แนวทางเจริญวิปัสสนา ตอนที่ 183

พระผู้มีพระภาคผู้สุคตศาสดาได้ตรัสไวยากรณภาษิตนี้แล้ว ได้ตรัสคาถาประพันธ์ดังนี้ ต่อไปอีกว่า

ผู้ใดมีศีล ได้ของมาโดยธรรม มีจิตเลื่อมใสดี เชื่อกรรมและผลของกรรมอย่างยิ่ง ให้ทานในคนทุศีล ทักษิณาของผู้นั้นชื่อว่า บริสุทธิ์ฝ่ายทายก

ผู้ใดทุศีล ได้ของมาโดยไม่เป็นธรรม มีจิตไม่เลื่อมใส ไม่เชื่อกรรมและผลของกรรมอย่างยิ่ง ให้ทานในคนมีศีล ทักษิณาของคนผู้นั้นชื่อว่า บริสุทธิ์ฝ่ายปฏิคาหก

ผู้ใดทุศีล ได้ของมาโดยไม่เป็นธรรม มีจิตไม่เลื่อมใส ไม่เชื่อกรรมและผลของกรรมอย่างยิ่ง ให้ทานในคนทุศีล เราไม่กล่าวทานของผู้นั้นว่ามีผลไพบูลย์

ผู้ใดมีศีล ได้ของมาโดยธรรม มีจิตเลื่อมใสดี เชื่อกรรมและผลของกรรมอย่างยิ่ง ให้ทานในคนมีศีล เรากล่าวทานของผู้นั้นนั่นแลว่ามีผลไพบูลย์

ผู้ใดปราศจากราคะแล้ว ได้ของมาโดยธรรม มีจิตเลื่อมใสดี เชื่อกรรมและผล ของกรรมอย่างยิ่ง ให้ทานในผู้ปราศจากราคะ ทานของผู้นั้นนั่นแล เลิศกว่าอามิสทานทั้งหลาย

ขุททกนิกาย วิมานวัตถุ ทัททัลลวิมาน มีข้อความว่า

ในดาวดึงส์เทวโลกซึ่งภัททาเทพธิดาผู้พี่สาว ได้พบกับสุภัททาเทพธิดาผู้น้องสาว แต่ไม่ทราบไม่รู้จักว่าเป็นน้องในชาติก่อนที่เป็นมนุษย์ เพราะฉะนั้น ก็ถามว่า

ท่านรุ่งเรืองด้วยรัศมี ทั้งเป็นผู้เรืองยศ ย่อมรุ่งโรจน์ล่วงเทพเจ้าชาวดาวดึงส์ทั้งหมดด้วยรัศมี ดิฉันไม่เคยเห็นท่าน เพิ่งจะมาเห็นในวันนี้เป็นครั้งแรก ท่านมาจากเทวโลกชั้นไหน จึงมาเรียกดิฉันโดยชื่อเดิมว่า ทัททา ดังนี้เล่า

สุภัททาเทพธิดา ผู้น้องสาวตอบว่า

ข้าแต่พี่ภัททา ฉันชื่อว่า สุภัททา ในภพก่อนครั้งยังเป็นมนุษย์อยู่ ดิฉันได้เป็นน้องสาวของพี่ ทั้งได้เคยเป็นภริยาร่วมสามีเดียวกันกับพี่มาด้วย ดิฉันตายจากมนุษย์โลกนั้นมาแล้ว ได้มาเกิดเป็นเทพธิดาประจำสวรรค์ชั้นนิมมานรดี

สวรรค์มี ๖ ชั้น คือ ชั้นจาตุมหาราชิกา ๑ ชั้นดาวดึงส์ ๑ ชั้นยามา ๑ ชั้นดุสิต ๑ ชั้นนิมมานรดี ๑ ชั้นปรนิมมิตวสวัตตี ๑

เทพธิดาทั้ง ๒ กำลังสนทนากันในสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ แต่ว่าสุภัททาเทพธิดานั้น เป็นเทพธิดาประจำสวรรค์ชั้นนิมมานรดี ซึ่งสูงกว่าชั้นดาวดึงส์ แต่ผู้ที่อยู่ในสวรรค์ชั้นสูงกว่าย่อมมาสู่สวรรค์ชั้นต่ำกว่าได้

ภัททาเทพธิดาจึงถามต่อไปอีกว่า

ดูกร สุภัททา ขอเธอได้บอกการอุบัติของเธอในหมู่เทพเจ้าเหล่านิมานรดี ซึ่งเป็นที่ๆ สัตว์ได้สั่งสมบุญกุศลไว้มากแล้วจึงได้มาเกิด เธอได้มาเกิดในที่นี้เพราะทำบุญกุศลสิ่งใดไว้ และใครเป็นครูผู้แนะนำสั่งสอนเธอ เธอเป็นผู้เรืองยศ บรรลุถึงความเป็นผู้เรืองยศ และถึงความสุขพิเศษไพบูลย์ถึงเช่นนี้ เพราะได้ให้ทาน และรักษาศีลเช่นไรไว้ ดูกร เทพธิดา ฉันถามเธอแล้ว นี่เป็นผลแห่งกรรมอะไร โปรดตอบฉันด้วย

สุภัททาเทพธิดาตอบว่า

เมื่อชาติก่อน ดิฉันมีใจเลื่อมใส ได้ถวายบิณฑบาตแก่สงฆ์ ผู้เป็นทักขิเณยยบุคคล ๘ รูป ด้วยมือของตน เพราะบุญกรรมนั้น ดิฉันจึงมีวรรณะงามเช่นนี้ เป็นต้น และมีรัศมีสว่างไสวไปทั่วทุกทิศ เพราะบุญกรรมนั้น

เพราะได้ถวายทานแก่ผู้ที่เป็นทักขิเนยยบุคคล คือ พระอริยบุคคล

ภัททาเทพธิดาได้ถามต่อไปอีกว่า

พี่ได้เลี้ยงดูภิกษุทั้งหลายผู้สำรวมดี ผู้ประพฤติพรหมจรรย์ ให้อิ่มหนำสำราญด้วยข้าวและน้ำ ด้วยมือของตนเองมากกว่าเธอ ครั้นให้ทานมากกว่าเธอแล้วก็ยังได้บังเกิดในเหล่าเทพเจ้าต่ำกว่าเธอ ส่วนเธอได้ถวายทานเพียงเล็กน้อย อย่างไรจึงมาได้ผลอย่างวิเศษไพบูลย์ถึงเช่นนี้เล่า แน่ะ เทพธิดา ฉันถามเธอแล้ว นี่เป็นผลแห่งกรรมอะไร โปรดตอบฉันด้วย

สุภัททาเทพธิดาตอบว่า

เมื่อชาติก่อน ดิฉันได้เห็นพระภิกษุผู้อบรมทางจิตใจ เพื่อคุณอันยิ่งใหญ่ จึงได้นิมนต์ท่านรวม ๘ รูปด้วยกัน มีท่านพระเรวตะเป็นประธานด้วยภัตตาหาร ท่านพระ เรวตะนั้นมุ่งจะให้เกิดประโยชน์อนุเคราะห์แก่ดิฉัน จึงบอกดิฉันว่า จงถวายสงฆ์เถิด

ดิฉันได้ทำตามคำของท่าน ทักขิณาของดิฉันนั้นจึงเป็นสังฆทาน ดิฉันให้เข้าไปตั้งไว้ในสงฆ์ เป็นทานที่ไม่อาจปริมาณผลได้ว่า มีอยู่เท่าไร ส่วนทานที่พี่ได้ถวายแก่ภิกษุด้วยความเลื่อมใสเป็นรายบุคคล จึงมีผลไม่มาก

ภัททาเทพธิดาเมื่อจะรับรองความข้อนั้นจึงกล่าวว่า

พี่เพิ่งรู้เดี๋ยวนี้เองว่า การถวายสังฆทานนี้มีผลมาก ถ้าว่าพี่ได้ไปบังเกิดเป็นมนุษย์อีก จักเป็นผู้รู้ความประสงค์ของผู้ขอ ปราศจากความตระหนี่ ถวายสังฆทาน และไม่ประมาทเป็นนิจ

ซึ่งเมื่อสนทนากันแล้ว สุภัททาเทพธิดาก็ได้กลับสู่ทิพยวิมานของตนบนสวรรค์ชั้นนิมมานรดี ท้าวสักกเทวราช คือ พระอินทร์ได้ทรงสดับการสนทนานั้น เมื่อสุภัททาเทพธิดากลับไปแล้ว จึงตรัสถามภัททาเทพธิดาว่า

ดูกร ภัททา เทพธิดาผู้นั้นเป็นใคร มาสนทนาอยู่กับเธอ ย่อมรุ่งโรจน์กว่า เทพเจ้าเหล่าดาวดึงส์ทั้งหลายด้วยรัศมี

ภัททาเทพธิดา เมื่อจะบรรยายข้อที่สังฆทานของเทพธิดาผู้น้องสาวนั้นว่า มีผลมาก จึงทูลว่า

ขอเดชะ ข้าแต่พระองค์ผู้เป็นจอมเทพ เทพธิดาผู้นั้นเมื่อชาติก่อนยังเป็นมนุษย์ อยู่ในมนุษย์โลก เป็นน้องสาวของหม่อมฉัน แล้วยังได้เคยร่วมสามีเดียวกันกับหม่อมฉันด้วย เธอสั่งสมบุญกุศล คือ ถวายสังฆทาน จึงได้ไพโรจน์ถึงอย่างนี้

ข้อความตามพระไตรปิฎกมีว่า

สมเด็จอัมรินทราธิราช เมื่อจะทรงสรรเสริญสังฆทาน จึงตรัสว่า

ดูกร ภัททา น้องสาวของเธอไพโรจน์กว่าเธอ ก็เพราะเหตุในปางก่อน คือ การถวายสังฆทานที่ไม่อาจจะปริมาณผลได้ อันที่จริงฉันได้ทูลถามพระพุทธเจ้า ครั้งประทับอยู่ ณ ภูเขาคิชฌกูฏ ถึงผลแห่งไทยธรรมที่ได้จัดแจงถวายในเขตที่มีผลมากของมนุษย์ทั้งหลาย ผู้มุ่งบุญให้ทานอยู่ หรือทำบุญปรารภเหตุแห่งการเวียนเกิดเวียนตาย จะถวายในบุคคลประเภทใด จึงจะมีผลมาก

พระพุทธเจ้าตรัสตอบข้อความนั้นแก่ฉันอย่างแจ่มแจ้งว่า

ท่านผู้ปฏิบัติเพื่ออริยมรรค ๔ จำพวก และท่านผู้ตั้งอยู่ในอริยผล ๔ จำพวก พระอริยบุคคล ๘ จำพวกนี้ ชื่อว่าสงฆ์ เป็นผู้ปฏิบัติตรง ดำรงมั่นอยู่ในปัญญาและศีล เมื่อมนุษย์ทั้งหลายผู้มุ่งบุญถวายทานให้ท่านเหล่านี้ หรือทำบุญปรารภเหตุแห่งการเวียนเกิดเวียนตาย ทานที่ถวายในสงฆ์ย่อมมีผลมาก พระสงฆ์นี้เป็นผู้มีคุณความดีอันยิ่งใหญ่ ยังผลให้เกิดแก่ผู้ถวายทานในท่านอย่างไพบูลย์ ยากที่ใครจะปริมาณว่า เท่านี้ๆ ได้ เหมือนทะเลยากที่จะคาดคะเนได้ว่ามีน้ำเท่านี้ๆ ได้ ฉะนั้น พระสงฆ์เหล่านั้นแล เป็นผู้ประเสริฐสุด เป็นสาวกของพระพุทธเจ้า ผู้มีความเพียรเป็นเยี่ยมในหมู่นรชน เป็นแหล่งสร้างแสงสว่าง คือ ญาณของชาวโลก ได้แก่ นำเอาแสงสว่าง คือพระสัทธรรมที่พระพุทธเจ้าทรงประกาศไว้แล้วมาชี้แจง ปวงชนผู้ใคร่ต่อบุญเหล่าใดถวายทานมุ่งตรงต่อสงฆ์ ทักขิณาของเขาเหล่านั้นชื่อว่า เป็นทักขิณาที่ถวายดีแล้ว เป็นยัญวิธีที่เซ่นสรวงถูกต้อง จัดเป็นบูชากรรมที่บูชาแล้วชอบ เพราะทักขิณานั้นจัดเป็นสังฆทาน มีผลมาก อันพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทั้งหลายผู้รู้แจ้งโลกทรงสรรเสริญ ชนเหล่าใดยังท่องเที่ยวอยู่ในโลก มาหวนระลึกถึงบุญเช่นนี้ได้ เกิดปีติโสมนัส ก็จะกำจัดมลทิน คือ ความตระหนี่ พร้อมทั้งความรู้เท่าไม่ถึงการณ์ ความลังเลในใจ การตีตนเสมอท่าน อันเป็นมูลฐานเสียได้ ทั้งจะไม่เป็นผู้ถูกผู้รู้ติเตียน แต่นั้นก็จะเข้าถึงสถานที่ที่เป็นแดนสวรรค์

เรื่องสังฆทานคงจะชัดเจนแล้ว ถ้าไม่มีพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ความบริสุทธิ์หมดจดจากกิเลสก็มีไม่ได้ แต่ที่พระสัทธรรมจะดำรงอยู่ และยังมีผู้ที่มีโอกาสที่จะรู้แจ้งอริยสัจธรรมต่อไปอีก ก็เพราะพระอริยเจ้าที่ท่านได้รู้แจ้งอริยสัจธรรมแล้ว ท่านดำรงพระสัทธรรมนั้นสืบต่อๆ กันไป

. ระหว่างทำสังฆทาน มนสิการอย่างไร

สุ. ขออย่างนั้นแล้วจะหมดจดจากกิเลสได้ไหม ก็ไม่ได้ เจริญหนทางที่จะทำให้หมดจดจากกิเลส คือ เจริญสติปัฏฐาน

ถ้าท่านเคยอธิษฐานว่า ขอให้ได้บรรลุมรรคผลนิพพาน ก็หมายความว่า ขอผลแห่งกุศลนั้นจงเป็นปัจจัยให้ได้มีโอกาสฟังธรรม ได้มีโอกาสพิจารณาธรรม มีโอกาสเข้าใจหนทางข้อปฏิบัติที่ถูกต้อง จึงจะเป็นเหตุที่จะให้สติระลึกรู้สภาพธรรมตามความเป็นจริง ในขณะที่เห็น ในขณะที่ได้ยิน ในขณะที่นั่ง ที่นอน ที่ยืน ที่เดิน ที่พูด ที่นิ่ง ที่คิด ที่เป็นสุข ที่เป็นทุกข์ ที่ไม่ใช่สุข ไม่ใช่ทุกข์ ขณะใดก็ตาม สติระลึกรู้ลักษณะของนามธรรมและรูปธรรม เป็นผู้ที่มีปกติเจริญสติ แล้วยังต้องขอไหม

. (ไม่ได้ยิน)

สุ. ไม่มีความเข้าใจเรื่องสวรรค์ชั้นต่างๆ แต่คงจะไม่ปฏิเสธเรื่องภพภูมิที่เกิด ถ้ามีเหตุที่จะเกิดขึ้น ที่เกิดมีมากมายหลายแห่งแล้วแต่ผลของกรรม ในเมื่อการเกิดมี ที่เกิดก็มีด้วย ในขณะนี้ คือ ในมนุษย์โลก และยังจะต้องเกิดอีกถ้ามีเหตุปัจจัยที่จะให้เกิดต่อไป ผู้ที่ละภพชาติการเกิดแล้ว คือ พระอรหันต์ พระอนาคามียังต้องเกิดในรูปพรหมภูมิ ส่วนผู้ที่ไม่ได้ฌาน ก็เกิดในกามสุคติภูมิบ้าง ทุคติภูมิบ้าง แล้วแต่ว่าจะเป็นผลของกุศลกรรมหรืออกุศลกรรม

. การพิจารณาก็ดี การวิจารณ์ก็ดี ในแง่ธรรมต่างๆ นั้น กับภาวนามยปัญญาต่างกัน หรือเหมือนกัน

สุ. การวิจารณ์ แล้วแต่ว่าจะเป็นขั้นปริยัติหรือว่าขั้นปฏิบัติ เพราะเหตุว่าถ้าเป็นขั้นปริยัติ ขั้นฟัง ศึกษาเรื่องของจิต เรื่องของเจตสิก เรื่องของรูป เรื่องของธรรมทั้งหลายที่เป็นอนัตตา แต่ไม่ได้ระลึกรู้ลักษณะของนามธรรมและรูปธรรม เช่น ถ้าท่านศึกษาเรื่องโลภมูลจิต เป็นสภาพความยินดีพอใจ อาศัยเกิดได้ทั้งทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ มีเจตสิกประกอบเกิดร่วมด้วยกี่ดวง ท่านศึกษาอย่างนั้น วิจารณ์เรื่องของโลภมูลจิตว่า เกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัยอย่างไร เกิดขึ้นทางไหน เป็นลักษณะที่ยินดี พอใจ หวัง เพลิดเพลินประการใดบ้าง แต่ไม่ใช่ขณะที่สติระลึก และพิจารณารู้ในสภาพที่ไม่ใช่รูปธรรม แต่เป็นลักษณะของนามธรรมชนิดหนึ่ง เป็นความเพลิดเพลิน เป็นความยินดี เป็นความหวัง หรือเป็นความพอใจ นี่ก็ต่างกันแล้ว เพราะฉะนั้น ต้องละเอียดขึ้น

วิจารณ์ขั้นปริยัติก็มี แต่ว่าขณะที่สติกำลังระลึก ท่านยังรู้ไม่ชัด เพราะฉะนั้น ก็มีการตรึก หรือว่าการพิจารณาเพื่อที่จะให้ปัญญารู้ในสภาพนั้น นั่นก็เป็นการพิจารณาที่เกิดพร้อมกับสติ แต่ไม่ใช่เป็นการไปนึกยาวๆ เป็นการสำเหนียก สังเกตในลักษณะของสภาพธรรมนั้นว่า สภาพธรรมนั้นเป็นลักษณะของนามธรรม หรือว่าเป็นลักษณะของรูปธรรมเพื่อความรู้ชัด แต่ต้องเข้าใจความต่างกันของขั้นปริยัติ กับขณะที่สติกำลังระลึก แต่ยังรู้ไม่ชัด

เพราะฉะนั้น การสำเหนียก การสังเกต คือ การพิจารณาว่า สภาพธรรมลักษณะนั้นเป็นลักษณะนามธรรมหรือว่าเป็นลักษณะรูปธรรม

บางท่านอาจจะสงสัยว่า ทำไมการเจริญสติปัฏฐานจึงจะต้องเกี่ยวกับทานหรือสังฆทาน ซึ่งการเจริญสติปัฏฐานนั้นเพื่อชำระมลทินทั้งปวง เวลาที่ให้ทาน ท่านก็อาจจะมีกิเลส เช่น ถ้าการให้นั้นเป็นไปกับการเจาะจงให้ในบุคคล ไม่ใช่การให้ถวายแก่สงฆ์ แต่พระธรรมที่ได้ทรงแสดงไว้จะชี้ให้ท่านเห็นว่า จิตของท่านบริสุทธิ์หรือไม่บริสุทธิ์อย่างไร และจะบริสุทธิ์ยิ่งขึ้นได้อย่างไร เพราะฉะนั้น มีหนทางใดที่จะทำให้จิตบริสุทธิ์ยิ่งขึ้น สะอาดหมดจดยิ่งขึ้นจากกิเลสทั้งปวงได้ พระผู้มีพระภาคก็ได้ทรงแสดงไว้

สังฆทาน ๗ ประการนั้น

ประการที่ ๑ ให้ทานในสงฆ์ ๒ ฝ่าย มีพระพุทธเจ้าเป็นประมุข

ประการที่ ๒ ให้ทานในสงฆ์ ๒ ฝ่าย ในเมื่อพระผู้มีพระภาคปรินิพพานแล้ว

ประการที่ ๓ ให้ทานในภิกษุสงฆ์ ข้อนี้ก็สามารถที่จะมีได้ แต่ใจจะต้องนอบน้อมยำเกรงในสงฆ์ มุ่งตรงต่อพระอริยเจ้า

ประการที่ ๔ ให้ทานในภิกษุณีสงฆ์ สมัยนี้มีไม่ได้

ประการที่ ๕ เผดียงสงฆ์ว่า ขอได้โปรดจัดภิกษุและภิกษุณีจำนวนเท่านี้ขึ้นเป็นสงฆ์แก่ข้าพเจ้า แล้วให้ทาน ประการที่ ๕ สมัยนี้ทำไม่ได้ เพราะว่าไม่มีภิกษุณีสงฆ์

ประการที่ ๖ เผดียงสงฆ์ว่า ขอได้โปรดจัดภิกษุจำนวนเท่านี้ขึ้นเป็นสงฆ์แก่ข้าพเจ้า แล้วให้ทาน ประการที่ ๖ สมัยนี้ยังกระทำได้

ประการที่ ๗ เผดียงสงฆ์ว่า ขอได้โปรดจัดภิกษุณีจำนวนเท่านี้ขึ้นเป็นสงฆ์แก่ข้าพเจ้า แล้วให้ทาน สมัยนี้ประการที่ ๗ ทำไม่ได้

เพราะฉะนั้น สำหรับในสมัยนี้ จะมีสังฆทานประการที่ ๓ กับประการที่ ๖

ประการที่ ๓ คือ ให้ทานในภิกษุสงฆ์ ขณะใดก็ได้ที่ท่านจะถวายอะไรแก่ภิกษุรูปใด แต่จิตของท่านเต็มไปด้วยความนอบน้อมในพระอริยเจ้า ในขณะนั้นก็เป็นสังฆทาน อีกประการหนึ่ง คือ ท่านมีเจตนาที่จะถวายทานแก่ภิกษุจำนวนกี่รูป ท่านก็ไปเผดียงสงฆ์ว่า ขอได้โปรดจัดภิกษุจำนวนเท่านี้ขึ้นเป็นสงฆ์แก่ข้าพเจ้า แล้วให้ทาน นั่นก็เป็นประการที่ ๖ เพราะฉะนั้น สำหรับสมัยนี้ สังฆทานจะเป็นได้ในประการที่ ๓ และในประการที่ ๖

ตอนท้ายของ ทักขิณาวิภังคสูตร มีข้อความว่า

ผู้ใดปราศจากราคะแล้ว ได้ของมาโดยธรรม มีจิตเลื่อมใสดี เชื่อกรรมและผล ของกรรมอย่างยิ่ง ให้ทานในผู้ปราศจากราคะ ทานของผู้นั้นนั่นแลเลิศกว่าอามิสทานทั้งหลาย

ถ้าเชื่อกรรมและผลของกรรมก็คงจะไม่ไปแสวงหาวัตถุทานมาโดยผิดศีล

ธรรมเนียมของการถวายทานในปัจจุบันสืบต่อมาจากพระไตรปิฎก เพราะเหตุว่าก่อนที่จะมีการถวายทาน มีการรับศีลก่อน เพื่อชำระจิตของผู้ให้ให้บริสุทธิ์ขึ้น เพราะฉะนั้น ถ้าท่านไม่ศึกษาธรรม เวลาที่ถวายทานท่านก็ไม่เข้าใจว่า ทำไมจะต้องมีการรับศีล

ที่ว่าเลิศกว่าอามิสทานทั้งหลายนั้น เพราะผู้ใดปราศจากราคะแล้ว ได้ของมาโดยธรรม มีจิตเลื่อมใสดี เชื่อกรรมและผลของกรรมอย่างยิ่ง ให้ทานในผู้ปราศจากราคะ ทานของผู้นั้นนั่นแลเลิศกว่าอามิสทานทั้งหลาย และผู้ที่เชื่อกรรมและผลของกรรมอย่างยิ่งนั้น ก็เป็นผู้ที่มีปกติเจริญสติ ถ้าไม่ใช่ผู้ที่มีปกติเจริญสติ ขณะที่กำลังเห็นในขณะนี้ทราบไหมว่า เป็นผลของกรรม ขณะที่กำลังได้ยิน ขณะที่กำลังได้กลิ่น จะได้กลิ่นที่พอใจหรือไม่พอใจก็ตาม ทราบไหมว่า เป็นผลของกรรม ไม่ว่าจะเป็นนามใดรูปใดของใครที่ไหนก็ตาม จะเป็นอารมณ์ที่ชอบใจ เป็นอิฏฐารมณ์ หรือว่าจะเป็นอารมณ์ที่ไม่ชอบใจ เป็นอนิฏฐารมณ์ ก็มีเหตุปัจจัยทำให้เกิดเป็นเช่นนั้น ซึ่งก็เป็นผลของกรรมที่ได้กระทำไว้ จะเปลี่ยนแปลง หรือจะเลือกเอาตามใจชอบไม่ได้

สำหรับการเคารพ การนอบน้อมในพระสงฆ์นั้น ใน อังคุตตรนิกาย สัตตกนิบาต สักกัจจสูตร ท่านพระสารีบุตรกราบทูลพระผู้มีพระภาคว่า

ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ภิกษุเคารพในพระศาสดา จักไม่เคารพในธรรม ข้อนี้ไม่เป็นฐานะที่จะมีได้ ภิกษุเคารพในพระศาดา ชื่อว่า เคารพในธรรมด้วย

ภิกษุเคารพในพระศาสดา ในธรรม จักไม่เคารพในสงฆ์ ข้อนี้ไม่เป็นฐานะที่จะมีได้ ภิกษุเคารพในพระศาสดา ในธรรม ชื่อว่า เคารพในสงฆ์ด้วย

แม้พระธรรมสั้นๆ ก็อุปการะเกื้อกูลให้ท่านมีความเคารพในสงฆ์ คือ พระอริยสงฆ์ และทำให้จิตใจนอบน้อม ยำเกรง ถวายทานด้วยความเคารพ

ทุกทางที่จะทำให้จิตของท่านผู้ฟังบริสุทธิ์ยิ่งขึ้น พระผู้มีพระภาคก็ได้ทรงแสดงไว้ ไม่ทรงส่งเสริมให้ผู้ใดมีอกุศลจิต จิตของผู้ใดเป็นอกุศล ทำอกุศลกรรมไว้มากมายเท่าไรก็เป็นจิตของบุคคลนั้น เป็นอกุศลกรรมของบุคคลนั้น ที่ทำให้เกิดผลที่เป็นทุกข์ของบุคคลนั้น แต่ผู้ใดที่ระลึกรู้ลักษณะสภาพธรรมที่ตนเองได้สะสมมาตามความเป็นจริงถูกต้อง จะทำให้ผู้นั้นขัดเกลากิเลสได้ละเอียดยิ่งขึ้น และสามารถดับการยึดถือนามธรรมและรูปธรรมว่าเป็นตัวตนได้

เปิด  327
ปรับปรุง  12 ต.ค. 2566