ไม่ใส่ใจในนิมิตและอนุพยัญชนะคืออย่างไร -พฐ.148


    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้นสติไม่ต้องคิดเลยว่ามีลักษณะที่กำลังรู้ตรงลักษณะสิ่งที่กำลังปรากฏ นั่นเป็นความคิด แต่ทันทีที่มีสิ่งที่ปรากฏ และรู้ตรงนั้นยังไม่ได้ไปตรงอื่นเลย นั่นคือลักษณะของสติสัมปชัญญะ แต่ความรู้ในลักษณะของสภาพธรรมนั้นน้อยมาก ในขั้นต้นก็จะรู้ลักษณะของรูปที่ปรากฏ รู้ลักษณะที่กำลังรู้ตรงลักษณะนั้นซึ่งความจริงก็คือสตินั่นเอง ไม่ต้องใช้ชื่อใดๆ ทั้งสิ้น ก็จะรู้ความต่างกันว่าวันหนึ่งๆ แม้เห็นก็ไม่เคยรู้ตรงนั้น แม้สั้นนิดเดียวก็รู้ตรงนั้นแหล่ะ ตรงสิ่งที่ปรากฏนั้นแหละ ถ้าเพียงตรงสิ่งที่กำลังปรากฏบ่อยๆ ก็จะรู้ว่าความไม่ใส่ใจในนิมิตอนุพยัญชนะนั้นคืออย่างไร ก็คือขณะที่กำลังรู้ตรงสั้นๆ นั่นแหล่ะก็คือขณะที่ยังไม่ได้ใส่ใจในนิมิตอนุพยัญชนะ แต่ว่าทั้งหมดที่ได้ยินได้ฟังจะให้เกิดกับเราทันทีอย่างที่ต้องการเป็นไปไม่ได้ ฟังค่อยๆ เข้าใจ และสังขารขันธ์คือความเข้าใจในขั้นต้น ก็จะอบรมเจริญขึ้นไม่มากเลยสำหรับในขั้นต้นจนกว่าจะถึงความเป็นผู้ที่ชำนาญ ก็ยังไม่มากจนกว่าจะเป็นการรู้แจ้งอริยสัจจธรรมซึ่งได้ผ่านปัญญาที่รู้ชัดที่เป็นวิปัสสนาญาณตามลำดับขั้นจริงๆ ต้องฟังด้วยความละเอียด ด้วยความแยบคายด้วยการละ ไม่ใช่ฟังแล้วอยากจะให้เป็นอย่างนั้น นั่นคือปิดกั้นทันที โลภะไม่ทิ้ง ทันทีเลย มาได้หมดเป็นอาสวะ แล้วแต่ว่าจะเป็นอวิชชาสวะ กามาสวะ ทิฏฐาสวะ จะไหลไปได้ตลอด เพราะฉะนั้นผู้นั้นเป็นผู้ที่รู้ได้ด้วยตัวเอง ส่วนใหญ่เรามักจะพอใจที่จะได้ยินได้ฟังคำบอกเล่า แต่จริงๆ ปัญญาที่เกิดจากการฟังคำบอกเล่า ไม่เหมือนกับการไตร่ตรองของเราเอง ถ้าถามว่าขณะนี้อะไรจริงเราตอบเอง ใช่ไหม นั่นคือปัญญาของเรา ถ้ามีคนบอก ก็ยังคงเป็นปัญญาของคนที่พูดอยู่ ยังคิดตามเรื่องราวอยู่ แล้วถ้าไม่รู้ๆ อะไร ต่อไปนี้คงไม่มีใครต้องมาบอกก็รู้สิ่งที่กำลังปรากฏตามความเป็นจริงนั้นแหล่ะ ไม่ต้องไปหาอวิชชาที่ไหนเลย

    ที่มา ...

    พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 148


    หมายเลข 9652
    26 ม.ค. 2567