แนวทางเจริญวิปัสสนา ตอนที่ 359

ถ้าท่านผู้ฟังเข้าใจถูกต้องในเหตุผลตามความเป็นจริง ท่านจะทราบได้ว่า ผู้ที่รักษาตน คือ ผู้ที่กระทำสุจริตทางกาย วาจา ใจ แต่ผู้ที่ไม่รักษาตน ถึงแม้ว่าคนอื่นจะปกป้องคุ้มครองรักษาสักเท่าไร เมื่อถึงคราวที่อกุศลกรรมจะให้ผล ก็ย่อมทำให้ท่านได้รับผลของอกุศลกรรมนั้น

สังยุตตนิกาย สคาถวรรค อัปปกสูตรที่ ๖ มีข้อความว่า

ข้าพเจ้าได้สดับมาแล้วอย่างนี้

สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระวิหารเชตวัน อารามแห่งท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐี เขตพระนครสาวัตถี ครั้งนั้นแล พระเจ้าปเสนทิโกศลเสด็จเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ครั้นแล้วจึงถวายบังคมพระผู้มีพระภาค แล้วประทับนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง พระเจ้าปเสนทิโกศลประทับนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่งแล้ว ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคว่า

ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ วันนี้หม่อมฉันได้เข้าที่ลับพักผ่อนอยู่ ได้เกิดความคิดอย่างนี้ว่า สัตว์เหล่าใดได้โภคทรัพย์ยิ่งๆ แล้ว ย่อมไม่มัวเมา ไม่ประมาท ไม่ถึงความติดอยู่ในกามคุณ และไม่ประพฤติผิดในสัตว์ทั้งหลาย สัตว์เหล่านั้น มีจำนวนน้อยในโลก ส่วนว่าสัตว์เหล่าใดได้โภคทรัพย์ยิ่งๆ แล้ว ย่อมมัวเมา ประมาท ถึงความติดอยู่ในกามคุณ และประพฤติผิดในสัตว์ทั้งหลาย สัตว์เหล่านั้นแล มีจำนวนมากมายในโลก

พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า

ถูกแล้ว ถูกแล้ว มหาบพิตร

คนที่จะไม่ติดในรูป ในเสียง ในกลิ่น ในรส ในโผฏฐัพพะนี้น้อย ไม่ใช่มาก เมื่อได้โภคทรัพย์ยิ่งๆ ขึ้น ประณีตขึ้น ที่จะไม่ให้ติด ไม่ยินดีในโภคทรัพย์ที่ยิ่งขึ้นและประณีตขึ้นนั้น ย่อมไม่มี ใช่ไหม เพราะว่า สัตว์เหล่าใดที่ได้โภคทรัพย์ยิ่งๆ แล้ว ย่อมไม่มัวเมา ไม่ประมาท ไม่ถึงความติดอยู่ในกามคุณ และไม่ประพฤติผิดในสัตว์ทั้งหลาย สัตว์เหล่านั้น มีจำนวนน้อยในโลก

ข้อความต่อไปมีว่า

พระผู้มีพระภาค ผู้พระสุคตศาสดา ครั้นตรัสไวยากรณภาษิตนี้จบลงแล้ว จึงได้ตรัสคาถาประพันธ์ต่อไปอีกว่า

สัตว์ทั้งหลายเป็นผู้กำหนัดกล้าในโภคทรัพย์ที่น่าใคร่ มักมาก หลงใหลในกามคุณ ย่อมไม่รู้สึกการก้าวล่วง คือ ประพฤติผิดในสัตว์พวกอื่น เหมือนพวกเนื้อไม่รู้สึกแร้วซึ่งโก่งดักไว้ ฉะนั้น ผลเผ็ดร้อนย่อมมีแก่สัตว์พวกนั้นในภายหลัง เพราะว่ากรรมเช่นนั้นมีวิบากเลวทราม

ข้อความตอนท้ายใน อัตถกรณสูตรที่ ๗ มีว่า

พระผู้มีพระภาค ผู้พระสุคตศาสดา ครั้นตรัสไวยากรณภาษิตนี้จบลงแล้ว จึงได้ตรัสคาถาประพันธ์ต่อไปอีกว่า

สัตว์ทั้งหลายเป็นผู้กำหนัดกล้าในโภคทรัพย์ที่น่าใคร่ มักมาก หลงใหลในกามคุณ ย่อมไม่รู้สึกการล่วงเกิน เหมือนพวกปลากำลังเข้าไปสู่เครื่องดักซึ่งอ้าดักอยู่ ฉะนั้น ผลอันเผ็ดร้อนย่อมมีแก่สัตว์พวกนั้นในภายหลัง เพราะว่ากรรมเช่นนั้นมีวิบากเลวทราม

ทรงอุปมาไว้มากมายในพระสูตรต่างๆ เพื่อแสดงให้เห็นโทษจริงๆ ว่า ผู้ที่กระทำทุจริตกรรมนั้น เหมือนกับสัตว์ หรือปลา ที่เข้าไปสู่กับดัก หรือแร้ว เพราะไม่รู้ว่าเมื่อเข้าไปแล้ว จะได้รับผลที่เดือดร้อนเป็นทุกข์

เรื่องของอทินนาทาน สำหรับพระภิกษุ นอกจากพระผู้มีพระภาคได้ทรงบัญญัติไว้ในพระวินัยปิฎกแล้ว พระองค์ยังทรงแสดงธรรมที่มีข้อความละเอียดเกี่ยวกับจิตที่จะเป็นเหตุให้มีโทษมากเพียงไร ซึ่งเรื่องของจิตนั้นเป็นเรื่องที่ละเอียดมาก ไม่ใช่เพียงแต่บัญญัติโทษในขั้นของพระวินัยปิฎกเท่านั้น ยังทรงชี้ให้เห็นว่า เรื่องของจิตใจนั้นต้องขัดเกลายิ่งกว่าที่จะเป็นการกระทำทางกาย ทางวาจา

อังคุตตรนิกาย ปัญจกนิบาต โจรสูตร มีข้อความว่า

ดูกร ภิกษุทั้งหลาย มหาโจรประกอบด้วยองค์ ๕ ประการ ย่อมตัดที่ต่อบ้าง ย่อมปล้นทำลายบ้าง ย่อมทำการปล้นเฉพาะเรือนหลังเดียวบ้าง ตีชิงในทางเปลี่ยวบ้าง องค์ ๕ ประการเป็นไฉน คือ มหาโจรในโลกนี้ เป็นผู้อาศัยที่ไม่ราบเรียบ ๑ เป็นผู้อาศัยที่รกชัฏ ๑ เป็นผู้อาศัยคนมีกำลัง ๑ เป็นผู้ใช้จ่ายโภคทรัพย์ ๑ เป็นผู้เที่ยวไปคนเดียว ๑

ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ก็มหาโจรเป็นผู้อาศัยที่ไม่ราบเรียบอย่างไร คือ มหาโจรในโลกนี้ เป็นผู้อาศัยที่ลุ่มแห่งแม่น้ำ หรือที่ไม่ราบเรียบแห่งภูเขา ดูกร ภิกษุทั้งหลาย มหาโจรเป็นผู้อาศัยที่ไม่ราบเรียบอย่างนี้แล

ก็มหาโจรในโลกนี้เป็นผู้อาศัยที่ที่รกชัฏอย่างไร คือ มหาโจรในโลกนี้ เป็นผู้อาศัยที่รกชัฏแห่งหญ้าบ้าง ต้นไม้บ้าง ฝั่งน้ำบ้าง ป่าใหญ่บ้าง ดูกร ภิกษุทั้งหลาย มหาโจรเป็นผู้อาศัยที่รกชัฏอย่างนี้แล

ก็มหาโจรเป็นผู้อาศัยคนมีกำลังอย่างไร คือ มหาโจรในโลกนี้ ย่อมอาศัยพระราชาบ้าง มหาอำมาตย์แห่งพระราชาบ้าง เขาย่อมมีความคิดอย่างนี้ว่า ถ้าใครจะกล่าวหาเรื่องบางอย่างกะเรา พระราชา หรือมหาอำมาตย์แห่งพระราชาเหล่านี้จักช่วยว่าความให้ ถ้าใครจักกล่าวหาเรื่องบางอย่างกะเขา พระราชา หรือมหาอำมาตย์แห่งพระราชาเหล่านั้น ก็ช่วยว่าความให้แก่เขา ดูกร ภิกษุทั้งหลาย มหาโจรเป็นผู้อาศัยคนมีกำลังอย่างนี้แล

นี่เป็นมหาโจร ไม่ใช่โจรธรรมดา เพราะฉะนั้น สามารถที่จะอาศัยพระราชาบ้าง มหาอำมาตย์แห่งพระราชาบ้าง

ข้อความต่อไปมีว่า

ก็มหาโจรย่อมแจกจ่ายโภคทรัพย์อย่างไร คือ มหาโจรในโลกนี้ เป็นผู้มั่งคั่ง มีทรัพย์มาก มีโภคะมาก เขาย่อมมีความคิดอย่างนี้ว่า ถ้าใครจักกล่าวหาเรื่องบางอย่างกะเรา เราจะจ่ายโภคทรัพย์กลบเกลื่อนเรื่องนั้น ถ้าใครกล่าวหาเรื่องบางอย่างกะเขา เขาย่อมใช้จ่ายโภคทรัพย์กลบเกลื่อนเรื่องนั้น ดูกร ภิกษุทั้งหลาย มหาโจรเป็นผู้ใช้จ่ายโภคทรัพย์อย่างนี้แล

ก็มหาโจรเป็นผู้เที่ยวไปคนเดียวอย่างไร คือ มหาโจรในโลกนี้ เป็นผู้ทำโจรกรรมคนเดียว ข้อนั้นเพราะเหตุใด เพราะเขาย่อมปรารถนาว่า เรื่องลับของเราอย่าได้แพร่งพรายไปภายนอก ดูกร ภิกษุทั้งหลาย มหาโจรเป็นผู้เที่ยวไปคนเดียวอย่างนี้แล

มหาโจรผู้ประกอบด้วยองค์ ๕ ประการนี้แล ย่อมตัดที่ต่อบ้าง ย่อมปล้นทำลายบ้าง ย่อมปล้นเฉพาะเรือนหลังเดียวบ้าง ตีชิงในทางเปลี่ยวบ้าง

ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ฉันนั้นเหมือนกันแล ปาปภิกษุผู้ประกอบด้วยธรรม ๕ ประการ ย่อมบริหารตนให้ถูกกำจัด ถูกทำลาย เป็นผู้มีโทษ มีข้อที่วิญญูชนจะพึง ติเตียน และย่อมประสบบาปเป็นอันมาก

พระผู้มีพระภาคทรงเปรียบเทียบแม้ภิกษุกับมหาโจร นี่เป็นการขัดเกลาอย่างยิ่ง ไม่ต้องกล่าวถึงชีวิตของฆราวาส ซึ่งถึงแม้ว่าจะไม่ใช่โจรที่ปล้น ที่ฆ่า ตีชิงก็ตาม แต่ถ้ามีการกระทำทุจริต เช่น อทินนาทาน จะด้วยกาย หรือด้วยวาจาก็ตาม และทรัพย์สมบัติที่ได้มาจากอทินนาทานนั้น ทำให้คนอื่นเดือดร้อนมากแสนสาหัส ก็ไม่ผิดกับมหาโจร หรือแม้ภิกษุ แม้ได้ทรงแสดงพระวินัยไว้แล้ว แต่จิตใจเป็นเรื่องที่ละเอียดกว่านั้น บางครั้งความปรารถนาใหญ่ ความปรารถนาลามก ความปรารถนาในลาภ ในยศ ในสรรเสริญ ก็ย่อมกระทำอาการเสมือนการกระทำของมหาโจรได้

พระผู้มีพระภาคตรัสต่อไปว่า

ธรรม ๕ ประการเป็นไฉน คือ ปาปภิกษุในธรรมวินัยนี้ เป็นผู้อาศัยกรรมที่ไม่สม่ำเสมอ ๑ เป็นผู้อาศัยที่รกชัฏ ๑ เป็นผู้อาศัยคนมีกำลัง ๑ เป็นผู้ใช้จ่ายโภคทรัพย์ ๑ เป็นผู้เที่ยวไปคนเดียว ๑

ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ก็ปาปภิกษุเป็นผู้อาศัยกรรมที่ไม่สม่ำเสมออย่างไร คือปาปภิกษุในธรรมวินัยนี้ เป็นผู้ประกอบด้วยกายกรรม วจีกรรม มโนกรรมที่ไม่สม่ำเสมอ ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ปาปภิกษุเป็นผู้อาศัยกรรมที่ไม่สม่ำเสมออย่างนี้แล

กรรมที่ไม่สม่ำเสมอ หมายความถึงไม่ใช่ในทางที่ควร

ข้อความต่อไปมีว่า

ก็ปาปภิกษุเป็นผู้อาศัยที่รกชัฏอย่างไร คือ ปาปภิกษุในธรรมวินัยนี้ เป็นมิจฉาทิฏฐิ ประกอบด้วยอันตคาหิกทิฏฐิ ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ปาปภิกษุเป็นผู้อาศัยที่รกชัฏอย่างนี้แล

อรรถกถา มโนรถปุรณี มีข้อความอธิบายว่า หมายความถึง ผู้ถือเอาซึ่ง สัสสตทิฏฐิ และอุจเฉททิฏฐิดำรงอยู่

จะเห็นได้ว่า ถึงแม้ว่าจะมีศรัทธาบวชในพระศาสนาแล้ว แต่ถ้าไม่เจริญอบรมปัญญาให้รู้สภาพธรรมตามปกติตามความเป็นจริง ย่อมไม่สามารถที่จะละความเห็นผิดที่เป็นสัสสตทิฏฐิ และอุจเฉททิฏฐิได้เลย

ข้อความต่อไป

ก็ปาปภิกษุเป็นผู้อาศัยคนมีกำลังอย่างไร คือ ปาปภิกษุในธรรมวินัยนี้ เป็นผู้อาศัยพระราชาบ้าง มหาอำมาตย์แห่งพระราชาบ้าง เธอมีความคิดอย่างนี้ว่า ถ้าใครจักกล่าวหาเรื่องบางอย่างกะเรา พระราชา หรือมหาอำมาตย์แห่งพระราชาเหล่านี้ จักช่วยว่าความให้ ถ้าใครกล่าวหาเรื่องบางอย่างกะเธอ พระราชาหรือมหาอำมาตย์แห่งพระราชาเหล่านี้ ย่อมจักช่วยว่าความให้แก่เธอ ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ปาปภิกษุเป็นผู้อาศัยคนมีกำลังอย่างนี้แล

ไม่ได้อาศัยธรรมแล้วใช่ไหม คือ ไม่ได้อาศัยเหตุผล สภาพธรรมตามความเป็นจริง แต่มุ่งอาศัยบุคคลผู้มีกำลัง ธรรมจะตรงหรือว่าจะคลาดเคลื่อนอย่างไร ถ้าผู้หนึ่งผู้ใดก็ตาม แทนที่จะคิดอาศัยธรรม อาศัยเหตุผลความจริงของธรรม แต่หันไปอาศัยบุคคลอื่นผู้มีกำลัง ไม่ใช่อาศัยเหตุผลของธรรมที่ถูกต้องแล้ว ก็ย่อมเป็นไปด้วยการทุจริตได้

ประการต่อไป พระผู้มีพระภาคตรัสว่า

ก็ปาปภิกษุเป็นผู้ใช้จ่ายโภคทรัพย์อย่างไร คือ ปาปภิกษุในธรรมวินัยนี้ ย่อมเป็นผู้ได้จีวร บิณฑบาต เสนาสนะ และคิลานปัจจัยเภสัชบริขาร เธอย่อมมีความคิดอย่างนี้ว่า ถ้าใครจักกล่าวหาเรื่องบางอย่างกะเรา เราจักแจกจ่ายลาภกลบเกลื่อนเรื่องนั้น ถ้าใครกล่าวหาเรื่องบางอย่างกะเธอ เธอย่อมแจกจ่ายลาภกลบเกลื่อนเรื่องนั้น ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ปาปภิกษุเป็นผู้ใช้จ่ายโภคทรัพย์อย่างนี้แล

จะเห็นได้ว่า บางท่านมีลักษณะอาการของมหาโจร ซึ่งอาศัยโภคทรัพย์กลบเกลื่อนเรื่องที่ได้กระทำทุจริตไว้

ประการสุดท้าย พระผู้มีพระภาคตรัสว่า

ก็ปาปภิกษุผู้เที่ยวไปคนเดียวอย่างไร คือ ปาปภิกษุในธรรมวินัยนี้ ย่อมอยู่ในที่ชนบทชายแดนรูปเดียว เธอเข้าไปหาสกุล (บ้านญาติโยม) ในชนบทนั้น ย่อมได้ลาภ ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ปาปภิกษุเป็นผู้เที่ยวไปคนเดียวอย่างนี้แล

ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ปาปภิกษุผู้ประกอบด้วยธรรม ๕ ประการนี้แล ย่อมบริหารตนให้ถูกกำจัด ถูกทำลาย เป็นผู้มีโทษ มีข้อที่วิญญูชนจะพึงติเตียน และประสบบาปเป็นอันมาก

จบสูตรที่ ๓

ถ้าไม่ใช่เป็นผู้ที่ตรัสรู้สภาพธรรมโดยตรง โดยละเอียด โดยทั่วถ้วน คงจะไม่ทราบว่า จิตใจของสัตว์โลกทั้งหลายที่ยังมีกิเลสที่ได้สะสมมา จะมีพฤติกรรมประสบการณ์ หรือว่าการกระทำต่างๆ กันไปตามกิเลสนั้นอย่างไรบ้าง

ไม่ว่าจะเป็นผู้ที่กลบเกลื่อนเรื่องของตน หรือเป็นผู้ที่อาศัยบุคคลผู้มีกำลัง เวลาที่มีบุคคลอื่นกล่าวหาเรื่องบางอย่างก็ตาม อย่าลืมว่า จิตที่เป็นอกุศล ที่เป็นทุจริตนั้นเอง ทำลาย กำจัดบุคคลนั้นแล้ว โดยที่บุคคลอื่นไม่ต้องทำอันตรายให้ เมื่ออกุศลธรรมเกิดขึ้นแล้ว ย่อมทำลายบุคคลนั้น ย่อมกำจัดบุคคลนั้นเอง

ต่อไปเป็นศีลข้อที่ ๓ คือ กาเมสุมิจฉาจารา เวรมณี เจตนาเป็นเครื่องงดเว้นจากการประพฤติผิดในกาม

การที่มีกิเลส ความติดข้องในรูปมาก ในเสียงมาก ในกลิ่นมาก ในรสมาก ในโผฏฐัพพะมาก ก็ย่อมจะมีกำลังถึงกับทำให้กระทำการทุจริตกรรมตามประเภทของกิเลสที่ได้สะสมมานั้น

กิเลสไม่ใช่ว่าจะเพิ่งมี มีมาตลอดทุกกาล ทุกสมัย เมื่อมีการอยู่ร่วมกัน และมีการสะสมกิเลสไว้มาก สังคมย่อมจะต้องเผชิญกับปัญหาเหล่านี้ด้วย เพราะฉะนั้น ผู้ที่ต้องการจะแก้ปัญหาสังคมควรจะทราบว่า ปัญหาสังคมตั้งแต่ปาณาติบาต อทินนาทาน จนถึงกาเมสุมิจฉาจารนั้น มาจากการสะสมกิเลสที่ยังไม่ได้ขัดเกลา แต่ว่าถ้าบุคคลใดเห็นโทษ และละเว้น วิรัติ ขัดเกลา ก็ย่อมจะไม่เดือดร้อน

สำหรับการประพฤติผิดในกามที่เป็นอกุศลกรรมบถ คือ กาเมสุมิจฉาจารนั้น ใน อัฏฐสาลินี และ สัทธัมมปกาสินี อรรถกถา มีข้อความตรงกันว่า องค์ของกาเมสุมิจฉาจาร มี ๕ ข้อ คือ

อคมนียวตฺถุ วัตถุที่ไม่ควรก้าวล่วง ๑

ตสฺมึ เสวนจิตฺตํ จิตคิดจะเสพในวัตถุนั้น ๑

เสวนปฺปโยโค ความพยายามในการเสพ ๑

มคฺเคน มคฺคปฏิปตฺติอธิวาสนํ หมายถึงการเสพ ๑

ข้อความอธิบายมีว่า

คำว่า กาเมสุ ได้แก่ ในเมถุนสมาจาร

ความประพฤติชั่วช้าลามกที่บัณฑิตติเตียนโดยส่วนเดียว ชื่อว่ามิจฉาจาร

ก็โดยลักษณะ เจตนาเป็นเหตุก้าวล่วงฐานะที่ไม่ควรก้าวล่วง ซึ่งเป็นไปทางกายทวาร ด้วยความประสงค์จะเสพอสัทธรรม ชื่อว่ากาเมสุมิจฉาจาร

สำหรับเรื่องของการประพฤติผิดในกาม เป็นการประพฤติล่วงในบุคคลที่ไม่ควรก้าวล่วง ได้แก่ สตรี ๒๐ จำพวก ซึ่งถ้าก้าวล่วงแล้ว เป็นอกุศลกรรมบถ เป็นกาเมสุมิจฉาจาร ซึ่งมีแสดงไว้ใน มังคลัตถทีปนีแปล เล่ม ๒ กถาว่าด้วยวินัย และกถาว่าด้วยการสงเคราะห์บุตรและภรรยา

ในกาเมสุมิจฉาจารนั้น สตรี ๒๐ จำพวก ชื่อว่าฐานะอันไม่ควรก้าวล่วง คือ สตรีที่มารดารักษาจำพวกหนึ่ง สตรีที่บิดารักษาจำพวกหนึ่ง สตรีที่มารดาและบิดารักษาจำพวกหนึ่ง สตรีที่พี่น้องชายรักษาจำพวกหนึ่ง สตรีที่พี่น้องหญิงรักษาจำพวกหนึ่ง สตรีที่ญาติรักษาจำพวกหนึ่ง สตรีที่โคตร คือ สกุล รักษาจำพวกหนึ่ง สตรีที่สหธัมมิกรักษา หรือธรรมรักษาจำพวกหนึ่ง สตรีที่มีอารักขา คือ รับหมั้นแล้วจำพวกหนึ่ง สตรีที่กฎหมายคุ้มครองจำพวกหนึ่ง

เปิด  181
ปรับปรุง  2 มิ.ย. 2565