เมตตาไม่ได้เกี่ยวกับการให้


    ผู้ฟัง ชีวิตประจำวันที่ต้องพบกัน เราก็ควรจะช่วยเหลือเขา

    อ.อรรณพ ช่วยเหลือเขาอย่างไร เขาต้องการความช่วยเหลืออย่างไร และเราสามารถจะช่วยเหลือเขาได้แค่ไหน จริงๆ ปัญหาเป็นความคับแค้นใจของเราที่จะเป็นผู้ให้มากกว่า เมตตาน้อยนิด เป็นความคับแค้นใจว่าทำไมเราตกอยู่ในสภาพแบบนี้เราจะต้องให้ไหม ถ้าไม่ให้เราก็รู้สึกไม่สบายใจ แต่จะให้ก็รู้สึกไม่สบายใจ เป็นความคับแค้นใจ นั่นก็คือสภาพธรรมที่เราสนทนากันหลายสัปดาห์ โทสเจตสิก ซึ่งไม่ใช่เราได้เหตุปัจจัยที่เกิด ตราบใดที่ยังไม่เป็นพระอนาคามีก็ฟังธรรมต่อไป เพราะฉะนั้นก็ต้องพิจารณาว่าเราควรจะให้ไหม และเรามีกำลังให้เขาได้แค่ไหน และให้ในสิ่งที่เป็นประโยชน์ต่อเขาจริงๆ

    ท่านอาจารย์ เมตตาคือความเป็นเพื่อน ไม่เป็นศัตรู พร้อมที่จะช่วยเหลือรับฟังความทุกข์ยาก ความเห็น อาจจะให้ความคิดหรือคำแนะนำอะไรก็ได้ เพราะฉะนั้น เมตตาไม่ได้เกี่ยวกับการให้เลย บางคนก็อาจจะคิดว่าเมตตาก็คือต้องให้ แต่ความจริงให้เป็นกุศลจิต โดยที่ว่าถ้าเป็นคนที่เห็นประโยชน์จริงๆ ก็จะไม่ให้เพราะกลัว ไม่ให้เพราะรักคือด้วยอคติใดๆ ก็ตาม ไม่ใช่ให้เพราะชัง ไม่ใช่ให้เพราะหลง แต่เป็นผู้ที่รู้ประโยชน์ของการให้ว่าที่ให้ไปแล้วจะเป็นประโยชน์หรือไม่เป็นประโยชน์อย่างไร นี่ด้วยความเป็นเพื่อน ถ้าเราไม่เป็นเพื่อนกับเขา เราก็ให้อย่างเดียว เขาจะเอาไปทำอะไรก็แล้วแต่เขา นั่นคือความไม่เป็นเพื่อน แต่ถ้ามีความเป็นมิตรคือความหวังดี พร้อมที่จะเกื้อกูลช่วยเหลือในทางความคิดด้วย ในเหตุผล ในทุกสิ่งทุกอย่าง ไม่ใช่หมายความว่าเมื่อมีเมตตาแล้วจะต้องให้ บางคนก็เห็นสุนัขที่กลางถนน หรือว่ากลางตรอกกลางซอยอะไรก็ตามแต่ ก็มีเมตตา ในขณะที่มีเมตตาก็หวังที่จะให้สุนัขก็ได้กินอาหารดีๆ อร่อย แต่ขณะนั้นมีโลภะหรือเปล่า เพราะฉะนั้นเรื่องของจิตใจเป็นเรื่องที่ละเอียดมากที่ จะต้องรู้ว่าขณะใดเป็นกุศล ขณะใดเป็นอกุศล ไม่ใช่หมายความว่าการให้เป็นอกุศล แต่ต้องหมายความว่าให้ด้วยมีเหตุผล และก็เป็นประโยชน์ อย่างนั้นก็จะเป็นเพื่อนที่แท้จริง

    ที่มา ...

    พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 161


    หมายเลข 9817
    26 ม.ค. 2567