อิสสา มัจฉริยะ กุกกุจจะไม่ใช่เรา


    ผู้ฟัง ลักษณะของโทสะ ๔ ประเภทคือมีโทสะ มีมัจฉริยะ มีกุกกุจจะ และก็มีอิสสา ทีนี้ลักษณะของสภาพธรรมแต่ละอย่างจะแยกขาดออกจากกัน หรือสามารถเกิดร่วมกันได้

    ท่านอาจารย์ อิสสาก็เป็นเจตสิกประเภทหนึ่ง มัจฉริยะก็เป็นเจตสิกประเภทหนึ่ง กุกกุจจะก็เป็นเจตสิกอีกประเภทหนึ่ง อิสสา มัจฉริยะ กุกกุจจะ ชื่อเป็นภาษาบาลี แต่เวลาที่เรารู้สึกอิจฉาในภาษาไทย เวลาที่คนอื่นเขาได้สิ่งที่ดีแล้วเราก็ไม่ยินดีด้วย ขณะนั้นภาษาบาลีเป็น “อิสสา” แต่ว่าภาษาไทยใช้คำว่า “อิจฉา” ซึ่งความจริงอิสสาในภาษาบาลีไม่ใช่อิสสาเลย แต่เป็นโลภะ

    เพราะฉะนั้นต้องแยกว่าถ้าพูดภาษาไทยใช้คำว่า “อิจฉา” หรือถ้าจะให้ตรงอีกคำหนึ่งก็ใช้คำว่า “ริษยา” ถ้าริษยานี่ตรง ไม่มีใครไปคิดว่าอิจฉา แต่ว่าลักษณะจริงๆ ก็คือสภาพธรรมที่ไม่ยินดีด้วย ในขณะนั้นเป็นอกุศล เมื่อเห็นบุคคลอื่นได้สิ่งที่ดี เคยมีไหม นี่คือชีวิตจริงๆ ถ้ายังไม่ใช่พระโสดาบัน ยังไม่ได้ดับอิสสา มัจฉริยะคือความตระหนี่ และกุกกุจจะคือความรำคาญใจยังคงมีอยู่

    เพราะฉะนั้นธรรมเป็นเรื่องที่ละเอียดมาก เกิดขึ้นนิดเดียวหมดแล้ว แต่ถ้าเกิดดับสืบต่อหลายๆ ขณะก็ปรากฏ คนที่มีกุกกุจจะจะรู้สึกไม่สบายใจเลย คิดถึงกุศลที่ไม่ได้กระทำที่ควรจะกระทำ แต่ไม่ได้กระทำ และคิดถึงอกุศลที่ได้กระทำแล้ว เพราะฉะนั้นอกุศลทั้งหมดเป็นสิ่งที่เดือดร้อน ในขณะที่เกิดก็เดือดร้อน เพราะเหตุว่าขณะนั้นไม่สงบเลยเต็มไปด้วยความเศร้าหมองหรือความขุ่นหมองในจิตใจ ไม่ด้วยโลภะ ก็โทสะหรือว่าด้วยโมหะ เพราะฉะนั้น ก็จะเห็นได้ว่าแม้ว่าอกุศลนั้นดับไปแล้ว แต่ทั้งๆ ที่ดับไปแล้วก็เกิดระลึกถึง และก็เกิดความรำคาญใจในอกุศลที่ได้กระทำแล้ว ก็เป็นชีวิตประจำวันจริงๆ ให้รู้จักสภาพธรรมตามความเป็นจริงว่าแม้ขณะนั้นก็ไม่ใช่เรา ไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล เป็นสภาพลักษณะของธรรมชนิดหนึ่งซึ่งใครก็เปลี่ยนแปลงลักษณะของสภาพธรรมนั้นไม่ได้เลย เกิดแล้วปรากฏ

    เพราะฉะนั้นเกิดแล้วปรากฏไม่ใช่ให้ยึดถือว่าเป็นเราเกิดแล้วปรากฏ ไม่ใช่ให้มีความขุ่นเคืองนั้นต่อไปอีก รำคาญใจต่อไปอีก แต่เกิดแล้วถ้าสะสมมาที่ปัญญาจะเห็นถูก เข้าใจถูกในลักษณะของสภาพธรรมนั้นว่าเป็นธรรมที่มีจริงๆ เป็นธรรมชนิดหนึ่ง เมื่อเป็นธรรมชนิดหนึ่งก็ไม่ใช่เราแน่นอน มีเหตุปัจจัยเกิดขึ้นแล้วก็ดับไป

    เพราะฉะนั้นพระธรรมจะช่วยทำให้เห็นสภาพธรรมตามความเป็นจริง และขณะนั้นก็เป็นกุศลที่ประกอบด้วยปัญญาที่เห็นถูก เข้าใจถูกในลักษณะของสภาพธรรม

    เพราะฉะนั้นเราก็ทราบว่าอกุศลเจตสิกทั้งหมดมี ๑๔ ประเภท และก็ประเภทไหนเกิดกับจิตที่เป็นโลภมูลจิต ประเภทไหนเกิดกับจิตที่เป็นโทสมูลจิต

    ที่มา ...

    พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 149


    หมายเลข 9665
    26 ม.ค. 2567