แนวทางเจริญวิปัสสนา ตอนที่ 356

สำหรับบางท่านที่ไม่สำรวม ไม่ระวังว่า กิเลสของตนเองนั้นเพิ่มขึ้น มากขึ้นเพียงใดทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ ก็ย่อมจะไม่ละคลาย และไม่ขัดเกลากิเลสของตนเอง ซึ่งถ้าท่านไม่ละคลาย ไม่ขัดเกลากิเลสของตนเอง ด้วยปัญญาที่รู้สภาพธรรมตามความเป็นจริง การติดข้องในวัตถุ โภคสมบัติ รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะเหล่านี้ จะทำให้ท่านมีกิเลสที่มีกำลังแรงกล้าขึ้น ถึงกับถือเอาวัตถุที่เจ้าของไม่ได้ให้มาเป็นของตนได้ เป็นการแสดงให้เห็นว่า กิเลสมีกำลังแรงกล้ามาก

ถ้าเป็นแต่เพียงความยินดี พอใจในรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ซึ่งเป็นธรรมดาที่ทุกคนมี แม้ว่าจะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ แต่ก็ยังไม่ถึงขั้นที่มีกำลังแรงกล้าถึงกับจะถือเอาวัตถุที่เจ้าของไม่ได้ให้มาเป็นของตน แต่ถ้าขณะใดเกิดการกระทำอย่างนั้นขึ้น และไม่รู้สภาพของจิตตามความเป็นจริงว่า ขณะนั้นมีกิเลสที่มีกำลังแรงกล้า ทำให้กระทำทุจริตกรรมนั้นลงไป ถ้าไม่รู้อย่างนี้ ก็ย่อมจะไม่ขัดเกลากิเลสของตนเอง แต่ถ้ารู้ว่าเป็นโทษ เห็นว่าเป็นสิ่งที่เป็นภัย เห็นว่าเป็นการกระทำที่ไม่ควร ท่านก็จะละเว้นอกุศลกรรมที่เป็นการยึดถือสิ่งของที่เจ้าของไม่ได้ให้มาเป็นของตน

สำหรับศีลทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นการงดเว้นจากปาณาติบาต งดเว้นจากอทินนาทาน เป็นต้นนั้น อย่าคิดว่าไม่ใช่เรื่องของผู้ที่มีปกติเจริญสติปัฏฐาน เพราะว่า ผู้ที่กำลังมีปกติเจริญสติปัฏฐานก็ยังเป็นผู้ที่มีกิเลสอยู่ เพราะฉะนั้น ก็เป็นชีวิตปกติประจำวันของท่านที่จะทราบว่า กำลังของกิเลสของท่านนั้น ทำให้เกิดการกระทำทุจริตทางกาย หรือทางวาจาได้มากน้อยประการใดบ้าง ซึ่งเป็นเรื่องจริง

ปาณาติบาตนั้น ไม่ใช่เพียงแต่ฆ่ามนุษย์ แม้แต่การฆ่าสัตว์ จะเป็นสัตว์ใหญ่ สัตว์เล็กประการใดก็ตาม ชีวิตประจำวันของท่านกระทำทุจริตกรรมนี้หรือเปล่า ถ้ากระทำอยู่แม้ว่าท่านเป็นผู้ที่มีปกติเจริญสติปัฏฐาน แต่ท่านก็ทราบว่า เป็นเพราะกิเลสมีกำลังแรงถึงกับทำให้กระทำปาณาติบาต หรืออทินนาทานได้ ถ้ากิเลสไม่มีกำลังแรง จะทำอย่างนั้นไม่ได้

เพราะฉะนั้น ถ้ายังคงกระทำปาณาติบาต หรืออทินนาทานอยู่ ก็หมายความว่ายังไม่ถึงการบรรลุคุณธรรมเป็นพระโสดาบันบุคคล ซึ่งการเป็นผู้ที่มีปกติเจริญสติปัฏฐานนั้น จุดประสงค์เพื่อจะได้รู้แจ้งสภาพธรรมตามความเป็นจริง และละการยึดมั่น ยึดถือนามธรรมและรูปธรรมว่าเป็นสัตว์ เป็นบุคคล เป็นตัวตน

ถึงแม้ว่ากิเลสจะมีกำลังมากน้อยประการใดก็ตาม ผู้ที่มีปกติเจริญสติปัฏฐานต้องระลึกรู้ในลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏในขณะนั้นโดยถูกต้อง ตรงตามความเป็นจริง และเมื่อปัญญาได้อบรมเจริญจนถึงการที่จะรู้ชัดว่า สภาพธรรมนั้นๆ ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน จะทำให้ท่านละ และดับเจตนาที่เป็นทุจริตกรรมที่เป็นปาณาติบาต อทินนาทาน กาเมสุมิจฉาจาร มุสาวาท และการดื่มน้ำเมาที่จะทำให้หลงลืมสติได้เป็นสมุจเฉท

กิเลสเป็นเรื่องที่ละเอียด ที่ว่าละเอียดก็เพราะเหตุว่ามีมาก ทั้งทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ จนท่านเกือบจะไม่รู้สึกเลยว่าเป็นกิเลส เป็นสิ่งที่ทำให้จิตเศร้าหมองเป็นอกุศล ทางเดียวที่จะละคลายกิเลสได้ ก็ด้วยการศึกษาเรื่องของจิตใจ เรื่องของกิเลส พร้อมกับการเป็นผู้ที่มีปกติเจริญสติ ระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมจนกระทั่งสามารถที่จะรู้ชัดในสภาพธรรมนั้นๆ ได้

เพราะฉะนั้น การศึกษาเรื่องของศีล จะเป็นประโยชน์ในการที่ท่านจะได้ตรวจสอบสภาพจิตใจของท่านเองว่า กิเลสนั้นหนาแน่นมากน้อยประการใด เรื่องของศีลทั้งหมด เป็นเรื่องที่ควรจะได้ศึกษาโดยละเอียด

สำหรับอทินนาทาน คือ การถือเอาสิ่งของที่เจ้าของไม่ได้ให้

ข้อความใน สัทธัมมปกาสินี อรรถกถา ปฏิสัมภิทามรรค มีว่า

อทินนาทาน มีองค์ ๕ คือ

ปรปริคฺคหิตํ วัตถุนั้นเป็นของที่ผู้อื่นหวงแหน ๑

ปรปริคฺคหิตสญฺญิตา รู้อยู่ว่าวัตถุนั้นเป็นของที่ผู้อื่นหวงแหน ๑

เถยฺยจิตฺตํ จิตคิดจะลัก ๑

อุปกฺกโม พยายามเพื่อจะลัก ๑

เตน หรณํ นำวัตถุนั้นมาด้วยความเพียรนั้น ๑

ไม่ใช่มีแต่เพียงความยินดีพอใจในรูป ในเสียง ในกลิ่น ในรส ในโผฏฐัพพะ ในวัตถุนั้นๆ เท่านั้น ซึ่งถ้าเกิดความยินดีพอใจขึ้น ก็เป็นกิเลส เป็นโลภะ เป็นความปรารถนา เป็นความต้องการ แต่เมื่อมีกำลังขึ้น ปรารถนาในสิ่งซึ่งเป็นของบุคคลอื่น และรู้อยู่ด้วยว่า วัตถุนั้นเป็นของที่เจ้าของหวงแหน แต่ถึงกระนั้น ก็มีเจตนาทุจริตที่จะนำมาเป็นของตน และยังมีความเพียร เกิดความพยายามที่จะได้วัตถุนั้นมา และได้กระทำการนำวัตถุนั้นมาด้วยความเพียรนั้น สำเร็จลง

อทินนาทานเป็นเรื่องที่ละเอียด การถือเอาสิ่งของที่เจ้าของไม่ได้ให้ ชื่อว่า อทินนาทานะ ลัก อันเป็นกิริยาของโจร ชื่อว่าอทินนาทานะ หรืออทินนาทาน ซึ่งมีตั้งแต่เล็กน้อยจนกระทั่งถึงใหญ่ เบียดเบียนบุคคลอื่นให้เดือดร้อน ลำบาก ได้รับความทุกข์ยากนานาประการ

ท่านเคยตู่เอาของของคนอื่นมาเป็นของท่านเองบ้างไหม ของที่คล้ายๆ กัน ของท่านก็คล้ายของคนนั้น แต่ของท่านหายไป ก็อยากจะได้ของบุคคลอื่นนี้มาเป็นของตน ก็กล่าวตู่ว่า วัตถุนั้นเป็นของท่านแน่นอน เคยบ้างไหม

ปัจจุบันนี้ศึกษาธรรมแล้วก็รู้ว่า อะไรเป็นอกุศลกรรม ก็คงจะละเว้น งดเว้นไป แต่ว่าลองคิดถึงอดีตก่อนๆ นี้ จะสมัยเมื่อเป็นเด็กก็ได้ เคยมีการกระทำอย่างนี้บ้างไหม เป็นเจตนาของท่านเองที่ทุจริต เกิดแล้วด้วยความต้องการในวัตถุสิ่งของของบุคคลอื่น ทำให้เกิดการตู่ เพื่อจะได้วัตถุนั้นมาเป็นของตน

การทอนเงินขาดบ้าง เกินบ้าง และไม่คืนบุคคลที่เป็นเจ้าของ ทั้งๆ ที่รู้ว่า เป็นของที่บุคคลอื่นหวงแหน เป็นประโยชน์กับเจ้าของ มีบ้างไหม

ท่านอาจจะเห็นว่า เป็นเรื่องที่เล็กน้อยเหลือเกิน แต่นั่นเป็นทุจริต เป็นอกุศลกรรมบถ เป็นเจตนาที่ต้องการที่จะได้วัตถุของบุคคลอื่นมา ด้วยการขาดความเมตตาในบุคคลอื่น บุคคลนั้นย่อมยังคงปรารถนาหวงแหนวัตถุซึ่งเป็นของๆ ตน เพราะว่ายังเป็นสิ่งที่ใช้ประโยชน์ได้ แต่เมื่อท่านขาดความเมตตา ท่านไม่คิดถึงว่าบุคคลอื่นจะเดือดร้อน ท่านก็กระทำทุจริตกรรมแม้เล็กน้อยนั้น โดยที่ไม่เห็นว่าเป็นโทษ ไม่เห็นว่าเป็นกิเลส เป็นอกุศลกรรมที่ไม่ควรกระทำ

อัฏฐสาลินี อรรถกถา ธัมมสังคณีปกรณ์ จิตตุปปาทกัณฑ์ ได้อธิบายอกุศลกรรมบถ และกุศลกรรมบถ มีข้อความว่า

อธิบายอทินนาทาน มีข้อความว่า การถือเอาสิ่งของ ที่เจ้าของเขายังมิได้ให้ ชื่อว่าอทินนาทาน คือว่า การนำสิ่งของๆ ผู้อื่นไป ได้แก่ ความเป็นขโมย คือ ลัก

บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า อทินฺนํ ได้แก่ ของอันบุคคลอื่นหวงแหน

ซึ่งอทินนาทานนั้น ก็ ย่อมเป็นไปตามสมควรด้วยอำนาจแห่งอวหาร คือ การลัก หรือการถือเอา ๕ ประการเหล่านี้ คือ

เถยฺยาวหาร ลักโดยขโมย ๑

ปสยฺยาวหาร ลักโดยใช้อำนาจข่มขู่ ๑

ปฏิจฺฉนฺนาวหาร ลักโดยปกปิด ๑

ปริกปฺปาวหาร ลักโดยตั้งใจจะโกง ๑

กุสาวหาร ลักโดยการจับสลาก ๑

นี่เป็นอาการต่างๆ ของการกระทำ เวลาที่ท่านมีเจตนาที่จะถือเอาวัตถุของบุคคลอื่นมาเป็นของท่าน คือ การลักโดยอาการของขโมยก็ได้ หรือว่าโดยใช้อำนาจข่มขู่ก็ได้ หรือว่าโดยปกปิดไม่ให้รู้ว่าท่านเอาวัตถุของคนอื่นไปแล้ว เช่น การยักยอก เป็นต้น หรือว่าลักโดยตั้งใจจะโกง เป็นการกระทำที่เป็นทุจริต คือ โกงจริงๆ หรือว่าลักโดยจับสลาก การจับสลากนี้ยุติธรรมเสมอไปหรือเปล่า เกิดการทุจริตก็ได้ใช่ไหม เพราะฉะนั้น การทุจริตก็มีหลายอย่าง ซึ่งบุคคลอื่นภายนอกดูแล้วเหมือนว่าไม่ใช่การทุจริต แต่เมื่อเจตนาทุจริตมี แม้การโกงหรือทำอาการของโจร คือ ถือเอาวัตถุของบุคคลอื่น โดยการจับสลากก็ได้

สำหรับโทษของอทินนาทาน การถือเอาวัตถุของบุคคลอื่นโดยที่เจ้าของไม่ได้ให้ ก็มีมากน้อยต่างกัน ซึ่งทั้งใน อัฏฐสาลินี และ สัทธัมมปกาสินี อรรถกถา มีข้อความว่า

อทินนาทานนั้นมีโทษน้อย ในทรัพย์สมบัติของบุคคลอื่นที่เป็นวัตถุเลวอทินนาทานนั้นมีโทษมาก ในทรัพย์สมบัติของบุคคลอื่นที่เป็นวัตถุประณีต

ถ้าเป็นวัตถุที่ไม่ประณีต เจ้าของคงจะไม่หวงแหนเท่าไร ราคาก็คงจะไม่มาก เป็นของที่เจ้าของก็คงอาจจะสละให้ได้โดยง่าย ไม่เป็นการเดือดร้อนแก่เจ้าของ ฉะนั้น โทษก็น้อยกว่าการที่ถือเอาทรัพย์สมบัติของบุคคลอื่นที่เป็นวัตถุประณีต

แต่ถ้าวัตถุเสมอกัน อทินนาทาน ชื่อว่ามีโทษมาก ในวัตถุที่เป็นของท่านผู้มีคุณมาก ชื่อว่ามีโทษน้อย ในวัตถุที่เป็นของท่านผู้มีคุณน้อย

การกระทำให้บุคคลอื่นเดือดร้อนเป็นทุกข์นี้ ถ้าท่านกระทำให้ผู้ที่มีคุณมากเดือดร้อนเป็นทุกข์ นั่นเป็นอกุศลกรรมที่มีกำลังแรง แต่ถ้าผู้บุคคลนั้นเป็นผู้ที่ไม่มีคุณมาก โทษก็น้อยลง

ท่านที่ไม่ได้กระทำความเดือดร้อนให้บุคคลอื่น ต้องเป็นผู้ที่มีคุณมาก เช่น บรรพชิต เป็นต้น แต่ผู้ที่ไม่ได้เป็นผู้ที่มีคุณ คือ เป็นผู้ที่เบียดเบียนคนอื่นอยู่แล้ว ทำความเดือดร้อนให้ผู้อื่นอยู่แล้ว โทษก็น้อยกว่าการที่จะไปเบียดเบียนผู้มีคุณ ผู้มีความประพฤติดี

มังคลัตถทีปนีแปล คถาว่าด้วยวินัย มีข้อความว่า

อีกอย่างหนึ่ง อทินนาทาน ชื่อว่ามีโทษน้อย ในเพราะของเล็ก มีโทษมาก ในเพราะของใหญ่ เพราะเหตุไร เพราะอาศัยความเพียรมาก

แม้เมื่อวัตถุและคุณเสมอกัน ชื่อว่ามีโทษน้อย เพราะกิเลสและความเพียรอ่อน ชื่อว่ามีโทษมาก เพราะกิเลสและความเพียรแรงกล้า

เป็นข้อความสั้นๆ โดยย่อในเรื่องของอทินนาทาน เป็นชีวิตปกติประจำวันสำหรับผู้ที่ยังมีกิเลสที่จะต้องระมัดระวังสำรวม ไม่ให้เกิดการทุจริตขึ้น

ในอกุศลกรรมบถข้ออทินนาทาน ไม่ควรที่จะคิดว่าเป็นเรื่องเล็กน้อย ซึ่งถ้าท่านไม่เห็นว่ากิเลสและอกุศลกรรมทั้งหมดเป็นสิ่งที่ควรละเว้น ควรบรรเทา ควรขัดเกลาให้น้อยลง ท่านอาจจะคิดว่า ท่านไม่ถึงกับทำลายชีวิตของบุคคลอื่น สัตว์อื่น เพียงแต่มีความต้องการในวัตถุเล็กๆ น้อยๆ เท่านั้นเอง เพราะฉะนั้น ท่านก็คิดว่า ไม่ควรจะมีโทษมากมาย แต่ความจริงแล้ว เป็นการทำลายจิตใจของท่านเอง ด้วยการเพิ่มพูนกิเลสอกุศลของท่านให้มีกำลังยิ่งขึ้น

ถ้าไม่ได้อบรมตั้งแต่เป็นเด็กจริงๆ ให้เห็นว่า การที่จะถือเอาวัตถุของบุคคลอื่นนั้นเป็นสิ่งไม่ควรกระทำ ท่านอาจจะมีอุปนิสัยสะสมมาในการถือเอาวัตถุของบุคคลอื่น ทีละเล็กทีละน้อย จนกระทั่งเมื่อโตขึ้น มีกิจการงาน มีหน้าที่ ที่ท่านสามารถจะถือเอาวัตถุของบุคคลอื่นที่เจ้าของไม่ได้ให้ และกิเลสที่มีกำลังก็ย่อมจะทำให้ท่านสามารถจะกระทำทุจริตกรรม เบียดเบียนถือเอาวัตถุของผู้อื่นมาเป็นของท่านได้ โดยที่กระทำความเดือดร้อนให้กับบุคคลอื่นมาก ซึ่งท่านกระทำจนชิน จนเคย ก็เลยไม่รู้สึก ไม่คิดว่าจะเป็นโทษ หรือทำให้บุคคลอื่นเดือดร้อน ซึ่งความจริงแลัว แม้ว่าจะเป็นสิ่งที่เล็กน้อยเท่าไรก็ตามที่เป็นของท่าน ท่านก็คงไม่ต้องการจะให้หายไป เสียไป หรือว่าถูกบุคคลอื่นถือเอาไปเป็นของตนเสีย

เพราะฉะนั้น ก็ต้องขัดเกลากิเลสเรื่อยๆ เพื่อที่จะให้เห็นว่า ทุจริตกรรมทั้งหมดนั้นเป็นสิ่งที่ไม่ควรกระทำ ถ้าขณะนี้ยังเห็นว่าไม่เป็นโทษเป็นภัย และคุ้นเคยต่อการที่จะกระทำทุจริตกรรม ทุจริตกรรมนั้นย่อมร้ายแรงขึ้นทุกที โดยเฉพาะเวลาที่โตขึ้น มีกิจการงาน มีวงสังคม มีสิ่งแวดล้อมที่อาจจะชักจูงให้กระทำทุจริตกรรมที่เป็นอทินนาทานได้โดยง่าย และท่านก็ไม่เห็นว่าเป็นโทษเป็นภัย ฉะนั้น ท่านก็ย่อมจะกระทำทุจริตกรรมที่เป็นอทินนาทาน โดยไม่เกิดความละอาย หรือไม่เกิดความรังเกียจเลย

ขอให้ท่านคิดดูว่า อกุศลทั้งหมดที่จะกระทำลงไปนั้น ต้องอาศัยหลายอย่างเป็นปัจจัย เช่น ถ้าท่านคบมิตรชั่ว ท่านเห็นผิดว่าการกระทำทุจริตไม่น่ารังเกียจ หรือว่า มีการนิยมบุคคลผิด คือ นิยมยินดีกับบุคคลที่มีความสามารถในการกระทำอทินนาทาน เห็นว่าเป็นสิ่งที่ดี ทำให้ได้รับทรัพย์สมบัติ โภคสมบัติ รูป เสียง กลิ่น รสต่างๆ แม้ว่าจะเป็นไปในทางทุจริต ถ้าเป็นการคบมิตรผิด เห็นผิด นิยมผิด ก็จะเป็นเหตุทำให้อกุศลกรรมเจริญยิ่งขึ้นแทนที่จะลดน้อย ละคลายลง เพราะฉะนั้น จึงควรที่จะเห็นโทษของอกุศลกรรม ในเรื่องของอทินนาทานด้วย

สำหรับผลของอทินนาทานที่ได้รับอยู่ในปัจจุบันชาติ เท่าที่ท่านทราบ เช่น ต้องออกจากหน้าที่ราชการเพราะการทุจริต เป็นต้น หรือว่าทรัพย์สมบัติที่สะสมมาจากการกระทำทุจริตกรรมนั้น พอถึงเวลาที่จะวิบัติ ก็วิบัติหมดไป และนำโทษภัยต่างๆ มาให้ด้วย ซึ่งผลของอทินนาทานที่ปรากฏในปัจจุบันชาตินี้ ก็ยังเป็นส่วนน้อยเหลือเกินเมื่อเทียบกับชาติต่อไป คือ ถ้าอทินนาทานนั้นให้ผล จะทำให้ปฏิสนธิในอบายภูมิ

อังคุตตรนิกาย อัฏฐกนิบาต สัพพลหุสสูตร มีข้อความว่า

ดูกร ภิกษุทั้งหลาย อทินนาทานอันบุคคลเสพแล้ว เจริญแล้ว ทำให้มากแล้ว ย่อมยังสัตว์ให้เป็นไปในนรก ในกำเนิดสัตว์ดิรัจฉาน ในเปรตวิสัย วิบากแห่งอทินนาทานอย่างเบาที่สุด ย่อมยังความพินาศแห่งโภคะให้เป็นไปแก่ผู้มาเกิดเป็นมนุษย์

นี่คือผลแห่งอทินนาทาน เวลาที่ท่านได้รับภัยพิบัติในโภคทรัพย์ของท่าน ท่านอาจจะไม่ทราบว่าเป็นผลของอะไร เกิดขึ้นได้อย่างไร แต่ให้ทราบว่า ผลที่เกิดแล้วเป็นเพราะเหตุได้มีแล้วในอดีต เมื่อเหตุนั้นเพียบพร้อมถึงกาละที่จะให้เกิดผล ผลก็ย่อมเกิดขึ้น ผล คือ ความวิบัติของทรัพย์สมบัติ เป็นผลอย่างเบาที่สุดที่เป็นวิบากของอทินนาทาน คือ ย่อมยังความพินาศแห่งโภคะให้เป็นไปแก่ผู้มาเกิดเป็นมนุษย์ แต่ถ้าเป็นผลที่หนักกว่านั้น ย่อมยังสัตว์ให้เป็นไปในนรก

ท่านอาจจะมีชีวิตสะดวกสบายจริงในปัจจุบันชาตินี้ เพราะเหตุว่าทุจริตกรรม คือ อทินนาทานนั้นยังไม่ได้ให้ผล แต่ทุกคนที่เกิดมาแล้วก็ต้องตาย และเมื่อได้กระทำ อกุศลกรรม อกุศลกรรมนั้นก็เป็นปัจจัย ถ้าเป็นอทินนาทาน ก็ทำให้เกิดในนรก ในกำเนิดสัตว์ดิรัจฉาน ในเปรตวิสัยได้ ซึ่งจะทนทุกข์ทรมาน และได้รับความทุกข์ยากเดือดร้อน ยิ่งกว่าการที่จะต้องออกจากหน้าที่ราชการ

ขุททกนิกาย เปตวัตถุ โภคสังหรเปตวัตถุ มีข้อความว่า

ในเวลาราตรี หญิงเปรต ๔ ตน ถูกทุกข์ครอบงำ จึงพากันร้องรำพันด้วยเสียงดังอย่างน่ากลัวว่า

พวกเรารวบรวมโภคทรัพย์ไว้โดยชอบธรรมบ้าง โดยไม่ชอบธรรมบ้าง แต่คนอื่นๆ พากันใช้สอยทรัพย์เหล่านั้น ส่วนพวกเรากลับมีส่วนแห่งทุกข์

นี่คือคำรำพันของผู้ที่สะสมโภคทรัพย์ไว้โดยไม่ชอบธรรม และได้เห็นว่า ตนได้รวบรวมโภคทรัพย์ไว้จริง แต่ว่าคนอื่นพากันใช้สอยทรัพย์เหล่านั้น ส่วนตนเองนั้นกลับมีส่วนแห่งทุกข์ คือ การเป็นเปรต

เปิด  235
ปรับปรุง  15 ต.ค. 2566