รู้ความต่างของสภาพรู้และสภาพที่ไม่ใช่สภาพรู้


    ผู้ฟัง จากการตอบคำถามตรงนี้ก็ทราบได้ว่าความเข้าใจหรือกับสภาพรู้เป็นธาตุรู้อย่างเดียวกัน เพียงแต่ว่าความเข้าใจนั้นเป็นเรื่องของความเข้าใจเรื่องที่รู้ การเจริญของปัญญาคือความเข้าใจนั้น

    ท่านอาจารย์ ความเข้าใจไม่ใช่ความไม่เข้าใจ ความรู้ไม่ใช่ความไม่รู้ ทั้งหมดเป็นนามธรรมต่างชนิด

    ผู้ฟัง เพราะฉะนั้นก็เป็นนามธรรมทั้งสิ้น

    ท่านอาจารย์ เป็นธาตุรู้ สภาพรู้ที่เกิดขึ้น เพราะฉะนั้นถ้าใช้คำว่า “สภาพรู้” กว้างๆ หมายความว่าสามารถจะรู้สิ่งหนึ่งสิ่งใดที่กำลังปรากฏให้รู้ แต่ความรู้สิ่งหนึ่งสิ่งใดที่ปรากฏให้รู้หลากหลาย เช่น กำลังรู้สิ่งที่ปรากฏทางตาคือเห็น ธาตุรู้นี้สามารถเห็น และกำลังเห็น นั่นก็เป็นธาตุรู้ชนิดหนึ่งซึ่งเห็น ธาตุรู้อีกชนิดหนึ่งเห็นไม่ได้เลย ไม่เห็นอะไรเลย แต่สามารถได้ยินเสียง ที่ใช้คำว่า “ได้ยิน” คือสามารถรู้ลักษณะของเสียงได้ยินลักษณะของเสียงซึ่งหลากหลาย แล้วแต่ว่าเสียงนั้นจะเป็นยังไง สภาพรู้ก็สามารถที่จะรู้แจ่มแจ้งชัดเจนในลักษณะของสิ่งที่ปรากฏให้รู้นั่นคือสภาพรู้ โดยศัพท์จะใช้คำว่า “จิตตะ” หรือ “จิตตัง” ก็แล้วแต่ในภาษาบาลี หมายความถึงเป็นธาตุรู้สภาพรู้ ซึ่งรวมถึงคำอื่นด้วย เช่นวิญญาณ ก็เป็นสภาพรู้ด้วย แต่ถ้าเป็นสภาพที่เข้าใจถูก เห็นถูก เป็นสภาพรู้ ไม่ใช่รูปๆ นั้นเห็นถูกไม่ได้ เข้าใจถูกไม่ได้ แต่สภาพรู้หรือธาตุรู้นั้นไม่ใช่ธาตุเห็น ไม่ใช่ธาตุได้ยิน แต่เป็นปัญญา สภาพที่สามารถเห็นถูก เข้าใจถูกในลักษณะของสิ่งที่ปรากฏ เพราะฉะนั้นขั้นแรกที่สุดก็คือรู้ความต่างของสภาพที่ไม่ใช่สภาพรู้อย่างหนึ่ง และสภาพที่เป็นสภาพรู้อีกอย่างหนึ่ง จึงจะรู้ว่าไม่มีเราเลย และสภาพรู้นี่ก็หลากหลายมาก

    ผู้ฟัง ความต่างของการรู้ที่รู้รูปธรรมกับนามธรรม ใครเป็นคนบอกให้ตัวคนนั้นที่เกิดสภาพรู้

    ท่านอาจารย์ หมายความว่าไม่สามารถจะรู้ได้ ต้องมีใครบอกหรือยังไง

    ผู้ฟัง มีสภาพธรรมมาบอก คือไม่ต้องเป็นคนเป็นอะไรก็แล้วแต่

    ท่านอาจารย์ กำลังเห็น ไม่ต้องมีใครบอกเลย เพราะว่าลักษณะของสภาพเห็น กำลังเห็นเดี๋ยวนี้ มีสภาพธรรมจริงๆ ซึ่งทุกคนฟังพิจารณาคล้อยตามความเป็นจริงของสิ่งที่มีจริงๆ ได้ กำลังเห็น แม้เราเองก็ไม่ได้บอก คนอื่นจะบอกก็ไม่ได้ เพราะเหตุว่าสภาพนี้เกิดขึ้นเห็นแล้ว เปลี่ยนไม่ได้เลยขณะที่เห็นแล้ว จะเปลี่ยนให้เป็นอื่นไม่ได้ จะเปลี่ยนให้เป็นบอกก็ไม่ได้ เห็นคือเห็น กำลังเห็นแล้วด้วย แต่ตามความเป็นจริง พระผู้มีพระภาคทรงตรัสรู้ และทรงแสดงไว้ว่าสภาพที่เห็นเกิดแล้วดับ

    เพราะฉะนั้นความรู้มีหลายขั้น ขั้นที่จะรู้ว่ากำลังเห็นไม่ต้องมีใครบอกเลย บอกก็ไม่ได้ บอกตัวเองก็ไม่ได้ คนอื่นบอกก็ไม่ได้เพราะธาตุนี้กำลังเห็น จะไปบอกอะไร ใช่ไหม กำลังเห็น

    ผู้ฟัง คิดนึกบอก

    ท่านอาจารย์ ไม่ได้คิด จะไปคิดนึกทำไม ในเมื่อเห็นกำลังเห็นขณะนี้ บอกไม่ได้ด้วยกำลังเห็นจะบอกไม่ได้ ถ้าเป็นกำลังเห็นจริงๆ บอกไม่ได้ เพราะกำลังเห็นใช่ไหม แต่เมื่อเห็นแล้วดับแล้วนึกคิดได้เพราะว่าเห็นดับไปแล้ว แต่ขณะที่เห็นอยู่ และกำลังเห็นบอกไม่ได้ เพราะว่ากำลังเห็น

    ผู้ฟัง ขณะที่กำลังเห็นเร็วเหลือเกิน ก็เลยอยากจะให้มีใครมาบอกความคิดของผมแรกๆ เป็นอย่างนั้น และไม่ใช่หมายความอย่างนั้น ความเข้าใจที่ถึงขั้นที่จะทราบได้ว่าในช่วงความเร็วขณะนั้น ความเข้าใจจะบอกได้ว่านี่นามนะ นี่รูปนะมันต้องเป็นระดับไหนจึงจะบอกได้

    ท่านอาจารย์ หมายความว่าปกติเราคิดเสมอ พอเห็นแล้วก็คิด ได้ยินแล้วก็คิด อะไรผ่านมาทางตา หู จมูก ลิ้น กายก็คิด ไม่มีอะไรผ่านมาก็ยังคิด เพราะฉะนั้นคิดตลอดเวลา ถ้าจะกล่าวอย่างหยาบๆ คิดเสมอ เพราะฉะนั้นเวลาที่กำลังฟังก็มีเห็น และก็มีได้ยิน และก็มีคิด แต่ละขณะเป็นสภาพธรรมที่จะเปลี่ยนไปเป็นอย่างอื่นไม่ได้ นี่คือปรมัตถธรรม กำลังเห็น ชั่วขณะที่กำลังเห็นคิดไม่ได้ กำลังได้ยินมีเสียงปรากฏ กำลังได้ยินอยู่คิดไม่ได้ เพราะฉะนั้นเมื่อไม่มีเห็น ไม่มีได้ยินแล้ว ไม่มีอะไรแล้วทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ก็คิด ห้ามไม่ให้คิดก็ไม่ได้ และก็ไม่เคยรู้เลยว่าคิดๆ ระดับไหน คิดเป็นคำก็คิดแล้ว ยังไม่เป็นเรื่องเลย แต่ก็คิดแล้ว เพราะฉะนั้นก็จะเห็นได้ว่าความคิดมีหลายระดับ

    ผู้ฟัง คือความเข้าใจตรงนี้เห็นได้ชัดว่าเราต้องเรียนอภิธรรม ก็คือเรื่องของสภาพที่เห็น เมื่อสภาพที่เห็นเกิดก็จะมีสภาพรู้อื่นอีก

    ท่านอาจารย์ นั่นก็ไม่ใช่เพียงชื่อ นั่นก็ต้องเข้าใจอย่างที่ถามด้วย คือขณะที่กำลังเห็นไม่ใช่ขณะที่กำลังคิด ไม่ใช่ขณะที่กำลังได้ยิน

    ผู้ฟัง ก็เข้าใจได้ว่าขณะที่กำลังเห็น ได้ยิน ได้กลิ่น รู้รสต่างๆ เหล่านี้เป็นต้น ก็ไม่มีโอกาสที่จะทราบได้ว่าเป็นนามธรรมหรือรูปธรรม นอกจากว่าสภาพจิตอื่นที่เกิดขึ้นหลังจากสภาพเห็นนั้น หรือได้ยินนั้น หรือรู้นั้นดับไป

    ท่านอาจารย์ แต่ยังปรากฏเพราะการสืบต่อ

    ที่มา ...

    พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 148


    หมายเลข 9655
    26 ม.ค. 2567