แนวทางเจริญวิปัสสนา ตอนที่ 47

พระผู้มีพระภาคตรัสถามท่านพระโมริยผัคคุณะว่า

ดูกร ผัคคุณะ เธอเป็นกุลบุตรออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิต ด้วยศรัทธามิใช่หรือ

ซึ่งท่านพระโมริยะก็กราบทูลรับว่า อย่างนั้นพระพุทธเจ้าข้า

คือเตือนให้ท่านพระโมริยะระลึกถึงกิจของพระภิกษุที่ละอาคารบ้านเรือน ออกบวชเป็นบรรพชิต เพราะฉะนั้น พระผู้มีพระภาคจึงได้ตรัสเตือนท่านพระโมริยะว่า ที่บวชนั้นด้วยศรัทธามิใช่หรือ เมื่อท่านพระโมริยะกราบทูลรับอย่างนั้นแล้ว พระผู้มีพระภาคก็ตรัสกับท่านพระโมริยผัคคุณะ มีข้อความว่า

การที่ท่านพระโมริยผัคคุณะอยู่คลุกคลีกับพวกภิกษุณีจนเกินเวลานั้น ไม่สมควรแก่ท่านผู้เป็นกุลบุตร ออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิต เพราะว่าการที่จะเป็นภิกษุ ก็จะต้องขัดเกลากิเลส โลภะ โทสะ โมหะ ทุกๆ ทาง

เพราะฉะนั้น ถ้าแม้ภิกษุรูปใดติเตียนภิกษุณีเหล่านั้น ต่อหน้าท่านพระโมริยผัคคุณะก็ดี หรือถ้าใครๆ ประหารภิกษุณีเหล่านั้น ด้วยฝ่ามือ ด้วยก้อนดิน ด้วยท่อนไม้ ด้วยศาสตรา ต่อหน้าท่านพระโมริยผัคคุณะ แม้ในข้อนั้น ท่านพระโมริยผัคคุณะพึงศึกษาอย่างนี้ว่า

จิตของเราจักไม่แปรปรวน และเราจักไม่เปล่งวาจาที่ลามก จะอนุเคราะห์ด้วยสิ่งที่เป็นประโยชน์อยู่ และจักเป็นผู้มีเมตตาจิต ไม่มีโทสะภายใน และแม้ใครๆ ติเตียนท่านพระโมริยผัคคุณะต่อหน้า ประหารท่านด้วยฝ่ามือ ด้วยก้อนดิน ด้วยท่อนไม้ ด้วยศาสตรา ก็พึงศึกษาอย่างนี้ว่า จิตของเราจักไม่แปรปรวน และเราจักไม่เปล่งวาจาที่ลามก จักอนุเคราะห์ด้วยสิ่งที่เป็นประโยชน์อยู่ จักเป็นผู้มีเมตตาจิต ไม่มีโทสะในภายใน

สมควรไหมที่พระผู้มีพระภาคจะตรัสเตือนอย่างนี้ ไม่ใช่ว่าส่งเสริมให้มีโลภะ ให้มีโทสะ ถ้าใครติเตียนว่ากล่าวภิกษุณีก็ต้องโกรธต้องขัดใจ นั่นไม่ใช่คำสอนของพระผู้มีพระภาคเลย แต่ไม่ว่าบุคคลนั้นจะติเตียน จะประหารด้วยฝ่ามือ ด้วยก้อนดิน ผู้ที่เป็นภิกษุนั้นก็จะต้องให้จิตไม่แปรปรวน และก็ไม่เปล่งวาจาที่ลามก จักอนุเคราะห์ด้วยสิ่งที่เป็นประโยชน์ จักเป็นผู้มีเมตตาจิต ไม่มีโทสะภายใน

ใครจะทำได้หรือไม่ได้ นั่นก็เป็นเรื่องหนึ่ง แต่ถ้าสามารถกระทำได้ ก็เป็นประโยชน์กับตนเอง แล้วกับผู้อื่นด้วย นอกจากนั้นยังมีข้อความที่พระผู้มีพระภาคตรัสเรียกภิกษุทั้งหลายมา ตรัสว่า

สมัยหนึ่ง พวกภิกษุได้ทำกิจของพระองค์ให้ยินดีเป็นอันมาก พระองค์จะไม่ต้องพร่ำสอนภิกษุเหล่านั้นอีก การทำสติให้เกิดขึ้นเป็นกรณียะ ในภิกษุเหล่านั้นแล้ว

จุดประสงค์ของการบรรพชา ก็เพื่อประพฤติปฏิบัติตาม และก็รู้แจ้งอริยสัจตามพระผู้มีพระภาค แต่การเกิดปัญญารู้แจ้งสภาพธรมตามความเป็นจริงตามปกติที่กำลังปรากฏในขณะนี้จะมีไม่ได้เลย ถ้าไม่ระลึกรู้ลักษณะของสิ่งที่กำลังปรากฏเนืองๆ บ่อยๆ จนกระทั่งปัญญารู้ชัดในสภาพของสิ่งที่กำลังปรากฏตามปกติ

เพราะฉะนั้น เมื่อพระผู้มีพระภาคตรัสสอนพระภิกษุเหล่านั้น แล้วพระภิกษุเหล่านั้นทำสติให้เกิดขึ้นเป็นกรณียะแล้ว พระองค์ก็จะไม่ต้องพร่ำสอนภิกษุเหล่านั้นอีก

พวกภิกษุเหล่านั้นได้ทำกิจของพระองค์ให้ยินดีเป็นอันมาก ซึ่งพระผู้มีพระภาคก็ได้ทรงอุปมาว่า

เปรียบเหมือนรถที่เทียมด้วยม้าอาชานัย ซึ่งได้รับการฝึกมาดีแล้ว นายสารถีไม่ต้องใช้แซ่ เพียงแต่จับสายบังเหียน เตือนให้วิ่งไปตามทิศทางที่ปรารถนาได้ ฉันใด พระผู้มีพระภาคจะไม่ต้องพร่ำสอนภิกษุทั้งหลายเนืองๆ ฉันนั้นเหมือนกัน

แล้วต่อไปพระผู้มีพระภาคก็ได้ตรัสว่า แม้ภิกษุทั้งหลาย ก็จงละอกุศลธรรมเสีย จงทำความพากเพียรแต่ในกุศลธรรมทั้งหลาย

การฟังธรรมก็เป็นกุศลธรรม การเแสดงธรรมก็เป็นกุศลธรรม การรักษาศีลก็เป็นกุศลธรรม เมื่อพระผู้มีพระภาคทรงแสดงธรรมครั้งหนึ่ง ๆ จะเห็นได้ว่า เมื่อจบเทศนาแล้ว บางท่านบรรลุเป็นพระอรหันต์ บางท่านบรรลุอริยสัจเป็นพระอนาคามีบุคคล บางท่านบรรลุอริยสัจเป็นพระสกทาคามีบุคคล บางท่านเป็นพระโสดาบันบุคคล บางท่านไม่เป็นอะไรเลย ต้องมีเหตุที่ทำให้ได้ผลต่างกัน ถ้าในขณะที่ฟังธรรม เข้าใจพระธรรม พร้อมกับมีสติระลึกรู้ลักษณะของสิ่งที่กำลังปรากฏในขณะนั้นนั่นเอง ไม่ต้องคอยเลย เพราะเหตุว่า กำลังเป็นสิ่งที่ปรากฏทางตาบ้าง ทางหูบ้าง ทางจมูบ้าง ทางลิ้นบ้าง ทางกายบ้าง ทางใจบ้าง

เพราะฉะนั้น เมื่อฟังธรรมที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดง ระลึกรู้ลักษณะของนามและรูปที่กำลังปรากฏ สามารถละคลายความต้องการ ความไม่รู้ ความสงสัยในลักษณะของนามและรูปที่กำลังปรากฏในขณะนั้น รู้แจ้งอริยสัจได้ ถึงเป็นพระอรหันต์ แต่ผู้ที่ไม่เป็นอะไรเลย เพราะขาดสติ หลงลืมสติ ไม่พิจารณาลักษณะของนามและรูปที่กำลังปรากฏในขณะนั้น จะเป็นพระโสดาบันได้อย่างไร จะเป็นพระสกทาคามีได้อย่างไร จะเป็นพระอนาคามี พระอรหันต์ได้อย่างไร

เพราะฉะนั้น ก็ต้องทราบว่า การฟังธรรมนั้นมีประโยชน์ เมื่อฟังแล้วเข้าใจถูกต้อง ไม่มีสิ่งใดปิดกั้นไม่ให้สติเกิดขึ้นระลึกรู้ลักษณะของสิ่งที่กำลังปรากฏ และถ้าเป็นผู้ที่เจริญอินทรีย์มาแล้ว ก็สามารถละคลายความไม่รู้ ความสงสัย ความต้องการนามและรูปที่กำลังปรากฏ เมื่อละคลายความไม่รู้ ความสงสัย ความต้องการ ก็สามารถที่จะประจักษ์สภาพความจริงของนามและรูปในขณะนั้นได้ และสามารถบรรลุธรรมเป็นพระโสดาบัน พระสกทาคามี พระอนาคามี พระอรหันต์ได้

เพราะฉะนั้น พระผู้มีพระภาคจึงได้ตรัสกับภิกษุทั้งหลายว่า

จงทำความพากเพียรแต่ในกุศลธรรมทั้งหลาย แล้วพระผู้มีพระภาคก็ได้ทรงอุปมาว่า เปรียบเหมือนป่าไม้รังใหญ่ ใกล้บ้านหรือนิคม และป่านั้นดาษไปด้วยต้นระหุ่ง ชายคนหนึ่งเล็งเห็นประโยชน์ หรือคุณภาพของต้นรังนั้น ใคร่จะทำให้ต้นรังนั้นให้ปลอดภัย เขาจึงตัดต้นรังเล็กๆ ที่คด และถางต้นละหุ่ง ที่คอยแย่งโอชาของต้นรังนั้นออก ทำภายในป่าให้สะอาดเรียบร้อยแล้ว คอยรักษาต้นรังเล็กๆ ต้นตรง ที่แข็งแรงดี โดยถูกต้องวิธีการ ด้วยการกระทำดังที่กล่าวมานี้แหละ กาลต่อมา ป่าไม้รังนั้น ก็ถึงความเจริญงอกงามไพบูลย์ขึ้นโดยลำดับ ฉันใด แม้พวกภิกษุทั้งหลาย ก็จงละอกุศลธรรมเสีย จงทำความพากเพียรอยู่แต่ในกุศลธรรมทั้งหลาย ฉันนั้นเถิด เพราะเมื่อเป็นเช่นนี้ แม้พวกภิกษุทั้งหลายก็จะถึงความเจริญงอกงามไพบูลย์ ในธรรมวินัยนี้ถ่ายเดียว

แสดงให้เห็นว่า การเจริญสติอุปมาเหมือนกับการปลูกต้นไม้ซึ่งก็จะต้องค่อยๆ เจริญขึ้น เพราะเหตุว่าในตอนต้น จะให้มีสติมากๆ นั้น เป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ แต่ให้ทราบว่า สติระลึกรู้ที่ไหน แล้วก็ปัญญารู้อะไร

กกจูปมสูตรพระผู้มีพระภาคตรัสต่อไปว่า

เรื่องเคยมีมาแล้ว ที่พระนครสาวัตถีนี้แหละ มีแม่เรือนคนหนึ่ง ชื่อเวเทหิกา มีกิตติศัพท์ขจรไป ว่าเป็นคนสงบเสงี่ยมอ่อนโยนเรียบร้อย แม่เรือนเวเทหิกามีทาสี ชื่อกาลี เป็นคนขยันไม่เกียจคร้าน จัดการงานดี

นางกาลีได้คิดว่า นายของตนนั้นไม่แสดงความโกรธให้ปรากฏ หรือว่าไม่มีความโกรธอยู่เลย เพราะเหตุว่า ตนจัดการงานทั้งหลายเรียบร้อยดี เพราะฉะนั้น ด้วยความสงสัย นางกาลีทาสีแกล้งลุกขึ้นสาย ซึ่งแม่เรือนเวเทหิกาก็โกรธ ขัดใจ ทำหน้าบึ้ง ดุว่านางกาลี นางกาลีก็รู้ว่า ที่แม่เรือนเวเทหิกาไม่แสดงความโกรธนั้น ไม่ใช่เพราะไม่มีความโกรธ แต่เป็นเพราะเหตุว่า ตนจัดการงานทั้งหลายเรียบร้อยดี

ซึ่งนางกาลีก็ใคร่ที่จะทดลองนายหญิงของตนให้ยิ่งขึ้นไป ถัดจากวันนั้นมา ก็ลุกขึ้นสายกว่านั้นอีก ซึ่งแม่เรือนเวเทหิกาก็ได้แสดงความโกรธออกมาให้ปรากฏยิ่งขึ้น จนกระทั่งกิตติศัพท์อันชั่วขจรไปว่า แม่เรือนเวเทหิกาเป็นคนดุร้าย ไม่อ่อนโยนไม่สงบเสงี่ยมเรียบร้อย แม้ฉันใด ภิกษุบางรูปในพระธรรมวินัยนี้ก็ฉันนั้น เป็นคนสงบเสงี่ยมจัด เป็นคนอ่อนโยนจัด เป็นคนเรียบร้อยจัดได้ ก็เพียงชั่วเวลาที่ยังไม่ได้กระทบถ้อยคำ อันไม่เป็นที่พอใจเท่านั้น ก็เมื่อใดกระทบถ้อยคำ อันไม่เป็นที่พอใจเข้า ก็ยังเป็นคนสงบเสงี่ยม อ่อนโยน เรียบร้อยอยู่ได้ เมื่อนั้นแหละควรถือว่า เป็นคนสงบเสงี่ยม อ่อนโยน เป็นคนเรียบร้อยจริง

นี่ก็จะเห็นได้ว่า ถ้าไม่อุปการะแก่พระภิกษุแล้ว พระผู้มีพระภาคจะไม่ตรัสถึงแม่เรือนเวเทหิกา ในพระนครสาวัตถีเลย แต่ทำไมตรัสถึงแม่เรือนเวเทหิกา ก็เพื่อเป็นการเปรียบเทียบให้เห็นว่า

บุคคลที่มีกิตติศัพท์ว่าเป็นคนที่อ่อนโยนเรียบร้อยนั้น เป็นเพราะเหตุว่า ยังไม่มีสิ่งที่ไม่น่าพอใจมากระทบ แต่ว่าขณะใดก็ตามที่มีสิ่งหนึ่งสิ่งใดที่ไม่เป็นที่พอใจ เป็นต้นว่า ได้กระทบกับถ้อยคำอันไม่เป็นที่พอใจเท่านั้น ก็ไม่เป็นคนสงบเสงี่ยม ไม่เป็นคนอ่อนโยน ไม่เป็นคนเรียบร้อย แต่ว่าถ้าผู้ใดเป็นคนที่ถึงแม้กระทบถ้อยคำอันไม่เป็นที่น่าพอใจเข้า ก็ยังเป็นคนสงบเสงี่ยม อ่อนโยน เรียบร้อยอยู่ได้ เมื่อนั้นแหละควรถือว่า เป็นคนสงบเสงี่ยมอ่อนโยน เป็นคนเรียบร้อยจริง

พระผู้มีพระภาคก็ยังตรัสต่อไปว่า

ดูกร ภิกษุทั้งหลาย เราไม่เรียกภิกษุรูปที่เป็นคนว่าง่าย ถึงความเป็นคนว่าง่าย เพราะเหตุได้จีวร บิณฑบาต เสนาสนะ และคิลานปัจจัย เภสัชบริขาร ว่าเป็นคนว่าง่ายเลย ข้อนั้นเพราะเหตุไร

ดูกร ภิกษุทั้งหลาย เพราะภิกษุรูปนั้น เมื่อไม่ได้จีวร บิณฑบาต เสนาสนะ และคิลานปัจจัย เภสัชบริขารนั้น ก็จะไม่เป็นคนว่าง่าย จะไม่ถึงความเป็นคนว่าง่ายได้

ดูกร ภิกษุทั้งหลาย อนึ่ง ภิกษุรูปใดแล มาสักการะ เคารพนอบน้อมพระธรรมอยู่ เป็นคนว่าง่าย ถึงความเป็นคนว่าง่าย

คือว่าง่ายในพระธรรมวินัย พระผู้มีพระภาคตรัสว่า เราเรียกภิกษุรูปนั้นว่าเป็นคนว่าง่ายดังนี้

เพราะฉะนั้นแหละ ภิกษุทั้งหลาย พวกเธอพึงศึกษาอย่างนี้ว่า เราจะเป็นผู้สักการะ เคารพ นอบน้อมพระธรรม จักเป็นผู้ว่าง่าย จักถึงความเป็นคนว่าง่าย ดังนี้

ความเป็นคนว่าง่าย ไม่ใช่เพียงเวลาที่ได้กระทบกับถ้อยคำอันไม่เป็นที่พอใจเท่านั้น แต่ผู้ที่เป็นคนว่าง่ายในพระธรรมวินัยนั้น ไม่ใช่ถึงความเป็นคนว่าง่าย ถ้าเป็นภิกษุ ก็เพราะเหตุว่าได้จีวร ได้บิณฑบาต ได้เสนาสนะ แต่ว่าผู้ใดมาเคารพ สักการะ นอบน้อมพระธรรมอยู่ เป็นคนว่าง่าย ถึงความเป็นคนว่าง่ายในพระธรรมวินัยนี้

เพราะฉะนั้น พุทธบริษัทควรจะตรวจสอบถึงความเป็นบุคคลผู้ว่าง่ายของท่านเองด้วยว่า ว่าง่ายในขั้นไหน ในขั้นที่ยังไม่ได้กระทบกับสิ่งที่ไม่น่าพอใจ หรือว่าง่ายแม้ในพระธรรมวินัย เพราะเหตุว่าสิ่งใดก็ตามที่มีอยู่ในพระธรรมวินัย ท่านควรจะว่าง่ายในลักษณะใด ควรจะเป็นผู้ที่สอบทาน ศึกษา พิจารณา เทียบเคียงให้ถูกต้อง ไม่ถือความเห็นของตน หรือหมู่คณะเป็นใหญ่ เพราะเหตุว่าบางท่านต้องการให้ตนเป็นที่รัก ต้องการให้หมู่คณะเป็นที่รัก หรือต้องการให้ตนเป็นที่รักที่พอใจของบุคคลอื่น แต่ไม่ได้คำนึงถึงพระธรรมว่า แท้ที่จริงแล้วพระธรรมต้องเป็นใหญ่ แม้ว่าตนจะไม่ได้เป็นที่รักของบุคคลใด หมู่คณะใดก็ตาม แต่ว่าการศึกษาการแสดงธรรมนั้นควรให้ถูกต้องตรงตามพระธรรม ไม่ใช่คิดถึงตนหรือหมู่คณะเป็นใหญ่

ครั้นแล้ว พระผู้มีพระภาคก็ได้ตรัสกับภิกษุทั้งหลาย มีข้อความดังนี้ว่า

ทางแห่งถ้อยคำที่บุคคลอื่นจะพึงกล่าวกะท่านมีอยู่ ๕ ประการ คือ

กล่าวโดยกาลอันสมควรหรือไม่สมควร ๑

กล่าวด้วยเรื่องจริงหรือไม่จริง ๑

กล่าวด้วยคำอ่อนหวานหรือคำหยาบคาย ๑

กล่าวด้วยคำประกอบด้วยประโยชน์หรือไม่ประกอบด้วยประโยชน์ ๑

มีจิตเมตตาหรือมีโทสะในภายในกล่าว ๑

ภิกษุพึงศึกษาอย่างนี้ว่า จิตของเราจักไม่แปรปรวน เราจักไม่เปล่งวาจาลามก เราจักอนุเคราะห์ด้วยสิ่งอันเป็นประโยชน์ เราจักมีเมตตาจิต ไม่มีโทสะในภายใน เราจักแผ่เมตตาจิตไปถึงบุคคลนั้น และเราจักแผ่เมตตาจิตอันไพบูลย์ใหญ่ยิ่ง หาประมาณมิได้ ไม่มีเวร ไม่มีพยาบาท ไปตลอดโลกทุกทิศทุกทาง ซึ่งเป็นอารมณ์ของจิตนั้น ดังนี้

ภิกษุทั้งหลายพึงศึกษาด้วยอาการ ดังที่กล่าวมานี้แล

ชีวิตประจำวันเป็นอย่างนี้จริงๆ แม้แต่ชีวิตของภิกษุที่ละอาคารบ้านเรือนแล้ว ก็ไม่ใช่ว่าจะหลีกหนีพ้นจากถ้อยคำต่างๆ วาจาต่างๆ เรื่องต่างๆ ได้ ไม่ใช่ว่าท่านเป็นภิกษุแล้ว จะไม่มีกิจที่จะต้องกระทำเกี่ยวข้องติดต่อที่ทำให้ได้รับฟังวาจาต่างๆ ถ้าดูในพระวินัย พระสูตร พระอภิธรรม ก็จะเห็นจิต เป็นโลภะบ้าง เป็นโทสะบ้าง เป็นโมหะบ้าง มีเรื่องที่จะต้องเป็นไปเกี่ยวข้องได้รับฟังวาจาต่างๆ เพราะในเรื่องนี้ ทางแห่งถ้อยคำที่บุคคลอื่นจะพึงกล่าวกะท่าน ถึงแม้เป็นภิกษุแล้ว ก็ยังมีอยู่ถึง ๕ ประการ เพราะฉะนั้น สำหรับฆราวาสก็เป็นของธรรมดาที่ก็จะได้รับฟังวาจาอย่างนี้

พระผู้มีพระภาคตรัสอุปมาต่อไปว่า

เปรียบเหมือนบุรุษถือจอบและตระกร้ามา แล้วกล่าวว่า จะกระทำแผ่นดินอันใหญ่นี้ ไม่ให้เป็นแผ่นดิน เขาขุดโกยดินทิ้ง บ้วนน้ำลาย แล้วสำทับว่าอย่าเป็นแผ่นดิน อย่าเป็นแผ่นดินดังนี้ เขาจักทำแผ่นดินไม่ให้เป็นแผ่นดินไม่ได้ เขาจะต้องเหน็ดเหนื่อยเสียเวลาเปล่า

อีกอุปมาหนึ่ง

เปรียบเหมือนบุรุษถือเอาครั่งสีต่างๆ ไปเขียนรูปต่างๆ ในอากาศ ก็จะต้องเหน็ดเหนื่อยเสียเวลาเปล่าเช่นเดียวกัน

อีกอุปมาหนึ่ง

เปรียบเหมือนจุดคบหญ้า จะทำให้แม่น้ำคงคาร้อนจัด ซึ่งก็จะต้องเหน็ดเหนื่อยเสียเวลาเปล่า หรือว่าถ้าเป็นกระสอบหนังแมวที่ฟอกอ่อนนุ่มดังปุยนุ่นและสำลี ก็มีบุคคลหนึ่งที่คิดว่า จะตีกระสอบหนังแมวนั้นให้ดังก้อง บุคคลนั้นก็จะต้องเหน็ดเหนื่อยเสียเวลาเปล่า

ไม่มีประโยชน์เลย ถ้าใจของบุคคลผู้นั้นมั่นคง ไม่หวั่นไหวด้วยอำนาจของวาจาต่าง ๆ แล้ว บุคคลอื่นก็ไม่สามารถที่จะทำจิตของบุคคลที่มั่นคงนั้นให้หวั่นไหวได้

พระผู้มีพระภาคตรัสอุปมาว่า

แม้โจรเลื่อยอวัยวะน้อยใหญ่ ถ้าภิกษุภิกษุณีรูปใด มีจิตคิดร้ายต่อโจรเหล่านั้น ไม่ชื่อว่าเป็นผู้ทำตามคำสั่งสอนของพระผู้มีพระภาค

พระผู้มีพระภาคตรัสให้ภิกษุใส่ใจถึงโอวาท อันเปรียบด้วยเลื่อยนี้เนืองนิจ จักเป็นประโยชน์และความสุข เพราะมองไม่เห็นทางแห่งถ้อยคำที่มีโทษน้อยหรือโทษมาก ที่จะอดกลั้นไม่ได้

นี่ก็เป็นเรื่องที่ว่า ถ้าจิตเป็นกุศลอยู่เสมอๆ ไม่ว่าจะเป็นไปในทาน เป็นไปในศีล ย่อมอุปการะให้สติระลึกรู้ลักษณะของนามและรูปได้ แต่ว่าวันหนึ่งๆ ทั้งๆ ที่ทราบลักษณะขณะที่มีสติ แล้วก็อาจจะทราบลักษณะที่หลงลืมสติ แต่สติก็เกิดน้อย เพราะเหตุว่าต้องอาศัยธรรมอื่นอุปการะให้สติเกิดมากขึ้น ด้วยการฟังธรรม ด้วยการเจริญกุศลทุกประการ แล้วก็จะเป็นปัจจัยให้สติมีการระลึกรู้ลักษณะของนามและรูป ที่กำลังปรากฏตามปกติ

เปิด  288
ปรับปรุง  2 มิ.ย. 2565