แนวทางเจริญวิปัสสนา ตอนที่ 118

ท่านผู้ฟังกล่าวว่า การเจริญสติปัฏฐานเป็นปกติในชีวิตประจำวันเป็นสิ่งที่ยาก เพราะลักษณะของจิตที่มีความต้องการเป็นสภาพธรรมที่ละเอียด แต่กิเลสที่สะสมมาเนิ่นนานทำให้หลงลืมสติ ไม่ระลึกรู้ลักษณะของจิตที่กำลังต้องการ ที่กำลังยินดี ที่กำลังพอใจอย่างยิ่งในอารมณ์หนึ่งอารมณ์ใดที่กำลังปรากฏ

แต่ขอให้คิดดู พระธรรมที่พระผู้มีพระภาคตรัสรู้และทรงแสดงนั้นยากหรือง่าย การบำเพ็ญพระบารมี ๔ อสงไขยแสนกัป เพื่อจะได้ตรัสรู้สภาพความจริงของทุกสิ่งทุกอย่างที่เกิดขึ้นปรากฏเพราะเหตุปัจจัยที่ไม่ใช่สัตว์บุคคลก็จะต้องยาก ไม่ใช่ง่ายๆ แต่ถึงยากอย่างไรก็มีหนทางที่จะรู้แจ้งสิ่งที่มีจริงๆ ได้ ถ้าไม่ใช่สิ่งที่มีจริงก็รู้แจ้งไม่ได้ จะทำอะไรสักเท่าไรก็ไม่สามารถที่จะรู้แจ้งได้ แต่เพราะเป็นสิ่งที่มีจริง สติก็เป็นสภาพที่เกิดระลึกรู้ลักษณะของสิ่งที่กำลังปรากฏได้ แม้ในตอนแรกอาจจะเป็นทีละเล็กทีละน้อย แต่เมื่อพิจารณาสภาพธรรมแล้วเริ่มรู้ขึ้นทีละเล็กทีละน้อย วันหนึ่งก็จะต้องรู้ชัดได้ เพราะฉะนั้น เป็นของแน่นอนว่าเป็นสิ่งที่รู้ยาก แต่ก็เป็นสิ่งที่ควรเจริญ

เพราะฉะนั้น สติเพียงระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่เกิดปรากฏเพราะเหตุปัจจัย ไม่เว้นที่จะระลึกรู้ลักษณะของโลภมูลจิต ไม่ว่าจะเกิดขึ้นในขณะไหน สติก็สามารถระลึกได้

ถ. ที่อาจารย์บรรยายเป็นทางสายกลาง เป็นสติปัฏฐาน เป็นวิปัสสนา รู้สึกว่าผู้ที่สอนได้เก่งมากทีเดียว ผมเองเป็นคนที่เรียกว่าถึงจะศึกษามาเท่าไรๆ ก็คล้ายดอกบัวใต้น้ำ คือ ปฏิบัติไม่ได้สักที อาจจะเข้าใจบ้างนิดหน่อยแต่ปฏิบัติไม่สำเร็จ หรือได้น้อยเหลือเกิน ในระยะเวลา ๗ ปีนี้ได้ผลน้อยเหลือเกิน

สุ. ผลที่ต้องการนั้นคืออะไร

ถ. ที่ต้องการนั้นคือ ให้ทุกข์ลด เพราะอยู่ในโลกนี้ไปนานๆ ทุกข์ยิ่งมาก ไม่ค่อยได้สมใจ ทุกข์มากก็หาหนทางที่จะทำให้ทุกข์ลด

สุ. การละคลายทุกข์ ต้องทราบว่าเป็นขั้นๆ อย่างไร ขั้นแรกที่สุด ละ สักกายทิฏฐิ การยึดถือสภาพธรรมที่ปรากฏว่าเป็นตัวตน ขณะนี้มีเห็น ถ้าไม่เจริญสติก็เข้าใจผิดคิดว่าเราเห็น หรือเป็นตัวตนที่เห็น ความทุกข์เกิดจากความไม่รู้สภาพธรรมที่ปรากฏ เพราะฉะนั้น ถ้ารู้สภาพธรรมที่ปรากฏมากขึ้น ความไม่รู้ซึ่งเป็นมูลเหตุของทุกข์ก็จะลดคลายลง

ถ. ตามที่ฟังๆ มาว่า คนปัญญาดีที่สุดเป็นดอกบัวพ้นน้ำที่จะรอรับแสงอรุณนี้ไม่เกิน ๗ วัน ถ้าคนชั้นกลางก็ ๗ เดือน คนโง่ เวไนยสัตว์ก็ ๗ ปี ผมก็เลย ๗ ปีแล้ว วิตกอยู่

สุ. ในครั้งพุทธกาล การเจริญสติปัฏฐานไม่ได้มีกำหนดเวลา การที่ผลจะเกิดขึ้นต้องแล้วแต่เหตุ บางท่านถึง ๑๖ ปี บางท่านถึง ๒๕ ปี บางท่านตลอดชีวิตยังไม่บรรลุ แต่ท่านก็เจริญสติปัฏฐานโดยที่ท่านรู้ว่าเป็นเหตุที่จะทำให้เกิดผล เมื่อผลยังไม่เกิด แต่เหตุมีสมบูรณ์แล้วเมื่อไร ผลก็ต้องเกิดเมื่อนั้น แต่ไม่ใช่ไปเร่งรัดว่าจะต้องเกิด

ถ. ถ้าอย่างนั้นรู้สึกว่าเนิ่นช้ามาก ชีวิตของเราอาจจะตายลงไปเมื่อไรก็ไม่รู้ เพื่อความไม่ประมาท ผมว่าเร่งๆ ไว้ก็ดี ผมโทษบุคคล ๒ จำพวก ผมไม่สำเร็จภายใน ๗ ปีนี้ ผมโทษครู และโทษตัวผม แต่ถึงแม้จะเลยไปก็ไม่เป็นไร ขอให้เข้าใจถูกทาง คือ ถ้าเข้าไม่ถูกทางแล้วจะมีแต่ห่างออกไป พระอาจารย์ให้ผิดพลาดไปนี่ไม่มีหวัง ยิ่งเดินไปก็ยิ่งห่างเกินไป เพราะฉะนั้น ถ้าได้อาจารย์ถูกแล้วเราเข้าใจ มนสิการได้ดีแล้ว ถึงแม้จะไม่สำเร็จในชาตินี้ ก็ยังเป็นปัจจัยในชาติหน้า แต่ถ้าได้อาจารย์ผิด เวลานี้ผมว่าที่ผิดๆ มาก แล้วที่ว่าทำได้ทุกหนทุกแห่งนี้ ก็สงสัยอยู่ เพราะอาจารย์ก็ว่า กรรมเป็นปลิโพธ อาจารย์ต่างๆ ว่า ปลิโพธ ๑๐ ก็มีกรรมอยู่ด้วย แต่อาจารย์ว่า กรรมไม่เป็นปลิโพธ นี่ก็สงสัย

สุ. มีกล่าวไว้ในวิสุทธิมรรค ในปลิโพธ ๑๐ ประการ ที่เป็นเครื่องกั้นการ เจริญสติปัฏฐานมีประการเดียว ซึ่งเป็นประการสุดท้าย คือ อิทธิปลิโพธ

ถ. อย่างไรก็ตาม ผมต้องเอาเหตุผลเข้าจับด้วย ทั้งหลักฐานและเหตุผล ที่กรรมไม่เป็นปลิโพธนี้ ก็ลองทำแล้วทำไม่ได้ คือ ถ้ากรรมไม่เป็นปลิโพธก็ทำได้ทุกหนทุกแห่ง เมื่อทำได้ทุกหนทุกแห่งนี้ คือ ปัญญาอย่างเรามนสิการไม่ทัน ไปทางสมมติกับไปทางปรมัตถ์นี้ไม่ทัน อย่างผมขับรถยนต์ ผมขับมา ๓๐ - ๔๐ ปี ผมก็ทำไม่ทัน ผมมีความชำนาญอยู่มากก็ทำไม่ทัน เกือบจะชนเขาทุกที นอกจากนั้นยังมีในกรณีอื่นอีกมาก ซึ่งถ้าอ่านในมหาสติปัฏฐานแล้ว ไม่มีในมหาสติปัฏฐาน ท่านไม่ได้บอกว่า กิริยาอาการอย่างนั้นทำได้ ท่านไม่ได้บอกไว้

สุ. มีอะไรในมหาสติปัฏฐานที่กล่าวว่า กิริยาอาการอย่างนั้นเจริญสติไม่ได้

ถ. ใน ๑๔ บรรพของกายานุปัสสนาไม่มีครับ ท่านไม่มีกล่าวถึงการขับรถ ขับเกวียน สมัยนั้นขับรถ หรืออะไร ท่านก็ไม่ได้กล่าวไว้

สุ. ในมหาสติปัฏฐาน ในกายานุปัสสนาสติปัฏฐาน ขณะนี้กำลังยืนอยู่เดี๋ยวนี้ เป็นสติปัฏฐานได้ไหม

ถ. ขณะที่ผมยืนอยู่เวลานี้ ไม่เป็นสติปัฏฐาน เป็นสติธรรมดา สติมีหลายขั้น สติของคนธรรมดา สติของคนถือศีล สติของคนที่มีสมาธิ สติของคนที่จะไปนิพพานนี้ต้องสติปัฏฐาน เวลานี้ผมยังไม่ได้ไป ยังไม่ได้เดินทางสายกลาง

สุ. สติเป็นโสภณเจตสิก ทรงแสดงธรรมวินัยโดยละเอียดทั้ง ๓ ปิฎกเพื่อเกื้อกูลอุปการะแก่เนยยบุคคล ไม่ใช่อุคฆฏิตัญญู ไม่ใช่วิปจิตัญญู แต่เป็นผู้ที่ศึกษาสอบทานเทียบเคียงเพื่อปฏิบัติถูกต้อง เพราะฉะนั้น ที่ท่านกล่าวว่า ขณะที่กำลังยืนอยู่อย่างนี้เป็นสติ แต่ไม่ใช่สติปัฏฐาน ก็จะต้องเป็นสติที่เป็นไปในทาน หรือว่าเป็นไปในศีล หรือว่าเป็นไปในสมาธิ เพราะเหตุว่าสติเป็นโสภณเจตสิก ในขณะนี้ที่กำลังยืนอยู่นี้ เป็นสติที่เป็นไปในอะไร

ถ. ตอบท่านยาก แต่ไม่ใช่ทางสายกลางแน่ ก็เวลานี้ผมกำลังปุจฉาวิสัชนากับอาจารย์ แล้วผมจะไปเดินทางสายกลางได้อย่างไร ยังไปตามสมมติอยู่เวลานี้ คล้ายๆ กำลังศึกษาอยู่ ผมก็ว่าผมใช้สติอย่างนักเรียน อย่างครู ไม่ใช่สติปัฏฐานแน่

สุ. ใน มหาสติปัฏฐานสูตร ขอกล่าวถึง สัมปชัญญะบรรพ ซึ่งมีข้อความว่า

ย่อมเป็นผู้ทำสัมปชัญญะ ความรู้ตัวในการก้าวไปข้างหน้า และถอยกลับมาข้างหลัง ย่อมเป็นผู้ทำสัมปชัญญะในการแลไปข้างหน้า และเหลียวไปข้างซ้าย ข้างขวา

ขณะนี้แลไปข้างหน้าหรือไม่

ถ. ไม่ได้หรอกครับ ไม่มีทาง เวลานี้ผมไม่ได้ไปสายกลาง

สุ. ไม่ควรเป็นผู้หลงลืมสติ ไม่ควรเป็นผู้ประมาท ในขณะนี้มีการแลไปข้างหน้า เจริญสติปัฏฐานได้ไหม

ถ. ที่ท่านว่าสติปัฏฐาน หมายความว่าสำหรับผู้ที่กำลังทำสติปัฏฐานอยู่ ไม่ใช่อย่างเรานี้ ถ้าทำแล้วก็ให้มีกิริยาอาการอย่างนั้น เพราะฉะนั้น เวลานี้เราไม่ได้ทำ เราจะมาปนกันไม่ได้ สมมติว่า วันนี้เราจะทำตลอดทั้งวันนั้น เรามีกิริยาอย่างที่ท่านว่าในขณะนั้นอิริยาบถต่างๆ ก็เป็นไปอย่างบรรพในกายา

สุ. ในมหาสติปัฏฐาน ไม่ได้บอกไว้อย่างนั้น ไม่ได้มีเข้า ไม่ได้มีออก ไม่ได้มีที่โน่น ไม่ได้มีที่นี่ เป็นผู้ที่เจริญสติ ระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรม กาย เวทนา จิต ธรรมในขณะนี้ได้ เป็นผู้ที่เจริญสติ ไม่ใช่เป็นผู้ที่ละเลยคำสอน

ถ. การเจริญสติปัฏฐาน ไม่มีเข้า ไม่มีออก อยู่ที่ความเข้าใจของเรา คือ เวลาเข้าเราก็ต้องมนสิการว่า เราจะดูรูปนาม เวลาออก เราก็ต้องมนสิการใหม่ว่า เราจะต้องไปตามสมมติ เดี๋ยวไปเห็นพ่อแม่ ไปเห็นแต่รูปแต่นาม เดี๋ยวก็ได้ดุพ่อแม่เข้า ... เราต้องนับถือ เจอพ่อแม่ เจออาจารย์ ไปทางสมมติ คือ เป็นการถ่ายความรู้สึก ไม่ใช่ว่า ว่ากันง่ายๆ คือ ถ่ายความรู้สึกจากเรา เวลานี้เรานั่ง ความรู้สึกนั้นเป็นอย่างไร แล้วรูปนั่งนี่ ความรู้สึกนี่จะต้องตรงกันข้ามกันเลย การที่จะค่อยๆ ถ่ายความรู้สึกไปทีละเล็กทีละน้อยนี้ ปัญญาเราไม่คมพอ ความเข้าใจเราไม่คมพอ เพราะความรู้สึกยังเป็นเราอยู่ หมักดองอยู่มาก

สุ. ในมหาสติปัฏฐานสูตร มีรูปนั่งไหม

ถ. มี รูปนั่งมี มีอิริยาบถ ๔ บรรพ ๔ มีแน่ ปัญญาอย่างเรานี้ดีนัก อิริยาบถ ผมหลงไปกำหนดลมหายใจอยู่ถึง ๒๐ ปี แต่ที่จริงอิริยาบถนี้ดีมาก เห็นง่ายที่สุด อย่างอื่นยาก มีครับรูปนั่ง

สุ. รูปนั่งอยู่ในอะไรในรูป ๒๘ รูป การที่เราไม่ใช่อุคฆฏิตัญญู ไม่ใช่ วิปจิตัญญู ถ้าจะเป็น ก็เป็นเนยยบุคคล ต้องอาศัยการสอบทาน เทียบเคียงเหตุผลข้อประพฤติปฏิบัติให้ถูกต้องตามพระธรรมวินัยอยู่เสมอ ซึ่งที่จริงแล้ว ถึงแม้ว่ากาลเวลาจะล่วงเลยไปนานสักเท่าไรก็ตาม สติปัฏฐานที่พระอริยเจ้าท่านเจริญในอดีตอย่างไร ผู้ที่จะเป็นพระอริยเจ้าในสมัยนี้ หรือในสมัยต่อไปข้างหน้าก็จะต้องเจริญอย่างนั้น จะเปลี่ยนแปลงตามใจชอบของแต่ละคนไม่ได้

ถ. การปฏิบัติวิปัสสนากัมมัฏฐานนี้ สำหรับเบื้องต้นขอให้อาจารย์สรุปว่า เราจะทำอย่างไร เพราะผมเคยเรียนมา อาจารย์ก็แนะนำว่า ให้เตรียมตัวอย่างนั้น ข้อ ๑ ข้อ ๒ ข้อ ๓ ข้อ ๔ ข้อ ๕ ผมอยากได้สัก ๕ ข้อ หรือ ๑๐ ข้อ จะได้ง่ายต่อการปฏิบัติ

สุ. ในมหาสติปัฏฐานสูตร ไม่ได้มีให้เตรียมตัวอะไร ๕ ข้อ ๑๐ ข้อเลย

ถ. อย่างน้อยที่ผมเคยทราบมา ก็มีวิปัสสนาภูมิ เป็นต้น วิปัสสนาภูมิ ๖ วิปัสสนาภูมินี้รู้สึกว่ายาก ฟังแล้วรู้สึกว่ายากไป ขอให้อาจารย์แนะนำให้ง่ายกว่าวิปัสสนาภูมิ

สุ. คำว่า “วิปัสสนาภูมิ” ต้องรู้ความหมายเสียก่อน วิปัสสนาเป็นปัญญา ถ้าไม่มีภูมิ ไม่มีที่เกิด วิปัสสนาก็มีไม่ได้ ไม่มีพื้น ไม่มีที่ตั้ง ไม่มีที่เกิด จะให้ปัญญารู้อะไรก็ไม่ได้ เพราะฉะนั้น จะต้องเข้าใจก่อนว่าที่ใช้คำว่าวิปัสสนาภูมินั้น ไม่ใช่อยู่ในตำรา แต่ทุกสิ่งทุกอย่างที่เป็นวิปัสสนาภูมิ เป็นสิ่งที่สติระลึกให้ปัญญารู้ชัด เกิดเป็นวิปัสสนาขึ้น

ถ. รู้สึกว่าวิปัสสนาภูมินี้ยากสำหรับผม ขอให้อาจารย์ช่วยให้ง่ายกว่านั้น ผมเป็นทหาร เวลาเตรียมตัวฝึกก็ยังต้องเตรียมหลายอย่าง อย่างน้อยก็ต้องแต่งเครื่องสนาม ผมว่ามหาสติปัฏฐานก็คือแบบฝึกนี่เอง แต่เป็นการฝึกทางใจ หรือเป็นวิปัสสนา ผมขอให้อาจารย์ช่วยให้ง่าย

สุ. การเตรียม คือ การฟังธรรมเรื่องมหาสติปัฏฐาน หรือเรื่องการเจริญ สติปัฏฐานให้เข้าใจจริงๆ ให้เข้าใจถูกต้อง ถ้าขาดการฟังแล้วไม่สามารถเจริญสติปัฏฐานได้ เพราะเหตุว่าองค์ธรรมที่จะทำให้บรรลุความเป็นพระอริยบุคคลก็มี ๔ ประการ คือ ได้คบหาสมาคมกับสัตบุรุษ แต่ไม่ใช่เพียงคบไปไหนไปด้วยกัน ไม่ใช่อย่างนั้น ฟังธรรมของท่าน ไม่ฟังไม่ได้ พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงมีพระมหากรุณาเกื้อกูลอนุเคราะห์สัตว์โลก ไม่ใช่ด้วยอย่างอื่น แต่ด้วยการทรงแสดงธรรม

เพราะฉะนั้น การฟังธรรมอุปการะเกื้อกูลมาก ไม่ใช่เพียงขั้นคบหาสมาคมกับสัตบุรุษ หรือว่าฟังธรรมของท่าน แต่ต้องพิจารณาธรรมด้วย เมื่อพิจารณาได้เข้าใจเหตุผลถูกต้อง ก็สามารถที่จะปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรมด้วย

ไม่ใช่ว่าพอมาถึงก็จะให้ทำอะไรโดยที่ไม่เข้าใจ เพราะฉะนั้น ขั้นต้นพื้นฐานประการแรกที่สุด คือ ความเข้าใจอย่างถูกต้อง

ถ. นี่ก็ ๑. บุคคลสัปปายะ ๒. ธรรมสัปปายะ อย่างอื่นไม่ต้องเลย

สุ. โสตาปัตติยังคะใน สารีปุตตสูตร มีข้อความว่า

องค์ธรรมที่จะทำให้บรรลุความเป็นพระโสดาบันบุคคลมี ๔ ประการ คือ ๑. ได้เห็น ได้คบสัตบุรุษ ๒. ฟังธรรมของท่าน ๓. พิจารณาธรรมด้วยความแยบคาย ๔. ปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม

ถ. อย่างอื่นไม่มีอีกหรือ สมมติว่าอยู่ที่บ้านจะทำได้หรือ

สุ. ข้อแรกต้องเข้าใจว่าการเจริญสติปัฏฐาน คือ การระลึกรู้ลักษณะของกาย ของเวทนา ของจิต ของธรรม ที่กำลังมีอยู่ในขณะนี้ ไม่ใช่พรุ่งนี้ ไม่ใช่เมื่อวานนี้ แต่ขณะนี้อยู่ที่ไหน ถ้าขณะนี้อยู่ที่นี่ สติระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ คือ ที่กาย หรือที่เวทนา หรือที่จิต หรือที่ธรรม สิ่งที่กำลังปรากฏในขณะนี้เป็นปัจจุบัน

ถ. ทั้งหมดหรือครับ รูปนามทั้งหมด หรือจะอย่างอื่น อย่างผมนี้ควรจะรูปนามอะไร ดูเหมือนท่านจำแนกไว้เหมือนกันครับ

สุ. ใครเป็นคนรู้ ใครเป็นคนจำแนก

ถ. ให้เหมาะกับจริตครับ

สุ. ใครเป็นคนจัดสรรให้

ถ. ก็อาจารย์ต่างๆ ลงมาตามลำดับ ตั้งแต่พระสัมมาสัมพุทธเจ้า

สุ. แล้วเวลานี้

ถ. เวลานี้ คือ ตัวอาจารย์ต้องจัดให้ผม ผมมาขอกัมมัฏฐานจากอาจารย์ และอาจารย์ต้องให้กัมมัฏฐานกับผม ให้เหมาะกับจริต

สุ. ขอกัมมัฏฐาน ขออย่างไร

ถ. อย่างผมนี้ จะเหมาะกับกัมมัฏฐานอย่างไหน

สุ. มีตัณหาไหม ต้องถามก่อน มีทิฏฐิไหม เจริญกายนุปัสสนาสติปัฏฐาน เวทนานุปัสสนาสติปีฏฐาน จิตตานุปัสสนาสติปัฏฐาน ธัมมานุปัสสนาสติปัฏฐาน

ถ. อย่างนี้ให้หมดเลยเหมือนกัน ที่จริงในสติปัฏฐานนี้ ถ้าอ่านจริงๆ แล้วทุกบรรพถึงนิพพานหมด ถึงพระอรหันต์หมดทุกบรรพ ท่านควรจะแบ่งให้ง่ายสำหรับผมหน่อย ในข้อที่ว่า ปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม ผมเข้าใจว่าจะมีหลายชั้น อาจารย์ควรจะแนะนำให้การปฏิบัติวิปัสสนาเบื้องต้นเป็นหัวข้อ ขอ ๔ - ๕ หัวข้อก็ยังดี โดยเฉพาะเจาะจง

สุ. สมมติว่า แนะนำให้จดจ้องที่นามหนึ่งนามใด รูปหนึ่งรูปใด จะมีความต้องการนามนั้นรูปนั้นไหม มีความต้องการที่จะจดจ้องอยู่เฉพาะนามนั้นรูปนั้นไหม

ถ. ถูกครับ มีความจดจ้องต้องการแน่ มีมานานแล้วด้วย อยากจะไปนิพพานมานับเป็นเวลา ๑๐ ปีแล้ว แต่ความเข้าใจของผม คือ ตัวเจตนามีมาก่อน แต่เวลาปฏิบัติเราต้องเลิกเจตนานั้น ต้องโยนิโสใหม่ในขณะที่ปฏิบัติเจริญองค์มรรค เพราะในองค์มรรคไม่มีเจตนาอยู่เลย เพราะฉะนั้น ทุกอย่างเราเตรียมได้เต็มที่ อย่างพระพุทธเจ้าท่านเตรียม ๔ อสงไขยแสนกัป ท่านเตรียมตัวกว่าจะพัฒนาการไปได้ เรามุ่งอันนั้นก็สำเร็จได้ ไม่จำเป็นที่จะต้องมุ่งทั้งหมดตามที่ผมเข้าใจ

สุ. แต่ถ้าต้องการเจริญปัญญาแล้ว ปัญญาต้องเกิด ปัญญารู้อะไร ถ้าไม่รู้สิ่งที่กำลังปรากฏทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจตามความเป็นจริงในขณะนี้ เพราะพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงรู้แจ้ง ทรงแสดงหนทางที่จะให้รู้สิ่งที่กำลังปรากฏ และพระอริยสาวกก็ดำเนินปฏิบัติตาม และได้รู้แจ้งสภาพธรรมที่กำลังปรากฏตามความเป็นจริงด้วย เพราะฉะนั้น ปัญญาต้องรู้อย่างนี้ ต้องรู้สิ่งที่กำลังปรากฏ แล้วมหาสติปัฏฐานก็มี ๔ กาย เวทนา จิต ธรรม สติของใครจะระลึกทางตา สติของใครจะระลึกทางกาย ไม่มีกฎเกณฑ์ เพราะเป็นเรื่องของปัญญาจะต้องรู้ชัด เพื่อละคลายการยึดถือว่าเป็นตัวตน

ถ. ถ้าอย่างนั้นก็รู้สึกว่ามากมาย

สุ. ย่อมาเป็น ๖ เท่านั้น ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ

ถ. ผมก็ยังรู้สึกว่ายากไป ง่ายกว่านั้นก็มีอีกในกายาบรรพนี้ มีนัยที่ง่ายสำหรับเรา ท่านว่าไว้เลย ทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจนี้ยังยาก เป็นพระอรหันต์หรือถึงพระนิพพานยาก ที่ง่ายที่สุดก็คืออิริยาบถ ๔ สำหรับคนที่มีปัญญาน้อย ผมก็หลงไปอานาปาเสีย ๒๐ ปี ไม่ได้เรื่องไม่ได้ราว

สุ. ยังไม่พบหลักฐานว่า การรู้ชัดทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจนั้นมากไป แต่ว่าเป็นสิ่งที่ต้องรู้ เพราะเหตุว่าถ้าไม่รู้ ก็เป็นอวิชชา

ถ. ในสติปัฏฐานมีหรือไม่

สุ. ในสติปัฏฐาน กายรู้ได้ทางไหน ผม ขน เล็บ ฟัน หนัง รู้ได้ทางไหน กายกระทบสัมผัสได้ไหม ที่จะรู้สภาพธรรมตามความเป็นจริงแล้วพ้นจากตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ไม่มี

ถ. ที่ง่ายที่สุดที่ทรงจำแนกนี้ คือ ท่านไม่ให้ดูทั้งหมด รูปนามคลุมไปหมด ท่านไม่ได้ว่าอย่างนั้น มือชั้นพระพุทธเจ้าแล้วท่านทรงจำแนกออกไปอีก นี่เป็นปัญญาหนึ่งที่เรียกว่าสุขุมลุ่มลึกมาก ที่ทรงแยกนี่สำคัญมาก แต่ถึงแม้ว่าทรงแยกอย่างนั้น อาจารย์เดี๋ยวนี้ก็พยายามทำให้เลอะเทอะออกไปไม่เอาอย่างท่าน ผมว่าอิริยาบถ ๔ นี้ง่ายที่สุดในความความคิดของผม ท่านลองนึกดู อิริยาบถ ๔ นี้ง่ายมาก และเห็นชัดด้วย

เปิด  274
ปรับปรุง  12 ต.ค. 2566