัมมชรูปเกิดขึ้นเพราะปฏิสนธิจิตเป็นปัจจัย แต่ว่าใน ๓ กลาปนั้น เฉพาะปฏิสนธิหทยวัตถุรูปเท่านั้นที่เป็นสหชาตปัจจัยให้ปฏิสนธิจิตเกิด กัมมชกลาปอีก ๒ กลาป คือ ภาวทสกกลาปและกายทสกกลาปไม่เป็นสหชาตปัจจัยให้เกิดปฏิสนธิจิต

เกิดพร้อมกันจริง ปฏิสนธิจิตเป็นปัจจัย กัมมชกลาป ๓ กลุ่มเป็นปัจจยุปบัน แต่ใน ๓ กลุ่มนั้น กลุ่มหนึ่ง คือ ปฏิสนธิหทยวัตถุรูปเป็นสหชาตปัจจัยให้เกิด ปฏิสนธิจิต

เพราะฉะนั้น เรื่องของปัจจัยต้องแยกกับเรื่องของปัจจยุปบัน ถ้าจะเอาปัจจัยปนกับปัจจยุปบันจะทำให้เข้าใจสภาพธรรมคลาดเคลื่อน สภาพธรรมใดซึ่งเป็นปัจจัย ทำให้สภาพธรรมอื่นเกิดขึ้น ไม่ได้หมายความว่าสภาพธรรมอื่นซึ่งเกิดเพราะปัจจัยนั้นจะเป็นปัจจัยด้วย แม้ว่าสหชาตปัจจัย คือ ปัจจัยและปัจจยุปบันจะเกิดพร้อมกัน แต่ก็ต้องทราบว่า ในสภาพธรรมซึ่งเกิดพร้อมกัน คือ เป็นปัจจัยและปัจจยุปบันนั้น สภาพธรรมใดเป็นปัจจัย และสภาพธรรมใดเป็นปัจจยุปบัน

ขอเรียนถามว่า กัมมชรูปในขณะอื่นเกิดขึ้นเพราะอะไรเป็นปัจจัย

กัมมชรูป ชื่อบอกแล้ว เพราะกรรมเป็นปัจจัย ไม่มีจิตเป็นปัจจัยเกิดได้ไหม กัมมชรูปในขณะอื่น ไม่มีจิตเป็นปัจจัย เกิดได้ไหม ได้ เพราะว่ารูปนั้นเกิดขึ้นเพราะกรรม เฉพาะในขณะปฏิสนธิเท่านั้นที่จะต้องอาศัยจิตเป็นสหชาตปัจจัย แต่ไม่ใช่เพราะจิตเป็นสมุฏฐาน อย่าลืม กัมมชรูปยังคงเกิดเพราะกรรมเป็นปัจจัย ไม่ได้เกิดเพราะจิตเป็นสมุฏฐาน แต่ที่กัมมชรูปในขณะแรกจะเกิดขึ้นได้ในภูมิหนึ่งภูมิใดเป็นครั้งแรกนั้นต้องอาศัยปฏิสนธิจิตเป็นสหชาตปัจจัย แต่กัมมชรูปนั้นก็ยังคงเป็นรูปที่เกิดเพราะกรรมเป็นสมุฏฐาน เพราะฉะนั้น หลังจากอุปาทขณะของปฏิสนธิจิตแล้ว กัมมชรูปทั้งหมดเกิดขึ้นโดยไม่ต้องอาศัยจิต

ตัวอย่างในนิโรธสมาบัติ จิต เจตสิกดับ กัมมชรูปยังเกิดดับสืบต่ออยู่เรื่อยๆ นี่เป็นความต่างกันของผู้ที่เป็นพระอนาคามีบุคคลหรือผู้ที่เป็นพระอรหันต์ซึ่งได้ อรูปฌานที่ ๔ คือ เนวสัญญานาสัญญายตนฌาน สามารถดับจิต เจตสิกได้ไม่เกิน ๗ วัน ในระหว่างนั้นจิตเจตสิกไม่เกิดเลย แต่กัมมชรูปเกิด เพราะฉะนั้น กัมมชรูปเกิดขึ้นเพราะกรรมเป็นสมุฏฐาน แต่ว่าเฉพาะในครั้งแรกในภพนี้ชาตินี้ใน ปฏิสนธิขณะนั้น จะต้องอาศัยจิตเป็นสหชาตปัจจัยจึงจะเกิดได้

อสัญญสัตตาพรหมบุคคลมีแต่รูปปฏิสนธิ ในขณะปฏิสนธินั้นกัมมชรูปเกิด ไม่ต้องอาศัยจิตสำหรับในภูมินั้น แต่ในภูมิที่มีขันธ์ ๕ แม้รูปจะเกิดเป็นครั้งแรก แม้รูปนั้นจะเป็นกัมมชรูป คือ รูปซึ่งเกิดเพราะกรรม มีกรรมเป็นสมุฏฐาน แต่ในขณะแรกที่เกิดก็ยังต้องอาศัยปฏิสนธิจิตเป็นสหชาตปัจจัย

หมวดที่ ๔ สำหรับสหชาตปัจจัย จะมีสภาพธรรมอะไรอีกไหมซึ่งเกิดพร้อมกัน

จิตและเจตสิก เป็นหมวดที่ ๑

มหาภูตรูป ๔ เป็นหมวดที่ ๒

ปฏิสนธิจิตในภูมิที่มีขันธ์ ๕ และปฏิสนธิหทยวัตถุ เป็นหมวดที่ ๓

หมวดที่ ๔ คือ จิตและเจตสิกเป็นสหชาตปัจจัยให้เกิดจิตตชรูป

เรื่องของสหชาตปัจจัย ถ้าศึกษาโดยย่อก็ย่อมาก คือ สภาพธรรมใดที่เกิดพร้อมกันในขณะนั้นเป็นสหชาตปัจจัย แต่ถ้าศึกษาให้ละเอียดจะต้องแยกออก เช่น จิตเป็นสหชาตปัจจัยให้จิตตชรูปเกิดขึ้น ถ้าใช้คำว่าสหชาตปัจจัยก็หมายความว่า จิตตชรูปที่เกิดเพราะจิตเป็นสมุฏฐานนั้น ต้องเกิดพร้อมกับจิตในอุปาทขณะของจิต จึงจะเป็นสหชาตปัจจัย ถ้าเกิดก่อน หรือเกิดหลัง ไม่ชื่อว่าเป็นสหชาตปัจจัย เพราะฉะนั้น รูปทั้งหมดที่เป็นจิตตชรูป จะต้องเกิดพร้อมกับอุปาทขณะของจิต

และสำหรับจิตซึ่งเป็นปัจจัยให้จิตตชรูปเกิด ก็เว้นทวิปัญจวิญญาณ ๑๐ อรูปวิบาก ๔ ปฏิสนธิจิต ๑ และจุติจิตของพระอรหันต์ ๑ รวมทั้งหมดเป็นจิต ๑๖ ดวง ซึ่งไม่เป็นปัจจัยให้รูปเกิดขึ้น

ขณะเห็น เฉพาะจักขุวิญญาณไม่เป็นปัจจัยให้จิตตชรูปเกิด สัมปฏิจฉันนะ สันตีรณะ โวฏฐัพพนะ ชวนะ เป็นปัจจัยให้จิตตชรูปเกิด มีใครสั่งหรือเปล่า

สำหรับเรื่องที่จะเข้าใจว่า จิตสั่ง บางท่านดูเหมือนว่าเข้าใจ พอใครบอกว่า จิตสั่ง ก็เข้าใจว่าจิตสั่งให้รูปเกิด มิฉะนั้นแล้วจะไม่มีการเดิน การพูด หรือการกระทำกิจการงานต่างๆ แต่ถ้าจะพิจารณาให้ละเอียดจริงๆ ให้เข้าใจจริงๆ ก็ต้องคิดตั้งแต่ คำว่า จิตสั่ง ที่เรียกว่า สั่ง คืออย่างไร มีใครจะตอบได้ไหมว่า สั่ง คืออย่างไร ที่จะใช้คำว่า จิตสั่ง

ผู้ฟัง … (ได้ยินไม่ชัด)

สุ. เพราะฉะนั้น จิตสั่งไม่ได้ใช่ไหม ถ้ามีท่านผู้ใดที่เข้าใจว่าจิตสั่ง เพราะดูเหมือนพอบอกว่า จิตสั่ง ใครๆ ก็เข้าใจว่า ถูกจิตสั่ง มิฉะนั้นแล้วรูปก็จะเคลื่อนไหวประกอบกิจการงานต่างๆ ไม่ได้ ทำให้ดูเหมือนว่าจิตสั่ง แต่ถ้าพิจารณาจริงๆ จะต้องพิจารณาแม้แต่ในความหมายของคำว่า สั่ง ว่าคืออย่างไร คืออะไรที่ว่าสั่ง

ผู้ฟัง เรื่องจิตสั่ง ผมไม่เห็นด้วย เพราะไปขัดกับหลักธรรมที่ว่า สพฺเพ ธมฺมา อนตฺตา ธรรมทั้งหลายบังคับบัญชาไม่ได้ แต่ว่าเท่าที่ผมได้ยินได้ฟังมาในการบรรยายธรรมตามสถานที่ต่างๆ ทางวิทยุก็ดีนั้น พอจะจับใจความได้ว่า ท่านผู้บรรยายธรรมเหล่านั้น ท่านใช้คำว่าจิตสั่ง เป็นต้นว่า ผมยืนอยู่นี่เพราะจิตสั่งให้ยืน แต่ผมว่าไม่ใช่จิตสั่ง เพราะว่าขัดกับหลักธรรมตามที่กล่าวมาแล้ว ซึ่งท่านผู้บรรยายธรรมก็ถามว่า ที่โยมยืนอยู่นี่ ยืนเพราะอะไร เราเถียงท่าน ท่านก็ว่า โยมไปคิดดูใหม่ก็แล้วกัน

สุ. แต่ต้องพิจารณา แม้คำว่าสั่ง ที่ว่าสั่งนั้นคืออะไร

ผู้ฟัง อย่างเหยียดแขน เพราะจิตสั่งให้เหยียด จึงเหยียดออกไป

สุ. สั่งคืออะไร ที่ว่าสั่ง ดูเหมือนว่าจะเข้าใจ แต่ถ้าพิจารณาจริงๆ ต้องพิจารณาตั้งแต่แม้คำว่า สั่ง คืออะไร คืออย่างไร และเมื่อไรที่ว่าสั่ง

ผู้ฟัง เคยเรียนถาม ท่านก็ว่า ไม่อธิบายในข้อนี้ แต่ท่านว่า ที่โยมนั่ง ไม่ใช่เพราะจิตสั่งหรือ ผมก็ว่า ไม่ใช่

สุ. จิตเป็นสภาพรู้

ผู้ฟัง ท่านก็ไม่อธิบาย พูดไปพูดมา ก็ตกลงกันไม่ได้ ท่านก็บอกว่า โยมไปคิดดูใหม่ก่อน และวันหลังก็ไม่ได้เอามาพูดกันอีก เดี๋ยวนี้ทางวิทยุก็ยังพูดกันอยู่ และท่านก็มักจะพูดว่า จิตเป็นประธาน เป็นหัวหน้าของธรรมทั้งหลาย ท่านอ้างอย่างนี้ แต่ผมไปอ่านหนังสือพบข้อความว่า ถ้าจิตสั่งได้ ร่างกายก็คงไม่เปื่อย ไม่แก่ ความจริงสั่งไม่ได้ ขัดกับหลักที่ว่า สพฺเพ ธมฺมา อนตฺตา ธรรมทั้งหลายเป็นอนัตตา แต่ท่านเหล่านั้นท่านมองข้ามไปหมด

สุ. โดยมากเวลาที่ใช้คำว่า สั่ง ท่านเข้าใจความหมายนี้ว่าอย่างไร

ผู้ฟัง ก็แปลว่า บังคับบัญชาให้ทำไปตามที่จิตต้องการ เข้าใจว่าอย่างนั้น

สุ. ต้องพูดหรือเปล่าที่ว่าสั่ง หรือว่าไม่ต้องพูด จิตนึกหรือเปล่าขณะนั้น

ผู้ฟัง นึก

สุ. นึก คือ รู้คำหรือเปล่า

ผู้ฟัง ใช่

สุ. ถ้าขณะนั้นจิตรู้คำ ก็ไม่ได้สั่งอะไร เพราะจิตเป็นสภาพที่รู้คำ และก็ดับ

เปิด  183
ปรับปรุง  19 ต.ค. 2566