แนวทางเจริญวิปัสสนา ตอนที่ 42

ในพระไตรปิฎกใช้คำว่า เป็นผู้มีปกติมีสติ แต่ว่าผู้เจริญสติปัฏฐานไปทำ นั่งก็ฝืนไว้นานๆ คันก็ไม่เกา หรืออะไรอย่างนี้ ไม่ใช่เป็นตัวท่านจริงๆ แต่เป็นการทำตลอดเวลา แล้วท่านไม่ทราบว่าที่ท่านทำอย่างนั้นเพราะต้องการอะไร ถ้าไม่ต้องการ จะไปฝืนไว้อย่างนั้นได้ไหม

สุ. ท่านผู้ฟังกล่าวว่า ถ้ามดกัดหรือคัน ระงับไว้แล้วไม่เกา เข้าใจว่าเป็นบุญ แต่ความเข้าใจใดจะผิดหรือจะถูกนั้นต้องเทียบเคียงกับพระธรรมวินัย

ท่านผู้ฟังท่านนี้ถามว่า เวลาที่เกิดอาการคัน สติก็ตกอีก เพราะว่าไปอยู่ที่คันคือ ใช้คำว่า “สติตก” ตลอดเวลา ไม่อยู่ที่ลมหายใจที่ต้องการ แล้วพอรู้สึกตัวว่าสติตกก็ยกสติเข้าสู่ลมหายใจอีก แล้วท่านก็ถามว่า ขณะนั้นเป็นฌานหรือเปล่า คำตอบก็คือว่า ไม่ใช่ฌาน ไม่ใช่ฌานจิต เพราะการเจริญสมาธิต้องอาศัยปัญญา ถ้าไม่มีปัญญาที่รู้และเข้าใจวิธีการเจริญสมาธิให้ถึงขั้นอุปจารสมาธิ อัปปนาสมาธิ อุปจารสมาธิก็ไม่เกิด อัปปนาสมาธิก็ไม่เกิด

ถ. ฟังอย่างเดียว โดยไม่เรียนได้ไหม

สุ. การฟังก็คือการเรียนนั่นเอง แต่ว่าเรียนโดยฟัง บางท่านก็เรียนโดยอ่าน

แล้วแต่วิธีการของแต่ละท่าน

ถ. ที่บอกว่า บุคคลใดก็ตามที่รู้จักเจริญสติปัฏฐานในชีวิตประจำวันจะเป็น

เป็นการสร้างสมความรู้สึกชอบ conscious mind ใช่ไหม จะมีส่วนเป็นอิทธิพลไหม ถ้าบุคคลนั้นได้ปฏิบัติในชีวิตประจำวันอย่างดีอย่างถูกต้อง กลายเป็นบุคคลที่มีคุณธรรมดี เพียบพร้อมไปด้วยศีลธรรม และเมื่อไปเรียนสมถะวิปัสสนานั้น sub - conscious mind จะไม่เกิดเป็นรูปนิมิต ไปในทางเลวในอนาคต ถ้าได้ศึกษาต่อไปเช่นนั้นใช่หรือไม่ เพราะว่าดิฉันได้ยินมาว่า บางคนได้เจริญวิปัสสนาต่อไปแล้วทำให้เกิดติดนิมิตในทางที่ไม่ดี และทำให้เกิดภาพหลอน หรือทำให้เกิดความกลัว และมีนิมิตในทางที่ชั่วร้าย ถ้าเผื่อว่าการเจริญสติปัฏฐานในชีวิตประจำวันดีนั้น ก็หมายความ sub - conscious mind ของบุคคลนั้นจะเพียบพร้อมไปด้วยคุณธรรม แล้วก็ทำให้เจริญสติปัญญาขั้นสูงไปตามลำดับ เช่นนั้นหรือไม่

สุ. ที่ว่าการเจริญวิปัสสนาหรือว่าเจริญสติปัฏฐานจะทำให้เกิดโทษนั้น เป็น

สิ่งที่ไม่ถูก เพราะเหตุว่า เป็นสิ่งที่พระผู้มีพระภาคตรัสรู้ เป็นหนทางที่ควรเจริญ และเป็นคุณธรรมด้วย สำหรับการเจริญสติปัฏฐานนั้น เป็นการขัดเกลาทั้งกิเลสหยาบ กลาง ละเอียด เพราะเหตุว่าการขัดเกลาทีละขั้นก็มี อย่างท่านที่เคยศึกษาเรื่องของศีลธรรมมารยาทต่างๆ แล้วท่านก็พยายามจะประพฤติในขอบเขตของศีลธรรมและมารยาทที่ดีงาม แต่ว่าในขณะนั้นเป็นตัวตน เป็นท่านที่กำลังขัดเกลาจิตใจ แต่ว่าเป็นไปในทางด้านดี นั่นก็ขั้นหนึ่ง

ผู้เจริญสติปัฏฐานนั้น เมื่อมีสติแล้วจะค่อยๆ ขัดเกลาสิ่งที่ไม่ดีงาม เวลาจะนั่ง จะนอน จะยืน จะเดิน ด้วยกิริยาอาการไม่สมควร ก็มีสติ ลักษณะของสติคือระลึกได้ เมื่อระลึกได้ก็เปลี่ยนกิริยาอาการมารยาทให้ดีงาม แต่ถ้าท่านเจริญสติปัฏฐาน รู้ลักษณะของนามและรูปด้วยความรวดเร็วของจิต ความรู้ของจิตเพิ่มขึ้นว่า แม้ในขณะที่กิริยาอาการเปลี่ยนไปในทางที่ดีงามนั้น เป็นการขัดเกลาทางกาย ทางวาจาก็จริง แต่ไม่ใช่ตัวตนเลย เป็นเพียงสิ่งที่ศึกษาสะสมมา แม้แต่การขัดเกลานั้นก็เป็นนามเป็นรูปที่เกิดเพราะเหตุปัจจัย

เพราะฉะนั้น ผู้ที่เจริญสติ ยิ่งสติเกิดมาก ก็ยิ่งขัดเกลาทั้งทางกาย ทางวาจาและทางใจมากขึ้น แต่ถ้าเข้าใจว่า การเจริญสติปัฏฐานเป็นไปในแบบของสมาธินั้นจะไม่ขัดเกลา เพราะเหตุว่าไม่มีสติในชีวิตประจำวัน ไม่ว่าจะนั่ง จะนอน จะพูด ก็ไม่ได้ระลึก เป็นผู้หลงลืมสติ

เพราะฉะนั้น การเจริญสติทีละเล็กทีละน้อย จนกระทั่งยังไม่เห็นผลในตอนต้น เพราะว่าโดยมากทุกท่านใจร้อน หวังจะมีสติมากๆ ทีเดียว แล้วมีปัญญาแทงตลอดรู้แจ้งอริยสัจเลย ทำไมท่านไม่คิดบ้างว่า เพราะมีกิเลสหนาแน่นเหนียวแน่นมาก จำเป็นต้องอาศัยการอบรมเจริญปัญญา เพื่อรู้แจ้ง รู้ชัด รู้ทั่วจริงๆ จึงจะละได้

เพราะฉะนั้น ถ้าปกติท่านเจริญสติทีละเล็กทีละน้อย ก็จะทำให้รู้จิตใจของตัวเอง ที่เป็นโลภะบ้าง เป็นโทสะบ้าง และที่กำลังจะล่วงเป็นทุจริต ก็สามารถวิรัติ หรือว่าสตินั่นเองวิรัติทุจริต แต่ข้อสำคัญก็คือ อย่าหวังผลที่จะบรรลุมรรคผลโดยรวดเร็ว พรุ่งนี้ เดือนหน้า หรือว่าปีหน้า ถ้าเหตุสมควรแก่ผลแล้ว ผลย่อมเกิด ช้าหรือเร็วนั่นก็แล้วแต่เหตุ คือ สติที่เกิดขึ้นและปัญญาที่รู้ลักษณะของนามและรูปเพิ่มขึ้น ขอให้เข้าใจว่าจุดประสงค์ไม่ใช่การเจริญสมถภาวนา ไม่ใช่เพื่อความสงบ แต่จุดประสงค์เพื่อการเจริญปัญญา

เพราะฉะนั้น ถ้าขณะใดระลึกได้ พิจารณารู้ลักษณะของสิ่งที่ปรากฏ เป็นปัญญา ข้อสำคัญในขั้นต้น จะต้องทราบก่อนว่า ขณะที่หลงลืมสติกับขณะที่มีสติต่างกันอย่างไร ถ้าขณะเห็น ได้ยิน เป็นเรื่องเป็นราว เป็นสัตว์ เป็นบุคคล ไปไกลมากทีเดียว นั่นคือลักษณะหลงลืมสติ เพราะเหตุว่าไม่ว่าจะเห็น จะได้ยิน สภาพลักษณะความจริงก็ปรากฏทางตาบ้าง ทางหูบ้าง ทางจมูกบ้าง ทางลิ้นบ้าง ทางกายบ้าง ทางใจบ้าง ขณะที่มีสตินั้นหมายความว่า ระลึกรู้ลักษณะของสิ่งที่กำลังปรากฏ จะเป็นทางตาก็ได้ ทางหูก็ได้ ทางจมูกก็ได้ ทางลิ้นก็ได้ ทางกายก็ได้ ทางใจก็ได้ ถ้ายังไม่ทราบความต่างกัน ท่านเคยหลงลืมสติอย่างไร ก็เหมือนกันอย่างนั้น หรือไม่ก็ไปจดจ้องให้เกิดสมาธิขึ้น ซึ่งยังไม่ใช่การเจริญสติอยู่นั่นเอง

เพราะฉะนั้น ในขณะที่มีสติรู้ลักษณะทุกอย่างที่ปรากฏให้เห็นว่า เป็นธรรมชาติที่ต่างกันนั้น มีลักษณะปรากฏว่าต่างกัน กลิ่นกับเสียง ต่างกันหรือไม่ต่างกัน ต่างกัน กลิ่นเป็นลักษณะที่ปรากฏทางจมูก เสียงเป็นลักษณะที่ปรากฏทางหู ไม่ใช่ลักษณะเดียวกัน แต่เป็นของจริงทั้งสองอย่าง กลิ่นก็เป็นของจริง เสียงก็เป็นของจริง เพราะฉะนั้น ผู้ที่หลงลืมสติ ได้ยินก็ไม่ได้ระลึกรู้ลักษณะของเสียง ไม่ได้ระลึกรู้ว่า ที่กำลังได้ยินนี้เป็นสภาพรู้ แต่ผู้ไม่หลงลืมสติระลึกได้ว่า ควรรู้ความจริงของสิ่งที่ปรากฏทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจนั่นเอง เมื่อระลึกได้แล้วก็รู้ลักษณะของสิ่งหนึ่งสิ่งใด จะเป็นทางตาก็ได้ ทางหูก็ได้ ทางจมูกก็ได้ ทางลิ้นก็ได้ ทางกายก็ได้ ทางใจก็ได้

ทางกายในขณะที่มีสติ แล้วก็รู้ลักษณะของสิ่งที่ปรากฏทางกายนั้น จะมีลักษณะอะไรปรากฏให้รู้ทางกาย ที่ว่ามีสติมีการระลึกรู้ ก็ต้องหมายความว่า มีสิ่งที่สติกำลังรู้ลักษณะอยู่ จึงจะเรียกว่ามีสติระลึกรู้ที่ลักษณะของสิ่งที่กำลังปรากฏ เพราะฉะนั้น ทางกายสติระลึกรู้อะไร ถ้าหาไม่ได้ ปัญญาก็ไม่เกิด เป็นการคิด เป็นการฟัง เป็นการรู้โดยการเรียน แต่ว่าขณะที่เจริญสติ ไม่ใช่รู้ขั้นฟัง แต่ในขณะนั้นรู้เพราะสติกำลังรู้ลักษณะของสิ่งที่ปรากฏจริงๆ เพราะฉะนั้น ทางกายมีลักษณะอะไรที่เป็นของจริง ที่ปรากฏให้รู้ได้ทางกาย

ตอบ รู้ร้อน รู้เย็น

สุ. ถูกค่ะ ถ้าเย็นปรากฏ สติกำลังรู้ลักษณะที่เย็น หรือว่ากำลังรู้ความรู้สึกเย็น มี ๒ อย่าง ทางกายไม่ใช่มีอย่างเดียว นี่เป็นปัญญาที่จะต้องอบรมให้เกิดขึ้น มิฉะนั้นแล้วก็เพียงแต่เย็นเฉยๆ ไม่รู้อะไรก็ไม่ได้ เพราะเหตุว่าที่จะไม่ยึดถือว่าเป็นตัวตนได้ ปัญญาจะต้องรู้ชัดขึ้นว่า สภาพที่ไม่ใช่ตัวตนนั้นเป็นสภาพที่ปรากฏให้รู้ หรือว่าเป็นความรู้ มี ๒ อย่าง เพราะเหตุว่าจะมีเฉพาะสิ่งที่ปรากฏให้รู้ โดยไม่มีสภาพรู้ไม่ได้ หรือว่าจะมีแต่สภาพรู้โดยไม่มีสิ่งใดปรากฏให้รู้ก็ไม่ได้ แต่ทั้ง ๒ อย่างนั้นต่างกัน สภาพที่ปรากฏให้รู้ก็เป็นสิ่งหนึ่ง สภาพรู้ก็เป็นอีกสิ่งหนึ่ง

เพราะฉะนั้น เวลาที่เริ่มมีสติ คือระลึกรู้ที่ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ใกล้มาก ของจริงที่พิสูจน์ได้ทุกขณะ ถ้าเป็นของที่ห่างไกล พิสูจน์ยากและก็รู้ไม่จริง แต่สิ่งนี้กำลังปรากฏใกล้ที่สุด คือ ที่ตา ที่หู ที่จมูก ที่ลิ้น ที่กาย ที่ใจ ในขณะที่มีการระลึกรู้ทางกาย ปัญญาก็จะต้องรู้ว่า เป็นสภาพเย็น หรือเป็นความรู้สึกเย็น ทีละเล็กทีละน้อย มีสติแล้วก็จะต้องมีสัมมาทิฏฐิ คือ ปัญญาเกิดร่วมด้วย เพื่อจะได้ละความไม่รู้ ละความที่เคยเห็นผิดว่าเป็นตัวตนว่า เราเย็นบ้าง หรือว่าเรารู้สึกเย็นบ้าง เพราะเหตุว่าความเห็นผิดเวลาเย็นปรากฏ ก็เป็นเราเย็น เวลารู้สึกเย็น ก็เป็นเรารู้สึกเย็น แต่ว่าความจริงแล้วเป็นลักษณะของนามและรูปที่อาศัยกันเกิดขึ้นแล้วก็ดับไป สภาพเย็นก็ดับ สภาพรู้ลักษณะที่เย็นนั่นก็ดับ แต่ปัญญาต้องไวขึ้น คมกล้าขึ้น รู้ชัดขึ้น จึงจะชื่อว่าเจริญสติปัฏฐาน

เพราะฉะนั้น การเจริญสติปัฏฐานไม่ใช่เรื่องง่ายเลย ต้องอาศัยการฟังเนืองๆ บ่อยๆ พิจารณาเหตุผล แล้วก็เจริญเหตุให้สมควรแก่ผลด้วย แต่ข้อสำคัญประการหนึ่งก็คือว่า ต้องไม่เข้าใจผิดว่า เป็นสติปัฏฐานเฉพาะบางสิ่งบางประการ แต่ต้องเข้าใจให้ถูกต้องตามความเป็นจริงว่า ทุกอย่างที่เป็นจริงไม่ว่าจะเป็นทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจนั้นเป็นสติปัฏฐานทั้งสิ้น แล้วแต่ว่าสติจะระลึกรู้ลักษณะใด ขณะนี้ก็เจริญสติปัฏฐานได้ บางท่านเข้าใจว่า การเจริญสติปัฏฐานนั้นต้องมีความรู้คล่องเรื่องนามรูปเสียก่อน คือว่ากำลังเห็นก็รู้ว่า เห็นเป็นนาม สีเป็นรูป ได้ยินเป็นนาม เสียงเป็นรูป รู้กลิ่นเป็นนาม กลิ่นเป็นรูป รู้รสเป็นนาม รสเป็นรูป รู้เย็น ร้อน อ่อน แข็งเป็นนาม สภาพเย็น ร้อน อ่อน แข็ง เป็นรูป คิดนึกเป็นนาม สุขทุกข์เป็นนาม บางท่านคิดว่า ท่านจะต้องไปท่อง แต่ไม่ถูก ปัญญาขั้นการฟัง ฟังให้เข้าใจเพื่อจะได้พิจารณาว่า สภาพที่มีจริงนั้นเป็นอย่างนั้นหรือไม่ สภาพที่เย็นมีจริงไหม เย็นจริงไหม สภาพที่รู้เย็นมีไหม สภาพที่รู้เย็นต้องมี แต่ไม่เคยมีสติ ไม่เคยระลึกได้ ไม่เคยรู้

เพราะฉะนั้น ก็ต้องฟังให้เข้าใจว่า จะต้องรู้อะไร แล้วเวลาที่มีสติจริงๆ ปัญญาก็พิจารณาสภาพเย็นที่กำลังปรากฏ โดยไม่ใช่อาศัยการศึกษา หรือการฟังมานั่งคิดหรือว่า คิดว่ารู้แล้ว แต่ว่าความจริงปัญญาที่เกิดจากการเจริญสติต้องพร้อมกับสติที่กำลังรู้ลักษณะนั้น บางท่านก็เอาเสียงไปนั่งท่องว่า ได้ยินๆ แต่ความจริงท่านไม่ได้รู้เลยว่าสภาพได้ยินนั้นต่างกับเสียงจริงๆ ไม่ใช่ว่าจะเอาเสียงนั่นมาเปลี่ยนป้าย เปลี่ยนชื่อเป็นได้ยินได้ โดยนั่งคิดว่ากำลังได้ยิน

ถ. อยากจะเรียนถามท่านอาจารย์ว่า เวลาเจริญสติหมายถึงว่า เวลาโมโห พอเจริญสติก็ระงับความโมโห อันนี้มีประโยชน์ แต่บางอย่าง เช่น เวลาได้ยินเสียงอะไรก็เจริญสติว่า นี่คือเสียง ยังไม่เห็นประโยชน์ของการเจริญสติแบบนี้ ช่วยกรุณาอธิบาย

สุ. โดยมากทุกท่านต้องการผลอย่างรวดเร็ว คือ เวลาโกรธเกิดขึ้น ไม่ชอบเป็นอกุศล เป็นความไม่สบายใจ เพราะฉะนั้น ต้องการผลทันที คือ ให้โกรธในขณะนั้นหมดไป จึงคิดว่า การมีสติในขณะนั้นสามารถระงับความโกรธได้ทันทีที่สติเกิด เห็นคุณประโยชน์ของสติขั้นนั้น แต่ขอให้คิดอย่างนี้ว่า โกรธนี้ก็ห้ามไม่ได้ ถ้าจะมีสติเกิดขึ้นระงับยับยั้งก็เพียงชั่วขณะนั้น ภายหลังก็โกรธอีกแล้ว เมื่อไรหนอโกรธนี้จึงจะไม่เกิดอีกเลยได้

ผู้ที่เจริญสติปัฏฐานนั้นเห็นโทษเห็นภัยของความโกรธ ไม่ใช่เฉพาะขณะที่กำลังโกรธ แต่ยังเห็นล่วงหน้าต่อไปอีกว่า ตราบใดที่ยังมีกิเลสอยู่ยังต้องโกรธ เพราะฉะนั้น ผู้ที่จะหมดโกรธได้ เป็นผู้ที่เย็นสนิท ไม่มีความเดือดร้อนใจเพราะความโกรธอีกนั้นจะต้องหมดกิเลสด้วยการเจริญปัญญา รู้ชัดในลักษณะของสิ่งที่ปรากฏตามความเป็นจริง ไม่ใช่เพียงแค่มีสติระงับความโกรธได้เพียงชั่วคราว นี่คือความต่างกันของการระงับกิเลส กับการเจริญปัญญาเพื่อดับกิเลสเป็นสมุจเฉท ถ้าผู้ใดยังไม่เห็นโทษของความไม่รู้ ที่ทำให้ยังต้องเกิด แก่ เจ็บ ตาย มีโกรธบ้าง มีความติดข้องต้องการบ้าง ก็ไม่อบรมเจริญปัญญาเพื่อละความไม่รู้ในลักษณะของนามและรูปตามความเป็นจริงนี้ได้ แต่ถ้าเห็นโทษ ก็เพียรอบรมเจริญปัญญาละกิเลสละเอียด ถ้าปัญญายังไม่รู้ชัด กิเลสไม่ดับหมดเป็นสมุจเฉท ก็ยังต้องเกิดอีกต่อไปในวัฏฏะ

ไม่ทราบว่าจะเห็นประโยชน์ของการเจริญปัญญาหรือยัง เพราะเหตุว่า ความไม่รู้ กับความรู้ อย่างไหนดีกว่ากัน ธรรมดาทั่วๆ ไป ความรู้ต้องดีกว่า เพราะฉะนั้น เวลาได้ยินแล้วรู้ถูกต้องตามความเป็นจริงในลักษณะของเสียง ในลักษณะของได้ยิน กับที่จะไม่รู้ อย่างไหนจะดีกว่ากัน ความรู้ดีกว่า และความรู้ชนิดนี้ จะทำให้ดับกิเลสได้เป็นสมุจเฉทไม่เกิดอีก ไม่ใช่หยุดไปเพียงชั่วครั้งชั่วคราวเท่านั้น

ถ. แต่ถ้ารู้ผิด

สุ. รู้ถูกก็ดี รู้ผิดก็ไม่ดี รู้ถูกตามความเป็นจริงของสิ่งที่ปรากฏ รู้ผิดคือคิดเอาเอง ยึดถือว่าเป็นตัวตน ทั้งๆ ที่สภาพนั้นไม่ใช่ตัวตน

ถ. นั่งสงบสติอารมณ์หาสมาธิ ยุงกัดเจ็บดูดเลือดผมไปเยอะ ตบยุงตายบาปไหมครับ

สุ. บาปค่ะ เป็นปาณาติบาต

ถ. ศีลข้อที่ ๑ ทนให้ยุงกัดตลอดไปแล้วก็ไม่บาป

สุ. ทำไมล่ะคะ

ถ. ตบยุงตายก็บาป เป็นปาณาติบาต ไม่อยากบาปก็ต้องไม่ตบ

สุ. ปล่อยให้ยุงกัดดูดเลือด เกิดโรคภัยใข้เจ็บ สิ้นชีวิตไปเสียก่อน ไม่ได้บรรลุมรรคผล เพราะว่าการได้เกิดเป็นมนุษย์นี้มีค่ามาก ต้องมัชฌิมาปฏิปทา ถ. แม่อุ้มท้องตั้ง ๑๐ เดือน ผมไม่เข้าใจ ยุงกัดเรา เราก็เจ็บนะ ต้องทนให้กัด ตบก็ปาณาติบาต

สุ. มัชฌิมาปฏิปทาค่ะ

ถ. ผมไม่เข้าใจครับ

สุ. ทางสายกลาง ไม่ใช่ว่าอยู่ดีๆ ก็ไปนั่งให้ยุงกัดตอมเต็มตัว

ถ. ไม่ใช่นั่งให้ยุงกัดนะครับ ก็นั่งสมาธิ สงบสติ

สุ. สิ่งใดดีก็เป็นกุศล การเบียดเบียน การทำร้ายทำลายชีวิตนั้นก็เป็นอกุศล ผู้ที่จะละทุจริตทางกายทางวาจา โดยมีศีล ๕ สมบูรณ์ ก็เป็นพระอริยบุคคล

ถ. ก็ผมถามว่าตบยุงตายก็ปาณาติบาต

สุ. บาปค่ะ

ถ. บาปแล้วใช่ไหมครับ ถ้าไม่ตบ ยุงก็กัดผม

สุ. มีอะไรพัด ก็โบกไปเสีย แทนที่จะต้องทรมานตัว ตามปกติธรรมดาของ

ทุกๆ คนที่มีชีวิตกันนี้ ไม่ได้เคยปัองกันอันตรายหรือคะ ก็ป้องกันอันตรายตามปกติ ไม่ผิดปกติเลย

ถ. พระอริยเจ้าหมายถึงขั้นไหนครับ

สุ. พระอริยเจ้าหมายถึง ผู้ที่ตรัสรู้อริยสัจธรรม ๔ เป็นพระโสดาบันบุคคล

พระสกทาคามีบุคคล พระอนาคามีบุคคล พระอรหันต์ ทั้งหมดเป็นพระอริยเจ้า เพราะไม่ใช่ปุถุชน

ถ. พระพุทธเจ้าท่านสอนให้ทำความดีอย่างไร แค่ไหน

สุ. ทำความดีทุกประการ ตามอัธยาศัยของสัตว์โลก ถ้าสัตว์โลกยังไม่อยากหมดกิเลส พระพุทธเจ้าก็ทำอะไรไม่ได้ นอกจากชี้คุณโทษให้เห็นว่า สิ่งใดเป็นอกุศล สิ่งนั้นก็เป็นโทษ ควรละอกุศล สิ่งใดเป็นกุศลก็เป็นคุณ ควรเจริญกุศลให้มากขึ้น เพราะเหตุว่าทุกสิ่งทุกอย่างไม่แน่นอน ได้รับสิ่งที่เป็นผลดีน่าพอใจ ที่เป็นความสุขนั้นก็ไม่เที่ยง ไม่ว่าจะอยู่ในภพไหน ภูมิไหน

เปิด  339
ปรับปรุง  12 ต.ค. 2566