แนวทางเจริญวิปัสสนา ตอนที่ 353

ที่ชื่อว่าวัตถุที่พิง

เป็นเจตนาอาการต่างๆ ของการที่จะฆ่าบุคคลอื่น ซึ่งมีวิธีการหลายอย่าง สำหรับวัตถุที่พิง ได้แก่ วางศัสตราไว้ในที่สำหรับพิงก็ดี ทายาพิษไว้ก็ดี ทำที่พิงให้ชำรุดก็ดี หรือมิฉะนั้นก็วางวัตถุที่พิงไว้ริมบ่อ เหว หรือที่ชัน เจตนาให้ตาย

ถ้ามีความต้องการที่จะให้ผู้อื่นตาย ก็คงจะมีวิธีการหลายอย่าง ซึ่งการกระทำทั้งหมดนั้น เป็นปาณาติบาตทั้งสิ้น

ที่ชื่อว่า การลอบวาง วางดาบ หอก ฉมวก หลาว ไม้ค้อน หิน มีด ยาพิษ หรือเชือกไว้ใกล้ๆ ด้วยเจตนาฆ่า

ที่ชื่อว่า เภสัช ได้แก่ ภิกษุให้เนยใส เนยข้น น้ำมัน น้ำผึ้ง หรือน้ำอ้อย ด้วยตั้งใจว่า เขาลิ้มเภสัชนี้แล้วจักตาย

ผู้อื่นไม่สามารถจะทราบได้ว่า บุคคลนั้นมีเจตนาฆ่าหรือไม่ เป็นเรื่องของจิตใจของแต่ละคนจริงๆ ถ้าเห็นบุคคลนั้นให้เนยใส ให้เนยข้น ให้น้ำมัน น้ำผึ้ง น้ำอ้อย ก็คิดว่าเป็นกุศลจิตที่ให้ แต่ว่าคนที่ให้ไม่ใช่ให้ด้วยกุศลจิต เพราะทราบว่า ถ้าภิกษุนั้นลิ้มเภสัชนี้ ก็อาจจะแสลงกับโรค หรืออาจจะถึงสิ้นชีวิตได้ ด้วยเหตุนี้เจตนาฆ่านั้น ทำให้เกิดการให้เนยใส เนยข้น น้ำมัน น้ำผึ้ง หรือน้ำอ้อยได้

ข้อความต่อไป

ที่ชื่อว่าการนำรูปเข้าไป มี ๒ ลักษณะ คือ นำรูปที่ไม่เป็นที่ชอบใจ น่ากลัว น่าหวาดเสียวเข้าไป ตั้งใจให้ตกใจตาย

อย่างนี้ก็ฆ่าได้ ด้วยการนำรูปเข้าไป

หรืออีกประการหนึ่ง นำรูปที่น่าชอบใจ น่ารัก น่าจับใจเข้าไป ด้วยตั้งใจว่า เขาเห็นรูปนี้แล้ว จักซูบผอมตาย เพราะหาไม่ได้

หมายความว่า เมื่อไม่ได้รูปที่น่าพอใจนั้น ก็จะต้องตายแน่ๆ คือ จักซูบผอมตาย นี่ก็เป็นเจตนาฆ่า

ที่ชื่อว่าการนำเสียงเข้าไป ได้แก่ นำเสียงไม่เป็นที่ชอบใจ น่ากลัว น่าหวาดเสียวเข้าไป ด้วยตั้งใจให้ตกใจตาย

การฆ่าด้วยเสียงก็ได้ แล้วแต่เจตนาของบุคคลนั้น

นำเสียงที่น่าชอบใจ น่ารัก น่าจับใจเข้าไป ด้วยตั้งใจว่า เขาได้ยินเสียงนี้แล้ว จักซูบผอมตาย เพราะหาไม่ได้

ที่ชื่อว่าการนำกลิ่นเข้าไป โดยนัยเดียวกัน

ที่ชื่อว่าการนำรสเข้าไป โดยนัยเดียวกัน

ที่ชื่อว่าการนำโผฎฐัพพะเข้าไป โดยนัยเดียวกัน

ที่ชื่อว่าการนำธรรมารมณ์เข้าไป คือ ภิกษุแสดงเรื่องนรกแก่ผู้ควรเกิดในนรก ด้วยตั้งใจว่า เขาฟังเรื่องนรกนี้แล้ว จักตกใจตาย

การพูดเรื่องนรกนี้ ก็ต้องแล้วแต่เจตนาอีกเหมือนกัน จะพูดให้ถึงกับตกใจตาย เป็นปาณาติบาตก็ได้

หรือว่าภิกษุแสดงเรื่องสวรรค์แก่ผู้ทำความดี ด้วยตั้งใจว่า เขาฟังเรื่องสวรรค์นี้แล้ว จักน้อมใจตาย

นี่ก็แล้วแต่เจตนา

ที่ชื่อว่ากิริยาที่บอก ได้แก่ ภิกษุถูกเขาถาม แล้วบอกว่า จงตายอย่างนี้ ผู้ใดตายอย่างนี้ ผู้นั้นจะได้ทรัพย์ ได้ยศ หรือไปสวรรค์

นี่ก็เป็นไปได้ โดยเฉพาะสำหรับภิกษุซึ่งเป็นผู้ที่บุคคลทั้งหลายเคารพเลื่อมใสในธรรม

ที่ชื่อว่าการแนะนำ ได้แก่ ภิกษุอันเขาไม่ได้ถาม แต่แนะนำ ข้อความซ้ำโดยนัยเดียวกัน

ที่ชื่อว่าการนัดหมาย ได้แก่ ภิกษุทำการนัดหมายว่า จงปลงชีวิตเขาเสียตามคำนัดหมายนั้น ในเวลาเช้าหรือเวลาเย็น ในเวลากลางคืนหรือกลางวัน ดังนี้

ที่ชื่อว่าการทำนิมิต ได้แก่ ภิกษุทำนิมิตว่า จักขยิบตา ยักคิ้ว หรือผงกศีรษะ แล้วท่านจงปลงชีวิตเขาตามนิมิตนั้น ดังนี้

ทั้งหมดนี้ คือ กิริยาอาการของปาณาติบาตที่จะเป็นไป เมื่อมีเจตนาฆ่าเกิดขึ้น

. โทษของการฆ่านี้ สมมติว่า บุรุษหนึ่งมาฟังคำบรรยายของอาจารย์เรื่องการฆ่า ท่านก็เข้าใจดีว่า การฆ่านี้ไม่ดี มีโทษ แต่เกิดความจำเป็นที่จะต้องฆ่า และก็ทำการฆ่า เช่น เกิดความหิวจัด ไม่มีอะไรจะกิน ก็ไปยิงสัตว์ตัวใดตัวหนึ่ง สัตว์นั้นก็ตายตามเจตนาของเขา เขารู้ทุกสิ่งทุกอย่างว่า การฆ่านี้ไม่ดี แต่เขาก็ฆ่า ในขณะที่อีกบุรุษหนึ่งไม่รู้ และได้ฆ่าสัตว์ เพราะสัตว์เป็นอาหารของมนุษย์ สัตว์นั้นก็ตายเช่นเดียวกัน โทษของการฆ่าทั้งสองประการนี้จะแตกต่างกันอย่างไร

สุ. ถ้าตามกำลังของกิเลสแล้ว คนที่ไม่รู้กิเลสแรงกว่า เพิ่มโมหะความไม่รู้ด้วย แต่ว่าคนที่รู้ ด้วยความจำเป็นถึงกระทำ ก็อาจจะมีจิตใจที่ไม่มีกำลังแรงเท่ากับคนที่มีจิตใจเหี้ยมเกรียมด้วยความไม่รู้ เพราะประกอบด้วยโมหะด้วย ถ้ากิเลสและความเพียรของผู้ใดแรง ผู้นั้นก็มีโทษมาก

เพราะฉะนั้น คนที่ไม่รู้ กิเลสและความเพียรก็ต้องแรงกว่า ถ้าท่านมีปัญญา รู้ความควรไม่ควร ท่านก็จะลดคลายความเพียรและกิเลส แต่ว่าผู้ที่ไม่รู้ ก็ไม่มีปัจจัยอะไรที่จะไปทำให้ลดคลายความเพียรและกิเลสได้

ขุททกนิกาย ชาดก สีลวิมังสชาดก มีข้อความว่า

ข้าพระองค์มีความสงสัยว่า ศีลประเสริฐ หรือสุตะประเสริฐ ศีลนี่แหละประเสริฐกว่าสุตะ ข้าพระองค์ไม่มีความสงสัยแล้ว

ข้อ ๗๕๙ มีข้อความว่า

ชาติและวรรณะเป็นของว่างเปล่า ได้สดับมาว่า ศีลเท่านั้นประเสริฐที่สุด บุคคลผู้ไม่ประกอบด้วยศีล ย่อมไม่ได้ประโยชน์เพราะสุตะ

ข้อ ๗๖๐

กษัตริย์และแพศย์ผู้ไม่ตั้งอยู่ในธรรม ไม่อาศัยธรรม ชนทั้งสองนั้นละโลกนี้ไปแล้ว ย่อมเข้าถึงทุคติ

เสมอกันหมด ไม่เลือก ไม่เว้นว่า จะเป็นชาติวรรณะใด ถ้ากระทำทุจริตกรรมแล้ว ก็ย่อมเข้าถึงทุคติ

ข้อ ๗๖๑

กษัตริย์ พราหมณ์ แพศย์ ศูทร คนจัณฑาล และคนเทหยากเยื่อ ประพฤติธรรมในธรรมวินัยนี้แล้ว ย่อมเป็นผู้เสมอกันในไตรทิพย์

ข้อ ๗๖๒

เวท คือ วิชาความรู้ ชาติ แม้พวกพ้อง ก็ไม่สามารถจะให้อิสริยยศ หรือความสุขในภพหน้าได้ ส่วนศีลของตนเองที่บริสุทธิ์ดีแล้ว ย่อมนำความสุขในภพหน้ามาให้ได้

ในชาดกนี้แสดงให้เห็นถึงข้อที่ควรคิดว่า ศีลประเสริฐ หรือสุตะประเสริฐ

การฟัง การศึกษา กับการเป็นผู้มีปกติประพฤติกายสุจริต วจีสุจริต มโนสุจริต อย่างไหนประเสริฐ บางท่านรู้มาก จริง แต่กระทำทุจริต เพราะฉะนั้น ความรู้ไม่เป็นประโยชน์ อีกบุคคลหนึ่ง กายสุจริต วจีสุจริต มโนสุจริต แต่ว่าสุตะอาจจะน้อย

เพราะฉะนั้น ที่จะเป็นประโยชน์จริงๆ ของการศึกษานั้น เพื่อการปฏิบัติ ไม่ใช่เพียงเพื่อการศึกษาเท่านั้น

ในพระสูตรมีข้อความว่า

ถ้าบุคคลใดมีการศึกษามาก การปฏิบัติน้อย บุคคลอื่นก็ย่อมสรรเสริญเขาในด้านการศึกษา แต่ไม่สรรเสริญในด้านการปฏิบัติ บุคคลใดมีการปฏิบัติมาก มีการศึกษาน้อย บุคคลก็สรรเสริญเขาในการปฏิบัติ ไม่สรรเสริญในการศึกษา บุคคลใดมีการศึกษามาก มีการปฏิบัติมาก บุคคลอื่นก็สรรเสริญเขา ในการศึกษามาก และในการปฏิบัติมาก บุคคลใดมีการศึกษาน้อย มีการปฏิบัติธรรมน้อย ก็ย่อมไม่ได้รับการสรรเสริญ ทั้งในการปฏิบัติ และในการศึกษา

ถึงแม้ว่าท่านจะได้ศึกษาพระธรรม ทั้งพระวินัยปิฎกก็ดี พระสุตตันตปิฎกก็ดี พระอภิธรรมปิฎกก็ดี หรือเรื่องของการเจริญสติปัฏฐานก็ดี แต่เกื้อกูลให้ท่านประพฤติปฏิบัติตามพระธรรมวินัยมากขึ้นแล้วหรือยัง หรือว่าบางครั้งก็ยังมีการกระทำทุจริตกรรมตามกำลังของกิเลส แต่ธรรมก็ยังเกื้อกูล อนุเคราะห์ให้ละคลายกำลังที่แรงกล้า ความเพียรที่แรงกล้าในทางทุจริตกรรมลง

เคยมีท่านผู้ฟังท่านหนึ่งถามเรื่องการค้าขายว่า การค้าขายอย่างไรจะเป็นสุจริต หรือทุจริตประการใด โดยเฉพาะในการค้าขายเนื้อสัตว์

อังคุตตรนิกาย ปัญจกนิบาต จตุตถปัณณาสก์ อุปาสกวรรคที่ ๓ วณิชชสูตรที่ ๗ มีข้อความว่า

ดูกร ภิกษุทั้งหลาย การค้าขาย ๕ ประการนี้ อันอุบาสกไม่พึงกระทำ ๕ ประการเป็นไฉน คือ การค้าขายศัสตรา ๑ การค้าขายสัตว์ ๑ การค้าขายเนื้อสัตว์ ๑ การค้าขายน้ำเมา ๑ การค้าขายยาพิษ ๑

ดูกร ภิกษุทั้งหลาย การค้าขาย ๕ ประการนี้แล อันอุบาสกไม่พึงกระทำ

มโนรถปุรณี อรรถกถา อธิบายว่า

บทว่า วณิชฺชา การค้าขาย ได้แก่ การงานของพ่อค้า

บทว่า อุปาสเกน ได้แก่ บุคคลผู้ถึงไตรสรณคมน์

คือ อุบาสกที่ทำการค้าเป็นผู้ที่ถึงไตรสรณคมน์ คือ มีพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์เป็นสรณะ ก็ย่อมจะไม่ทำการค้าในสิ่งที่ไม่ควรจะกระทำ

ข้อว่า การใช้ให้ทำอาวุธ แล้วขายอาวุธนั้น ชื่อว่าสตฺถวณิชฺชา การค้าขายศัสตรา

โดยมากในพระสูตรนี้ มีคำอธิบายมุ่งไปถึงเจตนาที่ใช้ให้ทำด้วย

การค้าขายมนุษย์ คือ ค้าทาส ชื่อว่าสตฺตวณิชฺชา การค้าขายคนไม่ควรกระทำ

การเลี้ยงสุกร และเนื้อ เป็นต้น แล้วขายสัตว์เหล่านั้น ชื่อว่ามํสวณิชฺชา การค้าขายเนื้อสัตว์

การให้กระทำน้ำเมา หรือของเมาชนิดใดชนิดหนึ่ง แล้วค้าขายน้ำเมานั้น ชื่อว่ามชฺชวณิชชา การค้าขายน้ำเมา

การให้ทำยาพิษ แล้วค้าขายยาพิษนั้น ชื่อว่าวิสวณิชฺชา การค้าขายยาพิษ

การค้าขายทั้งหมดนี้ อุบาสกจะทำด้วยตนเองก็ตาม จะใช้ให้คนอื่นทำก็ตาม ไม่ควรทั้งนั้น

ถ. การค้าขายเนื้อสัตว์ในสมัยก่อน ผู้ที่จะขายเนื้อหมูก็ดี เนื้อวัวก็ดี จะต้องทำการฆ่าเอาเองแล้วจึงขาย แต่สมัยนี้ผู้ที่จะขายเนื้อหมูหรือเนื้อวัว เขาไม่ต้องทำการฆ่า แต่ไปรับที่โรงฆ่าสัตว์ ผมสงสัยว่าสมควรหรือไม่สมควร

สุ. การค้าขายเนื้อสัตว์ มีข้อความว่า การเลี้ยงสุกร และเนื้อ เป็นต้น แล้วขายสัตว์เหล่านั้น ชื่อว่ามังสวณิชชา การค้าขายเนื้อสัตว์

คราวที่แล้วได้พูดถึงตติยปาราชิกัณฑ์ ซึ่งท่านผู้ฟังจะได้พิจารณาความละเอียดของธรรมจากจิตใจของท่าน และจากพระวินัยปิฎกด้วย เพราะว่าการศึกษาธรรมนั้นไม่ใช่เพียงปิฎกใดปิฎกหนึ่ง บางท่านอาจจะเห็นว่า พระวินัยปิฎกนั้นเป็นเรื่องของพระภิกษุสงฆ์ แต่ตามความเป็นจริง การที่พระผู้มีพระภาคทรงบัญญัติสิกขาบทโดยละเอียด ย่อมเป็นไปตามความละเอียดของจิต

สำหรับในเรื่องของปาณาติบาต เจตนาฆ่า ถ้าเป็นเพียงความคิด แม้ใน พระวินัยปิฎก ก็ไม่ต้องโทษเป็นอาบัติ คือ ไม่เป็นอาบัติ ซึ่งเวลาที่เกิดความโกรธ มากๆ แรงๆ อาจจะเกิดความคิดสักแวบหนึ่งเล็กน้อยว่า บุคคลนั้นน่าจะตายเสีย จริงๆ ในขณะนั้นเป็นองค์ของปาณาติบาต แต่ว่ายังไม่ครบองค์ เพราะเป็นการคิดด้วยกำลังของโทสมูลจิต ด้วยความหยาบกระด้างของจิต นั่นเป็นขั้นของความคิดนึก แต่ถ้าถึงกับแสดงด้วยวาจา หรือด้วยกาย เช่น สั่งทูต สั่งทูตต่อ พูดในที่ลับ ในที่ไม่ลับ พรรณนาด้วยกาย ด้วยวาจา ด้วยหนังสือ ด้วยขุดหลุมพราง ด้วยวัตถุ ที่พิง ด้วยการลอบวาง ด้วยการให้เภสัช ด้วยการนำรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ เข้าไป ด้วยเจตนาจะฆ่า ถ้ามีการกระทำเกิดขึ้นแล้วอย่างนั้น ตามพระวินัยแล้ว ภิกษุนั้นต้องอาบัติทุกกฏ ยังไม่ถึงกับปาราชิก ยังไม่ถึงกับการขาดจากภาวะของการเป็นบรรพชิต

ผู้ที่เป็นฆราวาสก็เปรียบเทียบจิตใจของท่านได้ แม้บรรพชิตยังคิด ยังมีการ กระทำอย่างนั้น ด้วยกำลังของโทสมูลจิต ซึ่งขณะนั้นหลงลืมสติ ชีวิตจริงๆ ของฆราวาสจะมีการคิดอย่างนี้บ้างไหม จะมีการกระทำที่เป็นกาย เป็นวาจา อย่างนี้ บ้างไหม

เพราะฉะนั้น การต้องอาบัติ ก็แรงขึ้นตามขั้นของการกระทำ เช่น ถ้ากระทำด้วยกาย ด้วยวาจา ก็เป็นอาบัติทุกกฏ ถ้าบุคคลนั้นเกิดทุกขเวทนาขึ้นเพราะการกระทำของภิกษุนั้น ภิกษุผู้กระทำนั้น ต้องอาบัติถุลลัจจัย เป็นอาบัติที่มากกว่าทุกกฏ และถ้าบุคคลนั้นตาย ภิกษุนั้นก็ถึงปาราชิก

เรื่องความละเอียดของพระธรรมวินัย เป็นไปตามสภาพของจิตใจ สำหรับบุคคลที่แม้ว่าจะฆ่ามนุษย์ แต่ไม่ถึงความเป็นปาราชิก เมื่อเป็นเพศของภิกษุนั้น คือ อนาปัตติวาระ มีข้อความว่า ภิกษุไม่จงใจ ๑ ภิกษุไม่รู้ ๑ ภิกษุไม่ประสงค์จะให้ตาย ๑ ภิกษุวิกลจริต ๑ ภิกษุมีจิตฟุ้งซ่าน ๑ ภิกษุผู้กระสับส่ายเพราะเวทนา ๑ ภิกษุอาทิกัมมิกะ เหล่านี้ ไม่ต้องอาบัติ ดังนี้แล

ภิกษุอาทิกัมมิกะ คือ ผู้ที่กระทำผิดเป็นรูปแรก ที่ทำให้พระผู้มีพระภาคทรงบัญญัติสิกขาบทนั้น

เพราะฉะนั้น ท่านก็เทียบกับจิตใจของท่านได้จากพระวินัยปิฎก เพราะท่านผู้ฟังบางท่านเกิดความข้องใจว่า สัตว์นั้นตายลงไปโดยที่ท่านไม่ได้จงใจ จะเป็นอกุศลกรรมบถหรือไม่

ถ้าท่านไม่มีเจตนาฆ่า ไม่เป็นอกุศลกรรม หรือเวลาที่ท่านไม่รู้ หรือไม่มีความประสงค์จะให้ตาย เช่นนั้นก็ไม่เป็นปาณาติบาต

เพระฉะนั้น ถ้าท่านผู้ฟังได้ศึกษาพระธรรมวินัยโดยตลอดทั้ง ๓ ปิฎก ก็จะทำให้ท่านเข้าใจความละเอียดของสภาพของจิตที่เป็นเหตุและเป็นผลยิ่งขึ้น

บางท่านก็สงสัยว่า เพียงการกระทำบางอย่าง บางครั้งท่านคิดว่าด้วยเจตนาดี แต่ว่าบุคคลอื่นสิ้นชีวิตลง จะเป็นอกุศลกรรมไหม และถ้าเป็นภิกษุจะเป็นปาราชิกไหม

ขอกล่าวถึงความละเอียดในเรื่องนี้ ใน ตติยปาราชิกกัณฑ์ วินีตวัตถุ เรื่อง พรรณนา ความตาย ซึ่งมีข้อความว่า

ก็โดยสมัยนั้นแล ภิกษุรูปหนึ่งอาพาธ ภิกษุทั้งหลายได้พรรณนาคุณแห่งความตายแก่ภิกษุนั้นด้วยความกรุณา ภิกษุนั้นถึงมรณภาพแล้ว ภิกษุเหล่านั้นมีความรังเกียจว่า พวกเราต้องอาบัติปาราชิกแล้วกระมังหนอ จึงกราบทูลเรื่องนั้นแด่พระผู้มีพระภาค

พระผู้มีพระภาคตรัสว่า

ดูกร ภิกษุทั้งหลาย พวกเธอต้องอาบัติปาราชิกแล้ว

เพราะฉะนั้น ท่านต้องระวังจิตใจของท่าน ท่านคิดจะกรุณาให้คนอื่นสิ้นชีวิตด้วยเข้าใจว่า ขณะนั้นเป็นความกรุณา แต่ความจริงแล้ว การที่ต้องการให้บุคคลอื่นสิ้นชีวิตลง ไม่ใช่ความกรุณา เป็นเจตนาที่ต้องการให้บุคคลนั้นสิ้นชีวิต เพราะฉะนั้น เป็นอกุศลกรรม เป็นปาณาติบาต จะด้วยการพรรณนาอย่างไรก็ตาม ถ้าภิกษุนั้นถึงมรณภาพ ภิกษุที่พรรณนาคุณแห่งความตายก็ต้องอาบัติปาราชิก

เรื่องของจิตใจเป็นเรื่องที่ละเอียด ถ้าท่านไม่ทราบว่าอะไรเป็นกุศลกรรม อะไรเป็นอกุศลกรรม บางทีท่านอาจจะทำอกุศลกรรม เพราะคิดว่าเป็นกุศลกรรมก็ได้ แต่ขอให้ท่านผู้ฟังระลึกถึงสภาพของจิตจริงๆ ของท่าน และการกระทำของบุคคลบางท่านที่อาจจะเข้าใจผิดได้ คิดว่าขณะนั้นเป็นความกรุณา

ถ้าท่านกรุณาจริงๆ ก็ควรที่จะบรรเทาทุกข์ของบุคคลนั้นทางกาย และทางใจ ด้วย คือ ด้วยการพูดถึงเรื่องของศีล สมาธิ ปัญญา เพื่อที่จะให้บุคคลนั้นเกิดกุศลจิต

เปิด  238
ปรับปรุง  2 มิ.ย. 2565