แนวทางเจริญวิปัสสนา ตอนที่ 915

สุ. ท่านผู้ฟังอย่าแยกเรื่องของการอบรมเจริญสติปัฏฐานออกจากพระธรรมตอนหนึ่งตอนใด หรือแม้ในเรื่องของอุโบสถประกอบด้วยองค์ ๙ เพราะจุดประสงค์ของการรักษาอุโบสถนั้น เพื่อที่จะขัดเกลากิเลสพร้อมด้วยการเป็นผู้ที่มีปกติอบรมเจริญ สติปัฏฐาน เพราะฉะนั้น เมื่อเป็นผู้ที่มีปกติอบรมเจริญสติปัฏฐาน กุศลอื่นย่อมเจริญด้วย ไม่ใช่แยกกันว่าพอถึงวันอุโบสถก็รักษาเพียงอุโบสถศีล ๘ ไม่อบรมเจริญ สติปัฏฐาน หรือเมื่อทรงแสดงเรื่องของอุโบสถมีองค์ ๙ ก็จะประกอบด้วยเมตตา ไม่อบรมเจริญสติปัฏฐาน แต่ควรจะเป็นผู้ที่มีปกติอบรมเจริญสติปัฏฐานเสมอๆ เนืองๆ บ่อยๆ ไม่ว่าจะทรงแสดงธรรมประการใดก็ตาม ทั้งหมดนั้นต้องประกอบด้วยการเป็นผู้ที่มีปกติอบรมเจริญสติปัฏฐาน

ถ. การเจริญเมตตาที่ให้เจริญทิศทั้ง ๖ คือ เบื้องบน เบื้องล่าง และให้กับสัตว์ทุกหมู่เหล่า ที่เราจะแผ่ให้เทวดา เราก็ไม่เคยเห็นเทวดา จะเจริญเมตตากับเทวดาอย่างไร

สุ. เจริญกับคนที่เห็นก่อน ได้ไหม

ถ. ได้บ้าง ไม่ได้บ้าง

สุ. ที่ไม่ได้ ให้เป็นได้ก่อน ก่อนที่จะแผ่ เพราะสำหรับพรหมวิหาร ๔ การขยายนิมิตของพรหมวิหาร ๔ ไม่เหมือนกับนิมิตอื่นๆ เพราะไม่ได้หมายความถึง ขยายนิมิตที่ปรากฏทางใจ แต่หมายความถึงการสามารถที่จะเจริญจนกระทั่งแผ่ไปได้ทั่วถึงบุคคลทั้งหลาย ทั่วทิศ ทุกทิศ เพราะฉะนั้น ก่อนที่จะถึงอย่างนั้นจริงๆ ปกติที่กำลังเห็น เห็นอะไรบ้าง เห็นใคร เห็นมนุษย์ เห็นศัตรู เห็นสัตว์ดิรัจฉาน กำลังอยู่ในสถานการณ์ที่คนอื่นอาจจะเกิดอกุศล คือ โทสะ แต่จิตของผู้ที่จะอบรมเจริญเมตตา ในขณะนั้นเมตตาเกิดได้ไหม ถ้าเกิดได้ นั่นเป็นการอบรมเจริญเมตตาที่เพิ่มขึ้น

ถ. หมายความว่า เราจะเจริญแผ่ไปทิศที่ ๑ ทิศที่ ๒ ทิศที่ ๓ ทิศที่ ๔ ทิศเบื้องบน ทิศเบื้องล่าง ต้องเป็นผู้ที่ได้ปฐมฌานแล้ว

สุ. แน่นอนที่สุด

ถ. เพราะฉะนั้น เวลานี้เราจะเจริญเมตตา อกุศลจิตของเราก็ยังมีอยู่ อย่างบางคน เราเห็นว่า เขาเฉยๆ หน้าตาบอกบุญไม่รับ ขณะนั้นทำให้จิตใจของเราเป็นอกุศล ทั้งๆ ที่ไม่เคยรู้จัก อกุศลของเราก็เกิดได้

สุ. ฟังดูแล้วเหมือนกับว่า อกุศลของเราฝากไว้ที่คนอื่น แล้วแต่ว่าเขาจะเอามาส่งให้เมื่อไร ก็รับเอาเป็นอกุศลของเรา เพราะว่าหน้าตาของเขาบอกบุญไม่รับ เพราะฉะนั้น เราจึงเกิดอกุศล อย่าลืมว่า คนอื่นไม่สามารถทำร้ายจิตใจของท่านได้เลย แต่ว่ากิเลสของตนเองเท่านั้นที่เกิดขึ้นทำร้ายจิตใจของตนเอง ถ้าถูกโจรจับ เลื่อยอวัยวะ โจรสามารถทำร้ายได้เพียงอวัยวะ แต่จิตของคนนั้นที่เป็นกุศลเกิดขึ้น โจรไม่สามารถทำร้ายได้ เพราะฉะนั้น อกุศลทั้งหมดไม่ได้อยู่ที่คนอื่น ไม่ว่าหน้าตาจะ บอกบุญไม่รับ ก็ไม่ใช่เหตุที่จะทำให้อกุศลจิตของท่านเกิดได้ ถ้าไม่ใช่เป็นเพราะกิเลสของท่านเอง

ถ. อย่างนั้นเป็นได้เฉพาะผู้ที่ได้อบรมจิต มีจิตใจสูงขึ้นแล้ว

สุ. ต้องค่อยๆ อบรมไป อย่าลืมว่า เป็นเรื่องอบรม เป็นเรื่องเจริญ เป็นเรื่องสะสม เป็นเรื่องปรารภเนืองๆ บ่อยๆ โดยรอบด้วยดี

ถ. ธรรมดาของบุคคล จิตจะเป็นกุศลหรืออกุศล ก็มักจะเป็นไปตามอารมณ์ ถ้าอิฏฐารมณ์มาปรากฏ บางทีก็ทำให้โสมนัส ทำให้กุศลเกิดได้ หรือทำให้โลภะเกิดได้ แต่ถ้าอนิฏฐารมณ์มาปรากฏ โทสมูลจิตมักจะเกิดเป็นส่วนใหญ่ กุศลจิตเกิดยากกว่า

สุ. ตามธรรมดาของผู้ที่ไม่ได้อบรมเจริญกุศล

ถ. เป็นอย่างนั้น

สุ. แต่นี่กำลังเป็นผู้ที่อบรมเจริญสติปัฏฐาน เพราะฉะนั้น กุศลจะค่อยๆ เจริญขึ้น บารมีทั้ง ๑๐ อย่าลืม ถ้าขาดบารมี ๑๐ จะรู้แจ้งอริยสัจธรรมไม่ได้ หลายท่านมีความเพียร ตั้งใจที่จะอุทิศเลือด เนื้อ กระดูก นั่งไม่ลุกจนกว่าจะได้รู้แจ้ง อริยสัจธรรม คิดอย่างนั้น เฉพาะวันนั้น สละเลือด เนื้อ กระดูก แต่ยังไม่ต้องสละเลือด เนื้อ กระดูก สละทรัพย์บ้างเล็กน้อยได้ไหม สละความโกรธ สละความพยาบาทบ้างได้ไหม

แต่ถึงเวลาที่ต้องการอยากจะรู้แจ้งอริยสัจธรรม พยายามที่จะนั่งไม่ลุก คิดว่าขณะนั้นเป็นความตั้งใจเด็ดเดี่ยวที่จะไม่ลุกขึ้น แต่ลืมว่า ปกติสามารถที่จะสละทรัพย์ หรือว่าสละความโกรธ หรือว่าสละโลภะบ้างได้ไหมในชีวิตประจำวัน ที่จะเป็นบารมี ที่จะแสดงให้เห็นว่า กิเลสนี้เบาบางลงไปแล้ว นี่โดยยังไม่สามารถจะทำอะไรได้เลย ก็อยากจะคิดอย่างนั้นขึ้นมา และก็ไม่สำเร็จ และยังเข้าใจว่า จะต้องตั้งความเพียรหรือว่าจะต้องมีจิตใจตั้งมั่นอย่างนั้น

แต่ความจริง อธิษฐานบารมี จิตใจที่ตั้งมั่นไม่หวั่นไหว คือ ไม่โน้มไปทางอื่นนอกจากทางที่จะอบรมปัญญารู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ จนกว่าปัญญาจะเจริญขึ้น แต่ส่วนมากถ้าจิตใจยังไม่มั่นคง ก็มักจะหวั่นไหวและเอนเอียงไปด้วยความรักตัว รักชีวิต และความปรารถนาสิ่งต่างๆ ซึ่งเป็นไปด้วยโลภะที่ยังมีมากในจิตใจ เพราะฉะนั้น การอบรมเจริญปัญญาในชีวิตประจำวันที่จะให้รู้แจ้งสภาพธรรมที่กำลังเกิดดับเดี๋ยวนี้ กำลังเกิดดับอยู่ ซึ่งใครก็สามารถที่จะรู้แจ้งได้ ถ้าได้สะสมสติปัญญาและบารมีพร้อมที่จะรู้แจ้งสภาพธรรมที่กำลังเกิดดับในขณะนี้

เพราะฉะนั้น บารมีทั้งหลายจะต้องอบรมเจริญไปพร้อมกับสติสัมปชัญญะ อย่ามุ่งมั่นอยากจะรู้แจ้งอริยสัจธรรม แต่ก็ยังโกรธ ยังพยาบาท ยังเมตตาไม่ได้

ถ. สำหรับอุโบสถศีลข้อที่ ๑ ละการฆ่าสัตว์ เว้นขาดการฆ่าสัตว์ วางทัณฑะ วางศัสตรา มีความละอาย คำว่าความละอายในที่นี้ ผมสงสัยว่า ละอายต่อบาปทั้งปวง หรือเฉพาะบาปข้อนี้

สุ. ความละอาย คือ สภาพของหิริเจตสิก มีหลายระดับ หลายขั้น เช่นเดียวกับเจตสิกอื่นๆ เวลาที่เห็นแล้วเกิดโลภะ ละอายในอกุศลที่เป็นโลภะ ที่พอใจในสิ่งที่เห็นไหม ทุกคนชอบสิ่งที่น่าดู เห็นดอกไม้สวยๆ เห็นอาหารที่สีสัน น่ารับประทาน เกิดโลภะ ความชอบใจขึ้น ละอายใจไหมที่มีโลภะ ที่ชอบหรือพอใจในสิ่งที่เห็น ยังเลย แต่ว่าเวลาที่จะฆ่าสัตว์ เกิดหิริ ความละอายในการที่จะกระทำใน สิ่งที่ชั่ว ที่เบียดเบียนประทุษร้ายชีวิตของสัตว์อื่น เพราะฉะนั้น ขั้นของความละอายซึ่งเป็นหิริก็มีหลายขั้น สำหรับผู้ที่เป็นพระอริยบุคคล ย่อมมีความละอายมากกว่าผู้ที่เป็นปุถุชน และพระอริยบุคคลแต่ละขั้นก็มีความละอายที่ละเอียดขึ้นจนกระทั่งสามารถที่จะถึงความเป็นพระอรหันต์ซึ่งดับกิเลสได้ เพราะว่าละอายแม้อกุศล คือ โลภะ ที่เห็นแล้วเกิดความพอใจในสิ่งที่ปรากฏ หรือว่าละอายในโลภะเมื่อได้ยินเสียงที่น่าพอใจ ก็เกิดความพอใจขึ้น เพราะฉะนั้น ก็เป็นขั้นๆ สำหรับปุถุชนก็ละอายที่จะกระทำ ทุจริตกรรม อกุศลกรรม แต่ยังไม่ละอายเวลาได้มาโดยทางสุจริต ใช่ไหม

ถ. พระอรหันต์ต้องมีเมตตาธรรมอย่างนี้บ้างไหม ถ้าพระอรหันต์มีเมตตาอย่างนี้เป็นปกติ ทำไมท่านพระมหาโมคคัลลานะจึงปรินิพพานด้วยศัสตราวุธ

สุ. อดีตกรรม ท่านไม่ได้กระทำกรรมตอนที่ท่านเป็นพระอรหันต์แล้ว แต่ก่อนที่จะเป็นพระอรหันต์ได้กระทำแล้ว

ถ. ผมเข้าใจว่า ถ้าอยู่ในสภาพความเป็นพระอรหันต์ ย่อมอยู่เหนือกรรม กรรมนั้นย่อมตามไม่ทัน จะต้องเป็นอโหสิกรรม

สุ. ถ้าปรินิพพานแล้ว ไม่มีจิต เจตสิก รูปที่จะรับผลของกรรมใดๆ เกิดอีกแต่ตราบใดที่ยังไม่ปรินิพพาน ยังมีปัจจัยที่จะให้อดีตกรรมให้ผลได้

ผู้ฟัง ผมมีประสบการณ์เกี่ยวกับการมีเมตตา ในที่ทำงานผมมักจะถูกคนพูดเสียดสีอยู่ตลอดเวลา แต่ผมไม่ได้เอาใจใส่ต่อสิ่งเหล่านี้ จิตให้อภัยอยู่เสมอ ไม่ได้คิดโกรธ กลับถึงบ้านก็ไม่ได้คิดโกรธ นอนก็ไม่ได้นึกถึง อยากจะขอเสริมที่อาจารย์พูดไว้ว่า การให้อภัย หรือว่าไม่มีอกุศลจิตนั้น เป็นเรื่องที่ดีจริง ผมได้อดทนต่อสิ่งเหล่านี้มาเป็นเวลาถึง ๔ ปี จึงหมดปัญหานี้ ขอยืนยันให้อาจารย์ทราบ

หลังจากนั้นก็มีประสบการณ์เกี่ยวกับการแผ่เมตตาอีกพอสมควร คือ ที่บ้านผมมีหนูมาก วิ่งขวักไขว่ในห้องครัว อกุศลจิตเกิดแล้วในตอนนั้น ไปซื้อกับดักมาอันหนึ่ง ในขณะที่ซื้อกับดักหนูนั้นจิตต่อต้านว่า นี่เรากำลังจะกระทำอกุศลกรรม ซื้อมาแล้วก็วางไว้หลายวัน ว่าจะทำหรือไม่ทำ หนูก็วิ่งกันเพ่นพ่าน ในที่สุดก็โมหมูลจิตเกิดขึ้น ก็จับเสีย ๒ ตัว บางทีขณะที่เราวางกับดักไว้นี่ เกิดหิริโอตตัปปะขึ้นมา ต้องมาปลดออก เก็บสิ่งเหล่านั้นเสีย ในที่สุดก็หันมาใช้เมตตา อย่างที่อาจารย์พูด โดยปกติผมมักจะทำภาวนาอยู่เสมอๆ คือ ทำสมาธิ รู้สึกว่าไม่ดีขึ้นเลย เพราะว่าเราทำบาปแล้ว จิตเขาบอก ในที่สุดก็แผ่เมตตาว่า อย่ามายุ่งกันเลย ให้ที่อยู่ที่อาศัยก็ดีแล้ว อย่ามายุ่ง ได้ผล หลังจากนั้น ไม่มีปรากฏให้เห็นอีกเลย จนกระทั่งบัดนี้ จึงอยากจะเรียนยืนยัน สิ่งที่อาจารย์ได้พูดไว้ ให้ทุกท่านได้ทราบด้วย

สุ. ที่ว่าทำสมาธิ ทำอย่างไร

ผู้ฟัง เดิมที ผมทำโดยไม่รู้อะไร ผมภาวนาแบบพุทโธ ทำไปแบบไม่รู้อะไร เพื่อให้จิตนิ่ง พอถึงเวลา จิตจะตกไปตรงนี้ จนกระทั่งภาวนาไปๆ จนไม่รู้ว่าเราอยู่ที่ไหน หายใจหรือไม่หายใจก็ไม่รู้ ไม่รู้สึกอะไรทั้งสิ้น มีแต่จิตดิ่งอยู่ตรงนี้ แต่ก็ไม่รู้ว่าตอนนั้นเป็นอะไร เพราะไม่เคยอ่านหนังสือมาก่อน ไม่เคยมีครูบาอาจารย์มาก่อน จนกระทั่งมาอ่านหนังสือทีหลังว่า เขาเรียกว่าอัปปนาสมาธิ หรืออะไรก็ไม่ทราบ ตอนนั้นทำไม่ได้หวังอะไร หวังให้จิตมีสมาธิพอสมควรเป็นใช้ได้

สุ. พอใจไหมในผลที่ได้กระทำแล้ว

ผู้ฟัง ตอนนั้นพอใจมาก เหมือนเด็กไม่รู้อะไร เพราะว่าเราไม่เคยอ่านหนังสือว่าเป็นอะไร จะไปถามอาจารย์ก็ไม่รู้จะไปถามอาจารย์ที่ไหน สาเหตุ คือ ไปรับศีลจากพระสุปฏิปันโนมารูปหนึ่ง ก็เพียรพยายามที่จะทำอย่างนี้ กินเวลาถึง ๖ เดือน

สุ. เริ่มทำอย่างไร ที่ว่ากินเวลาถึง ๖ เดือน

ผู้ฟัง เวลาจะปฏิบัติสมาธิ ระลึกถึงคุณของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า พระธรรม พระอรหันต์สาวกทั้งหลาย พระอริยสงฆ์สาวกทั้งหลาย พระคุณของบิดา มารดา ครูบาอาจารย์ ขอจงสถิตอยู่เหนือเศียรเกล้าของข้าพเจ้า ซึ่งข้าพเจ้าจะปฏิบัติสมาธิจิต ณ บัดนี้ ขอบารมีได้ปกแผ่มาให้ข้าพเจ้าได้สมาธิจิตด้วย และก็เริ่มปฏิบัติ กินเวลาถึง ๖ เดือน

สุ. เริ่มอย่างไร

ผู้ฟัง เริ่มภาวนาพุทโธ

สุ. ท่องหรือ

ผู้ฟัง ให้ดูลมเข้าออก ดูให้รู้ว่าไปลึกแค่ไหน ไปสุดแค่ไหน และออกอย่างไร ในที่สุดลมนี้จะละเอียดขึ้นๆ ละเอียดจนเรารู้สึกว่า เราจะไม่หายใจ จะตายหรืออย่างไรไม่ทราบ นานเท่าไรผมไม่ทราบ จิตก็ถอน

สุ. มีข้อปฏิบัติ ๒ อย่าง ข้อปฏิบัติที่ได้ปฏิบัติแล้ว เริ่มจากการไม่รู้ และเมื่อปฏิบัติไปถึง ๖ เดือนแล้ว ก็ยังคงไม่รู้ ใช่ไหม

ผู้ฟัง รู้ว่าถึงอัปปนาสมาธิ

สุ. รู้ว่าเป็นสมาธิ แต่ก็ยังเกิดสงสัยว่า จะตายหรือเปล่า ใช่ไหม

ผู้ฟัง ใช่

สุ. เพราะฉะนั้น ในขณะที่สงสัยว่า จะตายหรือเปล่า เป็นกุศลหรือไม่

ผู้ฟัง ไม่ทราบเหมือนกัน

สุ. กุศลไม่เป็นอย่างนั้น ปัญญาไม่เป็นความสงสัย

ผู้ฟัง รู้แต่เพียงอย่างเดียวว่า เอ๊ะ แปลกดี ตรงตามที่ครูอาจารย์ได้บอกไว้ในหนังสือที่อ่านว่า ต้องเป็นไปทางนั้น เพียงเท่านั้นเอง

สุ. เพราะฉะนั้น ส่วนใหญ่จะมีการเจริญสมาธิ ซึ่งเป็นเรื่องของการประสบพบเห็นสิ่งที่แปลกซึ่งไม่เคยเห็นมาก่อน แต่ไม่ใช่ปัญญาที่รู้ลักษณะของสภาพธรรมตามปกติที่กำลังเห็น กำลังได้ยิน ซึ่งเป็นชีวิตจริงๆ ทุกขณะ ขณะหนึ่งต้องดับไปก่อน ขณะต่อไปจึงเกิดสืบต่ออย่างรวดเร็ว ถ้าปัญญาไม่สามารถที่จะประจักษ์ความเกิดดับสืบต่อกันตามปกติตามความเป็นจริงในขณะนี้ ไม่มีหนทางที่จะดับกิเลสได้เลย

ถ้ายังมีความพอใจที่จะเห็นสิ่งแปลกๆ ซึ่งไม่เคยเห็น หรือมีความพอใจที่เข้าใจว่าสงบ แต่ความจริงเป็นความกลัวว่าจะตายหรือเปล่า ขณะนั้นไม่ใช่กุศล ไม่ใช่ความสงบ ไม่ใช่ความรู้ เป็นสิ่งที่ไม่ใช่ความจริงเหมือนขณะที่กำลังเห็นตามปกติเดี๋ยวนี้ หรือว่ากำลังได้ยินเดี๋ยวนี้ เพราะฉะนั้น ของจริงแท้ๆ ไม่ต้องสร้างขึ้นให้ผิดจากความเป็นจริง และต้องเป็นปัญญาที่สามารถรู้ลักษณะของสภาพธรรมในขณะนี้เอง จนกระทั่งประจักษ์ถึงความเกิดขึ้นและดับไปได้ จึงจะดับกิเลสได้จริงๆ ซึ่งเป็นหนทางที่ต้องอาศัยการอบรมเจริญปัญญาตั้งแต่ขั้นต้น และเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ โดยเริ่มจากความรู้ และความรู้นั้นเองจะค่อยๆ เจริญขึ้น เริ่มจากความรู้ขั้นการฟัง

ผู้ฟัง เมื่อ ๒ – ๓ อาทิตย์ก่อน ผมได้ฟังรายการวิทยุยานเกราะ ๗๙๒ ซึ่งมีอาจารย์วรรณสิทธิ์ กับคุณนิยม ฤทธิ์เสือ สนทนาธรรมกัน และมีคนถามอาจารย์วรรณสิทธิ์ว่า เวลานี้มีคนปฏิบัติหายใจเข้าให้ท่องพุท หายใจออกให้ท่องโธ เขาใช้ คำว่า พุท เข้า โธ ออก ถามว่า เป็นอานาปานสติ หรือว่าเป็นพุทธานุสสติ อาจารย์ตอบว่า พุท เข้า โธ ออก เป็นคำสอนนอกพุทธศาสนา ในพุทธศาสนาไม่มีคำสอนนี้ทั้ง ๓ ปิฎก ท่านกล่าวว่า ถ้าเป็นการเจริญอานาปานสติ ต้องรู้ลมหายใจ เข้าก็รู้ ออกก็รู้ ไม่ใช่ พุท เข้า โธ ออก ผมขอเล่าให้ท่านทั้งหลายพิจารณา

สุ. ท่านผู้ฟังพิจารณาแล้ว มีความเห็นประการใดบ้างไหม

ผู้ฟัง ผมคิดว่า ไม่นอกศาสนา คือ ในศาสนามีทุกสิ่งทุกอย่าง นอกศาสนาไม่มีอะไร เพราะนอกศาสนาไม่มีสมมติ ไม่มีบัญญัติ ในศาสนาจึงจะมี คนที่พูดอะไรออกมา ปฏิบัติอย่างไรก็ถูก ถูกในศาสนานี้ เหมือนอย่างอาจารย์บอกว่า คนที่ แทงตลอดนี้ อะไรๆ ก็อยู่ในตัวหมด คือ ไปเห็นที่อื่นไม่ได้ต้องเห็นในตัว เหมือนกับนาย ก. ถามนาย ข. ว่า คนนั้นไปไหนมา เขาตอบว่า คนนั้นออกจากเหตุไป ครั้นมาก็บอกว่า มาหาเหตุ และถามว่า เหตุอยู่ที่ไหน เหตุก็อยู่ที่ตัวท่าน เรื่องนี้อยากจะให้อาจารย์พิจารณา และพูดให้ฟังด้วย

เปิด  205
ปรับปรุง  2 มิ.ย. 2565