ภัยที่ไม่กลัว


    มองไม่เห็นภัยซึ่งมี และกำลังมีหรือเปล่า ภัยคือไม่รู้จบ ชอบไม่รู้จบ ไม่ชอบหรือขุ่นเคืองไม่รู้จบ และชอบ และไม่ชอบเป็นภัยใหญ่ยิ่งกว่าภัยอื่น เพราะว่าเกิดภายใน โดยที่ภัยอื่นยังไม่มีเลย พอพูดถึงภัย ป่าดงพงไพร กลัวหนาม กลัวหนอน กลัวทาก พูดถึงภัยพวกนี้กลัว แต่พูดถึงกิเลสไม่กลัว เพราะเหตุว่าอยู่ข้างใน และไม่เห็นเลยว่า ถ้าไม่มีกิเลส ภัยต่างๆ ไม่มีเลย

    เพราะฉะนั้น พระธรรมที่ลึกซึ้งก็คือให้เข้าใจความจริง ไม่ใช่ให้ทำอะไร เข้าใจให้ถูกต้องตามความเป็นจริง

    นี่คือพุทธะ หรือปัญญา ผู้รู้ หรือผู้เข้าใจธรรม ก่อนอื่นต้องเห็นโทษภัยก่อน มิฉะนั้นจะไม่คิดที่จะละกิเลสเลย และถ้าใครบอกว่า เริ่มเห็นภัย ขอถามสักนิดหนึ่งว่า ทำไมถึงคิดหรือเข้าใจว่าเริ่มเห็นภัย และเห็นภัยของอะไร

    เห็นไหมคะ เห็นภัยของการเกิดหรือยัง ต้องไปจนกระทั่งถึงการเกิด เพราะถ้าไม่เกิดก็ไม่เห็น

    เพราะฉะนั้น จะเพียงแต่เห็นภัยของเห็น แต่ไม่เห็นภัยของการเกิด เป็นไปได้ไหม เพราะฉะนั้น กว่าจะเป็นอย่างนั้นได้ การฟังธรรมเพื่อวันหนึ่งจะได้รู้แจ้งสภาพธรรม มีความเห็นถูกต้องตามความเป็นจริงซึ่งยากจะรู้ได้

    เพราะฉะนั้น ต้องเป็นผู้ที่ตรง ขณะนี้ใครเห็นภัยของการเกิดบ้างคะ ผู้ที่จริงใจจะตอบว่าอย่างไรคะ หรือกำลังฟังธรรมเพลินในอรรถรส หรือในสิ่งที่ได้ยินได้ฟัง แต่ยังไม่เห็นภัยของการเกิด เห็นภัยไมใช่เพียงบอกว่าเห็น แต่เพื่อจะไม่เกิด ถ้าบอกว่าเป็นภัยของการเกิด ก็เพื่อไม่มีการเกิด ใครเป็นอย่างนี้บ้าง เดี๋ยวนี้ที่กำลังฟัง กำลังศึกษา

    เพราะฉะนั้น ก็จะเห็นได้ว่า แม้เพียงจะเห็นภัยของการเกิดก็ยังยาก ฟังพระสูตรก็มาก พระอภิธรรมก็มาก ก็ยังไม่เห็นภัยของการเกิด เพราะเหตุว่าถ้าเป็นผู้เห็นภัยของการเกิด จึงเป็นผู้หาหนทาง หรือแสวงหาความเข้าใจหนทางที่ทำให้ไม่เกิด

    เพราะฉะนั้น ปุถุชนจะหมดกิเลสได้ไหม จากผู้ที่หนาแน่นด้วยกิเลส แล้วกว่าจะถึงความหมดกิเลส ก็คิดดู

    เพราะฉะนั้น การฟังแต่ละครั้งก็เพื่อน้อมไปสู่การรู้ความจริง คือการที่จะไม่เกิด ใครที่ยังอยากเกิด ก็ฟังไปก่อน เพราะเหตุว่ายังอยากเกิดกันทั้งนั้น แต่เมื่อฟังแล้วเห็นภัยเมื่อไร ก็ค่อยๆ น้อมไป ไม่มีเรา ตัวตน พอพระผู้มีพระภาคทรงแสดงว่า เพียรละกิเลส ก็จะเพียรเดี๋ยวนี้เลย เป็นผู้ไม่เข้าใจกำลังของกิเลสซึ่งสะสมมามากนานแสนนานว่า แค่เพียงเดี๋ยวนี้น่ะหรือสามารถจะละอกุศลได้ แต่เพียรที่นี่ เป็นความเพียรซึ่งเป็นความจริงใจที่จะรู้ว่า เพียรเข้าใจสิ่งที่กำลังฟัง เพราะเหตุว่าเมื่อเข้าใจแล้ว ความเข้าใจนั้นจะน้อมไป ลองคิดถึงการน้อมไป ต้นไม้ใหญ่มาก รากลึกมาก ที่จะน้อมไปทางอื่น ไหวไหม แต่พระธรรมที่ทรงแสดง แม้ว่ากิเลสจะสะสมมามาก เหนียวแน่น หนาแน่น แต่อาศัยความเข้าใจธรรมจะค่อยๆ น้อมไป ไม่ใช่เราอยากจะไม่เกิดแล้วเดี๋ยวนี้ ผิด อะไรล่ะ นอกจากโลภะ พอฟังปุ๊บ โลภะก็อยากไม่เกิดเสียแล้ว

    เพราะฉะนั้น ก็ไม่ใช่เรื่องของปัญญา ความเห็นที่ถูกต้อง แต่ความเห็นที่ถูกต้อง คือ ทุกครั้งที่ฟังธรรม รู้ว่าเป็นการอบรมความเห็นถูก ความเข้าใจถูก เพื่อน้อมไปสู่การละคลายกิเลส ไม่ใช่ไปดับกิเลส หรือหมดกิเลสโดยไม่ได้ละคลาย โดยไม่เข้าใจอะไรเลย


    หมายเลข 9277
    19 ก.พ. 2567