แนวทางเจริญวิปัสสนา ตอนที่ 293

ครั้งนั้น มารเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาค แล้วได้ทูลพระผู้มีพระภาคด้วยคาถาว่า

ท่านเป็นผู้ที่ถูกเราผูกไว้แล้วด้วยบ่วงทั้งปวง ทั้งที่เป็นของทิพย์ ทั้งที่เป็นของมนุษย์ ท่านเป็นผู้ที่ถูกเราผูกไว้แล้วด้วยเครื่องพันธนาการอันใหญ่ ดูกร สมณะ ท่านจักไม่พ้นไปจากวิสัยของเราได้

ครั้งนั้นแล พระผู้มีพระภาคทรงทราบว่า นี่มารผู้มีบาป จึงได้ตรัสกะมารผู้มีบาปด้วยพระคาถาว่า

เราเป็นผู้พ้นแล้วจากบ่วงทั้งปวง ทั้งที่เป็นของทิพย์ ทั้งที่เป็นของมนุษย์ เราเป็นผู้พ้นแล้วจากเครื่องพันธนาการอันใหญ่ ดูกร มารผู้กระทำซึ่งความพินาศ ท่านเป็นผู้ที่เรากำจัดเสียได้แล้ว

ครั้งนั้นแล มารผู้มีบาปเป็นทุกข์เสียใจว่า พระผู้มีพระภาคทรงรู้จักเรา พระสุคตทรงรู้จักเรา ดังนี้ จึงได้อันตรธานไป ณ ที่นั้นเอง

ในพระสูตรต่อไป มารพยายามที่จะยับยั้งไม่ให้แม้พระผู้มีพระภาคเองทรงแสดงธรรม ใจของใครเป็นอย่างนี้บ้าง ถ้าเป็น ก็น่ากลัวการสะสมของจิตที่จะติดตามไปให้เป็นผู้ขัดขวางความเจริญของบุคคลอื่นอีกมากทีเดียว เพราะว่าไม่ต้องการให้บุคคลอื่นเจริญในทางธรรม

ผู้ใดที่ขัดขวางบุคคลอื่น ก็เป็นมาร ถ้าเป็นผู้ที่ปฏิสนธิเป็นเทพ แต่สะสมความเห็นผิด และปรารถนาที่จะขัดขวางบุคคลอื่น แม้จะเกิดเป็นเทพ บุคคลนั้นก็เป็นเทพบุตรมาร

สัปปสูตรที่ ๖ มีข้อความว่า

ข้าพเจ้าได้สดับมาแล้วอย่างนี้

สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระวิหารเวฬุวัน อันเป็นสถานที่พระราชทานเหยื่อแก่กระแต เขตกรุงราชคฤห์ ก็โดยสมัยนั้นแล พระผู้มีพระภาคได้ประทับนั่งในที่กลางแจ้งในราตรีอันมืดทึบ และฝนกำลังตกประปรายอยู่

ครั้งนั้นแล มารผู้มีบาปใคร่ที่จะให้เกิดความกลัว ความครั่นคร้าม ขนลุกขนพองแก่พระผู้มีพระภาค จึงนิรมิตเพศเป็นพญางูใหญ่เข้าไปใกล้พระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ กายของพญางูนั้นเป็นเหมือนเรือลำใหญ่ที่ขุดด้วยซุงทั้งต้น พังพานของมันเป็นเหมือนเสื่อลำแพนผืนใหญ่สำหรับปูตากแป้งของช่างทำสุรา นัยน์ตาของมันเป็นเหมือนถาดสำริดใบใหญ่ของพระเจ้าโกศล ลิ้นของมันแลบออกจากปากเหมือนสายฟ้าแลบในขณะที่เมฆกำลังกระหึ่ม ฉะนั้น เสียงหายใจเข้าออกของมันเหมือนเสียงสูบช่างทองที่กำลังพ่นลมอยู่ก็ปานกัน

ครั้งนั้นแล พระผู้มีพระภาคทรงทราบว่า นี่มารผู้มีบาป ดังนี้ จึงได้ตรัสกับมารผู้มีบาปด้วยพระคาถาทั้งหลายว่า

มุนีเสพเรือนว่างเปล่าเพื่ออยู่อาศัย มุนีนั้นเป็นผู้มีตนอันสำรวมแล้ว เขาสละความอาลัยในอัตภาพนั้นเที่ยวไป เพราะการสละความอาลัยในอัตภาพแล้วเที่ยวไป นั้น เหมาะสมแก่ผู้เช่นนั้น

สัตว์ที่สัญจรไปมาก็มาก สิ่งที่น่ากลัวก็มาก อนึ่ง เหลือบและสัตว์เลื้อยคลานก็ชุกชุม แต่มหามุนีผู้อยู่ในเรือนว่างเปล่า ย่อมไม่ยังแม้แต่ขนให้ไหวในเพราะสิ่งที่น่ากลัวเหล่านั้น

ถึงแม้ท้องฟ้าจะพึงแตก แผ่นดินจะพึงไหว สัตว์ทั้งหลายพึงสะดุ้งกลัวกันหมดก็ตามที ถึงแม้ว่าหอกหรือหลาวจะจ่ออยู่ที่อกก็ตามเถิด พระพุทธเจ้าทั้งหลายย่อมไม่ทรงทำการป้องกันเพราะอุปธิ (คือขันธ์) ทั้งหลาย

ครั้งนั้นแล มารผู้มีบาปเป็นทุกข์เสียใจว่า พระผู้มีพระภาคทรงรู้จักเรา พระสุคตทรงรู้จักเรา ดังนี้ จึงได้อันตรธานไปในที่นั้นเอง

ถึงแม้พระผู้มีพระภาคจะได้ทรงชี้แจงให้มารเข้าใจในสภาพของความเป็น พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าที่ไม่ทรงหวั่นไหวใดๆ เลย แต่มารก็ยังไม่เข้าใจถึง พระคุณธรรมของพระองค์ เพราะฉะนั้น ก็ยังคงติดตามพระผู้มีพระภาคไปเรื่อยๆ

สำหรับข้อความที่ว่า ถึงแม้ท้องฟ้าจะพึงแตก แผ่นดินจะพึงไหว สัตว์ทั้งหลายพึงสะดุ้งกลัวกันหมดก็ตามที แม้ถึงว่าหอกหรือว่าหลาวจ่ออยู่ที่อกก็ตามเถิดพระพุทธเจ้าทั้งหลายย่อมไม่ทรงกระทำการป้องกันเพราะอุปธิ (คือ ขันธ์) ทั้งหลาย

ตามปกติของผู้ที่ยังมีความเยื่อใยในความเป็นตัวตน ป้องกันตัว เพราะรักชีวิตแต่พระผู้มีพระภาค ถึงแม้ว่าจะทรงหลีกเลี่ยงอันตรายต่างๆ ก็ไม่ใช่เพราะความยึดถือเยื่อใยในสังขาร ในนามรูปนั้นว่าเป็นตัวตนของพระองค์ กิริยาอาการภายนอกที่ปรากฏอาจจะดูเหมือนกัน คือ หลบหลีกอันตราย ไม่ใช่ว่าปล่อยให้ตนเองเป็นอันตราย แต่ว่าจิตซึ่งเป็นเหตุเป็นปัจจัยให้กิริยาอาการเช่นนั้นเกิดขึ้นนั้นต่างกัน

บุคคลที่ยังมีกิเลส ยังมีความยึดมั่นในขันธ์ว่าเป็นเรา เป็นของเรา เป็นตัวตนของเรา ก็ป้องกันด้วยความยึดถือในขันธ์นั้นอย่างยิ่ง ไม่เหมือนกับผู้ที่รู้ชัดในสภาพธรรมแล้วดับกิเลสเยื่อใยในขันธ์ทั้งปวง แต่ก็หลบหลีกอันตราย แต่ไม่ใช่การยึดถือในขันธ์ว่าเป็นเรา หรือเป็นของเรา

สัปปสูตรที่ ๗ มีข้อความว่า

ข้าพเจ้าได้สดับมาแล้วอย่างนี้

สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระวิหารเวฬุวัน อันเป็นสถานที่พระราชทานเหยื่อแก่กระแต เขตกรุงราชคฤห์ ครั้งนั้นแล พระผู้มีพระภาคเสด็จจงกรมอยู่ในที่กลางแจ้งเกือบตลอดราตรี ในสมัยใกล้รุ่งแห่งราตรี ทรงล้างพระบาทแล้วเสด็จเข้าพระวิหาร ทรงสำเร็จสีหไสยาสน์ โดยพระปรัศว์เบื้องขวา ทรงเหลื่อมพระบาทด้วยพระบาท ทรงมีพระสติสัมปชัญญะ ทรงทำความหมายในอันจะเสด็จลุกขึ้นไว้ในพระหฤทัย

แม้จะทรงพักผ่อน มารก็ไปอีก นิดๆ หน่อยๆ ก็ขอให้ได้ไปชักชวน ให้ได้ไปขัดขวาง

ครั้งนั้นแล มารผู้มีบาปได้เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ แล้วได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคด้วยคาถาว่า

ท่านหลับหรือ ท่านจะหลับเสียทำไมนะ ท่านหลับเป็นตายเชียวหรือนี่ ท่านหลับโดยสำคัญว่าเราได้เรือนว่างเปล่ากระนั้นหรือ เมื่อพระอาทิตย์ขึ้นโด่งแล้ว ท่านยังจะหลับอยู่หรือนี่

ครั้งนั้นแล พระผู้มีพระภาคทรงทราบว่า นี่มารผู้มีบาป จึงได้ตรัสกับมารผู้มีบาปด้วยพระคาถาว่า

พระพุทธเจ้าผู้ไม่มีตัณหาดุจข่ายซึ่งแส่ไปในอารมณ์ต่างๆ สำหรับจะนำไปสู่ภพไหนๆ ย่อมบรรทมหลับ เพราะความสิ้นไปรอบแห่งอุปธิทั้งปวง กงการอะไรของท่านในเรื่องนี้เล่า มารเอ๋ย

ครั้งนั้นแล มารผู้มีบาปเป็นทุกข์เสียใจว่า พระผู้มีพระภาคทรงรู้จักเรา พระสุคตทรงรู้จักเรา ดังนี้ จึงได้อันตรธานไปในที่นั้นเอง

แม้แต่จะบรรทม แม้แต่ว่าจะทรงพักผ่อน มารก็ยังไปกราบทูลว่า ท่านหลับหรือ ท่านจะหลับเสียทำไมนะ ท่านหลับเป็นตายเชียวหรือนี่ ท่านหลับโดยสำคัญว่าเราได้เรือนว่างเปล่ากระนั้นหรือ เมื่อพระอาทิตย์ขึ้นโด่งแล้ว ท่านยังจะหลับอยู่หรือนี่

แม้ว่าจะทรงจงกรมอยู่เกือบตลอดราตรี ก็ทรงพักผ่อนเพียงเล็กน้อย แต่มารก็หาเหตุ หาคำที่จะว่าต่างๆ นานาได้ ซึ่งคนที่ไม่หลับ ไม่หลับเพราะอะไร ห่วงใยเรื่องต่างๆ วิตกกังวลด้วยกิเลส แต่ผู้ที่หมดเยื่อใย หมดความวิตก หมดความกังวล ย่อมหลับสบาย เพราะว่าจิตใจไม่ได้หมกมุ่นครุ่นคิดไปในกิเลส ในความวิตกกังวล

เพราะฉะนั้น มารก็ไม่เข้าใจว่าทรงพักผ่อนเพื่ออะไร ทางของมารที่จะคิด ก็คิดว่า เมื่อเป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าแล้ว จะทรงพักผ่อนทำไม ความคิดของมารตรงกันข้ามกับที่พระผู้มีพระภาคทรงประพฤติปฏิบัติอยู่ทุกประการ

ด้วยเหตุนี้พระผู้มีพระภาคจึงตรัสกับมารผู้มีบาปด้วยพระคาถาว่า พระพุทธเจ้าซึ่งไม่มีตัณหาดุจข่ายซึ่งแส่ไปในอารมณ์ต่างๆ สำหรับจะนำไปสู่ภพไหนๆ ย่อมบรรทมหลับ เพราะความสิ้นไปรอบแห่งอุปธิทั้งปวง กงการอะไรของท่านในเรื่องนี้เล่ามารเอ๋ย

มารไม่หลับ มารเดือดร้อนมากเวลาที่คนอื่นจะหลับ เพราะฉะนั้น มารนั่นเองเป็นผู้ที่เดือดร้อน มีกิเลสตัณหาซึ่งแส่ไปในอารมณ์ต่างๆ สำหรับจะนำไปสู่ภพไหนๆ ท่านผู้ฟังไม่เคยประสบพบมารในลักษณะนี้ แต่ไม่ต้องถึงขนาดนี้ ก็อาจจะหวั่นไหวไปแล้วด้วยความตกใจ ยินร้ายบ้าง หรือว่าด้วยความพอใจ ยินดีบ้าง เพราะฉะนั้น เวลาที่มารจะดลใจ มารก็จะเนรมิต หรือกระทำให้เกิดสิ่งต่างๆ ซึ่งเป็นที่สนใจหรือหวั่นไหว และไม่ต้องกระทำให้มากมายใหญ่โต บุคคลอื่นก็หวั่นไหวไปได้โดยง่าย แต่สำหรับพระผู้มีพระภาค มารก็พยายามทุกทาง เช่น เนรมิตเป็นงูใหญ่ ซึ่งถ้าเป็นผู้ที่ยังมีกิเลสอยู่ ก็คงจะหวั่นไหว ตกใจมากทีเดียว

มารสังยุต ทุติยวรรคที่ ๒ ปาสาณสูตรที่ ๑ มีข้อความว่า

สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ ภูเขาคิชกูฏ เขตกรุงราชคฤห์ ก็สมัยนั้นแล พระผู้มีพระภาคประทับนั่งในที่แจ้งในเวลากลางคืนอันมืด และฝนกำลังตกประปรายอยู่

ครั้งนั้นแล มารผู้มีบาปต้องการจะยังความกลัว ความหวาดเสียว ขนพองสยองเกล้าให้เกิดขึ้นแก่พระผู้มีพระภาค จึงเข้าไป ณ ที่พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ครั้นแล้วกลิ้งศิลาก้อนใหญ่ๆ ไปใกล้พระผู้มีพระภาค

ครั้งนั้นแล พระผู้มีพระภาคทรงทราบว่า นี่มารผู้มีบาป จึงตรัสสำทับกับมารผู้มีบาปด้วยพระคาถาว่า

แม้ถึงว่าท่านจะพึงกลิ้งภูเขาคิชกูฏหมดทั้งสิ้น ความหวั่นไหวก็จะไม่มีแก่พระพุทธเจ้าทั้งหลาย ผู้หลุดพ้นแล้วโดยชอบแน่แท้

ลำดับนั้น มารผู้มีบาปเป็นทุกข์เสียใจว่า พระผู้มีพระภาคทรงรู้จักเรา พระสุคตทรงรู้จักเรา ดังนี้ จึงได้หายไปในที่นั้นเอง

ที่ยกข้อความต่างๆ ก็เพื่อให้ท่านผู้ฟังได้เห็นการกระทำของผู้ที่จะขัดขวางว่าพยายามพากเพียรทุกโอกาสอย่างไรบ้าง แม้แต่การที่จะกลิ้งหินไปใกล้ๆ พระผู้มีพระภาคก็กระทำ คือ กระทำทุกๆ ทางที่จะกระทำได้ทีเดียว เหมือนท่านพระเทวทัตไหมแต่ว่าเจตนาผิดกัน เจตนาของมารก็เพื่อจะให้หวั่นไหว แต่เจตนาของท่านพระเทวทัตนั้น ต้องการเพื่อที่จะปลงพระชนม์พระผู้มีพระภาค

เมื่อพระผู้มีพระภาคทรงถูกสะเก็ดหิน ที่ท่านพระเทวทัตกลิ้งมากระทบพระบาทไม่ใช่มีแต่เฉพาะเทพเท่านั้นที่มาอนุโมทนาในความเป็นผู้ที่อดทนอย่างยิ่งของ พระผู้มีพระภาค มารก็มา แต่ว่ามาในลักษณะที่ต่างกัน ความคิดต่างกัน การกระทำต่างกัน

สกลิกสูตรที่ ๓ ทุติยวรรค มารสังยุต มีข้อความว่า

ข้าพเจ้าได้สดับมาแล้วอย่างนี้

สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ มัททกุจฉิมิคทายวัน เขตกรุงราชคฤห์ก็โดยสมัยนั้นแล พระบาทของพระผู้มีพระภาคถูกสะเก็ดหินเจาะแล้ว ได้ยินว่าเวทนาทั้งหลายอันยิ่งเป็นไปในพระสรีระ เป็นทุกข์แรงกล้า เผ็ดร้อน ไม่เป็นที่ยินดี ไม่เป็นที่ทรงสบาย ย่อมเป็นไปแก่พระผู้มีพระภาค พระองค์มีพระสติสัมปชัญญะ อดกลั้นซึ่งเวทนาเหล่านั้น ไม่กระสับกระส่าย

ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาครับสั่งให้ลาดผ้าสังฆาฏิเป็น ๔ ชั้น แล้วสำเร็จ สีหไสยาสน์ โดยพระปรัศว์เบื้องขวา พระบาทซ้ายเหลื่อมพระบาทขวา มีพระสติสัมปชัญญะ

ครั้งนั้นแล มารผู้มีบาปเข้าไปเฝ้าพระองค์ถึงที่ประทับ แล้วทูลถามพระผู้มีพระภาคด้วยคาถาว่า

ท่านนอนด้วยความเขลา หรือมัวเมาคิดกาพย์กลอนอยู่ ประโยชน์ทั้งหลายของท่านไม่มีมาก ท่านอยู่ ณ ที่นั่งที่นอนอันสงัดแต่ผู้เดียว ตั้งหน้านอนหลับ นี่อะไรท่านหลับทีเดียวหรือ

พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า

เราไม่ได้นอนด้วยความเขลา ทั้งมิได้มัวเมาคิดกาพย์กลอนอยู่ เราบรรลุประโยชน์แล้ว ปราศจากความโศก อยู่ ณ ที่นั่ง ที่นอนอันสงัดแต่ผู้เดียว นอนรำพึงด้วยความเอ็นดูในสัตว์ทั้งปวง ลูกศรเข้าไปในอกของชนเหล่าใด ร้อยหทัยให้ลุ่มหลงอยู่ แม้ชนเหล่านั้นในโลกนี้ผู้มีลูกศรเสียบอกอยู่ ยังได้ความหลับ เราผู้ปราศจากลูกศรแล้ว ไฉนจะไม่หลับเล่า

เราเดินทางไปในทางที่มีราชสีห์ เป็นต้น ก็มิได้หวาดหวั่น ถึงหลับในที่เช่นนั้นก็มิได้กลัวเกรง กลางคืนและกลางวันย่อมไม่ทำให้เราเดือดร้อน เราย่อมไม่พบเห็นความเสื่อมอะไรๆ ในโลก ฉะนั้น เราผู้มีความเอ็นดูในสัตว์ทั้งปวงจึงนอนหลับ

ครั้งนั้นแล มารผู้มีบาปเป็นทุกข์เสียใจว่า พระผู้มีพระภาคทรงรู้จักเรา พระสุคตทรงรู้จักเรา ดังนี้ จึงได้หายไปในที่นั้นเอง

ผิดกันแล้ว ระหว่างเทพที่อนุโมทนา กับมารผู้ขัดขวาง ในสถานที่แห่งเดียวกันและขณะเดียวกัน แต่ว่าคนที่สะสมความเห็นถูก ก็ชื่นชมอนุโมทนาในสิ่งที่ถูก แต่ผู้ที่สะสมความเห็นผิด ไม่มีความชื่นชมเลย และก็ปรารถนาที่จะติ ที่จะขัดขวางด้วยความเห็นผิด หรือการสะสมการที่จะขัดขวางความเจริญในธรรมของบุคคลอื่น น่ากลัวไหม

นอกจากพระผู้มีพระภาค มารก็ยังไปขัดขวางสาวกทั้งหลายด้วย

กัสสกสูตรที่ ๙ มีข้อความว่า

สาวัตถีนิทาน

สมัยนั้นแล พระผู้มีพระภาคทรงยังให้ภิกษุทั้งหลายให้เห็นแจ้ง ให้สมาทาน ให้อาจหาญ ให้ร่าเริง ด้วยธรรมีกถาเกี่ยวด้วยพระนิพพานแล้ว ภิกษุเหล่านั้นทำในใจให้สำเร็จประโยชน์ น้อมนึกมาด้วยความเต็มใจ เงี่ยโสตลงสดับธรรมอยู่

ครั้งนั้นแล มารผู้มีบาปได้มีความคิดว่า พระสมณโคดมนี้แล ทรงยังภิกษุทั้งหลายให้เห็นแจ้ง ให้สมาทาน ให้อาจหาญ ให้ร่าเริง ด้วยธรรมีกถาเกี่ยวด้วยพระนิพพาน ถ้ากระไรเราพึงเข้าไปใกล้พระสมณโคดมถึงที่ประทับ เพื่อการกำบังตาเถิด

ครั้งนั้นแล มารผู้มีบาปจึงนิรมิตเพศเป็นชาวนา แบกไถใหญ่ ถือปฏักมีด้ามยาว มีผมยาวรุงรังปกหน้าปกหลัง นุ่งผ้าเนื้อหยาบ มีเท้าทั้งสองเปื้อนโคลน เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ครั้นแล้วได้กราบทูลว่า

ข้าแต่สมณะ ท่านได้เห็นโคทั้งหลายบ้างไหม

พระผู้มีพระภาคตรัสถามว่า

แน่ะ มารผู้มีบาป ท่านจะต้องการอะไรด้วยโคทั้งหลายเล่า

มารกราบทูลว่า

ข้าแต่สมณะ จักษุเป็นของเราแท้ รูปก็เป็นของเรา อายตนะ คือ วิญญาณอันเกิดแก่จักษุสัมผัสก็เป็นของเรา ท่านจักหนีเราไปไหนพ้น

ข้าแต่สมณะ โสตเป็นของเราแท้ เสียงก็เป็นของเรา อายตนะ คือ วิญญาณอันเกิดแก่โสตสัมผัสก็เป็นของเรา ท่านจักหนีเราไปไหนพ้น

ข้าแต่สมณะ จมูกเป็นของเราแท้ กลิ่นก็เป็นของเรา อายตนะ คือ วิญญาณอันเกิดแก่ฆานสัมผัสก็เป็นของเรา ท่านจักหนีเราไปไหนพ้น

ข้าแต่สมณะ ลิ้นเป็นของเราแท้ รสก็เป็นของเรา อายตนะ คือ วิญญาณอันเกิดแก่ชิวหาสัมผัสก็เป็นของเรา ท่านจักหนีเราไปไหนพ้น

ข้าแต่สมณะ กายเป็นของเราแท้ โผฏฐัพพะก็เป็นของเรา อายตนะ คือ วิญญาณอันเกิดแก่กายสัมผัสก็เป็นของเรา ท่านจักหนีเราไปไหนพ้น

ข้าแต่สมณะ ใจเป็นของเราแท้ ธรรมารมณ์ก็เป็นของเรา อายตนะ คือ วิญญาณอันเกิดแก่มโนสัมผัสก็เป็นของเรา ท่านจักหนีเราไปไหนพ้น

เพราะมารไม่รู้สภาพธรรมตามความเป็นจริง ทุกอย่างของมารเป็นของมารหมดทั้งนั้น เป็นของเราหมด ตาก็ของเรา หูก็ของเรา จมูกก็ของเรา ลิ้นก็ของเรา กายก็ของเรา ใจก็ของเรา สำหรับผู้ที่ยังไม่รู้สภาพธรรมตามความเป็นจริงจะยึดถือว่า เป็นของเราจริงๆ เพราะฉะนั้น เมื่อมารไม่รู้สภาพธรรมตามความเป็นจริง มารก็กล่าวอ้างตามความยึดมั่นของตนว่า ตาเป็นของเรา หูเป็นของเรา จมูกเป็นของเรา ลิ้นเป็นของเรา กายเป็นของเรา ใจเป็นของเรา ทุกอย่าง ตลอดไปจนกระทั่งถึงรูป เสียง กลิ่น รสโผฏฐัพพะ ธรรมารมณ์ เป็นของเรา ตลอดไปจนถึงการเห็น การได้ยิน การได้กลิ่นการลิ้มรส การรู้โผฏฐัพพะ การรู้ธรรมารมณ์ ก็เป็นของเราหมด

เมื่อมารมีความเห็นว่าเป็นตัวตน เป็นของตน ก็คิดว่า บุคคลอื่นก็ต้องเห็นอย่างตน คือ เห็นว่าเป็นตัวตน และเป็นของตนด้วย เพราะฉะนั้น ไม่มีใครพ้นไปจากการยึดถือสภาพธรรมว่าเป็นตัวตน เป็นของตนได้ เมื่อมารไม่พ้น คนอื่นก็ไม่พ้นด้วย

เปิด  167
ปรับปรุง  2 มิ.ย. 2565