แนวทางเจริญวิปัสสนา ตอนที่ 352

ที่การฆ่าสัตว์ไม่ถึงความเป็นอาบัติปาราชิกนั้น เป็นเพราะเหตุว่าการที่จะสามารถได้ถึงเพศของบรรพชิต เป็นพระภิกษุนั้น ไม่ใช่เป็นการง่าย ต้องอาศัยศรัทธาบารมีที่ได้เคยบำเพ็ญมา ที่จะทำให้เกิดศรัทธาถึงกับสละเพศฆราวาส ออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิต และมีการประพฤติปฏิบัติสมณธรรม ที่เป็นเพศของบรรพชิต เป็นธรรมของผู้สงบ เพราะฉะนั้น ถ้าเพียงการกระทำที่ล่วงศีล ฆ่าสัตว์ที่เป็นไปด้วยกำลังของกิเลสเล็กน้อย ไม่ถึงกับการฆ่ามนุษย์ และจะทำให้ถึงกับต้องอาบัติปาราชิก พ้นจากความเป็นพระภิกษุ นั่นก็จะเป็นโทษที่แรงมากสำหรับการที่จะต้องให้พ้นจากการเป็นเพศบรรพชิตไป เพราะว่าเพศบรรพชิตนั้นเป็นเพศที่สูง ที่ควรจะได้ดำรงต่อไปด้วยศรัทธา ฉะนั้น ถ้าเป็นการฆ่าสัตว์ ก็เป็นเพียงอาบัติปาจิตตีย์

แต่ถ้าพูดถึงกรรมบถที่ครบองค์แล้ว ต้องเป็นอกุศลกรรมบถ แต่ไม่ถึงกับการพ้นสภาพของการเป็นพระภิกษุ ไม่ถึงกับต้องอาบัติปาราชิก ถ้าได้ปลงอาบัติ กระทำให้ถูกต้องตามพระวินัยแล้ว ก็ย่อมสามารถอบรมเจริญสติปัฏฐาน จนกระทั่งรู้แจ้ง อริยสัจธรรมเป็นพระอริยเจ้าได้

สำหรับฆราวาสก็เหมือนกัน ถ้ามีกิเลส ฆ่าสัตว์ด้วยความจงใจ หากท่านเป็นผู้ที่มีปกติอบรมเจริญสติปัฏฐาน ก็สามารถที่จะรู้แจ้งอริยสัจธรรมเป็นพระอริยบุคคลได้ แต่ถ้าท่านไม่สามารถที่จะรู้แจ้งอริยสัจธรรมเป็นพระอริยเจ้าได้ ปาณาติบาตนั้น ก็จะเป็นปัจจัยทำให้ปฏิสนธิในอบายภูมิ

ขอกล่าวถึงศีลข้อปาณาติบาตใน พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ ปฐมภาค โดยนัยของพระวินัยปิฎก ซึ่งจะทำให้ทราบความวิจิตรของจิต แม้ในการฆ่าว่ามีประการใดบ้าง

ตติยปาราชิกกัณฑ์ อนุบัญญัติ มีข้อความว่า

อนึ่ง ภิกษุใดจงใจพรากกายมนุษย์จากชีวิต หรือแสวงหาศัสตราอันจะปลิดชีวิตให้แก่กายมนุษย์นั้น หรือพรรณนาคุณแห่งความตาย หรือชักชวนเพื่ออันตายด้วยถ้อยคำว่า แน่ะ นายผู้เป็นชาย จะประโยชน์อะไรแก่ท่านด้วยชีวิตอันแสนลำบากยากแค้นนี้ ท่านตายเสียดีกว่าเป็นอยู่ ดังนี้ เธอมีจิตอย่างนี้ มีใจอย่างนี้ มีความหมายหลายอย่าง อย่างนี้ พรรณนาคุณในความตายก็ดี ชักชวนเพื่ออันตายก็ดี โดยหลายนัย แม้ภิกษุนี้ก็เป็นปาราชิก หาสังวาสมิได้

การที่ ภิกษุใดจงใจพรากกายมนุษย์จากชีวิต นอกจากจะกระทำด้วยมือของตน ด้วยการกระทำของตนเองทางกาย หรือแสวงหาศัสตราอันจะปลิดชีวิตให้แก่กายมนุษย์นั้น หรือมิฉะนั้นก็ พรรณนาคุณแห่งความตาย นั่นเป็นเจตนาฆ่า

หรือชักชวนเพื่ออันตายด้วยถ้อยคำว่า แน่ะ นายผู้เป็นชาย จะประโยชน์อะไรแก่ท่านด้วยชีวิตอันแสนลำบากยากแค้นนี้ ท่านตายเสียดีกว่าเป็นอยู่ บางท่านอาจจะมีชีวิตที่ลำบากยากแค้นเหลือเกิน เกือบจะทนต่อการที่จะมีชีวิตยากแค้นต่อไปไม่ได้ และท่านก็เกิดความคิดที่ว่า คนนั้นควรจะตายเสียดีกว่า บ้างไหม ถ้าใช่ ขณะนั้นก็เป็นเจตนาฆ่า เพราะฉะนั้น เป็นเรื่องที่ควรจะได้พิจารณาจิตใจด้วยความละเอียด

เธอมีจิตอย่างนี้ มีใจอย่างนี้ มีความหมายหลายอย่าง อย่างนี้ พรรณนาคุณในความตายก็ดี ชักชวนเพื่ออันตายก็ดี โดยหลายนัย แม้ภิกษุนี้ก็เป็นปาราชิก หาสังวาสมิได้ หาสังวาสมิได้ คือ อยู่ร่วมในหมู่สงฆ์ไม่ได้

ข้อความใน ตติยปาราชิกกัณฑ์ สิกขาบทวิภังค์ อธิบายว่า

ที่ชื่อว่ากายมนุษย์ ได้แก่ จิตแรกเกิดขึ้น คือ ปฐมวิญญาณ ปรากฏขึ้นในท้องแห่งมารดา ตราบเท่าถึงกาลเป็นที่ตาย อัตภาพในระหว่างนี้ ชื่อว่ากายมนุษย์

บทว่า พรากจากชีวิต ความว่า ตัดทอน บั่นรอนซึ่งอินทริยะ คือ ชีวิต ทำความสืบต่อให้กำเริบ

รูปเกิดขึ้นแล้วก็ดับไป จิตเจตสิกเกิดขึ้นแล้วก็ดับไป แต่จิตเจตสิกต้องอาศัยรูป เพราะฉะนั้น ถ้าธาตุ คือ รูปนั้น กำเริบ ไม่สามารถที่จะสืบต่อไปได้ ทำลายส่วนที่จะทำให้สิ้นชีวิตลงไป ส่วนนั้นก็กำเริบ ไม่เป็นปัจจัยให้จิตเจตสิกเกิดสืบต่อไปได้ นั่นก็คือ การตัดทอน บั่นรอนซึ่งอินทริยะ คือ ชีวิต ทำความสืบต่อให้กำเริบ

ข้อความในอรรถกถามีว่า

แต่ในคำว่า ปาณาติปาตํ เป็นต้น การทำสัตว์มีปราณให้ตกล่วงไป ในบรรดาอกุศลกรรมบถ ๑๐ มีคำอธิบายว่า การฆ่าสัตว์มีปราณ คือ การประหารสัตว์มีปราณ ชื่อว่าปาณาติบาต

โดยรูปศัพท์ของปราณ หรือ ปาณะ ปาณาติบาต ก็คือ การทำสัตว์มีปราณให้ตกล่วง อธิบายว่า ก็ในคำว่า ปาณะ นี้ โดยโวหาร ได้แก่ สัตว์ โดยปรมัตถ์ ได้แก่ ชีวิตินทริยะ

ข้อความต่อไปอธิบายว่า

บทว่า หรือแสวงหาศัสตราอันจะปลิดชีวิตให้แก่กายมนุษย์นั้น ได้แก่ ดาบ หอก ฉมวก หลาว ค้อน หิน มีด ยาพิษ หรือเชือก

นี่คือ เจตนาฆ่า ถ้าจะตายได้ด้วยอย่างหนึ่งอย่างใดที่พอจะหาได้ ก็หาให้ เช่น ดาบ หอก ฉมวก หลาว ค้อน หิน มีด ยาพิษ หรือแม้แต่เชือก

ข้อความต่อไปมีว่า

บทว่า หรือพรรณนาคุณแห่งความตาย ได้แก่ แสดงโทษในความเป็นอยู่ พรรณนาคุณในความตาย

บทว่า หรือชักชวนเพื่ออันตาย คือ ชักชวนว่า จงนำมีดมา จงกินยาพิษ หรือจงแขวนคอตายด้วยเชือก

บทว่า แน่ะ นายผู้เป็นชาย นี้เป็นคำสำหรับเรียก คือ คำทักทาย

คำว่า จะประโยชน์อะไรแก่ท่านด้วยชีวิตอันแสนลำบากยากแค้นนี้ ท่านตายเสียดีกว่าเป็นอยู่ ดังนี้นั้น อธิบายว่า ชีวิตนี้ที่ชื่อว่ายากแค้น คือ เทียบชีวิตของคนมั่งคั่ง ชีวิตของคนเข็ญใจก็ชื่อว่ายากแค้น เทียบชีวิตของคนมีทรัพย์ ชีวิตของคนไร้ทรัพย์ก็ชื่อว่ายากแค้น เทียบชีวิตของเหล่าเทพเจ้า ชีวิตของพวกมนุษย์ก็ชื่อว่ายากแค้น ชีวิตของคนมีมือขาด มีเท้าขาด มีทั้งมือทั้งเท้าขาด มีหูขาด มีจมูกขาด มีทั้งหูทั้งจมูกขาดชื่อว่าชีวิตอันแสนลำบาก จะประโยชน์อะไรด้วยชีวิตอันแสนลำบากและยากแค้นเช่นนี้ ท่านตายเสียดีกว่าเป็นอยู่ ดังนี้

ต้องระวัง ถ้าเห็นใครมีชีวิตยากแค้น อย่าให้จิตของท่านเกิดความคิดที่ว่า เขาควรจะตายเสียดีกว่า เพราะว่าถ้าคิดอย่างนั้น มีเจตนาอย่างนั้น เป็นปาณาติบาต ซึ่งต่อไปก็ไม่ทราบว่า จะลำบากกว่าสมัยปัจจุบันนี้เท่าไร แต่ถึงอย่างไรก็ตาม ถึงจะลำบากมากกว่านี้ ชีวิตก็ยังมีค่า โดยเฉพาะถ้าได้เข้าใจธรรม และได้เจริญกุศลธรรม คือ การเจริญสติปัฏฐาน ไม่ควรเลยที่จะพรรณนาคุณของความตาย หรือว่าแนะนำให้บุคคลอื่นเห็นว่า การตายนั้นดีกว่าการอยู่

ข้อความต่อไปมีว่า

บทว่า มีจิตอย่างนี้ มีใจอย่างนี้ ความว่า ธรรมชาติใดอันเป็นจิต ธรรมชาติอันนั้นชื่อว่าใจ ธรรมชาติอันใดเป็นใจ ธรรมชาติอันนั้นชื่อว่าจิต

ก็แล้วแต่พยัญชนะ ที่จะทำให้ท่านผู้ฟังสามารถเข้าใจสภาพลักษณะของธรรมชาติที่เป็นจิต ที่เป็นนามธรรม ที่เป็นสภาพรู้ได้

ข้อความต่อไปมีว่า

บทว่า มีความมุ่งหมายหลายอย่าง อย่างนี้ คือ มีความหมายในอันตาย มีความจงใจในอันตาย มีความประสงค์ในอันตาย

บทว่า โดยหลายนัย คือ โดยอาการมากมาย

บทว่า พรรณนาคุณในความตายก็ดี ได้แก่ แสดงโทษในความเป็นอยู่ พรรณนาคุณในความตายว่า ท่านตายจากโลกนี้แล้ว เบื้องหน้าแต่ตายเพราะกายแตก จักเข้าถึงสุคติโลกสวรรค์ จักได้รับบำเรอเพียบพร้อมอิ่มเอิบด้วยเบญจกามคุณอันเป็นทิพย์ ในสุคติโลกสวรรค์นั้น

บางทีถ้าเห็นคนที่ได้กระทำบุญมามาก และเกิดอุบัติเหตุ หรือว่าเกิดพิการ ได้รับความทุกข์ยากลำบากแสนสาหัสต่างๆ บางท่านอาจพรรณนาคุณในความตาย และแสดงโทษในความเป็นอยู่ให้เห็นว่า ถ้าท่านผู้นั้นตายจากโลกนี้แล้ว เบื้องหน้าแต่ตายเพราะกายแตก จักเข้าถึงสุคติโลกสวรรค์ จักได้รับบำเรอเพียบพร้อมอิ่มเอิบด้วยเบญจกามคุณอันเป็นทิพย์ ในสุคติโลกสวรรค์นั้น พิจารณาจิตในขณะนั้น มีเจตนาที่จะให้บุคคลอื่นตายหรือไม่ มีความจงใจ มีความต้องการไหม ถ้าขณะนั้นเป็นอย่างนั้น ก็เป็นปาณาติบาต

ข้อความต่อไปมีว่า

บทว่า ชักชวนเพื่ออันตายก็ดี คือ ชักชวนว่า จงนำมีดมา จงกินยาพิษ จงแขวนคอตายด้วยเชือก หรือจงโจนลงในบ่อ ในเหว หรือในที่ชัน

ถ้าคนนั้นเกิดสิ้นปัญญา ไม่ทราบว่าจะตายได้อย่างไร ท่านก็อาจจะชักชวน แนะนำเสนอว่า จงกินยาพิษ จงแขวนคอตายด้วยเชือก จงโจนลงในบ่อ ในเหว หรือในที่ชัน แล้วแต่จะเลือก นั่นเป็นคำชักชวน เจตนาในขณะนั้น ไม่พ้นจากปาณาติบาต

ข้อความต่อไปมีว่า

คำว่า เป็นปาราชิก มีอธิบายว่า ศิลาหนาแตกสองเสี่ยงแล้ว เป็นของกลับต่อให้ติดสนิทอีกไม่ได้แม้ฉันใด ภิกษุก็ฉันนั้นเหมือนกัน จงใจพรากกายมนุษย์จากชีวิตแล้ว ย่อมไม่เป็นสมณะ ไม่เป็นเชื้อสายพระศากยบุตร เพราะเหตุนั้น จึงตรัสว่า เป็นปาราชิก

บทว่า หาสังวาสมิได้ ความว่า ที่ชื่อว่าสังวาสนั้น ได้แก่ กรรมที่พึงทำร่วมกัน อุทเทสที่พึงสวดร่วมกัน ความเป็นผู้มีสิกขาเสมอกัน นั่นชื่อว่าสังวาส สังวาสนั้น ไม่มีกับภิกษุนั้น เพราะเหตุนั้น จึงตรัสว่า หาสังวาสมิได้

หมายความว่า สิกขาไม่เสมอกันแล้วกับภิกษุสงฆ์อื่น เพราะฉะนั้น ก็กระทำกรรมร่วมกันไม่ได้ อุทเทสก็พึงสวดร่วมกันไม่ได้

ข้อความต่อไป เป็นการแสดงให้เห็นถึงความละเอียดของปาณาติบาต ซึ่งแล้วแต่ความวิจิตรของจิตที่จะให้บุคคลอื่นสิ้นชีวิต ด้วยการกระทำอย่างไร

ข้อความใน ตติยปราชิกกัณฑ์ บทภาชนีย์ มาติกา แสดงว่า เจตนาฆ่านั้นเป็นไปด้วยการกระทำหลายอย่าง คือ ทำเอง ยืนอยู่ใกล้ สั่งทูต สั่งทูตต่อ ทูตไม่สามารถ ทูตไปแล้วกลับมา ที่ไม่ลับ สำคัญว่าที่ลับ ที่ลับ สำคัญว่าที่ไม่ลับ ที่ไม่ลับ สำคัญว่าที่ไม่ลับ ที่ลับ สำคัญว่าที่ลับ พรรณนาด้วยกาย พรรณนาด้วยวาจา พรรณนาด้วยกายและวาจา พรรณนาด้วยทูต พรรณนาด้วยหนังสือ หลุมพราง วัตถุที่พิง การลอบวาง เภสัช การนำรูปเข้าไป การนำเสียงเข้าไป การนำกลิ่นเข้าไป การนำรสเข้าไป การนำโผฏฐัพพะเข้าไป การนำธรรมารมณ์เข้าไป กิริยาที่บอก การแนะนำ การนัดหมาย การทำนิมิต.

ทำได้มากมายหลายประการทีเดียว ซึ่งจะขอกล่าวถึงคำอธิบายเพียงย่อ ๆ ซึ่งมีใน พระวินัยปิฎก มาติกาวิภังค์ ว่า

คำว่า ทำเอง คือ ฆ่าเองด้วยกาย ด้วยเครื่องประหารที่เนื่องด้วยกาย ด้วยเครื่องประหารที่ซัดไป

ฆ่าเองด้วยกาย สมัยนี้มีไหม วิธีฆ่าด้วยกายของตนเองด้วยมือ ด้วยเท้าของตน ด้วยเครื่องประหารที่เนื่องด้วยกาย จับมีด ยิงปืน ใช้ได้ทุกอย่าง หรือแม้ด้วยเครื่องประหารที่ซัดไป

คำว่า ยืนอยู่ใกล้ คือ ยืนสั่งอยู่ ณ ที่ใกล้ว่า จงยิงอย่างนี้ จงประหารอย่างนี้ จงฆ่าอย่างนี้

หรือว่าในข้อที่ ส่งทูตไป หมายความว่า สั่งให้บุคคลอื่นไปฆ่า

สั่งทูตต่อ คือ สั่งให้ไปบอกคนอื่น ให้บอกคนอื่นให้ฆ่า

นี่ก็เป็นการกระทำที่เป็นไปได้ ในเรื่องของการฆ่า

ในข้อที่ว่า ทูตไม่สามารถ

บางทีคนที่ได้รับคำสั่งให้ฆ่า เกิดฆ่าไม่ได้ เพราะฉะนั้น ก็สั่งใหม่ว่า ฆ่าได้เมื่อไรก็ให้ฆ่า ก็เป็นเจตนาฆ่า

ในข้อที่ว่า ทูตไปแล้วกลับมา คือ เวลาที่สั่งให้ฆ่าแล้ว แต่เกิดความร้อนใจขึ้น แต่พูดไม่ให้ได้ยินว่า อย่าฆ่า เพราะฉะนั้น ถ้าผู้นั้นฆ่า ก็เป็นปาราชิกทั้งสองรูปเพราะว่าบางทีกลับใจได้ แต่พูดไม่ให้ได้ยินว่าอย่าฆ่า ภิกษุที่ได้รับคำสั่งก็ไปฆ่า ก็ถึงความอาบัติเป็นปาราชิกทั้งสองรูป แต่ถ้าสั่งแล้วเกิดร้อนใจ และพูดให้ได้ยินว่า อย่าฆ่าเลย แต่ภิกษุผู้รับคำสั่งกลับพูดว่า ท่านสั่งผมแล้ว จึงฆ่าบุคคลนั้นเสีย ภิกษุผู้สั่งเดิมไม่ต้องอาบัติ ภิกษุผู้ฆ่าต้องอาบัติปาราชิก

ความละเอียดในเรื่องของปาณาติบาตมีมากในพระวินัย ซึ่งไม่จำเป็นที่จะต้องเป็นกิจของพระภิกษุสงฆ์ที่จะศึกษาเท่านั้น สำหรับท่านที่ต้องการพิจารณาตรวจสอบจิตใจของท่าน เจตนาฆ่าของท่าน แม้จะยังไม่ไหวไปเป็นการกระทำทางกาย ทางวาจา เป็นแต่เพียงความคิดก็ได้

สำหรับพระวินัยบัญญัติ ในข้อที่ว่า ที่ไม่ลับสำคัญว่าที่ลับ ที่ลับสำคัญว่าที่ไม่ลับ ที่ไม่ลับสำคัญว่าที่ไม่ลับ ที่ลับสำคัญว่าที่ลับ แล้วพูดขึ้นว่า ทำอย่างไรหนอ บุคคลชื่อนี้พึงถูกฆ่า ดังนี้ ต้องอาบัติทุกกฎ

เพราะเหตุว่าเป็นแต่เพียงเจตนาที่มีกำลัง ที่ทำให้วาจาไหวขึ้นว่า ทำอย่างไรหนอบุคคลชื่อนี้พึงถูกฆ่า ถ้าเป็นเพียงขั้นนี้ ยังไม่ถึงการสำเร็จเป็นอกุศลกรรมบถ จึงเพียงต้องอาบัติทุกกฎ

เปรียบเทียบกับจิตใจของท่านเอง เคยพูดเล่น พูดจริงอะไรบ้างไหมว่า คนนี้คนนั้นถ้าตายเสียได้ก็จะดี หรือถ้ามีใครฆ่าให้ตายเสียก็จะดี ถ้าท่านมีกิเลสที่มีกำลังถึงกับกล่าวอย่างนี้ ท่านก็เปรียบเทียบได้ว่า จะเป็นกิเลสขั้นไหนสำหรับบรรพชิต เป็นอาบัติขั้นไหนของบรรพชิต

ข้อความต่อไปที่ว่า

พรรณนาด้วยกาย

เคยคิดไหมว่า จะมีเจตนาที่เป็นการกระทำอย่างนี้ พรรณนาด้วยกายทำอย่างไร คือ ทำอาการวิการของกายให้รู้ว่า ตายแล้วจะได้ทรัพย์ ได้ยศ ไปสวรรค์

บางคนไม่พูด กลัวว่าพูดแล้วจะเป็นหลักฐาน ทำให้คนอื่นรู้ถึงเจตนาของตน จึงไม่พูด แต่ทำอาการวิการของกาย ทำมือทำไม้ ทำกิริยาท่าทาง ทำอาการให้รู้ว่า ถ้าตายแล้วจะได้ทรัพย์ ได้ยศ ไปสวรรค์ ถ้าเป็นอย่างนี้ก็เป็นอาบัติทุกกฏ เพราะไม่เป็น เพียงความคิด แต่ทำให้อาการวิการของกายเกิดขึ้น

หรือมิฉะนั้น ก็ พรรณนาด้วยวาจา บางคนไม่ใช้การทำอาการวิการของกาย แต่กล่าวด้วยวาจา พรรณนาให้เห็นว่า ถ้าตายแล้วจะได้ทรัพย์ ได้ยศ ไปสวรรค์อย่างไร บางคนก็ พรรณนาด้วยกายและวาจา ทั้งสองประการ

การพรรณนาด้วยทูต คือ สั่งทูตไป พรรณนาด้วยหนังสือ คือ เขียนหนังสือให้รู้ความหมาย

สำหรับการขุดหลุมพราง เจาะจง หรือไม่เจาะจง ความละเอียดของอาบัติข้อนี้ เจตนาข้อนี้ ศึกษาได้ใน พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ ปฐมวิภาค

เปิด  284
ปรับปรุง  2 มิ.ย. 2565