แนวทางเจริญวิปัสสนา ตอนที่ 296

ข้อความต่อไปมีว่า

ครั้งนั้นแล  ท่านสมิทธิผู้พักผ่อนอยู่ในที่ลับ  มีความปริวิตกแห่งจิตเกิดขึ้นอย่างนี้ว่า  เป็นลาภของเราดีแท้  ที่เราได้พระอรหันต์ผู้ตรัสรู้เองโดยชอบเป็นพระศาสดาของเรา  เป็นลาภของเราดีแท้  ที่เราได้บวชในพระธรรมวินัยอันพระศาสดาตรัสดีแล้วอย่างนี้  เป็นลาภของเราดีแท้  ที่เราได้เพื่อนพรหมจรรย์อันมีศีล  มีกัลยาณธรรม

ครั้งนั้นแล  มารผู้มีบาปทราบความปริวิตกแห่งจิตของท่านสมิทธิด้วยจิตแล้วเข้าไปหาท่านสมิทธิถึงที่อยู่  ครั้นแล้วจึงทำเสียงดังน่ากลัว  น่าหวาดเสียว  ประดุจแผ่นดินจะถล่ม ณ ที่ใกล้ท่านสมิทธิ

ลำดับนั้น  ท่านสมิทธิเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคยังที่ประทับ   ถวายอภิวาทพระผู้มีพระภาคแล้วนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง  ท่านสมิทธิครั้นนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่งแล้ว  จึงได้กราบทูลว่า

พระเจ้าข้า  ข้าพระองค์เป็นผู้ไม่ประมาท  มีความเพียร  มีตนอันส่งไปแล้ว  อยู่ในที่ใกล้พระองค์ ณ ที่นี้ พระเจ้าข้า  ข้าพระองค์อยู่ในที่ลับเร้น  มีความปริวิตกแห่งจิตเกิดขึ้นอย่างนี้ว่า  เป็นลาภของเราดีแท้  ที่เราได้พระอรหันต์ผู้ตรัสรู้เองโดยชอบเป็น  พระศาสดาของเรา  เป็นลาภของเราดีแท้  ที่เราได้บวชในพระธรรมวินัยอันพระศาสดาตรัสดีแล้วอย่างนี้  เป็นลาภของเราดีแท้  ที่เราได้เพื่อนพรหมจรรย์อันมีศีล  มีกัลยาณธรรมพระเจ้าข้า

ขณะนั้นก็ได้มีเสียงดังน่ากลัว  น่าหวาดเสียว  ประดุจแผ่นดินจะถล่ม  เกิดขึ้นในที่ใกล้ข้าพระองค์

พระผู้มีพระภาคตรัสว่า

สมิทธิ  นั่นไม่ใช่แผ่นดินจะถล่ม  นั่นเป็นมารผู้มีบาป  มาเพื่อกำบังตาเธอ  เธอจงไปเถิดสมิทธิ  จงเป็นผู้ไม่ประมาท  มีความเพียร  มีตนอันส่งไปแล้ว  อยู่ในที่นั้นตามเดิมเถิด

ท่านสมิทธิรับพระดำรัสแล้ว  ลุกขึ้นจากอาสนะ  ถวายอภิวาทพระผู้มีพระภาคทำประทักษิณ  แล้วหลีกไป

นี่ในครั้งที่พระผู้มีพระภาคยังไม่ปรินิพพาน  และท่านพระภิกษุทั้งหลายก็เป็นผู้ที่มีความเพียรที่จะอบรมประพฤติพรหมจรรย์  เจริญมรรคมีองค์ ๘ ในเพศของบรรพชิตไม่ใช่ผู้เกียจคร้าน  แต่แม้กระนั้น  ถ้าเป็นผู้ที่มีปกติอบรมเจริญสติปัฏฐาน  จะเห็นได้ว่ามีขณะที่หลงลืมสติ  เช่น  ขณะที่มีเสียงดังน่ากลัวสติไม่ได้ระลึกรู้ว่า  เป็นแต่เพียงนามธรรมและรูปธรรมเท่านั้น  และก็ทิ้งไป  ละไป  มีนามธรรมอื่น  รูปธรรมอื่นเกิดขึ้นปรากฏ  สติก็ระลึกรู้  ไม่หวั่นไหว

จะเห็นได้ว่า  ไม่ว่าในครั้งโน้น  ไม่ว่าในครั้งนี้  หรือไม่ว่าในครั้งไหน  เมื่อเป็นผู้ที่มีปกติอบรมเจริญสติปัฏฐานแล้ว  จะรู้ว่าขณะใดมีสติ  ขณะใดหลงลืมสติ  ซึ่งขณะใดที่หลงลืมสติจะมีความรู้สึกว่าเป็นสัตว์  เป็นบุคคล  เป็นตัวตน  มีความหวั่นไหวในสิ่งที่ปรากฏ  แม้ว่าจะเป็นเรื่องของมาร  แต่ท่านผู้ฟังก็จะได้รับประโยชน์จากธรรมที่พระผู้มีพระภาคตรัสกับท่านพระภิกษุเหล่านั้น

ข้อความต่อไปมีว่า

แม้ครั้งที่สอง  ท่านพระสมิทธิเป็นผู้ไม่ประมาท  มีความเพียร  มีตนอันส่งไปแล้ว  อยู่ในที่นั้นนั่นเอง  แม้ในครั้งที่สอง  ท่านสมิทธิไปในที่เร้นลับอยู่  มีความปริวิตกเกิดขึ้นอย่างนี้ ฯลฯ  แม้ในครั้งที่สอง  มารผู้มีบาปทราบความปริวิตกแห่งจิตของท่านสมิทธิด้วยจิตแล้ว  จึงทำเสียงดังน่ากลัว  น่าหวาดเสียว  ประดุจแผ่นดินจะถล่ม  ณ ที่ใกล้ท่านสมิทธิ

ไม่เลิกล้มการที่จะขัดขวางเลย  แม้ครั้งที่สอง  ถ้ามีโอกาสที่จะขัดขวางได้ก็กระทำเช่นนั้นอีก

ลำดับนั้น  ท่านสมิทธิทราบว่า  ผู้นี้เป็นมารผู้มีบาป  จึงกล่าวกะมารผู้มีบาปด้วยคาถาว่า

เราหลีกออกจากเรือนบวชเป็นผู้ไม่มีเรือนด้วยศรัทธา  สติ  และปัญญาของเราเรารู้แล้ว  อนึ่ง  จิตของเราตั้งมั่นดีแล้ว  ท่านจักบันดาลรูปต่าง ๆ อันน่ากลัวอย่างไร    ก็จักไม่ยังเราให้หวาดกลัวได้เลยโดยแท้

ลำดับนั้น  มารผู้มีบาปเป็นทุกข์เสียใจว่า  ภิกษุสมิทธิรู้จักเรา  ดังนี้  จึงได้หายไปในที่นั้นนั่นเอง

ขณะที่ท่านพระสมิทธิกล่าวกับมาร  ระลึกรู้ลักษณะที่เป็นนามธรรมและรูปธรรมได้ไหม  สามารถที่จะรู้แจ้งอริยสัจธรรมในขณะนั้นได้ไหม  ถ้าเหตุ คือ ปัญญาได้อบรมเจริญจนสมบูรณ์ถึงขั้นที่จะรู้แจ้งอริยสัจธรรมได้  ไม่มีข้อสงสัยเลย  แต่บุคคลใดก็ตามที่พูด  หรือกล่าวอย่างท่านพระสมิทธิ  แต่ว่าปัญญาไม่ได้รู้สภาพธรรมที่กำลังปรากฏในขณะนั้น  กำลังพูดด้วยกัน  คนหนึ่งเจริญอบรมสติปัญญา  ระลึกรู้ว่าเป็นเพียงนามธรรมและรูปธรรม  สติในขณะนั้นจะเกิดแทรกขึ้น  ระลึกรู้ลักษณะของนามหรือรูปทางตา หรือทางหู  หรือทางจมูก  หรือทางลิ้น  หรือทางกาย  หรือทางใจอย่างไร  ก็เป็นไปอย่างรวดเร็วด้วยความมั่นคงของสติ  เปรียบเทียบกับบุคคลที่พูดอย่างเดียวกัน  แต่ว่าไม่ได้อบรมเหตุ  คือ  สติปัญญาที่จะถึงความสมบูรณ์ที่จะรู้ชัดในสภาพที่เป็นนามธรรมและรูปธรรม  แม้ว่าจะกล่าวข้อความเดียวกัน  แต่อีกบุคคลหนึ่งไม่ได้รู้ว่าเป็นนามธรรมและเป็นรูปธรรมก็ได้

เพราะฉะนั้น  ไม่ใช่ว่าในขณะที่ท่านพระสมิทธิกล่าวกับมารในครั้งที่สอง  ท่านจะไม่รู้ลักษณะของนามธรรมและรูปธรรมแม้ในขณะนั้น  เพราะท่านพระสมิทธิกล่าวว่า  เราหลีกออกจากเรือนบวชเป็นผู้ไม่มีเรือนด้วยศรัทธา  สติ  และปัญญาของเราเรารู้แล้ว  อนึ่ง  จิตของเราตั้งมั่นดีแล้ว  ท่านจะบันดาลรูปต่าง ๆ อันน่ากลัวอย่างไร  ก็จักไม่ยังเราให้หวาดกลัวได้เลยโดยแท้  ซึ่งมารก็หมดหวังไปอีกครั้งหนึ่ง  เพราะไม่สามารถที่จะกำบังตาท่านพระสมิทธิในครั้งที่สองได้

สัตตวัสสสูตรที่ ๔  มีข้อความว่า

ข้าพเจ้าได้สดับมาแล้วอย่างนี้

สมัยหนึ่ง  พระผู้มีพระภาคประทับที่ต้นอชปาลนิโครธ  ริมฝั่งแม่น้ำเนรัญชรา ณ ตำบลอุรุเวลา  ก็สมัยนั้นแล  มารผู้มีบาปติดตามพระผู้มีพระภาค  คอยมุ่งหาช่องโอกาส  สิ้น ๗ ปีก็ยังไม่ได้ช่อง  ภายหลังมารผู้มีบาปจึงเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ  ครั้นแล้วได้ทูลถามพระผู้มีพระภาคด้วยคาถาว่า

ท่านถูกความโศกทับถมหรือ  จึงได้มาซบเซาอยู่ในป่าอย่างนี้  ท่านเสื่อมจากทรัพย์เครื่องปลื้มใจแล้วหรือ  หรือว่ากำลังปรารถนาอยู่  ท่านได้ทำความชั่วอะไร ๆ ไว้ในบ้านหรือ  เหตุไรท่านจึงไม่ทำมิตรภาพกับชนทั้งปวงเล่า  หรือว่าท่านทำมิตรภาพกับใคร ๆ ไม่สำเร็จ

มีเรื่องที่จะถามอยู่เสมอที่จะทำให้เห็นว่า  การกระทำ  หรือว่าที่พระผู้มีพระภาคทรงประพฤติปฏิบัติอยู่นั้นไม่ถูก  ที่จะให้เกิดความข้องใจต่าง ๆ นานา  เช่น  ข้อความที่มารทูลถามว่า  ท่านถูกความโศกทับถมหรือ  จึงได้มาซบเซาอยู่ในป่า  ถ้าเห็นคนอยู่ในป่า  คนที่คิดไม่ถูกก็จะคิดว่า  คนนี้คงจะเสียใจเป็นนักหนาถึงได้หลบลี้ไป  แทนที่จะคิดว่า  ผู้นี้เป็นผู้ที่รักสงบ  ไม่ใช่เป็นผู้ที่คลุกคลีกับชีวิตของฆราวาส  กับมิตรสหาย  ญาติ  เพื่อนฝูงต่าง ๆ  แต่เป็นผู้ที่รักความสงบ  เป็นผู้ที่ต้องการที่จะหลีกออกจากหมู่คณะ  หลีกตนที่จะไม่คลุกคลี  แต่มารกลับคิดว่า  คงจะเศร้าโศกเสียใจเสียเหลือเกิน  หรือมิฉะนั้นก็  มารทูลถามต่อไปว่า  ท่านเสื่อมจากทรัพย์เครื่องปลื้มใจแล้วหรือ  หรือว่ากำลังปรารถนาอยู่

บางคนเวลาเสื่อมจากทรัพย์  หรือยศ  หรือเกียรติ  หรือคำสรรเสริญต่าง ๆ         มีความโทมนัสเสียใจ  ไม่ออกไปพบปะผู้คนอื่นเลย  หลีกเร้นจากมิตรสหาย  ญาติ  พี่น้อง  หรือว่าอีกบุคคลหนึ่งกำลังเต็มไปด้วยความปรารถนา  อาศัยกำลังความปรารถนาที่ครอบงำ  ก็ไม่อยากจะไปพบปะกับสิ่งอื่น  นอกจากจะอยู่กับความคิด  ความปรารถนาของตนเองเท่านั้น  ครุ่นคิดไปในเรื่องที่ปรารถนา  อยากจะได้สิ่งนั้น  สิ่งนี้เพราะฉะนั้น  มารก็ได้ทูลถาม  เวลาที่เห็นพระผู้มีพระภาคประทับอยู่ลำพังว่า  ท่านถูกความโศกทับถมหรือ  จึงได้มาซบเซาอยู่ในป่าอย่างนี้  ท่านเสื่อมจากทรัพย์เครื่องปลื้มใจแล้วหรือ  หรือว่ากำลังปรารถนาอยู่  ท่านได้กระทำความชั่วอะไร ๆ ไว้ในบ้านหรือ    เหตุไรท่านจึงไม่ทำมิตรภาพกับชนทั้งปวงเล่า  หรือว่าท่านทำมิตรภาพกับใคร ๆ ไม่สำเร็จ

บางคนเป็นคนที่ชอบมิตรสหายเพื่อนฝูง  อยู่ตามลำพังไม่ได้  มีทางใดที่จะมีเพื่อนฝูงมาก ๆ  ก็พยายามศึกษาหาทางที่จะได้เป็นเพื่อนฝูงมิตรสหายกับผู้อื่นมาก ๆเพราะฉะนั้น  เห็นใครอยู่คนเดียวก็ไม่ได้คิดว่า  ผู้นั้นเป็นผู้ที่ละการคลุกคลี  ละจากความวุ่นวาย  แต่ไปเข้าใจว่า  คงจะไม่มีใครคบหาผู้นั้นเป็นแน่  ผู้นั้นจึงได้อยู่ตามลำพัง

พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า

ดูกร  มารผู้เป็นเผ่าของบุคคลผู้ประมาทแล้ว  เราขุดรากของความเศร้าโศกทั้งหมดแล้ว  ไม่มีความชั่ว  ไม่เศร้าโศก  เพ่งอยู่  เราชนะความติดแน่น  คือ  ความโลภในภพทั้งหมด  เป็นผู้ไม่มีอาสวะ  เพ่งอยู่

มารทูลว่า

ถ้าใจของท่านยังข้องอยู่ในสิ่งที่ชนทั้งหลายกล่าวว่า  สิ่งนี้เป็นของเรา  แลว่าสิ่งนี้เป็นเราแล้ว  สมณะ  ท่านจักไม่พ้นเราไปได้

พระผู้มีพระภาคตรัสว่า

สิ่งที่ชนทั้งหลายกล่าวว่าเป็นของเรานั้น  ย่อมไม่เป็นของเรา  และสิ่งที่ชนทั้งหลายกล่าวว่าเป็นเรา  ก็ไม่เป็นเราเหมือนกัน  แน่ะ  มารผู้มีบาป  ท่านจงทราบอย่างนี้เถิด  แม้ท่านก็จักไม่เห็นทางของเรา

มารทูลว่า

ถ้าท่านรู้จักทางอันปลอดภัย  เป็นที่ไปสู่อมตมหานิพพาน  ก็จงหลีกไปแต่คนเดียวเถิด  จะพร่ำสอนคนอื่นทำไมเล่า

พระผู้มีพระภาคตรัสว่า

ชนเหล่าใดมุ่งไปสู่ฝั่ง  ย่อมถึงพระนิพพาน  อันมิใช่โอกาสของมาร  เราถูกชนเหล่านั้นถามแล้ว  จักบอกว่า  สิ่งใดเป็นความจริง  สิ่งนั้นหาอุปธิกิเลสมิได้

มารทูลว่า

ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ  เหมือนอย่างว่ามีสระโบกขรณีในที่ไม่ไกลแห่งบ้านหรือนิคม  ในสระนั้นมีปูอยู่  ครั้งนั้นพวกเด็กชายหรือพวกเด็กหญิงเป็นอันมากออกจากบ้านหรือนิคมนั้นแล้ว  เข้าไปถึงที่สระโบกขรณีนั้นตั้งอยู่  ครั้นแล้วจึงจับปูนั้นขึ้นจากน้ำให้อยู่บนบก  พระเจ้าข้า  ก็ปูนั้นยังก้ามทุก ๆ ก้ามให้ยื่นออก  พวกเด็กชายหรือเด็กหญิงเหล่านั้นพึงริด  พึงหัก  พึงทำลายก้ามปูนั้นเสียทุก ๆ ก้ามด้วยไม้หรือก้อนหิน          พระเจ้าข้า  ก็เมื่อเป็นอย่างนั้น  ปูนั้นมีก้ามถูกริด  ถูกหัก  ถูกทำลายเสียหมดแล้ว  ย่อมไม่อาจก้าวลงไปสู่สระโบกขรณีนั้นอีกเหมือนแต่ก่อน  ฉันใด  อารมณ์แม้ทุกชนิดอันเป็นวิสัยของมาร  อันให้สัตว์เสพผิด  ทำให้สัตว์ดิ้นรน  อารมณ์นั้นทั้งหมดอันพระ   ผู้มีพระภาคตัดรอนหักรานย่ำยีเสียหมดแล้ว  บัดนี้  ข้าพระองค์ผู้คอยหาโอกาส  ย่อมไม่อาจเข้าไปใกล้พระผู้มีพระภาคได้อีก  ฉันนั้น

ครั้นแล้วมารผู้มีบาป  ได้ภาษิตคาถาอันเป็นที่ตั้งแห่งความเบื่อหน่ายเหล่านี้  ในสำนักพระผู้มีพระภาคว่า

มารเริ่มจะเบื่อหน่ายในการที่จะไปรบกวนพระผู้มีพระภาค  แต่ก็เป็นเพียงความรู้สึกเป็นครั้งเป็นคราวเท่านั้น  เมื่อเกิดความรู้สึกอย่างนี้ขึ้น  มารก็ได้ภาษิตคาถาอันเป็นที่ตั้งแห่งความเบื่อหน่ายเหล่านี้  ในสำนักของพระผู้มีพระภาคว่า

ฝูงกาเห็นก้อนหินมีสีดุจมันข้น  จึงบินเข้าไปใกล้ด้วยเข้าใจว่า  เราทั้งหลายพึงประสบอาหารในที่นี้เป็นแน่  ความยินดีพึงมีโดยแท้  เมื่อพยายามอยู่ไม่ได้อาหารสมประสงค์ในที่นั้น  จึงบินหลีกไป

ข้าแต่พระโคดม  ข้าพระองค์ก็เหมือนกามาพบศิลา  ฉะนั้น  ขอหลีกไป

ครั้งนั้นแล  มารผู้มีบาปครั้นกล่าวคาถาอันเป็นที่ตั้งแห่งความเบื่อหน่ายเหล่านี้ในสำนักพระผู้มีพระภาคแล้ว  จึงหลีกจากที่นั้น  ไปนั่งขัดสมาธิที่พื้นดิน  ไม่ไกลจากพระผู้มีพระภาค  เป็นผู้นิ่ง  เก้อเขิน  คอตก  ก้มหน้า  ซบเซา  หมดปฏิภาณ  เอาไม้ขีดแผ่นดินอยู่

ผู้ที่เป็นมารย่อมขัดขวางความเจริญในทางธรรมของบุคคลอื่น  เพราะฉะนั้น  มารไม่ยอมที่จะพลาดโอกาสที่จะทูลขอพระผู้มีพระภาคไม่ให้ทรงแสดงธรรม  ในพระสูตรนี้มารทูลว่า  ถ้าท่านรู้จักทางอันปลอดภัย  เป็นที่ไปสู่อมตมหานิพพาน  ก็จงหลีกไปแต่คนเดียวเถิด  จะพร่ำสอนคนอื่นทำไมเล่า

ท่านผู้ฟังคิดเช่นนี้บ้างหรือไม่  ใครเข้าใจถูกก็เข้าใจไป  ใครเข้าใจผิดก็ปล่อยให้ผิด ๆ ไป  หรือใครเข้าใจถูกก็เข้าใจถูก  แล้วก็แล้วไป  ไม่ต้องสอนคนอื่น  ไม่ต้องบอกคนอื่น  ไม่ต้องอธิบายคนอื่น  ไม่ต้องเกื้อกูลคนอื่น  หรืออย่างไร

เพราะฉะนั้น  ลองคิดถึงใจของท่านจริง ๆ ว่า  ท่านเคยคิดอย่างมารบ้างไหม  ที่จะไม่ให้พร่ำสอน  หรือว่าแสดงธรรมที่พระผู้มีพระภาคได้ทรงแสดงไว้แล้วโดยละเอียดโดยถูกต้อง  หรือเห็นว่า  จะเป็นการขัดกัน  อย่าพูดเลย  ถ้าคิดอย่างนั้น  จะคล้อยตามความเห็นของมารบ้างไหมที่ว่า  ขอให้พระผู้มีพระภาคจงอย่าทรงพร่ำสอนผู้อื่นเลย

ขอตอบจดหมายของท่านที่เขียนมาจากสวนผัก  วัดท่าตะโก  อำเภอเมือง  มีข้อความว่า

เรียนอาจารย์สุจินต์ที่เคารพ

ด้วยกระผมได้ฟังคำบรรยายแนวทางเจริญวิปัสสนาภาวนาของอาจารย์เป็นประจำ  ทำให้ผมมีความรู้และความเข้าใจดีในแนวทางปฏิบัติ  แต่เมื่อปฏิบัติไปก็มีโมหะมาก  จึงปฏิบัติไม่ค่อยได้เต็มที่  หรือจะเป็นด้วยเหตุปัจจัยการสะสมกุศลของกระผมมาน้อยหรือไฉน   คือ  สติเกิดน้อยเต็มที  บางวันก็เกิดน้อย  บางวันก็เกิดมากบางวันก็เกิดบ่อย ๆ  ทำให้เกิดโสมนัสได้บางครั้งบางโอกาส  ผมจึงขอให้ท่านอาจารย์เป็นผู้นำของเหล่าสัตว์ทั้งหลาย  ที่ยังไม่เห็นหนทางสันติสุขในโลกนี้และโลกหน้า  สมกับบุพเจตนาของท่านอาจารย์ทุกประการเถิด

อนึ่ง  กระผมเห็นว่า  การที่เราจะจดจ้องในรูปนามอย่างบางอาจารย์สอน  กระผมเห็นว่าไม่ผิด  เพราะบุคคลเราสะสมกุศลมาไม่เหมือนกัน  จึงเข้าใจธรรมอันละเอียดอ่อนนี้ได้ยาก  ทางสายนี้เป็นทางสายเอก   ส่วนสาธุชนอยู่ทุกมุมโลก ( หมายถึงจิต ) เมื่อเดินทาง  จึงออกเดินคนละจุด  เมื่อมาพบทางนี้แล้ว  หรือถึงจุดแล้ว  ก็คงจะรู้เองนั่นแหละว่า  ใครเป็นผู้หลงทาง  ที่แท้ก็มุ่งทางเดียวกัน  ขออย่าให้เราถกเถียงกันเลยเมื่อถึงจุดแล้วจึงค่อยเถียงกันเถิด  ขอยุติเท่านี้  เคารพอย่างสูง

เพราะฉะนั้น  ใคร่ขอให้ท่านผู้ฟังพิจารณา  ใคร่ครวญว่า  ท่านฟังธรรม  ไตร่ตรองธรรม  ได้รับประโยชน์จากธรรม  หรือว่าท่านฟังบุคคล  และก็มิได้พิจารณาธรรม  ไม่ได้รับประโยชน์จากธรรม  เพราะเห็นว่าใครจะประพฤติอย่างไร  ปฏิบัติอย่างไรก็ถูกต้อง  อย่างข้อความที่ท่านกล่าวว่า  อนึ่ง กระผมเห็นว่าการที่เราจะจดจ้องในรูปนามอย่างบางอาจารย์สอน  กระผมก็เห็นว่าไม่ผิด

ไม่มีอะไรผิด  ถูกทั้งนั้นใช่ไหม

ขอให้พิจารณาสภาพธรรมตามความเป็นจริง  เช่น  ในขณะที่สติกำลังระลึกรู้ลักษณะของนามธรรมหรือรูปธรรม  ลักษณะหนึ่งกำลังปรากฏ  จะเป็นทางตา  หรือทางหู  หรือทางจมูก  หรือทางลิ้น  หรือทางกาย  หรือทางใจก็ได้  เยื่อใยการยึดถือว่าเป็นเราที่กำลังรู้ในลักษณะของสิ่งที่กำลังปรากฏมีหรือไม่มี  เยื่อใยที่เป็นเรา  ของเรา  หมดหรือยัง  กำลังจดจ้องอยู่ที่นามหนึ่ง  รูปหนึ่ง  ในขณะที่กำลังจดจ้องอยู่นั้น  มีความต้องการไหมที่จะจดจ้อง

เพราะฉะนั้น  จะต้องอาศัยการระลึกรู้บ่อย ๆ เนือง ๆ  โดยทราบว่า  สติจะระลึกรู้ลักษณะของนามใด  รูปใดก็ได้  แต่ไม่ใช่หมายความว่า  ด้วยการจดจ้อง  ด้วยความต้องการจะทำให้รู้ในลักษณะที่ไม่ใช่สัตว์  ไม่ใช่บุคคล  ไม่ใช่ตัวตน

  ผู้ที่เจริญสติปัฏฐาน  สามารถที่จะเข้าใจลักษณะของสักกายทิฏฐิ ๒๐ ได้ถูกต้อง  เช่น  ในขณะที่สติกำลังระลึกรู้ลักษณะของรูปขันธ์  สักกายทิฏฐิอยู่ที่เวทนาขันธ์  สัญญาขันธ์  สังขารขันธ์  วิญญาณขันธ์ในขณะนั้น  เพราะเหตุว่ายังไม่ระลึกรู้ลักษณะของนามขันธ์  คือ  เวทนาขันธ์  สัญญาขันธ์  สังขารขันธ์  วิญญาณขันธ์เพียงแต่สติเริ่มจะระลึกรู้สภาพของนามธรรมหรือรูปธรรมบ้างแต่ละลักษณะเท่านั้น  แต่เยื่อใยที่ยังยึดถือนามธรรมและรูปธรรมว่าเป็นตัวตนยังมากอยู่  เพราะฉะนั้น  ไม่ใช่ด้วยการจดจ้องที่นามหรือที่รูปที่จะทำให้รู้ว่า  ธรรมทั้งหลายเป็นอนัตตา  แต่จะรู้จริง ๆ ได้ก็เพราะรู้ว่า  แม้สติก็เป็นอนัตตา

เปิด  187
ปรับปรุง  2 มิ.ย. 2565