แนวทางเจริญวิปัสสนา ตอนที่ 187

ข้อความในอรรถกถา มีว่า

ที่เรียกว่าธงนั้น ก็เป็นการสรรเสริญยกย่องโลกุตตรธรรมไว้สูงสุดนั่นเอง สุภาษิตที่แสดงโลกุตตรธรรม ๙ ได้ชื่อว่าเป็นธงของฤๅษีเหล่านั้น เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่า มีสุภาษิตเป็นธง ฤๅษีทั้งหลายได้แก่พระอริยะทั้งหลาย มีพระผู้มีพระภาค เป็นต้น จริงอยู่ธรรมชื่อว่าเป็นธงของฤๅษีทั้งหลาย

เพราะฉะนั้น โลกุตตรธรรมตามที่กล่าวแล้ว จึงชื่อว่าเป็นธงของฤๅษีทั้งหลาย

ถ้าเห็นข้อความนี้ในพระสูตรอื่นๆ ก็จะเข้าใจได้ว่า ธงของฤๅษีนั้น ไม่ใช่ธง จริงๆ อย่างที่เราเข้าใจ แต่ธรรม คือ ธง และธรรมที่สูงสุด คือ โลกุตตรธรรม ๙ เป็นธงของฤๅษีทั้งหลาย ธรรมเป็นธง แต่ไม่ใช่ธงที่ถือกัน

ที่ได้กล่าวมาแล้วทั้งหมดในชาดกบ้าง ข้อความอื่นๆ บ้าง เพื่อให้ท่านผู้ฟังได้เห็นว่า การรู้แจ้งอริยสัจธรรมได้ต้องอาศัยคุณธรรม เจริญกุศล ขัดเกลากิเลสทุกทาง แม้แต่ทานก็ต้องเป็นไปเพื่อการขัดเกลากิเลส แม้แต่การฟังธรรม ข้อความในพระธรรมทั้งหมดจะไม่ส่งเสริมให้เกิดอกุศลจิต หรือสะสมเพิ่มพูนอกุศลจิต แม้แต่ในขั้นแรก คือการคบบัณฑิต หรือการคบกับสัตบุรุษ ซึ่งในพระไตรปิฎกได้ทรงแสดงไว้ว่า เป็นมงคล ซึ่งจะนำท่านไปสู่ความเป็นพระอรหันต์

นี่เป็นพระธรรมที่พระผู้มีพระภาคได้ทรงแสดงไว้ ถ้าไม่ทราบว่าสิ่งใดจะนำความเจริญมาให้ การคบ การเสพกับอสัตบุรุษ กับคนพาลนั้น จะมีโทษสักแค่ไหน ท่านจะไม่สามารถบรรลุถึงมงคลประการสุดท้าย คือ การเป็นพระอรหันต์ได้เลย เพราะว่าถ้าคบกับสัตบุรุษ คบกับบัณฑิต มีโอกาสได้ฟังสัจธรรม มีโอกาสประพฤติธรรมถูกต้อง ในที่สุดก็สามารถบรรลุคุณธรรมเป็นพระอรหันต์ได้ ในทางตรงกันข้าม ถ้าคบกับคนพาล หรืออสัตบุรุษ ย่อมไม่เกื้อกูลให้รู้แจ้งสภาพธรรมตามความเป็นจริง ไม่สามารถเป็นพระอริยเจ้าได้

ใน มหานารทกัสสปชาดก แสดงข้อความที่พระนางรุจาราชธิดาของพระเจ้า อังคติราช ได้กราบทูลพระเจ้าอังคติราชซึ่งชื่นชมถ้อยคำผิดที่คุณาชีวกกัสสปโคตรกล่าวว่า บาปไม่มีผล บุญไม่มี ว่า

ข้าแต่พระราชบิดา บุคคลคบคนเช่นใดๆ เป็นบุรุษผู้มีศีล หรืออสัตบุรุษผู้ไม่มีศีล เขาย่อมตกอยู่ในอำนาจของผู้นั้น บุคคลกระทำคนเช่นใดให้เป็นมิตร และเข้าไปคบหาคนเช่นได แม้เขาก็ย่อมเป็นเช่นคนนั้น ผู้เสพย่อมติดนิสัยผู้ที่ตนเสพ ผู้ติดต่อย่อมติดนิสัยผู้ที่ตนติดต่อ เหมือนลูกศรอาบยาพิษย่อมเปื้อนแร่ง ฉะนั้น

นักปราชญ์ไม่ควรเป็นผู้มีคนลามกเป็นสหาย เพราะกลัวจะแปดเปื้อน การเสพคนพาลย่อมเป็นเหมือนบุคคลเอาใบไม้ห่อปลาเน่า แม้ใบไม้ก็มีกลิ่นเหม็นฟุ้งไปฉะนั้น ส่วนการคบหาสมาคมกับนักปราชญ์ ย่อมเป็นเหมือนบุคคลเอาใบไม้ห่อของหอม แม้ใบไม้ก็มีกลิ่นหอมฟุ้งไปฉะนั้น

เพราะฉะนั้น บัณฑิตรู้ความเป็นบัณฑิตของตน ดังใบไม้สำหรับห่อ จึงไม่คบหาสมาคมกับอสัตบุรุษ คบหาสมาคมกับสัตบุรุษ อสัตบุรุษย่อมนำไปสู่นรก สัตบุรุษย่อมให้เข้าถึงสุคติ

นี่เป็นมงคลข้อที่ ๑

ทุกท่านคงจะได้ฟังมงคลข้อที่ ๑ การไม่คบคนพาล และท่านก็ได้ยินได้ฟังเสมอเรื่องของมงคล ๓๘ แต่ว่าคงจะมีน้อยท่านที่สอบทานกับพระไตรปิฎกและอรรถกถา ทำให้ความเข้าใจยังไม่ตรงกับอรรถกถา ซึ่งจะขอกล่าวถึงในที่นี้

ขุททกนิกาย สุตตนิบาต จุฬวรรคที่ ๒ มงคลสูตรที่ ๔ มีข้อความว่า

ข้าพเจ้าได้สดับมาแล้วอย่างนี้

สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระวิหารเชตวัน อารามของท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐี ใกล้พระนครสาวัตถี ครั้งนั้นแล เทวดาท่านหนึ่ง เมื่อปฐมยามล่วงไปแล้ว มีรัศมีอันงดงามยิ่ง ทำพระวิหารเชตวันทั้งสิ้นให้สว่างไสว เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ถวายบังคมแล้ว ยืนอยู่ ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ครั้นแล้วได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคด้วยคาถาว่า

เทวดาและมนุษย์เป็นอันมากผู้หวังความสวัสดี ได้พากันคิดมงคลทั้งหลาย ขอพระองค์ได้โปรดตรัสอุดมมงคล

จากนั้นไปเป็นเรื่องของมงคล ตามพระไตรปิฎกถ้านับแล้วจะเป็น ๓๗ ประการ แต่จะให้ท่านผู้ฟังได้สอบทานกับอรรถกถา เพื่อจะได้ไม่เข้าใจการแยกมงคล ๓๘ ให้คลาดเคลื่อน

ข้อความในพระไตรปิฎก พระผู้มีพระภาคตรัสพระคาถาตอบว่า

การไม่คบคนพาล การคบบัณฑิต การบูชาบุคคลที่ควรบูชา นี้เป็นอุดมมงคล

การอยู่ในประเทศอันสมควร ความเป็นผู้มีบุญอันทำไว้แล้วในกาลก่อน การตั้งตนไว้ชอบ นี้เป็นอุดมมงคล

พาหุสัจจะ ศิลปะ วินัยที่ศึกษาดีแล้ว วาจาสุภาษิต นี้เป็นอุดมมงคล

การบำรุงมารดา บิดา การสงเคราะห์บุตร ภรรยา การงานอันไม่อากูล นี้เป็นอุดมมงคล

ทาน การประพฤติธรรม การสงเคราะห์ญาติ กรรมอันไม่มีโทษ นี้เป็นอุดมมงคล

การงดเว้นจากบาป ความสำรวมจากการดื่มน้ำเมา ความไม่ประมาทในธรรมทั้งหลาย นี้เป็นอุดมมงคล

ความเคารพ ความประพฤติถ่อมตน ความสันโดษ ความกตัญญู การฟังธรรมโดยกาล นี้เป็นอุดมมงคล

ความอดทน ความเป็นผู้ว่าง่าย การได้เห็นสมณะทั้งหลาย การสนทนาธรรมโดยกาล นี้เป็นอุดมมงคล

ความเพียร พรหมจรรย์ การเห็นอริยสัจ การกระทำนิพพานให้แจ้ง นี้เป็นอุดมมงคล

จิตของผู้ใดอันโลกธรรมทั้งหลายถูกต้องแล้ว ย่อมไม่หวั่นไหว ไม่โศกเศร้า ปราศจากธุลี เป็นจิตเกษม นี้เป็นอุดมมงคล

จะขอนับให้ท่านผู้ฟังได้เห็นชัดอีกครั้งหนึ่งว่า ตามพระไตรปิฎกมีอะไรบ้าง

๑. การไม่คบคนพาล

๒. การคบบัณฑิต

๓. การบูชาบุคคลที่ควรบูชา

๔. การอยู่ในประเทศอันสมควร

๕. ความเป็นผู้มีบุญอันทำไว้แล้วในกาลก่อน

๖. การตั้งตนไว้ชอบ

๗. พาหุสัจจะ

๘. ศิลปะ

๙. วินัยที่ศึกษาดีแล้ว

๑๐. วาจาสุภาษิต

๑๑. การบำรุงมารดา บิดา

๑๒. การสงเคราะห์ บุตร ภรรยา

๑๓. การงานอันไม่อากูล

๑๔. ทาน

๑๕. การประพฤติธรรม

๑๖. การสงเคราะห์ญาติ

๑๗. กรรมอันไม่มีโทษ

๑๘. การงดเว้นจากบาป

๑๙. ความสำรวมจากการดื่มน้ำเมา

๒๐. ความไม่ประมาทในธรรมทั้งหลาย

๒๑. ความเคารพ

๒๒. ความประพฤติถ่อมตน

๒๓. ความสันโดษ

๒๔. ความกตัญญู

๒๕. การฟังธรรมโดยกาล

๒๖. ความอดทน

๒๗. ความเป็นผู้ว่าง่าย

๒๘. การได้เห็นสมณะทั้งหลาย

๒๙. การสนทนาธรรมโดยกาล

๓๐. ความเพียร

๓๑. พรหมจรรย์

๓๒. การเห็นอริยสัจ

๓๓. การกระทำนิพพานให้แจ้ง

๓๔. จิตของผู้ใดอันโลกธรรมทั้งหลายถูกต้องแล้วย่อมไม่หวั่นไหว

๓๕. ไม่โศกเศร้า

๓๖. ปราศจากธุลี

๓๗. เป็นจิตเกษม

ส่วนคาถาสุดท้ายเป็นคาถาสรรเสริญมงคล

ตอนท้ายของมงคลสูตรมีว่า

เทวดาและมนุษย์ทั้งหลายทำมงคลเช่นนี้แล้ว เป็นผู้ไม่ปราชัยในข้าศึกทุกหมู่เหล่า ย่อมถึงความสวัสดีในที่ทุกสถาน นี้เป็นอุดมมงคลของเทวดาและมนุษย์เหล่านั้น

บางท่านเข้าใจว่า คาถาสรรเสริญมงคลตอนท้ายเป็นมงคลหนึ่ง จึงรวมเป็น ๓๘ แต่ไม่ถูก เพราะฉะนั้น ถ้าท่านศึกษาเรื่องมงคลสูตรจากหลายๆ แห่ง แม้ในฉบับของต่างประเทศก็จะพบว่า การแยกมงคล ๓๘ ไม่ตรงกันกับอรรถกถา อย่างฉบับภาษาอังกฤษของประเทศลังกา แยกคาถาที่ ๖ การงดเว้นจากบาป ซึ่งรวมเป็นหนึ่ง แยกเป็นการงดจากบาป ๑ การเว้นจากบาป ๑

สำหรับประเทศไทย ส่วนมากที่ได้ยินได้ฟัง จะแยกข้อการสงเคราะห์บุตร ๑ ภรรยา ๑ ซึ่งเป็นคาถาที่ ๔ แต่ไม่ตรงกับอรรถกถา

ปรมัตถโชติกา ซึ่งเป็น อรรถกถามงคลสูตร มีคำอธิบายว่า

พระผู้มีพระภาคตรัสมงคล ๓๘ ประการ ด้วยคาถา ๑๐ คาถา มี อเสวนา จ พาลนํ เป็นต้น

ข้อความใน ปรมัตถโชติกา อธิบายว่า คาถา ๑๐ คาถา ได้มงคล ๓๘ ประการ ดังนี้คือ

คาถาที่ ๑ มี ๓ มงคล คือ การไม่คบคนพาล ๑ การคบบัณฑิต ๑ การบูชาบุคคลที่ควรบูชา ๑

คาถาที่ ๒ มี ๓ มงคล คือ การอยู่ในประเทศอันสมควร ๑ ความเป็นผู้มีบุญ อันทำไว้แล้วในกาลก่อน ๑ การตั้งตนไว้ชอบ ๑

คาถาที่ ๓ มี ๔ มงคล คือ พาหุสัจจะ ๑ ศิลปะ ๑ วินัยที่ศึกษาดีแล้ว ๑ วาจาสุภาษิต ๑

คาถาที่ ๔ มี ๔ มงคล คือ มาตุปัฏฐานะ การบำรุงมารดา ๑ ปิตุปัฏฐานะ การบำรุงบิดา ๑ ปุตตะ ทารัสสะ สังคหะ การสงเคราะห์บุตร ภรรยา ๑ อนากุลา กัมมันตา การงานอันไม่อากูล ๑

ปรมัตถโชติกา ไม่ได้แยกอย่างฉบับภาษาอังกฤษ คือ ไม่ได้แยกเรื่องการงด การเว้น

ปรมัตถโชติกา อรรถกถา แยกคาถาที่ ๔ ว่า คาถาที่ ๔ นั้น มี ๔ มงคล คือ

มาตุปัฏฐานะ การบำรุงมารดา ๑ ปิตุปัฏฐานะ การบำรุงบิดา ๑ ปุตตะ ทารัสสะ สังคหะ การสงเคราะห์บุตร ภรรยา ๑ อนากุลา กัมมันตา การงานอันไม่อากูล ๑

ส่วนมากที่แยกกันนั้น จะแยกการสงเคราะห์บุตร ๑ การสงเคราะห์ภรรยา ๑ แต่ถ้าแยกอย่างนี้จะไม่ตรงกับปรมัตถโชติกา อรรถกถาของมงคลสูตร ซึ่งข้อความในปรมัตถโชติกามีคำอธิบายกำกับยืนยันเรื่องการแยกการบำรุงมารดา บิดาไว้

ข้อความใน ปรมัตถโชติกา มีว่า

การบำรุงมารดา ๑ การบำรุงบิดา ๑ การสงเคราะห์บุตร ภรรยา ๑ การงานอันไม่อากูล ๑

คาถาที่ ๔ มี ๔ มงคลอย่างนี้ ถ้าแยกบุตร ภรรยา เป็นบุตร ๑ ภรรยา ๑ คาถานี้จะมี ๕ มงคล

และถ้ารวมการบำรุงมารดา ๑ การบำรุงบิดา ๑ คาถานี้จะมีเพียง ๓ มงคล แต่ว่าคาถาที่ ๔ นี้ แสดงจำนวนของมงคลไว้ว่า คาถาที่ ๔ มี ๔ มงคล คือ การบำรุงมารดา ๑ การบำรุงบิดา ๑ การสงเสริมบุตรภรรยา ๑ การงานอันไม่อากูล ๑

สำหรับคาถาที่ ๕ มี ๔ มงคล คือ ทาน ๑ การประพฤติธรรม ๑ การสงเคราะห์ญาติ ๑ กรรมอันไม่มีโทษ ๑

คาถาที่ ๖ มี ๓ มงคล แม้เป็นฉบับภาษาต่างประเทศที่แยก การเว้นจากบาป ๑ การงดจากบาป ๑ แต่ไม่ตรงกับปรมัตถโชติกา ซึ่งข้อความในปรมัตถโชติกามีว่า

คาถาที่ ๖ มี ๓ มงคล คือ การเว้นจากบาป ๑ ความสำรวมจากการดื่มน้ำเมา ๑ ความไม่ประมาทในธรรมทั้งหลาย ๑

คาถาที่ ๗ มี ๕ มงคล คือ ความเคารพ ๑ ความประพฤติถ่อมตน ๑ ความสันโดษ ๑ ความกตัญญู ๑ การฟังธรรมโดยกาล ๑

คาถาที่ ๘ มี ๔ มงคล คือ ความอดทน ๑ ความเป็นผู้ว่าง่าย ๑ การได้เห็นสมณะ ๑ การได้สนทนาธรรมโดยกาล ๑

คาถาที่ ๙ มี ๔ มงคล คือ ความเพียร ๑ พรหมจรรย์ ๑ การเห็นอริยสัจ ๑ การกระทำนิพพานให้แจ้ง ๑

คาถาที่ ๑๐ มี ๔ มงคล คือ จิตไม่หวั่นไหวในโลกธรรม ๑ ไม่เศร้าโศก ๑ ปราศจากธุลี ๑ เป็นจิตเกษม ๑

ข้อความตอนท้ายมีว่า

พระผู้มีพระภาคตรัสมงคล ๓๘ ประการ ด้วยคาถา ๑๐ คาถา มี อเสวนา จ พาลานํ เป็นต้น บัดนี้เมื่อจะยกย่องมงคลเหล่านั้นที่พระองค์ตรัสแล้ว จึงได้ตรัสคาถาสุดท้ายว่า

เทวดาและมนุษย์ทั้งหลายทำมงคลเช่นนี้แล้ว เป็นผู้ไม่ปราชัยในข้าศึกทุกหมู่เหล่า ย่อมถึงความสวัสดีในที่ทุกสถาน นี้เป็นอุดมมงคลของเทวดาและมนุษย์เหล่านั้น

เพราะฉะนั้น ก็แล้วแต่ท่านผู้ฟังจะพิจารณาธรรม จะสอบทานกับอรรถกถา จะแก้ไขหรือไม่แก้ไขสิ่งที่ท่านได้ยินได้ฟัง หรือที่ท่านเคยเข้าใจ แต่จะเห็นความละเอียดของพระธรรมวินัยว่า ท่านควรจะสอบทาน ตรวจสอบพระธรรมวินัย ทั้งพระไตรปิฎกและอรรถกถา แม้แต่ในเรื่องที่บางท่านอาจจะคิดว่าเล็กน้อย เช่น มงคลสูตร

ซึ่งใน มังคลัฏฐทีปนี ก็ได้อธิบายเรื่องมงคล ๓๘ ไว้

สำหรับการไม่เสพคนพาล การคบบัณฑิต เป็นเรื่องที่จะนำประโยชน์มาให้มากมายเหลือเกิน

ขอกล่าวถึง มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ ฆฏิการสูตร เพื่อที่จะให้ท่านผู้ฟังได้เห็นว่า แม้พระผู้มีพระภาคเองก็ต้องอาศัยการไม่คบคนพาล และการเสพบัณฑิต ตั้งแต่พระชาติที่เป็นพระโพธิสัตว์ จนกระทั่งได้ตรัสรู้เป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ซึ่งตัวท่านเองจะได้รับประโยชน์จากพระธรรมวินัยที่ได้ทรงแสดงไว้ด้วย แม้แต่ในการไม่เสพคนพาล และการคบบัณฑิต

ข้อความในพระสูตรมีว่า

ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้

สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคเสด็จจาริกไปในโกศลชนบท พร้อมด้วยภิกษุสงฆ์หมู่ใหญ่ ครั้งนั้นแล พระผู้มีพระภาคเสด็จแวะออกจากทาง แล้วได้ทรงแย้มพระสรวลในประเทศแห่งหนึ่ง ครั้งนั้น ท่านพระอานนท์ได้มีความคิดว่า เหตุอะไรหนอ ปัจจัยอะไรที่พระผู้มีพระภาคทรงแย้มพระสรวล พระตถาคตทั้งหลายจะทรงแย้มพระสรวลโดยหาเหตุไม่ได้นั้น ไม่มี ดังนี้ท่านพระอานนท์จึงทำผ้าอุตตราสงฆ์เฉวียงบ่าข้างหนึ่ง ประนมอัญชลีไปทางพระผู้มีพระภาค แล้วได้ทูลถามพระผู้มีพระภาคว่า

ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ เหตุอะไรหนอ ปัจจัยอะไรที่พระผู้มีพระภาคทรงแย้มพระสรวล พระตถาคตทั้งหลายจะทรงแย้มพระสรวลโดยหาเหตุมิได้นั้น ไม่มี

พระผู้มีพระภาคตรัสว่า

ดูกร อานนท์ เรื่องเคยมีมาแล้วที่ประเทศนี้ ได้มีนิคมชื่อเวภฬิคะ เป็นนิคมมั่งคั่งและเจริญ มีคนมาก มีมนุษย์หนาแน่น พระผู้มีพระภาคทรงพระนามว่ากัสสปะ ผู้เป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงอาศัยเวภฬิคนิคมอยู่

ดูกร อานนท์ ได้ยินว่า ที่นี่เป็นพระอารามของพระผู้มีพระภาคทรงพระนามว่ากัสสปะผู้เป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ได้ยินว่า พระผู้มีพระภาคทรงพระนามว่ากัสสปะผู้เป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ประทับนั่งตรัสสอนภิกษุสงฆ์ที่นี่

ถ้าท่านผู้ฟังไปที่ประเทศอินเดีย ท่านก็จะได้พบสถานที่หลายแห่ง และ ณ สถานที่แห่งหนึ่ง เมื่อพระผู้มีพระภาคเสด็จออกจากทางครั้งที่เสด็จจาริกไปในโกศล ชนบท ก็ได้ตรัสกับท่านพระอานนท์ว่า ครั้งนั้น ณ ที่นั้น เป็นอารามของพระผู้มีพระภาค พระนามว่ากัสสปะสัมมาสัมพุทธเจ้า และพระผู้มีพระภาคทรงพระนามว่า กัสสปะ ผู้เป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทะเจ้าประทับนั่งตรัสสอนภิกษุสงฆ์ที่นี่

ครั้งนั้น ท่านพระอานนท์ได้ปูผ้าสังฆาฏิ ๔ ชั้นถวาย แล้วกราบทูลพระผู้มีพระภาคว่า

ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ถ้าอย่างนั้นขอพระผู้มีพระภาคประทับนั่งเถิด เมื่อเป็นเช่นนี้ ภูมิประเทศนี้จักได้เป็นส่วนที่พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ๒ พระองค์ทรงบริโภค

เปิด  303
ปรับปรุง  12 ต.ค. 2566