แนวทางเจริญวิปัสสนา ตอนที่ 28

สมัยนี้ก็มีการฟังธรรม สมัยโน้นก็มีการฟังธรรม ผู้ใดสามารถที่จะทำ ให้บุคคลใดถึงพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ เป็นสรณะ บุคคลนั้นก็เป็นบุคคลผู้มีอุปการะมาก นั่นขั้นหนึ่ง ซึ่งในครั้งพุทธกาลก็จะเห็นได้ว่ามีพระสาวกมากทีเดียว ที่ท่านทำให้พราหมณ์ผู้มีความเห็นผิด หรือพวกเดียรถีย์ปริพาชกผู้มีความเห็นผิดได้ถึงพระรัตนตรัยเป็นสรณะ เพราะฉะนั้น ท่านพระสาวกเหล่านั้น ก็เป็นผู้ที่มีอุปการะมากแก่พวกเดียรถีย์ปริพาชก หรือพราหมณ์ที่มีความเห็นผิดแล้วก็เกิดความเห็นถูกขึ้น นั่นเป็นประการหนึ่งส่วนอีกประการหนึ่ง ผู้ใดได้รู้ว่านี้ทุกข์ นี้ทุกขสมุทัย นี้ทุกขนิโรธ นี้ ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทาจากบุคคลใด บุคคลนั้นก็เป็นผู้ที่มีอุปการะมาก

ท่านผู้ฟังคงจะได้ทราบเรื่องท่านพระสารีบุตร ท่านมีความเคารพในท่าน พระอัสชิ ซึ่งเป็นผู้ที่ทำให้ท่านได้ฟังธรรมและได้ดวงตาเห็นธรรม ก็อยู่ในประการที่ว่าเป็นผู้ที่ทำให้ท่านได้เห็นทุกข์ ได้เห็นทุกขสมุทัย ทุกขนิโรธ ทุกข นิโรธคามินีปฏิปทา นี่ก็เป็นบุคคลที่มีอุปการะมากอีกบุคคลหนึ่ง ส่วนอีกบุคคลหนึ่งนั้นก็เป็นผู้ที่เมื่ออาศัยบุคคลนั้นแล้ว ทำให้แจ้งซึ่ง เจโตวิมุตติ ปัญญาวิมุตติ คือถึงความสิ้นอาสวะเป็นพระอรหันต์ อันนี้ก็จะเห็นได้ว่าพระผู้มีพระภาคทรงอุปการะแก่พระสาวก ไม่ใช่เพียงให้บรรลุคุณธรรมเป็นพระโสดาบันบุคคลเท่านั้น แต่ยังอุปการะให้บรรลุคุณธรรมถึงขั้นเป็นพระอรหันต์ทีเดียว

ใน ขุททกนิกาย เถรคาถา เตลุกานิเถระคาถา มีข้อความว่า เรามีความเพียร ค้นคิดธรรมะอยู่นาน ก็ไม่ได้ความสงบใจ จึงได้ถามสมณะพราหมณ์ทั้งหลายว่า ใครหนอในโลก เป็นผู้ถึงฝั่งแล้ว ใครเล่าเป็นผู้ได้บรรลุธรรมอันหยั่งลงสู่อมตะ เราจะปฏิบัติธรรมของใคร ซึ่งเป็นเครื่องให้รู้แจ้งปรมัตถ์ เราเป็นผู้มีความคด คือกิเลสอันไปแล้วในภายใน เหมือนปลาที่กินเหยื่อ ฉะนั้น เราถูกผูกด้วยบ่วงใหญ่คือกิเลส เหมือนท้าวเวปจิตติยาสูร ถูกผูกด้วยบ่วงของท้าวสักกะ ฉะนั้น เรากระชากบ่วง คือกิเลสนั้นไม่หลุด จึงไม่พ้นไปจากความโศกและความร่ำไร ใครในโลกจะช่วยเรา ผู้ถูกผูกแล้วให้หลุดพ้น ประกาศทางอันเป็นเครื่องตรัสรู้ให้เรา เราจะรับสมณะหรือพราหมณ์คนไหนไว้เป็นผู้แสดงธรรมอันกำจัดกิเลสได้ จะปฏิบัติธรรมเพื่อนำไปปราศจากชราและมรณะของใคร จิตของเราถูกร้อยไว้ด้วยความลังเลสงสัย ประกอบด้วยความแข่งดีเป็น กำลัง ฉุนเฉียว ถึงความเป็นจิตกระด้างด้วยใจเป็นเครื่องรองรับตัณหา สิ่งใดมีธนูคือตัณหาเป็นสมุฏฐาน มีประเภท ๓๐ เป็นของมีอยู่ในโลก เป็นของหนัก ทำลายหทัยแล้วตั้งอยู่ ขอท่านจงดูสิ่งนั้นเถิด

การไม่ละทิฏฐิน้อยๆ อันลูกศร คือความดำริผิดให้อาจหาญแล้ว เราถูกยิงด้วยลูกศรคือทิฏฐินั้น หวั่นไหวอยู่ เหมือนใบไม้ที่ถูกลมพัด ฉะนั้น กรรมอันลามกตั้งขึ้นแล้วในภายในของเรา ย่อมพลันให้ผล กายอันเนื่องด้วยสัมผัส ๖ เกิดแล้วในที่ใด ย่อมแล่นไปในที่นั้นทุกเมื่อ เราไม่เห็นหมอที่จะถอนลูกศรของเราได้เลย หมอไม่สามารถจะเยียวยาเราด้วยศาสตราอย่างอื่นต่างๆ ชนิด ใครไม่ต้องด้วยศาสตรา ไม่ทำให้ร่างกายเราเป็นแผล ไม่เบียดเบียนร่างกายเราทั้งหมด จะถอนลูกศรอันเสียบอยู่ภายในหทัยของเราออกได้ ก็บุคคลผู้นั้นเป็นใหญ่ในธรรม เป็นผู้ประเสริฐ ลอยโทษอันเป็นพิษ เสียได้ ช่วยยกเราผู้ตกไปในห้วงน้ำ คือสังสาระอันลึกขึ้นสู่บกได้ เราเป็นผู้จมอยู่ในห้วงน้ำใหญ่ อันเป็นที่สุดแห่งธุลี เป็นห้วงน้ำลาดไปด้วยมายา ริษยาความแข่งดี และความง่วงเหงาหาวนอน ไม่มีใครจะนำออกได้

ความดำริทั้งหลายอันอาศัยซึ่งราคะ เป็นเช่นกับห้วงน้ำใหญ่ มีธรรมคืออุทธัจจะ เป็นเสียงคำรน มีสังโยชน์เป็นผล ย่อมนำบุคคลผู้มีความเห็นผิดไปสู่สมุทรคืออบาย กระแสตัณหาทั้งหลาย ย่อมไหลไปในอารมณ์ทั้งปวง ตัณหาเพียงดังเถาวัลย์ เกิดขึ้นแล้วตั้งอยู่ ใครจะพึงกั้นกระแสตัณหาเหล่านี้ได้ ใครเล่าจะตัดตัณหาอันเป็นดังลดาวัลย์นั้นได้ ข้าแต่ท่านผู้เจริญทั้งหลาย ขอท่านทั้งหลายจงทำฝั่งอันเป็นเครื่องกั้นกระแสตัณหาเหล่านั้นเถิด อย่าให้กระแสตัณหาอันเกิดแต่ใจ พัดท่านทั้งหลายไปเร็วพลัน ดังกระแสน้ำพัดต้นไม้ อันตั้งอยู่ริมฝั่ง ฉะนั้น

พระศาสดาผู้มีอาวุธคือปัญญา ผู้อันหมู่ฤาษีอาศัยแล้ว เป็นที่พึ่งแก่เราผู้มีภัยเกิดแล้ว ผู้แสวงหาฝั่งคือนิพพาน จากที่มิใช่ฝั่ง พระองค์ได้ประทานบันไดอันนายช่างทำดีแล้ว บริสุทธิ์ทำด้วยไม้แก่นคือธรรมะ เป็นบันไดมั่นคงแก่เราผู้ถูกกระแสตัณหาพัดไปอยู่ และได้ตรัสเตือนเราว่า อย่ากลัวเลย เราได้ขึ้นสู่ปราสาทคือสติปัฏฐานแล้ว พิจารณาเห็นหมู่สัตว์ ผู้ยินดี ในร่างกายของตน ที่เราได้สำคัญในกาลก่อนโดยเป็นแก่นสาร ก็เมื่อใดเราได้ เห็นทางอันเป็นอุบายขึ้นสู่เรือ เมื่อนั้นเราจักไม่ยึดถือว่าเป็นตัวตน ได้เห็นท่า คืออริยมรรค์อันอุดม พระพุทธเจ้าทรงแสดงทางอันสูงสุด เพื่อไม่ให้บาปธรรมทั้งหลาย มีทิฏฐิและมานะเป็นต้น ซึ่งเป็นดังลูกศรเกิดขึ้นในตน เกิดแต่ตัณหาเครื่องนำไปสู่ภพ เป็นไปได้

พระพุทธเจ้ากำจัดโทษอันเป็นพิษ ได้ทรงบรรเทากิเลส เครื่องร้อยกรองของเรา อันนอนเนื่องอยู่ในสันดาน อันตั้งอยู่แล้วในใจของเรา ตลอดกาลนาน นี่เป็นผู้ที่รู้เรื่องกิเลสของตนเอง เห็นภัยของกิเลสที่ตนมีด้วย แล้วก็เป็นผู้ที่ใคร่จะได้หมดจากกิเลส ซึ่งเป็นโทษเป็นภัยนั้น นี่ก็เป็นสิ่งที่ท่านแสดงไว้ในครั้งโน้น และเราก็พอจะเปรียบเทียบกับตัวเราได้ว่า เราเป็นผู้ที่เป็นไปกับรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะที่มากระทบตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ เหมือนกับถูกพัดไปด้วยกระแสน้ำที่ไหลเชี่ยว แล้วเมื่อมีความเห็นผิด ก็ย่อมมีความหวั่นไหว มีความลังเล ถูกกิเลสต่างๆ พัดพาไป แต่ว่าถ้าขึ้นสู่ปราสาทที่มั่นคงคือ สติปัฏฐาน ก็เหมือนกับที่ท่านพระเถระได้กล่าวว่า ท่านได้ถูกยกขึ้นจากน้ำที่ท่านตกลงไป ด้วยบันไดที่มั่นคง

นี่คืออานิสงส์ของการฟัง ฟังเรื่องของการเจริญสติปัฏฐาน ฟังให้ได้เหตุผล ให้ได้ความเข้าใจ ถึงแม้ว่าจิตใจจะเป็นโลภะ เป็นโทสะ เป็นโมหะ มุ่งลาภ มุ่งอะไรก็ตามแต่ ทำให้เป็นไปด้วยอำนาจของกิเลส แต่เพราะเหตุว่า ได้ฟังเนืองๆ ได้ฟังบ่อยๆ ก็สามารถที่จะมนสิการพิจารณารู้ลักษณะของธรรม ที่กำลังปรากฏนั้นตามความเป็นจริงได้

ในคราวก่อนได้กล่าวถึงท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐีซึ่งท่านเป็นพระอริยบุคคล ที่มีข้อความว่า ท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐีไม่เคยทูลถามปัญหาพระผู้มีพระภาค ถึงแม้ว่าท่านจะได้ไปสู่ที่อุปัฏฐาก ของพระผู้มีพระภาคถึงวันละ ๒ ครั้งเป็นประจำเพราะท่านคิดว่าพระตถาคตเจ้า เป็นพระพุทธเจ้าผู้ละเอียดอ่อน เป็นกษัตริย์ผู้ละเอียดอ่อนเมื่อทรงแสดงธรรมแก่เราด้วยเข้าพระหฤทัยว่า คฤหบดีมีอุปการะแก่เรามากดังนี้ จะทรงลำบาก แล้วท่านก็ไม่ทูลถามปัญหาด้วยความรักในพระศาสดาเป็นอย่างยิ่งสำหรับในเรื่องที่จะทำให้เข้าใจความคิดของท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐีชัดเจนขึ้น

ขุททกนิกาย จุฬนิทเทส ภาค ๒ ขัคควิสาณสุตตนิทเทส มีข้อความว่า บุคคลเมื่ออนุเคราะห์พวกมิตร และพวกที่มีใจดี ย่อมให้ประโยชน์เสื่อมไป ย่อมเป็นผู้มีจิตผูกพัน บุคคลเมื่อเห็นภัยนั้นในความสนิทสนม พึงเที่ยวไปผู้เดียวเหมือนนอแรด ฉะนั้น ที่ยกข้อความนี้มากล่าว ก็เพราะว่าเป็นเรื่องของการอนุเคราะห์ เป็นเรื่องของการให้ แต่ว่าการให้ที่เป็นประโยชน์ทั้งกับตนเองและผู้อื่นนั้นก็มี แต่ว่าที่เป็นโทษทำให้ประโยชน์เสื่อมไปนั้นก็มี ถ้าการให้นั้นเป็นไปด้วยความเป็นผู้มีจิตผูกพัน นี่คือความละเอียด ซึ่งทุกท่านก็มีการอนุเคราะห์ มีการสงเคราะห์ มีการให้ มีการอุปการะกัน แต่การให้การอุปการะที่จะเป็นคุณประโยชน์จริงๆ นั้นเป็นอย่างไร ท่านแสดงไว้ว่า ความเป็นผู้มีจิตผูกพันนั้นด้วย เหตุ ๒ อย่าง คือ เมื่อตั้งตนไว้ต่ำ ๑ ตั้งคนอื่นไว้สูง ๑ หรือว่า เมื่อตั้งตนไว้สูง ๑ ตั้งคนอื่นไว้ต่ำ ๑ สำหรับการตั้งตนไว้ต่ำและตั้งคนอื่นไว้สูง ก็คือด้วยความคิดว่าคนอื่นเป็นผู้ให้ ตนเป็นผู้รับ ไม่ว่าจะเป็นอาหาร เป็นบิณฑบาต เป็นจีวร เป็นเสนาสนะ ถ้าเป็นการให้ด้วยการผูกพัน ถ้าเป็นผู้รับก็ตั้งตนไว้ต่ำ ตั้งคนอื่นไว้สูง คือคิดว่าคนอื่นให้ตนรับ

ถ้าเป็นผู้ให้ด้วยความผูกพัน ก็ตั้งตนไว้สูง ตั้งคนอื่นไว้ต่ำ คือด้วยความคิดว่า ตนเป็นผู้ให้ คนอื่นเป็นผู้รับ เช่นมีความคิดว่า เพราะเราคนอื่นจึงถึงพระรัตนตรัยเป็นสรณะ เป็นผู้งดเว้นจากปาณาติบาต เป็นต้น และมีความคิดว่า เราย่อมบอกบาลีบ้าง อรรถกถาบ้าง ศีลบ้าง อุโบสถบ้าง แก่ท่านทั้งหลาย เมื่อเป็นดังนั้นท่านทั้งหลายยังสละฉัน ไปสักการะเคารพนับถือบูชาบุคคลอื่น เพราะ ฉะนั้น จึงชื่อว่าบุคคลเมื่ออนุเคราะห์พวกมิตรและพวกคนผู้มีใจดี ย่อมให้ประโยชน์เสื่อมไป ย่อมเป็นผู้มีจิตผูกพัน ทุกท่านที่เกิดมาก็ย่อมมีทั้งการให้และการรับ แต่ว่าการให้ของผู้ใดยังเป็นการให้ด้วยความผูกพัน การรับของผู้ใดเป็นการรับด้วยการผูกพัน

ในสูตรนี้ อธิบายคำว่า มิตร ว่ามิตรมี ๒ จำพวก คือ มิตรคฤหัสถ์ ๑ มิตรบรรพชิต ๑ มิตรคฤหัสถ์นั้น ย่อมให้ของซึ่งให้กันยาก ย่อมสละของที่สละกันยากทำกิจที่ทำกันยาก อดทนอารมณ์ที่อดทนกันยาก บอกความลับแก่มิตร ปิดบัง ความลับของมิตร ไม่ละทิ้งในคราวที่มีอันตราย ถึงชีวิตก็ยอมสละเพื่อประโยชน์แก่มิตร เมื่อมิตรยากจนก็ไม่ดูหมิ่น ส่วนลักษณะของมิตรบรรพชิตนั้น ก็อธิบายไว้ว่า ภิกษุเป็นที่เคารพ เป็นผู้ควรแก่การสรรเสริญ เป็นผู้อดทนถ้อยคำ เป็นผู้ทำถ้อยคำลึก ย่อมไม่ชักชวนในเหตุอันไม่ควร ย่อมชักชวนแต่อธิศีลในการขวนขวายบำเพ็ญสติปัฏฐาน ๔ สัมมัปปธาน ๔ อิทธิบาท ๔ อินทรีย์ ๕ พละ ๕ โพชฌงค์ ๗ ย่อมชักชวนในการขวนขวายบำเพ็ญอริยมรรค์มีองค์ ๘ นี้ชื่อว่ามิตรบรรพชิต

สำหรับลักษณะของคนที่มีใจดี ก็มีคำอธิบายว่า การไปสบาย มาสบาย การยืนสบาย นั่งสบาย นอนสบาย พูดสบาย เจรจาสบาย สนทนาสบาย ปราศรัยสบายกับบุคคลใด บุคคลนั้นท่านกล่าวว่า คนที่มีใจดี และในพยัญชนะข้างต้นก็แสดงไว้แล้วว่า บุคคลเมื่ออนุเคราะห์พวกมิตรและพวกที่มีใจดี การอนุเคราะห์ท่านก็จะสังเกตุได้ว่า ท่านย่อมอนุเคราะห์มิตรและผู้ที่มีใจดี เพราะเหตุว่า ผู้ใดที่เป็นมิตร ผู้นั้นก็ย่อมรับการอนุเคราะห์ หรือว่าคนที่มีใจดีก็ย่อมจะง่ายแก่การที่จะอนุเคราะห์ด้วย ไม่เหมือนกับผู้ที่ไม่ใช่มิตรแล้ว ก็ผู้ที่ไม่ใช่คนใจดี การอนุเคราะห์ก็อนุเคราะห์กันยากทั้งผู้ที่จะอนุเคราะห์และผู้ที่จะรับการอนุเคราะห์ด้วย แต่ถ้าผู้ใดเป็นมิตรกันก็อนุเคราะห์กันแล้ว ไม่ว่าจะเป็นทั้งมิตรคฤหัสถ์ และมิตรบรรพชิต หรือว่าคนที่มีใจดีก็ตาม ก็ย่อมจะมีเหตุการณ์ที่จะทำให้อนุเคราะห์กันเสมอ แต่ต้องระวังในการอนุเคราะห์นั้น อย่าให้ประโยชน์เสื่อมไป การอนุเคราะห์ควรจะเป็นสิ่งที่ดีแน่นอนทีเดียว การให้ การอนุเคราะห์ การสงเคราะห์ให้คนอื่นได้รับความสะดวกสบายนั้น ไม่ใช่สิ่งที่ไม่ควรกระทำ แต่ว่าเมื่อจะกระทำก็ควรที่จะไม่ให้ประโยชน์เสื่อมไปด้วย

สำหรับประโยชน์ที่เสื่อมนั้น ก็มีข้อความอธิบายไว้ว่า ได้แก่ประโยชน์ตน ประโยชน์ผู้อื่น ประโยชน์ทั้งสอง ประโยชน์ชาตินี้ชาติหน้า และประโยชน์อย่างยิ่ง เสื่อมไป อันตธานไป ที่ประโยชน์จะเสื่อมนั้น ก็ต้องเป็นอกุศล ที่อกุศลจะเกิดขึ้นในการ อนุเคราะห์สงเคราะห์นั้น ท่านแสดงว่า ย่อมเป็นผู้มีจิตผูกพัน และในพระสูตรนี้ก็อธิบายว่า การเป็นผู้มีจิตผูกพัน นั้น มีด้วยเหตุ ๒ อย่าง คือ ๑ เมื่อตั้งตนไว้ต่ำ ๑ ตั้งคนอื่นไว้สูง ๑ ประการที่ ๒ เมื่อตั้งตนไว้สูง ๑ ตั้งคนอื่นไว้ต่ำ ๑ เพราะฉะนั้น เวลาให้เวลารับ ก็อาจจะมีความรู้สึกผูกพันว่า ตนเองต่ำบ้าง คนอื่นสูงบ้าง หรือว่าตนเองสูง คนอื่นต่ำบ้าง

เพราะฉะนั้น ข้อความที่อธิบายเรื่องตั้งตนไว้ต่ำ ตั้งคนอื่นไว้สูง และตั้งตนไว้สูงตั้งคนอื่นไว้ต่ำ ตั้งตนไว้ต่ำ ตั้งคนอื่นไว้สูง คือเมื่อตนเองเป็นฝ่ายรับ ก็ตั้งผู้ให้ไว้ในฐานะสูง ได้แก่ความคิดผูกพันว่า คนอื่นเป็นผู้ให้ ตนเองเป็นผู้รับ ถ้าจิตใจในขณะนั้นผ่องใสเป็นกุศล ก็เป็นความกตัญญูกตเวที ก็ไม่อยู่ในฐานะที่ว่าเป็นผู้มีจิตผูกพัน แต่ถ้าบางครั้งผู้รับเกิดมีความรู้สึกผูกพันว่า ไม่ว่าผู้ให้นั้นจะชักชวนให้เป็นไปในเรื่องของอกุศลก็ตาม ก็ควรที่จะคล้อยตามทำตาม เพราะเหตุว่าตนอยู่ในฐานะที่ต่ำกว่าอยู่ในฐานะที่เป็นผู้รับ ก็ย่อมจะทำให้ประโยชน์ของตนเสื่อม ย่อมทำให้ประโยชน์ชาตินี้ชาติหน้าเสื่อมด้วย เพราะว่าเมื่อผู้ให้ชักชวนไปในทางที่เป็นอกุศล ผู้รับซึ่งมีจิตผูกพันว่าจะต้องเชื่อหรือว่าจะต้องประพฤติปฏิบัติตาม ในฐานะที่เป็นผู้รับก็ทำอกุศลนั้นตาม ก็จะทำให้ประโยชน์เสื่อมได้ หรือว่าในเรื่องของธรรมก็อาจจะเป็นได้ เพราะว่าบางท่านได้รับฟังธรรมจากท่านผู้หนึ่งผู้ใด ก็มีความผูกพันตนเองในฐานะว่าเป็นผู้รับ

ฉะนั้น ความผูกพันนี้ก็อาจจะทำให้จำเป็นต้องเชื่อตามทุกสิ่งทุกอย่าง จำเป็นต้องเชื่อ หรือว่าจะต้องตามประพฤติปฏิบัติตามทุกอย่าง ถึงแม้ว่าจะไม่เห็นด้วยหรือแม้ว่าจะไม่สมบูรณ์ด้วยเหตุผล ก็ย่อมทำให้ประโยชน์ตนเสื่อม ประโยชน์ชาตินี้ ประโยชน์ชาติหน้า ประโยชน์อย่างยิ่งด้วย ผู้ที่มีความเห็นอย่างพระเทวทัตก็มีเป็นจำนวนมาก เพราะฉะนั้น เมื่อท่านพระเทวทัตมีความเห็นอย่างไร มีความต้องการที่จะแตกแยกออกไปอย่างไร ผู้ติดตามท่านพระเทวทัต ก็ติดตามไปโดยฐานะที่มีความผูกพันกับท่านพระเทวทัต นี่ก็สำหรับผู้ที่รับ แล้วตั้งตนไว้ต่ำ ตั้งคนอื่นไว้สูง ซึ่งเป็นเรื่องของ อกุศล ไม่ใช่เรื่องของกตัญญูกตเวที

สำหรับข้อความที่ว่า ตั้งตนไว้สูง ตั้งคนอื่นไว้ต่ำ ในสูตรนี้อธิบายว่าได้แก่การคิดผูกพันว่าตนให้คนอื่นรับ เช่นเพราะเราคนอื่นจึงถึงพระรัตนตรัยเป็นสรณะ เป็นผู้งดเว้นจากการฆ่าสัตว์ การลักทรัพย์เป็นต้น เราย่อมบอกบาลีบ้างอรรถกถาบ้าง ศีลบ้าง อุโบสถบ้างแก่ท่านทั้งหลาย เมื่อเป็นดังนั้นท่านทั้งหลายยังสละฉันไปสักการะ เคารพนับถือ บูชาบุคคลอื่น เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่า บุคคลเมื่ออนุเคราะห์พวกมิตรและพวกคนที่มีใจดี ย่อมให้ประโยชน์เสื่อมไป ย่อมเป็นผู้มีจิตผูกพัน ถ้าผู้ให้ตั้งคนไว้สูงและตั้งผู้รับไว้ต่ำ ขณะนั้นไม่ใช่การอนุเคราะห์ด้วยจิตที่บริสุทธิ์ มีความผูกพันว่าผู้รับจะต้องเคารพ นับถือ สักการะตนซึ่งเป็นผู้ให้ นี่ก็เป็นอกุศล เพราะว่าอนุเคราะเพื่ออะไร เพื่อให้บุคคลนั้นมีความเห็นถูก มีความเข้าใจถูก เป็นการอนุเคราะห์ที่แท้จริง แต่ไม่ใช่ผูกพันไว้ว่าผู้รับจะต้องมาเคารพมานับถือหรือว่ามาสรรเสริญ เป็นการตั้งตนไว้สูงตั้งคนอื่นไว้ต่ำ เป็น อกุศลไม่ควรมี ถ้าผู้ใดมีก็ควรจะขัดเกลา เพราะเหตุว่าไม่ควรจะเป็นผู้สะสมอกุศล

และสำหรับคำว่าภัย เพราะข้อความนั้นมีว่า บุคคลนั้นเมื่อเห็นภัยนั้นในความสนิทสนม พึงเที่ยวไปผู้เดียวเหมือนนอแรดฉะนั้นคำว่า ภัย ได้แก่ ชาติภัย ชราภัย พยาธิภัย มรณภัย ราชภัย โจรภัย อัคคีภัย ภัย คือ การติเตียนตน ภัย คือ การติเตียนของผู้อื่น ภัย คือ อาชญา ภัย คือ ทุคคติ เป็นต้น เวลานี้ที่เราต้องเกิดกันอยู่เรื่อย ก็เพราะเหตุว่า ยังมีกิเลสยังมีอกุศลอยู่ เพราะฉะนั้น ถ้ายังมีความผูกพัน แม้ในการให้ แม้ในการรับก็เป็นกิเลส เป็นอกุศล ซึ่งย่อมไม่พ้นจากภัยคือการเกิด

เปิด  253
ปรับปรุง  2 มิ.ย. 2565