แนวทางเจริญวิปัสสนา ตอนที่ 186

สำหรับ สตารหาคาถา นั้น พราหมณ์กล่าวว่า

ข้าแต่ท่านสุตโสม การสมาคมกับสัตบุรุษคราวเดียวเท่านั้น การสมาคมนั้นย่อมรักษาผู้นั้นไว้ การสมาคมกับอสัตบุรุษ แม้มากครั้งก็รักษาไม่ได้

พึงอยู่ร่วมกับสัตบุรุษ พึงกระทำความสนิทสนมกับสัตบุรุษ เพราะรู้ทั่วถึงสัทธรรมของสัตบุรุษ ย่อมมีแต่ความเจริญ ไม่มีความเสื่อม ราชรถอันวิจิตรตระการตายังคร่ำคร่าได้ และแม้สรีระก็เข้าถึงชราโดยแท้ ส่วนธรรมของสัตบุรุษย่อมไม่เข้าถึงความคร่ำคร่า สัตบุรุษกับสัตบุรุษเท่านั้นรู้กันได้ ฟ้าและแผ่นดินไกลกัน ฝั่งข้างโน้นของมหาสมุทรเขากล่าวกันว่าไกล ข้าแต่พระราชา ธรรมของสัตบุรุษและธรรมของ อสัตบุรุษ นักปราชญ์ทั้งหลายกล่าวว่าไกลยิ่งกว่านั้น

ถ้าพิจารณาข้อความในสตารหาคาถาจะเห็นได้ว่า เปรียบเทียบกับมรรคมีองค์ ๘ ได้ ที่ว่าการสมาคมกับอสัตบุรุษแม้มากครั้งก็รักษาไม่ได้ การสมาคมกับสัตบุรุษคราวเดียวเท่านั้น การสมาคมนั้นย่อมรักษาผู้นั้นไว้ได้

ถ้าสมาคมกับความเห็นถูก ความเข้าใจถูก ความเห็นถูกนั้นก็ช่วยประคับประคองให้เดิน หรือให้ปฏิบัติในหนทางที่ถูกได้ แต่การสมาคมกับอสัตบุรุษแม้มากครั้งก็รักษาไม่ได้ เพราะว่าไม่ช่วยทำให้เข้าใจหนทางข้อปฏิบัติที่ถูกต้องได้เลย ท่านจะฟัง ท่านจะพิจารณา ท่านจะพิสูจน์ธรรมได้ เพราะมีข้อความว่า ราชรถอันวิจิตรตระการตายังคร่ำคร่าได้ และแม้สรีระก็เข้าถึงชราโดยแท้ ส่วนธรรมของสัตบุรุษย่อมไม่เข้าถึงความคร่ำคร่า

การเจริญสติปัฏฐานในครั้งอดีตที่พระผู้มีพระภาคยังไม่ปรินิพพาน ทรงแสดงไว้สมบูรณ์ครบถ้วนอย่างไร ย่อมไม่เข้าถึงความคร่ำคร่า ยังคงปฏิบัติตามได้ถ้ามีความเข้าใจในการเจริญสติปัฏฐานถูกต้องจริงๆ ด้วยเหตุนี้ในสตารหาคาถาจึงมีข้อความว่า สัตบุรุษกับสัตบุรุษเท่านั้นรู้กันได้ ผู้ที่เจริญสติเข้าใจการเจริญสติปัฏฐานแล้ว เวลาที่สนทนากับผู้ที่เจริญสติปัฏฐานด้วยกัน เข้าใจกันได้ไหม

ได้สนทนากับท่านผู้ฟังท่านหนึ่ง เมื่อได้สนทนากับท่านถึงสัจธรรม คือ กำลังเห็นเดี๋ยวนี้เป็นของจริง กำลังได้ยินเป็นของจริงที่ปัญญาจะต้องรู้แจ้ง จึงจะเป็นพระอริยเจ้าได้ ท่านสนใจที่จะเจริญสติปัฏฐานท่านก็ถามว่า เจริญสติทำอย่างไร ก็ได้พูดถึงลักษณะของสติ เป็นสภาพที่ระลึกทันที คือ รู้ลักษณะของสิ่งที่กำลังปรากฏตรงลักษณะนั้น ซึ่งลักษณะนั้นที่กำลังปรากฏ ถ้าเป็นทางหู เสียงที่ปรากฏชั่วนิดเดียว แม้แต่เย็นหรือร้อน หรือแม้แต่ความสุขจะเกิดปรากฏขึ้นเพราะเหตุปัจจัย นี่เป็นสิ่งที่สติสามารถที่จะระลึกได้ทันที ถ้าไม่กั้นสติไว้ด้วยความเข้าใจผิดคิดว่าสติจะเกิดไม่ได้ เมื่อเข้าใจถูก สติย่อมจะเกิดขึ้นระลึกรู้ลักษณะของนามธรรมบ้าง รูปธรรมบ้างทีละเล็กทีละน้อย หรือว่านานๆ ซึ่งแล้วแต่จะมีปัจจัยให้สติเกิดขึ้นระลึกรู้มากน้อยเพียงไร

เมื่อท่านผู้นั้นได้ฟังก็สนใจ แต่ก็ถามว่า แล้วเมื่อไรจะหมดกิเลส คล้ายๆ กับว่าการที่สติระลึกที่กาย อ่อนบ้าง แข็งบ้าง ทางตาบ้าง ทางหูบ้าง ทางจมูกบ้าง ลิ้นบ้าง สุขบ้าง ทุกข์บ้าง โลภะบ้าง โทสะบ้าง อย่างนี้แล้วเมื่อไรจะหมดกิเลส ท่านผู้นั้นอาจจะคิดว่า การเจริญสติระลึกรู้สภาพธรรมที่กำลังปรากฏตรงลักษณะตามความเป็นจริงอย่างนี้หรือที่จะทำให้หมดกิเลสได้ บางคนเข้าใจว่า การเจริญสติปัฏฐานเป็นปกติรู้สภาพธรรมตามความเป็นจริงนี้ก็ดี แต่ก็ไม่ใช่หนทางที่จะหมดกิเลส

เพราะฉะนั้น การมีความเห็นถูกตามสภาพธรรมตามความเป็นจริง ไม่ใช่ง่ายนักสำหรับผู้ที่สะสมความเห็นผิด ความเข้าใจผิดมาแล้วมาก แต่ว่าไม่ยากสำหรับท่านที่สะสมอบรมการพิจารณาเหตุและผลของสภาพธรรมให้ตรงตามคลองของธรรม ท่านได้เคยเป็นผู้ที่สะสมความเข้าใจสภาพธรรม การพิจารณาธรรมตรงตามเหตุและผลถูกต้องมาแล้วอย่างมากทีเดียวในอดีต เพราะฉะนั้น แม้คาถาในชาดกก็จะเกื้อกูลให้ท่านพิจารณาเทียบเคียงว่า ทั้งๆ ที่ท่านอยากจะรู้แจ้งอริยสัจธรรมเป็นพระอริยเจ้า เป็นพระอริยบุคคล แต่ท่านมีความเห็นถูกตามคลองของธรรม ตามเหตุตามผลแล้วหรือยัง หรือว่ายังมีความเข้าใจคลาดเคลื่อน ซึ่งจะเป็นเหตุที่ทำให้ท่านไม่สามารถที่จะรู้แจ้งอริยสัจธรรมได้

เมื่อพระเจ้าสุตโสมได้ฟังคาถาของพราหมณ์ พระเจ้าสุตโสมก็ตรัสว่า

คาถาเหล่านี้ชื่อ สาหัสสิยา ควร ๑,๐๐๐ ไม่ใช่ สตารหา ควร ๑๐๐

ดูกร พราหมณ์ เชิญท่านรีบมารับเอาทรัพย์ ๔,๐๐๐ เถิด ซึ่งพระราชบิดาของพระเจ้าสุตโสมไม่เห็นด้วยตรัสว่า คาถาควร ๘๐ และ ควร ๙๐ แม้ควร ๑๐๐ ก็มี ดูกร พ่อสุตโสม พ่อจงรู้ด้วยตนเอง คาถาชื่อ สาหัสสิยา ควร ๑,๐๐๐ มีที่ไหน

ไม่เห็นเลยว่า คาถานี้มีค่าควร ๑,๐๐๐ ซึ่งพระเจ้าสุตโสมก็ตรัสว่า

หม่อนฉันปรารถนาความเจริญทางศึกษาของตน สัตบุรุษทั้งหลายผู้สงบ พึงคบหาหม่อมฉัน

ข้าแต่ทูลกระหม่อม หม่อนฉันไม่อิ่มด้วยสุภาษิต เหมือนดังมหาสมุทรไม่อิ่มด้วยแม่น้ำ ฉะนั้น

ข้าแต่พระราชาผู้ประเสริฐสุด ไฟไหม้หญ้าและไม้ย่อมไม่อิ่ม แล้วสาครก็ไม่อิ่มด้วยแม่น้ำทั้งหลายฉันใด แม้บัณฑิตเหล่านั้นก็ฉันนั้น ได้ฟังคำสุภาษิตแล้วย่อมไม่อิ่มด้วยสุภาษิต

ข้าแต่พระทูลกระหม่อมจอมประชาชน เมื่อใดหม่อมฉันฟังคาถาที่มีประโยชน์ ต่อธาตุของตน เมื่อนั้นหม่อมฉันย่อมตั้งใจฟังคาถานั้นโดยเคารพ

ข้าแต่พระทูลกระหม่อม หม่อมฉันไม่มีความอิ่มในธรรมเลย

จะต้องสะสมกันมานานและก็มากถึงอย่างนี้ ที่จะเป็นผู้ที่ใคร่ต่อการฟังธรรม ซึ่งแม้แต่พระเจ้าโปริสาทเอง ทั้งๆ เป็นผู้ที่ชอบเสวยเนื้อมนุษย์ แต่แม้กระนั้นก็ยังตรัสกับพระเจ้าสุตโสมว่า

นรชนได้ฟังธรรมแล้ว ย่อมรู้แจ้งบุญและบาป ใจของหม่อมฉันจะยินดีในธรรม เพราะได้ฟังคาถาบ้างกระมัง

ยังมีความหวังว่า ธรรมหรือคาถานั้นจะช่วยให้เกิดความเห็นถูก ความเข้าใจถูก

ได้ เมื่อพระเจ้าสุตโสมได้ขอให้พระเจ้าโปริสาทเว้นการเสวยเนื้อมนุษย์ซึ่งเป็นสิ่งที่พอพระทัยอย่างที่สุด ละยากที่สุดนั้น พระเจ้าโปริสาทก็ไม่ทรงยินยอม ซึ่งพระเจ้าสุตโสมก็ตรัสว่า

ผู้ใดแลมัวรักษาของรักว่า นี้เป็นของรักของเรา ทำตนให้เหินห่างจากความดี เสพของรักทั้งหลายอยู่ เหมือนนักเลงสุราดื่มสุราเจือยาพิษฉะนั้น ผู้นั้นย่อมได้รับทุกข์ในโลกหน้า เพราะกรรมอันลามกนั้น ส่วนผู้ใดในโลกนี้พิจารณาแล้วละของรักได้ เสพอริยธรรมทั้งหลาย แม้ด้วยความยาก เหมือนคนเป็นไข้ดื่มยาฉะนั้น ผู้นั้นย่อมได้รับความสุขในโลกหน้า เพราะกัลยาณธรรมนั้น

ข้อความอย่างนี้มีประโยชน์สำหรับท่านผู้ฟังไหม ท่านที่ยังเพลิดเพลินในรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ และไม่ยอมเจริญสติปัฏฐาน ก็เป็นผู้ที่มัวรักษาของรักว่า นี้เป็นของรักของเรา ทำตนให้เหินห่างจากความดี เสพของรักทั้งหลายอยู่ เหมือนนักเลงสุราดื่มสุราเจือยาพิษฉะนั้น ส่วนผู้ใดในโลกนี้พิจารณาแล้วละของรักได้ เสพอริยธรรมทั้งหลายแม้ด้วยความยาก เหมือนคนเป็นไข้ดื่มยาฉะนั้น ผู้นั้นย่อมได้รับความสุขในโลกหน้า เพราะกัลยาณธรรมนั้น

สติเกิดน้อย เพราะเหตุว่าหมกมุ่มเพลิดเพลินในรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ แต่าถ้าใคร่ในธรรม ฟังธรรมบ่อยๆ จะทำให้ละคลายการที่หมกมุ่นในรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะลงได้ ต้องเป็นผู้ที่ใคร่ต่อธรรมจริงๆ

ขอให้คิดดูว่า วันหนึ่งๆ สติเกิดบ่อยไหม พร้อมที่จะรู้แจ้งอริยสัจธรรมหรือยัง นี่เป็นสิ่งที่จะต้องตรวจสอบ มิฉะนั้น ตัณหา ความหวัง ความต้องการที่จะรู้แจ้ง อริยสัจธรรม จะทำให้ท่านข้ามการที่สติจะเกิดระลึกรู้ลักษณะของนามและรูปที่กำลังปรากฏทันที

อำนาจของตัณหา ความต้องการที่จะรู้แจ้งอริยสัจธรรม จะทำให้ท่านไปทางอื่น รีบจะไปทำอย่างอื่นเพื่อให้รู้แจ้งอริยสัจธรรม นี่เป็นสิ่งที่คอยเตือนท่าน เสพอริยธรรมทั้งหลายแม้ด้วยความยาก แต่ถ้าเข้าใจถูกต้องแล้ว วันหนึ่งก็จะต้องรู้แจ้งอริยสัจธรรมได้

พระเจ้าโปริสาทตรัสว่า

ในกาลปักษ์ พระจันทร์ย่อมเสื่อมลงทุกๆ วันฉันใด ดูกร พระราชา การคบ อสัตบุรุษ ย่อมเหมือนกาลปักษ์ฉันนั้น หม่อมฉันก็เหมือนกัน อาศัยคนครัวเครื่องต้นเป็นคนชั่วเลวทราม ได้ทำบาปกรรมอันเป็นเหตุให้ไปสู่ทุคติ ในสุกรปักษ์ พระจันทร์ย่อมเจริญขึ้นทุกๆ วันฉันใด การคบสัตบุรุษ ย่อมเปรียบเหมือนสุกรปักษ์ฉะนั้น

ข้าแต่พระเจ้าสุตโสม ขอจงทรงทราบว่า หม่อมฉันก็เหมือนกัน อาศัยพระองค์ จักทำกุศลกรรมอันเป็นเหตุให้ไปสู่สุคติ

ข้าแต่พระจอมประชาชน น้ำฝนตกลงในที่ดอนย่อมไม่คงที่ ไม่ขังอยู่ได้นาน ฉันใด แม้การคบอสัตบุรุษของหม่อมฉัน ก็ย่อมไม่คงที่ เหมือนน้ำในที่ดอนฉันนั้น

ข้าแต่พระจอมประชาชน ผู้เป็นนระผู้กล้าหาญอย่างประเสริฐสุด น้ำฝนตกลงในสระ ย่อมขังอยู่ได้นานฉันใด แม้การสมาคมกับสัตบุรุษของหม่อมฉัน ก็ย่อมตั้งอยู่ได้นานเหมือนน้ำในสระฉันนั้น การสมาคมกับสัตบุรุษ ย่อมไม่รู้จักเสื่อม ย่อมเป็นอยู่อย่างนั้น แม้ตลอดเวลาที่ชีวิตยังตั้งอยู่ ส่วนการสมาคมกับอสัตบุรุษย่อมเสื่อมเร็ว เพราะเหตุนั้น ธรรมของสัตบุรุษย่อมไกลจากอสัตบุรุษ

ถ้าท่านคบสัตบุรุษจริง ท่านคบกับสัตบุรุษ คือ พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า พระธรรม และพระสงฆ์ และท่านก็ประพฤติตามธรรมของสัตบุรุษ ท่านจะเลิกคบไหม ถ้าเข้าใจการเจริญสติปัฏฐานถูกต้องจริงๆ จะเลิกเจริญสติปัฏฐานไหม หรือจะเลิกสัก ๑๕ วัน ค่อยไปเจริญใหม่ หรือไม่เลิก เจริญไปเรื่อยๆ

การเจริญสติปัฏฐานนั้น นานมาก ไกลมาก ยากมาก แต่แม้กระนั้นก็ไม่ควรที่จะท้อถอย ถ้าท่านเจริญหนทางที่ถูกต้องแล้ว จะไม่เลิก ถ้าเข้าใจถูกต้องตามเหตุตามผล ตามคลองแห่งธรรมจริงๆ

นอกจากนั้น ข้อความในชาดกยังอุปการะเกื้อกูลแก่การประพฤติปฏิบัติธรรมที่เป็นชีวิตจริงๆ เพราะว่าชีวิตของแต่ละคน กายก็ต่างกัน วาจาก็ต่างกัน ใจก็ต่างกัน ซึ่งแต่ละคนจะมีกาย มีวาจา มีใจอย่างไร ก็แล้วแต่การสะสมมาทั้งสิ้น

ข้อความในมหาสุตโสมชาดก ตอนท้ายมีว่า

พระราชาใดชนะคนที่ไม่ควรชนะ พระราชานั้นไม่ชื่อว่าเป็นพระราชา ผู้ใดเอาชนะเพื่อน ผู้นั้นไม่ชื่อว่าเป็นเพื่อน

เพียงข้อความเล็กๆ น้อยๆ ก็ขัดเกลาตัวท่านได้ รู้ความหมายของคำว่าเพื่อน ถ้าไม่มีพระธรรมบทนี้ที่ได้ทรงแสดงไว้ว่า การเป็นมิตรแท้นั้นมีประการใดๆ บ้าง ถ้ามีสิ่งที่ไม่ใช่มิตรเกิดขึ้นแม้สักนิดเดียว ยังคงมีความแข่งดี แก่งแย่ง ก็พิสูจน์ได้ว่า ไม่ใช่เป็นมิตรที่แท้จริง แทนที่จะเกื้อกูลอุปการะส่งเสริม แต่เอาชนะกันเสียแล้ว ถ้าโดยลักษณะนั้น ผู้นั้นไม่ชื่อว่าเป็นเพื่อน

ข้อความต่อไปมีว่า

ภรรยาใดย่อมไม่กลัวเกรงสามี ภรรยานั้นไม่ชื่อว่าเป็นภรรยา บุตรเหล่าใดไม่เลี้ยงดูมารดาบิดาผู้แก่แล้ว บุตรเหล่านั้นไม่ชื่อว่าเป็นบุตร ในที่ประชุมใดไม่มีสัตบุรุษ ที่ประชุมนั้นไม่ชื่อว่าสภา

เป็นที่ประชุมของอันธพาลก็ได้ แล้วแต่ว่าจะประชุมกันเรื่องอะไร แต่ไม่ชื่อว่า สภา

ข้อความต่อไปมีว่า

ชนเหล่าใดไม่พูดเป็นธรรม ชนเหล่านั้นไม่ชื่อว่าเป็นสัตบุรุษ คนผู้ละราคะ โทสะ โมหะได้แล้ว พูดเป็นธรรม นั่นแลชื่อว่าเป็นสัตบุรุษ

ที่จะพูดเป็นธรรมนั้น คือ ละราคะ โทสะ โมหะได้แล้ว ไม่ใช่พูดเพราะต้องการลาภ ยศ สรรเสริญ ผิดก็จะพูดอย่างผิดๆ เพื่อหมู่คณะ หรือเพื่อลาภ เพื่อยศ เพื่อสรรเสริญ นั่นไม่ได้พูดเป็นธรรม และไม่ชื่อว่าเป็นสัตบุรุษ

ไม่ได้พูดเพราะโทสะ เพราะโกรธไม่พอใจที่บุคคลนั้นทำสิ่งที่ไม่ชอบใจกับตัวท่าน และผู้ที่เป็นที่รักของท่าน หรือว่าทำสิ่งที่พอใจกับผู้ที่ไม่เป็นที่รักของท่าน ก็ทำให้ท่านเกิดโทสะได้

นี่เป็นโลภะ โทสะ แม้โมหะ ถ้าพูดโดยขาดการพิจารณาเหตุผลโดยรอบคอบ ผู้นั้นก็พูดไม่เป็นธรรม และไม่ชื่อว่าเป็นสัตบุรุษ

ข้อความต่อไปมีว่า

บัณฑิตผู้อยู่ปะปนกับคนพาล เมื่อไม่พูด ใครๆ ก็ไม่รู้ว่าเป็นบัณฑิต แต่ว่าบัณฑิตเมื่อพูด แสดงอมตธรรม ใครๆ จึงจะรู้ได้ว่าเป็นบัณฑิต เพราะเหตุนั้นบัณฑิตพึงกล่าวธรรมให้กระจ่าง พึงยกธงของพวกฤๅษี ฤๅษีทั้งหลายมีคำสุภาษิตเป็นธง ธรรมแลเป็นธงของพวกฤๅษีทั้งหลาย

จบ มหาสุตโสมชาดก

ข้อความที่ว่า แต่บัณฑิตเมื่อพูด แสดงอมตธรรม ใครๆ จึงจะรู้ว่าเป็นบัณฑิต เพราะเหตุนั้นผู้ที่เป็นบัณฑิตจะกล่าวธรรมไม่ตรงกับพระธรรมวินัยได้ไหม ไม่ได้ เพราะเหตุว่าบัณฑิตเมื่อพูดแสดงอมตธรรม ใครๆ จึงจะรู้ว่าเป็นบัณฑิต แต่ถ้าพูดไม่ตรงกับพระธรรมวินัยที่ได้ทรงแสดงไว้โดยพระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ผู้นั้นจะเป็นบัณฑิตได้อย่างไร ท่านมีพระธรรมวินัยเป็นเครื่องตรวจสอบทาน เทียบเคียงว่า สิ่งใดผิด สิ่งใดถูก แล้วยังมีสภาพธรรมตามความเป็นจริงเป็นเครื่องสอบทานด้วย

สำหรับข้อความที่ว่า บัณฑิตพึงกล่าวธรรมให้กระจ่าง พึงยกธงของพวกฤๅษี ฤๅษีทั้งหลายมีคำสุภาษิตเป็นธง ธรรมแลเป็นธงของพวกฤๅษีทั้งหลาย ซึ่งข้อความนี้จะพบหลายครั้งในพระไตรปิฎก

อังคุตตรนิกาย จตุกนิบาต วิสาขสูตร มีข้อความว่า

ณ พระวิหารเชตวัน ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคทรงออกจากที่เร้น คือ ออกจากผลสมบัติ ในสายัณหสมัย เสด็จไปยังอุปัฏฐานศาลา ทรงอนุโมทนาที่ท่าน วิสาขปัญจลีบุตรชี้แจงภิกษุทั้งหลายในอุปัฏฐานศาลานั้นให้เห็นแจ้ง ให้สมาทาน ให้อาจหาญ ให้ร่าเริง ด้วยธรรมีกถาอันเป็นวาจาของชาวเมือง สละสลวย ปราศจากโทษ ให้เข้าใจความได้แจ่มแจ้ง นับเนื่องในนิพพาน ไม่อิงวัฏฏะ และพระผู้มีพระภาคได้ตรัสว่า

คนที่ไม่พูด ชนทั้งหลายย่อมรู้ไม่ได้ว่าเป็นพาลหรือเป็นบัณฑิต ส่วนคนที่พูด ชนทั้งหลายย่อมรู้ว่าเป็นผู้แสดงอมตบท

บุคคลพึงยังธรรมให้สว่างแจ่มแจ้ง พึงยกย่องธงของฤๅษีทั้งหลาย ฤๅษีทั้งหลายมีสุภาษิตเป็นธง เพราะว่าธรรมเป็นธงของพวกฤๅษี

พวกฤๅษีเป็นพวกแสวงหาธรรม ไม่ใช่แสวงหาลาภ ยศ สรรเสริญ สุข เพราะฉะนั้น อะไรจะเป็นธงของพวกฤๅษี คงไม่ใช่สิ่งที่ชาวโลกนิยมยกย่องว่าเป็นสิ่งที่น่าปรารถนา แต่ธรรมเป็นธงของพวกฤๅษี

มโนรัตถปูรนี อรรถกถา มีข้อความว่า

โลกุตตรธรรม ๙ ท่านเรียกว่า ธงแห่งฤๅษีทั้งหลาย

สูงที่สุด ธรรมที่เป็นธง คือ โลกุตตรธรรม ๙ ได้แก่ มรรคจิต ๔ ดวง ผลจิต ๔ ดวง นิพพาน ๑

มรรคจิต ๔ คือ โสตาปัตติมรรคจิต ๑ สกทาคามิมรรคจิต ๑ อนาคามิมรรคจิต ๑ อรหัตตมรรค ๑

ผลจิต ๔ คือ โสตาปัตติผลจิต ๑ สกทาคามิผลจิต ๑ อนาคามิผลจิต ๑ อรหัตตผลจิต ๑

และนิพพาน ๑ ซึ่งเป็นสภาพธรรมที่โลกุตตรจิตประจักษ์แจ้ง ไม่ใช่ธรรมที่เกิดดับที่เป็นเป็นโลกียะ

เปิด  321
ปรับปรุง  12 ต.ค. 2566