แนวทางเจริญวิปัสสนา ตอนที่ 25

ส่วนบุคคลจำพวกที่ ๔ เป็นผู้ที่ไม่กระทำตนและบุคคลอื่นให้เดือดร้อน ไม่ขวนขวายในการกระทำตนและบุคคลอื่นให้เดือดร้อนนั้น ก็ย่อมเป็นผู้ที่ไม่กระทำตนและบุคคลอื่นผู้รักสุขเกลียดทุกข์ให้เดือดร้อนให้เร่าร้อน เพราะฉะนั้น บุคคลจำพวกที่ ๔ นี้ ย่อมยังจิตของโฆฏมุขพราหมณ์ให้ยินดีได้ ท่านผู้ฟังก็คงจะยินดีในจิตใจ หรือในบุคคลประเภทที่ ๔ นี้ เช่นเดียวกันเพราะว่าไม่ทำทั้งตนเองและผู้อื่นให้เดือดร้อน ซึ่งพระอุเทนเมื่อได้ฟังโฆฏมุขพราหมณ์รับรองเช่นนั้น ก็ได้ถามโฆฏมุขพรามณ์ต่อไปว่า

ในบริษัท ๒ จำพวก คือจำพวกที่ ๑ นั้น เป็นบริษัทที่ยินดีในแก้วมณีแสวงหาบุตรภรรยา ทาสีและทาส นาและที่ดิน ทองและเงิน (บริษัทในที่นี้ก็ได้แก่หมู่คนนั่นเอง) ส่วนอีกบริษัท ๑ นั้น ไม่กำหนัดยินดีในแก้วมณี ไม่แสวงหาบุตรภรรยา ทาสีและทาส นาและที่ดิน ทองและเงิน แล้วออกบวชเป็นบรรพชิต โฆฏมุขพราหมณ์เห็นบุคคลนี้ในบริษัทไหนมาก คือเห็นในหมู่บริษัทซึ่งยังยินดีในแก้วมณี แสวงหาบุตรภรรยา ทาสีและทาส นาและที่ดิน ทองและเงิน หรือว่าในหมู่บริษัทซึ่งไม่กำหนัดยินดีในแก้วมณี ไม่แสวงหาบุตรภรรยา ทาสีและทาส นาและดิน ทองและเงิน แล้วออกบวชเป็นบรรพชิต ซึ่งโฆฏมุขพราหมณ์ก็ได้ตอบตามความจริงว่า เห็นบุคคลนี้ในบริษัทที่ไม่กำหนัดยินดีในแก้วมณี ไม่แสวงหาบุตรภรรยา ทาสีและทาส นาและที่ดิน ทองและเงิน แล้วออกบวชเป็นบรรพชิต

นี่ก็เป็นการรับรองอยู่ในตัวว่า การบรรพชาเป็นบรรพชิตนั้นมีประโยชน์ ไม่ได้ทำตนเองให้เดือดร้อนด้วยการที่ยังยินดี หมกมุ่น แสวงหาทั้งเงินทอง บุตร ภรรยา ทาสีทาส นาที่ดิน ทองและเงิน แล้วก็ไม่ได้ทำให้ผู้อื่นเดือดร้อนเพราะความยินดีในแก้วมณี ในการแสวงหาบุตรภรรยา ทาสีและทาส นาและที่ดิน ทองและเงินเลย ซึ่งท่านพระอุเทนเมื่อได้ฟังโฆฏมุขพราหมณ์กล่าวดังนี้แล้ว ท่านก็บอกว่าท่านเข้าใจว่า ทำไมโฆฏมุขพราหมณ์จึงได้กล่าวอย่างนั้น โฆฏมุขพราหมณ์ก็ได้กล่าวกับท่านพระอุเทนต่อไปว่าวาจาที่ท่านกล่าวกับข้าพเจ้านั้น เป็นวาจามีเหตุสนับสนุนโดยแท้ การบวชอันชอบธรรมมีจริง ข้าพเจ้ามีความเห็นในเรื่องนี้อย่างนี้ และขอท่านโปรดจำข้าพเจ้าไว้อย่างนี้ และขอให้จำแนกบุคคล ๔ โดยละเอียด

คือท่านที่มีปัญญาถ้าท่านเห็นเหตุผล ท่านก็ยอมรับในเหตุผล และท่านก็กล่าวให้บุคคลที่ท่านรับฟังเหตุผลนั้น ได้จำไว้ด้วยว่า ท่านได้มีความเห็นในเรื่องนี้อย่างนี้แล้ว พร้อมกันนั้นก็ได้ขอให้ท่านพระอุเทนจำแนกบุคคล ๔ นั้นโดยละเอียด ซึ่งท่านพระอุเทนก็ได้จำแนกบุคคล ๔ นั้นโดยละเอียดว่า บุคคลที่กระทำตนให้เดือดร้อน ขวนขวายในการกระทำตนให้เดือดร้อนนั้น ก็ได้แก่ผู้ที่ปฏิบัติผิด เช่นเป็นคนเปลือยไม่มีประโยชน์เลย แต่เข้าใจว่าเป็นการหมดกิเลส ละกิเลส กิเลสน้อย เป็นผู้ไร้มารยาท เป็นผู้เยียวยาอัตตภาพ หรือว่าเลี้ยงชีวิตด้วยการทรมานตัว ด้วยข้าวเพียงคำเดียวบ้าง ๒ คำบ้าง หรือ ด้วยอาหารที่ค้างวัน ๑ วันบ้าง ๒ วันบ้าง หรือว่าด้วยการนุ่งห่มผ้าห่อศพ หรือผ้าที่ไม่สบาย หรือด้วยการถือการอาบน้ำวันละ ๓ ครั้งบ้าง

นอกจากนั้นยังมีเรื่องปฏิบัติผิดอีกมากทีเดียว ซึ่งไม่เป็นประโยชน์เลย การทรมารตน หรือขวนขวายในการทรมานตนให้เดือดร้อนนั้นมีประโยชน์อะไร ไม่ใช่มัชฌิมาปฏิปทาเป็นของที่แน่นอนที่สุด เพราะว่า มัชฌิมาปฏิปทานั้นไม่ทรมานในเรื่องการนั่ง ไม่ทรมานในเรื่องการนอน ไม่ทรมานในเรื่องการยืน ไม่ทรมานในเรื่องการเดิน ไม่ทรมานในเรื่องการเคลื่อนไหว เหยียดคู้ตามปกติ ไม่ทรมานในเรื่องการรักษาอัตตภาพให้เป็นไปด้วยอาหารตามปกติ เพราะเหตุว่าผู้ที่จะละกิเลสได้นั้น ต้องเป็นผู้ที่รู้แจ้งลักษณะที่ปรากฏตามความเป็นจริง ละความไม่รู้ ละความสงสัย จึงจะละความเห็นผิดที่เคยยึดถือนามรูปนั้นว่าเป็นตัวตนเป็นลำดับขั้น ไม่ใช่ละด้วยการทรมานตนแล้วก็ผิดปกติ แล้วไม่รู้ลักษณะของสิ่งที่ปรากฏตามความเป็นจริง

เพราะฉะนั้น ถ้าท่านผู้ใดจะประพฤติปฏิบัติธรรม แต่ว่าทรมานตน ด้วยการนั่งผิดปกติ ทรมานตนด้วยการนอนผิดปกติ ทรมานตนด้วยการยืนการเดิน ก็ผิดปกติ เพราะเหตุว่า คำว่าผิดปกตินอกจากจะหมายความถึงในครั้งอดีต ซึ่งท่านมีการยืนกระโย่งเท้ายืนไม่เต็มเท้า ยืนนานๆ ทรมานตัวอยู่นานๆ ไม่เปลี่ยนอิริยาบถด้วยความเข้าใจผิดแล้ว ท่านก็ควรจะทราบถึงมัชฌิมาปฏิปทาด้วย ว่าขณะใดที่ท่านมีความต้องการในการนั่งนานๆ เป็นการทรมานตัวไหม? ในการเดินนานๆ เป็นการทรมานตัวไหม? ในการยืนนานๆ เป็นการทรมานตัวไหม? และการที่จะรู้แจ้งสภาพของธรรมที่ปรากฏทุกๆ ขณะตามความเป็นจริงนั้น จำเป็นหรือที่จะต้องทรมาน ในเมื่อนามรูปก็เป็นสภาพที่เกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัย ไม่ว่าจะเป็นกุศลหรืออกุศล อัพยากตะ ก็มีเหตุปัจจัยทำให้เกิดขึ้นทั้งนั้น

ไม่ว่าจะนั่ง นอน ยืน เดิน ตามปกตินามรูปก็เกิดดับ ฉะนั้น ปัญญาจะต้องพิจารณาเจริญเหตุให้สมควรกับผล และรู้ลักษณะของนามและรูปตามปกตินั้นตาม ความเป็นจริง ไม่ใช่ด้วยความต้องการที่จะไปทรมานตน หรือว่าประกอบการขวนขวายในการทรมานตน แล้วก็เข้าใจว่าต้องทรมานเช่นนั้นจึงจะรู้ความจริงได้ หรือว่าจึงจะรู้ทุกข์ได้ แต่หมายความว่าการจะรู้ทุกข์ได้นั้น ต้องเป็นการเจริญปัญญารู้ลักษณะของนามและรูปเป็นลำดับขั้นตามความเป็นจริง

สำหรับบุคคลจำพวกที่ ๒ นั้น ทำให้คนอื่นเดือดร้อน ก็ได้แก่ผู้ที่ฆ่าสัตว์ หรือว่าเป็นโจร มีอาชีพในทางทุจริต มีการงานที่หยาบช้า นี่ก็เป็นการทำให้บุคคลอื่นเดือดร้อน อันนี้ถ้าเข้าใจในเรื่องของสัมมาอาชีวะ หรือสัมมาอาชีพ ก็จะเห็นได้ว่าจะไม่ทำให้บุคคลนั้นเป็นผู้ที่หยาบช้า เพราะว่าไม่ใช่ทรมานหรือทำให้บุคคลอื่นสัตว์อื่นให้เดือดร้อน ด้วยการฆ่าสัตว์ ด้วยการเป็นโจร หรือว่าด้วยการมีอาชีพซึ่งไม่สุจริต

ประการที่ ๓ เป็นผู้ที่ปฏิบัติผิดด้วยการทำตนให้เดือดร้อน และทำให้ผู้อื่นให้เดือดร้อนด้วย ในเรื่องนี้ก็กล่าวรวมหมดไม่ว่าบุคคลนั้นจะเป็นพระราชามหากษัตริย์ เป็นสมณพราหมณ์หรือเป็นบุคคลใดก็ตาม เป็นผู้ที่ทรมานตนด้วยการนอนบนพื้นดินปกติธรรมดาก็ไม่ได้นอนอย่างนั้น แต่เมื่อมีความเข้าใจผิดก็ทรมานตนด้วยการนอนบนพื้นดิน แล้วก็ยังไม่พอ ยังสั่งให้บุคคลอื่นนอนบนพื้นดินด้วย ตนเองก็อดอาหารรับประทานเพียงเล็กน้อย สอนให้ผู้อื่นหรือสั่งให้ผู้อื่นอดอาหารด้วย ในครั้งโน้นก็มีความเห็นผิด ด้วยการที่สั่งให้ผู้อื่นฆ่าโค แพะ แกะ บูชายัญ หรือว่าให้ตัดต้นไม้ ให้ทำโรงบูชายัญ ซึ่งก็เป็นการกระทำที่ไม่มีประโยชน์เลย นอกจากว่าจะทำตนเองให้เดือดร้อนและทำผู้อื่นให้เดือดร้อนด้วย

ประการที่ ๔ ท่านพระอุเทนกล่าวว่า ดูกรพราหมณ์ บุคคลผู้ไม่กระทำตนให้เดือดร้อน ไม่กระทำผู้อื่นให้เดือดร้อน ไม่ประกอบการขวนขวายในการทำตนและผู้อื่นให้เดือดร้อนนั้น คือ พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า เสด็จอุบัติขึ้นในโลกนี้เป็นพระอรหันต์ เป็นผู้จำแนกธรรม ทรงสอนหมู่สัตว์ สมณพราหมณ์ เทวดาและมนุษย์ให้รู้ตาม ทรงแสดงธรรมอันงามในเบื้องต้น งามในท่ามกลาง งามในที่สุด ทรงประกาศพรหมจรรย์ พร้อมทั้งอรรถทั้งพยัญชนะ บริสุทธิ์บริบูรณ์โดยสิ้นเชิง คฤหบดีก็ดี บุตรคฤหบดีก็ดี หรือบุคคลผู้เกิดภายหลังในตระกูลหนึ่งตระกูลใด ได้ฟังธรรมนั้นย่อมได้สัทธาในพระผู้มีพระภาค ออกบวชเป็นบรรพชิต เมื่อบวชแล้วก็เป็นผู้มีศีล มีความประพฤติทางกายทางวาจางาม เพราะ เหตุว่า ประพฤติปฏิบัติตามพระธรรมวินัย

นี่ก็เป็นเรื่องที่ไม่ทำตนเองและผู้อื่นให้เดือดร้อน เพราะว่าพระผู้มีพระภาคเป็นผู้ที่ตรัสรู้ธรรม ไม่ได้เห็นว่าการทรมานตน จะเป็นเหตุนำมาให้เกิดปัญญาละกิเลสได้เลย เพราะเหตุว่าข้อปฏิบัติของพระองค์นั้นเป็นมัชฌิมาปฏิปทา ไม่ใช่การทรมานตนด้วยประการหนึ่งประการใด แต่ว่าในขณะเดียวกันก็ไม่ใช่ให้เพลินไปในอกุศลทั้งหลาย แต่ให้มีสติพิจารณารู้สภาพธรรมที่ปรากฏบ่อยๆ จนกว่าปัญญาจะรู้แจ้ง ละคลายความไม่รู้ละคลายความสงสัยในธรรมนั้น และ เมื่อได้ทรงแสดงธรรมคฤหบดีก็ดี บุตรคฤหบดีก็ดีหรือว่าบุตรตระกูลหนึ่งตระกูลใดในภายหลัง แม้ในสมัยนี้ล่วงเลยมาตั้ง ๒๕๐๐ กว่าปีแล้ว แต่ว่าผู้ที่ได้ฟังธรรมได้เห็นประโยชน์ของธรรมของพระผู้มีพระภาค ก็ได้สละอาคารบ้านเรือนออกบวชเป็นบรรพชิต ไม่ใช่ทรมานตน แต่เป็นผู้ที่ประพฤติปฏิบัติตามพระธรรมวินัย เป็นผู้ที่อบรมทางกาย ทางวาจา ทางใจ

สำหรับการอบรมก็ด้วยศีล ซึ่งก็คงจะทราบแล้วถึงข้อบัญญัติต่างๆ นอกจากนั้นในเรื่องของการพูด ผู้ที่ได้รับการอบรมตามธรรมวินัยเป็นบรรพชิตนั้น พูดถูกกาละ พูดคำจริง พูดอิงอรรถ พูดอิงธรรม พูดอิงวินัย พูดแต่คำมีหลักฐาน มีที่อ้าง มีที่กำหนด ประกอบด้วยประโยชน์โดยกาลอันควร อันนี้ก็เป็นเรื่องที่เห็นความละเอียดของพระธรรมวินัย ซึ่งแสดงไว้ละเอียดกว่านี้มาก เพราะว่าผู้ที่ออกบวชเป็นบรรพชิตแล้ว ย่อมประกอบด้วยศีล สำรวมอินทรีย์ทั้ง ๖ คือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ไม่เป็นผู้ยึดถือนิมิต ไม่ยึดถือโดยอนุพยัญชนะ มีสติรู้สึกตัวในการก้าวไป ในการถอยกลับ ในการแล ในการเหลียว ในการคู้เข้า ในการเหยียดออก ในการดื่ม ในการพูด ในการนิ่ง ในการเคี้ยว ในการลิ้ม คือทุกอย่างที่เป็นอยู่แล้วตามปกติในชีวิตประจำวัน แต่ว่าเป็นผู้ที่มีสติรู้สึกตัวในการแล ในการเหลียว ในการพูด ในการนิ่ง ในการคิด ในการคู้ ในการเหยียด

และคำว่า "ไม่เป็นผู้ยึดถือในนิมิต ไม่ยึดถือโดยอนุพยัญชนะ" จะไม่ยึดถือได้อย่างไร ถ้าไม่มีสติ ถ้าไม่มีการรู้สึกตัว ฉะนั้น ในการเจริญสติปัฏฐานเวลาที่มีสติมีการรู้สึกตัวเกิดขึ้นนั้น มีการรู้ลักษณะของสิ่งหนึ่งสิ่งใดที่กำลัง ปรากฏตามความเป็นจริง เป็นเหตุให้ไม่ถือในนิมิตและอนุพยัญชนะ เป็นต้นว่าทางตา ถ้าขณะใดมีการรู้สึกตัวรู้ว่าที่กำลังเห็นนี้ ก็เป็นเพียงสภาพรู้ที่เพียงอาศัยตา หรือว่าเฉพาะปรากฏเมื่อลืมตาเท่านั้น หลับตาแล้วไม่มี ถ้าในขณะนั้นมีสติ รู้สภาพที่กำลังปรากฏที่กำลังเห็นตามความเป็นจริง ในขณะนั้นไม่ถือนิมิตไม่ถืออนุพยัญชนะ

คำว่า "นิมิต" คือรูปร่าง คำว่า "อนุพยัญชนะ" คือส่วนละเอียดต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ ก็ตาม ทางหูถ้าหลงลืมสติในขณะนั้นไม่มีการรู้ว่าสภาพที่กำลังได้ยินนี้ก็เป็น สิ่งที่ปรากฏนิดเดียวทุกๆ ขณะนี้ทีละนิดเท่านั้นเอง ถ้าในขณะนั้นมีสติรู้ว่าสภาพนี้เป็นสภาพรู้เกิดขึ้นแล้วก็หมดไป ในขณะนั้นเป็นผู้ไม่ถือนิมิตอนุพยัญชนะ ไม่ยึดถือว่าการ เห็นนั้นเป็นตัวตน แล้วก็ไม่ติดตามอนุพยัญชนะของเสียงด้วยการเจริญสติ

แต่ว่าผู้ที่บวชเป็นบรรพชิตนั้นมีโอกาสมากกว่านั้น ไม่ใช่มีโอกาสเพียงแค่รักษาศีล เพราะเหตุว่า พระธรรมของพระผู้มีพระภาคนั้นงามทั้งในเบื้องต้น ในท่ามกลาง ในที่สุด เมื่อเป็นผู้ที่ไม่วุ่นวายไปในธุรกิจการดำเนินชีวิตแบบฆราวาส มีการศึกษาทางกาย ทางวาจา ทางใจ นอกจากพระวินัยบัญญัติที่จะต้องประพฤติปฏิบัติตาม ก็ยังมีเวลาอีกมาก ซึ่งท่านก็ดำเนินชีวิตในทางที่เป็นประโยชน์ยิ่งขึ้น ฉะนั้นผู้ที่ออกบวชเป็นบรรพชิตนั้น ไม่ใช่เพียงประกอบด้วยศีล แต่ประกอบด้วยสมาธิ เป็นผู้เสพเสนาสนะอันสงัดคือ ป่า โคนไม้ ภูเขา ซอกเขา ถ้ำ รอมฟาง เมื่อเสพเสนาสนะที่สงัดเช่นนั้น ก็สามารถที่จะละนิวรณ์ เครื่องขัดขวางไม่ให้จิตสงบได้จนกระทั่งสามารถจะเกิดความสงบ ถึงขั้นเกิดความสงบขั้นอัปปนาสมาธิเป็นลำดับขั้นได้ สามารถที่จะระลึกชาติได้ สามารถที่จะรู้จุติและปฏิสนธิของสัตว์ได้ นอกจากนั้นยังสามารถที่จะโน้มจิตไปเพื่อ "ญาณ"อันเป็นเหตุให้สิ้นกิเลสอาสวะได้ รู้ชัดตามความเป็นจริงว่า นี้ทุกข์ นี้ทุกขสมุทัย นี้ทุกขนิโรธ นี้ทุกขนิโรธคามินี ปฏิปทา เหล่านี้คืออาสวะ นี้เหตุเกิดอาสวะ นี้ความดับอาสวะ นี้ข้อปฏิบัติเพื่อให้ถึงความดับอาสวะ

เมื่อรู้อย่างนี้ย่อมพ้นจากอาสวะ บุคคลนี้เรียกว่าผู้ไม่ทำตนให้เดือดร้อน ไม่ประกอบความขวนขวายในการทำตนให้เดือดร้อน ทั้งไม่ทำให้ผู้อื่นเดือดร้อน ไม่ประกอบความขวนขวายในการทำผู้อื่นให้เดือดร้อน ไม่มีความหิว ดับสนิท เป็นผู้เย็นเสวยแต่ความสุข มีตนเป็นดังพรหมอยู่ในปัจจุบันเทียว นี่คือ ตั้งแต่ศีล สมาธิ จนกระทั่งถึงปัญญา ซึ่งผู้ที่ออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิตย่อมมีโอกาส นอกจากจะประพฤติปฏิบัติทำกิจของสงฆ์ตามพระธรรมวินัย เวลาว่างท่านก็ปลีกตนในที่สงัดเพื่อความสงบ บรรลุฌานเป็นขั้นๆ สามารถที่จะระลึกชาติ จะรู้จุติปฏิสนธิ สามารถที่จะโน้มจิตไปเพื่อญาณ อันเป็นเหตุให้สิ้นอาสวะ

อันนี้ก็เป็นเรื่องประโยชน์ของสมาธิ นอกจากท่านจะประกอบด้วยศีล ท่านก็ยังประกอบด้วยสมาธิด้วย และเมื่อประกอบด้วยศีลสมาธิและปัญญาเป็นพระอรหันต์ ก็ไม่เป็นผู้ที่ไม่ประกอบความขวนขวายในการทำตนให้เดือดร้อนและในการทำให้ผู้อื่นให้เดือดร้อนด้วย เมื่อท่านพระอุเทนกล่าวอย่างนี้แล้ว โฆฏมุขพราหมณ์ก็ได้กล่าวกับท่านพระอุเทนว่า ข้าแต่ท่านอุเทน ภาษิตของท่านแจ่มแจ้งนัก ภาษิตของท่านแจ่มแจ้งนัก ท่านอุเทนประกาศธรรมโดยเอนกปริยาย เปรียบเหมือนหงายของที่คว่ำ เปิดของที่ปิด บอกทางแก่คนหลง หรือตามประทีปไว้ในที่มืดด้วยหวังว่าผู้มีจักษุจักเห็นรูปได้ ฉะนั้น ข้าพเจ้านี้ขอถึงท่านอุเทน กับทั้งพระธรรมและพระภิกษุสงฆ์ว่าเป็นสรณะ ขอท่านพระอุเทนทรงจำข้าพเจ้าไว้ว่า เป็นอุบาสกผู้ถึงสรณะตลอดชีวิตตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป

นี่คือความเลื่อมใสเวลาที่ได้ฟังธรรม ก็ขอถึงท่านพระอุเทนผู้แสดงธรรมนั้นเป็นสรณะ พร้อมทั้งธรรมที่แสดงและพระสงฆ์ด้วย แต่ท่านพระอุเทนกล่าว ว่า ดูกรพราหมณ์ ท่านอย่าได้ถึงอาตมาเป็นสรณะเลย เชิญท่านถึงพระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าที่อาตมาถึงเป็นสรณะ เป็นสรณะเถิด โฏมุขพราหมณ์ ก็ได้กล่าวตอบท่านพระอุเทนว่า ข้าแต่ท่านอุเทน เดี่ยวนี้ท่านพระโคดมอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น ประทับอยู่ที่ไหน ท่านพระอุเทนกล่าวตอบว่า ดูกร พราหมณ์ เดี๋ยวนี้พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น เสด็จปรินิพพานเสียแล้ว

โฆฏมุขพราหมณ์ก็ได้กล่าวว่า ข้าแต่ท่านอุเทน ถ้าแหละข้าพเจ้าพึงได้ฟังว่า ท่านพระโคดมพระองค์นั้นประทับอยู่ในหนทางแม้ ๑๐ โยชน์ ข้าพเจ้าก็พึงไปเฝ้าท่านพระโคดมอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น และต่อไปถึง ๒๐ โยชน์ ๓๐ โยชน์ ๔๐ โยชน์ ถึงแม้ ๑๐๐ โยชน์ โฆฏมุขพราหมณ์ก็ได้กล่าวว่า แม้สิ้นหนทาง ๑๐๐ โยชน์ ข้าพเจ้าก็พึงไปเฝ้าท่านพระโคดมอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น แต่ว่าท่านพระโคดมพระองค์นั้นเสด็จปรินิพพานเสียแล้ว ข้าพเจ้าขอถึงท่านพระโคดมพระองค์นั้นแม้เสด็จปรินิพพานแล้ว กับทั้งพระธรรมและพระภิกษุสงฆ์เป็นสรณะ ขอท่านอุเทนทรงจำข้าพเจ้าว่าเป็นอุบาสกผู้ถึงสรณะตลอดชีวิต ตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป อนึ่ง มีเบี้ยเลี้ยงประจำที่พระเจ้าอังคราชโปรดพระราชทานแก่ข้าพเจ้าทุกวัน ข้าพเจ้าขอถวายส่วนหนึ่งจากเบี้ยเลี้ยงประจำนั้น แด่ท่านอุเทน

ก็ดูผู้ที่ไม่เห็นว่าตนเองสำคัญ ว่าท่านจะคิดท่านจะกล่าวอย่างไร ท่านพระอุเทนก็ได้กล่าวกับโฆฏมุขพราหมณ์ว่า พระเจ้าอังคราชโปรดพระราชทานอะไรเป็นเบี้ยเลี้ยงเป็นประจำแก่ท่าน โฆฏมุขพราหมณ์ก็ได้กล่าวว่า พระเจ้าอังคราชโปรดพระราชทานกหาปนะ ๕๐๐ เป็นเบี้ยเลี้ยงประจำวันแก่ข้าพเจ้า ท่านพระอุเทนก็กล่าวว่า การรับเงินและทอง ไม่สมควรแก่อาตมาทั้งหลายโฆฏมุขพราหมณ์ก็กล่าวตอบว่า ถ้าทองและเงินนั้นไม่สมควร ข้าพเจ้าจะให้สร้างวิหารถวายท่านอุเทน ท่านพระอุเทนกล่าวว่าถ้าแลท่านปรารถนาจะให้สร้างวิหารถวายอาตมา ก็ขอให้สร้างโรงเลี้ยงถวายแก่สงฆ์ในเมืองปาตลีบุตรเถิด ไม่จำกัดเจาะจงว่าต้องถวายท่าน แต่ว่าพึงกระทำประโยชน์แก่พระศาสนาแก่พระธรรมวินัย โดยการที่แทนการที่จะสร้างวิหารถวายตัวท่านเองโดยเฉพาะ ก็ขอให้โฆฏมุขพราหมณ์สร้างโรงเลี้ยงถวายแก่สงฆ์ในเมืองปาตลีบุตร ซึ่งโฆฏมุขพราหมณ์ก็เกิดความปิติยินดีมากทีเดียว ก็ได้กล่าวว่า ด้วยข้อที่ท่านอุเทนชักชวนข้าพเจ้าในสังฆทานนี้ ข้าพเจ้ามีใจชื่นชมยินดีเหลือประมาณ

ข้าแต่ท่านอุเทน ข้าพเจ้าจะให้สร้างโรงเลี้ยงถวายแก่สงฆ์ในเมืองปาตลีบุตรด้วยเบี้ยเลี้ยงประจำส่วนนี้ด้วย ด้วยเบี้ยเลี้ยงประจำส่วนอื่นด้วย นี่เป็นสัทธาหรือความปิติชื่นชมยินดี ที่ไม่เห็นว่าท่านพระอุเทนนั้น จะเป็นผู้เห็นแก่ตน แต่เป็นผู้ที่เห็นแก่พระรัตนตรัย เป็นผู้ที่เห็นแก่พระธรรมวินัย แทนที่จะชักชวนให้เลื่อมใสในการให้สังฆทาน ฉะนั้น แทนที่จะให้สร้างโรงเลี้ยงด้วยเบี้ยเลี้ยงประจำสำหรับตนดังที่กล่าวไว้ ก็ยังให้เพิ่มด้วยเบี้ยเลี้ยงประจำส่วนอื่นด้วย ครั้งนั้นแล โฆฏมุขพราหมณ์ให้จัดสร้างโรงเลี้ยงถวายแก่สงฆ์ในเมืองปาตลีบุตร ด้วยเบี้ยเลี้ยงประจำส่วนนี้และส่วนอื่น โรงเลี้ยงนั้นเรียกว่าโฆฏมุกขี ฉะนี้แล

นี่เป็นเหตุการณ์ในครั้งนั้น ซึ่งก็เป็นตัวอย่างให้เห็นว่า การสนทนาธรรมเริ่มจากการที่ไม่เห็นประโยชน์ของการบวชเลย จนกระทั่งได้เห็นประโยชน์ของการบวช แล้วได้เกิดจิตศรัทธาเลื่อมใส ในตอนต้นก็เลื่อมใสในผู้แสดงคือท่านพระอุเทน แต่ภายหลังก็เลื่อมใสในพระรัตนตรัย

เปิด  291
ปรับปรุง  2 มิ.ย. 2565