แนวทางเจริญวิปัสสนา ตอนที่ 114

บางทีท่านที่ศึกษาปรมัตถธรรมจะสงสัยว่า ขณะที่จักขุวิญญาณเกิดขึ้น เวทนาที่เกิดขึ้นร่วมด้วยเป็นอุเบกขาเวทนา แต่ทำไมจึงกล่าวว่า มีทั้งโสมนัสเวทนา โทมนัสเวทนา และอุเบกขาเวทนา อันนี้เป็นเพราะขณะที่เห็น ไม่ใช่มีเพียงแค่เห็น โสมนัสบ้าง โทมนัสบ้าง อุเบกขาบ้าง

เพราะฉะนั้น ทางตาเวลาที่เห็นรูปแล้ว มีการนึกหน่วงของใจอาศัยรูปนั้นเป็นโสมนัสบ้าง เป็นโทมนัสบ้าง เป็นอุเบกขาบ้าง ไม่พ้นไปจากรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ แต่เวทนาที่เกิดกับจักขุวิญญาณจริงๆ นั้นเป็นอุเบกขา เพราะเหตุว่าทางตาไม่ใช่มีแต่เห็น ยังมีโสมนัส โทมนัสที่อาศัยการเห็นด้วย เพราะฉะนั้น จึงมีเวทนาทั้ง ๓ จะเป็นโสมนัส จะเป็นโทมนัส จะเป็นอุเบกขาก็ตาม สติระลึกรู้ได้ ต่อจากนั้น พระผู้มีพระภาคก็ได้ตรัสว่า

เพราะฟังเสียงด้วยโสตะ เพราะดมกลิ่นด้วยฆานะ เพราะลิ้มรสด้วยชิวหา เพราะถูกต้องโผฏฐัพพะด้วยกาย เพราะรู้ธัมมารมณ์ด้วยมโน ใจย่อมนึกหน่วงธัมมารมณ์เป็นที่ตั้งแห่งโสมนัส นึกหน่วงธัมมารมณ์เป็นที่ตั้งแห่งโทมนัส นึกหน่วงธัมมารมณ์เป็นที่ตั้งแห่งอุเบกขา ฉะนี้ เป็นความนึกหน่วงฝ่ายโสมนัส ๖ ฝ่ายโทมนัส ๖ ฝ่ายอุเบกขา ๖

ข้อที่เรากล่าวดังนี้ว่า พึงทราบความนึกหน่วงของใจ ๑๘ นั้น เราอาศัยความนึกหน่วงดังนี้กล่าวแล้ว

ก็ข้อที่เรากล่าวดังนี้ว่า พึงทราบทางดำเนินของสัตว์ ๓๖ นั้น เราอาศัยอะไรกล่าวแล้ว คือ โสมนัสอาศัยเรือน ๖ โสมนัสอาศัยเนกขัมมะ ๖ โทมนัสอาศัยเรือน ๖ โทมนัสอาศัยเนกขัมมะ ๖ อุเบกขาอาศัยเรือน ๖ อุเบกขาอาศัยเนกขัมมะ ๖

ถ้าเทียบเคียงกับในมหาสติปัฏฐาน ข้อความก็ตรงกัน ผิดกันที่พยัญชนะ ข้อความในมหาสติปัฏฐาน มีว่า

เสวยสุขเวทนามีอามิส ก็รู้ชัดว่าเสวยสุขเวทนามีอามิส

ข้อความใน สฬายตนวิภังค์

โสมนัสอาศัยเรือน โสมนัสอาศัยเนกขัมมะ

เพราะคำว่า มีอามิส หมายความว่าอาศัยกามคุณ ไม่มีอามิส หมายความว่าอาศัยเนกขัมมะ

ใน ๓๖ ประการนั้น โสมนัสอาศัยเรือน ๖ เป็นไฉน คือ

บุคคลเมื่อเล็งเห็นการได้เฉพาะซึ่งรูปที่รู้ได้ด้วยจักษุ อันน่าปรารถนา น่าใคร่ น่าชอบใจ เป็นที่รื่นรมย์แห่งใจ ประกอบด้วยโลกามิส โดยเป็นของอันตนได้เฉพาะ หรือหวนระลึกถึงรูปที่เคยได้เฉพาะในก่อนอันล่วงไปแล้ว ดับไปแล้ว แปรปรวนไปแล้ว ย่อมเกิดโสมนัสขึ้น โสมนัสเช่นนี้เราเรียกว่า โสมนัสอาศัยเรือน

ความรู้สึกที่เป็นสุขอาศัยเห็นรูป ได้ยินเสียง ได้กลิ่น ได้ลิ้มรส ได้กระทบสัมผัส สิ่งที่น่าใคร่ น่าพอใจ เป็นโสมนัสที่อาศัยเรือน หรือแม้การหวนระลึกถึงรูป เสียง กลิ่น รสโผฏฐัพพะที่เคยได้แล้วแปรปรวนไป แต่เวลาที่หวนระลึกถึง รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะที่ได้แล้วเกิดโสมนัสขึ้น โสมนัสนั้นก็ชื่อว่า โสมนัสที่อาศัยเรือน คือ อาศัยกามคุณนั่นเอง

ในเรื่องของธัมมารมณ์ มีข้อความว่า

บุคคลเมื่อเล็งเห็นการได้เฉพาะซึ่งธัมมารมณ์ที่รู้ด้วยมโน อันน่าปรารถนา น่าใคร่ น่าชอบใจ เป็นที่รื่นรมย์แห่งใจ ประกอบด้วยโลกามิส โดยเป็นของอันตนได้เฉพาะ หรือหวนระลึกถึงธัมมารมณ์ที่เคยได้เฉพาะในก่อนอันล่วงไปแล้ว ดับไปแล้ว แปรปรวนไปแล้ว ย่อมเกิดโสมนัสขึ้น โสมนัสเช่นนี้ นี่เราเรียกว่า โสมนัสอาศัยเรือน เหล่านี้ โสมนัสอาศัยเรือน ๖

เคยคิดถึงความสุขตอนเป็นเด็กไหม หรือตอนไหนก็ได้ เวลาที่ได้รูป เสียง กลิ่น รส ตื่นเต้นสนุกสนาน ถ้าระลึกถึงความรู้สึกเป็นสุข นั่นเป็นธัมมารมณ์ สุขเวทนา ทุกขเวทนา อุเบกขาเวทนา ๓ ทางทวารทั้ง ๖ เป็น ๑๘ อาศัยเรือน ๑๘ ไม่อาศัยเรือน คือ อาศัยเนกขัมมะ ๑๘ รวมเป็น ๓๖

ข้อความต่อไปมีว่า

ใน ๓๖ ประการนั้น โสมนัสอาศัยเนกขัมมะ ๖ เป็นไฉน คือ

บุคคลเมื่อทราบความไม่เที่ยง ความแปรปรวน ความสลายและความดับของรูปทั้งหลายนั่นแล แล้วเห็นด้วยปัญญาชอบตามความเป็นจริงอย่างนี้ว่า รูปในก่อนและในบัดนี้ ทั้งหมดนั้นไม่เที่ยง เป็นทุกข์ มีความแปรปรวนเป็นธรรมดา ย่อมเกิดโสมนัสขึ้น โสมนัสเช่นนี้เราเรียกว่า โสมนัสอาศัยเนกขัมมะ

บุคคลเมื่อทราบความไม่เที่ยง ความแปรปรวน ความคลายและความดับของเสียงทั้งหลาย บุคคลเมื่อทราบความไม่เที่ยง ความแปรปรวน ความคลายและความดับของกลิ่นทั้งหลาย บุคคลเมื่อทราบความไม่เที่ยง ความแปรปรวน ความคลายและความดับของรสทั้งหลาย บุคคลเมื่อทราบความไม่เที่ยง ความแปรปรวน ความคลายและความดับของโผฏฐัพพะทั้งหลายนั่นแล บุคคลเมื่อทราบความไม่เที่ยง ความแปรปรวน ความคลายและความดับของธัมมารมณ์ทั้งหลายนั่นแล แล้วเห็นด้วยปัญญาชอบตามความเป็นจริงอย่างนี้ว่า ธัมมารมณ์ในก่อนและในบัดนี้ ทั้งหมดไม่เที่ยง เป็นทุกข์ มีความแปรปรวนเป็นธรรมดา ย่อมเกิดโสมนัสขึ้น โสมนัสเช่นนี้เราเรียกว่า โสมนัสอาศัยเนกขัมมะ เหล่านี้ โสมนัสอาศัยเนกขัมมะ ๖

การเจริญสติปัฏฐาน พิจารณารูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ธัมมารมณ์ ถ้าเป็นญาณแล้วก็ประจักษ์ความเกิดขึ้นและดับไปของรูป ของเสียง ของกลิ่น ของรส ของโผฏฐัพพารมณ์ ของธัมมารมณ์แล้วโสมนัส โสมนัสนั้นชื่อว่า อาศัยเนกขัมมะ

ข้อความต่อไปเป็นโทมนัสอาศัยเรือน ๖ และโทมนัสที่อาศัยเนกขัมมะ ๖ พระผู้มีพระภาคตรัสว่า

ใน ๓๖ ประการนั้น โทมนัสอาศัยเรือน ๖ เป็นไฉน คือ

บุคคลเมื่อเล็งเห็นความไม่ได้เฉพาะซึ่งรูปที่รู้ได้ด้วยจักขุ อันน่าปรารถนา น่าใคร่ น่าชอบใจ เป็นที่รื่นรมย์แห่งใจ ประกอบด้วยโลกามิส โดยเป็นของอันตนไม่ได้เฉพาะ หรือหวนระลึกถึงรูปที่ไม่เคยได้เฉพาะในก่อนอันล่วงไปแล้ว ดับไปแล้ว แปรปรวนไปแล้ว ย่อมเกิดโทมนัส โทมนัสเช่นนี้ นี่เราเรียกว่า โทมนัสอาศัยเรือน

บุคคลเมื่อเล็งเห็นความไม่ได้เฉพาะซึ่งเสียง บุคคลเมื่อเล็งเห็นความไม่ได้เฉพาะซึ่งกลิ่น บุคคลเมื่อเล็งเห็นความไม่ได้เฉพาะซึ่งรส บุคคลเมื่อเล็งเห็นความไม่ได้เฉพาะซึ่งโผฏฐัพพะ บุคคลเมื่อเล็งเห็นความไม่ได้เฉพาะซึ่งธัมมารมณ์ที่รู้ได้ด้วยมโน อันน่าปรารถนา น่าใคร่ น่าชอบใจ เป็นที่รื่นรมย์แห่งใจ ประกอบด้วยโลกามิส โดยเป็นของอันตนไม่ได้เฉพาะ หรือหวนระลึกถึงธัมมารมณ์ ที่ไม่เคยได้เฉพาะในก่อนอันล่วงไปแล้ว ดับไปแล้ว แปรปรวนไปแล้ว ย่อมเกิดโทมนัส โทมนัสเช่นนี้ นี่เราเรียกว่า โทมนัสอาศัยเรือน เหล่านี้ โทมนัสอาศัยเรือน ๖

ใน ๓๖ ประการนั้น โทมนัสอาศัยเนกขัมมะ ๖ เป็นไฉน คือ

บุคคลทราบความไม่เที่ยง ความแปรปรวน ความคลายและความดับของรูป ทั้งหลายนั่นแล แล้วเห็นด้วยปัญญาชอบตามความเป็นจริงอย่างนี้ว่า รูปในก่อนและในบัดนี้ ทั้งหมดนั้นไม่เที่ยง เป็นทุกข์ มีความแปรปรวนเป็นธรรมดา แล้วย่อมเข้าไปตั้งความปรารถนาในอนุตตรวิโมกข์

เมื่อเข้าไปตั้งความปรารถนาในอนุตตรวิโมกข์ดังนี้ว่า เมื่อไรตัวเราจึงจะบรรลุอายตนะที่พระอริยะทั้งหลายได้บรรลุอยู่ในบัดนี้เล่า ย่อมเกิดโทมนัสเพราะความปรารถนาเป็นปัจจัยขึ้น โทมนัสเช่นนี้เราเรียกว่า โทมนัสอาศัยเนกขัมมะ

ข้อความต่อไปเป็นเรื่องของเสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ธัมมารมณ์ โดยนัย เดียวกัน คือ

บุคคลทราบความไม่เที่ยง ความแปรปรวน ความคลายและความดับของ ธัมมารมณ์ทั้งหลายนั่นแล แล้วเห็นด้วยปัญญาชอบตามความเป็นจริงอย่างนี้ว่า ธัมมารมณ์ในก่อนและในบัดนี้ ทั้งหมดนั้นไม่เที่ยง เป็นทุกข์ มีความแปรปรวนเป็นธรรมดา แล้วย่อมเข้าไปตั้งความปรารถนาในอนุตตรวิโมกข์

เมื่อเข้าไปตั้งความปรารถนาในอนุตตรวิโมกข์ดังนี้ว่า เมื่อไรตัวเราจึงจะบรรลุอายตนะที่พระอริยทั้งหลายได้บรรลุอยู่ในบัดนี้เล่า ย่อมเกิดโทมนัสเพราะความปรารถนาเป็นปัจจัยขึ้น โทมนัสเช่นนี้เราเรียกว่า โทมนัสอาศัยเนกขัมมะ เหล่านี้ โทมนัสอาศัยเนกขัมมะ ๖

สำหรับอุเบกขาอาศัยเรือนกับไม่อาศัยเรือน มีข้อความว่า

ใน ๓๖ ประการนั้น อุเบกขาอาศัยเรือน ๖ เป็นไฉน คือ

เพราะเห็นรูปด้วยจักษุ ย่อมเกิดอุเบกขาขึ้นแก่ปุถุชนคนโง่เขลา ยังไม่ชนะกิเลส ยังไม่ชนะวิบาก ไม่เห็นโทษ ไม่ได้สดับ เป็นคนหนาแน่น อุเบกขาเช่นนี้นั้น ไม่ล่วงเลยรูปไปได้ เพราะฉะนั้น เราจึงเรียกว่า อุเบกขาอาศัยเรือน

เพราะฟังเสียงด้วยโสตะ เพราะดมกลิ่นด้วยฆานะ เพราะลิ้มรสด้วยชิวหา เพราะถูกต้องโผฏฐัพพะด้วยกาย เพราะรู้ธัมมารมณ์ด้วยมโน ย่อมเกิดอุเบกขาขึ้นแก่ปุถุชนคนโง่เขลา ยังไม่ชนะกิเลส ยังไม่ชนะวิบาก ไม่เห็นโทษ ไม่ได้สดับ เป็นคนหนาแน่น อุเบกขาเช่นนี้นั้นไม่ล่วงเลยธัมมารมณ์ไปได้ เพราะฉะนั้น เราจึงเรียกว่า อุเบกขาอาศัยเรือน ๖

ใน ๓๖ ประการนั้น อุเบกขาอาศัยเนกขัมมะ ๖ เป็นไฉน คือ

บุคคลเมื่อทราบความไม่เที่ยง ความแปรปรวน ความคลายและความดับของรูปทั้งหลายนั่นแล แล้วเห็นด้วยปัญญาชอบตามความเป็นจริงอย่างนี้ว่า รูปในก่อนและในบัดนี้ ทั้งหมดนั้นไม่เที่ยง เป็นทุกข์ มีความแปรปรวนเป็นธรรมดา ย่อมเกิดอุเบกขาขึ้น อุเบกขาเช่นนี้นั้นไม่ล่วงเลยรูปไปได้ เพราะฉะนั้น เราจึงเรียกว่า อุเบกขาอาศัยเนกขัมมะ

สำหรับข้อความต่อไปเป็นเสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ และธัมมารมณ์ ซึ่งมีข้อความว่า

บุคคลเมื่อทราบความไม่เที่ยง ความแปรปรวน ความคลายและความดับของธัมมารมณ์ทั้งหลายนั่นแล แล้วเห็นด้วยปัญญาชอบตามความเป็นจริงอย่างนี้ว่า ธัมมารมณ์ในก่อนและในบัดนี้ ทั้งหมดนั้นไม่เที่ยง เป็นทุกข์ มีความแปรปรวนเป็นธรรมดา ย่อมเกิดอุเบกขาขึ้น อุเบกขาเช่นนี้นั้นไม่ล่วงเลยธัมมารมณ์ไปได้ ดังนั้นเราจึงเรียกว่า อุเบกขาอาศัยเนกขัมมะ เหล่านี้ อุเบกขาอาศัยเนกขัมมะ ๖

ข้อที่เรากล่าวดังนี้ว่า พึงทราบทางดำเนินของสัตว์ ๓๖ นั่น เราอาศัยทางดำเนินดังนี้กล่าวแล

สำหรับอุเบกขาที่อาศัยเรือน หมายความถึง อัญญาณอุเบกขา

อัญญาณะ หมายความว่า ไม่ใช่ญาณ ไม่ประกอบด้วยญาณ ท่านอาจจะคิดว่า ท่านเฉยๆ ไม่ยินดี ยินร้าย ฝึกหัดเข้าบ่อยๆ คงจะเป็นปัญญาที่สามารถละภพละชาติได้ แต่ถ้าตราบใดที่ญาณปัญญาไม่เกิดรู้สภาพธรรมตามความเป็นจริง อุเบกขานั้นก็ยังเป็นอัญญาณอุเบกขา

ข้อความใน ปปัญจสูทนี มีว่า

พระขีณาสพชื่อว่า โอทิชินะ หมายถึง ผู้ข้ามห้วงกิเลส ทะเลกิเลส เพราะชำนะห้วงน้ำ คือ กิเลส ดำรงอยู่ เพราะฉะนั้น ปุถุชนชื่อว่า อขีณาสวะ เพราะเหตุว่า ลักษณะของปุถุชนตรงกันข้ามกับขีณาสพ

ข้อความต่อไป แสดงความต่างกันของพระอรหันต์กับปุถุชนว่า

พระขีณาสพชื่อว่า ผู้ชนะวิบาก เพราะชนะวิบาก ดำรงอยู่ เพราะฉะนั้น ปุถุชนชื่อว่า อขีณาสวะ เพราะไม่ชนะวิบาก ไม่เห็นโทษ ไม่สดับ ไม่ศึกษา

ไม่เห็นโทษ คือ ไม่เห็นโดยความเป็นโทษ

ข้อความอธิบาย อุเบกขาอาศัยเรือน ๖ มีว่า

เมื่ออิฏฐารมณ์นั้นมาสู่คลองในทวารทั้ง ๖ หมายความถึง ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ อุเบกขาไม่ล่วงเลยรูปเป็นต้นเกิดขึ้น ก็ข้องติดอยู่ในรูปเป็นต้นเหล่านั้น เหมือนแมลงวันจับอยู่ที่ก้อนน้ำอ้อย พึงทราบว่า อุเบกขาอาศัยเรือน ๖

ข้อความต่อไปที่ว่า อุเบกขาไม่ล่วงเลยรูป คือ อุเบกขาที่ไม่ตั้งอยู่ด้วยสามารถ นิพพิทาในรูป เป็นต้น เหล่านั้น

อุเบกขาอาศัยเนกขัมมะ ๖ เมื่อไม่ติดในอิฏฐารมณ์ ไม่ยินร้ายในอนิฏฐารมณ์ ไม่หลงใหลเพราะยินดี ไม่เพ่ง ไม่ติดข้องในส่วนที่น่าปรารถนา และไม่น่าปรารถนา อุเบกขาที่สัมปยุตต์ด้วยอุเบกขาญาณเกิดแก่ผู้เช่นนั้นเรียกว่า อุเบกขาอาศัยเนกขัมมะ

ถ. เมื่อเริ่มเจริญมรรคมีองค์ ๘ ปัญญาเริ่มรู้ลักษณะนามและรูป แต่ยังไม่ใช่ถึงนามรูปปริจเฉทญาณ โดยมากอุเบกขาเกิดร่วมด้วย โสมนัสก็เกิดร่วมด้วยได้ แต่ไม่ใช่ญาณ ไม่ใช่อุเบกขาอัญญาณ แต่ก็ไม่ใช่อาศัยกามคุณ

สุ. ถามว่า เวลาเริ่มเจริญสติปัฏฐาน นามรูปริจเฉทญาณยังไม่เกิด แต่มีการรู้ลักษณะของนามธรรมบ้าง รู้ลักษณะของรูปธรรมบ้าง เป็นมหากุศลจิต ในขณะนั้นไม่ควรจะเป็นอุเบกขาที่อาศัยเรือน หรือโสมนัสที่อาศัยเรือน เพราะกำลังระลึกรู้ลักษณะของนามและรูป

แต่ที่จริงแล้วในที่นี้ยังอาศัยเรือน เพราะกิเลสที่เป็นอนุสัยยังไม่ถึงขั้นที่จะคลาย หรือจะหมดไปได้

ญาณต้องเกิด ความสมบูรณ์ของปัญญาต้องมีเป็นลำดับขั้น เพราะเพียงแต่การระลึกรู้ลักษณะของรูปบ้าง นามบ้าง ทางตาบ้าง หูบ้าง จมูกบ้าง ลิ้นบ้าง กายบ้าง ใจบ้าง ในการเริ่มเจริญสติทีละเล็กทีละน้อยเป็นมหากุศล แต่ยังเป็นไปในวัฏฏะ

ข้อความต่อไปใน สฬายตนวิภังคสูตร มัชฌิมนิกาย อุปริปัณณาสก์ ข้อ ๖๓๑ มีว่า

พวกเธอจงอาศัยทางดำเนินของสัตว์นี้ ละทางดำเนินของสัตว์นี้ นั่นเราอาศัยอะไรกล่าวแล้ว

ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ใน ๓๖ ประการนั้น พวกเธอจงอาศัย คือ อิงโสมนัสอาศัยเนกขัมมะ ๖ นั้นๆ แล้วละ คือ ล่วงเสียซึ่งโสมนัสอาศัยเรือน ๖ นั้นๆ อย่างนี้ ย่อมเป็นอันละโสมนัสนั้นๆ ได้ เป็นอันล่วงโสมนัสนั้นๆ ได้

ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ใน ๓๖ ประการนั้น พวกเธอจงอาศัย คือ อิงโทมนัสอาศัยเนกขัมมะ ๖ นั้นๆ แล้วละ คือ ล่วงเสียซึ่งโทมนัสอาศัยเรือน ๖ นั้นๆ อย่างนี้ ย่อมเป็นอันละโทมนัสนั้นๆ ได้ เป็นอันล่วงโทมนัสนั้นๆ ได้

ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ใน ๓๖ ประการนั้น พวกเธอจงอาศัย คือ อิงอุเบกขาอาศัยเนกขัมมะ ๖ นั้นๆ แล้วละ คือ ล่วงเสียซึ่งอุเบกขาอาศัยเรือน ๖ นั้นๆ อย่างนี้ ย่อมเป็นอันละอุเบกขานั้นๆ ได้ เป็นอันล่วงอุเบกขานั้นๆ ได้

ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ใน ๓๖ ประการนั้น พวกเธอจงอาศัย คือ อิงโสมนัสอาศัยเนกขัมมะ ๖ นั้นๆ แล้วละ คือ ล่วงเสียซึ่งโทมนัสอาศัยเนกขัมมะ ๖ นั้นๆ อย่างนี้ ย่อมเป็นอันละโทมนัสนั้นๆ ได้ เป็นอันล่วงโทมนัสนั้นๆ ได้

ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ใน ๓๖ ประการนั้น พวกเธอจงอาศัย คือ อิงอุเบกขาอาศัยเนกขัมมะ ๖ นั้นๆ แล้วละ คือ ล่วงเสียซึ่งโสมนัสอาศัยเนกขัมมะ ๖ นั้นๆ อย่างนี้ ย่อมเป็นอันละโสมนัสนั้นๆ ได้ เป็นอันล่วงโสมนัสนั้นๆ ได้

ข้อที่เรากล่าวดังนี้ว่า พึงทราบทางดำเนินของสัตว์ ๓๖ นั่น เราอาศัยทางดำเนินดังนี้กล่าวแล้ว

ไม่ใช่เฉพาะพุทธบริษัทในครั้งโน้น สัตว์โลกทั้งหมดมีเวทนา มีความรู้สึก โสมนัส โทมนัส อุเบกขา ท่านผู้ใดเคยมีโสมนัส โทมนัส อุเบกขาในรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ธัมมารมณ์ ก็เป็นทางดำเนินของผู้นั้น ตราบใดที่ยังไม่เจริญสติปัฏฐาน พิจารณาได้จากชีวิตประจำวัน ท่านที่ฟังธรรมรู้ว่า พระผู้มีพระภาคได้ทรงแสดงธรรม ทั้งเบื้องต้น ท่ามกลาง และที่สุด ไม่ใช่เพียงเพื่อเจริญกุศลขั้นทาน ขั้นศีล ขั้นสมถภาวนา แต่เป็นการเจริญปัญญาเพื่อรู้สภาพธรรมตามความเป็นจริง แล้วละคลายกิเลสเป็นลำดับขั้น

เพราะฉะนั้น ก็แล้วแต่ทางดำเนินของสัตว์ซึ่งมี ๓๖ เป็นโทมนัสเวทนาบ้าง เป็นโสมนัสเวทนาบ้าง เป็นอุเบกขาเวทนาบ้าง คือ แสวงหา ใคร่ ยินดี เป็นไปในรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ หรือเป็นผู้ที่เริ่มเจริญสติระลึกรู้สภาพธรรมเป็นทางดำเนินอีก ๑๘ ประการ คือ เป็นโสมนัส โทมนัส อุเบกขาที่อาศัยเนกขัมมะ ไม่ใช่อาศัยเรือนเหมือนอย่างแต่ก่อน

เปิด  226
ปรับปรุง  12 ต.ค. 2566