แนวทางเจริญวิปัสสนา ตอนที่ 60

พระวินัยปิฎก ปริวาร ว่าด้วยไม่ถึงฉันทาคติ มีข้อความว่า

คำว่า ไม่พึงถึงฉันทาคตินั้น ความว่า เมื่อถึงฉันทาคติ ถึงอย่างไร

ภิกษุบางรูปในธรรมวินัยนี้ คิดว่าท่านผู้นี้เป็นอุปัชฌาย์ของเรา เป็นอาจารย์ของเรา เป็นสัทธิวิหาริกของเรา เป็นอันเตวาสิกของเรา เป็นผู้ร่วมอุปัชฌาย์ของเรา เป็นผู้ร่วมอาจารย์ของเรา เป็นผู้เคยเห็นกันมากับเรา เป็นผู้เคยร่วมคบกันมากับเรา หรือท่านผู้นี้เป็นญาติสาโลหิตของเราดังนี้ เพื่ออนุเคราะห์ผู้นั้น เพื่อตามรักษาท่านผู้นั้น จึงแสดงอธรรมว่า ธรรม แสดงธรรมว่า อธรรม

แสดงอวินัยว่า วินัย แสดงวินัยว่า อวินัย

แสดงสิ่งที่พระตถาคตไม่ได้ตรัสภาษิตว่า พระตถาคตตรัสภาษิตแล้ว แสดงสิ่งที่พระตถาคตตรัสภาษิตแล้วว่า พระตถาคตไม่ได้ตรัสภาษิต

แสดงสิ่งที่พระตถาคตไม่ได้ทรงประพฤติมาว่า พระตถาคตทรงประพฤติมาแล้ว แสดงสิ่งที่พระตถาคตทรงประพฤติมาแล้วว่า พระตถาคตไม่ได้ทรงประพฤติมา

แสดงสิ่งที่พระตถาคตไม่ได้ทรงบัญญัติว่า พระตถาคตทรงบัญญัติแล้ว แสดงสิ่งที่พระตถาคตทรงบัญญัติแล้วว่า พระตถาคตไม่ได้ทรงบัญญัติ

แสดงอนาบัติว่า อาบัติ แสดงอาบัติว่า อนาบัติ

แสดงอาบัติเบาว่า อาบัติหนัก แสดงอาบัติหนักว่า อาบัติเบา

แสดงอาบัติมีส่วนเหลือว่า อาบัติไม่มีส่วนเหลือ แสดงอาบัติไม่มีส่วนเหลือว่า อาบัติมีส่วนเหลือ

แสดงอาบัติชั่วหยาบว่า อาบัติไม่ชั่วหยาบ แสดงอาบัติไม่ชั่วหยาบว่า อาบัติชั่วหยาบ

ภิกษุถึงฉันทาคติด้วยวัตถุ ๑๘ อย่างนี้ ย่อมปฏิบัติเพื่อไม่เกื้อกูลแก่ชนหมู่มาก เพื่อความไม่เป็นสุขแก่ชนหมู่มาก เพื่อความพินาศแก่คนหมู่มาก เพื่อความไม่เกื้อกูล เพื่อทุกข์แก่เทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย

ภิกษุผู้ถึงฉันทาคติด้วยวัตถุ ๑๘ อย่างนี้ ย่อมบริหารตนให้ถูกขุด ถูกกำจัด เป็นผู้ประกอบด้วยโทษ อันวิญญูชนพึงติเตียน และย่อมประสบบาป มิใช่บุญ

ภิกษุเมื่อถึงฉันทาคติ ย่อมถึงอย่างนี้

ต่อไปเป็นข้อความว่าด้วยถึงโทสาคติ โดยนัยเดียวกัน คือ มีข้อความว่า

ภิกษุบางรูปในธรรมวินัยนี้ผูกอาฆาตว่า ผู้นี้ได้ก่อความพินาศแก่เราแล้ว ผู้นี้กำลังก่อความพินาศแก่เรา ผู้นี้จักก่อความพินาศแก่เรา

หรือว่าผู้นี้ได้ก่อความพินาศแก่ผู้เป็นที่รักที่พอใจ ผู้นี้กำลังก่อความพินาศแก่ผู้เป็นที่รักที่พอใจ ผู้นี้จักก่อความพินาศแก่ผู้เป็นที่รักที่พอใจ

ผู้นี้ได้ก่อประโยชน์แก่ผู้ไม่เป็นที่รักที่พอใจของเรา ผู้นี้กำลังก่อประโยชน์แก่ผู้ไม่เป็นที่รักที่พอใจของเรา ผู้นี้จักก่อประโยชน์แก่ผู้ไม่เป็นที่รักที่พอใจของเรา

เมื่อเป็นเช่นนี้ ย่อมแสดงอธรรมว่า ธรรม

และมีข้อความต่อไปโดยนัยเดียวกัน ต่อจากนั้นมีข้อความกล่าวถึงว่าด้วยถึงโมหาคติ มีข้อความว่า

ภิกษุเป็นผู้กำหนัด ย่อมถึงด้วยความกำหนัด เป็นผู้ขัดเคือง ย่อมถึงด้วยอำนาจความขัดเคือง เป็นผู้หลง ย่อมถึงด้วยอำนาจความหลง เป็นผู้ลูบคลำ ย่อมถึงด้วยอำนาจทิฏฐิ

ภิกษุเป็นผู้หลงงมงาย ถูกโมหะครอบงำ ย่อมแสดงอธรรมว่า ธรรม

และมีข้อความต่อไปเหมือนๆ กัน ก็เป็นเรื่องของพยัญชนะที่ว่าเป็นผู้ลูบคลำ หมายความว่า เป็นผู้ที่ยังประพฤติปฏิบัติหนทางซึ่งยังไม่แน่ใจว่า หนทางนั้นจะเป็นหนทางที่ถูกหรือหนทางที่ผิด ย่อมถึงด้วยอำนาจทิฏฐิ คือ ความเห็นผิด เพราะเหตุว่า นี่เป็นข้อความว่าด้วยถึงโมหาคติ ด้วยอำนาจของความหลง

ต่อไปเป็นข้อความว่าด้วยไม่ถึงภยาคติ มีข้อความว่า

คำว่า ไม่พึงถึงภยาคตินั้น ความว่า เมื่อถึงภยาคติ ถึงอย่างไร

ภิกษุบางรูปในพระธรรมวินัยนี้ คิดว่าผู้นี้อาศัยความประพฤติไม่เรียบร้อย อาศัยความยึดถือ อาศัยพรรคพวกมีกำลัง เป็นผู้ร้ายกาจหยาบคาย จักทำอันตรายแก่ชีวิต หรือทำอันตรายแก่พรหมจรรย์ดังนี้ จึงขลาดเพราะกลัวต่อผู้นั้น ย่อมแสดงอธรรมว่า ธรรม ฯลฯ

ภิกษุเมื่อถึงภยาคติ ย่อมถึงอย่างนี้

ต่อจากนั้นเป็น นิคมคาถา มีข้อความว่า

ผู้ใดประพฤติล่วงธรรม เพราะชอบ เพราะชัง เพราะกลัว เพราะหลง ยศของผู้นั้นย่อมเสื่อม เหมือนดวงจันทร์ในวันข้างแรกฉะนั้น

ส่วนผู้ที่ไม่ถึงฉันทาคติ ไม่ถึงโทสาคติ ไม่ถึงโมหาคติ ไม่ถึงภยาคตินั้นก็ตรงกันข้าม และมีนิคมคาถาว่า

ผู้ใดไม่ประพฤติล่วงธรรม เพราะชอบ เพราะชัง เพราะกลัว เพราะหลง ยศของผู้นั้นย่อมเต็มเปี่ยม เหมือนดวงจันทร์ในวันข้างขึ้นฉะนั้น

ขอกล่าวถึงเรื่องการถึงฉันทาคติ ถึงอย่างไร เพราะเห็นว่าเป็นอุปัชฌาย์ เป็นอาจารย์ เป็นสัทธิวิหาริก เป็นอันเตวาสิก เป็นผู้ร่วมอุปัชฌาย์ เป็นผู้ร่วมอาจารย์ เป็นผู้เคยเห็นกันมา เป็นผู้เคยร่วมคบกันมา หรือท่านผู้นี้เป็นญาติสาโลหิตของเรา มีฉันทาคติ เพื่อตามรักษาผู้นั้น จึงกล่าวอธรรมว่า ธรรม กล่าวธรรมว่า อธรรม

นี่คือการเป็นผู้ถึงด้วยฉันทาคติ โทสาคติ โมหาคติ ภยาคติ ซึ่งผู้ที่เป็นพระอริยบุคคล ท่านละอคติได้ ถึงแม้ท่านจะสงเคราะห์ญาติ ก็ไม่ใช่ด้วยอคติ แต่ตามควรแก่ความเป็นญาติ

เพราะฉะนั้น เรื่องของญาติ ก็มีกล่าวไว้ทั้งในเรื่องของพระวินัย ในเรื่องของพระสูตร ที่จะต้องสงเคราะห์ตามควรแก่ฐานะ แต่ว่าไม่เป็นเครื่องขัดขวางการเจริญสติปัฏฐานเลย

พระพุทธศาสนาไม่ได้จำกัดที่จะสงเคราะห์แต่เฉพาะญาติ ไม่ให้ละเลยการสงเคราะห์ญาติ พระผู้มีพระภาคทรงให้อนุเคราะห์สัตว์โลก ไม่ใช่แต่เฉพาะพระญาติ แม้แต่พระสงฆ์สาวกก็เหมือนกัน ไม่ได้อนุเคราะห์แต่เฉพาะบุคคลผู้เป็นญาติเท่านั้น แต่ขณะใดที่ท่านสามารถจะสงเคราะห์ญาติได้ โดยฐานะของความเป็นญาติ ท่านก็ไม่ละเลยโอกาสเหมือนกัน

อย่างท่านพระสารีบุตร ท่านกลับไปปรินิพพานเพื่อแสดงธรรมอนุเคราะห์มารดาของท่าน แม้มารดาในอดีตชาติก่อนๆ ของท่าน ก็ปฏิสนธิเป็นเปรตที่หิวกระหาย ท่านก็ได้ให้ทานแล้วอุทิศส่วนกุศล อนุเคราะห์มารดาในอดีตของท่านด้วย

การสงเคราะห์ญาตินี้ สงเคราะห์ทั้งในขณะที่ยังมีชีวิตอยู่ และก็ในขณะที่ล่วงลับไปแล้ว ถ้าสามารถกระทำได้ ก็เป็นการเจริญกุศลทั้งของบุคคลนั้นเอง และสำหรับญาติด้วย แต่ไม่ใช่ว่าให้สงเคราะห์แต่เฉพาะญาติ

ขุททกนิกาย เปตวัตถุ สังสารโมจกเปตวัตถุ ข้อ ๙๘ มีข้อความที่ท่านพระสารีบุตรอนุเคราะห์นางเปรตตนหนึ่ง นางเปรตตนนี้ ได้ขอให้ท่านพระสารีบุตรอุทิศส่วนอกุศลให้

เพราะเมื่อครั้งที่นางเกิดเป็นมนุษย์นั้น ชนเหล่าใดเป็นบิดาก็ดี มารดาก็ดี หรือแม้เป็นญาติ ผู้มีจิตเลื่อมใสที่จะชักชวนให้นางให้ทานแก่สมณพราหมณ์ทั้งหลายนั้น ไม่มีเลย เพราะฉะนั้น เมื่อจุติ คือ สิ้นชีวิตแล้ว ด้วยอกุศลกรรมที่ได้กระทำไว้ ทำให้ปฏิสนธิเป็นเปรต เปลือยกาย ถูกความหิวความกระหายเบียดเบียน แต่นางมีจิตเลื่อมใสในท่านพระสารีบุตร นางได้มาไหว้ท่านพระสารีบุตร และขอให้ท่านพระสารีบุตรอนุเคราะห์ด้วยการให้ทานและอุทิศกุศลให้

ซึ่งท่านพระสารีบุตรก็รับคำ แล้วได้ถวายข้าวคำหนึ่ง ผ้าประมาณเท่าฝ่ามือผืนหนึ่ง พร้อมทั้งน้ำดื่มขันหนึ่งแก่ภิกษุรูปหนึ่ง และอุทิศส่วนบุญให้แก่นางเปรตตนนั้น ภายหลังนางเปรตตนนั้นก็ได้ปฏิสนธิเป็นเทพธิดา เข้าไปไหว้ท่านพระสารีบุตร แสดงผลแห่งทักษิณา คือ การอุทิศส่วนกุศลให้

ก็เป็นเรื่องที่อนุเคราะห์ไม่ใช่แต่เฉพาะญาติ อนุเคราะห์ทั่วไปหมด เพราะฉะนั้น เรื่องของญาติก็มีกล่าวไว้ทั้งในพระวินัย ในพระสูตร ที่จะต้องสงเคราะห์ตามควรตามฐานะ แต่ไม่เป็นเครื่องขัดขวางการเจริญสติปัฏฐานเลย

เรื่องของธรรมเป็นเรื่องที่ละเอียดสุขุมจริงๆ ถ้าท่านผู้ใดฟังแล้วไม่พิจารณา จะเข้าใจธรรมของพระผู้มีพระภาคผิดได้ ขอยกตัวอย่าง อังคุตตรนิกาย ติกนิบาต ชัปปสูตร มีข้อความว่า

ปริพาชกผู้วัจฉโคตร ได้เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ กราบทูลถามว่า

ได้สดับมาว่า พระสมณโคดมตรัสว่า พึงให้ทานแก่เราคนเดียว ไม่ควรให้แก่คนอื่นๆ พึงให้ทานแก่สาวกของเรานี้แหละ ไม่ควรให้ทานแก่สาวกของคนอื่นๆ ทานที่ให้แก่เราเท่านั้นมีผลมาก ที่ให้แก่คนอื่นๆ หามีผลมากไม่ ทานที่ให้แก่สาวกของเราเท่านั้นมีผลมาก ที่ให้แก่สาวกของคนอื่นๆ หามีผลมากไม่

ปริพาชกผู้วัจฉโคตรกราบทูลว่า

ข้าแต่พระโคดมผู้เจริญ ชนเหล่าใดได้กล่าวไว้เช่นนี้ ชนเหล่านั้นได้ชื่อว่าพูดตามพระโคดมตรัส ไม่พูดตู่ท่านพระโคดมด้วยคำไม่จริง และชื่อว่าพยากรณ์ธรรมสมควรแก่ธรรม

อนึ่ง การคล้อยตามคำพูดที่ชอบธรรมไรๆ ย่อมไม่มาถึงฐานะที่น่าติเตียนแหละหรือ เพราะข้าพระองค์ไม่ประสงค์ที่จะพูดตู่ท่านพระโคดม

พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า

ดูกร วัจฉะ ผู้ใดพูดว่าพระสมณโคดมตรัสว่า พึงให้ทานแก่เราคนเดียว ไม่ควรให้แก่คนอื่นๆ พึงให้ทานแก่สาวกของเรานี้แหละ ไม่ควรให้ทานแก่สาวกของคนอื่นๆ ทานที่ให้แก่เราเท่านั้นมีผลมาก ที่ให้แก่คนอื่นๆ หามีผลมากไม่ ทานที่ให้แก่สาวกของเราเท่านั้นมีผลมาก ทานที่ให้แก่สาวกของคนอื่นๆ หามีผลมากไม่

ผู้นั้นชื่อว่า ไม่พูดตามที่เราพูด ทั้งกล่าวตู่เราด้วยคำอันไม่ดี ไม่เป็นจริง

ดูกร วัจฉะ ผู้ใดแล ห้ามผู้อื่นซึ่งให้ทานอยู่ ผู้นั้นชื่อว่า ย่อมกระทำอันตรายแก่วัตถุทั้งหลาย ๓ อย่าง เป็นโจรดักปล้นวัตถุ ๓ อย่าง

วัตถุ ๓ อย่างเป็นไฉน คือ

ย่อมทำอันตรายแก่บุญของทายก ๑

ย่อมทำอันตรายแก่ลาภของปฏิคาหก ๑

ตนของบุคคลนั้นย่อมเป็นอันถูกกำจัด และถูกทำลายก่อนทีเดียวแล ๑

คือ จิตของผู้นั้นเองเป็นอกุศล ในขณะนั้นที่ไม่อนุโมทนาในการบริจาคของผู้อื่น

พระผู้มีพระภาคตรัสต่อต่อไปว่า

ดูกร วัจฉะ ก็เราพูดเช่นนี้ว่า ผู้ใดสาดน้ำล้างภาชนะ หรือน้ำล้างขันไป แม้ที่สัตว์ซึ่งอาศัยอยู่ที่บ่อน้ำครำ หรือบ่อโสโครกข้างประตูบ้าน ด้วยตั้งใจว่าสัตว์ที่อาศัยอยู่ในที่นี้ จงยังอัตภาพให้เป็นไปด้วยสิ่งนั้นเถิด ดังนี้

ดูกร วัจฉะ เรากล่าวกรรมซึ่งมีการสาดน้ำล้างภาชนะนั้นเป็นเหตุว่าเป็นที่มาแห่งบุญ จะป่วยกล่าวไปใย ถึงสัตว์มนุษย์เล่า

ดูกร วัจฉะ อีกประการหนึ่ง เราย่อมกล่าวว่า ทานที่ให้แก่ท่านผู้มีศีล มีผลมาก ที่ให้ในคนทุศีล หาเหมือนเช่นนั้นไม่ ทั้งท่านผู้มีศีลนั้น เป็นผู้ละองค์ ๕ ได้แล้ว ประกอบด้วยองค์ ๕

ละองค์ ๕ เหล่าไหนได้ คือ ละกามฉันทะ ๑ พยาปาทะ ๑ ถีนมิทธะ ๑ อุทัจจกุกกุจจะ ๑ วิจิกิจฉา ๑ ท่านผู้ใดมีศีล ละองค์ ๕ นี้ได้แล้ว

ประกอบด้วยองค์ ๕ เป็นไฉน คือ

ประกอบด้วยศีลขันธ์ที่เป็นของพระอเสขะ ๑

ประกอบด้วยสมาธิขันธ์ที่เป็นของพระอเสขะ ๑

ประกอบด้วยปัญญาขันธ์ที่เป็นของพระอเสขะ ๑

ประกอบด้วยวิมุตติขันธ์ที่เป็นของพระอเสขะ ๑

ประกอบด้วยวิมุตติญาณทัสสนขันธ์ที่เป็นของพระอเสขะ ๑

ท่านผู้มีศีลประกอบด้วยองค์ ๕ นี้ เรากล่าวว่า ทานที่ให้ในท่านที่ละองค์ ๕ ได้ ประกอบด้วยองค์ ๕ ดังกล่าวมา มีผลมาก

พระผู้มีพระภาคตรัสต่อไปว่า

โคอุสุภะที่เขาฝึกแล้ว นำธุระไป สมบูรณ์ด้วยกำลัง ประกอบด้วยเชาว์อันดี จะเกิดในสีสันชนิดใดๆ คือ สีดำ สีขาว สีแดง สีเขียว สีด่าง สีตามธรรมชาติของตน สีเหมือนโคธรรมดา หรือสีเหมือนนกพิราบก็ดี ชนทั้งหลายย่อมเทียมเข้าในแอก ไม่ต้องใฝ่คำนึงถึงสีสันของโคนั้นฉันใด ในหมู่มนุษย์ก็ฉันนั้นเหมือนกัน

ผู้ที่ฝึกตนดีแล้ว มีวัตรเรียบร้อย ตั้งอยู่ในธรรม สมบูรณ์ด้วยศีล พูดแต่คำสัตย์ มีใจประกอบด้วยหิริ ละชาติและมรณะได้ มีพรหมจรรย์บริบูรณ์ ปลงภาระลงแล้ว พ้นกิเลส ทำกิจเสร็จแล้ว หมดอาสวะ รู้จบธรรมทุกอย่าง ดับสนิทแล้ว เพราะไม่ถือมั่น ย่อมจะเกิดได้ในสัญชาติอย่างใดอย่างหนึ่ง ในบรรดาสัญชาติเหล่านี้ คือ กษัตริย์ พราหมณ์ แพศย์ ศูทร คนจัณฑาล และคนเทขยะมูลฝอยในเขตที่ปราศจากธุลีนั้นแล ทักษิณาย่อมมีผลมาก

ส่วนคนพาลไม่รู้แจ้ง ทรามปัญญา มิได้สดับตรับฟัง ย่อมพากันให้ทานในภายนอก ไม่เข้าไปหาสัตบุรุษ ก็สัทธาของผู้ที่เข้าไปหาสัตบุรุษ ผู้มีปัญญายกย่องกันว่าเป็นปราชญ์ หยั่งรากลงตั้งมั่นในพระสุคตแล้ว เขาเหล่านั้นย่อมพากันไปเทวโลก หรือมิฉะนั้นก็เกิดในสกุลในโลกนี้ บัณฑิตย่อมบรรลุนิพพานได้โดยลำดับ

นี่ก็เป็นเรื่องของการฟัง ถ้าฟังไม่เข้าใจชัดเจน ก็อาจจะตู่พระผู้มีพระภาคได้ เป็นต้นว่า เข้าใจว่าพระผู้มีพระภาคตรัสว่า ควรให้ทานแต่เฉพาะพระองค์ หรือว่าสาวกของพระองค์ ทานที่ให้แก่พระองค์มีผลมาก ที่ให้แก่คนอื่นหามีผลมากไม่ หรือว่าทานที่ให้แก่สาวกของพระองค์เท่านั้นมีผลมาก ที่ให้แก่สาวกของคนอื่นหามีผลมากไม่ ไม่ว่าท่านจะได้รับฟังพระธรรมข้อใดประการใด ก็ควรที่จะได้พิจารณาให้ถูกต้อง

พระผู้มีพระภาคทรงสรรเสริญการให้ทาน ถ้าบุคคลใดกำลังให้ทาน แล้วผู้อื่นห้ามการให้ทานของบุคคลนั้น ย่อมชื่อว่ากระทำอันตรายแก่วัตถุ ๓ อย่าง หรือว่าเป็นโจรดักปล้นวัตถุ ๓ อย่าง เพราะว่าจิตใจในขณะนั้นไม่เป็นกุศล และไม่อนุโมทนา

นอกจากนั้นพระผู้มีพระภาคยังตรัสว่า

ดูกร วัจฉะ อีกประการหนึ่ง เราย่อมกล่าวว่า ทานที่ให้แก่ท่านผู้มีศีลมีผลมาก ที่ให้ในคนทุศีลหาเหมือนเช่นนั้นไม่ การให้เป็นบุญ แต่ทานที่ให้กับคนมีศีล หาเหมือนกับทานที่ให้กับคนทุศีลไม่

ต้องพิจารณาให้ถูกต้องด้วย ข้อประพฤติปฏิบัติของผู้ไตร่ตรองธรรม ก็ย่อมตรง ถูกต้อง และได้รับประโยชน์มากขึ้น

สำหรับอุบาสกอุบาสิกา จะมีข้อความที่พระผู้มีพระภาคตรัสว่าจะเจริญหรือเสื่อมเพราะเหตุใดใน อังคุตตรนิกาย สัตตกนิบาต หานิสูตร

พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ธรรม ๗ ประการนี้ ย่อมเป็นไปเพื่อความเสื่อมแก่อุบาสก

บางทีอุบาสกอุบาสิกาไม่ทราบว่า กำลังเสื่อมหรือกำลังเจริญเพราะอะไร เป็นผู้ที่นับถือพระรัตนตรัย ต้องการจะประพฤติปฏิบัติเพื่อความเจริญในธรรมยิ่งขึ้น แต่ถ้าไม่ทราบเหตุ ก็อาจจะไม่ทราบว่า ที่กำลังประพฤติปฏิบัติอยู่นี้ เป็นเหตุที่ทำให้เจริญหรือว่าเป็นเหตุที่ทำให้เสื่อม

เพราะฉะนั้น สำหรับผู้ที่มีความเลื่อมใสในพระรัตนตรัยและชื่อว่าเป็นอุบาสกอุบาสิกาแล้ว ก็จะต้องเข้าใจธรรม ๗ ประการที่เป็นไปเพื่อความเจริญนั้นด้วยว่า มีอะไรบ้าง

ไม่ละเลยการฟังธรรม และศึกษาอยู่ในอธิศีล

อธิศีล ก็คือ การเจริญสตินั่นเอง ถ้ารักษาศีลเฉยๆ แต่คิดว่า เป็นตัวตนที่กำลังวิรัติ หรือว่ากำลังประพฤติตามศีลที่ได้สมาทานหรือที่ได้ตั้งใจจะรักษา ไม่รู้ว่าเป็นสภาพของนามธรรม ไม่รู้ลักษณะของนามและรูปที่กำลังปรากฏในขณะนั้น ก็ไม่ชื่อว่า อธิศีล

เพราะฉะนั้น ผู้ที่เป็นอุบาสกอุบาสิกาที่จะเจริญ ต้องไม่ละเลยการฟังอริยธรรม และศึกษาอยู่ในอธิศีลด้วย ไม่แสวงหาเขตบุญอื่นภายนอกศาสนานี้ และกระทำสักการะก่อนในเขตบุญในศาสนานี้

ถ้าผู้ใดศึกษามาก ฟังมาก พิจารณามาก น้อมนำมาประพฤติปฏิบัติตามมาก ก็ย่อมจะเป็นผู้ที่ได้รับประโยชน์จากพระธรรมวินัยมาก

ต่อไปประการที่ ๘ อาพาธปลิโพธ ซึ่งได้แก่การเจ็บไข้ได้ป่วย ความกังวลห่วงใยในเรื่องของโรคภัยไข้เจ็บ ไม่เป็นเครื่องกั้นการเจริญสติปัฏฐานเลย ถ้าผู้นั้นเข้าใจเจริญสติปัฏฐาน แต่ถ้าไม่เข้าใจ อะไรๆ ก็ดูจะเป็นเครื่องกั้นไปเสียทุกสิ่งทุกอย่าง

ที่อยู่ก็กั้น ญาติพี่น้องก็กั้น การงานก็กั้น ทุกสิ่งทุกอย่างกั้น ขัดขวางการเจริญสติปัฏฐานทั้งหมด ไม่ให้มีสติเกิดขึ้นได้เลย นั่นเป็นเรื่องของผู้ที่ไม่รู้ นั่นเป็นเรื่องของผู้ที่ไม่เข้าใจ แต่ว่าผู้ที่มีความเข้าใจการเจริญสติปัฏฐานแล้ว จะไม่มีอุปสรรค จะไม่มีอะไรกั้น

ความเข้าใจเป็นอาหาร โยนิโสมนสิการในขณะที่ฟังแล้วเกิดความเข้าใจ เป็นปัจจัยทำให้มีการระลึกรู้ลักษณะของสิ่งที่กำลังปรากฏได้

เปิด  221
ปรับปรุง  2 มิ.ย. 2565