สติสัมปชัญญะหรือสติปัฏฐานมีลักษณะอย่างไร


    ผู้ฟัง สติกับสติสัมปชัญญะต่างกันไหม

    ท่านอาจารย์ ต่างกันตรงที่ว่าสติเป็นโสภณเจตสิก เป็นเจตสิกฝ่ายดีเกิดกับโสภณเจิตทุกประเภท ไม่ว่าจะเป็นกุศลวิบาก เป็นกิริยา ทุกภูมิไม่ว่าจะเป็นในกามาวจรภูมิ โลกาวจรภูมิ รูปาวจรภูมิหรือโลกุตตรภูมิ สติเป็นโสภณเจตสิกที่เกิดกับโสภณจิตทุกประเภท แต่เวลาที่วันหนึ่งๆ กุศลจิตเกิดเป็นไปในทานต้องมีโสภณเจตสิกเกิดร่วมด้วยอย่างน้อยที่สุด ๑๙ ประเภท แต่ขณะนั้นไม่ใช่การรู้ตรงลักษณะที่ไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่การรู้ลักษณะที่เป็นปรมัตถ์ เพราะฉะนั้นจึงไม่ใช่สติสัมปชัญญะซึ่งเป็นสติปัฏฐาน

    เพราะฉะนั้นก็แยกระดับของสติ เวลาพูดถึงคำว่า “มีสติ” กับ “หลงลืมสติ” ในสติปัฏฐานก็คือหมายความถึงสติสัมปชัญญะซึ่งเป็นสติปัฏฐาน

    ผู้ฟัง ในขณะที่คิดนึกเรื่องสภาพธรรมซึ่งเป็นปรมัตถธรรม เป็นจิตเป็นเจตสิก เป็นสมมติบัญญัติด้วยไหม

    ท่านอาจารย์ แน่นอน ก็คิดเรื่องราวของจิต เจตสิก รูป

    ผู้ฟัง สรุปแล้วคิดเรื่องราวก็เป็นสมมติบัญญัติ

    ท่านอาจารย์ เรื่องราวเป็นสมมติบัญญัติทั้งหมด จิตเป็นสภาพคิด เป็นปรมัตถ์ ขณะใดก็ตามที่เป็นเรื่องราว ขณะนั้นเพราะจิตคิด ถ้าจิตไม่คิดเรื่องนั้นๆ ไม่มีเลย

    ผู้ฟัง เพราะฉะนั้นขณะนั้นก็จะต้องมีจิตที่คิดถึงเรื่องราว

    ท่านอาจารย์ ถูกต้อง

    ผู้ฟัง เมื่อจิตที่คิดถึงเรื่องราวนั้นดับไปแล้ว สภาพธรรมใหม่เกิดขึ้นก็รู้ถึงเรื่องราว

    ท่านอาจารย์ ก็แล้วแต่จะคิดยาวแค่ไหน แต่เป็นได้ไหมว่าถ้าจิตคิดๆ นั้นดับแล้ว แทนที่จะคิดถึงเรื่องราวที่เป็นสมมติบัญญัติ ก็คิดถึงเรื่องซึ่งเป็นปรมัตถธรรมที่กำลังคิดทุกอย่างแต่ก็ยังคงเป็นคิด เป็นไปได้ไหมว่าแม้กำลังได้ยินก็คิดเรื่องอื่น แทนที่จะคิดเรื่องที่กำลังได้ยิน เป็นไปได้ เพราะฉะนั้น แทนที่ได้ยินแล้วจะคิดถึงเรื่องอื่น ก็รู้ตรงลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ เหมือนกับสิ่งที่กำลังปรากฏทางตาในขณะนี้ ถ้าไม่ค่อยๆ เข้าใจลักษณะที่กำลังเห็นก็เป็นเรื่องราวทั้งวัน ทุกทวาร ถ้าเข้าใจเรื่องการเจริญสติปัฏฐานก็จะรู้ว่าขณะใดที่ไม่รู้ตรงลักษณะ ขณะนั้นก็หลงลืมสติ

    ผู้ฟัง แล้วถ้าหากว่าสติสัมปชัญญะหรือสติปัฏฐานเกิดขึ้น ก็จะเป็นอาการอย่างที่ท่านอาจารย์ว่าคือใส่ใจในลักษณะของรูปธรรม และนามธรรมที่กำลังปรากฏก่อนที่จะคิด

    ท่านอาจารย์ เป็นปกติ แต่รู้ตรงลักษณะที่เป็นปรมัตถ์

    ผู้ฟัง ถ้าอย่างนั้นเราก็ควรทำความเข้าใจเรื่องสติสัมปชัญญะ หรือ สติปัฏฐานว่ามีลักษณะอย่างไร เพื่อจะได้เข้าใจลักษณะของธรรมที่กำลังปรากฏ เมื่อสติปัฏฐานเกิด ก็จะได้รู้ว่าอันนี้เองซึ่งเป็นลักษณะของสติปัฏฐานที่กำลังปรากฏ

    ท่านอาจารย์ คือรู้ตรงลักษณะของสภาพธรรมตามปกติ

    ผู้ฟัง ถ้ายังไม่มีความเข้าใจในระดับนี้หรือยังไม่มีความเข้าใจลักษณะของสติปัฏฐานที่กำลังเกิดกำลังปรากฏ ก็จะไม่มีโอกาสทราบเลย

    ท่านอาจารย์ ถ้าไม่มีความเข้าใจ ก็ไม่มีทางที่สติปัฏฐานจะเกิด

    ผู้ฟัง กระผมต้องรู้ตัวเองว่าในขณะที่สติปัฏฐานไม่เกิดเพราะไม่มีความเข้าใจในเรื่องของสติปัฏฐาน

    ท่านอาจารย์ เพราะไม่มีปัจจัยที่จะให้สติปัฏฐานเกิด แต่สติปัฏฐานเกิดเมื่อไหร่ก็รู้ ถ้าไม่มีปัจจัย ไม่มีความเข้าใจ สติปัฏฐานก็เกิดไม่ได้

    ผู้ฟัง อย่างเมื่อสักครู่นี้ที่ท่านอาจารย์บอกว่าแม้กระทั่งเด็กๆ ก็รู้กำลังโกรธ กำลังโลภ กำลังหลง

    ท่านอาจารย์ กำลังเสียใจ กำลังคิดนึก

    ผู้ฟัง จะต่างกับในขณะที่สติรู้ลักษณะของความโกรธ

    ท่านอาจารย์ แน่นอน ไม่ว่าเด็กหรือผู้ใหญ่ทั้งนั้นหลงลืมสติ ต่างกับขณะที่สติเกิด

    ผู้ฟัง เวลาที่ท่านอาจารย์บรรยาย ฟังดูแล้วเหมือนผมจะเข้าใจ เพราะว่าพูดภาษาไทย ผมก็รู้ความหมาย ก็คิดว่าตัวเองเข้าใจ แท้ที่จริงก็ยังไม่เข้าใจลักษณะของสติปัฏฐานหรือสติสัมปชัญญะ

    ท่านอาจารย์ ละเอียดขึ้น เมื่อเกิดแล้วก็ละ ไม่ใช่อยากจะให้มีมากๆ นั่นก็คือโลภะก็เข้ามาอีกเรื่อยๆ


    หมายเลข 9658
    23 ม.ค. 2567