แนวทางเจริญวิปัสสนา ตอนที่ 189

ถ. (ไม่ได้ยิน)

สุ. ถ้าได้เป็นโสดาบันบุคคล จะไม่เป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า เพราะว่าในคืนที่ทรงตรัสรู้เป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ไม่ใช่ว่าทรงบรรลุความเป็นพระอรหันต์ทันที แต่ต้องทรงบรรลุความเป็นพระโสดาบัน พระสกทาคามี และพระอนาคามีก่อนโดยลำดับ จะไม่มีบุคคลหนึ่งบุคคลใดที่จะผ่านพระโสดาบัน พระสกทาคามี พระอนาคามี โดยไม่บรรลุ และจะไปถึงความเป็นพระอรหันต์ เพราะเหตุว่าการรู้แจ้งอริยสัจธรรมนั้นต้องเป็นโดยลำดับขั้น

ชีวิตของคฤหัสถ์ที่เป็นปกติธรรมดา ก็มีวิถีชีวิต สภาพของชีวิตแตกต่างกันไปตามที่ได้ทรงแสดงไว้ในพระไตรปิฎก มีพระโสดาบันบุคคล มีพระสกทาคามีบุคคล มีพระอนาคามีบุคคล ชีวิตต่างๆ กัน อย่างท่านอุคคคฤหบดีเป็นเศรษฐี เป็นพระอนาคามีบุคคล ฆฏิการะช่างหม้อเป็นพระอนาคามีบุคคล แต่ไม่ใช่เศรษฐี เป็นได้ไหมพระอนาคามีบุคคลโดยไม่ต้องเป็นเศรษฐี ไม่ว่าชีวิตของผู้ใดจะเป็นอย่างไร ก็สามารถที่จะรู้แจ้งอริยสัจธรรมได้

ปปัญจสูทนี อรรถกถา มีข้อความว่า

ฆฏิการะช่างหม้อ เผาภาชนะ และจัดแจงไว้แล้วในบ้าน ตัวเองก็เข้าป่า หาไม้ ท่านไม่ได้ขายภาชนะของท่านเอง ก่อนที่จะเข้าป่า ท่านก็หุงหาอาหาร จัดทุกอย่างให้มารดาบิดาบริโภคแล้ว ตัวท่านเองก็บริโภคแล้ว นอกจากนั้น ก็ยังจัดภัตตะ สูปะ คือ ข้าว กับข้าว อาหารอย่างดีไว้เพื่อพระผู้มีพระภาคผู้ทรงพระนามว่ากัสสปะ ท่านปูอาสนะไว้พร้อม จัดน้ำไว้ ให้สัญญาแก่มารดาบิดา แล้วก็เข้าป่าไป

ชีวิตปกติไหม เจริญสติปัฏฐานได้ไหม บรรลุคุณธรรมเป็นถึงพระอนาคามี บุคคลได้ไหม จำกัดอะไรหรือเปล่าว่า จะต้องเปลี่ยนชีวิตไปเป็นอีกแบบหนึ่งอย่างบรรพชิต ไม่ทำกิจการงานอะไร ถ้าเป็นอย่างนั้นก็เข้าใจไม่ถูก

ส่วนชาวบ้านที่จะซื้อภาชนะของท่านนั้น ก็เอาเงินบ้าง ข้าวสารบ้าง ทรัพย์สมบัติต่างๆ บ้างมา ถ้าเห็นว่าภาชนะที่ท่านจัดวางไว้นั้นเป็นของที่มีค่ามาก แต่ว่านำเงินมาน้อย ก็กล่าวกะมารดาบิดาของท่านว่า ข้าพเจ้าจะให้สิ่งนี้ๆ แล้วจะถือเอา

หมายความว่า ไม่เอาไปทันที เมื่อเห็นว่าเป็นของที่มีค่ามาก ก็กล่าวว่า จะให้เท่านั้นเท่านี้ และกลับไปเอาเงินมาเพิ่ม นี่เป็นวิธีขายสิ่งที่ท่านมีเพื่อเลี้ยงมารดาบิดา

แต่ถ้าของที่มีนั้นเป็นของที่มีราคาไม่มาก และไม่ต้องการจะซื้อ ชาวบ้านนั้นก็จัดหรือเก็บไว้ให้ดี เหมือนกับเป็นเจ้าของบ้าน แล้วก็กลับไป ที่เป็นอย่างนี้ก็เพราะเหตุว่า ชาวบ้านทั้งหลายคิดว่า ฆฏิการะช่างหม้อเป็นพ่อค้าผู้ทรงธรรม บำรุงมารดาบิดา อุปัฏฐากพระผู้มีพระภาค เพราะฉะนั้น ก็ไม่ควรที่จะเอาเปรียบท่าน ทั้งๆ ที่มารดาบิดาตาบอด แล้วก็มีภาชนะวางอยู่ แต่ว่าชาวบ้านก็ไม่เอาเปรียบ เห็นแก่ได้ แต่ว่าซื้อของด้วยราคาที่สมควร

เมื่อพระผู้มีพระภาคทรงพระนามว่ากัสสปะได้ตรัสเล่าให้พระเจ้ากิกิฟังว่า พระองค์ทรงรับนิมนต์ของฆฏิการะช่างหม้อ เรื่องที่จะจำพรรษาอยู่ที่นิคมของฆฏิการะช่างหม้อแล้ว พระเจ้ากิกิก็ตรัสถามว่า

ช่างหม้อมีคุณถึงปานนี้ ทำไมไม่บวช

ซึ่งในพระไตรปิฎกก็มีข้อความแสดงไว้แล้วว่า ที่ฆฏิการะช่างหม้อไม่บวช ก็เพราะเหตุว่าจะต้องเลี้ยงมารดาบิดาที่ตาบอด

เมื่อพระเจ้ากิกิทรงทราบว่า พระผู้มีพระภาคทรงรับนิมนต์ของฆฏิการะช่างหม้อ ก็ได้ส่งเกวียนบรรทุกข้าวสาร ข้าวปัณฑุมุฑิกะสาลี ประมาณ ๕๐๐ เล่ม และเครื่องแกงอันสมควรแก่ข้าวสารนั้น ไปพระราชทานแก่ฆฏิการะช่างหม้อ ซึ่งฆฏิการะช่างหม้อ ก็ได้กล่าวตอบกับราชบุรุษผู้นำของนั้นไปให้ว่า พระราชามีพระราชกิจมาก มีพระราชกรณียมาก ของที่พระราชทานมานี้ อย่าเป็นของข้าพเจ้าเลย จงเป็นของหลวงเถิด

ท่านไม่รับ ท่านไม่ใช่เป็นผู้ที่ยินดีต้องการ มีความโลภ ความปรารถนา ความติดข้องในรูป เสียง กลิ่น รส โผฏัฐพพะ เพราะเหตุว่าท่านเป็นพระอนาคามีบุคคล

และสิ่งของที่พระเจ้ากิกิทรงส่งไปพระราชทานนั้น เป็นของที่มาก เป็นภาระ หนัก เป็นงานหนัก เพราะฉะนั้น สมควรที่จะเป็นของหลวง ไม่สมควรแก่ท่านที่จะจัดทำภารกิจอันหนักนั้น

ตอนจบของพระสูตรนี้ พระผู้มีพระภาคตรัสกับท่านพระอานนท์ว่า

ดูกร อานนท์ เธอจะพึงมีความคิดเห็นว่า สมัยนั้น คนอื่นได้เป็นโชติปาลมานพแน่นอน แต่ข้อนั้นเธอไม่ควรเห็นอย่างนั้น สมัยนั้นเราได้เป็นโชติปาลมานพ

พระผู้มีพระภาคได้ตรัสพระพุทธพจน์นี้แล้ว ท่านพระอานนท์ยินดี ชื่นชมพระภาษิตของพระผู้มีพระภาคแล้ว ดังนี้แล

ทำไมท่านพระอานนท์ยินดีชื่นชมพระภาษิต ท่านผู้ฟังบางท่านไม่ค่อยจะชื่นชมยินดีกับพระภาษิตของพระผู้มีพระภาค บางท่านไม่ชอบฟังพระสูตร อยากจะศึกษาแต่พระอภิธรรมเท่านั้น พระสูตรเป็นพุทธพจน์หรือไม่ และผู้ที่เป็นพระพุทธสาวกในครั้งนั้น เมื่อฟังแล้ว ชื่นชมยินดี แต่ทำไมบางท่านสมัยนี้ไม่ชื่นชมยินดี ไม่ยินดีที่จะฟัง พระพุทธพจน์ พระธรรมจากพระโอษฐ์ เพราะไม่เห็นคุณค่าก็เป็นได้

พระผู้มีพระภาคตรัสให้เจริญสติปัฏฐานเนืองๆ บ่อยๆ เพื่อปัญญาจะได้รู้สภาพธรรมที่ปรากฏตามความเป็นจริง พระผู้มีพระภาคตรัสอย่างนี้ ชื่นชมยินดีไหม แล้วทำไมพระผู้มีพระภาคตรัสเล่าเรื่องฆฏิการะช่างหม้อให้ท่านพระอานนท์ฟัง ซึ่งเมื่อท่านพระอานนท์ฟังแล้ว ก็ชื่นชมยินดีในพระภาษิตของพระผู้มีพระภาค

เรื่องชีวิตในอดีต เรื่องการบำเพ็ญเพียร เรื่องการบรรลุมรรคผลของแม้บุคคลซึ่งเป็นช่างหม้อ ทำให้เกิดปีติโสมนัสเห็นผลของพระธรรม เห็นผลของการปฏิบัติธรรม ไม่ว่าผู้นั้นจะเป็นผู้ใด ซึ่งชีวิตจริงๆ ของท่านพระอานนท์ในขณะที่ได้ฟังเรื่องของ ฆฏิการะช่างหม้อ ในขณะนั้นท่านเจริญสติได้ ท่านจะบรรลุมรรคผลในขณะนั้นก็ได้ หรือแม้บุคคลอื่นจะได้ฟัง สติระลึกรู้ลักษณะของนามธรรมและรูปธรรมที่กำลังปรากฏ รู้ชัด และก็บรรลุมรรคผลในขณะนั้นได้ เพราะเหตุว่าขณะนั้นเป็นชีวิตจริงๆ

เพราะฉะนั้น ทุกท่านที่เจริญสติปัฏฐานอย่าข้ามที่จะรู้ชีวิตจริงๆ กำลังฟังเรื่องอะไร เป็นชีวิตจริงในขณะนั้น เป็นสัจธรรม เป็นนามธรรม เป็นรูปธรรมที่สติระลึก และรู้ชัดในสภาพธรรมตามความเป็นจริง เพราะเหตุว่าการรู้ชัดสภาพธรรมตามความเป็นจริงนั้น ต้องรู้สัจธรรม คือ สิ่งที่เกิดแล้วปรากฏตามความเป็นจริงในขณะนี้

สำหรับเรื่องของฆฏิการะช่างหม้อกับโชติปาลมานพ ซึ่งท่านผู้หนึ่งได้บรรลุความเป็นพระอนาคมีบุคคล แต่อีกท่านหนึ่งปรารถนาความเป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้านั้น ชีวิตของท่านทั้งสองจะได้พบกันอีกไหมในวัฏฏะที่ยืดยาว ทุกท่านก็มานั่งพบกันในที่นี้ แต่ว่าในอดีตกาล ครั้งสมัยพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงพระนามว่า กัสสปะ ทรงพระนามว่าปทุมุตตระ ทรงพระนามต่างๆ นั้น ก็ไม่ทราบว่าเคยพบปะกันมาหรือเปล่า แต่ในขณะนี้ก็พบกันอีก ต่อไปข้างหน้าก็มืดอีก ไม่มีใครทราบว่า จะได้พบกันอีกหรือเปล่า

สำหรับฆฏิการะช่างหม้อกับโชติปาลมานพได้พบกันอีกไหม ในเมื่อท่านหนึ่งบรรลุคุณธรรมเป็นพระอนาคามีบุคคล แต่อีกท่านหนึ่งนั้นปรารถนาที่จะเป็น พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า

สังยุตตนิกาย สคาถวรรค อาทิตตวรรค ฆฏิการสูตรที่ ๑๐ มีข้อความว่า

ฆฏิการพรหมกราบทูลว่า ภิกษุ ๗ รูป ผู้เข้าถึงพรหมโลกชื่อว่าอวิหา เป็นผู้หลุดพ้นแล้ว มีราคะ โทสะ สิ้นแล้ว ข้ามเครื่องเกาะเกี่ยวในโลกได้แล้ว

พระผู้มีพระภาคตรัสถามว่า

ก็ภิกษุเหล่านั้นคือผู้ใดบ้าง ผู้ข้ามเครื่องข้องเป็นบ่วงของมารที่ข้ามได้แสนยาก ละกายของมนุษย์แล้ว ก้าวล่วงซึ่งทิพยโยคะ ( คือ สังโยชน์เบื้องสูง ซึ่งผู้ที่ยังติดข้องในรูปฌานอรูปฌาน ก็ยังข้องอยู่ เป็นทิพยโยคะ ผู้ที่ละได้คือพระอรหันต์)

ฆฏิการพรหมกราบทูลว่า

คือ ท่านอุปกะ ๑ ท่านผลคันฑะ ๑ ท่านปุกกุสาติ ๑ รวมเป็น ๓ ท่าน ท่านภัททิยะ ๑ ท่านขัณฑเทวะ ๑ ท่านพหุทันตี ๑ ท่านสิงคิยะ ๑ รวมเป็น ๗ ท่าน ท่านเหล่านั้นล้วนแต่ละกายของมนุษย์ ก้าวล่วงทิพยโยคะได้แล้ว

พระผู้มีพระภาคตรัสถามว่า

ท่านเป็นคนมีความฉลาด กล่าวสรรเสริญภิกษุเหล่านั้น ผู้ละบ่วงมารได้แล้ว ภิกษุเหล่านั้นตรัสรู้ธรรมของใครเล่า จึงตัดเครื่องผูก คือ ภพเสียได้

ฆฏิการพรหมกราบทูลว่า

ท่านเหล่านั้นตรัสรู้ธรรมของผู้ใด จึงตัดเครื่องผูก คือ ภพเสียได้ ผู้นั้นไม่มีอื่นไปจากพระผู้มีพระภาค และธรรมนั้นไม่มีอื่นไปจากคำสั่งสอนของพระองค์ นามและรูปดับไม่เหลือในธรรมใด ท่านเหล่านั้นได้รู้ธรรมนั้นในพระศาสนานี้ จึงตัดเครื่องผูก คือ ภพเสียได้

พระผู้มีพระภาคตรัสถามว่า

ท่านกล่าววาจาลึก รู้ได้ยาก เข้าใจให้ดีได้ยาก ท่านรู้ธรรมของใครจึงกล่าววาจาเช่นนี้ได้

ฆฏิการพรหมกราบทูลว่า

เมื่อก่อนข้าพระองค์เป็นช่างหม้อ ทำหม้ออยู่ในเวภฬิคชนบท เป็นผู้เลี้ยงมารดาและบิดา ได้เป็นอุบาสกของพระกัสสปพุทธเจ้า เป็นผู้เว้นจากเมถุนธรรม เป็นผู้ประพฤติพรหมจรรย์ ไม่เกี่ยวด้วยอามิส ได้เคยเป็นคนร่วมบ้านกับพระองค์ ทั้งได้เคยเป็นสหายของพระองค์ในกาลปางก่อน ข้าพระองค์รู้จักภิกษุ ๗ รูปเหล่านี้ ผู้หลุดพ้นแล้ว มีราคะ และโทสะสิ้นแล้ว ผู้ข้ามเครื่องข้องในโลกได้แล้ว

พระผู้มีพระภาคตรัสว่า

แน่ะ นายช่างหม้อ ท่านกล่าวเรื่องอย่างใด เรื่องนั้นได้เป็นจริงแล้วอย่างนั้นในกาลนั้น เมื่อก่อนท่านเคยเป็นช่างหม้อทำหม้ออยู่ในเวภฬิคชนบท เป็นผู้เลี้ยงมารดาและบิดา เป็นอุบาสกของพระกัสสปพุทธเจ้า เป็นผู้เว้นจากเมถุนธรรม เป็นผู้ประพฤติพรหมจรรย์ ไม่เกี่ยวด้วยอามิส ได้เป็นคนเคยร่วมบ้านกับเรา ทั้งได้เคยเป็นสหายของเราในปางก่อน

พระสังคีติกาจารย์กล่าวว่า

สหายเก่าทั้งสอง ผู้มีตนอันอบรมแล้ว ทรงไว้ซึ่งสรีระมีในที่สุด ได้มาพบกันด้วยอาการอย่างนี้

เวลาที่มาพบกันอีกครั้งหนึ่ง ก็เป็นชาติสุดท้ายของทั้งสองท่าน คือ พระผู้มีพระภาคเป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า และฆฏิการพรหมบรรลุคุณธรรมเป็น พระอรหันต์แล้ว จึงได้มาเฝ้าพระผู้มีพระภาค เพราะฉะนั้น การพบกันในชาติสุดท้ายที่เป็นพระอรหันต์ทั้ง ๒ ท่าน ก็เป็นการพบอย่างดี

ฆฏิการะช่างหม้อบรรลุคุณธรรมเป็นพระอนาคามีบุคคล จึงเกิดในพรหมโลก และบรรลุคุณธรรมเป็นพระอรหันต์ในพรหมโลก

. ตามที่ท่านอาจารย์กล่าวว่า การระลึกรู้รูปใด นามใด จะรู้ที่รูปนั้นนามนั้นอย่างหนึ่งนานๆ ก็สุดแล้วแต่สติ ซึ่งตามปกติ ตามความเป็นจริง สติรู้ได้มากมายเหลือเกิน อย่างเสียงเกิดขึ้น สติก็ระลึกรู้ได้ นิดเดียวแล้วก็หมดไป การระลึกรู้เพียงนิดหน่อยนี้ นับว่าเป็นการระลึกรู้ที่เป็นสติปัฏฐานแล้ว แต่การระลึกรู้สิ่งใดสิ่งหนึ่งนาน ที่อาจารย์ว่า เริ่มเจริญสติ ก็ย่อมมีความโน้มเอียงเป็นอย่างนั้น ซึ่งมีบางท่านสอนให้กำหนดที่รูปนั่งนานๆ กำหนดที่รูปนั่งอยู่อย่างนี้ มีเวทนาเกิดขึ้น ก็บอกว่าไม่ต้องรู้ กำหนดอยู่ที่รูปนั่งเท่านั้น เป็นการจงใจจะกำหนดรู้ที่รูปนั่งนั้น คล้ายๆ ที่บอกว่า ระลึกรู้ที่สิ่งใดสิ่งหนึ่งนาน เป็นการเริ่มเจริญสติ เพราะฉะนั้น จะมีความต่างกันอย่างไร

สุ. สติระลึกรู้ที่สภาพของรูปธรรมหรือนามธรรมเองเป็นเรื่องหนึ่ง แต่ถ้ามีคำสอนที่ว่า ให้ดูที่รูปนั่งอย่างเดียว ไม่เหมือนกันแล้ว

สติเป็นอนัตตา ธรรมทั้งหลายเป็นอนัตตา แม้สติ เพราะฉะนั้น จะมีใครสั่ง ใครบังคับ มีใครโน้มน้าวให้เกิดความพอใจติดข้องที่จะไปรู้เฉพาะรูปเดียว นั่นเป็นการติด ไม่ใช่เป็นการละ เป็นอัตตา ไม่ใช่เป็นอนัตตา นี่ผิดกันแล้ว และรูปนั่งก็ไม่มีลักษณะที่จะให้รู้ได้

. ถ้าระลึกรู้ที่ได้ยินอย่างเดียว โดยไม่เจาะจง ความจริงเสียงก็มี แต่สติของผู้นั้นเขาระลึกได้เพียงได้ยินและรู้เรื่อง ได้ยินและรู้เรื่อง สติก็เกิดขึ้นติดต่อกันไปอย่างนี้ จะเรียกว่ารู้นาน หรือว่าระลึกรู้ได้นานๆ หรือเปล่า เพราะว่าสติเกิดขึ้นนิดหนึ่งแล้วก็หมดไปแล้ว รู้ได้ยินนิดหนึ่งก็หมดไปแล้ว แต่ยังไม่ไปอารมณ์อื่น ยังไม่ได้ไปที่เห็นหรือที่สี ที่คัน ที่แข็ง ยังไม่ได้ไปที่อื่น ระลึกรู้อยู่อย่างนี้ตลอดเวลาที่อาจารย์บรรยาย คำว่ารู้นานนี้ รู้อย่างไรจึงจะว่ารู้นาน ไม่จดจ้องน่ะถูกแล้ว แต่เขาก็ได้ยินอยู่อย่างนี้ ตรงนี้ที่ยังไม่เข้าใจชัดเจน

สุ. เป็นเรื่องที่ผู้ที่เจริญสติจะทราบว่า สติของท่านเมื่อสักครู่นี้รู้อยู่ที่เสียงบ่อยทีเดียว พอมีใครมาพูดเรื่องได้ยิน สติของท่านก็ระลึกรู้ที่ได้ยิน ต่อไปมีใครมาพูดเรื่องเห็น สติก็อาจจะระลึกรู้นามที่เห็นก็ได้ เป็นเรื่องธรรมดาๆ แล้วแต่สติจะระลึกรู้นามธรรมหรือรูปธรรม และผู้ที่เจริญสติเองเป็นผู้ที่รู้ว่า ขณะนั้นไม่ได้ระลึกรู้ที่นามอื่นรูปอื่น แต่ว่าตราบใดที่ความรู้ยังไม่ชัด สติก็จะต้องระลึกไปเรื่อยๆ

. (ไม่ได้ยิน)

สุ. เป็นไปไม่ได้ที่จะรู้แต่เฉพาะทวารเดียว และตอนเริ่มแรกทีเดียวก็เป็นไปไม่ได้ที่จะรู้ทั้ง ๖ ทวาร สิ่งใดที่ปรากฏ และสติเริ่มระลึก ก็จะเป็นปัจจัยให้สติระลึกที่นามนั้นรูปนั้นได้อีก และเป็นผู้ที่รู้ด้วยว่า ขณะนั้นสติระลึกรู้ลักษณะของนามหรือของรูปทางไหน บ่อยหรือไม่บ่อย มีเสียง มีได้ยิน มีรู้เรื่อง แต่ว่าสติจะระลึกรู้ที่เสียง หรือสติจะระลึกรู้ที่นามอื่นรูปอื่น ก็เป็นเรื่องธรรมดา สติจะต้องระลึกรู้นามธรรมและรูปธรรมทั้ง ๖ ทวาร และละเอียดขึ้นด้วย

เจ็บนิดๆ หน่อยๆ ชีวิตปกติธรรมดา หรืออุบัติเหตุกำลังจะเกิดขึ้น ถ้าสติไม่ระลึกรู้จนเป็นปกติ เจริญสติปัฏฐานไม่ได้เลยในขณะนั้น ทั้งๆ ที่ขณะนั้นไม่ใช่ตัวตน เป็นวิบาก เป็นผลของกรรมที่จะต้องเกิดขึ้น ซึ่งการรับผลของกรรมทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย เป็นอิฏฐารมณ์ที่น่าพอใจบ้าง เป็นอนิฏฐารมณ์ที่ไม่น่าพอใจบ้าง และอนิฏฐารมณ์ที่ไม่น่าพอใจ มีตั้งแต่อย่างเจ็บนิดเจ็บหน่อย จนกระทั่งถึงอย่างที่น่ากลัว โหดร้าย โหดเหี้ยม ทารุณ แต่แม้กระนั้นผู้ที่มีปกติเจริญสติ เป็นพระอริยบุคคลได้แม้ในขณะนั้น

เสือโคร่งกัด ราชสีห์กัด ก็เป็นพระอริยบุคคลได้ ถูกโจรทุบ ก็เป็นพระอริยบุคคลได้ เพราะเป็นผู้ที่มีปกติเจริญสติโดยละเอียด ไม่ว่าจะเป็นอิฏฐารมณ์อย่างไร อนิฏฐารมณ์อย่างไร ก็เป็นผู้ที่รู้ชัดว่า เป็นแต่เพียงนามธรรมและรูปธรรมเท่านั้น จึงจะรู้แจ้งอริยสัจธรรมในขณะนั้นได้

มิฉะนั้นจะไม่มีหนทางที่จะเป็นพระอริยบุคคลเลย ถ้ายังเจริญสติปัฏฐานกันอย่างหยาบๆ มาก เช่น ระลึกรู้ทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย แต่ว่าไม่ทั่วไปถึงที่เป็นโทสมูลจิต เป็นโลภมูลจิต อย่างแรงบ้าง อย่างอ่อนบ้าง

เปิด  285
ปรับปรุง  12 ต.ค. 2566