แนวทางเจริญวิปัสสนา ตอนที่ 51

ถึงมีกำลังก็ทำเป็นดังคนทุรพล

สุ. จะใช้กำลังทำอะไร รบราฆ่าฟันเบียดเบียนประทุษร้ายต่อสู้กันหรืออย่างไร เพราะเหตุว่ากำลังของร่างกายที่มีควรจะใช้ให้เป็นประโยชน์ในการดำเนินชีวิตไปวันหนึ่งๆ ให้เป็นประโยชน์ในทางธรรม ไม่ใช่เอาร่างกายที่แข็งแรงไปเบียดเบียนไปประทุษร้ายไปต่อสู้กัน เพราะเหตุว่าข้อความต่อไปมีว่า

แต่เมื่อประโยชน์เกิดขึ้น ถึงจะนอนอยู่ในเวลาใกล้ตาย ก็ยังทำประโยชน์นั้นได้ นั่นคือผู้ที่มีปัญญาจริง เพราะเหตุว่าเป็นปัญญาพละ

ที่ว่ากำลังในที่นี้ ถึงแม้ว่าจะมีร่างกายแข็งแรง ก็ควรที่จะใช้ร่างกายที่แข็งแรงนั้นเจริญปัญญาให้เป็นปัญญาพละ เพราะปัญญาเป็นสิ่งที่เป็นประโยชน์ทุกขณะ แม้เวลาที่นอนอยู่ในเวลาใกล้ตายก็ยังทำประโยชน์นั้นได้

ทุกคนไม่ทราบว่าจะตายที่ไหน ด้วยโรคภัยไข้เจ็บอะไร ธรรมทั้งหลายเป็นอนัตตา บังคับบัญชาไม่ได้ เพราะฉะนั้น ถ้าผู้ใดไม่เจริญสติไม่เจริญปัญญาเนืองๆ ในเวลาที่ใกล้จะตายเป็นอันว่าหมดหวัง เพราะเหตุว่าสติก็ไม่เคยเจริญ

แต่ถ้าผู้ใดเจริญสติปัฏฐาน ไม่ว่าจะอยู่ ณ สถานที่ใด ถ้าเป็นปัญญาจะไม่จำกัดสถานที่

จะเห็นได้ว่า แม้ข้อความใน มหากัจจายนเถรคาถา ก็ได้กล่าวไว้ว่า ถึงจะนอนอยู่ในเวลาใกล้ตายก็ยังทำประโยชน์นั้นได้ หมายความถึงผู้ที่เจริญสติเจริญปัญญา เพราะฉะนั้น ไม่ว่าเวลาจะเจ็บไข้ ไม่ว่าใกล้จะตาย ไม่ว่าจะอยู่ ณ สถานที่ใด ก็สามารถที่จะเจริญสติเจริญปัญญาได้ทั้งสิ้น

ตัวอย่างของพระภิกษุที่ท่านไม่ติดในลาภ ไม่มีลาภปลิโพธ ไม่ใช่ว่าทุกคนจะต้องเหมือนกันหมด คือ จะต้องเป็นผู้ที่หนักหรือติดข้องอยู่ในลาภ แม้แต่ฆราวาสก็มีอัธยาศัยต่างๆ กัน การที่จะติดในลาภมากบ้างน้อยบ้าง ก็เป็นเรื่องของแต่ละคน บางท่านอาจจะไม่ติดข้องอยู่ในลาภนั้นเลย ตัวอย่างที่จะขอกล่าวถึงคือ

สังยุตตนิกาย สฬายตนวรรคมหกสูตร มีข้อความว่า

สมัยหนึ่ง ภิกษุผู้เถระมากรูปอยู่ที่อัมพาฏกวัน ใกล้ราวป่ามัจฉิกาสณฑ์ ครั้งนั้น จิตตคฤหบดีได้เข้าไปหาภิกษุผู้เถระทั้งหลาย

สำหรับท่านจิตตคฤหบดีนี้ เป็นผู้เลิศกว่าอุบาสกสาวกผู้เป็นธรรมกถึก เพราะฉะนั้น ถ้าอ่านพระไตรปิฎกที่มีข้อความเกี่ยวถึงท่านจิตตคฤหบดี ก็จะเห็นถึงความที่ท่านเป็นผู้ที่ฝักใฝ่สนใจในธรรมเป็นอันมาก

ครั้งนั้น จิตตคฤหบดีได้เข้าไปหาภิกษุผู้เถระทั้งหลาย อาราธนาให้พระเถระให้ไปรับภัตตาหารที่โรงโคของท่านในวันรุ่งขึ้น

รุ่งเช้า ภิกษุผู้เถระทั้งหลายก็ได้ไปยังโรงโคของจิตตคฤหบดี จิตตคฤหบดีก็ได้อังคาสภิกษุผู้เถระทั้งหลายให้อิ่มหนำสำราญเพียงพอ ด้วยข้าวปายาสเจือด้วยเนยใสอย่างประณีตด้วยมือของตนเอง เมื่อภิกษุผู้เถระทั้งหลายฉันเสร็จแล้ว ก็ลุกจากอาสนะกลับไป จิตตคฤหบดีได้เดินตามไปส่งภิกษุผู้เถระทั้งหลายข้างหลังๆ (คือ ตามไปข้างหลัง) ขณะนั้นเป็นเวลาร้อนจัด ภิกษุผู้เถระทั้งหลายได้เดินไปด้วยกายที่คล้ายจะหดเข้าฉะนั้น ทั้งที่ได้ฉันโภชนะอิ่มแล้ว

อากาศร้อนมาก เพราะฉะนั้น ก็ได้รับทุกขเวทนาจากการที่จะต้องเดินกลับไปที่อารามในขณะที่อากาศร้อนจัด

ในครั้งนั้น ท่านพระมหกะเป็นผู้อ่อนกว่าทุกองค์ในภิกษุสงฆ์หมู่นั้น ท่านพระมหกะได้พูดกับพระเถระผู้เป็นประธานว่า

ข้าแต่ท่านผู้เจริญ เป็นการดีทีเดียวที่พึงมีลมเย็นพัดมาและพึงมีแดดอ่อน ทั้งฝนพึงโปรยลงมาทีละเม็ดๆ

ท่านพระเถระกล่าวว่า

ท่านมหกะ เป็นการดีทีเดียวที่พึงมีลมเย็นพัดมาและพึงมีแดดอ่อน ทั้งฝนพึงโปรยลงมาทีละเม็ดๆ

เมื่อท่านพระมหกะได้ฟังดังนั้น ก็บันดาลอิทธิปาฏิหาริย์ให้มีลมเย็นพัดมาและมีแดดอ่อน ทั้งให้มีฝนโปรยลงมาทีละเม็ดๆ

ท่านจิตตคฤหบดีก็คิดว่า ภิกษุผู้อ่อนกว่าทุกองค์ในภิกษุสงฆ์หมู่นี้เป็นผู้มี ฤทธานุภาพเห็นปานนี้ทีเดียว เมื่อท่านพระมหกะไปถึงอารามแล้ว ท่านก็ได้ถามพระเถระผู้เป็นประธานว่า การบันดาลฤทธิ์เท่านี้เป็นการเพียงพอหรือ

เพราะเหตุว่าพระภิกษุท่านก็เหน็ดเหนื่อย ถ้ามีสิ่งใดที่ท่านพระเถระผู้เป็นประธานต้องการ ท่านพระมหกะก็จะได้บันดาลให้

พระเถระผู้เป็นประธานก็ได้กล่าวว่า

เพียงพอแล้ว

จิตตคฤหบดีได้เข้าไปหาท่านมหกะถึงที่อยู่ และขอให้แสดงปาฏิหาริย์ เพราะ เห็นว่าท่านเป็นผู้ที่มีความสามารถในการแสดงฤทธิ์ ท่านพระมหกะก็ให้จิตตคฤหบดีปูผ้าห่มที่ระเบียง แล้วก็เอาฟ่อนหญ้าโปรยลงที่ผ้านั้น แล้วท่านมหกะก็เข้าไปสู่พระวิหารใส่กลอน บันดาลให้เปลวไฟแลบออกมานอกห้องไหม้หญ้า แต่ไม่ให้ไหม้ผ้าห่ม ซึ่งก็ทำให้จิตตคฤหบดีตกใจกลัวสลัดผ้าห่ม

ท่านพระมหกะก็ออกมาจากห้องแล้วก็ถามว่า

การบันดาลฤทธิ์เท่านี้ เพียงพอไหม

ซึ่งจิตตคฤหบดีก็บอกว่าเพียงพอแล้ว แล้วเมื่อเห็นท่านพระมหกะเป็นพระภิกษุผู้มีฤทธิ์ เห็นความสามารถในทางสมณธรรมของท่าน ก็ได้ขอให้ท่านพระมหกะ พำนัก ณ อัมพาฏกวนารามที่น่ารื่นรมย์ ใกล้ราวป่ามัจฉิกาสณฑ์ โดยที่ท่านจิตตคฤหบดีจักบำรุงด้วยจีวร บิณฑบาต เสนาสนะ และ คิลานเภสัชบริขาร

ท่านพระมหกะกล่าวว่า

ดูกร คฤหบดี นั่นท่านกล่าวดีแล้ว

ครั้งนั้น ท่านมหกะได้เก็บเสนาสนะ ถือบาตรและจีวรเดินทางออกจากราวป่าชื่อมัจฉิกาสณฑ์ ไม่ได้กลับมาอีกเหมือนกับภิกษุรูปอื่นๆ ที่เดินทางจากไป ฉะนั้น แม้ว่าท่านคฤหบดีจะมีความเลื่อมใสขอให้ท่านพำนักอยู่ และจะบำรุงให้ความสะดวกสบายแก่ท่านทุกประการ

แต่เพราะเหตุว่าท่านเป็นผู้ที่ไม่ติดไม่ข้องในลาภ เพราะฉะนั้น แทนที่ท่านจะอยู่ ท่านก็จากไปโดยที่ไม่ได้กลับมาอีกเลย

อีกตัวอย่างหนึ่งคล้ายๆ กัน สถานที่เดียวกัน และก็ท่านจิตตคฤหบดีอีกเช่นเคย

สังยุตตนิกาย สฬายตนวรรคอิติทัตตสูตร มีข้อความว่า

ณ อัมพาฏกวนาราม ใกล้ราวป่ามัชฉิกาสณฑ์ ท่านจิตตคฤหบดีได้อาราธนาพระภิกษุเถระทั้งหลายให้ไปรับภัตตาหาร ก่อนที่ท่านจะถวายภัตตาหารท่านก็ได้ถามปัญหาพระเถระผู้เป็นประธาน คือถามว่า

เพราะอะไรมี ทิฏฐิต่างๆ จึงมี

ครั้งที่หนึ่ง พระเถระผู้เป็นประธานก็นิ่ง ครั้งที่สอง พระเถระผู้เป็นประธานก็นิ่ง แม้ครั้งที่สาม พระเถระผู้เป็นประธานก็นิ่ง

ท่านพระอิติทัตตะเป็นผู้ใหม่กว่าทุกองค์ในภิกษุสงฆ์หมู่นั้น ท่านพระอิติทัตตะได้ขอโอกาสพระเถระผู้เป็นประธานเพื่อที่จะพยากรณ์ปัญหาของท่านจิตตคฤหบดี แล้วก็ได้ตอบท่านจิตตคฤหบดีว่า

เพราะสักกายทิฏฐิมี ทิฏฐิเหล่านั้นจึงมี

ท่านจิตตคฤหบดีก็ได้ซักถามต่อไปเพื่อความแจ่มแจ้งของธรรม คือ จิตตคฤหบดีได้ถามว่า

ก็สักกายทิฏฐิย่อมไม่เกิดนั้น มีได้อย่างไร

ท่านพระอิติทัตตะตอบว่า

พระอริยสาวกในพระธรรมวินัยนี้ ผู้ได้สดับแล้ว ได้เห็นพระอริยเจ้า ฉลาดในธรรมของพระอริยเจ้า ไม่เห็นรูปโดยความเป็นตน ๑ ไม่เห็นตนโดยความมีรูป ๑ ไม่เห็นรูปในตน ๑ ไม่เห็นตนในรูป ๑

ต่อไปก็เป็นเรื่องของเวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ โดยนัยเดียวกัน

ซึ่งจิตตคฤหบดีเมื่อได้ฟังก็ทราบว่า ท่านพระอิติทัตตะมีความเข้าใจที่ถูกต้องก็ถามท่านว่า

พระคุณเจ้าอิติทัตตะมาจากไหน

ท่านพระอิติทัตตะก็กล่าวว่า

มาจาก อวันตีชนบท

ท่านจิตตคฤหบดีก็ได้กราบเรียนถามต่อไปว่า

ข้าแต่ท่านผู้เจริญ กุลบุตรมีนามว่า อิติทัตตะในอวันตีชนบท เป็นสหายที่ไม่เคยเห็นกันของข้าพเจ้าได้ออกบรรพชามีอยู่ พระคุณเจ้าได้เห็นท่านหรือไม่

ท่านพระอิติทัตตะก็ได้กล่าวตอบว่า

ได้เห็น คฤหบดี

ท่านจิตตคฤหบดีกล่าวว่า

ข้าแต่ท่านผู้เจริญ เดี๋ยวนี้ท่านผู้มีอายุรูปนั้นอยู่ที่ไหนหนอ

เมื่อจิตตคฤหบดีได้ถามอย่างนี้ ท่านพระอิติทัตตะก็ได้นิ่งอยู่ ซึ่งจิตตคฤหบดีก็เข้าใจได้ เพราะฉะนั้นจิตตคฤหบดีก็ได้กล่าวว่า

ข้าแต่ท่านผู้เจริญ ท่านอิติทัตตะของข้าพเจ้า คือ พระคุณเจ้าหรือ

ซึ่งท่านพระอิติทัตตะก็ได้กล่าวตอบว่า

ใช่ละ คฤหบดี

แล้วต่อจากนั้นท่านจิตตคฤหบดีก็ได้ขอให้ท่านพระอิติทัตตะพำนัก ณ อัมพาฏกวนารามที่น่ารื่นรมย์ ใกล้ราวป่ามัจฉิกาสณฑ์ และท่านก็จะบำรุงด้วยจีวร ด้วยบิณฑบาต เสนาสนะ คิลานเภสัชบริขาร

ท่านอิติทัตตะกล่าวจิตตคฤหบดีว่า

ดูกร คฤหบดี ท่านกล่าวดีแล้ว

ซึ่งจิตตคฤหบดีก็ชื่นชมอนุโมทนาภาษิตของท่านพระอิติทัตตะ ต่อจากนั้นก็ได้อังคาสภิกษุให้อิ่มหนำสำราญด้วยภัตตาหารอย่างประณีต

พระเถระผู้เป็นประธานเห็นปฏิภาณของท่านพระอิติทัตตะ ก็ได้ให้โอกาสท่าน อิติทัตตะว่า

ดีแล้วท่านอิติทัตตะ ปัญหาข้อนั้นแจ่มแจ้งแก่ท่าน มิได้แจ่มแจ้งแก่ผม ต่อไปถ้าปัญหาเช่นนี้พึงมีมาแม้โดยประการอื่นในกาลใด ท่านนั่นแหละพึงกล่าวตอบปัญหาเช่นนั้น ในกาลนั้น

ครั้งนั้นท่านพระอิติทัตตะ ได้เก็บเสนาสนะถือบาตรและจีวร เดินทางออกจาก ราวป่าชื่อมัจฉิโกสณฑ์ ไม่ได้กลับมาอีกเหมือนกับภิกษุรูปอื่นๆ ที่เดินทางจากไป ฉะนั้น

ตามที่เคยเข้าใจว่า จะต้องละปลิโพธเสียก่อนแล้วจึงจะเจริญสติปัฏฐานได้ ก็จะเห็นได้จากพระไตรปิฎกว่า ไม่ได้เป็นเช่นนั้น เพราะเหตุว่าถึงแม้จะเป็นพระภิกษุอยู่ในป่า บางท่านก็ยังคงมีลาภปลิโพธ

คำว่า ปลิโพธ หมายความว่า กังวล เมื่อท่านยังเป็นปุถุชนซึ่งยังมีความยินดี ความพอใจอยู่ จะละได้ก็ด้วยการเจริญสติ

ในคราวก่อนนั้นได้กล่าวถึงข้อความในพระไตรปิฎกที่เกี่ยวกับอาวาสปลิโพธ กุลปลิโพธ ลาภปลิโพธ สำหรับในวันนี้ก็จะกล่าวถึงประการที่ ๔ คณปลิโพธ หมายความถึง ผู้ที่ห่วงหมู่คณะ ในการศึกษา ในการกล่าวสอนแนะนำ เป็นการงานหรือเป็นกิจที่จะต้องกระทำต่อหมู่คณะ ซึ่งหมู่คณะสำหรับพระภิกษุท่านก็ได้แก่ คณะที่เรียนพระสูตรบ้าง คณะที่เรียนพระอภิธรรมบ้าง ถ้าท่านต้องการความสงบ คือ การเจริญสมาธิ ท่านก็จำเป็นที่จะต้องละทิ้งให้หมู่คณะนั้น แยกย้ายไปเรียนตามสะดวกของแต่ละบุคคล

เป็นเรื่องที่แสดงให้เห็นความต่างกันของการเจริญสมาธิกับการเจริญสติปัฏฐาน ถ้าเป็นการเจริญสติปัฏฐาน ก็สามารถที่จะระลึกรู้ลักษณะของนามและรูปได้ ไม่ว่าจะเป็นในขณะที่กำลังแสดงธรรมหรือในขณะที่ฟังธรรม แต่ถ้าเป็นการเจริญสมาธิ ก็จำเป็นที่จะต้องปลีกตัวเพื่อที่จะให้จิตใจสงบ

คณปลิโพธ ความกังวลในการกล่าวสอนแนะนำหมู่คณะ ซึ่งไม่เป็นเครื่องขัดขวางการเจริญวิปัสสนา เพราะเหตุว่าถ้าไม่มีการกล่าวสอนแนะนำหมู่คณะ การบรรลุมรรคผลย่อมมีไม่ได้เลย

ในครั้งที่พระผู้มีพระภาคยังมิได้ปรินิพพานนั้น พระองค์ได้ทรงพร่ำสอนแนะนำหมู่คณะ พร้อมกันนั้นในพระวินัยบัญญัติก็ได้วางไว้ด้วยว่า จะต้องมีการกล่าวสอนแนะนำหมู่คณะซึ่งเป็นพระภิกษุอย่างไรบ้าง ซึ่งเป็นการช่วยเทียบเคียงทำให้เข้าใจการเจริญสติปัฏฐานถูกต้องขึ้น เพราะเหตุว่าในการฟังธรรมนั้นจะต้องสอบทานเทียบเคียงทั้งพระวินัย พระสูตร และพระอภิธรรมด้วย ดังข้อความใน มหาปเทส ที่ว่า

เมื่อได้ฟังธรรมแล้ว ก็ต้องไตร่ตรอง สอบสวน เทียบเคียงพระสูตรกับพระวินัย

เพื่อที่จะได้เห็นว่า พระวินัยนั้นเป็นสิ่งที่สำคัญที่จะทำให้ได้ไตร่ตรอง เทียบเคียง สอบทานการเจริญสติปัฏฐานให้ถูกต้องขึ้น ก็จะได้กล่าวถึงพระวินัยปิฎก มหาวรรค ภาค ๑ อุทานคาถา ซึ่งมีข้อความว่า

พระวินัยมีประโยชน์มาก คือ นำมาซึ่งความสุขแก่พวกภิกษุผู้มีศีลอันเป็นที่รัก ข่มพวกที่มีความปรารถนาลามก ยกย่องพวกที่มีความละอาย และทรงไว้ซึ่งพระศาสนา เป็นอารมณ์ของพระสัพพัญญูชินเจ้า ไม่เป็นวิสัยของพวกอื่น เป็นแดนเกษมอันพระผู้มีพระภาคทรงบัญญัติไว้ดีแล้ว ไม่มีข้อที่น่าสงสัย ภิกษุผู้ฉลาดในขันธกะ วินัย บริวารและมาติกา ปฏิบัติด้วยปัญญาอันหลักแหลม ชื่อว่าทำประโยชน์อันควร

ชนใดไม่รู้จักโค ชนนั้นย่อมรักษาฝูงโคไม่ได้ฉันใด ภิกษุก็ฉันนั้น เมื่อไม่รู้จักศีล ไฉนจะพึงรักษาสังวรไว้ได้ เมื่อพระสุตตันตะและพระอภิธรรมลบเลือนไปก่อน แต่พระวินัยยังไม่เสื่อมสูญ พระศาสนาชื่อว่า ยังตั้งอยู่ต่อไป

แสดงให้เห็นว่า พระธรรมวินัยทั้งหมด พุทธบริษัทควรที่จะศึกษาและสอบทานด้วยความสนใจ เพราะเหตุว่าแม้ในอุทานคาถานี้ก็ยังมีข้อความว่า พระวินัยมีประโยชน์ คือ นำมาซึ่งความสุขแก่พวกภิกษุผู้มีศีลเป็นที่รัก เป็นอารมณ์ของพระสัพพัญญูชินเจ้า ไม่เป็นวิสัยของพวกอื่น

ถ้าจะดูข้อประพฤติปฏิบัติในครั้งพุทธกาล หรือว่าในครั้งนี้ก็ได้ จะเห็นได้ว่า ความเข้าใจว่าการประพฤติปฏิบัติเช่นนั้นเช่นนี้จะทำให้ได้บรรลุถึงความสิ้นกิเลสนั้น ถ้าไม่ใช่เป็นไปตามพระวินัยบัญญัติแล้ว ก็อาจจะบัญญัติความสงัดเพราะจีวรบ้าง เพราะบิณฑบาตบ้าง เพราะเสนาสนะบ้าง แต่ในพระวินัยปิฎกนั้น การประพฤติปฏิบัติของพระภิกษุสงฆ์ซึ่งพระผู้มีพระภาคได้ทรงบัญญัติพระวินัยไว้นั้น พระวินัยเป็นอารมณ์ของพระสัพพัญญูชินเจ้า ไม่เป็นวิสัยของพวกอื่น เพราะเหตุว่าเป็นมัชฌิมาปฏิปทา ไม่ใช่ว่าจะต้องทรมานตัวเหมือนอย่างพวกลัทธิอื่นข้อปฏิบัติอื่น และยังมีข้อความต่อไปว่า

ภิกษุผู้ฉลาดในขันธกะ วินัย บริวาร และ มาติกา ปฏิบัติด้วยปัญญาอันหลักแหลม

ไม่ใช่ว่ามีแต่วินัยแล้วก็ไม่มีการประพฤติปฏิบัติ เป็นผู้ฉลาดในวินัยด้วยและก็ปฏิบัติด้วยปัญญาอันหลักแหลม ชื่อว่าผู้ทำประโยชน์อันควร นอกจากนั้นยังมีข้อความว่า

ชนใดไม่รู้จักโค ชนนั้นย่อมรักษาฝูงโคไม่ได้ฉันใด ภิกษุก็ฉันนั้น เมื่อไม่รู้จักศีล ไฉนจะพึงรักษาสังวรไว้ได้

ถ้าไม่ทราบว่าสิ่งใดควรประพฤติ ก็ย่อมจะทำไม่ถูก ปัญญาก็ไม่เกิด การสังวรที่เป็นศีลสังวร นอกจากจะสังวรในปาติโมกข์แล้ว ก็ยังจะต้องมีอินทริยสังวรด้วย แต่ถ้าไม่เข้าใจเรื่องของสติ ไม่รู้จักการเจริญสติ อินทริยสังวรก็ย่อมจะเป็นไปไม่ได้ ก็คงจะมีแต่เพียงปาติโมกข์สังวรเท่านั้น

ข้อความที่ว่า

เมื่อพระสุตตันตะและพระอภิธรรมลบเลือนไปก่อน แต่พระวินัยยังไม่เสื่อมสูญ พระศาสนาชื่อว่ายังตั้งอยู่ต่อไป

ที่ว่าพระสุตตันตะและพระอภิธรรมลบเลือนไปก่อนนั้น ก็น่าที่จะได้ทราบว่า พระสุตตันตะและพระอภิธรรมจะลบเลือนไปนั้นโดยวิธีใด

ถ้าไม่มีการศึกษาพระสูตรเลย และก็ไม่เทียบเคียงกับพระอภิธรรม หรือว่าถึงแม้ว่าจะได้ศึกษา แต่ไม่สอบทาน ไม่เทียบเคียงเหตุ คือ การประพฤติปฏิบัติให้ตรงกับพระสูตร พระวินัย พระอภิธรรม ไม่เทียบเคียงผลที่จะเกิดขึ้นคือปัญญาว่า จะต้องตรงกับที่ทรงแสดงไว้ในพระสูตรกับพระอภิธรรม ถ้าไม่เทียบเคียงอย่างนี้ การปฏิบัติก็ไม่ตรง ความรู้ที่เกิดขึ้นก็ไม่ตรง แยกกัน พระอภิธรรมและพระสูตรก็ย่อมจะลบเลือนไป

ถ้าประพฤติปฏิบัติถูก ก็จะต้องรู้ถูกตามที่ทรงแสดงไว้ด้วย ไม่ใช่เวลาที่เรียนพระสูตรหรือพระอภิธรรมก็กล่าวว่า นั่นเป็นปริยัติแต่ว่าไม่ใช่การปฏิบัติ

เพราะฉะนั้น ถ้าพระสุตตันตะกับพระอภิธรรมลบเลือนไปก่อน ก็เพราะผู้ประพฤติปฏิบัติไม่เทียบเคียง ไม่สอบทาน ไม่ศึกษา จะมีอะไรเหลือให้เป็นเครื่องเทียบเคียงข้อปฏิบัติได้

เพราะฉะนั้น ถ้าข้อประพฤติปฏิบัติ คือ การเจริญสติปัฏฐานยังคงเทียบเคียงอาศัยพระวินัยบัญญัติอยู่ ก็ยังเป็นโอกาสที่จะไม่ทำให้เข้าใจว่า จะต้องไปทนทุกข์ทรมานตัวต่างๆ

เปิด  265
ปรับปรุง  2 มิ.ย. 2565