แนวทางเจริญวิปัสสนา ตอนที่ 295

ด้วยเหตุนี้ท่านพระภิกษุเหล่านั้นจึงกล่าวกะมารว่า พวกเราย่อมไม่ละผลอันเห็นเอง วิ่งไปสู่ผลชั่วคราว แต่เราทั้งหลายละผลชั่วคราว วิ่งไปสู่ผลอันเห็นเอง ดูกรพราหมณ์ เพราะว่ากามทั้งหลายพระผู้มีพระภาคตรัสว่า เป็นผลชั่วคราว มีทุกข์มากมีความคับแค้นมาก โทษในกามทั้งหลายมีโดยยิ่ง ธรรมนี้มีผลอันเห็นเอง ให้ผลไม่จำกัดกาล เป็นของควรเรียกกันให้มาดู ควรน้อมมาไว้ในตน อันวิญญูชนทั้งหลายพึงรู้ได้เฉพาะตน

ท่านผู้มีปกติเจริญสติปัฏฐาน และไม่เข้าใจผิดในข้อปฏิบัติ จะเข้าใจพยัญชนะตอนนี้ได้ ไม่สงสัยเรื่องของการที่จะรู้แจ้งอริยสัจธรรม ซึ่งเป็นสภาพธรรมที่กำลังปรากฏตามปกติในขณะนี้นั่นเอง

ข้อความต่อไปมีว่า

ครั้งนั้นแล ภิกษุเหล่านั้นเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคยังที่ประทับ ถวายอภิวาทพระผู้มีพระภาคแล้ว นั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ภิกษุเหล่านั้นครั้นนั่งแล้ว จึงกราบทูลพระผู้มีพระภาคว่า

พระเจ้าข้า ข้าพระองค์ทั้งหลายเป็นผู้ไม่ประมาท บำเพ็ญความเพียร มีตนอันส่งไปแล้ว อยู่ในที่ใกล้พระองค์ ณ ที่นี้ พระเจ้าข้า มีพราหมณ์คนหนึ่งมุ่นชฎาใหญ่ นุ่งหนังเสือ เป็นคนแก่ หลังโกง หายใจเสียงดังครืดคราด ถือไม้เท้าทำด้วยไม้มะเดื่อเข้าไปหาข้าพระองค์ยังที่อยู่ ครั้นแล้วได้กล่าวกะข้าพระองค์ว่า ท่านบรรพชิตผู้เจริญทั้งหลาย ล้วนแต่เป็นคนหนุ่มกระชุ่มกระชวย มีผมดำประกอบด้วยความหนุ่มแน่น ยังไม่เบื่อในกามารมณ์ทั้งหลายด้วยปฐมวัย ขอท่านจงบริโภคกามอันเป็นของมนุษย์อย่าละผลอันเห็นเอง วิ่งไปสู่ผลชั่วคราวเลย พระเจ้าข้า

เมื่อพราหมณ์กล่าวอย่างนี้แล้ว พวกข้าพระองค์ได้กล่าวกะพราหมณ์นั้นว่า ดูกร พราหมณ์ พวกเราย่อมไม่ละผลอันเห็นเอง วิ่งไปสู่ผลชั่วคราว แต่พวกเราละผลชั่วคราว วิ่งไปสู่ผลอันเห็นเอง ดูกร พราหมณ์ เพราะกามทั้งหลายพระผู้มีพระภาคตรัสว่า เป็นของชั่วคราว มีทุกข์มาก มีความคับแค้นมาก โทษในกามทั้งหลายนั้นมีโดยยิ่ง ธรรมนี้มีผลอันเห็นเอง ให้ผลไม่จำกัดกาล เป็นของควรเรียกมาดู ควรน้อมไว้ในตน อันวิญญูชนทั้งหลายพึงรู้เฉพาะตน พระเจ้าข้า

เมื่อข้าพระองค์กล่าวอย่างนี้แล้ว พราหมณ์นั้นสั่นศีรษะ แลบลิ้น ทำหน้าขมวดเป็น ๓ รอย จดจ้องไม้เท้าหลีกไป

พระผู้มีพระภาคตรัสว่า

ดูกร ภิกษุทั้งหลาย นั่นมิใช่พราหมณ์ นั่นเป็นมารผู้มีบาป มาเพื่อกำบังตาเธอทั้งหลาย

ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคทรงทราบเนื้อความนั้นแล้ว จึงภาษิตพระคาถานี้ในเวลานั้นว่า

ผู้ใดได้เห็นทุกข์ มีกามเป็นเหตุแล้ว ไฉนผู้นั้นจะพึงน้อมใจไปในกามเล่า บุคคลผู้ทราบอุปธิว่า เป็นเครื่องข้องอยู่ในโลกแล้ว พึงศึกษา เพื่อกำจัดอุปธินั้นเสีย

ถ. คำว่ามรรค ผล เป็นสมมติบัญญัติ ส่วนปรมัตถ์ที่อริยบุคคลจะเห็นได้นั้น เห็นโดยวิธีไหน ขณะไหน เห็นในลักษณะอย่างไรที่อริยบุคคลจะรู้ได้ อริยบุคคลนั้นหมายถึงตรงไหน

สุ. ที่ว่าธรรมทั้งหมดเป็นสมมติบัญญัติทั้งนั้น เพราะเหตุว่าสติไม่ได้ระลึกรู้ในลักษณะของปรมัตถธรรม จึงกล่าวว่าเป็นสมมติบัญญัติ แต่ถ้าขณะนี้ สติระลึกรู้ลักษณะของปรมัตถธรรมที่กำลังเห็น เป็นของจริง สภาพธรรมที่มีจริง ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล เป็นปรมัตถธรรม สีสันวัณณะที่กำลังปรากฏในขณะนี้เป็นของจริง เป็น ปรมัตถธรรม เสียงที่กำลังปรากฏเป็นของจริง เป็นปรมัตถธรรม สภาพที่ได้ยินเสียง ที่รู้เสียงในขณะนี้ ไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล เป็นปรมัตถธรรม

เพราะฉะนั้น ถ้าสติระลึกรู้ตรงลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏให้รู้ได้แต่ละทางๆ ท่านจะรู้ในลักษณะที่เป็นปรมัตถ์ ไม่ใช่ว่ามีแต่บัญญัติเท่านั้น ลักษณะ ปรมัตถธรรมมี และบัญญัติ ใช้คำให้รู้ว่า หมายถึงสภาพปรมัตถ์ใด

เช่น พูดว่า เห็น หมายความถึงสภาพปรมัตถธรรมที่รู้ทางตา ใช้คำว่า ได้ยินเป็นคำที่หมายถึงสภาพธรรมที่กำลังรู้เสียงทางหู แต่ต้องมีปรมัตถธรรม ไม่ใช่มีแต่บัญญัติเท่านั้น และถ้าเป็นผู้ที่มีปกติเจริญสติปัฏฐาน ทุกอย่างที่กำลังมีลักษณะปรากฏเป็นปัฏฐาน เป็นที่ตั้ง เป็นที่ที่สติกำลังระลึกรู้ได้ และก็จะรู้ความจริงในสภาพที่เป็นปรมัตถ์ ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน และสามารถที่จะแทงตลอด บรรลุถึงความเป็นพระอริยเจ้า แม้ในขณะนี้ ที่สติกำลังระลึกรู้ในลักษณะของปรมัตถธรรมที่กำลังปรากฏนี้เอง เพราะฉะนั้น มรรคจิต ผลจิต เป็นสภาพนามธรรมที่รู้ในลักษณะของพระนิพพาน

ข้อความที่พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ดูกร ภิกษุทั้งหลาย นั่นมิใช่พราหมณ์ นั่นเป็นมารผู้มีบาป มาเพื่อกำบังตาเธอทั้งหลาย

รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ธัมมารมณ์ใดๆ ที่เกิดปรากฏ ควรจะเป็น สติปัฏฐาน คือ สติควรจะระลึกแล้วรู้ชัดในสภาพของนามธรรมและรูปธรรมนั้นๆ แต่สิ่งที่กำบังตา คือ ไม่ให้เห็น ไม่ให้รู้แจ้งในสภาพธรรมนั้นตามความเป็นจริงช่างมากเสียเหลือเกิน ถ้ามีอะไรที่น่าสนใจ ที่ดึงดูดความสนใจผิดจากปกติ ก็เป็นสิ่งที่กำบังตาไม่ให้เห็นสภาพธรรมนั้นตามความเป็นจริง เพราะฉะนั้น เมื่อท่านพระภิกษุเหล่านั้นท่านเป็นผู้ที่มีปกติเจริญสติปัฏฐาน บุคคลใดที่มีเพศผิดแผกจากปกติ และกล่าวข้อความที่ผิดแผกจากปกติ ชักชวนในทางที่ไม่ตรง ทำให้สติของท่านพระภิกษุเหล่านั้นไม่ได้เกิดขึ้นระลึกรู้ลักษณะของนามธรรม และรูปธรรมที่กำลังปรากฏขณะใด ขณะนั้นบุคคลนั้น ก็สามารถที่จะกระทำสิ่งที่กำบังตา คือ ไม่ให้รู้ชัดในสภาพธรรมที่กำลังปรากฏในขณะนั้น

เพราะฉะนั้น คงจะไม่สงสัยในพยัญชนะที่ว่า กำบังตา คือ ไม่ให้เห็นสภาพธรรมนั้นตามความเป็นจริง

ถ. คำพูดที่อาจารย์กล่าวน่าฟังมาก ผู้ฟังก็คงจะเห็นต่างๆ กัน และก็เข้าใจต่างๆ กัน เป็นสมมติบัญญัติ ความจริงที่อาจารย์กล่าวนี้ ผู้เห็นได้ คือ ความจริงนั้น ท่านกล่าวว่าไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่ชีวิต ไม่ใช่บุคคล หมายความว่าเป็นเพียงสภาวะเท่านั้นอย่างนี้ผู้ใดเป็นผู้เห็นได้ ผู้กล่าวเห็น หรือผู้ปฏิบัติเห็น

สุ ถ้าสติไม่เกิด ปัญญาก็ไม่รู้สภาพธรรมตามความเป็นจริง เพราะฉะนั้นสติของบุคคลใดเกิดขึ้น อบรมเจริญ ระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ เนืองๆ บ่อยๆ สังเกต สำเหนียกจนกระทั่งเป็นความรู้ที่ชัดขึ้น รู้แจ้ง รู้ทั่วขึ้นเมื่อใด ผู้นั้นก็สามารถที่จะรู้แจ้งอริยสัจธรรมได้ โดยไม่จำกัดว่า บุคคลนั้นคนเดียวเท่านั้นถึงจะรู้ได้ บุคคลอื่นรู้ไม่ได้ แล้วแต่ว่าบุคคลใดสะสมเหตุ คือ การเจริญสติปัฏฐานอบรมปัญญาให้เกิดปัญญาที่รู้ชัด เป็นปัญญาที่สมบูรณ์ ที่จะรู้แจ้งอริยสัจธรรม ก็สามารถที่จะรู้แจ้งอริยสัจธรรมได้

มีอะไรกำบังตาหรือไม่ โดยมากไม่รู้ ถ้าไม่ใช่เป็นผู้ที่มีปกติเจริญสติปัฏฐาน จริงๆ นามธรรมอะไร สติระลึกรู้หรือเปล่า รูปธรรมอะไรที่กำลังมีลักษณะปรากฏ สติระลึกรู้หรือเปล่า เวทนาอะไรที่กำลังปรากฏ สติระลึกรู้หรือเปล่า ถ้าสติไม่ระลึกรู้ ในขณะนี้ ก็มีสิ่งที่กำบังตาอีก

เพราะฉะนั้น การฟังเรื่องการอบรมเจริญสติปัฏฐาน เกื้อกูล อุปการะให้สติเกิดขึ้นฉับพลันทันทีเองได้ ถ้าท่านรู้ว่าขณะที่มีสติ คือ กำลังรู้ในลักษณะที่เป็นปรมัตถธรรม จะเป็นทางตา หรือทางหู หรือทางจมูก หรือทางลิ้น หรือทางกาย หรือใจก็ได้

ด้วยเหตุนี้ พระผู้มีพระภาคจึงได้ทรงแสดงธรรมซ้ำไปซ้ำมาในเรื่องของตา หูจมูก ลิ้น กาย ใจ โดยไม่เว้นที่จะทรงแสดงพยัญชนะโดยละเอียด เพื่อให้ผู้ฟังที่ขณะนั้นหลงลืมสติ สติจะได้เกิดระลึกรู้ลักษณะของนามธรรม และรูปธรรมที่กำลังปรากฏทันที

และที่พระผู้มีพระภาคตรัสถาม บุคคลที่มีสติกำลังระลึกรู้ลักษณะของนามและรูปก็ตอบ เพราะว่ารู้สภาพธรรมที่กำลังปรากฏในขณะนั้นตรงกับพระธรรมที่ได้ทรงแสดง เช่น ขณะที่พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ธรรมทั้งหลายเป็นอนัตตา กำลังเห็นไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน สีสันวัณณะที่กำลังปรากฏให้รู้ได้ทางตา ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน สติของบุคคลนั้นเกิดขึ้นประจักษ์ในอรรถ ความหมายที่ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน

เมื่อพระผู้มีพระภาคตรัสถามว่า การเห็น หรือสีสันวัณณะที่กำลังปรากฏเป็นตัวตนใช่หรือไม่ ท่านพระภิกษุเหล่านั้นจึงกราบทูลได้ว่า ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน เพราะฉะนั้น ก็เป็นเรื่องปกติธรรมดา แล้วแต่ปัญญาของผู้ใดจะอบรมจนกระทั่งรู้ชัด และก็ระลึกทันที

ด้วยเหตุนี้ พระผู้มีพระภาคจึงได้ทรงแสดงพระธรรมซ้ำแล้วซ้ำอีก เรื่องของนามธรรมและรูปธรรมทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจนั่นเอง

ถ. อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา พวกเดียวกันหรือไม่ กล่าววนกัน ฟังๆ แล้ว ก็วนอยู่อย่างนี้เองไม่ไปไหน ผู้ที่จะรู้ได้ ก็ต้องเป็นผู้ปฏิบัติใช่ไหมครับ

สุ. จะให้ไปไหน นอกจากตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ เป็นผู้ที่รู้ลักษณะของสติ จึงจะรู้ว่าไม่ใช่สมมติบัญญัติ มีปรมัตถธรรม สติกำลังระลึกรู้ในลักษณะที่เป็นปรมัตถธรรม แต่ถ้าผู้ใดไม่รู้ลักษณะของสติ หาปรมัตถธรรมไม่ได้ มีแต่สมมติบัญญัติทั้งนั้น เห็นอะไรก็เป็นสัตว์ เป็นบุคคล เป็นวัตถุสิ่งนั้นสิ่งนี้ ไม่ทราบว่าเป็นปรมัตถ์อย่างไร เพราะเหตุว่าไม่รู้ลักษณะของสติ ว่าสติที่เป็นสติปัฏฐานนั้นระลึกอย่างไร จึงเห็นว่าสภาพธรรมทั้งหลายไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน เป็นแต่ลักษณะของสภาพธรรมแต่ละชนิด แต่ละลักษณะ เป็นนามธรรมบ้าง เป็นรูปธรรมบ้างทางตา หูจมูก ลิ้น กาย ใจ

จะเป็นธรรมเรื่องใดก็ตาม จะเป็นเรื่องมาร จะเป็นเรื่องเทพ จะไม่พ้นไปจากตาหู จมูก ลิ้น กาย ใจ แต่ขอให้ทราบว่า ขณะนั้น อะไรกำลังกำบังตาท่านหรือไม่ ที่จะไม่ให้รู้สภาพธรรมตามปกติ ตามความเป็นจริง

สมิทธิสูตรที่ ๒ มีข้อความว่า

ข้าพเจ้าได้สดับมาแล้วอย่างนี้

นามธรรมและรูปธรรมมีไหมในขณะที่กำลังได้ยินอย่างนี้ เป็นปรมัตถธรรมทั้งนั้น ไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคลเลย แม้ว่าจะได้ยินข้อความอย่างนี้ ที่กำลังได้ยินก็เป็นแต่เพียงนามธรรมชนิดหนึ่ง เป็นสภาพที่รู้เสียงที่กำลังปรากฏ ขณะใดที่ได้ยินเกิดขึ้น ขณะนั้นไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน เป็นสภาพรู้เสียง ซึ่งจะไม่รู้อย่างอื่นเลยนอกจากเสียง

ขณะที่กำลังรู้ความหมายของสิ่งที่ได้ยินได้ฟัง ก็เป็นนามธรรม รู้ความหมายนั้นแล้วก็หมดไป ดับไป ไม่เที่ยง เพราะเหตุว่ามีนามธรรมอื่น มีรูปธรรมอื่นเกิดปรากฏสืบต่อ ซึ่งสติระลึกแล้วก็รู้ว่า ทั้งหมดไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน

เพราะฉะนั้น ขณะที่กำลังฟัง สติระลึกรู้สภาพธรรมที่กำลังปรากฏตามความเป็นจริงได้ มีช่วงเวลามากพอระหว่างการเกิดดับสืบต่อของจิตที่สติจะเกิดขึ้นระลึกรู้ในลักษณะของนามธรรมและรูปธรรมได้ อย่าคิดว่า ถ้ารู้ความหมายแล้วจะไม่ใช่ปรมัตถธรรม เพราะเหตุว่าสภาพที่กำลังรู้ กำลังเข้าใจนั้น เป็นแต่เพียงนามธรรมที่กำลังรู้ในความหมายแล้วก็หมดไป นามธรรมชนิดนั้นดับ และก็มีนามธรรมอื่น รูปธรรมอื่นเกิดดับสืบต่อไป

ข้อความต่อไปมีว่า

สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ที่กรุงศิลาวดี ในแคว้นสักกะ ก็สมัยนั้นแล ท่านสมิทธิเป็นผู้ไม่ประมาท มีความเพียร มีตนอันส่งไปแล้ว อยู่ในที่ใกล้พระผู้มีพระภาค

ท่านผู้ฟังจะรู้สึกว่า เสียงที่ได้ยินนี้ติดกันมากใช่ไหม และทำไมรู้เรื่องได้ด้วย ทั้งๆ ที่เสียงก็ปรากฏเหมือนกับสืบติดต่อกันไป ทุกคำมีช่องว่างที่ท่านไม่ได้สังเกตสำเหนียก เห็นความเกิดขึ้นและดับไปของนามธรรมและรูปธรรม แต่ถ้าท่านเป็นผู้ที่อบรมเจริญสติ ระลึกรู้ลักษณะของนามธรรมแต่ละชนิดชัดเจน ไม่ปนกับนามธรรมอื่นรูปธรรมอื่น จะรู้ได้ว่า ลักษณะของรูปไม่ใช่ลักษณะของนาม สภาพที่รู้ก็เป็นอย่างหนึ่งและเสียงที่กำลังปรากฏก็ปรากฏคนละขณะ เสียงที่ปรากฏไม่ใช่สภาพนามธรรมที่กำลังรู้เรื่อง และถ้าท่านเป็นผู้ที่จะแบ่งวรรคตอนของคำ จะปรากฏว่า แบ่งคำได้ทุกคำทั้งๆ ที่ปรากฏเหมือนกับว่าติดกัน เสียงนั้นปรากฏเหมือนกับว่าสืบต่อติดกันไปไม่มีช่องว่างเว้นเลย เสียงก็สามารถที่จะแบ่งเป็นคำได้ และยังมีความเข้าใจในการรู้ความหมายของเสียงด้วย เกิดดับสืบต่อกันอย่างรวดเร็ว

เพราะฉะนั้น ไม่ต้องเป็นห่วงว่า ที่กำลังรู้เรื่องนี้สติไม่สามารถจะเกิดขึ้นระลึกรู้ได้ว่าเป็นแต่เพียงนามธรรมชนิดหนึ่ง ถ้าท่านเป็นผู้ที่อบรมเจริญสติปัฏฐานจริงๆ ย่อมสามารถที่จะรู้แจ้งสภาพธรรมตามความเป็นจริงได้ และถ้ายังไม่รู้ ก็ต้องยอมรับว่าเป็นความไม่รู้อยู่ และเจริญอบรมจนกว่าจะเป็นความรู้จริงๆ แต่ไม่ใช่หลอกตัวเอง ทั้งๆ ที่ไม่รู้ก็ว่ารู้แล้ว อย่างนั้นไม่มีหนทางที่จะทำให้ปัญญาสมบูรณ์ จนกระทั่งสามารถที่จะแทงตลอดในสภาพธรรมตามความเป็นจริงได้

เปิด  190
ปรับปรุง  2 มิ.ย. 2565