แนวทางเจริญวิปัสสนา ตอนที่ 52

ที่กล่าวถึงพระวินัยก่อนนั้น เพื่อที่จะได้เห็นว่า คณปลิโพธไม่ขัดขวางการเจริญวิปัสสนา เพราะเหตุว่าการกล่าวสอน การพร่ำสอนในเหตุในผลนั้น ย่อมทำให้เกิดปัญญา ความเข้าใจที่ถูกต้อง ไม่ทำให้เกิดโทษหรือไม่ทำให้เกิดความเสียหายเลย ถ้าพระผู้มีพระภาคไม่ทรงแสดงธรรม ก็ไม่มีใครสามารถจะบรรลุธรรมได้ แต่เพราะเหตุที่พระผู้มีพระภาคและพระสาวกได้พร่ำสอนกล่าวแนะนำแสดงธรรม เพราะฉะนั้น การพร่ำสอนการกล่าวแนะนำหมู่คณะนั้น จึงไม่ขัดขวางการเจริญวิปัสสนา

พระวินัยปิฎก มหาวรรค ภาค ๑ อุโปสถขันธกะ เรื่องปริพาชกอัญญเดียรถีย์มีข้อความว่า

สมัยนั้น พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ ภูเขาคิชกูฏ เขตพระนครราชคฤห์ ครั้งนั้น พวกปริพาชกอัญญเดียรถีย์ ถึงวัน ๑๔ ค่ำ ๑๕ ค่ำ และ ๘ ค่ำแห่งปักษ์ ย่อมประชุมกันกล่าวธรรม คนทั้งหลายก็พากันเข้าไปหาปริพาชกอัญญเดียรถีย์เหล่านั้นเพื่อ ฟังธรรม พวกเขาได้ความรัก ได้ความเลื่อมใสในพวกปริพาชกอัญญเดียรถีย์ พวกปริพาชกอัญญเดียรถีย์ย่อมได้พรรคพวก พระเจ้าพิมพิสารได้มีพระราชปริวิตกเกิดขึ้นว่า

ไฉนหนอ พระคุณเจ้าทั้งหลายพึงประชุมกันในวัน ๑๔ ค่ำ ๑๕ ค่ำ และ ๘ ค่ำแห่งปักษ์บ้าง พระองค์จึงไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคกราบทูลให้ทรงทราบ และขอประทานพระวโรกาส ขอให้พระคุณเจ้าทั้งหลายพึงประชุมกันในวัน ๑๔ ค่ำ ๑๕ ค่ำ และ ๘ ค่ำแห่งปักษ์

พระผู้มีพระภาคทรงทำธรรมีกถาในเพราะเหตุเป็นเค้ามูลนั้น ในเพราะเหตุแรกเกิดนั้น แล้วทรงอนุญาตให้ภิกษุทั้งหลายประชุมกันในวันที่ ๑๔ ค่ำ ๑๕ ค่ำ และ ๘ ค่ำแห่งปักษ์ ภิกษุก็ประชุมกันในวัน ๑๔ ค่ำ ๑๕ ค่ำ และ ๘ ค่ำแห่งปักษ์ แล้วนั่งนิ่งเสีย

คนทั้งหลายเข้าไปหาภิกษุเหล่านั้นเพื่อฟังธรรม พวกเขาต่างก็เพ่งโทษติเตียนโพนทะนาว่า ไฉนพระสมณะเชื้อสายแห่งพระศากยบุตรประชุมกันในวัน ๑๔ ค่ำ ๑๕ ค่ำ และ ๘ ค่ำแห่งปักษ์ จึงได้นั่งนิ่งเสียเหมือนสุกรอ้วนเล่า ธรรมเนียมภิกษุผู้ประชุมกันควรกล่าวธรรมมิใช่หรือ

ภิกษุทั้งหลายได้ยินพวกนั้นเพ่งโทษ ติเตียน โพนทะนาอยู่ จึงกราบทูลเรื่องนั้นแด่พระผู้มีพระภาค พระผู้มีพระภาคทรงทำธรรมีกถาในเพราะเหตุเป็นเค้ามูลนั้น ในเพราะเหตุแรกเกิดนั้น แล้วทรงอนุญาตให้ภิกษุทั้งหลายประชุมกันกล่าวธรรมในวัน ๑๔ ค่ำ ๑๕ ค่ำ และ ๘ ค่ำแห่งปักษ์ และภายหลังพระผู้มีพระภาคทรงอนุญาตสิกขาบทที่พระองค์ทรงบัญญัติแล้วแก่ภิกษุทั้งหลาย ให้เป็นปาติโมกขุทเทศ เป็นอุโบสถกรรม ทรงอนุญาตให้สวดปาติโมกข์

จะเห็นว่าในพุทธศาสนานั้นไม่ได้ห้ามพูดเลย โดยเฉพาะไม่ได้ห้ามการแสดงธรรม การพร่ำสอน หรือการกล่าวสอนธรรม แม้การสวดปาติโมกข์ก็ไม่เป็นเครื่องขัดขวางการเจริญสติ ถ้ามีความเข้าใจการเจริญสติ เพราะเหตุว่าไม่ว่าจะพูด ไม่ว่าจะนิ่ง ไม่ว่าจะคิด ผู้ที่เจริญสติก็ย่อมสามารถที่จะใส่ใจรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏตามปกติที่เป็นชีวิตจริงๆ ตามความเป็นจริงได้

เพราะฉะนั้น ในพระพุทธศาสนาการเจริญสติปัฏฐาน ไม่ห้ามพูด มีใครบ้างไหมที่วันหนึ่งๆ ไม่ได้พูด แต่จะพูดมากหรือพูดน้อย จะพูดเรื่องอะไร เพราะเหตุว่าถึงแม้จะเป็นภิกษุ บางครั้งบางรูปก็ยังพูดเรื่องพระราชา เรื่องโน้นเรื่องนี้ที่เป็นเดรัจฉานคาถา เพราะเหตุว่าท่านยังเป็นผู้ที่ยังมีกิเลสอยู่

ผู้ที่ยังไม่ได้ละอาคารบ้านเรือนเป็นผู้ที่เจริญสติ พูดได้ไหม หรือว่าห้ามพูดไม่ให้พูด ถ้าเป็นปกติชีวิตจริงๆ แล้ว แม้ขณะที่พูดก็ให้มีการรู้สึกตัว เพื่อที่จะได้รู้ลักษณะของนามหรือรูปที่กำลังปรากฏในขณะนั้น เพราะเหตุว่าการพูดก็เป็นของจริง ไม่ต้องไปบังคับ ไปฝืน ไปสร้างชีวิตให้ผิดปกติไป

ถ้าไม่ใช่ปัญญาที่รู้สภาพของนามและรูปที่เป็นปกติในชีวิตตามความเป็นจริงแล้ว ไม่ใช่ปัญญาที่ละกิเลส ละไม่ได้ ชั่วครั้งชั่วคราวที่ไปบังคับไว้ แล้วก็คิดว่ารู้ลักษณะของนามและรูป รู้ไม่ทั่ว รู้ไม่จริง ไม่ใช่การรอบรู้ เพราะฉะนั้น ก็ละไม่ได้

ผู้ใดก็ตามที่เข้าใจการเจริญสติ ในมหาสติปัฏฐาน ในกายานุปัสสนาสติปัฏฐานก็มี ไม่ว่ากำลังพูด กำลังนิ่ง ก็ให้เป็นผู้ที่มีสติ การเจริญสติปัฏฐานนั้นเพื่อปัญญารู้ลักษณะของสิ่งที่กำลังปรากฏ

เพราะฉะนั้น สติปัฏฐาน หมายความถึงการรู้ลักษณะของสิ่งที่กำลังปรากฏ กำลังพูดมีลักษณะอะไรปรากฏบ้างไหม หรือไม่มี มีเห็นไหม มีเย็นไหม มีสภาพธรรมหลายอย่าง มีการเคลื่อนไหว หรือว่ามีแข็งมีอ่อนที่ปรากฏ ในส่วนที่กำลังปรากฏนั้น สติก็สามารถที่จะระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏในขณะนั้นได้

บางท่านก็ใจร้อน หรือว่าอยากให้ปัญญาเกิดมากๆ ก็พยายามไปคิดว่า อะไรเป็นปัจจัยในขณะที่สภาพธรรมหนึ่งสภาพธรรมใดกำลังปรากฏ แต่ถ้าไม่รู้ลักษณะว่าสภาพนั้นเป็นรูป เป็นสภาพที่ไม่ใช่สภาพรู้ หรือว่าสภาพนั้นเป็นนามธรรมถูกต้องตามความเป็นจริงแล้ว จะไม่รู้ปัจจัย จะไม่รู้เหตุที่ทำให้สิ่งนั้นเกิดขึ้น นอกจากคิดเพราะอาศัยการศึกษา คิดเพราะเคยฟังมาว่า อะไรเป็นปัจจัยให้อะไรเกิดขึ้น แต่ไม่ใช่การรู้ในขณะที่สิ่งนั้นกำลังปรากฏ ถ้าเป็นการรู้ในขณะที่สิ่งนั้นกำลังปรากฏแล้ว ความรู้ต้องเกิดขึ้นชัดเจนถูกต้องเป็นลำดับขั้น

ถ้าปัญญายังไม่สามารถที่จะรู้ลักษณะที่ต่างกันของนามและรูปทางตา จะรู้ได้อย่างไรว่า การเห็นมีอะไรเป็นปัจจัย เมื่อกำลังรู้ชัดในลักษณะที่กำลังปรากฏ ก็จะรู้ปัจจัยที่ทำให้เกิดนามและรูปในขณะนั้นด้วย

เป็นเรื่องที่เห็นได้ว่า การกล่าวสอน การพร่ำสอน การแสดงธรรมของพระผู้มีพระภาคนั้นมีประโยชน์มาก ผู้ที่ศึกษาธรรมด้วยความรอบคอบ ด้วยความละเอียด ประพฤติปฏิบัติตามก็ย่อมจะได้รับประโยชน์ แต่ไม่ใช่ผู้ที่ไม่ฟัง ถ้าผู้ที่ไม่ฟังก็หมดโอกาส เพราะเหตุว่าไม่สามารถที่จะบรรลุมรรคผลได้โดยการคิดเอาเอง เพราะฉะนั้น การฟังธรรมหรือว่าการกล่าวสอนหมู่คณะนั้น ไม่ใช่เครื่องกั้นของการเจริญสติปัฏฐาน

มีใครที่จะเจริญสติปัฏฐานและพยายามไม่พูด มีบ้างไหม ในพระไตรปิฎกห้ามหรือไม่ แสดงเหตุผลว่า การคลุกคลีกับหมู่คณะ การกล่าวเรื่องที่ไม่ใช่กุศลย่อมเป็นเหตุให้เพลิดเพลินไปในอกุศล เป็นไปกับโลภะ โทสะ โมหะ แต่ถ้าเป็นกุศล ก็เป็น วิริยกถา เป็นปัญญากถา เป็นสติ เป็นมรรคมีองค์ ๘

เพราะฉะนั้น ผู้ที่ฟังธรรมก็จะต้องพิจารณา เพราะว่าบางท่านอยากให้มีสติมากๆ ไม่อยากพูดกับใครเลย บางทีอาจจะเป็นความรู้สึกอย่างนั้นว่า ไม่อยากพูด เพราะว่าอยากเจริญสติ นั่นเป็นความต้องการสติ ไม่ได้เป็นปกติธรรมดา ซึ่งถ้าเป็นตามปกติธรรมดาแล้ว บางครั้งก็อาจจะพูด และมีการรู้สึกตัวได้ ไม่ว่ากำลังพูดอะไรก็ตาม หรือว่ารู้สภาพลักษณะความต่างกันของขณะที่หลงลืมสติกับขณะที่มีสติ รู้ได้ว่าพูดขณะไหนไม่มีสติ หรือว่าขณะไหนที่ไม่ได้หลงลืมสติ เพราะว่ารู้ลักษณะของสิ่งที่กำลังปรากฏตามปกติได้ ไม่ใช่ว่ามีไม่ได้

ก็คงจะไม่มีปัญหาในเรื่อง การกล่าวสอนหมู่คณะว่า ไม่ขัดขวางการเจริญ วิปัสสนา

ในอังคุตตรนิกาย จตุกนิบาต อาภาวรรคที่ ๕ มีข้อความว่า

ดูกร ภิกษุทั้งหลาย กาล ๔ นี้ อันบุคคลบำเพ็ญโดยชอบ ให้เป็นไปโดยชอบ ย่อมให้ถึงความสิ้นอาสวะโดยลำดับ กาล ๔ เป็นไฉน คือ การฟังธรรมตามกาล ๑ การสนทนาธรรมตามกาล ๑ การสงบตามกาล ๑ การพิจารณาตามกาล ๑

กาล ๔ นี้แล อันบุคคลบำเพ็ญโดยชอบ ให้เป็นไปโดยชอบ ย่อมให้ถึงความสิ้นอาสวะโดยลำดับ

ดูกร ภิกษุทั้งหลาย เมื่อฝนเม็ดใหญ่ตกบนภูเขา น้ำไหลไปตามที่ลุ่ม ย่อมยังซอกเขา ลำธาร และห้วยให้เต็ม ซอกเขา ลำธาร และห้วยเต็มแล้ว ย่อมยังหนองให้เต็ม หนองเต็มแล้วย่อมยังบึงให้เต็ม บึงเต็มแล้วย่อมยังแม่น้ำน้อยให้เต็ม แม่น้ำน้อยเต็มแล้วย่อมยังแม่น้ำใหญ่ให้เต็ม แม่น้ำใหญ่เต็มแล้วย่อมยังสมุทรสาครให้เต็ม แม้ฉันใด กาล ๔ นี้ อันบุคคลบำเพ็ญโดยชอบ ให้เป็นไปโดยชอบ ย่อมให้ถึงความสิ้นอาสวะโดยลำดับ ฉันนั้นเหมือนกันแล

ถ้าไม่เคยเจริญสติเลยสักขณะเดียว สติจะมีมากได้ไหม ก็ไม่ได้

ถ้าไม่มีการฟังธรรมเลย ไม่มีการพิจารณาเรื่องของการเจริญสติปัฏฐานให้เข้าใจถูกต้องเลย สัมมาสติจะระลึกรู้ลักษณะของนามและรูปที่กำลังปรากฏทุกๆ ขณะแล้วปัญญาจะรู้ชัดได้ไหม ก็ไม่ได้

แต่ถ้ามีการเจริญสติทีละเล็กทีละน้อยแล้ว ก็ย่อมสามารถที่จะทำให้ปัญญารู้ชัดในลักษณะของสิ่งที่ปรากฏได้

บางท่านอาจจะบอกว่า กำลังเห็นเมื่อไรจะรู้ชัดสักทีว่า สภาพที่เห็นก็เป็นแต่เพียงนามชนิดหนึ่ง ละคลายไม่ยึดถือว่าเป็นตัวตน ไม่ใช่ตัวตนจริงๆ

กำลังเห็น ถ้าไม่เจริญเหตุให้ถูกต้องแล้ว การรู้ชัด การละ การคลาย การยึดถือในขณะที่กำลังเห็นว่าเป็นตัวตนก็หมดไปไม่ได้ แต่ที่จะหมดได้ก็ต้องเจริญสติ ระลึก รู้ลักษณะของนามและรูปที่กำลังปรากฏบ่อยๆ เนืองๆ ทีละเล็กทีละน้อย แล้ววันหนึ่งความรู้ต้องชัดขึ้น นี่เป็นของที่แน่นอนที่สุด แต่อย่าคิดที่จะบรรลุอริยสัจโดยไม่เจริญสติหรือว่าโดยไม่รู้ลักษณะของนามและรูป

บางท่านไม่คิดว่าจะต้องรู้ลักษณะของนามและรูป แต่คิดว่าจะไปรู้ทุกข์บ้าง คิดว่าจะรู้แจ้งอริยสัจจะได้โดยไม่รู้ลักษณะของนามและรูป ซึ่งเป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้เลย

ประโยชน์ของการฟังธรรมมีมากทีเดียว พระไตรปิฎกทั้ง ๓ ปิฎกนั้นก็ควรค่าแก่การฟัง ควรค่าแก่การศึกษา ควรค่าแก่การอ่าน การค้นค้า เพื่อให้ได้รับประโยชน์ให้เต็มที่ เพราะเหตุว่าที่พระผู้มีพระภาคทรงพระมหากรุณาแสดงธรรมถึง ๔๕ พรรษา ก็เพื่ออนุเคราะห์ให้ผู้ฟังได้เข้าใจสภาพธรรมชัดเจนถูกต้องตามความเป็นจริง เพราะเหตุว่าถ้าพระองค์ไม่ทรงแสดงไว้โดยละเอียดแล้ว ก็อาจจะทำให้เข้าใจผิดพลาดคลาดเคลื่อนไปได้

การฟังธรรม ท่านที่ฟังก็คงได้ทราบประโยชน์ว่า มีประโยชน์อย่างไรบ้าง แม้แต่พระผู้มีพระภาคเอง

สังยุตตนิกาย มหาวารวรรค คิลานสูตรที่ ๓

ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคประทับ ณ พระวิหารเวฬุวัน ใกล้พระนครราชคฤห์ สมัยนั้น พระผู้มีพระภาคทรงประชวรเป็นไข้หนัก ครั้งนั้น ท่านพระมหาจุนทะเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาค พระผู้มีพระภาคได้ตรัสกับท่านพระมหาจุนทะว่า

ดูกร จุนทะ โพชฌงค์จงแจ่มแจ้งแก่เธอ

ท่านพระมหาจุนทะกราบทูลว่า

ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ โพชฌงค์ ๗ เหล่านี้ พระผู้มีพระภาคตรัสไว้ชอบแล้ว อันบุคคลเจริญแล้ว กระทำให้มากแล้ว ย่อมเป็นไปเพื่อความรู้ยิ่ง เพื่อความตรัสรู้ เพื่อนิพพาน โพชฌงค์ ๗ เป็นไฉน

ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ สติสัมโพชฌงค์ พระผู้มีพระภาคตรัสไว้ชอบแล้ว อันบุคคลเจริญแล้ว กระทำให้มากแล้ว ย่อมเป็นไปเพื่อความรู้ยิ่ง เพื่อความตรัสรู้ เพื่อนิพพาน

ต่อจากนั้นก็เป็นโพชฌงค์ประการอื่นๆ คือ ธัมมวิจยสัมโพชฌงค์ วิริยสัมโพชฌงค์ ปิติสัมโพชฌงค์ ปัสสัทธิสัมโพชฌงค์ สมาธิสัมโพชฌงค์ อุเบกขาสัมโพชฌงค์

ซึ่งพระผู้มีพระภาคตรัสไว้ชอบแล้ว อันบุคคลเจริญแล้ว กระทำให้มากแล้ว ย่อมเป็นไปเพื่อความรู้ยิ่ง เพื่อความตรัสรู้ เพื่อนิพพาน

พระผู้มีพระภาคตรัสว่า

ดูกร จุนทะ โพชฌงค์ดีนัก ดูกร จุนทะ โพชฌงค์ดีนัก

ท่านพระมหาจุนทะได้กล่าวไวยยากรณภาษิตนี้แล้ว พระศาสดาทรงพอพระทัย พระผู้มีพระภาคทรงหายจากประชวรนั้น และอาพาธนั้นอันพระผู้มีพระภาคทรงละแล้ว ด้วยประการฉะนี้แล

มีประโยชน์ไหมการฟังธรรม แม้แต่เวลาที่กำลังไม่สบาย แต่ต้องเข้าใจด้วย และต้องแล้วแต่บุคคลด้วย ถ้าบุคคลนั้นไม่สนใจในธรรม ยิ่งทำให้ไม่สบายมากขึ้นโพชฌงค์อะไรก็ไม่ทราบ ไม่รู้เรื่องเลย ถ้าพูดเรื่องอื่นก็ยังพอเพลิดเพลินเจริญใจไปได้ชั่วครู่ชั่วยาม แต่ถ้าพูดเรื่องโพชฌงค์ ไม่เข้าใจ ไม่รู้เรื่อง เพราะฉะนั้น ก็อาจจะไม่มีประโยชน์สำหรับคนที่ไม่ฝักใฝ่และไม่เข้าใจในธรรม แต่สำหรับผู้ที่เข้าใจ ขณะที่กำลังไม่สบาย ถ้าได้เปลี่ยนจากอารมณ์ที่จะทำให้ร่างกายต้องตรากตรำไม่ได้พักผ่อนมาเป็นเหตุปัจจัยที่จะทำให้ได้รับการพักผ่อน เป็นต้นว่าการฟังสิ่งที่แม้พระผู้มีพระภาคได้ทรงแสดงแล้ว

เพื่อที่จะได้ให้ร่างกายได้พ้นจากการตรากตรำ ได้รับการพักผ่อน เพราะฉะนั้น การที่ท่านพระมหาจุนทะกล่าวกราบทูลให้พระผู้มีพระภาคได้สดับฟังในเรื่องของโพชฌงค์ ก็เป็นสิ่งที่ทำให้ร่างกายได้พัก และพระผู้มีพระภาคก็ทรงหายจากประชวร

ในเรื่องของโพชฌงค์ ก็ไม่ใช่แต่เฉพาะเวลาที่พระผู้มีพระภาคทรงประชวรเท่านั้น แม้เวลาที่พระองค์ประทับที่พระวิหารเวฬุวัน ใกล้พระนครราชคฤห์ ท่านพระมหาโมคคัลลานะอาพาธเป็นไข้หนักอยู่ที่ภูเขาคิชกูฏ พระผู้มีพระภาคก็ทรงอนุเคราะห์ทรงแสดงธรรมโพชฌงค์แก่ท่านพระมหาโมคคัลลานะ หรือเวลาที่ท่านพระมหากัสสปะไม่สบายอาพาธเป็นไข้หนักอยู่ที่ถ้ำปิปผลิคูหา พระผู้มีพระภาคก็ทรงพระมหากรุณาเสด็จไปแสดงธรรมแก่ท่านพระมหากัสสปะ และท่านพระมหากัสสปะก็หายจากการอาพาธเป็นไข้หนักนั้น

แสดงให้เห็นประโยชน์ของธรรม เพราะฉะนั้น ก็คงจะไม่ท้อถอยเบื่อหน่ายในการฟังธรรม เพราะเหตุว่าการฟังย่อมได้รับประโยชน์มากสำหรับผู้ที่เห็นคุณ และมีความเข้าใจธรรมนั้นชัดเจนขึ้น เพราะเหตุว่าถ้าฟังแล้วไม่เข้าใจก็ต้องเบื่อแน่

สังยุตตนิกาย มหาวารวรรค อุปัฑฒสูตร มีข้อความว่า

สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ นิคมของชาวสักยะ ชื่อสักกระ ในแคว้นสักกะของชาวศากยะทั้งหลาย ครั้งนั้นท่านพระอานนท์เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคว่า

ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ความเป็นผู้มีมิตรดี มีสหายดี มีเพื่อนดีนี้ เป็นกึ่งหนึ่งของพรหมจรรย์เทียวนะ พระเจ้าข้า

พระผู้มีพระภาคตรัสว่า

ดูกร อานนท์ เธออย่าได้กล่าวอย่างนั้น เธออย่าได้กล่าวอย่างนั้น ก็ความเป็นผู้มีมิตรดี มีสหายดี มีเพื่อนดี นี้เป็นพรหมจรรย์ทั้งสิ้นทีเดียว

ดูกร อานนท์ อันภิกษุผู้มีมิตรดี มีสหายดี มีเพื่อนดี พึงหวังได้ว่าจักเจริญอริยมรรคประกอบด้วยองค์ ๘ จักกระทำให้มากซึ่งอริยมรรคประกอบด้วยองค์ ๘

แล้วพระผู้มีพระภาคได้ตรัสต่อไปถึงเรื่องของอริยมรรคมีองค์ ๘ และตรัสต่อไปว่า

ดูกร อานนท์ ข้อว่าความเป็นผู้มีมิตรดี มีสหายดี มีเพื่อนดี เป็นพรหมจรรย์ทั้งสิ้นทีเดียวนั้น พึงทราบโดยปริยายแม้นี้ ด้วยว่าเหล่าสัตว์ผู้มีชาติเป็นธรรมดา ย่อมพ้นไปจากชาติ ผู้มีชราเป็นธรรมดาย่อมพ้นไปจากชรา ผู้มีมรณะเป็นธรรมดาย่อมพ้นไปจากมรณะ ผู้มีโสกะ ปริเทวะ ทุกขะ โทมนัส และอุปายาสะ เป็นธรรมดาย่อมพ้นไปจากโสกะ ปริเทวะ ทุกขะ โทมนัส และอุปายาสะ เพราะอาศัยเราผู้เป็นกัลยาณมิตร

ดูกร อานนท์ ข้อว่า ความเป็นผู้มีมิตรดี มีสหายดี มีเพื่อนดี เป็นพรหมจรรย์ทั้งสิ้นทีเดียวนั้น พึงทราบโดยปริยายนี้แล

จะเห็นได้ถึงความสำคัญของการฟังธรรม เพราะถ้ามีผู้ที่ได้ทรงพร่ำสอนอย่างพระผู้มีพระภาคโดยละเอียด ก็เป็นกัลยาณมิตร เพราะฉะนั้น ผู้ที่จะประพฤติปฏิบัติตามหนทางสายเอกที่จะนำให้ถึงความสิ้นทุกข์ทั้งปวงได้ หนทางนั้นไม่ใช่หนทางง่ายๆ และก็ไม่ใช่หนทางหยาบๆ แต่ว่าเป็นหนทางละเอียดที่สุขุม ที่จะต้องประพฤติปฏิบัติด้วยความเข้าใจ ตั้งแต่เบื้องต้นที่เกิดจากขั้นของการฟัง ถ้าความเข้าใจที่เกิดจากขั้นการฟังไม่มี ไม่ถูก ความเข้าใจที่เกิดจากขั้นการฟังไม่มี ความเข้าใจที่เกิดจากขั้นการฟังไม่ถูกแล้ว ก็ไม่มีหนทางพ้นจากชาติ ชรา พยาธิ โสกะ มรณะ ทุกขะ โทมนัส อุปายาสะได้เลย

ข้อความใน สารีปุตตสูตร (สังยุตตนิกาย มหาวารวรรค) ซึ่งท่านพระสารีบุตรได้เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ กราบทูลพระผู้มีพระภาคว่า

ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ความเป็นผู้มีมิตรดี มีสหายดี มีเพื่อนดี นี้เป็นพรหมจรรย์ทั้งสิ้นเทียวนะ พระเจ้าข้า

พระผู้มีพระภาคตรัสว่า

ถูกละ ถูกละ สารีบุตร ความเป็นผู้มิตรดี มีสหายดี มีเพื่อนดี นี้เป็นพรหมจรรย์ทั้งสิ้น

ดูกร สารีบุตร ภิกษุผู้มีมิตรดี มีสหายดี มีเพื่อนดี พึงหวังข้อนี้ได้ว่า จักเจริญอริยมรรคประกอบด้วยองค์ ๘ จักกระทำให้มากซึ่งอริยมรรคประกอบด้วยองค์ ๘

เปิด  253
ปรับปรุง  2 มิ.ย. 2565