มีหนทางอื่นไหมที่จะดับความโกรธได้


    ผู้ฟัง อ่านหนังสือของท่านอาจารย์สุจินต์ เห็นผู้อื่นกำลังโกรธ โกรธอะไร โกรธเรา โกรธคนนั้น โกรธคนนี้ ก็พิจารณาว่าเขากำลังไม่สบาย แต่ตนเองโกรธตนเอง จะทำอย่างไร

    อ.อรรณพ ที่เราคิดว่าเราโกรธตัวเอง ทำไมเราไปทำอย่างนี้ ทำไมเราไม่ทำอย่างนี้ ทำให้เราไม่ได้ในสิ่งที่เราต้องการ ใช่ไหม นั่นคือที่เรากล่าวว่าโกรธตนเอง จริงๆ ที่ว่าเราโกรธตนเองก็คือ เราไม่ได้ในสิ่งที่เราต้องการ หรือว่าทำสิ่งใดแล้วไม่เป็นไปตามที่เราต้องการ ก็ด้วยความเป็นเรา ก็ด้วยความติดข้องในสิ่งที่เราอยากได้นั่นเอง

    ผู้ฟัง เป็นมิจฉาทิฏฐิหรือไม่ที่เราโกรธตัวเอง

    อ.อรรณพ คนละขณะ ขณะที่โทสะเกิดขึ้น ขณะนั้นจะไม่มีความเห็นผิดเกิดร่วมด้วย เพราะความเห็นผิดจะเกิดกับโลภมูลจิตเท่านั้นเอง แต่ว่าบุคคลแม้ว่าจะมีความเห็นผิดหรือไม่มีความเห็นผิด แต่ถ้ามีเหตุปัจจัย โทสะก็เกิดได้ แต่ว่าผู้ที่มีความเห็นผิด โทสะสามารถที่จะเกิดได้หลังจากความเห็นผิดเกิดขึ้นแล้ว และอาจจะเป็นโทสะที่เกิดกับบุคคลที่ไม่ควร หรือบุคคลที่มีคุณอันประเสริฐก็ได้ เพราะว่าความเห็นผิดนั้นไม่เห็นตามความเป็นจริง เพราะฉะนั้นลบหลู่ เกิดโทสะ เกิดวาจา เกิดกายที่ไม่เหมาะสมกับบุคคลที่มีคุณอันประเสริฐได้

    ท่านอาจารย์ ก็ขอกล่าวถึงเรื่องนี้นิดหนึ่งเพราะว่าคุณสุรพงษ์กล่าวถึงหนังสือที่อ่าน ความจริงเวลาที่วันหนึ่งๆ เราโกรธ เราโกรธคนอื่นมาก หรือว่าเราไม่ได้โกรธตัวเอง แต่ไม่พอใจในสิ่งที่เป็นเหมือนกับว่าของเรา เช่นวันนี้ผมของเราเป็นยังไง พอตื่นขึ้นมา ฟันของเราสะอาดไหม หรือว่าต้องไปทำอะไร เพราะฉะนั้น ความรู้สึกไม่พอใจ ไม่ใช่ความโกรธเหมือนโกรธคนอื่น แต่ให้รู้ว่าขณะใดก็ตามที่ความรู้สึกขุ่นเคืองไม่พอใจเกิดขึ้นในอะไรทั้งหมด ขณะนั้นไม่ใช่ลักษณะของอกุศลจิตประเภทโลภะ หรือโมหมูลจิต เพราะเหตุว่า ขณะนั้นมีความขุ่นเคืองใจ มีความไม่สบายใจเกิดขึ้น เพราะฉะนั้นวันหนึ่งๆ ตั้งแต่ตื่นมา เราคิดถึงคนอื่นทันที หรือว่าคิดถึงตัวเองทันที รองเท้าเป็นยังไง สะอาดไหม มันหรือเปล่า เล็บเป็นยังไง ผมเป็นยังไง อะไรเป็นยังไงก็อยู่ที่ตัวเอง แต่ไม่ได้หมายความว่าโกรธตัวเอง แต่หมายความว่าความไม่พอใจในวันหนึ่งๆ จะมีอยู่ในที่ไหนมาก

    และอีกประการหนึ่ง เวลาที่เกิดความขุ่นเคืองใจ และก็ถามว่าเมื่อไหร่จะไม่โกรธ เพราะว่ายังไม่ได้รู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏตามความเป็นจริง แล้วจะให้ไม่โกรธเป็นไปได้ไหม เพราะฉะนั้น ต้องรู้ตามความเป็นจริงว่าสิ่งที่กำลังปรากฏ ถ้าตราบใดที่ยังไม่รู้ความจริงของสิ่งนั้นจะดับกิเลสอะไรๆ ไม่ได้ จะไม่ให้ไม่มีอย่างนั้น จะไม่มีอย่างนี้ไม่ได้ เพราะฉะนั้นแม้ความโกรธที่เกิดก็จริง ควรรู้หรือว่าควรไม่ให้มี เพราะว่าเกิดแล้วปรากฏแล้ว และความจริงก็ดับแล้วด้วย แต่ความเป็นเราหวังที่จะไม่ให้มีความโกรธ แต่ไม่ใช่การที่จะรู้ว่า ขณะนั้นก็เป็นแต่เพียงลักษณะของสภาพธรรมอย่างหนึ่ง

    เพราะฉะนั้น หนทางไม่ใช่ไปทำอย่างอื่นเลย ขณะที่กำลังฟังขณะนี้เป็นหนทางหรือเปล่า ที่จะทำให้ไม่มีความโกรธอีกเลย ถ้ามีความเข้าใจลักษณะของสภาพธรรมยิ่งขึ้น หรือว่าแม้เพียงทีละเล็กทีละน้อยจากพระสูตรที่ได้ฟัง จากคำของท่านพระอรหันต์ทั้งหลายที่ท่านกล่าว ข้อความที่ปรากฏในพระไตรปิฎกที่ได้ยินได้ฟังก็เก็บสะสม ทำให้เห็นว่าสิ่งใดควรสิ่งใดไม่ควร จนกระทั่งสามารถที่จะถึงความที่เป็นพระอรหันต์ได้ แต่ไม่ใช่หมายความว่าขณะนี้จะไม่มีประโยชน์เลย ทั้งๆ ที่กำลังฟังอย่างนี้ก็อาจจะโกรธอะไรก็ได้ ยังมีอยู่ แต่อาศัยการฟังเข้าใจนี่คือหนทาง แต่ถ้าไม่มีความเข้าใจแล้วจะไม่มีหนทางเลย ใครจะบอกวิธีไหนยังไงก็ตามแต่ ก็ไม่ใช่ว่าจะดับโกรธได้ เพราะเหตุว่าโกรธเกิดแล้วดับไปแล้วตามสภาพของความโกรธ ที่จะไม่ให้โกรธเกิดอีกต้องเป็นเรื่องของปัญญาที่เจริญขึ้น เพราะฉะนั้นหนทางอื่นไม่มี แต่ต้องรู้ว่า แม้ขณะนี้ก็เป็นหนทาง ก็จะทำให้เข้าใจลักษณะของสภาพธรรม

    ที่มา ...

    พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 160


    หมายเลข 9789
    26 ม.ค. 2567