แนวทางเจริญวิปัสสนา ตอนที่ 916

สุ. สภาพธรรมมีทั้งกุศลและอกุศล เพราะฉะนั้น ถ้าเป็นอกุศลธรรมก็ต้องเป็นอกุศลธรรม อกุศลธรรมจะเป็นกุศลไม่ได้ ความเห็นผิดมีจริง ไม่ใช่ไม่มี เพราะฉะนั้น ความเห็นผิดไม่ใช่ความเห็นถูก ความเห็นถูกก็มีจริง และความเห็นถูกไม่ใช่ความเห็นผิด เพราะฉะนั้น ข้อปฏิบัติที่ไม่ทำให้จิตสงบเป็นสมถภาวนา หรือไม่ได้ทำให้เกิดปัญญารู้สภาพธรรมที่กำลังปรากฏซึ่งเป็นสติปัฏฐานหรือวิปัสสนาภาวนา ข้อปฏิบัติเหล่านั้นเมื่อไม่ใช่สมถภาวนา ไม่ใช่วิปัสสนาภาวนา จะเป็นอะไร

เป็นการปฏิบัติจริงๆ ปฏิบัติกันจริง ไม่ใช่ว่าไม่ได้ปฏิบัติ แต่การปฏิบัตินั้นเป็นอะไร เมื่อไม่ใช่สมถภาวนาและไม่ใช่สติปัฏฐาน ก็ต้องเป็นมิจฉาทิฏฐิ ความเห็นผิด ถูกไหม เพราะฉะนั้น ไม่ควรเจริญ ไม่ใช่ว่าข้อปฏิบัติใดๆ ก็ควรเจริญกันทั้งสิ้น ถ้าเป็นข้อปฏิบัติที่ผิดจะเจริญทำไม นอกจากจะเพิ่มมิจฉาทิฏฐิให้มากขึ้น

ควรอบรมเจริญสัมมาทิฏฐิ ข้อปฏิบัติที่ถูก สัมมาปฏิบัติ ซึ่งจะต้องพิจารณาให้ละเอียดจริงๆ ถ้าไม่พิจารณา เพียงแต่ได้รับคำบอกเล่าให้กระทำอย่างหนึ่งอย่างใด ก็ประพฤติปฏิบัติตามโดยความไม่รู้ ไม่ได้เข้าใจอะไรเลยว่า ทำไมจึงทำอย่างนั้น มีเหตุผลอะไร ปัญญารู้อะไร ในขณะนั้นทำเพื่ออะไร ถ้าทำเพื่อต้องการเห็นสิ่งอื่น ซึ่งไม่ใช่รู้ความจริงของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏเดี๋ยวนี้ ก็ไม่มีประโยชน์

เพราะฉะนั้น การปฏิบัติใดก็ตามที่ไม่ใช่สมถภาวนาและไม่ใช่สติปัฏฐาน ย่อมเป็นมิจฉาทิฏฐิ การปฏิบัติผิด ซึ่งไม่ควรกระทำ ไม่ควรเจริญ ไม่ใช่ว่าทำอะไรก็ได้ ทำไปเถอะดีทั้งนั้น แต่ดีไม่ได้ เพราะว่าเป็นมิจฉาทิฏฐิ

ถ. การแผ่ส่วนกุศลก่อนนอน กับการเจริญเมตตาภาวนาต่างกันอย่างไร สุ. ไม่ต่าง ถ้าจิตขณะใดประกอบด้วยเมตตา จะเป็นการคิดนึก หรือการแผ่ส่วนกุศล ขณะนั้นเป็นเพราะจิตที่เมตตาจึงแผ่ ถ้าไม่เมตตาก็ไม่แผ่ เพราะฉะนั้น เมตตามีทั้งการกระทำด้วยกาย ด้วยวาจา และคิดนึกด้วยใจ

ถ. ก่อนนอนผมมักกราบที่หมอน อย่างที่พูดๆ กันว่า เป็นการแผ่ส่วนบุญ ผมภาวนาว่า ขอให้ทานที่ผมได้กระทำมา ขอให้ศีลที่ผมได้รักษามา ขอให้ภาวนา คือ ๓ อย่างนี้ที่เรียกว่าบุญ ขอให้ไปถึงกับพ่อแม่ ให้พ่อแม่ก่อน ซึ่งท่านตายไปแล้ว ต่อไปผมก็ให้กับบุคคลทั่วๆ ไป และแผ่มาถึงคนที่เคยล่วงเกินกัน ทั้งฝ่ายที่ล่วงเกินผม และผมล่วงเกินเขาด้วยวาจา โดยมากก็แค่วาจา เมื่อผมคิดอย่างนี้แล้ว รู้สึกละอายเหลือเกินว่า สิ่งที่ผมทำไปแล้วน่ารังเกียจเหลือเกิน ผมก็แผ่เมตตาให้เขามากเป็นพิเศษ ผมนึกภาพว่าผมไปกราบขอโทษเขา แต่ผมยังไม่ทราบว่าเป็นเมตตา หรือเป็นการแผ่ส่วนบุญกุศล เท่าที่เคยทำอยู่เป็นอย่างนี้

สุ. เป็นจิตที่คิดถึงคนอื่นด้วยความหวังดี ด้วยความปรารถนาดี ใช่ไหม

ถ. เป็นการแผ่อย่างหนึ่ง ใช่ไหม ความจริงผมอยากเจริญเมตตามากๆ แต่ว่าผมสงสัยมานาน เท่าที่อ่านตำราทางพระธรรมรู้สึกว่า วิธีที่พูดไว้นั้นไม่สามารถจะให้เกิดเมตตาจิตขึ้นได้มากๆ ผมเข้าใจว่า ถ้าหากเรารู้สภาพจิตเป็นประจำวันว่า ขณะนั้นสภาพธรรมนั้นเป็นเมตตา จิตที่เป็นเมตตาก็สามารถที่จะเกิดขึ้นได้บ่อยๆ ผมก็หมั่นสังเกตดูว่า ขณะไหนเป็นเมตตา เมตตาก็จะเกิดง่ายขึ้น นี่เป็นประสบการณ์ของผม

สุ. ข้อสำคัญเวลาที่โทสะเกิด เห็นชัดว่าไม่ใช่เมตตา เพราะฉะนั้น ต้องมีสติสัมปชัญญะที่จะรู้ว่า โลภะก็ไม่ใช่เมตตาด้วย จึงจะเจริญเมตตาได้ เพราะว่าเวลาที่เมตตาต้องไม่ใช่อกุศลจิต ต้องไม่ใช่ทั้งโลภมูลจิตและโทสมูลจิต บางท่านอาจจะคิดว่า เวลาที่ไม่เป็นโทสมูลจิต ขณะนั้นเป็นเมตตา แต่ว่าบางที หรือส่วนใหญ่เวลาที่ไม่เป็น โทสมูลจิตจะเป็นโลภมูลจิต นี่เป็นเหตุที่การอบรมเจริญภาวนา ไม่ว่าจะเป็นความสงบ คือ สมถภาวนา หรือสติปัฏฐาน จะขาดสติสัมปชัญญะไม่ได้ จึงจะรู้ชัดในสภาพของจิตในขณะนั้นว่า เป็นเมตตา หรือว่าเป็นโลภะ

ถ. อย่างเช่นลูก ใกล้เคียงกันมากว่า จะเป็นเมตตา หรือเป็นโลภะ

สุ. เมตตาลูกได้ไหม

ถ. ได้

สุ. มีโลภะกับลูกได้ไหม ทั้ง ๒ อย่าง เพราะฉะนั้น สติสัมปชัญญะจะทำให้รู้ลักษณะที่ต่างกันว่า ขณะนี้กำลังเป็นเมตตา หรือว่าขณะนี้กำลังเป็นโลภะ และเป็นสภาพธรรมที่ตรง เมื่อเป็นปัญญา ปัญญารู้สภาพธรรมตรงตามความเป็นจริง ถ้าไม่ใช่ปัญญาอาจจะเข้าใจว่า โลภะเป็นเมตตา แต่เวลาที่ปัญญาเกิด ปัญญาสามารถรู้ลักษณะของเมตตาว่า ต่างกับลักษณะของโลภะ เพราะฉะนั้น จึงต้องอบรมเจริญปัญญาจึงจะรู้ได้

ถ. ผมไม่ใคร่ชอบดุคนใช้ และไม่สบายใจเลยถ้าได้ยินใครดุ หรือผมจะดุเอง โดยปกติแล้วตลอดชีวิตผมจะดุไม่เกิน ๑ หรือ ๒ ครั้ง อย่างนี้จะถือว่าเป็นเมตตาหรือเปล่า

สุ. อย่าวัด โดยนำเอาเหตุการณ์ทั้งหมดมาถามเป็นเรื่อง เพราะว่าเป็นเรื่องของขณะจิตซึ่งเกิดดับเร็วมาก และสติสัมปชัญญะของบุคคลนั้นเองเท่านั้นที่รู้ว่า จิตของตนเองประกอบด้วยเมตตาหรือเปล่า บุคคลอื่นไม่สามารถรู้ได้ คนหนึ่งอาจจะไม่ดุว่าใคร แต่โกรธในใจ ความขุ่นเคืองมีหลายระดับ ความไม่พอใจนิดหน่อยมี ในขณะนั้นก็เป็นอกุศล เป็นโทสะ แต่ไม่ถึงกับล่วงออกไปเป็นการดุหรือว่ากล่าวด้วย คำแรงๆ แต่ยังมีความขุ่นเคืองใจซึ่งเป็นลักษณะของโทสะ เป็นอกุศล แต่ขณะใดที่มีความหวังดี ปรารถนาดี เกื้อกูลอนุเคราะห์ เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ ถ้าสติสัมปชัญญะเกิดในขณะนั้น จะรู้สภาพของจิตที่หวังดี ซึ่งต่างกับขณะที่กำลังโกรธ หรือว่าต่างกับขณะที่เป็นโลภะ จึงจะรู้ได้ว่า ตนเองเป็นผู้ที่มีเมตตาจริงๆ หรือเปล่า

เวลาที่เมตตาเกิดจริง ผู้นั้นก็รู้ว่าเป็นเมตตาจริงๆ และยังรู้ด้วยว่า ตัวเองมีเมตตามากน้อยเท่าไรในวันหนึ่ง เมตตากับใครแล้วบ้าง และยังไม่มีเมตตากับใคร ซึ่งควรจะมี

ถ. เรื่องการเจริญสติปัฏฐานประจำวัน เนื่องจากผมเรียนทางโลกๆ มา ผมก็มักจะนึกถึงเหตุผลทางด้านวิทยาศาสตร์ โดยเฉพาะเมื่อเสียงเกิดขึ้นปรากฏทางหู ผมรู้ด้วยเหตุผลว่า ผมได้ยิน ความดังก็ดี ความรู้เรื่องก็ดี อยู่ที่ผม ไม่ใช่อยู่ที่เกิดอย่างนั้น เมื่อผมนึกอย่างนี้อยู่เรื่อยๆ ทำให้สติเกิดบ่อยขึ้น และผมมักจะสนใจที่จะพิจารณา ผมไม่ทราบว่าผมมีโยนิโสมนสิการ หรือว่าจะผิดหรือถูกอย่างไรไม่ทราบ

สุ. การที่สติปัฏฐานจะเกิดขึ้นระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏ และศึกษาจนกว่าจะเป็นความเข้าใจชัดจริงๆ ในลักษณะของนามธรรมและรูปธรรมนั้น เป็นเรื่องของสังขารขันธ์ ซึ่งได้แก่เจตสิกที่จะปรุงแต่งให้แต่ละขณะเป็นกุศลจิตที่เกิดพิจารณาอย่างนั้น หรือว่ามนสิการอย่างนี้ ซึ่งแต่ละคนไม่เหมือนกัน

เพราะฉะนั้น กว่าจะเป็นสติปัฏฐานจริงๆ โดยที่ระลึกตรงลักษณะของสภาพธรรมและปัญญารู้ ซึ่งจะต้องถึงวันนั้นในวันหนึ่ง แต่กว่าจะถึง ก็แล้วแต่ว่าสังขารขันธ์จะปรุงแต่งให้นึกอย่างนี้ พิจารณาอย่างนั้น และอาศัยการฟัง การสังเกต การอบรมด้วย จนกว่าจะเป็นสติปัฏฐานจริงๆ

เพียงฟังอย่างนี้ ไม่ใช่ว่าสติปัฏฐานจะสามารถจะเกิดขึ้นระลึกตรงลักษณะของสภาพธรรมและรู้ชัดทันที แต่เพราะอาศัยการฟังแล้ว ฟังอีก และมีปัจจัยที่จะให้ตรึก นึก มนสิการอย่างนั้นบ้าง อย่างนี้บ้าง จนกระทั่งสติระลึกที่ลักษณะที่กำลังปรากฏ และปัญญาเริ่มโน้มไปศึกษาที่ลักษณะนั้น และค่อยๆ รู้ขึ้น ขณะนั้นจึงเป็นสติปัฏฐาน

ต้องปรุงแต่งจริงๆ สมกับคำว่า สังขารขันธ์ คือ ปรุงแต่งจิตแต่ละขณะที่เป็นกุศลธรรม ซึ่งกว่าจะเป็นสติปัฏฐานจะต้องอาศัยการปรุงแต่งจากการฟัง จากการพิจารณาตามการสะสมของจิต จนกระทั่งเป็นปัจจัยให้มีการระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏได้ถูกต้องเป็นสัมมาสติ ซึ่งแต่ละคนจะรู้ด้วยตัวของท่านเองว่า กว่าจะเกิด ยาก แต่เมื่อเกิดแล้วก็สะสมอยู่ต่อไปในจิต และวันหนึ่งๆ อกุศลก็เกิด ทับถมบ่อยเหลือเกิน กว่าจะมีปัจจัยเป็นสังขารขันธ์ปรุงแต่งให้สติปัฏฐานระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏได้อีก มากบ้าง น้อยบ้าง ก็อบรมไปเรื่อยๆ จนกว่าจะเพิ่มขึ้น

ถ. คำว่า ฉันทะ ที่อาจารย์พูดถึงนั้น หมายถึงสภาพธรรมที่เป็นกุศลธรรม มีฉันทะเป็นหัวข้อธรรมอยู่หัวข้อหนึ่ง ในหัวข้อที่ว่า อิทธิบาท ๔ อยากทราบว่าเป็นอย่างเดียวกันไหม

สุ. ใช่ ถ้าเป็นฉันทะ ได้แก่ ฉันทเจตสิก แต่ว่าฉันทเจตสิกเป็น ปกิณณกเจตสิก คือ เจตสิกที่เกิดได้ทั้งกับอกุศลจิตและกุศลจิต เวลาที่โลภมูลจิตเกิดขึ้น มีฉันทะเกิดร่วมด้วย พอใจในความต้องการในอารมณ์นั้น หรือเวลาที่เกิดความขุ่นเคืองใจ ความโกรธ ฉันทเจตสิกก็เกิดร่วมด้วย บางคนพอใจจริงๆ ต้องโกรธ เรื่องอย่างนี้ต้องโกรธ ไม่โกรธไม่ได้ น่าโกรธ จำเป็นต้องโกรธ ในขณะนั้นแสดงให้เห็นแล้วว่า ฉันทะ พอใจที่จะโกรธ ที่จะเป็นอกุศล เพราะฉะนั้น ฉันทเจตสิกเกิดกับ อกุศลจิตก็ได้ เกิดกับกุศลจิตก็ได้ แต่เวลาที่ฉันทเจตสิกเกิดกับกุศล เห็นความต่างกันของฉันทเจตสิกซึ่งเกิดกับโลภมูลจิตว่า ต่างกับลักษณะของฉันทเจตสิกซึ่งเกิดกับ กุศลจิต

สังเกตได้จากชีวิตของแต่ละท่าน ซึ่งยังเป็นผู้ที่ไม่หมดโลภะ ทุกคนยังมีความหวัง ยังมีความพอใจ ยังมีความต้องการในรูป ในเสียง ในกลิ่น ในรส ในโผฏฐัพพะ ถ้าใครไม่มีความต้องการ หมายความว่าคนนั้นเป็นพระอรหันต์ เมื่อ ทุกคนยังมีความต้องการ และบางทีความต้องการนั้นเอื้อมไปถึงผลของกุศล กุศลเป็นสภาพที่ดีงาม แต่บางคนก็อยากจะได้กุศลมากๆ การที่อยากจะได้กุศลมากๆ ลักษณะที่ต้องการ หรืออยากได้กุศลมากๆ นั้น เป็นกุศล หรือเป็นอกุศล

เฉพาะกุศลเท่านั้นที่เป็นกุศล ความอยากได้กุศลมากๆ ความต้องการกุศลเหลือเกิน ความต้องการและความอยากได้ ไม่ใช่กุศล แต่บางคนก็ยังหวังต่อไปถึงผลของกุศล เพราะฉะนั้น ในวันหนึ่งๆ ทำกุศลนิดเดียว แต่ว่าโลภะ พอใจ หรือหวังในอานิสงส์ซึ่งเป็นผลของกุศลนั้น มากมาย

ต้องสังเกตจริงๆ โดยการที่เป็นสติปัฏฐานจริงๆ จึงสามารถรู้ลักษณะของฉันทะที่ต่างกับโลภะ เพราะว่าผู้ที่อบรมเจริญปัญญาแล้ว เริ่มเห็นโทษของอกุศลเพิ่มขึ้น แม้แต่การหวังผลของกุศล ขณะนั้นผู้ที่อบรมเจริญปัญญาก็รู้ว่า ความหวังนั้นเป็นอกุศล เพราะฉะนั้น การรู้อย่างนี้จะทำให้ไม่หวัง และมีฉันทะ คือ ความพอใจจริงๆ ที่เป็นกุศลจริงๆ ไม่ได้หวังอะไรเลย ทำกุศลด้วยฉันทะ คือ ความพอใจในสภาพที่เป็นกุศลธรรม ไม่ใช่เพราะหวังอะไร เพราะฉะนั้น จึงไม่มีความเศร้าหมอง ไม่มีความต้องการผล ไม่ต้องการเป็นที่รักของใคร แต่ว่ามีฉันทะจริงๆ มีความพอใจในสภาพที่เป็นกุศลเท่านั้น ไม่ได้หวังอย่างอื่น

คนที่จะอบรมเจริญปัญญาจะละโลภะ เพราะว่าเห็นโทษของโลภะ และสามารถที่จะรู้ลักษณะของสภาพธรรมตามความเป็นจริง จนกระทั่งสามารถที่จะรู้ลักษณะที่ต่างกันของสภาพธรรมที่เป็นกุศลและอกุศลโดยละเอียดขึ้นเรื่อยๆ มิฉะนั้นแล้วดับกิเลสไม่ได้ ถ้าพระอรหันต์ก่อนที่จะเป็นพระอรหันต์ไม่เห็นโทษของโลภะ แม้เพียงเล็กน้อย ย่อมไม่สามารถที่จะดับโลภะอย่างละเอียดได้

ถ. สำหรับอิทธิบาท ๔ พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสสอนปุถุชนเพื่อใช้ในการประกอบอาชีพ หรือว่าตรัสสอนบรรพชิตเพื่อที่จะใช้ในการปฏิบัติธรรม

สุ. อิทธิบาท คือ เป็นบาทของอิทธิ อิทธิ ได้แก่ ฤทธิ์ ฤทธิ์ที่เป็นโลกียะ ได้แก่ การบรรลุสมาบัติ คือ ฌานขั้นต่างๆ แต่อิทธิที่เป็นโลกุตตระ คือ การรู้แจ้งอริยสัจธรรม เพราะฉะนั้น สำหรับอิทธิบาท ได้แก่ ฉันทะ วิริยะ จิตตะ วิมังสา ต้องเป็นฝ่ายกุศลธรรมขั้นการเจริญสมถภาวนา และสติปัฏฐานซึ่งเป็นวิปัสสนาภาวนา เพราะว่าเป็นบาทที่จะทำให้บรรลุสิ่งที่ปรารถนา สำเร็จตามความต้องการ คือ ถ้าเป็นฝ่ายโลกียะก็เป็นขั้นฌานต่างๆ ฝ่ายโลกุตตระ ก็เป็นการรู้แจ้งอริยสัจธรรมขั้นต่างๆ

ถ. ที่ครูบาอาจารย์ท่านแปลไว้ อธิบายเกี่ยวกับการประกอบอาชีพ อย่างฉันทะ ให้พอใจในสิ่งที่ทำ ในอาชีพที่ทำ วิริยะ ให้มีความพยายามทำงานนั้น เอาใจใส่งานนั้น อย่างนี้ถูกต้องกับหลักธรรมนี้หรือไม่

สุ. เป็นการอธิบายอรรถของพยัญชนะตามความรู้ ความเข้าใจของแต่ละบุคคล

ถ. ก็ไม่ตรงกับที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสไว้

สุ. ถ้าเป็นอิทธิที่ทรงแสดง หมายความถึงการอบรมเจริญสมถภาวนา และวิปัสสนาภาวนา

ถ. เรื่องของการเจริญกุศล ที่เกี่ยวกับวาจา ในพระสูตรบทหนึ่ง ผมก็จำไม่ได้ มีอยู่ครั้งหนึ่ง พระผู้มีพระภาคจะเสด็จไปบิณฑบาต ยังเห็นว่าเช้านัก จึงเสด็จไปยังหมู่พราหมณ์ ก็ได้ยินหมู่พราหมณ์นั้นสนทนากันอยู่ด้วยเรื่องดิรัจฉานกถา เรื่องยาน ท่าน้ำ เรื่องบุคคลล่วงลับไปแล้ว เรื่องรบ เรื่องกษัตริย์ เรื่องกองทัพ ผมสงสัยว่า ในชีวิตประจำวันของเรา คำพูดต่างๆ ที่ใช้กันอยู่ทุกวันนี้ ไม่ใช่เป็นดิรัจฉานกถาหรือ ที่เราพูดเรื่องเขมรรบกัน น้ำมันขึ้นราคา หรืออะไรจำพวกนี้

สุ. ไม่ต้องสงสัย เป็นแน่

ถ. ผมคิดว่าเฉพาะของสมณะเท่านั้น เป็นของเราด้วยหรือ

สุ. เหมือนกัน

ถ. เพราะฉะนั้น พวกเราทุกๆ วัน เราพูดเรื่อยเปื่อยไปโดยขาดสติ

สุ. ขณะใดที่สนทนาธรรม ขณะนั้นไม่ใช่ดิรัจฉานกถา

ถ. ในบางครั้งเวลาที่เราเข้าสังคม เราก็ต้องพูดอะไรๆ ที่ตามๆ กันไป แต่ว่าเรารู้ลักษณะที่ปรากฏในขณะนั้น

สุ. เพราะฉะนั้น ยังเป็นผู้ที่อบรมเจริญสติปัฏฐานอยู่ ก็มีปัจจัยที่จะให้พูดเรื่องต่างๆ แต่สติก็ยังสามารถที่จะเกิดขึ้นได้บ้าง ระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่เป็นนามธรรมและรูปธรรมไปเรื่อยๆ

ถ. ในคราวใดที่สติเกิดรู้ลักษณะของสภาพธรรมในขณะนั้น คำพูดในขณะนั้นจะเป็นดิรัจฉานกถาไหม

สุ. แล้วแต่เหตุปัจจัย ถ้ายังไม่ได้เป็นพระอรหันต์ ก็ยังมีคำพูดอย่างนั้นอยู่ ท่านพระอานนท์พูดถึงเรื่องเดียรถีย์ต่างๆ หรือเปล่า หรือตั้งแต่เป็นพระอรหันต์แล้ว ไม่พูดเลย หรือว่าท่านพระสารีบุตร ท่านพระมหาโมคคัลลานะ ท่านพระมหากัสสปะ เมื่อท่านเป็นพระอรหันต์แล้ว ท่านไม่พูดเรื่องเหล่านี้เลย หรือว่าท่านพูด

ถ. ในบางครั้งท่านต้องพูด อย่างนี้เป็นดิรัจฉานกถาหรือไม่

สุ. จุดประสงค์ต่างกัน

ถ. โดยเจตนา

สุ. แน่นอน เพราะฉะนั้น แม้ว่าจะเป็นเรื่องเดียวกัน ถ้าเป็นพระอรหันต์ ที่พูด กับปุถุชนที่พูด จิตที่พูดคำเดียวกัน เรื่องเดียวกัน จิตนั้นต่างกัน

ถ. แม้กระทั่งที่เรารู้ลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏในขณะนั้นด้วย

สุ. ก็ยังต่างกันตามขั้น ถ้าเป็นพระโสดาบันพูด กับพระอรหันต์พูด จิตก็ยังต่างกัน เพราะจิตของพระโสดาบันยังมีกุศลและอกุศล แต่สำหรับพระอรหันต์ไม่มีทั้งกุศลและอกุศล มีแต่กิริยาจิต และวิบากจิต กิริยาจิต คือ จิตที่ไม่ทำให้เกิดวิบากข้างหน้าในอนาคต

เรื่องของจิตใจเป็นเรื่องที่สำคัญ จะฟังเพียงวาจาภายนอกไม่พอ ไม่สามารถ ที่จะล่วงรู้ถึงสภาพของจิตที่กล่าวคำนั้นได้ เพราะฉะนั้น ทุกท่านจึงเป็นผู้ที่มีปกติอบรมเจริญสติปัฏฐานที่จะรู้ลักษณะสภาพของจิต เพื่อที่จะได้ขัดเกลาอกุศล

เปิด  185
ปรับปรุง  2 มิ.ย. 2565