แนวทางเจริญวิปัสสนา ตอนที่ 50

ที่ยกเรื่องตัณหาของพระภิกษุ ก็เพื่อจะแสดงให้เห็นว่า ถ้าตราบใดยังมีกิเลส ไม่ว่าจะอยู่ที่ไหน จะเป็นฆราวาสหรือจะเป็นบรรพชิตก็เหมือนกัน ไม่ใช่ว่าท่านละอาคารบ้านเรือนไปแล้วจะหมดตัณหาได้

เพราะฉะนั้น ผู้ที่เป็นฆราวาสแล้วเจริญสติปัฏฐาน ก็ย่อมจะพิจารณาสภาพของนามและรูปที่เกิดขึ้นปรากฏตามปกติ เพื่อการรู้ชัด ไม่ใช่ว่าผู้ที่จะเจริญสติปัฏฐานต้องไม่มีโลภะเสียก่อน ไม่มีโทสะเสียก่อน แล้วจึงจะเจริญสติปัฏฐาน นั่นไม่ถูก เพราะเหตุว่ามีข้อความในพระสูตรนี้ว่า

ภิกษุผู้มีสติสัมปชัญญะ รู้โทษนี้ และรู้ตัณหาเป็นที่เกิดแห่งทุกข์ พึงเป็นผู้ปราศจากตัณหา ไม่ถือมั่น ย่อมเว้นรอบ

การไม่ถือมั่นได้นั้น ไม่ใช่ไม่ถือมั่นได้โดยไม่รู้ หรือว่าไม่ใช่จะไม่ถือมั่นได้โดยบังคับ แต่ผู้ที่จะไม่ถือมั่นได้ ต้องเป็นผู้รู้ แต่ไม่ถือมั่น เพราะฉะนั้น ก็จะต้องรู้ทุกสิ่งที่ปรากฏตามความเป็นจริง ตามสภาพของสิ่งนั้น แล้วจึงจะไม่ถือมั่นได้ ทุกคนก็ยังมีโลภะ ทางตาบ้าง ทางหูบ้าง ทางจมูกบ้าง ทางลิ้นบ้าง ทางกายบ้าง ทางใจบ้าง ให้ไม่ถือมั่นได้ไหม บอกตัวเองว่า ไม่ให้ถือมั่น ไม่ให้ถือมั่น ได้ไหม ไม่ได้เลย

แต่ผู้ที่จะไม่ถือมั่นได้นั้น ผู้นั้นจะต้องรู้ชัดตามความเป็นจริง เป็นผู้ที่มีสติสัมปชัญญะ เว้นรอบ ละโดยรอบ ไม่ใช่ว่าเพียงประการเดียวหรือสองประการเท่านั้น

เพราะฉะนั้น ในข้อนี้จะเห็นได้ว่า ไม่ใช่ว่าต้องหมดลาภปลิโพธ เสียก่อน แล้วจึงจะเจริญสติปัฏฐาน แต่สามารถเจริญได้ ไม่ว่าในเพศของคฤหัสถ์ หรือบรรพชิต เพราะเหตุว่าถึงแม้ว่าจะเป็นบรรพชิต ละอาคารบ้านเรือนไปแล้ว ก็ยังมีความยินดีที่เป็นลาภปลิโพธ ซึ่งผู้นั้นจะละได้ ก็ต้องเป็นผู้ที่มีสติสัมปชัญญะ รู้โทษ คือความจริงของสิ่งนั้น ที่ไม่เที่ยง เกิดขึ้นแล้วก็ดับไป

ขุททกนิกาย เถรคาถา ติสสเถรคาถา พระเถระกล่าวว่า

ภิกษุศีรษะโล้น ครองผ้าสังฆาฏิ ได้ข้าว น้ำ ผ้า และที่นั่ง ที่นอน ย่อมชื่อว่าได้ข้าศึกไว้มาก

ภิกษุ รู้โทษในลาภสักการะว่าเป็นภัยอย่างนี้แล้ว ควรเป็นผู้มีลาภน้อย มีจิตไม่ชุ่มด้วยราคะ มีสติ งดเว้นความยินดีในลาภ

ในตอนท้ายมีข้อความว่า มีสติ งดเว้นความยินดีในลาภ

ที่กล่าวว่า ภิกษุครองผ้าสังฆาฏิ ได้ข้าว น้ำ ผ้า ที่นอน ที่นั่ง ย่อมชื่อว่า ได้ข้าศึกไว้มาก เพราะเหตุใด เพราะเหตุว่าบรรพชิตเป็นผู้ละอาคารบ้านเรือนแล้ว ถ้าไม่ใช่บรรพชิต ก็ยังเป็นผู้ที่สมบูรณ์ด้วยข้าว น้ำ ผ้า ที่นั่ง ที่นอน เหมือนอย่างคฤหัสถ์หรือฆราวาส แต่เพราะว่าไม่ต้องการที่จะคลุกคลี หมกมุ่นอยู่ในสิ่งเหล่านี้ คือไม่ต้องการคลุกคลีเพลิดเพลินไปอย่างชีวิตของฆราวาส

เพราะฉะนั้น เมื่อท่านสละชีวิตอย่างฆราวาสไปแล้ว แล้วได้รับสิ่งต่างๆ เหล่านี้ไว้มาก ก็ย่อมชื่อว่า ได้ข้าศึกกับสิ่งที่ท่านได้สละไปแล้ว แต่ไม่ว่าจะเป็นบรรพชิตหรือฆราวาสก็ตาม ถ้าพิจารณาโดยสภาพของปรมัตถธรรม การเห็นสิ่งต่างๆ ที่ดี ได้ยินเสียงที่ดี ได้กลิ่นที่ดี ได้รสที่ดี ได้สัมผัสที่ดีนั้น เป็นกุศลวิบาก เป็นผลของกุศลกรรม ไม่จำกัดเจาะจงว่า เป็นบรรพชิตหรือฆราวาส ซึ่งผู้ที่มีสติจะต้องพิจารณารู้สภาพลักษณะของสิ่งที่ปรากฏ ที่ได้รับนั้น ให้รู้ชัดถูกต้องตามความเป็นจริง ไม่ว่าท่านจะเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ด้วยสมบัติ หรือว่าเกิดในสวรรค์ก็ตาม เจริญสติปัฏฐานได้ ไม่ใช่ว่าจะต้องละทิ้งสิ่งต่างๆ เหล่านั้น แล้วไปเจริญสติปัฏฐาน เพราะเหตุว่าการเจริญสติปัฏฐานนั้น แล้วแต่เพศของคฤหัสถ์หรือของบรรพชิต แต่จะเห็นได้ว่า ที่เป็นข้าศึกนั้น ก็ในขณะที่มีจิตติดข้อง ชุ่มด้วยราคะ แต่ถ้าจิตไม่ชุ่มด้วยราคะ เป็นผู้ที่มีสติงดเว้นความยินดีในลาภ ถึงแม้ว่าจะได้รับรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพารมณ์ต่างๆ แต่ไม่หมกมุ่น ไม่เพลิดเพลิน ไม่เป็นไปด้วยความรู้สึกว่า เป็นตัวตน แต่ว่ามีสติงดเว้นความยินดี คือ หมกมุ่นเพลิดเพลินไปในรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะนั้น ด้วยการรู้ลักษณะของสิ่งนั้น ตามความเป็นจริง

ถ. ขณะที่กำลังระลึกรู้ลักษณะของจริงที่กำลังปรากฏนั้น ก็คลายการยึดถือว่า เป็นอัตตาใช่ไหม

สุ. ขณะใดที่ปัญญาเกิด ขณะนั้นละอวิชชา ละความเห็นผิดทุกๆ ขณะ ทีละเล็กทีละน้อย ไปจนกว่าความเห็นผิดนั้นจะหมด แต่ว่าต้องรู้สิ่งที่กำลังปรากฏ ไม่ใช่รู้ขณะอื่นเลย

ขุททกนิกาย เถรคาถา สิริมาเถรคาถา มีข้อความว่า

ถ้าตนมีจิตไม่ตั้งมั่น ถึงคนเหล่าอื่นจะสรรเสริญ ชนเหล่าอื่นก็สรรเสริญเปล่า เพราะตนมีจิตไม่ตั้งมั่น ถ้าตนมีจิตตั้งมั่นดีแล้ว ถึงชนเหล่าอื่นจะติเตียน ชนเหล่าอื่นก็ติเตียนเปล่า เพราะตนมีจิตตั้งมั่นดีแล้ว

แสดงให้เห็นว่า การเจริญสตินั้น เป็นการเจริญปัญญา เพื่อรู้ชัดตามความเป็นจริง รู้จักตัวเองถูกต้องตามความเป็นจริงทุกอย่าง ไม่ใช่หลอกลวง หรือไม่ใช่ทำให้ผิดไปจากปกติ แต่หมายความว่า ไม่ว่าผู้นั้นจะเคยสะสมเหตุปัจจัยที่จะเป็นบุคคลนั้น มีความพอใจทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ มากน้อยแค่ไหนก็ตาม สามารถเจริญสติระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมตามความเป็นจริง รู้ชัดถูกต้องตามความเป็นจริง ไม่หวั่นไหวไปเพราะความไม่รู้ ถึงแม้ว่าชนเหล่าอื่นจะติเตียน ชนเหล่าอื่นก็ติเตียนเปล่า เพราะตนมีจิตตั้งมั่น คือไม่หวั่นไหวไปเพราะอวิชชา ไม่ใช่ไปยับยั้งไม่ให้โลภะเกิด โทสะเกิด ไม่ให้มีลาภปลิโพธ ถ้าเป็นอย่างนั้นก็ไปบังคับ ไปฝืน ไม่ใช่เป็นผู้ที่รู้ตามปกติ แต่ผู้ที่จะรู้ชอบตามความเป็นจริงนั้น ต้องเป็นผู้ที่รู้ตามปกติ จึงจะเป็นผู้ไม่หวั่นไหว เป็นผู้มีจิตมั่นคง เป็นผู้มีปัญญารู้ชัด เป็นผู้รู้จักตนดี แม้คนอื่นจะยังไม่รู้ ยังไม่มีอะไรปรากฏทางกายหรือทางวาจาเลย แต่โลภะเกิดขึ้นขณะใด ผู้เจริญสติก็ระลึกรู้ลักษณะของสภาพนามธรรมที่เกิดขึ้นนั้นตามความเป็นจริง เป็นผู้ที่รู้จักตัวเอง ถูกต้องชัดเจนตามความเป็นจริง

ไม่ทราบว่าผู้ฟังคิดว่า การรู้จักตัวเองนั้นดีไหม ต้องดีแน่ ดีกว่าที่จะให้คนอื่นรู้จัก คนอื่นรู้จักก็ยังอาจจะคลาดเคลื่อน ไม่ถูกต้อง ใครคิดว่าใครรู้จักใครดีแล้ว ก็ยังคลาดเคลื่อนได้ แต่ผู้ที่ไม่คลาดเคลื่อน คือผู้ที่มีสติรู้ลักษณะของนามและรูปที่เกิดขึ้นปรากฏแก่ตน

ในเรื่องของลาภปลิโพธยังมีในพระสูตร ที่คิดว่าจะทำให้อุปการะแก่ความเข้าใจในเรื่องนี้ได้

ขุททกนิกายเถรคาถา อัฏฐกนิบาต มหากัจจายนเถรคาถา

สำหรับท่านพระมหากัจจายนะ นี่ก็คงจะทราบแล้วว่า ท่านเป็นพระภิกษุผู้เลิศกว่าพวกภิกษุผู้จำแนกอรรถแห่งภาษิตโดยย่อให้พิสดาร ข้อความในมหากัจจายนเถรคาถา มีว่า

ภิกษุไม่ควรทำการงานให้มาก ควรหลีกเร้นหมู่ชน ไม่ควรขวนขวายเพื่อปัจจัยให้เกิด เพราะภิกษุใดเป็นผู้ติดรสอาหาร ภิกษุนั้นชื่อว่า เป็นผู้ขวนขวาย เพื่อปัจจัยให้เกิด และชื่อว่าละทิ้งประโยชน์ อันจะนำสุขมาให้ พระอริยะทั้งหลาย มีพระพุทธเจ้าเป็นต้น กล่าวการไหว้ การบูชาในสกุลทั้งหลายว่า เป็นเปือกตม เป็นลูกศรอันละเอียด ถอนได้ยาก เพราะสักการะอันบุรุษชั่วละได้ยาก ภิกษุไม่ควรแนะนำสัตว์อื่นให้ทำกรรมอันเป็นบาป และไม่พึงส้องเสพกรรมนั้นด้วยตนเอง เพราะสัตว์มีกรรมเป็นเผ่าพันธุ์ คนเราย่อมไม่เป็นโจร เพราะคำของบุคคลอื่น ไม่เป็นมุนีเพราะคำของบุคคลอื่น บุคคลรู้จักตนเองว่าเป็นอย่างไร แม้เทพเจ้าทั้งหลาย ก็รู้จักบุคคลนั้นว่าเป็นอย่างนั้น ก็พวกคนอื่นย่อมไม่รู้สึกตัวว่า พวกเราที่สมาคมนี้จะพากันยุบยับในหมู่ชน พวกนั้นพวกใด มารู้สึกตัวว่า พวกเราจักพากันไปสู่ที่ใกล้มัจจุราช ความทะเลาะวิวาทย่อมระงับไป เพราะพวกนั้น บุคคลผู้มีปัญญา ถึงจะสิ้นทรัพย์ ก็ยังเป็นอยู่ได้ ส่วนบุคคลถึงจะมีทรัพย์ ก็เป็นอยู่ไม่ได้ เพราะไม่ได้ปัญญา บุคคลย่อมได้ยินเสียงทุกอย่างด้วยหู ย่อมเห็นสิ่งทั้งปวงด้วยจักษุ แต่นักปราชญ์ ย่อมไม่ควรละทิ้งสิ่งทั้งปวง ที่ได้เห็น ได้ฟังมาแล้ว ผู้มีปัญญาถึงมีตาดี ก็ทำเหมือนคนตาบอด ถึงมีหูดี ก็ทำเป็นดังคนหูหนวก ถึงมีปัญญา ก็ทำดังคนใบ้ ถึงมีกำลัง ก็ทำเป็นดังคนทุรพล แต่เมื่อประโยชน์เกิดขึ้น ถึงจะนอนอยู่ในเวลาใกล้ตาย ก็ยังทำประโยชน์นั้นได้

ถ้าพิจารณาข้อความในสูตรนี้ วรรคแรกที่ว่า ภิกษุไม่ควรทำการงานให้มาก ก็จะเห็นได้ว่า ไม่ได้บอกว่าไม่ให้ทำการงาน แต่บอกว่า ภิกษุไม่ควรทำการงานให้มาก ข้อความต่อไปที่ว่า ควรหลีกเร้นหมู่ชน คำนี้ก็หมายความว่าไม่คลุกคลี หรือไม่ติดในบุคคลในตระกูล

ในเถรนามสูตร การอยู่ผู้เดียว ไม่ใช่หมายความว่า ปลีกตน แต่ว่าการปลีกตน หรือว่าการอยู่ผู้เดียวนั้น หมายความถึง การมีสติระลึกรู้ลักษณะของสิ่งที่กำลังปรากฏ ปลีกจากสิ่งอื่นทั้งหมด ก็ชื่อว่า ไม่คลุกคลีกกับหมู่ชน แต่ว่ามีสติรู้ลักษณะของนามและรูปที่กำลังปรากฏ ซึ่งเป็นการเจริญมรรคมีองค์ ๘

ที่กล่าวว่า ไม่ควรขวนขวายเพื่อปัจจัยให้เกิด นี่ก็เป็นไปเพื่อลาภ ซึ่งเป็นลาภปลิโพธ ถ้าท่านมีความขวนขวายเพื่อปัจจัย

และที่กล่าวว่า การไหว้การบูชาในสกุลทั้งหลาย เป็นเปือกตม เป็นลูกศรอันละเอียด ถอนได้ยาก เพราะสักการะอันบุรุษชั่วละได้ยาก

การที่ยังมีความสำคัญ หรือคิดว่าการไหว้ การบูชา การสักการะของคนอื่นเป็นสิ่งสำคัญนั้นก็เป็นเพราะเหตุว่ากลัวการที่จะอยู่ผู้เดียว หรือว่ากลัวการที่จะมีความรู้สึกเหมือนกับถูกทอดทิ้ง ไม่เป็นที่รักของหมู่คณะ หรือว่าไม่เป็นที่รักของบุคคลอื่น จึงได้มีการพอใจในการไหว้ การบูชาในสกุลทั้งหลาย แต่ข้อความที่ท่านพระมหากัจจายนเถระกล่าว ท่านกล่าวว่า การไหว้ การบูชา ในสกุลทั้งหลาย เป็นเปือกตม เป็นลูกศรอันละเอียด ถอนได้ยาก เพราะสักการะอันบุรุษชั่วละได้ยาก ความพอใจมีมากมายเหลือเกิน อาจจะเป็นไปในทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ อาจจะปลีกตนไปแล้ว ไม่พัวพันกับรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะก็จริง แต่ก็ยังมีความยินดีในการไหว้ การบูชา การสรรเสริญของคนอื่นก็ได้ ซึ่งแม้แต่ความยินดีเช่นนั้น สำหรับบุรุษชั่วแล้วก็เป็นเปือกตม เป็นลูกศรอันละเอียด ถอนได้ยาก ละได้ยาก นอกจากนั้น ในมหากัจจายนเถรคาถา ยังมีข้อความว่า

ภิกษุไม่ควรแนะนำสัตว์อื่นให้ทำกรรมอันเป็นบาป และไม่พึงส้องเสพกรรมนั้นด้วยตนเอง เพราะสัตว์มีกรรมเป็นเผ่าพันธุ์

ที่ว่าภิกษุไม่ควรแนะนำสัตว์อื่นให้ทำกรรมอันเป็นบาปนี้ ก็จะต้องเข้าใจด้วยว่า พระภิกษุก็คงจะไม่สอนให้ใครไปฆ่าสัตว์ ไปลักทรัพย์ ไปประพฤติผิดในกาม แต่ถ้าท่านมีความเห็นผิดในข้อปฏิบัติผิด แล้วสอนผิด อันนั้นก็เป็นกรรมอันเป็นบาป ซึ่งก็ไม่ควรจะส้องเสพกรรมนั้น เพราะเหตุว่าถ้าปฏิบัติผิด ผลที่ได้รับผิด ผู้อื่นก็ย่อมหมดโอกาสที่จะได้รับผลที่ถูกต้อง และการกระทำเช่นนั้นก็เป็นกรรมที่หนักมาก เพราะเหตุว่าตัดการเจริญปัญญา การเจริญมรรค และไม่สามารถที่จะบรรลุมรรคผลนิพพานได้

ข้อความที่ว่า คนเราย่อมไม่เป็นโจร เพราะคำของบุคคลอื่น ไม่เป็นมุนีเพราะคำของบุคคลอื่น บุคคลรู้จักตนเองว่าเป็นอย่างไร แม้เทพเจ้าทั้งหลายก็รู้จักบุคคลนั้นว่าเป็นอย่างนั้น

ไม่ว่าจะเป็นที่รักหรือจะเป็นที่ชัง แต่ให้ทราบว่า ถ้าผู้นั้นเป็นบัณฑิต แล้วไม่เป็นที่รักของคนพาล บัณฑิตนั้นย่อมไม่เป็นโจร เพราะคำของบุคคลอื่น ไม่เป็นมุนีเพราะคำของบุคคลอื่น แต่การที่จะเป็นผู้รู้ ถูกต้องตามความเป็นจริงได้นั้น ผู้นั้นจะต้องรู้จักตนเอง แล้วก็ไม่ใช่แต่เฉพาะตนเองที่รู้ใจของตัวเอง รู้นามรู้รูปที่เกิดปรากฏแก่ตน เพราะเหตุว่ามีสติ แม้เทพเจ้าทั้งหลายก็รู้จักบุคคลนั้นว่าเป็นอย่างนั้น

ยังมีผู้ที่รู้จิตใจของคนอื่น เพราะฉะนั้น ไม่ว่าใครจะทำกรรมดีกรรมชั่ว ในที่ลับในที่แจ้งอย่างไรก็ตาม นอกจากบุคคลนั้นจะรู้ตัวเอง ว่าที่ทำนั้น เป็นกรรมดีหรือกรรมชั่ว แต่แม้เทพเจ้าทั้งหลาย ก็ยังรู้ด้วย ไม่ใช่ว่าจะไม่มีบุคคลอื่นรู้เลย

นอกจากนั้น ในมหากัจจายนเถรคาถา ยังมีข้อความว่า ในหมู่ชนพวกนั้น พวกใดมารู้สึกตัวว่า พวกเราจะพากันไปสู่ที่ใกล้มัจจุราช ความทะเลาะวิวาทย่อมระงับไป เพราะพวกนั้น

ทุกขณะก็ใกล้มัจจุราช โดยไม่มีใครทราบว่า มัจจุราชจะอยู่ใกล้สักแค่ไหน เพราะฉะนั้น ผู้ที่รู้ประโยชน์ว่า สิ่งใดควรปฏิบัติ ผู้นั้นก็ย่อมจะไม่เห็นประโยชน์ของการทะเลาะวิวาท หรือกล่าวแสดงความเห็นต่างๆ โดยไร้ประโยชน์ แต่ถ้าเป็นสิ่งที่เป็นประโยชน์ เป็นสิ่งที่จะอุปการะแล้ว ก็ควรกระทำ

ข้อความที่ว่า บุคคลที่มีปัญญา ถึงจะสิ้นทรัพย์ก็ยังเป็นอยู่ได้ ส่วนบุคคลถึงจะมีทรัพย์ ก็เป็นอยู่ไม่ได้ เพราะไม่ได้ปัญญา บุคคลย่อมได้ยินเสียงทุกอย่างด้วยหู ย่อมเห็นสิ่งทั้งปวงด้วยจักษุ แต่นักปราชญ์ ย่อมไม่ควรละทิ้งสิ่งทั้งปวงที่ได้เห็นได้ฟังมาแล้ว

ทุกคนมีหู บุคคลย่อมได้ยินเสียงทุกอย่างด้วยหูมากมายหลายเสียง ย่อมเห็นสิ่งทั้งปวงด้วยจักษุ ตาก็เหมือนกัน วันหนึ่งๆ ก็เห็นอะไรๆ ตั้งหลายอย่าง แต่นักปราชญ์ย่อมไม่ควรละทิ้งสิ่งทั้งปวงที่ได้เห็นได้ฟังมาแล้ว

ไม่ใช่ฟังเพียงผ่านไปๆ แล้วก็ทิ้งสิ่งทั้งปวงที่ได้เห็น ที่ได้ฟังมาหมด แต่ว่าประโยชน์ของการฟังนั้นคือว่าเมื่อฟังสิ่งใดแล้ว ก็ควรพิจารณาไตร่ตรองให้เกิดความเข้าใจเหตุผลที่ถูกต้อง ไม่ใช่ฟังแล้วก็ไม่รู้ ปล่อยให้ผ่านไปๆ การฟังนั้นไม่มีประโยชน์ เพราะเหตุว่าพระธรรมของพระผู้มีพระภาคนั้นเป็นความจริง พร้อมที่จะให้พิสูจน์ได้

เพราะฉะนั้น เมื่อได้ฟังแล้วก็ไม่ควรจะปล่อยให้ผ่านไป แต่ควรจะพิจารณาให้เกิดปัญญา ให้รู้ ไม่ใช่ว่า ไม่คิด ไม่พิจารณา ถ้าเป็นเช่นนั้นแล้ว ถึงจะฟังหลายสิบปี ประโยชน์ก็น้อย หรือว่าอาจจะไม่ได้ประโยชน์เลย

ข้อความที่ว่า ผู้มีปัญญาดี ถึงมีตา ก็ทำเหมือนคนตาบอด ถึงมีหู ก็ทำเป็นดังคนหูหนวก

หมายความว่าอย่างไรคะ จะฉลาดได้อย่างไร มีตาก็ทำเหมือนคนตาบอด มีหูก็ทำเป็นเหมือนคนหูหนวก

แต่นี่เป็นภาษิตของท่านพระเถระ คือท่านพระมหากัจจายนเถระ ผู้มีปัญญา ถึงมีตาดีก็ทำเหมือนคนตาบอด ถึงมีหูดีก็ทำเป็นดังคนหูหนวก การที่จะเป็นเช่นนั้นได้ ได้ยินก็สักแต่ว่า ได้ยิน ก็จะต้องเป็นเพราะปัญญาเกิดขึ้น รู้ลักษณะของนามว่า เป็นนาม รู้ลักษณะของรูปว่า เป็นรูปด้วย ที่ว่า ถึงมีปัญญาก็ทำเป็นดังคนใบ้ ไม่พูดเพ้อเจ้อไร้สาระ แก่งแย่ง แต่รู้ว่า คำนั้นควรพูดกับบุคคลใด ถ้าพูดกับบุคคลใดแล้วไม่มีประโยชน์ ถึงมีปัญญาก็ทำดังคนใบ้ เพราะเหตุว่าไม่ได้ประโยชน์อะไรเลย แต่ถ้าการพูดนั้นมีประโยชน์ ก็ย่อมพูด ถึงมีกำลังก็ทำเป็นดังคนทุรพล

ถ. (ไม่ได้ยิน)

สุ. จะใช้กำลังทำอะไรคะ รบราฆ่าฟันเบียดเบียนประทุษร้ายต่อสู้กันหรืออย่างไร เพราะเหตุว่ากำลังของร่างกายที่มีนี้ควรใช้ให้เป็นประโยชน์ในการดำเนินชีวิตไปวันหนึ่งๆ ให้เป็นประโยชน์ในทางธรรม ไม่ใช้ร่างกายที่แข็งแรงไปเบียดเบียน ไปประทุษร้าย ไปต่อสู้กัน เพราะเหตุว่า ข้อความต่อไปมีว่า แต่เมื่อประโยชน์เกิดขึ้น ถึงจะนอนอยู่ในเวลาใกล้ตาย ก็ยังทำประโยชน์นั้นได้

เปิด  220
ปรับปรุง  2 มิ.ย. 2565