แนวทางเจริญวิปัสสนา ตอนที่ 919

สำหรับอารมณ์สมถภาวนาทั้งหมด ๔๐ ได้กล่าวถึงแล้ว ๓๖ อารมณ์ ยังเหลืออยู่เพียง ๔ คือ อรูปกัมมัฏฐาน ๔ ได้แก่ อากาสานัญจายตนะ อรูปฌานที่ ๑ วิญญาณัญจายตนะ อรูปฌานที่ ๒ อากิญจัญญายตนะ อรูปฌานที่ ๓ และ เนวสัญญานาสัญญายตนะ อรูปฌานที่ ๔

ความสงบของจิตที่จะถึงฌานจิตตามลำดับขั้น คือ จากปฐมฌานจนกระทั่งถึงปัญจมฌาน และความสงบที่ละเอียดประณีตยิ่งกว่าฌานซึ่งมีรูปเป็นอารมณ์ก็มี คือ ฌานที่ไม่มีรูปเป็นอารมณ์ ได้แก่ อรูปฌาน

สำหรับอรูปฌาน จะต้องเจริญหลังจากที่บุคคลนั้นได้เจริญรูปฌานถึงฌานที่ ๕ คือ ปัญจมฌานก่อน จึงจะเจริญอรูปฌานขั้นต่อไปได้ เพราะเห็นโทษของรูปว่า ตราบใดที่ยังมีรูปอยู่ ย่อมใกล้ชิดต่อการที่จะเกิดความยินดียินร้ายขึ้น เพราะฉะนั้น ถ้าไม่มีรูปนิมิตเป็นอารมณ์ ย่อมจะทำให้จิตสงบประณีตขึ้น แต่ไม่ใช่ว่าโดยง่ายอีกเหมือนกัน

บางท่านนั่งไปสักหน่อยท่านก็กล่าวว่า ท่านถึงอรูปฌานที่ ๑ อีกแล้ว แต่อย่างนั้นจะไม่ชื่อว่าเป็นฌานไหนๆ ทั้งสิ้น เพราะไม่ประกอบด้วยสติสัมปชัญญะที่รู้ลักษณะสภาพของจิตที่สงบแม้เพียงชั่วขณะเล็กน้อยตั้งแต่ในขั้นต้น จนถึงความสงบที่มั่นคงขึ้น

สำหรับอรูปฌานที่ ๑ คือ อากาสานัญจายตนฌาน จะเจริญได้สำหรับผู้ที่เจริญกสิณ ๑๐ เว้นอากาสกสิณ หรือกสิณที่มีอากาศ ความว่างเป็นอารมณ์ ๑ กสิณ ซึ่งอากาสกสิณนั้นไม่สามารถที่จะเจริญต่อให้ถึงอากาสานัญจายตนฌานได้เพราะฉะนั้น คงเหลือกสิณ ๙ เท่านั้น ที่จะต่อไปจนถึงอรูปฌานที่ ๑ คือ อากาสานัญจายตนฌานได้

สำหรับปฐวีกสิณ เตโชกสิณ อาโปกสิณ วาโยกสิณ คือ ภูตกสิณ ๔ และวัณณกสิณ ๔ คือ นีลกสิณ โลหิตกสิณ ปีตกสิณ โอทาตกสิณ ซึ่งนีลกสิณ คือ กสิณที่มีสีเขียวเข้มเป็นอารมณ์ โลหิตกสิณ กสิณที่มีสีแดงเป็นอารมณ์ ปีตกสิณ กสิณที่มีสีเหลืองเป็นอารมณ์ โอทาตกสิณ กสิณซึ่งมีสีขาวเป็นอารมณ์ และ อาโลกกสิณอีก ๑ ซึ่งมีแสงสว่างเป็นอารมณ์ รวมเป็น ๙ กสิณ

ผู้ที่เจริญฌานโดยอาศัยกสิณหนึ่งกสิณใดใน ๙ กสิณ และมีนิมิตเกิดขึ้นเป็นอารมณ์ คือ ปฏิภาคนิมิต ซึ่งเป็นนิมิตที่ผ่องใส ทำให้จิตสงบมั่นคงในขณะนั้น จนถึงปฐมฌาน ทุติยฌาน ต่อไปถึงตติยฌาน จตุตถฌาน และปัญจมฌาน ซึ่งบุคคลที่จะเจริญจนถึงอรูปฌาน คือ อากาสานัญจายตนฌานที่ ๑ ต้องมีความชำนาญที่จะขยายนิมิตให้กว้างออกจนถึงทั่วจักรวาล และเมื่อนิมิตนั้นสามารถที่จะขยายออก กว้างออก กว้างออก จึงจะเห็นว่าอากาศไม่มีที่สุด เพราะนิมิตนี้สามารถขยายกว้างออกไปตามการไม่มีที่สุดของอากาศได้ เพราะฉะนั้น บุคคลนั้น เมื่อเห็นโทษของปฏิภาคนิมิตซึ่งเป็นรูปที่เป็นอารมณ์แล้ว ก็เห็นว่า การใฝ่ใจถึงความไม่มีที่สุดของอากาศย่อมละเอียดกว่า ทำให้จิตสงบกว่าการที่จะมีเพียงปฏิภาคนิมิตของรูปกสิณเป็นอารมณ์ เพราะฉะนั้น จึงไม่ใส่ใจถึงปฏิภาคนิมิตซึ่งเป็นอารมณ์ที่ขยายกว้างออกไปๆ โดยการน้อมระลึกถึงความไม่มีที่สิ้นสุดของอากาศแทน เพราะฉะนั้น เวลาที่จิตไม่มีปฏิภาคนิมิตเป็นอารมณ์ แต่มีอากาศซึ่งไม่มีที่สุดเป็นอารมณ์ ขณะนั้น อุปจารสมาธิก็เกิด และเมื่ออัปปนาสมาธิเกิด ขณะนั้นก็มีอากาศซึ่งไม่ใช่รูปนิมิตเป็นอารมณ์ บุคคลนั้นก็บรรลุอรูปฌานที่ ๑ คือ อากาสานัญจายตนฌาน

จะถึงไหมในชาตินี้

แต่ว่าจะเจริญสติปัฏฐานเป็นปกติได้ในชีวิตประจำวัน เพราะถึงแม้ว่าจะได้ฌาน หรือว่ามีความชำนาญมาก ฌานจิตสามารถจะเกิดก่อนจุติทำให้ไปเกิดใน พรหมโลกก็ตาม สังสารวัฏฏ์ก็ไม่มีที่สุด ตราบใดที่ยังไม่รู้แจ้งสภาพธรรมที่กำลังเกิดดับตามปกติในขณะนี้

นี่เป็นอรูปฌานที่ ๑ ซึ่งบุคคลในครั้งนั้น ก่อนที่พระผู้มีพระภาคจะตรัสรู้ ได้แสวงหาหนทางที่จะดับกิเลส แต่เมื่อไม่ได้อบรมเจริญปัญญาที่จะรู้แจ้งอริยสัจธรรมเป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า และพระผู้มีพระภาคก็ยังไม่อุบัติ บุคคลในครั้งนั้นก็สามารถที่จะอบรมความสงบของจิตจนกระทั่งถึงรูปฌานจิตบ้าง หรืออรูปฌานจิต ขั้นต่างๆ บ้าง

สำหรับความสงบของอรูปฌานจิตขั้นต่อไป คือ ผู้ที่เห็นโทษของการมีอากาศที่ไม่มีที่สิ้นสุดเป็นอารมณ์ว่า วิญญาณหรือจิตซึ่งกำลังมีอากาศที่ไม่มีที่สิ้นสุดเป็นอารมณ์นั้น ละเอียดกว่า ประณีตกว่าการมีอากาศไม่มีที่สิ้นสุดเป็นอารมณ์ เพราะจิตซึ่งมีอากาศที่ไม่มีที่สุดเป็นอารมณ์ ต้องเป็นจิตที่สงบ ประณีต ละเอียด และมั่นคงมาก เพราะฉะนั้น จึงใฝ่ใจในลักษณะของจิตซึ่งมีอากาศเป็นอารมณ์ จนกระทั่งอุปจารสมาธิเกิด และอัปปนาสมาธิเกิดเมื่อไร เมื่อนั้นก็เป็นอรูปฌานจิตที่ ๒ โดยมีจิตซึ่งมีอากาศที่ไม่มีที่สุดเป็นอารมณ์ เป็นอารมณ์ของอรูปฌานที่ ๒ ชื่อว่า วิญญาณัญจายตนฌาน

นี่เป็นความสงบ ละเอียด ประณีตของอรูปฌานจิตที่ ๒ แต่ยังมีความสงบยิ่งกว่านั้นอีก เวลาที่ผู้นั้นระลึกรู้ว่า แม้แต่การมีวิญญาณเป็นอารมณ์ ก็ยังละเอียด ประณีตไม่เท่ากับการไม่มีอะไรเลยเป็นอารมณ์ เพราะถ้ายังมีวิญญาณเป็นอารมณ์อยู่ ก็ยังไม่ประณีตเท่ากับไม่มีอะไรเลย เพราะฉะนั้น ผู้ที่สามารถจะถึงความสงบที่มั่นคง และเห็นโทษของการมีวิญญาณเป็นอารมณ์ ก็ใฝ่ใจถึงไม่มีอะไรเลยสักนิดเดียวที่จะเป็นอารมณ์ แทนที่จะมีวิญญาณซึ่งเป็นอรูปฌานจิตที่ ๑ คือ อากาสานัญจายตนจิตเป็นอารมณ์ จนกระทั่งอุปจารสมาธิเกิด และถึงอัปปนาสมาธิ เป็นอากิญจัญญายตนฌาน คือ จิตที่สงบ ประณีต ละเอียด โดยไม่มีแม้วิญญาณัญจายตนจิตเป็นอารมณ์ นี่เป็นอรูปฌานที่ ๓

ก็คงไม่หวังอีกใช่ไหม เพราะไม่มีหวังตั้งแต่ขั้นต้นแล้ว คือ ฌานจิต ไม่ใช่เรื่องที่จะเกิดขึ้นได้โดยง่าย แต่เพราะไม่มีมรรคมีองค์ ๘ บุคคลในสมัยโน้นก็พยายาม ทุกทางที่จะให้สงบขึ้น จนกระทั่งผู้ที่เห็นโทษของอากิญจัญญายตนฌานที่ ๓ ก็มีสติระลึกรู้ว่า แท้ที่จริงในขณะที่กำลังไม่มีอะไรเป็นอารมณ์เลย ก็ยังมีสัญญาความทรงจำ ซึ่งละเอียดประณีตเหลือเกินเป็นอารมณ์ในขณะนั้น เพราะที่จะปราศจากสัญญาโดยเด็ดขาด โดยสิ้นเชิงนั้นไม่มี แต่ว่าสัญญามีหลายระดับ ขณะที่กำลังเห็นเป็นสัญญา ในสิ่งที่ปรากฏทางตา พอเห็นอีกก็จำได้ ขณะที่ได้ยินก็มีสัญญาที่จำเสียงที่ปรากฏทางหู เวลาได้ยินอีกก็รู้ว่าเป็นอะไร สัญญาที่ปรากฏกับจิตที่รู้กลิ่นก็ยังหยาบ และสัญญาก็มีอยู่ทุกขณะจิต แล้วแต่ว่าสัญญาจะเกิดกับจิตอะไร กำลังคิดนึก จำเรื่องต่างๆ ที่กำลังคิดได้ ขณะนั้นก็เป็นสัญญาประเภทหนึ่ง ซึ่งไม่ได้จำเสียง แต่จำเรื่องต่างๆ เคยมีความสุขอย่างไร จำได้ สภาพธรรมที่จำนั้น ก็คือสัญญา

สัญญามีมาก สำหรับผู้ที่ยังไม่ได้ประจักษ์แจ้งในลักษณะของนามธรรมและรูปธรรม ก็มีสัญญาในสิ่งที่ปรากฏ เป็นสัตว์ เป็นบุคคล เป็นวัตถุต่างๆ แต่เวลาที่อบรมเจริญปัญญามากขึ้น เวลาที่นามธรรมและรูปธรรมปรากฏโดยสภาพที่ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน สัญญาก็จำลักษณะของนามธรรม และลักษณะของรูปธรรม เป็นสัญญาอีกขั้นหนึ่ง

เพราะฉะนั้น ไม่ว่าบุคคลนั้นจะเจริญสมถภาวนา หรือว่าสติปัฏฐาน สัญญาซึ่งเกิดกับจิตแต่ละขณะก็จำลักษณะของอารมณ์ในขณะนั้น เพราะฉะนั้น เวลาที่จิตเป็นอากิญจัญญายตนฌาน มีสติสัมปชัญญะที่จะระลึกได้ รู้ว่าในขณะที่ไม่มีอะไรเป็นอารมณ์ สัญญา จำว่าไม่มีอะไรเป็นอารมณ์ ก็ยังคงเป็นความจำ แต่ว่าสัญญานั้นละเอียดประณีตเสมือนกับว่า เป็นสัญญาก็ไม่ใช่ ไม่ใช่สัญญาก็ไม่ใช่ เพราะฉะนั้น ในขณะที่จิตมีสัญญาก็ไม่ใช่ ไม่ใช่สัญญาก็ไม่ใช่ เป็นสัญญาที่ละเอียดเป็นอารมณ์มั่นคงขึ้นจนเป็นอุปจารสมาธิ และถึงอัปปนาสมาธิ จึงเป็นเนวสัญญานาสัญญายตนฌาน เป็นอรูปฌานขั้นสูงที่สุด ไม่มีฌานจิตที่สูงกว่านั้น

ในสมัยที่พระผู้มีพระภาคยังไม่ได้ตรัสรู้พระอนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณ พระองค์เสด็จไปศึกษากับอาฬารดาบส จนกระทั่งทรงบรรลุถึงอากิญจัญญายตนฌาน ซึ่งอาฬารดาบสเข้าใจว่า เป็นการรู้แจ้งธรรมดับกิเลสแล้ว เพราะเป็นจิตที่ละเอียดประณีตสงบมาก แต่ด้วยพระบารมีที่ได้ทรงบำเพ็ญมาจึงทำให้พระองค์ทรงทราบว่า นั่นไม่ใช่การดับกิเลสเป็นสมุจเฉท จึงได้เสด็จจากอาฬารดาบสไปศึกษาต่อกับ อุทกดาบส และทรงบรรลุถึงเนวสัญญานาสัญญายตนฌาน ซึ่งอุทกดาบสเข้าใจว่า ดับกิเลสได้แล้ว แต่ด้วยพระบารมีที่ได้ทรงอบรมมาทำให้พระองค์ทรงทราบว่า กิเลสยังไม่ได้ดับเป็นสมุจเฉท เพราะฉะนั้น จึงได้เสด็จจากอุทกดาบสไป

และยังมีความชำนาญของฌานแต่ละขั้น ซึ่งบุคคลใดบรรลุถึงปฐมฌานและชำนาญแล้ว ก็สามารถที่จะให้ฌานจิตเกิดได้อย่างรวดเร็วตามกำหนดเวลาที่ต้องการ ชื่อว่าฌานสมาบัติ ระหว่างที่จิตไม่ได้เกิดรู้อารมณ์อื่นทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ ขณะที่เป็นฌานจิตเกิดติดต่อกัน ขณะนั้นชื่อว่าฌานสมาบัติ

สำหรับผู้ที่ได้เจริญสติปัฏฐานจนกระทั่งเป็นพระอริยบุคคล และเป็นผู้ที่เคยอบรมเจริญฌาน มีความชำนาญแคล่วคล่องมาแล้ว เวลาที่ฌานจิตของ พระอริยบุคคลเกิด มีนิพพานเป็นอารมณ์ ชื่อว่าผลสมาบัติ

นี่เป็นความต่างกันของฌานสมาบัติ กับผลสมาบัติ

ยังมีสมาบัติอีกสมาบัติหนึ่ง เป็นสมาบัติพิเศษสำหรับพระอนาคามีบุคคล ผู้ได้บรรลุฌานจิตถึงเนวสัญญานาสัญญายตนฌานแล้ว สามารถที่จะเข้า นิโรธสมาบัติ คือ ดับจิตเจตสิกไม่ให้เกิดชั่วระยะหนึ่ง แต่ไม่เกิน ๗ วัน ชื่อว่า นิโรธสมาบัติ ซึ่งพระโสดาบันบุคคลก็ดี พระสกทาคามีบุคคลก็ดี ไม่สามารถที่จะดับจิตเจตสิกได้ ถึงแม้ว่าพระโสดาบันบุคคลหรือพระสกทาคามีบุคคลนั้นจะสามารถบรรลุถึงเนวสัญญานาสัญญายตนฌานแล้วก็ตาม

และสำหรับพระอนาคามีบุคคลซึ่งได้เพียงปฐมฌานก็ดี หรือว่าได้เพียง อากิญจัญญายตนฌานก็ดี ไม่สามารถที่จะดับจิตเจตสิกเป็นนิโรธสมาบัติได้ ต้องเฉพาะพระอนาคามีบุคคลผู้สามารถบรรลุถึงเนวสัญญานาสัญญายตนฌานเท่านั้น ที่จะดับจิตเจตสิกเป็นนิโรธสมาบัติได้ไม่เกิน ๗ วัน

สำหรับพระอรหันต์ก็เช่นเดียวกัน คือ ต้องบรรลุถึงเนวสัญญานาสัญญายตนฌาน จึงสามารถที่จะดับจิตเจตสิกเป็นนิโรธสมาบัติได้ไม่เกิน ๗ วัน

เพราะฉะนั้น เรื่องของบุคคลในครั้งโน้นซึ่งเป็นกาลสมบัติ เป็นสมัยการตรัสรู้ของพระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า พระอัครสาวก พระมหาสาวกทั้งหลาย เป็นสมัยที่สามารถเป็นฌานสมาบัติ ผลสมาบัติ และนิโรธสมาบัติได้จริงๆ และสามารถที่จะทำอิทธิปาฏิหาริย์ต่างๆ ได้จริงๆ แต่เมื่อถึงกาลสมัยนี้ ทุกอย่างต้องเป็นไปตามเหตุปัจจัย ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการรู้แจ้งอริยสัจธรรม หรือเรื่องของการบรรลุถึงความสงบขั้นฌานต่างๆ ก็ตาม ต้องประกอบด้วยเหตุผลจริงๆ ต้องศึกษาให้เข้าใจจริงๆ ไม่ใช่ว่าเพียงใครบอกว่า สมถภาวนา ก็คิดว่าตนเองทำสมถภาวนา โดยที่ไม่รู้ว่า สมถะหรือความสงบนั้นคืออะไร หรือถ้าใครบอกว่าทำวิปัสสนา ถ้าไม่ได้ศึกษาเสียก่อนว่า วิปัสสนา คือ ปัญญารู้อะไร เพียงแต่ได้รับคำบอกเล่าให้นั่งบ้าง นอนบ้าง ยืนบ้าง เดินบ้าง ก็เข้าใจว่าเป็นวิปัสสนา นั่นไม่สามารถที่จะทำให้รู้แจ้งอริยสัจธรรมเป็นพระอริยเจ้าได้

ถ. ผู้ที่ได้เจริญอากิญจัญญายตฌาน ไม่มีอะไรเป็นอารมณ์ ขณะนั้นจิตมีอารมณ์หรือไม่

สุ. มีความไม่มีอะไรเป็นอารมณ์

ถ. สำนักปฏิบัติแห่งหนึ่ง ที่ว่าจิตว่าง จิตว่าง คือ อากิญจัญญายตนฌานหรือเปล่า

สุ. ปฐมฌานเกิดแล้วหรือยัง ทุติยฌานเกิดแล้วหรือยัง ตติยฌานเกิดแล้วหรือยัง จตุตถฌานเกิดแล้วหรือยัง อากาสานัญจายตนฌานเกิดแล้วหรือยัง วิญญาณัญจายตนฌานเกิดแล้วหรือยัง จึงจะถึงอากิญจัญญายตนฌานได้

ถ. ยังทั้งนั้น

สุ. จะเป็นอากิญจัญญายตนฌานได้อย่างไร

ถ. ก็เขาสั่งให้ทำ ทำให้จิตว่าง

สุ. ถ้าถูกสั่ง และทำอย่างที่สั่ง จิตสงบหรือเปล่า

ถ. ไม่รู้

สุ. ด้วยความต้องการ จึงทำตามที่ถูกสั่ง จะชื่อว่าจิตสงบไหม ถ้าจิตในเบื้องต้นยังไม่สงบ จะไปถึงความสงบที่มั่นคงขึ้น มั่นคงขึ้น จนกระทั่งถึงอุปจารสมาธิได้อย่างไร

เพราะฉะนั้น เรื่องของการเจริญสมถภาวนาไม่ใช่เรื่องไม่รู้ แต่เป็นความรู้คนละขั้นกับสติปัฏฐาน เป็นความรู้เรื่องความสงบของจิตจริงๆ เป็นปัญญาที่รู้จริงในลักษณะที่สงบ แต่ไม่ใช่ปัญญาที่รู้ในความไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล

ถ. แท้ที่จริง คำว่าจิตที่ว่างมีไหม จิตว่างที่เขาพูด มีหรือเปล่า

สุ. ท่านผู้ฟังไม่ควรจะติดในคำ หรือในพยัญชนะ แต่ควรจะเข้าใจอรรถว่า ใครก็ตามที่ใช้คำว่า ว่าง หมายความว่าอย่างไร ท่านผู้นั้นเข้าใจอย่างไร จึงใช้คำอย่างนั้น อย่าเพิ่งรีบเข้าใจโดยความเข้าใจของท่านเองว่า เขาคงจะหมายความอย่างนี้ หรือเขาคงจะหมายความอย่างนั้น นั่นเป็นความเข้าใจของท่านเอง แต่ความเข้าใจของบุคคลที่ใช้คำว่าจิตว่างนั้น หมายความว่าอย่างไร ควรที่จะได้สอบถามบุคคลที่ใช้คำนั้น ให้เขาอธิบายว่าหมายความว่าอย่างไร จะตรงกับที่ท่านเข้าใจไหม แต่อย่าเอาความเข้าใจของท่านไปเป็นความเข้าใจของผู้ที่ใช้คำว่า จิตว่าง ซึ่งอาจจะไม่ตรงกับความเข้าใจของผู้ที่ใช้คำว่า จิตว่าง ก็ได้

ถ. ผู้ที่จะทำฤทธิ์ จะต้องทำถึงฌานขั้นไหน

สุ. การที่จะกระทำอิทธิปาฏิหาริย์ต่างๆ ได้ ต้องได้ถึงเนวสัญญานาสัญญายตนฌานอย่างแคล่วคล่อง

ถ. ผู้ที่มีฤทธิ์ หรือว่าบางคนใช้คาถา เช่น ขุนแผน เสกใบไม้ให้เป็นทหาร อะไรพวกนี้ ก็ไม่เห็นเขาจะมีฌานอะไร

สุ. แล้วเห็นเขาเสกหรือเปล่า

ถ. เขาเล่ากัน

สุ. เรื่องเล่าก็เป็นเรื่องเล่า เรื่องเห็นจริงๆ ก็เป็นเรื่องเห็นจริงๆ

การที่จะฝึกอบรมเพื่อที่จะให้อิทธิปาฏิหาริย์เกิด ไม่ใช่ว่าจะเกิดได้โดยง่าย แต่จะต้องประกอบด้วยเหตุผล ซึ่งข้อความใน วิสุทธิมรรค แสดงว่า

ในแผนกฤทธิ์นั้น มีวิธีบำเพ็ญดังต่อไปนี้

ผู้เริ่มบำเพ็ญที่ต้องการจะทำฤทธิ์ให้ได้ต่างๆ เป็นต้นว่า แม้คนเดียวแปลงเป็นหลายคนได้ พึงยังสมาบัติ ๘ ให้เกิดในกสิณ ๘ มีโอทาตกสิณ เป็นที่สุด

เพียงกสิณเดียวไม่พอ เพราะบางคนเจริญปฐวีกสิณ จิตค่อยๆ สงบมั่นคงขึ้น น้อมนึกถึงดินจนกระทั่งจิตสงบถึงอุปจารสมาธิ อัปปนาสมาธิ เป็นปฐมฌาน และสามารถสงบขึ้นโดยเห็นโทษของวิตกเจตสิกว่า ตราบใดที่ยังต้องอาศัยวิตกตรึกถึงดิน ตราบนั้นยังไม่สงบเท่ากับเวลาที่สามารถที่จะละวิตก แม้ไม่มีวิตกจิตก็สามารถใฝ่ใจในดิน สามารถมีนิมิตเป็นอารมณ์ได้โดยที่ไม่ต้องมีวิตกตรึกถึงอารมณ์นั้น แสดงถึง ความชำนาญขึ้น ความละเอียดขึ้น ความสงบขึ้น และเวลาที่ถึงอุปจารสมาธิ อัปปนาสมาธิ ถึงทุติยฌาน ผู้นั้นสามารถเพียงมีปฐวีกสิณเป็นอารมณ์ ก็ต้องต่อไปถึงตติยฌาน จตุตถฌาน ปัญจมฌาน โดยปัญจกนัย แต่ยังชื่อว่ามีเพียงกสิณเดียวเท่านั้นที่เป็นฌาน ต้องต่อไปอีก ตั้งต้นกสิณอื่นอีก

เพราะฉะนั้น ก็แล้วแต่ว่าแต่ละท่านจะมีวิริยะ หรือว่ามีฉันทะ มีอุปนิสัยอย่างไรที่ท่านจะถึงปฐมฌาน โดยมีกสิณทุกกสิณเป็นอารมณ์ได้ หรือว่าท่านจะถึง ปัญจมฌานโดยมีกสิณเดียวเป็นอารมณ์ได้ ก็แล้วแต่ว่าท่านจะฝึกอย่างไหน หรือว่าจะอบรมแบบไหน แต่ว่ายังไม่สามารถที่จะกระทำอิทธิฤทธิ์ได้

เปิด  164
ปรับปรุง  16 ต.ค. 2566